สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

วรรณาคดี อัตชีวประวัติของวรรณา ทรรปนานนท์ โดยศรีดาวเรือง

Original price was: 300 ฿.Current price is: 280 ฿.

ราคานี้รวมค่าส่งแล้ว

รายละเอียด

วรรณาคดี
อัตชีวประวัติของวรรณา ทรรปนานนท์
โดย ศรีดาวเรือง

ISBN 978-616-8300-12-1

พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2567
ปกอ่อนจำนวนหน้า 240 หน้า
ราคา 300 บาท

คำนำผู้เขียน

การบันทึกเรื่องราวในอดีต หากทำตอนอายุไม่มากนัก ก็คงจะเป็นเรื่องเป็นราวได้มากกว่าตอนอายุเกินแปดสิบปีแต่ถึงอย่างไร ‘ความจริง’ ที่เป็นเรื่องหลัก อันเป็นชีวประวัติแห่งอัตตะ แห่งตน ยังดำรงอยู่อย่างเป็นธรรมชาติ ธรรมดาหากเอ่ยนาม วรรณา ทรรปนานนท์ แม้ย้อนกลับไปบ้านเกิด ก็คงจะหาคนคุ้นเคยได้น้อยแล้ว เหตุเพราะจากมานานหลายสิบปี ส่วนนาม ‘ศรีดาวเรือง’ ซึ่งกำเนิดมาทีหลัง ในหลายจังหวัดคงจะยังพอมีคนรู้จักบ้าง เพราะเท่าที่รู้สึกได้ มีนักอ่าน นักเขียน นักแปล นักวิชาการ ผู้คนในแวดวงหนัง สือ ให้ความเมตตา ให้กำลังใจตลอดเวลา 40-50 ปีที่ผ่านมาครั้นอายุเหยียบย่างเข้าวัยชรา ความทรงจำเลือนหลง ศรีดาวเรืองจำต้องยุติงานเขียนไปโดยปริยายแต่ก่อนจากกัน ก็น่าจะมีประวัติชีวิตบันทึกไว้ก่อนจากลา

ผู้คนในแวดวงอาจคิดว่า ประวัติศรีดาวเรืองมีปรากฏอยู่ในหนังสือหลายเล่มทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศแล้ว ไม่น่าจะมีอะไรอีก

แต่… มีอีกไม่น้อย… ที่คนรู้จัก ‘ศรีดาวเรือง’ แต่ไม่รู้ความเป็นมา

เพราะเป็นเรื่องราวของ ‘วรรณา’ ก่อนจะลาจากลูกสี่คนมาเป็น ‘ศรีดาวเรือง’

ประสบการณ์ชีวิตหลายช่วงตอน ได้ตกเป็นเครื่องมือของผู้เริ่มงานเขียน อาจเนื่องจากจินตนาการยังไม่พอเพียง ผลงานหลายชิ้นของศรีดาวเรืองจึงถูกแทรกแซงโดยชีวประวัติแห่งตน

ชีวิตที่ผกผัน การเรียนรู้รอบตัวของคนมีการศึกษาน้อย ย่อมทุกข์ยาก ยุ่งยาก เป็นธรรมดา แต่…

ทุกอย่างมักมีคำว่า “แต่”

แต่แล้วผู้ด้อยโอกาสมากกว่าศรีดาวเรืองเล่า? จริงๆ แล้วยังมีอีกมาก

คำตอบย่อมอยู่ที่ใจ

ศรีดาวเรือง
ตุลาคม 2566

คำนำสำนักพิมพ์

นานเหลือเกินแล้วในวัยยี่สิบเอ็ด ขณะทำงานในกองบรรณาธิการของนิตยสารวรรณกรรมฉบับหนึ่งซึ่งเพิ่งเปิดใหม่ได้ไม่นาน บรรณาธิการผู้เป็นนักเขียนชายวัยกลางคนมอบหมายงานมาอย่างง่ายๆ แค่ว่า ให้ไปสัมภาษณ์นักเขียนซักคนที่คุณชอบ ใครก็ได้ ข้าพเจ้าเลือกอย่างเขินๆ แต่ไม่ลังเลใจ – ศรีดาวเรือง

หลังจากเสาะหาที่ติดต่อมาได้ ข้าพเจ้าก็ดั้นด้นไปตามหา ก้าวผ่านรั้วลวดหนามที่ล้อมบ้านสวนลึกลับนั้นเข้าไปพบกับนักเขียนในดวงใจตามที่ขอนัดหมายไว้ เธอยิ้มยินดีแล้วพาไปนั่งพักบนม้านั่งใต้ร่มไม้ ยื่นกระดาษเอสี่ 3-4 แผ่นมาให้ ในนั้นเป็นต้นฉบับที่พิมพ์ดีดไว้อย่างดี มันเป็นคำตอบต่อคำถามเจ็ดคำถามมาตรฐานที่นิตยสารใหม่ฉบับหนึ่งส่งมาถามไว้แล้วไม่ได้มารับคำตอบกลับไปเพราะมีอันล้มหายตายจากไปเสียก่อน เป็นคำถามมาตรฐานที่ใครๆ ก็ถามนักเขียนสักคนไม่ว่าคนนี้หรือคนไหน เธอเอ่ยทำนองว่า นี่ค่ะ เอาไปส่ง บ.ก. ได้ ไม่ต้องเสียเวลา เรามานั่งคุยเล่นกันเองในสวนดีกว่า

แล้วหลังจากนั้นก็เป็นบทสนทนาแสนรื่นรมย์สารพัดเรื่อง อันว่าด้วยหนังสือ ว่าด้วยต้นไม้ ว่าด้วยชีวิตประจำวันอะไรต่ออะไร สะเปะสะปะตามใจ อย่างที่ไม่ต้องถูกจำกัดไว้ว่าคือการสัมภาษณ์นักเขียน

ข้าพเจ้าส่งงานชิ้นนั้นให้ บ.ก. และขอสละสิทธิ์ค่าเรื่องมอบให้คุณศรีดาวเรืองเพราะเธอเป็นผู้ทำต้นฉบับมาให้โดยข้าพเจ้าไม่ได้ทำอะไรนอกจากได้มีโอกาสอันแสนวิเศษที่ไปใช้เวลากับนักเขียนผู้ยิ่งกลายเป็นนักเขียนในดวงใจเมื่อพบว่าเธอไม่ได้รู้สึกว่าฐานะนักเขียนของตนจะมีอะไรพิเศษไปกว่าฐานะทุกอย่างที่เคยเป็นมารวมทั้งฐานะแม่บ้านและคนสวนในปัจจุบัน บทสนทนาในวันนั้นเพียงหนึ่งวันเปลี่ยนทัศนะของข้าพเจ้าต่อความคิดฝันเรื่องการเป็นนักเขียนไปตลอดกาล

ราวสิบปีต่อมา เราได้ไปร่วมงานประชุมนักเขียนเอเชีย-แอฟริกาด้วยกันที่เกาหลีใต้ ข้าพเจ้าไปในฐานะล่ามและผู้ติดตามประจำตัวของเธอซึ่งแน่ล่ะว่าไปในฐานะนักเขียน วันสุดท้ายก่อนกลับ เราตื่นแต่เช้าแต่เกือบพลาดอาหารเช้าเพราะนาฬิกาในห้องพักบอกเวลาผิด โชคดีที่ข้าพเจ้าตั้งนาฬิกาข้อมือไว้ตามเวลาท้องถิ่น แต่นักเขียนสูงวัยชาวแอฟริกาใต้คนหนึ่งมาไม่ทันเวลา เราพบเขาเดินงงลำพังอยู่ในโรงแรม ด้วยวัยและด้วยฝันร้ายของการเคยเป็นนักโทษการเมืองที่ถูกขังเดี่ยวในคุกมืด เขาว่ามันทำให้สมองของเขาสับสนตลอดมาเกี่ยวกับเวลา เราปลอบใจเขาด้วยการชวนไปเดินเล่นฆ่าเวลาเสียในสวนสาธารณะ ข้าพเจ้าจงใจทิ้งระยะอยู่ข้างหลัง ปล่อยให้นักเขียนสองคนที่ในงานประชุมกล่าวขานว่าเป็นนักเขียนผู้มีภูมิหลังของผู้ใช้แรงงานและผ่านการศึกษาในระบบมาน้อยนิดเหมือนกันเดินเคียงกันอยู่เบื้องหน้า บางจังหวะข้าพเจ้าจงใจหยุดทำหน้าที่ล่ามแปลภาษา ปล่อยให้ฝ่ายหนึ่งใช้ภาษามือชี้นกชี้ไม้ ปล่อยให้อีกฝ่ายขานตอบด้วยเสียงร้องขับลำนำ ย่ำไปบนถนนที่พรมด้วยใบไม้ร่วงสีแสดอ่อนโยน ข้าพเจ้าเพียงอยากทำอะไรแผลงๆ ของการคืนอิสระให้แก่ผู้หญิงคนหนึ่ง ณ ที่แห่งหนึ่งแม้เพียงครึ่งวัน ที่เธอจะไม่ต้องผูกพันตัวเองกับสถานะใด ไม่ว่าฐานะนักเขียนที่เป็นเมียเป็นแม่ หรือฐานะเมียและแม่นักเขียน

ตอนที่ข้าพเจ้าเอ่ยปากชวนเธอในราวปลายปี 2557 ให้เขียนอัตชีวประวัตินั้น ข้าพเจ้าไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าอะไรจะอยู่ในนั้นบ้าง ข้าพเจ้าเพียงหวังให้เธอได้พูดถึงตัวเองอย่างที่ไม่อยู่ในกรอบเรื่องเล่าแม่บทของความเป็นกรรมกรจบ ป. 4 ที่ได้มาเป็นภรรยาบรรณาธิการปัญญาชนคนสำคัญของไทยและกลายเป็นนักเขียน ข้าพเจ้าอยากให้ศรีดาวเรืองพูดถึงผู้หญิงคนที่ชื่อวรรณา ทรรปนานนท์ คนที่ข้าพเจ้าได้รู้จักเมื่อพบกันครั้งแรกเกือบยี่สิบปีก่อนหน้า และคนที่ข้าพเจ้าได้เคยเห็นแววตาเมื่อยามสายวันหนึ่งในฤดูใบไม้ร่วงที่เกาหลีใต้

เธอเขียนต้นฉบับร่างแรกส่งมาให้ข้าพเจ้าเนิ่นนานตั้งแต่เมื่อปี 2559 แก้ไขกลับไปกลับมาอยู่หลายครา ที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องรอเวลา ที่ไม่อาจรู้เลยว่าเมื่อใดจึงเหมาะสม จนครั้นด้วยวันวัยที่ล่วงผ่าน จนข้าพเจ้าหวั่นว่าจะช้าเกินการณ์หรือไม่ – จนในที่สุดเธอก็ตัดสินใจ

นานมาแล้วข้าพเจ้าเคยเขียนถึงวรรคทองวรรคหนึ่งของเธอไว้ในฐานะสุดยอดของการระเบิดความอัดอั้นของผู้หญิงคนหนึ่งเมื่อส่องกระจกดูตัวเอง “ธ่อ… อีส้นตีน!” แต่รอบนี้ระหว่างชำระประวัติผลงานตีพิมพ์ในภาคผนวกข้างท้าย ข้าพเจ้าพบอีกวรรคทองจากบทกวีของเธอ ที่สะท้อนความเด็ดเดี่ยวใจแข็งอย่างคนที่ไม่อาจมีทางเลือกอื่นได้ “ฉันต้องไปคนเดียว เดี่ยวเดิน” ข้าพเจ้าถามเธอว่าจำได้หรือไม่ว่า ณ ขณะที่เขียนนั้นบันดาลใจจากอะไร เธอตอบว่าเธอจำอะไรไม่ได้แล้ว กาลเวลาลบเลือนกระทั่งความรู้สึกปลงใจอย่างเด็ดขาดนั้นไปเสียแล้ว

“ฉันต้องไปคนเดียว เดี่ยวเดิน
เพราะ เวลา ไม่เคยชม้อย คอยใคร”

วรรคแรกขอจารึกไว้แด่วรรณา วรรคที่สองข้าพเจ้าจำหลักไว้เตือนตัวเองว่า เวลา เป็นของศรีดาวเรือง

ไอดา อรุณวงศ์