สังเขปประวัติศาสตร์ฆาลิสโกและการปฏิวัติเม็กซิโก

หมายเหตุผู้สังเขป: ด้วยความที่เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เม็กซิโก เราจึงจะไม่สรุปลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในที่นี้ ซึ่งพอหาได้อยู่แล้วในภาษาไทยตามสารานุกรมและตำรา และเนื่องจากเราไม่อาจใช้ประสบการณ์ส่วนตัวเป็นพาหนะในการเล่าเรื่อง มลรัฐฆาลิสโกอันเป็นภูมิลำเนาของรูลโฟก็ไม่เคยเดินทางไปรู้จัก เราจึงได้หันไปศึกษาปากคำของ ฆวาน รูลโฟ จากบทความและบทสัมภาษณ์ต่างๆ ที่พอจะควานหาได้ในอินเทอร์เน็ต เพื่อดูว่าเขาเล่าเรื่องภูมิลำเนาฆาลิสโกของตัวเองอย่างไร และเขามีท่าทีอย่างไรต่อประวัติศาสตร์และการเล่าเรื่อง (ในภาษาสเปน คำว่า historia หมายถึงประวัติศาสตร์ และหมายถึงเรื่องเล่าหรือ story ด้วย)

งานประพันธ์ทางวรรณกรรมไม่ใช่จดหมายเหตุบอกประวัติศาสตร์ พอๆ กับที่นักเขียนไม่ใช่ตัวแทนของประเทศชาติที่ตนถือกำเนิด การอ่าน ท่งกุลาลุกไหม้ ไม่จำเป็นต้องอาศัยความรู้ด้านประวัติศาสตร์เม็กซิโก ไม่จำเป็นต้องรู้จักภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศนั้น ก็สามารถเข้าถึงมันได้อย่างลึกซึ้งหลายระดับ การ "สังเขป" ประวัติศาสตร์ในที่นี้ อาจเหมาะกว่าหากจะเรียกมันเป็นการ "สังเกต" ร่องรอยรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ในการประพันธ์ของรูลโฟ และการ "สังกา" ว่าวรรณกรรมจะสามารถชำระชะล้างผัสสะรับรู้ของเราต่อประวัติศาสตร์และการเล่าเรื่องได้ขนาดไหนกันนะ?

พีระ ส่องคืนอธรรม / ธันวาคม 2018


คัดและแปลจากเรียงความ “El desafío de la creación” [ควมท้าทายของการสร้างสรรค์] เขียนโดย ฆวาน รูลโฟ ผู้สังเขปไม่ทราบปีที่เขียน

ข้อยนี้ถืกไทบ้านไทเมืองวิจารณ์มาหลายแล้วว่าข้อยเล่าแต่ควมเท็จ ว่าข้อยบ่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ [que no hago historia] ว่าอันที่ข้อยเว้าข้อยเขียนนี้–เพิ่นว่า–บ่เคยเกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย มันกะเป็นจั่งเพิ่นว่าละ

ข้อยบ่ได้มีโซคหมานพอสิได้ญินได้ฟังผู้หลักผู้ใหญ่เพิ่นเล่าเรื่อง [contar historias] ซั้นแล้วข้อยเลยจำเป็นต้องประดิษฐ์คิดค้นมันขึ้นมาเอง และข้อยกะคิดว่าการประดิษฐ์ การคิดจินตนาการ นั้นละแม่นหลักการสำคัญอย่างหนึ่งของการสร้างวรรณกรรมอีหลี เฮาแม่นซุมขี้ตั๋ว นักเขียนผู้สร้างบ่เฮ็ดแนวอื่นนอกจากตั๋วไปทั่วทีปทั่วแดน วรรณกรรมกะเป็นควมเท็จ แต่จากควมเท็จนั้น ควมเป็นจริงที่ถืกสร้างขึ้นใหม่กะป่งออกมา ซั้นแล้วการสร้างควมเป็นจริงขึ้นใหม่จึงเป็นหลักการพื้นฐานอย่างหนึ่งของการสร้างสรรค์

ข้อสังเกต: ในบทความชิ้นนี้และในบทสัมภาษณ์หลายชิ้น รูลโฟเน้นว่าไม่มีเรื่องไหนที่เขาแต่งที่ใส่เรื่องที่เขาเคยประสบ หรือสิ่งที่เขาเคยพบเห็นเลย ทุกอย่างล้วนมาจากจินตนาการปรุงแต่ง ถึงกระนั้น การถือกำเนิดในทศวรรษแห่งการปฏิวัติเม็กซิโก การสูญเสียบิดามารดาในวัยเด็ก การใช้ชีวิตวัยเด็กและวัยรุ่นท่ามกลางสังคมอันระส่ำระสายจากการปฏิวัติเม็กซิโกตลอดจนสงครามปฏิปักษ์ปฏิวัติของกลุ่มแคทอลิกในภูมิภาค และการถูกส่งไปอยู่โรงเรียนสำหรับเด็กกำพร้าของคริสตจักรก็ฝากแผลเป็นไว้ในโลกจินตนาการของรูลโฟ

ข้อสังกา: รูลโฟแยกแยะชัดเจนว่างานประพันธ์ของตนไม่ใช่ "historia" แต่ในขณะเดียวกันก็เรียกเรื่องเล่าของผู้ใหญ่ในบ้านเกิดที่เขาไม่เคยได้ยินว่าเป็น "historias" เช่นกัน แสดงว่ารูลโฟอาจมีความต้องการที่จะพลิกฟื้นประวัติศาสตร์ที่เขาเอื้อมกลับไปไม่ถึงนั้นขึ้นมาให้มีชีวิตผ่านเรื่องแต่งที่เขาจินตนาการขึ้นมาเอง

คัดและแปลจากบทสัมภาษณ์โดย ฆวาน กรูซ
ตีพิมพ์ 19 สิงหาคม 1979 นิตยสาร El País ประเทศสเปน

คำถาม “คำถามแรกคงจะเป็นเรื่องช่วงขวบปีแรกๆ ของชีวิตคุณ พูดถึงฆาลิสโก ฆาลิสโกเป็นอย่างไรครับ?”
คำตอบ “ฆาลิสโกเป็นมลรัฐหนึ่งทางภาคตะวันตกของเม็กซิโก พื้นที่ส่วนหลายแล้วแห้งแล้ง แต่กี้แต่ก่อนเคยเป็นภูมิภาคอุดมสมบูรณ์ แต่ด้วยเหตุของการแตกโตทางการเกษตร การปันดินดอนเกษตร บัดใด๋แล้วหน้าดินกะเพพังไป จากหม้องนั้นหมู่คนญ้ายออกมาหลาย ถิ้มหมู่บ้านจนฮ้าง พากันญ้ายออกมา ไทเม็กซิโกซุมผู้เพิ่นไปเป็นแรงงาน [braceros] อยู่ในสหรัฐอเมริกา ส่วนหลายแล้วกะมาแต่ภูมิภาคนั้นละ มาแต่ฆาลิสโก มันเป็นมลรัฐภูหลาย ลางส่วนมีภูหลาย มีแนวภูพาดขวงทางตะวันตก แล้วกะเป็นท่งราบอยู่อีกลางทีปลางแทว มีภูมิอากาศหลากหลาย เทิงภูนั้นหนาว แต่ทางท่งราบต่างๆ อยู่สูงเกือบสามร้อยหรือสี่ร้อยเมตรเทิงระดับทะเลปานกลาง ทะเลกะอยู่ไกลหลาย เขาเจ้าเอิ้นกันว่าแผ่นดินฮ้อน [la tierra caliente] เอิ้นจั่งซี้เลย แผ่นดินนี้พาดคร่อมมลรัฐต่างๆ หลายหม้องในภาคตะวันตกของประเทศคือสายแอว เอิ้นกันว่า แผ่นดินฮ้อน ภูมิภาคนั้นละเป็นหม้องอยู่อู่นอนของเรื่องเล่าของข้อย [mis historias] ในทีปแผ่นดินฮ้อนนั้นละ”

คำถาม “คุณคิดว่าจริงไหมที่งานของคุณใช้ความเป็นเม็กซิกันมาเป็นพื้นฐานตั้งต้นเพื่อจะก้าวไปถึงระบบสัญลักษณ์ที่เป็นสากลกว่านั้น?”
คำตอบ “อั่น มันเป็นไปจั่งซั้น เป็นอุบัติเหตุของวรรณกรรม [son los azares de la literatura] ข้อยบ่ได้เขียนแบบมีเป้าหมายว่าสิต้องก้าวข้วมขอบเขตหม้องมันถืกสร้างขึ้นไปฮอดไส ผัดแต่มันโซคหมานได้แล่นได้โลดไปหลาย จนได้แปลไปหลายภาษา ได้มีผู้ฮู้ผู้จักอยู่ทั่วทีป แต่อันนี้บ่แม่นควมคิดข้อย อันที่สิญกสิเหมาควมเป็นเม็กซิโกแบบหนึ่งแบบใดนี้กะบ่แม่นควมคิดข้อยคือกัน ญ้อนว่าบ่มีคุณลักษณะใดที่สิมาเป็นโตแทนควมเป็นเม็กซิโกได้แบบเหมิดตนเหมิดโต ควมเป็นเม็กซิโกกะแม่นเม็กซิโกหลายๆเม็กซิโก บ่มีอันใดแนวใดที่เฮาสิเอามาอ้างได้แท้ว่า เม็กซิโกมันเป็นจั่งซี้ละ บ่ อันนั้นบ่แม่นเม็กซิโก บ่มีอันใดแนวใดที่เป็นเม็กซิโก มันหากเป็นส่วนหนึ่งเปี่ยงหนึ่งของเม็กซิโก เป็นหนึ่งในบรรดาเม็กซิโกอีกหลายคัก”

คำถาม “เม็กซิโกอันไหนล่ะที่คุณรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งมากที่สุด?”
คำตอบ “อั่น ข้อยนี้มาแต่ภาคตะวันตกของประเทศ มาแต่ภูมิภาคที่เป็นลูกหลานสเปน [una región criolla] จั่งเจ้าว่าหว่างหั้นนั่นละ มาแต่ภูมิภาคที่แทบบ่มีลูกผสมข้ามเซื้อซาติ [mestizaje] อันมีสาเหตุว่าการพิซิตซนเผ่าในทีปนี้ ในกาลีเซียใหม่นี้ [la Nueva Galicia] อันเป็นฆาลิสโกคู่มื้อนี้ ใซ้วิธีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ฆ่าซนพื้นเมืองถิ้มเหมิดสู่ผู้สู่คน บ่ญังไทเผ่าพอน้อย แล้วจั่งมีไทอันดาลูซ ไทเอกซ์เตรมาดูรา [สองแคว้นในประเทศสเปน] มาอาศัยอยู่แทน”

ข้อสังเกต: จุดร่วมระหว่างฆาลิสโกกับอีสานตามที่เข้าใจกัน มีได้แก่ ปัญหาดินเสื่อม ปัญหาคนทิ้งบ้าน เป็นแหล่งกำเนิดศิลปวัฒนธรรมของประเทศ​ (หมอลำ, มาริยาชิ; พระป่า, รูปเคารพพระแม่มารี)  ส่วนจุดต่างมีได้แก่ อีสานใหญ่กว่าและมีประชากรมากกว่าฆาลิสโกกว่าเท่าตัว แต่ที่สำคัญคือผู้อาศัยของฆาลิสโกไม่ใช่ชนพื้นเมืองอย่างในอีสาน หากเป็นลูกหลานของผู้ที่ถือว่าตนเป็นผู้พิชิต มีสิทธิเป็นเจ้าครองดินแดนที่กษัตริย์สเปนปูนบำเหน็จให้ การล่มสลายของตัวละครในโลกของรูลโฟ จึงไม่อาจโทษได้ว่าเป็นความผิดของรัฐเป็นตัวหลัก หากแต่ฝังอยู่ในจุดกำเนิดชาวฆาลิสโกผู้หลีกหนีความลำบากยากแค้นในชนบทของสเปนมาลำบากต่อในชนบทเม็กซิโก รูลโฟเคยพยายามอย่างมากที่จะสืบให้รู้สายบรรพบุรุษของตนเอง แต่สืบอย่างไรก็ย้อนกลับขึ้นไปถึงอาชญากร ไม่ก็บาทหลวงสักคนเมื่อหลายศตวรรษก่อนเท่านั้น

ข้อสังกา: รูลโฟกล่าวในตอนท้ายบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ว่า Octavio Paz กวีนักประพันธ์และนักการทูตคนสำคัญของเม็กซิโก เขา “ไม่เคยทิ้งรากเหง้าความเป็นเม็กซิกันของเขาเลย อาจเป็นเพราะว่าพ่อของปาซมาจากฆาลิสโกด้วยละมั้ง เราชาวฆาลิสโกหยั่งรากลึกลงในดินทั้งนั้น” – ไม่รู้พี่เค้าพูดจริงหรือพูดเอาฮา

คัดและแปลจากบทความสัมภาษณ์โดย ลูอีส ฮาร์ส
เขียนปี 1965/6 ตีพิมพ์หลายครั้งในภาษาสเปนและภาษาอังกฤษ

ไม่ใช่เหตุบังเอิญที่มีเมืองชื่อ เตกีล่า อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกวาดาลาฆารา [เมืองหลวงของมลรัฐฆาลิสโก] ทั้งเหล้าเม็ซกาลและว่านอากาเว่—แหล่งกำเนิดของปูลเก [แอลกอฮอล์ทำจากน้ำเลี้ยงหัวว่านอากาเว่]—ก็เป็นผลิตภัณฑ์คลาสสิกของดินเสื่อมแร่ธาตุขาดแคลนรอวันสิ้นสลาย

รูลโฟกล่าวด้วยน้ำเสียงเศร้าสร้อยว่า “มันเป็นมลรัฐที่ทุกข์ญากหลาย แต่หมู่คนกะดู๋หมั่นเฮ็ดเวียกเฮ็ดงาน ผลิตได้อย่างหลาย จั๊กว่าผลิตมาแต่ไสหลายคัก ผลิตได้หลายโพด เป็นมลรัฐที่ผลิตเข้าโคตรหลายที่สุดในสาธารณรัฐ ขนาดกะบ่ได้ใหญ่ปานใด๋ ข้อยว่ามันมีขนาดเป็นอันดับแปดของเม็กซิโกท่อนั้น แต่ผัดผลิตเข้าโคตรพอเลี้ยงเกือทังสาธารณรัฐเม็กซิโกพะนะ ปศุสัตว์กะมีหลายกว่ามลรัฐอื่นของประเทศ แต่ส่ำเจ้าออกไปนอกเมืองหลวง[กวาดาลาฆารา] กะสิพ้อควมทุกข์ญากไฮ้ทั่วทีป บัดเข้าโคตรนี้กะเป็นโตทำลายดินได้คัก ซั้นแล้วดินดอนกะเพม้างเหมิด หนักหนาจนว่าลางทีปลางแทวฮอดบ่ญังดิน เป็นการทำลายหน้าดินมุ่นมินเหมิด”

[กล่าวถึงภูมิลำเนาของบิดามารดาของรูลโฟ คือบริเวณ Los Altos ทางตอนเหนือของมลรัฐฆาลิสโก] “บ่เคยมีเจ้าที่ดินใหญ่อยู่หม้องนี้ มีแต่ดินน้อยต่องล่องแต่งแล่ง บ่มีท่งฟาร์มของเจ้าพ่อ [haciendas] บ่มีคฤหาสน์ใหญ่ [estancias] ซาวไฮ่ซาวนาทุกข์ญากมาตลอด ญามสิเดินทางเข้าไปบ้านอื่นเมืองอื่น เขาเจ้าจั่งใส่เกิบ… ประเพณีของบ้านหมู่นี้กะญังมีแม่ญิงเป็นใหญ่อยู่ อยู่หั้นแม่ญิงเป็นผู้ปกครอง อีหลีแล้วสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกอำนาจของระบอบแม่ญิงเป็นใหญ่ได้คักกะแม่นช่วงการปฏิวัติคริสเตโร ที่แม่ญิงเป็นผู้ก่อกบฏ

ข้อสังเกต: หลังจากตั้งตนเป็นเจ้าของดินแดนอาณานิคมแล้ว ผ่านไปหลายร้อยปีความเจริญในหน้าดินและในเส้นทางค้าขายจากชายฝั่งสมุทรก็เสื่อมลง ที่เคยลำบากก็ยิ่งทุกข์เข็ญลงกว่าเก่า ความเชื่อถือในศาสนาก็ยิ่งกำเริบเสิบสานจนเป็นการก่อกบฏคริสเตโรระหว่างปี 1926-1929 เมื่อรัฐบาลส่วนกลางต้องการบังคับใช้มาตรารัฐธรรมนูญว่าด้วยการแบ่งแยกรัฐและศาสนาออกจากกัน กำหนดจำนวนนักบวชต่อประชากร กำหนดให้โบสถ์เป็นทรัพย์สินของรัฐ จำกัดสิทธินักบวชในปริมณฑลการเมือง

ข้อสังกา: เริ่มงงว่าถ้ามีบางส่วนของฆาลิสโกไม่มีเจ้าที่ดิน แล้วการปฏิวัติมันปะทุหรือไหม้ลามในชุมชนเหล่านั้นอย่างไร ผู้เชี่ยวชาญช่วยหนูด้วย! ถ้าไม่มีเจ้าที่ดิน แล้วท่งกุลาจะลุกไหม้ทำไมอ่ะ?

คัดและแปลจากบทความสัมภาษณ์โดย ลูอีส ฮาร์ส
เขียนปี 1965/6 ตีพิมพ์หลายครั้งในภาษาสเปนและภาษาอังกฤษ

ระหว่างยุคปฏิวัติ [ราวปี 1910-1920 – ผู้สังเขป] บรรดากลุ่มติดอาวุธกวาดล้างสร้างความฉิบหายให้แก่ภูมิภาคทางฆาลิสโกตะวันตกเฉียงใต้ หลังจากนั้นเมื่อประชาชนที่พลัดถิ่นเริ่มพากันกลับภูมิลำเนา ก็พลันเกิดการลุกฮือขึ้นของกลุ่มคริสเตโร ซึ่งในช่วงนั้น รูลโฟบอกว่า “มีการจัดสรรหม้องอยู่กันใหม่ กองทัพกักกันหมู่คนให้จุ้มกันอยู่ตามท่งฟาร์มตามหมู่บ้าน  บัดญามเขารบเลวกันหนักขึ้น กะให้หมู่คนตามบ้านนั้นญ้ายไปโฮมกันอยู่เมืองที่ใหญ่ขึ้นไปอีก ซั้นแล้วท่งนาเมืองบ้านจั่งฮ้างญ้อนการกักกันแนวนี้ หมู่คนไปหาเวียกหางานเฮ็ดหม้องอื่น หลายปีซีซาติบาดลุนกะบ่หลบคืนแล้ว” การปฏิรูปที่ดินทางการเกษตร [ที่ให้สิทธิการถือครองที่ดินแก่ชุมชน เป็นผลสำเร็จจากการปฏิวัติ ได้บรรจุสิทธิที่ดินชุมชนในรัฐธรรมนูญ – ผู้สังเขป] ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง การจัดสรรปันที่ดินเป็นไปอย่างไร้ระเบียบมาก
“ดินดอนนั้นแทนที่สิปันให้ซาวไฮ่ซาวนา ผัดแจกญายให้เจ๊กขายหมู [obrajeros]  ให้ซ่างไม้ ซ่างก่อสร้าง ซ่างเฮ็ดเกิบ ซ่างตัดผม มีแต่ซุมนี้ละที่โฮมกันเป็นซุมซน การสิโฮมกันเป็นซุมซนได้ต้องอาศัยคนจำนวนซาวห้า โฮมกันได้ซาวห้าคนแล้วสมัครขอดิน ซาวไฮ่ซาวนาผัดบ่ขอ เรื่องนี้กะพิสูจน์ได้จากการที่จนคู่มื้อนี้ซาวไฮ่ซาวนากะญังบ่มีดินคือเก่า จั่งว่าซาวไฮ่ซาวนาเพิ่นผูกพันหลาย [muy allegado] กับเจ้าที่ดิน กับเจ้านาย สมัยนั้นมันเป็นระบบนาเช่าแบ่งเคิ่ง กะคือว่า ไถหว่านดินแล้วเจ้านายกะปันให้ซาวไฮ่ซาวนาเพาะปลูก เก็บเกี่ยวได้ท่อใด๋ซาวไฮ่ซาวนากะแบ่งผลผลิตเคิ่งหนึ่งให้เจ้านาย”

ข้อสังเกตสังกา: ความผูกพันที่คนเช่าไร่นามีต่อเจ้านาย มันเป็นลักษณะไหนกันนะ? ประเด็นนี้ ดูจะไม่ปรากฏในรวมเรื่องสั้น ท่งกุลาลุกไหม้ เราเห็นภาพของรัฐบาลที่ปันที่ดินแบบชุ่ยๆ ไม่รู้เหนือรู้ใต้ในเรื่องเปิดเล่ม "เพิ่นปันดินดอนให้เฮาแล้ว" เราได้เห็นภาวะความหวาดกลัวเจ้าที่ดินในเรื่องถัดมา "โนนแม่ฮัก" เราได้เห็นความขัดแย้งบานปลายระหว่างเจ้านายกับลูกน้องในเรื่อง "ญามค่อนสิแจ้ง" และระหว่างเจ้าที่ดินกับคนขาดแคลนที่ดินในเรื่อง "บอกซุมมันสาว่าอย่าฆ่าข้อย!" แต่เราแทบไม่เห็นตัวละครที่มีลักษณะเป็น "ข้าเก่าเต่าเลี้ยง" หรือ "ทาสที่ปล่อยไม่ไป" เลย นอกจากหัวหน้าคนใช้กับนายงัวในเรื่อง "ท่งกุลาลุกไหม้" ซึ่งเราก็ไม่ได้สัมผัสถึงโลกภายในของตัวละครเหล่านี้

คัดและแปลจากบทสัมภาษณ์โดย ฆวาน กรูซ
ตีพิมพ์ 19 สิงหาคม 1979 นิตยสาร El País ประเทศสเปน

คำถาม “การงานในสถาบันชนพื้นเมือง[แห่งชาติ]ที่คุณทำ ซึ่งเกี่ยวพันกับมานุษยวิทยา ก็ช่วยให้คุณได้หล่อเลี้ยงความกระหายใคร่รู้ในเรื่องประวัติศาสตร์ [la historia] ของคุณ สักทางใดทางหนึ่ง คุณจะบอกพวกเราได้ไหมว่าทำไมคุณ ซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์เรื่องแต่ง ถึงมีความกระหายใคร่รู้เรื่องประวัติศาสตร์เช่นนั้น?”
คำตอบ “ซุมผู้เพิ่นเขียนจดหมายเหตุสมัยศตวรรษที่ ๑๖ ๑๗ และ ๑๘ นี้ข้อยสะออนหลาย ข้อยมักแนวเขียนเพิ่น มักควมสด [la frescura] ของภาษา ซุมเพิ่นนี้ใซ้คำเว้าคำจาของศตวรรษที่ ๑๖ เขียนหนังสือ ภาษานี้สดแฮง ทางประเทศสเปนคู่มื้อนี้สิถือว่าเป็นภาษาบูฮาน แต่สำหรับเฮาแล้วบ่เลย อยู่ภูมิภาคหม้องข้อยเกิดนี้คนกะญังเว้าภาษานั้นอยู่ ซั้นแล้ว อันที่ข้อยอ่านจดหมายเหตุทังเรื่องการพิชิต ทังเรื่องศาสนาหรือเรื่องประวัติศาสตร์ของเม็กซิโก มันกะญ้อนเหตุว่านอกจากสิได้เห็นได้ฮู้ประวัติศาสตร์แล้ว กะญังม่วนคักม่วนหลายที่ได้อ่านซุมเพิ่นนี้ แนวการเขียนซุมเพิ่นกะเป็นแบบคึดอยากเขียนหญังกะเขียนเลย บ่ได้คึดพ้อว่าสิมีใผจักคนได้มาอ่าน กะเขียนบันทึกเวียกงานเพิ่นไปซื่อๆ จั่งซั้น”

คำถาม “คงเหมือนกันทั่วโลกแหละคุณว่าไหม? คุณไม่คิดหรือครับว่าคนทั้งโลกก็เขียนโดยคิดว่ามันคงจะไม่มีวันได้ถูกอ่าน?”
คำตอบ “ข้อยคึดว่าบ่มีใผดอกที่เขียนไปกะคึดนำคนอ่านไป คุณค่าของซุมเพิ่นนี้กะแม่นว่าซุมเพิ่นบ่เคยคึดสิเขียนหาหญังเลย กะบันทึกไปซื่อๆละเรื่องควมเป็นมาเป็นไป ว่าเกิดอีหญังขึ้นอยู่ญามนั้น แล้วกะใซ้สำเนียงสำนวน ใซ้ภาษาที่เสียไปแล้วในอเมริกา [un lenguaje que se ha perdido en América]”

ข้อสังเกต: รูลโฟทำงานหลากหลายมากตลอดชีวิต ตั้งแต่ช่างภาพ พนักงานขายยางกู๊ดริช คนเขียนบทภาพยนตร์-โทรทัศน์ ข้ารัฐการตรวจคนเข้าเมือง ข้ารัฐการโยธาฯ และพัฒนาสังคม แต่ที่ยาวนานสุดกว่ายี่สิบกว่าปี เห็นจะเป็นหน้าที่บรรณาธิการของสถาบันชนพื้นเมืองแห่งชาติ เขาไม่ได้หากินได้ด้วยเงินค่าลิขสิทธิ์จากการเขียนหนังสือ

ข้อสังกา: ตกลงภาษาสดใหม่อันเก่าแก่ที่รูลโฟสะออนหลายนั้น มันมีพูดกันอยู่จริงในชนบทฆาลิสโกปัจจุบัน (ตอนรูลโฟให้สัมภาษณ์) หรือไม่? การที่รูลโฟบอกว่ามันได้เสีย (หาย) ไปแล้วในทวีปอเมริกา หมายถึงอะไร? มันตกอยู่ในภาวะเสี่ยงจะสาบสูญจากฆาลิสโกในปัจจุบัน จึงได้ถวิลหา หรือว่าเป็นการถูกหลงลืมไว้ในซอกหลืบของสังคมเม็กซิโก รอให้ใครมาพลิกฟื้น หรือว่าเป็นการหลงเหลืออยู่ในที่ห่างไกลจากแหล่งกำเนิดคือสเปน รอให้ใครมานำมันไปใช้กันแน่?

คัดและแปลจากบทความสัมภาษณ์โดย ลูอีส ฮาร์ส
เขียนปี 1965/6 ตีพิมพ์หลายครั้งในภาษาสเปนและภาษาอังกฤษ

เพราะว่าบทเรียนของประวัติศาสตร์ [la historia] ในงานของรูลโฟ ก็คือว่าอดีตอาจถูกลืมเลือนไปได้ แต่มันจะไม่มีวันถูกฝังกลบ เช่นนั้นแล้วในผลงานของเขาจึงมีความพยายามจะ “แสดงให้เห็นควมเป็นจริงที่ข้อยฮู้จัก และที่ข้อยคึดอยากให้ผู้อื่นฮู้จัก คือเว้าว่า ‘นี้ละแนวที่เกิด นี้ละแนวที่กำลังเกิดขึ้น’ ว่า ‘เฮาอย่าได้หลงผิดคิดเพ้อ เฮาสิหาทางเยียวยาให้มันส่วงมันเซา แม่นสิเป็นเรื่องโซคซะตากะซ่าง [fatal] …’ [คำพูดนี้ตัดมาจากตอนกลางเรื่อง Pedro Páramo – ผู้สังเขป] แต่ในควมจริงแล้วข้อยบ่ได้เซื่อถือเรื่องบุญทำกรรมแต่ง [fatalismo] ข้อยบ่คึดว่าทุกอย่างถืกซะตากำหนดมาแล้ว [fatalista] ข้อยฮู้จักควมเป็นจริงแบบหนึ่งซื่อๆ และกะอยากให้ผู้อื่นฮู้จัก… ข้อยคึดอยากให้เรื่อง La cordillera [นวนิยายเรื่องที่รูลโฟไม่เคยเขียนเสร็จสิ้น และตัดสินใจทำลายทิ้ง – ผู้สังเขป] ให้ภาพควมเรียบง่ายของคนซนบท ให้มันถ่ายทอดควมเรียบง่ายในดวงใจเขาเจ้า คนเมืองเห็นว่าปัญหาเขาเจ้าเป็นปัญหาของซนบท แต่มันเป็นปัญหาของทังประเทศ เป็นปัญหาเดียวกันกับของเมือง ญ้อนว่าคนจากหม้องนั้นมาอยู่พี้ ญ้ายมาเมือง แล้วกะเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่พี้ แต่เพิ่นกะสิบ่ป๋าถิ้มอันที่เพิ่นเคยเป็นมาดอกจนกว่าสิถึงจุดหนึ่งพุ้น ปัญหานั้นเพิ่นกะจูงมา” ข้อพิสูจน์ก็คือรูลโฟ ผู้พกพาทุ่งกุลาลุกไหม้อยู่ในดวงใจ

ข้อสังเกตสังกา: ถ้าเปลี่ยนคำว่า "fatalismo" "fatal" "fatalista" ในที่นี้เป็นคำว่า "โง่-จน-เจ็บ" ก็คงจะใช้เป็นแนวทางพูดปกป้องแนวทางการเขียนเรื่องสั้นของ ลาว คำหอม ใน ฟ้าบ่กั้น ได้ว่า ไม่ใช่ ว่าลาว คำหอม ลาวเชื่อว่าคนอีสานโง่จนเจ็บดอก แต่มันเป็นความเป็นจริงที่ลาวรู้จัก ลาวเลยอยากให้ผู้อื่นรู้จัก บัดผู้อื่นจะเอาความรู้นั้นไปสรุปยังไงต่อก็ไม่เกี่ยวกับความคิดความเชื่อของลาวแล้วละ — ฟ้าบ่กั้น หญังว่าให้ห่างกันแท้เนาะ เมืองกับชนบทนี้กะดาย

กลับสู่หน้าหลักของ ท่งกุลาลุกไหม้ ฉบับคู่หู