ภาพลักษณ์จิตร ภูมิศักดิ์ ในยุคปัจจุบัน

    ภาพโปสเตอร์งานเสวนา “ภาพลักษณ์ของจิตร ภูมิศักดิ์ ในยุคปัจจุบัน”

ภาพลักษณ์ จิตร ภูมิศักดิ์ ในยุคปัจจุบัน

[บทอภิปรายโดยไอดา อรุณวงศ์ ในงานเสวนาเรื่อง “ภาพลักษณ์จิตร ภูมิศักดิ์ ในยุคปัจจุบัน” จัดโดยคณะกรรมการนิสิตอักษรศาสตร์ ร่วมกับสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ วันที่ 25 กันยายน 2563 ที่อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป็นส่วนหนึ่งของงาน 90 ปี ชาตกาล จิตร ภูมิศักดิ์]

ขอบคุณมากนะคะที่เชิญมา ความจริงไม่นึกว่าจะได้กลับมาที่นี่อีก หลังจากที่เมื่อสิบปีที่แล้วคือในปี 2553 ได้มาพูดในงานสัมมนา 80 ปีจิตร ภูมิศักดิ์ ที่นี่ และคิดว่าคณะนี้น่าจะเข็ดแล้ว ไม่เชิญมาอีกแล้ว

มาในครั้งนี้ก็ยังขอเริ่มต้นด้วยการออกตัวเหมือนเดิมว่า ดิฉันเป็นคนประหม่าในการพูดสดต่อสาธารณะ เวลาจะไปพูดอะไรที่ไหนก็จะใช้วิธีเขียนมาพูด ฉะนั้นครั้งนี้ก็จะมาพูดด้วยการอ่านเหมือนเดิมนะคะ

เมื่อตอนที่มาพูดในงานครบรอบ 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ ที่จัดขึ้นที่นี่ในนามภาควิชาประวัติศาสตร์ ดิฉันเคยออกตัวว่าตัวเองไม่เหมาะที่จะมาพูดเพราะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจิตร ส่วนรอบนี้ความจริงก็คิดว่าไม่ควรต้องมาเหมือนกัน แต่ด้วยเหตุผลตรงกันข้าม คือดิฉันได้ค้นคว้าเขียนเรื่องจิตรไว้เป็นบทความขนาดยาวมากในวารสารอ่าน ฉบับอ่านอาลัย ไปแล้วเมื่อปี 2559 ก็รู้สึกว่าอะไรที่พอจะมีปัญญาพูดได้ ก็เขียนไปหมดแล้ว ไม่ควรต้องมาพูดแล้ว

แต่สุดท้ายที่ตัดสินใจตอบตกลงมาก็เพราะรู้ว่าตัวเองจะรู้สึกผิดค้างคาหากว่าไม่ตอบรับคณะผู้จัดงานนี้ที่อุตส่าห์ลุกขึ้นมาจัดด้วยตัวเองในนามนิสิตนักศึกษา ในท่ามกลางกระแสการต่อสู้อันร้อนแรงในตอนนี้ ดิฉันคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของดิฉันที่จะต้องขานรับ

ทีนี้เมื่อคิดว่าจะต้องมา ปัญหาต่อไปคือจะพูดอะไร โดยเฉพาะว่า ยังจะเหลืออะไรให้ต้องพูดอีกหรือหลังจากวันที่ 14 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ที่ดิฉันได้เห็นนิสิตขึ้นยืนปราศรัยบนโต๊ะใต้ถุนตึกหลังใหญ่ของคณะอักษรฯ วิจารณ์สถาบันการเมืองรวมถึงสถาบันการศึกษาแห่งนี้อย่างไม่ไว้หน้า แถมยังยกท่อนสุดท้ายของบทเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ของจิตร ภูมิศักดิ์ มาประกาศกล้าถึงใต้ชายคาตึกที่ชื่อบรมราชกุมารี และเรียกจิตร ภูมิศักดิ์ ว่า “รุ่นพี่ของเรา”

มันทำให้นึกถึงฉากที่จิตรเรียกชุมนุมนิสิตในโถงตึกเทวาลัย ที่เคยมีคนบันทึกไว้ว่า “เขาขึ้นยืนเด่นบนขั้นบันไดหินอ่อน มวลนิสิตตีวงรอบยืนเรียงรายเป็นโค้ง เงยหน้าขึ้นฟังเสียงคับแค้นที่ดังหนักแน่นของเขาที่เปล่งก้องดังสะท้านตัวตึก เขาเรียกร้องให้นิสิตร่วมมือกันร้องเรียนถึงข้อคับข้องใจต่างๆต่อคณะ” (อ่านอาลัย, น.15)

ภาพลักษณ์ของจิตร ภูมิศักดิ์ ในยุคปัจจุบัน ที่ดิฉันจะพูดถึงต่อไปนี้ จึงจะไม่ใช่ในความหมายของภาพลักษณ์ที่คนในรุ่นปัจจุบันมองจิตร แต่เป็นในความหมายที่เถรตรงกว่านั้น คือเป็นภาพลักษณะที่เห็นอยู่ในปัจจุบันของความเป็นจิตร ภูมิศักดิ์ หรือกล่าวได้ว่า การเกิดใหม่ของจิตร ภูมิศักดิ์, ถ้าจะมี, ในรอบนี้ มันจะไม่ใช่การเกิดแบบที่มาเชิดชูเป็นวีรบุรุษในตำนานเพื่อกลบเกลื่อนความไร้น้ำยาของตัวเอง แต่มันคือการทำให้เกิด จิตร ภูมิศักดิ์ ขึ้นมาเองในตัวของทุกคน ไม่ใช่การทำให้จิตรเป็น living history เท่านั้น หากคือการ living the history ของจิตรในแบบของเรา

แล้วอะไรบ้างคือภาพลักษณ์ของจิตรที่ดิฉันเห็นอยู่ในปัจจุบัน ดิฉันขอเลือกมาพูดถึงอยู่สองประการ

ประการแรกคือสปิริตต่อเรื่องการศึกษา ที่รวมไปถึงการกล้าตั้งคำถามและวิพากษ์ครูอาจารย์ รวมทั้งตั้งคำถามต่อสถาบันการศึกษาแห่งนี้ เพื่อนของจิตรคนหนึ่งเคยเล่าถึงจิตรว่า “เขาเป็นคนไม่ค่อยประนีประนอม เรื่องขัดแย้งกับครูบาอาจารย์นี่มีแน่ … ท่านเจ้าคุณอนุมานฯ [พระยาอนุมานราชธน] ก็กรุณาเขานะ เคยเตือนเขาว่า จิตรยังไงๆ ก็อย่าทุบหม้อข้าวตัวเอง หมายความไงๆ ก็เรียนให้จบ มีการมีงานทำมีรายได้ แล้วจะแสดงความคิดเห็นอะไรค่อยว่ากันไป” (อ่านอาลัย, น.15)

ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่า พระยาอนุมานราชธนเองก็ไม่ถึงกับไม่ยอมรับเรื่องการถกเถียงกับครูอาจารย์ เพียงแต่ที่ไม่ส่งเสริมให้ทำก็เพราะว่ามันจะเป็นการ “ทุบหม้อข้าวตัวเอง” คือมันจะทำให้ตัวจิตรถูกตัดหางจากวงอุปถัมภ์ค้ำชู และอาจถึงกับทำให้กระทบต่อสถานะของเขาที่นี่ได้ มันคือคำเตือนจากคนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้ด้านวัฒนธรรมไทยตัวจริงโดยแท้ ว่าฐานะครูในระบบอำนาจแบบไทยๆ คือฐานะผู้ให้คุณให้โทษ ที่พ่วงมากับคติที่ว่า ให้รู้จักที่ต่ำที่สูง

ดิฉันเคยไปค้นว่าจิตรทะเลาะกับอาจารย์คนไหนในเรื่องอะไรนักหนา ก็ปรากฏว่ามันแค่เป็นเรื่องที่จิตรรวมกลุ่มกับเพื่อนทำวารสารชื่อ ทรรศนะ ซึ่งชื่อก็บอกถึงสปิริตของการแสดงความเห็น แต่ดันทำขึ้นมาในยุคที่คณะนี้พยายามสถาปนาวารสารที่ชื่อ วงวรรณคดี ให้เป็นวารสารที่กักความรู้ทางภาษาและวรรณคดีไว้ในวง หรือก็คือเครือข่ายวรรณคดีแบบอักษรๆ โดยมีธงนำคือการเชิดชูสถาบันกษัตริย์ในวัฒนธรรมเดินตามผู้ใหญ่ วารสารของจิตรตอนนั้นยังไม่ได้ถึงกับไปวิจารณ์กษัตริย์อะไร จิตรแค่เขียนบทความเสนอการตีความทางนิรุกติศาสตร์ที่ต่างไปจากครูผู้สอนเท่านั้นเอง แต่ครูผู้สอนที่จิตรไปเห็นแย้งด้วยนั้นดันเป็นพระวรเวทย์พิสิฐ ผู้เป็นเสาหลักของคณะนี้และวงวรรณคดีไทยทั้งปวง และสิ่งที่จิตรแย้งก็ดันเป็นสิ่งที่พระวรเวทย์ฯ เขียนไว้ในตำราที่ใช้สอนใช้เรียนกันอยู่ด้วย มันทำให้พระวรเวทย์ฯ เก้วกาดเป็นการใหญ่ และเมื่อเกิดกรณีหนังสือชื่อมหาวิทยาลัย หรือที่มักเรียกกันว่า“หนังสือ 23 ตุลา” อันอื้อฉาว ที่จิตรถูกสอบสวนในฐานะสาราณียากรและถูกโยนบก พระวรเวทย์ฯ ก็คือหนึ่งในกรรมการสอบสวนที่สรุปว่าจิตรเลื่อมใสคอมมิวนิสต์ แล้วส่งตัวจิตรให้สันติบาลและสั่งพักการเรียน กรรมสนองของผู้ทุบหม้อข้าวตัวเองแท้ๆ

นี่คือตัวอย่างว่าทำไมข้อหาว่าไร้สัมมาคารวะ ไม่เคารพครูบาอาจารย์ จึงถูกนำใช้จนติดปากและกลายเป็นรากเหง้าของการศึกษาไทยในทุกวันนี้ แทนที่จะมองว่าการศึกษาคือการทำให้รู้จักเป็นผู้มีวิจารณญาณ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน ไม่ควรเป็นอย่างอื่นไปได้นอกจากการเคารพกันในฐานะที่ต่างคนต่างก็เชื่อว่าอีกฝ่ายเป็นผู้มีปัญญาพอที่จะมาหักล้างหรือต่อยอดกันใหม่ ให้สมกับที่เป็นโลกการศึกษาสมัยใหม่ที่เรียกว่า มหาวิทยาลัย

แต่เมื่อที่นี่เลือกจะเป็นมหาเทวาลัย มากกว่ามหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์ก็ไม่ต่างอะไรกับจุลจักรวาลของระบบวัฒนธรรมที่ครอบงำและกดหัวราษฎรไทยไว้ไม่ให้เงยหน้าตั้งคำถาม และกลายเป็นแรงผลักดันหนึ่งที่ยิ่งทำให้จิตรมุ่งหน้าไปสู่การตั้งคำถามที่ใหญ่กว่า และต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับที่ใหญ่ขึ้นไปกว่าเดิม

และเมื่อวันที่ 14 สิงหา 2563 ที่ผ่านมา ดิฉันก็ได้ยินคำถามของนิสิตที่นี่ ที่ใต้ถุนตึกหลังนั้นต่อจุลจักรวาลแห่งนี้

“เราจะต้องกราบกรานคุณเหรอกับการเข้าถึงการศึกษาเนี่ย” นี่คือคำถามหนึ่งที่ดิฉันได้ยินจากผู้ปราศรัยในวันนั้น และมันสะท้อนนัยยะได้ทุกระดับ ตั้งแต่ที่ห้ามถกเถียงวิจารณ์อย่างกรณีพระวรเวทย์ฯ ไปจนถึงคำโวยอย่างเหลืออดที่ใต้ถุนตึกวันนั้นต่อคาถาเรื่องให้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ถูกนำมาเป็นข้ออ้างกำกับบังคับในทุกด้านกระทั่งการแต่งกาย ในวันนั้นเราจึงได้เห็นผู้ปราศรัยในชุดไปรเวตอันหลากหลายที่ไม่อยู่ในกรอบของการรู้จักที่ต่ำที่สูงทางกาละเทศะและความเป็นเพศ ตั้งแต่กางเกงกระโปรงขาบาน กางเกงยีนส์ขาดๆ กางเกงขาสั้นเสื้อยืดสีแดง และที่เจ็บแสบไปกว่านั้น เรายังได้เห็นการอ่านคำประกาศพระราชบัญญัติของรัฐบาลคณะราษฎรเรื่องการโอนที่ดินนับพันไร่แห่งนี้ที่เคยอยู่ในฐานะอย่างที่ดินศักดินา มาแปรให้เป็นสถานศึกษาในสมบัติของราษฎรอย่างมีศักดิศรี

และในวันที่ 14 สิงหาคมนั้น ดิฉันยังได้ยินคำเรียกจุฬาฯ ว่าเป็น “นายทุน” ซึ่งถือว่าเป็นการตบหน้ากันมากสำหรับคนที่ถือตัวว่าเป็นผู้ดีเก่าแถวนี้ รวมทั้งการตั้งคำถามว่าศาลเจ้าแม่ทับทิมก็อยู่ในที่ดินจุฬาพอๆกับสยามสแควร์ไม่ใช่หรือ ? แล้วอย่างนี้จะไม่ให้เรียกว่านายทุนหรือ ที่เลือกการค้ากำไรมากกว่าการอนุรักษ์พื้นที่ทางวัฒนธรรม ? จริงๆกรณีศาลเจ้าแม่ทับทิมสำหรับดิฉันแล้วเป็นเรื่องย้อนแย้งอย่างเหลือเชื่อ ที่คนซึ่งออกมาปกป้องคือนักศึกษารุ่นใหม่ที่น่าจะไม่ได้ไหว้เจ้า แต่เคารพสิทธิของประชาชนที่มีวัฒนธรรมนับถือเจ้าของเขาที่ไม่ได้ไปเดือดร้อนหรือบังคับใคร ในขณะที่ฝ่ายซึ่งมาทำลาย กลับเป็นฝ่ายที่อ้างความรักเจ้าถวายบังคมเจ้าตลอดเวลา และถนัดนักกับการไล่ล่าลงทัณฑ์คนอื่นที่ไม่ได้รักเจ้าแบบเดียวกับตัวเอง

ดิฉันขอจบประเด็นแรกนี้ด้วยการวกกลับมาที่คำถามนั้นที่ว่า “เราจะต้องกราบกรานคุณเหรอกับการเข้าถึงการศึกษาเนี่ย” ที่ทำให้ดิฉันนึกถึงเรื่องเล่าของ มณี สิริวรสาร ในหนังสืออัตชีวประวัติของเธอว่า วันหนึ่งเธอได้อ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ว่า “รัฐบาลไทยซึ่งมีเจ้าคุณพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยกเลิกการสอบชิงทุนคิงส์สกอลาชิปไปศึกษาต่อต่างประเทศ และเปลี่ยนแปลงให้เป็นการชิงทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศโดยเป็นทุนของ กพ. ซึ่งเป็นชื่อย่อของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน” (ชีวิตเหมือนฝัน, น.182) โดยเพิ่มเกณฑ์ให้แผนกอักษรศาสตร์ก็สามารถเข้าชิงทุนได้ด้วย และบอกว่าสิทธิในการสอบชิงทุนนี้เป็นของทุกคนที่มีผลการเรียนดีและอายุอยู่ในเกณฑ์ไม่ว่าจะเป็นใคร นางสาวมณีในเวลานั้นจึงได้ไปสอบชิงทุนและกลายเป็นนักเรียนหญิงสามัญชนคนแรกจากแผนกอักษรศาสตร์ ที่มีโอกาสได้ทุนไปเรียนเมืองนอก จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนชื่อทุนในกรณีนี้ทำให้ผู้ที่จะอ้างบุญคุณต่อการศึกษานี้ จะไม่มีทางเป็นใครอื่นไปได้นอกจากราษฎรเจ้าของประเทศที่เป็นผู้เสียภาษีนั่นเอง

ทุกวันนี้เราก็ยังมีทุนคิงส์–คือหลายคิง, และทุนควีน ที่ส่งนักเรียนอักษรศาสตร์ไปศึกษา แต่ชื่อของทุนก็จะทำให้สับสนกับที่มาของเงิน ทั้งที่มันก็ล้วนมาจากหยาดเหงื่อราษฎรเหมือนกัน และมันก็จะกลายเป็นข้ออ้างผูกมัดให้ผู้ที่เรียนจบกลับมา ไม่แคล้วต้องมาบรรยายถึงวรรณคดี genre พิเศษที่เรียกว่า “งานพระราชนิพนธ์” ในทางที่เป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากอวย นอกเหนือจากที่ก็ต้องวิจารณ์วรรณคดีไทยโบราณแบบอวยๆ แบนๆ อย่างเดียวต่อไปอีกเหมือนกัน โดยอ้างว่าเป็นทักษะเฉพาะตนของสำนักนี้ที่เป็นมรดกจากพระวรเวทย์ฯ คือเป็น “close reading” หรือการ “อ่านละเอียด” แต่ดิฉันอยากเรียกมันว่าเป็น close แบบเติม d มากกว่า คืออ่านแบบหลับหูหลับตาและปิดกะลา

คำถามท้าจากนิสิตใต้ถุนตึกอักษรศาสตร์ในวันนั้นจึงควรแก่การที่คณาจารย์บนตึกผู้รับทุนรับเครื่องราชย์ทั้งหลายจะได้ถามตัวเองด้วยว่า ศักดิ์ศรีในทางวิชชาของความเป็นอักษรศาสตร์อยู่ที่ไหน และในความเป็นมนุษยศาสตร์นั้นก็ควรจะสำเหนียกได้มิใช่หรือว่า การกราบกรานในนามของการศึกษา คือการดูถูกสติปัญญาทั้งของผู้ที่เรากราบและของตัวเราเอง ถึงเวลาหรือยังที่อาจารย์ทั้งหลายจะตื่นลืมตา แล้วก้าวขาตามหลังนิสิต ที่ไม่ว่าชื่อจิตร หรือไม่ใช่จิตร, หรืออาจจะเป็นจิตรา, แล้วมาปลดแอกกันเสียที

ประการที่สองของภาพลักษณ์ของความเป็นจิตรในปัจจุบัน คือเรื่องท่าทีต่อความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น

คนอาจจะนึกว่าจิตรเรียนรู้เรื่องชนชั้นจากการศึกษางานฝ่ายซ้าย แต่ความจริงจุดเริ่มต้นของเขามันง่ายกว่านั้นและเริ่มต้นมาตั้งแต่ในวัยมัธยมเหมือนเยาวชนที่ออกมากันทุกวันนี้ มันเริ่มจากที่เขาต้องไปอาศัยห้องเช่าอยู่ในชุมชนแออัดเชิงสะพานเสาวณีย์ที่อยู่ใกล้กับวังจิตรลดา ตอนนั้นเป็นราวปี 2491 ที่กษัตริย์รัชกาลที่ 9 เพิ่งกลับจากเมืองนอกแล้วมาอยู่ที่วังแห่งนี้ซึ่งมีคูน้ำใสสะอาดล้อมรอบในขณะที่ชาวบ้านในชุมชนข้างๆกันไม่มีกระทั่งน้ำประปาจะใช้ ทุกวันจิตรจึงเห็นภาพชาวบ้านเดินเท้าเปล่า สวมเสื้อขาดๆบ้างไม่สวมบ้าง มาอาบน้ำในคูรอบวังนั้น พวกผู้หญิงก็หิ้วถังน้ำมารอข้ามถนนไปตักน้ำมาใช้ เมื่อหาบกลับมาก็ต้องเร่งฝีเท้าให้ทันรถราที่กำลังเคลื่อนไป และให้ทันหลบตำรวจในป้อมของวังที่มาคอยไล่ (ดู อ่านอาลัย, น.22)

ถามว่าภาพอย่างที่จิตรเห็นนี้มันเป็นกรณียกเว้นสำหรับเขาคนเดียวเพราะเขาดันไปอาศัยอยู่ในสลัมข้างวังน่ะหรือ? ทุกวันนี้เราไม่ได้เห็นอยู่ตำตาหรอกหรือถึงเหลื่อมล้ำแบบนี้และที่ยิ่งกว่านี้? ในขณะที่ประชาชนดิ้นรนอดอยากในยุคเศรษฐกิจตกต่ำไร้อนาคตไร้ความหวังอยู่อย่างนี้ คนที่อยู่ชั้นบนกว่าที่ไล่มาตั้งแต่ชั้นบนสุด กลับสามารถดำเนินชีวิตต่อไปภายใต้อภิสิทธิ์ของความเหลือเฟือที่การันตีชั่วทุกสถานการณ์และชั่วลูกชั่วหลาน มันเป็นความเหลื่อมล้ำชนิดที่ดิฉันไม่ต้องบรรยายให้เปลืองเวลา ข้อเรียกร้อง 10 ข้อของนักศึกษาต่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ได้ขมวดปัญหานี้ออกมาชัดแจ้งแล้ว โดยที่ไม่ต้องอ่านหนังสือโฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน ของจิตร ภูมิศักดิ์ ด้วยซ้ำ

แต่ก็ยังมีท่าทีต่อความเหลื่อมล้ำในอีกรูปแบบที่ทำให้ดิฉันน้ำตาซึมหลายครั้งกับจิตร ภูมิศักดิ์ในภาพลักษณ์ปัจจุบัน มันเริ่มต้นจากการชุมนุมในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ที่มีผู้ปราศรัยคนสุดท้ายเป็นนิสิตหญิงที่นั่งลงพูดบนพื้นเวทีในชุดนิสิตสวมถุงเท้าขาว เธอพูดเบาที่สุด ช้าที่สุด ประหม่าที่สุด แต่มันสะเทือนใจดิฉันเป็นที่สุด เธอบอกว่า ทุกครั้งที่เรากำลังจะยอมแพ้ เราอย่าลืมนึกถึงได้ไหมคะว่าเคยมีคนที่ต้องตายเพราะเผด็จการ มีคนที่ถูกฆ่าหั่นศพทิ้งแม่น้ำ คนที่โดนยิงตอนสลายการชุมนุม ถ้าคุณคิดว่าคุณสู้เผด็จการไม่ไหว ก็อย่าลืมคิดถึงคนที่ตายไปได้ไหมคะ อย่าลืมว่าเผด็จการเคยทำอะไรกับเราไว้ อย่าคิดว่าเราจะต้องแพ้มันตลอดไป

สิ่งที่น่าสนใจในคำพูดของเธอมิใช่อยู่ที่การรำลึกถึงคนที่ตายไปเหล่านั้นอย่างเหยื่อผู้น่าสงสาร แต่เธอรำลึกถึงพวกเขาในฐานะคนที่ต่อสู้มาก่อนหน้า และเป็นแรงผลักดันให้เราต้องต่อสู้ต่อไปไม่ยอมแพ้ เธอนับรวมการต่อสู้นั้นเข้ามาเป็นกระแสธารเดียวกับการต่อสู้ในปัจจุบันอย่างเท่าเทียมกัน ความสะเทือนใจของดิฉันอยู่ตรงนี้ ตรงที่เธอมิได้ติดหล่มฐานันดรของนักสู้ ความหมายของการต่อสู้นั้นมีคุณค่าเท่ากันไม่ว่าจะเป็นนิสิตจุฬาฯถุงเท้าขาว หรือนักปฏิวัติพลัดถิ่นที่ตายอย่างทารุณตามตะเข็บชายแดน หรือไพร่ชนบทที่มาเป็นศพอยู่กลางเมืองหลวง

แล้วในการชุมนุมของบรรดานิสิตนอกเครื่องแบบที่นี่เมื่อวันที่ 14 สิงหา ก็มีการนำคำปราศรัยของแกนนำคนเสื้อแดงมาอ่านใหม่โดยขานรับอารมณ์ความรู้สึกของคนเสื้อแดงในอดีตกับการต่อสู้ในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็ยังมีการเปิดเสียงโฟนอินของ ชนกนันท์ รวมทรัพย์ รุ่นพี่ชาวจุฬาฯ ที่ต้องลี้ภัยไปเพราะกฎหมายเถื่อนอย่างมาตรา 112 โดยรุ่นน้องที่นี่ไม่มีความตะขิดตะขวงใจว่าจะต้องแยกภาพการต่อสู้ของตัวเองให้ดูไร้เดียงสากว่านั้น

สำหรับดิฉัน นี่มันคือสปิริตเดียวกันกับจิตร ภูมิศักดิ์เมื่อครั้งยุค 2500 ที่แม้ตัวเขาเองจะมีความเป็นปัญญาชนสูง แต่เมื่อเขาเข้าสู่หนทางการต่อสู้ เพื่อนร่วมรบที่เขาเลือกเคียงบ่าเคียงไหล่เสมอกัน คือบรรดาสหายชาวนาห่างไกล กระทั่งในยามติดคุก เขาก็ลงมือใช้แรงงานอยู่กับนักโทษคอมมิวนิสต์ชั้นชาวนาและชั้นชาติพันธุ์กลุ่มน้อยอย่างไม่น้อยหน้าไปกว่าคอมมิวนิสต์ชั้นปัญญาชน

เพราะอย่างนี้ดิฉันจึงรู้สึกทึ่งว่า ในขณะที่นักวิชาการ นักเขียน ศิลปิน แอคทิวิสต์ และคนชั้นกลางทั่วไป พากันตื่นเต้นกับพลังนักศึกษาที่เกิดขึ้นใหม่ ราวกับรอมานานที่จะให้มีนักสู้มายืนนำหน้าพวกเขาในรูปลักษณ์ที่โรแมนติคชวนมองกว่าชาวบ้านอิเหละเขละขละที่ดูไม่ผุดผ่องสบายตาสบายใจ แต่จิตรรุ่นใหม่เหล่านี้กลับไปจับมือกับพวกเขาเหล่านั้นในฐานะนักสู้เท่าๆกันอย่างสนิทใจ โดยไม่มีน้ำเสียงเวทนาหรือทวงบุญคุณ ที่อุตส่าห์มาเหลียวแลหรือให้ความช่วยเหลืออุปถัมภ์ใดๆแก่นักสู้ชั้นล่างเหล่านี้

มันน่าทึ่งที่คนรุ่นใหม่เริ่มต้นจาก “echo chamber” ในทวิตเตอร์ที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่จนใครๆต้องอธิบายตัวตนของพวกเขาด้วยทฤษฎีล่าสุดแบบ Affect Theory แต่ปัจเจกทวิตเตอร์ในโลกเสมือนเหล่านี้เมื่อออกมาสู่พื้นที่ต่อสู้ในโลกความจริง กลับหวนไปสู่ทฤษฎีที่ใครๆก็ว่าโบราณอย่างทฤษฎีชนชั้นของจิตร ภูมิศักดิ์ และนั่งชุมนุมเคียงกันกับคนเสื้อแดงที่ภาพลักษณ์ภายนอกตัดกันกับพวกเขาอย่างแทบหาจุดร่วมไม่ได้ แล้วกลายเป็นมาเพื่อนร่วมรบที่เท่าเทียม

และในความเท่าเทียมนั้นก็มีการถ่ายเทความรับรู้ต่อกันอย่างเป็นธรรมชาติ คนรุ่นใหม่ได้ประสบการณ์กรำศึกของคนเสื้อแดงมาหนุนเสริมให้การชุมนุมแข็งแกร่งคับคั่งทั้งเสบียงกรังและความอึดอดทน ฝ่ายคนเสื้อแดงก็ได้เห็นจินตนาการของการต่อสู้ในรูปแบบใหม่ๆ ทั้งได้เรียนรู้ถึงความหมายของการเคารพและต่อสู้เรื่องความหลากหลายทางเพศจากเพื่อนรุ่นเยาว์ของเขาไปโดยปริยาย หลังจากถูกสั่งสอนว่าไม่รู้จักความ PC ในเรื่องเหล่านี้มานาน

ขณะเดียวกัน ขบวนการต่อสู้ของคนรุ่นเดือนตุลาและที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของคนเดือนตุลา ที่สถาปนาที่ทางของความเป็นปัญญาชนแอคทิวิสต์ปีกก้าวหน้าในขบวนต่อสู้มานาน ก็ต้องกระอักกระอ่วนกับประเด็นสิทธิสตรีของเหล่า เฟมทวิต ที่ไปไกลเสียยิ่งกว่าความตื่นตัวเรื่องสิทธิสตรีในยุค 14 ตุลาที่ยังเปรียบตัวเองเป็นดอกไม้ หรือสิทธิสตรีในระบบคิดแบบพรรคคอมมิวนิสต์ไทย และในฐานะบรรณาธิการสตรีคนเดียวโดดเดี่ยวแถวนี้ ดิฉันขอสารภาพไว้ ณ ที่นี้ว่า วันเวลาและสติสตังไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งในชีวิตการทำงานของดิฉันถูกผลาญไปกับการรับมืออย่างน่าสมเพชของตัวเองต่อการ exploit, harrass และ emotional blackmail จากปัญญาชนชายหัวก้าวหน้ามาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะนักวิชาการหรือนักเขียน ไม่ว่าจะเป็นคนที่คุณคิดว่าก้าวหน้าขนาดไหน

สำหรับดิฉัน ประเด็นเรื่องสิทธิสตรีและความหลากหลายทางเพศ คือจุดตัดที่ต่างไป ระหว่างจิตร ภูมิศักดิ์ในอดีต กับจิตร ภูมิศักดิ์ในภาพลักษณ์ปัจจุบัน อย่างชนิดที่สะเทือนใจผู้หญิงง่อยๆอย่างดิฉันที่สุดแล้ว

อย่างไรก็ดี มันก็น่าคิดว่า ถ้าในเมื่อมันดูงดงามสมบูรณ์แบบจนราวกับว่าเรามีจิตร ภูมิศักดิ์ ในภาพลักษณ์ปัจจุบันที่ทดแทนกันได้ขนาดนี้ ก็ไม่เห็นจะต้องยึดติดกับการมีอนุสาวรีย์อะไร ดังที่ดิฉันเห็นเป็นข่าวช่วงหลายอาทิตย์ก่อนที่องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) ออกมาปฏิเสธเรื่องการสร้างอนุสาวรีย์ ทั้งปฏิเสธที่จะกล่าวคำขอโทษแก่จิตร ภูมิศักดิ์ ต่อการกระทำทารุณในอดีตของจุฬาฯ [อัพเดตข้อมูล: ต่อมา อบจ. ในนามสโมสรนิสิตจุฬาฯ ได้ออกหนังสือ “คำแถลงขอโทษแด่ จิตร ภูมิศักดิ์ ต่อกรณี ‘โยนบก'” ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2563 เรียบร้อยแล้ว ขอแสดงความชื่นชมไว้ ณ ที่นี้, ไอดา] ข่าวนี้ทำให้ดิฉันตื่นจากฝันหลังจากที่เคลิ้มไปกับการเห็นกระแสคนรุ่นใหม่ในจุฬาฯ ที่ตื่นรู้และดูเป็นความหวังใหม่ มติ อบจ. ครั้งนี้ทำให้เห็นว่าชาวจุฬาฯ รุ่นใหม่อีกไม่น้อยก็ยังอยู่ในจุลจักรวาลอันน่าเอ็นดูของพวกเขาต่อไป

ดิฉันนึกขำกับคำถามประเภทมีปมกลัวไม่เป็นวิทยาศาสตร์แบบไทยๆของทาง อบจ. ที่ว่า มีตัวชี้วัดใดในการประเมินว่าจิตร ภูมิศักดิ์ ควรค่าแก่การสร้างอนุสาวรีย์ เพราะมันเป็นคำถามที่ชวนให้ถามกลับเช่นกันว่า แล้วอะไรหรือคือตัวชี้วัดของอนุสาวรีย์ของสองบุรุษที่ตั้งอยู่แถวนี้ ? จงอภิปรายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์โดยปราศจากอิทธิพลของโฆษณาชวนเชื่อมาวัดกันดูสักที แต่ถ้าจะบอกว่าตัวชี้วัดคือการเป็นผู้ก่อตั้งจุฬาฯ ดิฉันเห็นว่าถ้าอย่างนั้นก็ต้องสร้างอนุสาวรีย์จอมพล ป. ตั้งไว้ข้างๆกันด้วยอีกคนล่ะค่ะ ถ้าไม่ใช่ตั้งตรงข้ามประจันกัน

แต่จะว่าไป สำหรับโลกยุคใหม่นี้ การสร้างอนุสาวรีย์ก็อาจถูกมองว่าเป็นอะไรที่เชยๆได้ เพราะมันเป็นอะไรที่ราชการชอบทำกัน ขยันสร้างนักหนาให้เจ้าให้นาย จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นของตาย มีไว้กราบไหว้หรือไม่ก็บนบาน เป็นคุณค่าที่ไม่ต้องหาตัวชี้วัดให้วุ่นวายเพราะไม่มีประโยชน์ที่จะชี้วัดในสิ่งที่เขาบอกว่าสมบูรณ์แบบทุกด้านแต่ไม่อนุญาตให้วิจารณ์ ไม่อนุญาตกระทั่งจะไม่ไหว้

ตอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะตั้งอนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ ก็คงมีคนรู้สึกตั้งคำถามว่าจำเป็นแค่ไหน แต่ดิฉันเพิ่งมาเห็นความเข้าท่าที่สุดของการมีรูปปั้นปรีดี ก็ตอนที่มีนักศึกษาข้ามเพศคนหนึ่งไปโหนทำท่าแผลงๆ เพื่อยืนยันว่านี่คือคนที่เคารพได้พร้อมๆ กับที่วิจารณ์ได้ และล่าสุดเมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ยอมให้นักศึกษาใช้พื้นที่ในการชุมนุมทางการเมือง แกนนำนักศึกษาก็นำพวงหรีดไปวางแล้วฟ้องว่า อาจารย์คะ เขาไม่ให้หนูชุมนุม แต่ไม่ต้องห่วงนะคะ หนูจะทำให้ได้

นี่เองคือความหมายของการมีรูปปั้นที่เป็นการปักหมุด ว่าคุณค่าชุดใดคือสิ่งที่จะยึดถือไว้เป็นรากฐาน ต่อให้ธรรมศาสตร์ผ่านยุคผู้บริหารมาแบบไหน ก็ไม่มีใครกล้าเถียงหลักการเรื่องเสรีภาพที่ค้ำคออยู่ได้ รูปปั้นปรีดีจึงมีความหมายที่น่าสนใจตรงนี้ คือดูไม่มีความศักดิ์สิทธิ์นักในแง่สิ่งกราบไหว้บูชา แต่ศักดิ์สิทธิ์นักหนาในแง่ความหมายทางจริยธรรมที่ผูกติดอยู่กับมัน

และนั่นเองคือเหตุผล ที่จุฬาฯ จะไม่มีทางยอมให้มีทั้งอนุสาวรีย์จอมพล ป. และจิตร ภูมิศักดิ์ จุฬาฯ จะต้องมีแต่รูปปั้นสองกษัตริย์ไว้ให้แสดงการสักการะภาคบังคับต่อไป พอๆกับที่การแสดงการขอโทษต่อจิตร ภูมิศักดิ์ ก็จะเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่อย่างนั้นคราวหน้าถ้ามีคนอย่างเนติวิทย์ ที่ไม่ยอมก้มกราบในพิธีถวายบังคมขึ้นมา คำขู่เรื่องโยนบกก็จะไม่อาจถูกนำมาใช้ได้ต่อไป เพราะมันจะถูกสาปให้คืนร่างจากแทรดิชั่น สู่เนื้อแท้รูปเดิมของมัน คือ uncivilzed, ป่าเถื่อน, และตราบาปอันน่าละอายไปแล้ว

ทั้งหมดนี้คือเรื่องว่าสปิริตไหนที่จะใช้อ้างอิง เหมือนที่จู่ๆก็มีคำขวัญ “เสาหลักของแผ่นดิน” ขึ้นมา เป็นคำขวัญที่อวดโอ่อย่างปราศจากความละอายผิดทั้งวิสัยปัญญาชนและวิสัยผู้ดีเก่าที่จุฬาฯสมอ้างไว้ ส่วนคำขวัญ “เกียรติภูมิจุฬาคือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน” คงดูลดตัวเกินไป เพราะเขาถือว่าสิ่งที่เขาทำคือบุญคุณ ไม่ใช่การรับใช้

ดังที่บอกตั้งแต่ต้นว่าจุฬาฯ คือจุลจักรวาลของอำนาจทางวัฒนธรรมในสังคมไทย การที่จุฬาฯ ไม่อาจแสดงความสำนึกผิดต่อจิตร ภูมิศักดิ์ได้ ก็คือภาพสะท้อนของสังคมไทยที่ไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมการแสดงความสำนึกผิด หรือ remorse ที่ชนศิวิไลซ์ชาติอื่นเขามีกัน อันที่จริง remorse นี่ยังดูสง่ากว่า guilt ที่พวกเขาไม่มีทางยอมรับอยู่แล้วด้วยซ้ำ remorse หรือการสำนึกเสียใจต่อความผิดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะกระทำด้วยตัวเอง หรือกระทำในนามของเรา หรือกระทั่งของชนชาติเรา เป็นสมบัติที่ผู้ดีแถวนี้ไม่มี

ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่มีคำถามจาก อบจ. ว่า ถ้าคุณปู่ของเราทำผิดไปชกหน้าคนอื่น เราต้องขอโทษเหรอ? ซึ่งมันก็ชวนให้นึกถึงอีกคำถามที่สะท้อนกันว่า ถ้าขี้ข้าของเราไปฆ่าคนอื่นในนามของความรักเทิดทูนเรา เราต้องขอโทษเหรอ? ดังนั้นเองการจับกุมคุมขัง กระทำทารุณฆ่าล้างในนามความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงยังดำเนินต่อไป โดยไม่เพียงไม่มีการสืบหาผู้กระทำผิด แต่ผู้ที่ปล่อยให้ความทารุณนี้ดำเนินต่อไปก็ไร้ซึ่งสปิริตของการ remorse ฉะนั้นแล้วจะแปลกอะไรที่จิตร ภูมิศักดิ์ จะถูกโยนบกเพราะถูกหาว่าไม่เคารพต่อกษัตริย์ผู้เป็นปู่ และถูกฆ่าตายเพราะเป็นคอมมิวนิสต์ที่ถูกมองว่าเป็นพิษภัยต่อกษัตริย์ผู้เป็นหลาน

เบ็น แอนเดอร์สัน เคยเขียนความเรียงสั้นๆ ชื่อ “Two Unsendable Letters” หรือ “จดหมายที่ส่งไม่ได้สองฉบับ” ที่สื่อสารเป็นการเฉพาะกับสังคมไทย ฉบับแรกชื่อว่า Remorse เปิดฉากขึ้นมาด้วยการเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อปี 2500 ที่นายกรัฐมนตรีอูนุของพม่าเดินทางไปอยุธยา เพื่อแสดงการขอขมาต่อวิญญาณบรรพชนไทยที่พม่าเคยถล่มราชธานีแห่งนี้เสียย่อยยับ ชาวไทยต่างปลื้มใจต่อการแสดงความสำนึกผิดอย่างผ่าเผยและเป็นสุภาพบุรุษของอูนุ แต่ไทยกลับไม่เคยแสดงความสำนึกผิดแบบนี้บ้างเลยต่อกัมพูชาและลาว แม้แต่จอมพล ป. ก็ไม่เคยแสดง ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ ดิฉันได้เห็นมาจนซึ้งแก่ใจแล้วว่าไม่ว่าฝ่ายอนุรักษนิยมหรือก้าวหน้าแค่ไหนของไทย ก็ไม่รู้จักวัฒนธรรมของการแสดงความสำนึกผิดนี้ ยกเว้นเพียงกรณีที่ดิฉันเห็นจิตรรุ่นปัจจุบันกล่าวขอโทษต่อคนเสื้อแดง

จดหมายฉบับที่สองของเบ็นใช้ชื่อว่า Magnanimity ที่เรียกร้องให้นักชาตินิยมไทยรู้จักทำใจให้กว้าง ว่าเราไม่ได้ต้องเก่งเป็นเลิศในทุกๆ ด้าน และบางด้านก็แพ้พม่า กัมพูชา อินโดนีเซียอยู่เห็นๆ เราจึงควรมุ่งสร้างสรรค์ไปข้างหน้ามากกว่าจะอยู่กับความอิจฉาริษยาที่หลอกตัวเอง ชาวอังกฤษภูมิใจกับเบนจามิน บริตเตนและเฮนรี เพอร์เซล แต่พวกเขาก็ไม่ได้ต้องมาหลอกตัวเองว่าคีตกรทั้งสองเทียบชั้นได้กับบาคหรือบีโธเฟน ฉันใดก็ฉันนั้น การจะยอมรับว่ามีสามัญชนหัวปฏิวัติสักคนที่มีอัจฉริยภาพมากกว่าหรืออย่างน้อยก็ไม่ได้ด้อยกว่าเจ้าสักคนในฐานะนักอักษรศาสตร์ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องรู้สึกเสียหน้าอะไร การรู้จักทำใจให้กว้างคือการรู้จักแสดงความเคารพอย่างจริงใจในความสำเร็จอย่างเหนือชั้นกว่าของผู้อื่นบ้างก็เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องทำให้มันกลายมาเป็นปมด้อยของเราเอง

ถ้าจุฬาฯ รู้จักสมบัติผู้ดีในสองข้อนี้เสียบ้าง บางทีสิบปีข้างหน้า ดิฉันอาจไม่ต้องมานั่งพูดอะไรถึงจิตร ภูมิศักดิ์แบบนี้ที่นี่อีกแล้วก็เป็นได้

และถ้าการมีรูปปั้นมันจะเชย หรือมันจะดูเป็นสัญลักษณ์ที่ขัดต่อจริตแทรดิชั่นๆ ของจุฬาเกินไป อย่างน้อยขั้นต่ำที่ควรมีได้ คือการตั้งชื่อตึกสักหลังก็ยังดี เหมือนที่มีตึก จุลจักรพงษ์, เปรมบุรฉัตร อะไรต่ออะไร อย่างที่คณะอักษรฯ ก็อุตส่าห์มีทั้ง บรมฯ ทั้ง มหาจักรฯ  ฟังดูน่าจะหนักพิกลนะคะ ให้จิตรมาช่วยแบ่งซักคนไหม

เพราะหาไม่เช่นนั้นแล้วจิตร ภูมิศักดิ์ ก็จะยังคงเป็น curse and blessing คือเป็นทั้งคำสาปและคำพรของจุฬาลงกรณ์และอักษรฯ จุฬาฯ ต่อไป และขอให้ระวังไว้เถิดว่า มันจะยิ่งทำให้มีภาพลักษณ์ของจิตร ภูมิศักดิ์ แบบใหม่ๆเกิดขึ้นมา ที่จะไม่ยอมถูกโยนบกง่ายๆอีกต่อไป ดังเช่นจิตร ภูมิศักดิ์ในภาพลักษณ์ปัจจุบันนี้

แหล่งอ้างอิง

เบ็น แอนเดอร์สัน. “จดหมายที่ส่งไม่ได้สองฉบับ”. อ่าน (3)3: เมษายน-กันยายน 2554, 8-9.
มณี สิริวรสาร. ชีวิตเหมือนฝัน. (เล่ม 1 ตอนที่ 1 และตอนที่ 2). โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2545.
ไอดา อรุณวงศ์. “เบ็นที่รัก, Re: จิตร ภูมิศักดิ์ กับจดหมายรักแปดฉบับ.” อ่าน-อาลัย. ไอดา อรุณวงศ์ บ.ก.. อ่าน, 2559.
Anderson, Benedict R.O’G. Exploration and Irony in Studies of Siam over Forty Years. Southeast Asia
Program Publications, Southeast Asia Program, Cornell University, 2014.
“องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ไม่เห็นชอบสร้างอนุสาวรีย์และออกจม.ขอโทษจิตร ภูมิศักดิ์” ประชาไท 11 ก.ย. 2563
https://prachatai.com/journal/2020/09/89470
วิดีโอการชุมนุมวันที่ 14 สิงหาคม 2563 ที่คณะอักษรฯ จุฬาฯ ถ่ายทอดสดทางเพจเฟซบุค คณะจุฬาฯ
https://www.facebook.com/nisitchulaparty/videos/335148860954938/?t=8
วิดีโอการชุมนุม “จุฬารวมพล” วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ลานข้างหอประชุม จุฬาฯ ถ่ายทอดสดทางเพจเฟซบุค The Reporters 
https://www.facebook.com/TheReportersTH/videos/611662126046504/?t=2723