ประชุมบทวิเคราะห์วิจารณ์จากผู้อ่าน “ท่งกุลาลุกไหม้”

ความเห็นของ Wannida บน Goodreads เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562

ขอยกให้เล่มนี้เป็นประสบการณ์การอ่านที่ท้าทายแห่งปี
ช่วงแรกอ่านไม่รู้เรื่องเลย ดีที่มีเพื่อนผู้บอกภาษาอีสานคอยแปลให้ในช่วงแรก นี่ก็จดยิกเลย หลังๆ เลยคล่องขึ้น อ่านได้เร็วขึ้น แต่ก็ในระดับเต่าคลานและต้องอ่านเรื่องละสองรอบอยู่ดี

ตั้งใจอ่านมากยังกับอ่านและปริวรรตใบลานตัวธรรมอีสาน แล้วมันก็ให้ความรู้สึกนั้นจริงๆ
เออแต่พอแปลออกแล้วถึงได้รู้ว่าตัวเรื่องภาษาดีมากกก แล้วภาษาอีสานคล้องกันสวยอ่ะ เห็นภาพความลำบากความแห้งแล้งเว่อ
แต่ก็ต้องแปลให้ออกก่อนนะเออ อ่านจบแล้วก็ขอบคุณตัวเองที่พยายามอ่าน
โดยรวมอ่านแล้วเรานึกถึงฟ้าบ่กั้นนะ ความลำบากและอารมณ์ขันในเรื่องคล้ายๆ กันเลย บางเรื่องมันอิหยังวะจริงๆ ลำบาก ข้นแค้น แล้วก็แอบเสิร์ดจนต้องขำอ่ะ ทั้งขำขื่น ขำแห้ง และหดหู่ ไหนจะความร้อนแล้งในเรื่องที่แผดออกมาให้สัมผัสได้อีก

เป็นประสบการณ์การอ่านที่ดีนะ ส่วนข้อวิพากษ์ว่าในเรื่องเป็นภาษาอีสานแบบไหน เราไม่ใช้คนอีสานก็บอกไม่ได้ ก็น่าชวนคุยต่อ แต่ในแง่การทดลองแปล เราให้คุณค่าในพาร์ทที่เป็นการทดลองที่น่าสนใจ เห็นถึงความตั้งใจ และชวนคนอ่านตั้งคำถามกับความเป็นส่วนกลางที่ภาษากรุงเทพเป็นตัวกำหนดการสร้างงานได้ดี

ความเห็นของ Nantiny บน Goodreads เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2562

อ่านไม่ง่าย และรู้เลยว่ากระบวนการแปลจากภาษาสเปนมาเป็นภาษา(เขียน)อีสานยิ่งไม่ง่ายใหญ่เลย นับถือในการจัดทำของเล่มนี้

อ่านทีแรกคือหงุดหงิดมาก เรื่องมันสนุกนะ แต่ทำไมมันอ่านได้ช้าและไม่ได้เข้าใจได้ทันที ทั้งๆที่ก็เป็นคนอีสาน (เราอยู่อีสานทางตอนบน) จนมาช่วงครึ่งท้ายของเล่มเรารู้สึกว่า ควรอ่านแบบออกเสียงไปด้วยจะเข้าใจได้เร็วกว่า นี่อาจเป็นเพราะภาษาอีสานเราใช้ไว้ฟังกับไว้พูดคุยแค่นั้น ไม่ได้ใช้ในการเขียน พอมาอ่านแล้วรู้สึกว่าอ่านยากเหมือนกัน แต่ก็เป็นการอ่านที่สนุกและแปลกดี เหมือนกลับไปเป็นเด็กประถมที่ต้องอ่านออกเสียงไปด้วย

สำหรับเราเรื่องที่ชอบเป็นพิเศษ
- "หมามันเห่า เจ้าบ่ได้ญิน" : สะเทือนใจมาก
เรื่องของพ่อที่ต้องแบกลูกชายวัยหนุ่มไว้บนหลัง เพื่อจะพาไปรักษาแผล เหมือนลูกชายโดนตามล่าจากฝ่ายรัฐบาล (ในเล่มนี้หลายเรื่องจะเกี่ยวกับการปฏิวัติ ประวัติศาสตร์ของเม็กซิโกแทรกเข้ามาอยู่ตลอด) ซึ่งพ่อก็ต้องแบกลูกไปเรื่อยๆ จะพักวางก็ไม่ได้ เพราะถ้าวางพ่อก็ไม่มีแรงจะจับลูกขึ้นมานั่งได้ใหม่อีก ขณะที่แบกลูกไป คนเป็นพ่อก็จะเล่าไปเรื่อยๆ ว่าตั้งแต่เล็กจนโตลูกเป็นยังไง หาเรื่องให้พ่อเดือดร้อนใจทุกที (จุดนี้คือเศร้ามาก อ่านไปละลองนึกภาพตาม อินๆ)
จากนั้นพ่อจะคอยถามลูกว่า ถึงที่หมายรึยัง เห็นบ้านคนรึยัง ได้ยินเสียงหมาเห่ามั้ย พ่อเองก็หูไม่ค่อยจะได้ยินแล้วเลยต้องให้ลูกเป็นคนดูทางกับฟังเสียงให้ จนมาถึงตอนสุดท้ายคือเศร้าจับใจ

เรื่องอื่นๆที่ชอบก็มี "จื่อได้บ่มึง" ที่มีลูกเล่นด้วยการขึ้นต้นการเล่าประโยคใหม่ด้วยชื่อเรื่องนี้ตลอด จนจบเรื่อง

"ลูบีนา" ที่ตาคนหนึ่งเล่าเรื่องราวของตนสมัยมาอยู่ที่ลูบีนาใหม่ๆ ให้คนหนุ่มคนนึงฟังว่า ลูบีนาน่ะเป็นเมืองที่แร้นแค้น มาอยู่ที่นี่ก็เหมือนตายไปแล้วครึ่งนึง เรื่องก็บรรยายความห่อเหี่ยวของเมืองนี้ไป จนเราเซ็งๆว่า มันจะเล่าอะไรยืดยาวแท้ จนสุดท้ายมาเฉลยกับคนอ่านให้รู้ว่า อ๋อ...ยินดีด้วยกับเจ้าหนุ่มคนนี้ที่ต้องมาบรรจุรับราชการใหม่นั่นเอง !!!

"บอกซุมมันสาว่าอย่าฆ่าข้อย" จริงๆเราว่าเกือบๆจะทุกเรื่อง จะแกนๆคล้ายเรื่องนี้ คือ เรื่องเกี่ยวกับการเมือง การปฏิวัติ ของฝั่งละตินเค้า ที่ดุเดือดเลือดพล่าน โหดเลยล่ะ แต่พอแปลออกมาเป็นเวอร์ชั่นภาษาอีสาน เราเลยแอบคิดว่าผู้จัดก็เหมือนจะจงใจให้คนอ่านรู้สึกว่ามันเบาลง เหมือนเซ็นเซอร์ทางภาษาไปในตัว เพราะขณะที่อ่านไปเราลองจินตนาการว่าเขียนแบบภาษาไทยจะเป็นยังไง พอลองแปลงดูคือ มันให้ภาพโหดเลือดสาดอยู่พอควร การตามล่าฆ่าล้างทางการเมืองต่างๆ

สรุปคือ เล่มนี้ให้การอ่านที่แปลกดี คนอ่านจะได้รับข้อมูลมาแบบฉากอีสาน แต่จากนั้นต้องแปลภาพจินตนาการในหัวว่าจริงๆเรากำลังอยู่ในเม็กซิโกอยู่

แอบสับสน คือ พอถึงช่วงที่เป็นคำหรือชื่อเฉพาะของภาษาสเปน บางทีเราก็ยังไม่แน่ใจว่า คำนี้ยังเป็นภาษาอีสานอยู่มั้ยหว่าอะไรประมาณนี้ (แต่ที่จริงคือ คำนี้มันเป็นภาษาสเปนเอง ไม่ใช่อีสาน) ก็อ่านไปคลำไป สนุกดีกับการที่บางอย่างเราก็ไม่จำเป็นต้องปรุโปร่งไปซะทุกคำ ทุกประโยค แต่เลาๆให้จับประเด็นได้คือโอเค

ความเห็นของ นิตยาพร กิ่งจันทร์ บนเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2562 หลังการจัดกิจกรรมล้อมวงกันอ่านในวันหยุดกับครูและนักเรียนจำนวนหนึ่ง ณ ห้องสมุดผีเสื้อ ที่บ้านชานเมืองศรีสะเกษของคุณหทัยรัตน์ สุดา

หลายวันก่อนครูอ้อ Hathairat Suda ชวนอ่านหนังสือชื่อ “ทุ่งกุลาลุกไหม้” เมื่อเห็นหนังสือ "อ้าวเป็นหนังสือแปลเหรอคะ..นึกว่าจะเป็นเรื่องราวของทุ่งกุลาร้องไห้"
ดูปก "ห๊า..แปลจากภาษาสเปนเป็นภาษาอีสาน ผู้ได๋น้อคือเฮ็ดจั่งซี้"
"แปลเป็นภาษาอังกฤษก่อนมั้ยคะ"
"แปลเป็นภาษาไทยก่อนมั้ยคะ"
คำตอบคือไม่ เกิดอาการงึดดด...
ระหว่างที่ข่อยกับคูนุ้ยกำลังโสเหล่กับแหม่จูอย่างหม่วนและมันขนาด ครูอ้อเว่าขึ่น "ฟ่าวพากันอ่านเด้อเด็กน่อยมันอ่านแล่วนั่นๆ อ่านแล่วมาคุยกันแหน่จักหน่อย"
"ค่าาาา..."
บ๊ะ...ว่าไปแล่วข่อยกะว่าคนสีเกดอีหยังสิฮู่เขียนคำลาวปานนั่น ข่อยนี้เด้อลาวคักได๋ พ่อ แม่ เป็นคนอุบลพาเว่าลาว พากินเข่าเหนียว แต่คนกะว่าข่อยว่าลืมซาดแหน่ยุย่อนข่อยบ่จีกปาแดก
พออ่านไปมีควมฮู่สึกคือๆเบิ่งละครเลื่องที่ นางแต้วเป็นนางเอกเว่าลาวนั่นแหละสงสัยคำเขียนแหน่จักหน่อย คำว่าข่อย เพิ่นเขียนข้อย แบบนี่หน่าสิออกเสียง ค่อย (ถามเบิ่งค่าาา555) คนสีเกดเว่าลาวกับคนอุบลเว่าลาวเว่าบ่คือกันกะฮู่สึกว่าคนแปเพิ่นเก่งคักเฮ็ดได
พออ่านไปข่อยกะหัวออกมาตอนแย่มันออกจากฮูโพ่โว่เพ่เว่..อันคำว่าโพ่โว่เพ่เว่ตาอยากหัวคักบ่ได้เว่าดนแล่วคำลาวอันนี้
พอคูอ้อเอินมาล้อมวง เฮากะได้ถามกันเรื่อง "ทุ่งกุลาร้องไห้" " โท่งกุลาฮ่องไห่" พวกเฮาได้หาข่อมูลมาคุยกัน คูได้ไห่อีนางเด็กน่อยมันอ่านให่ฟังแล่วกะหม่วนยุเด้..อีนางมันคนงามเสียงดีปานหมอลำ อีนางบอกหว่าหนูเป็นนางไหค่าาา(ซำพอ)
ฟังแล่วแนมเห็นเห็นฮูป (ภาพ) แต่นางโฟโมสลูกสาวคูเฮียงบอกว่า "หนูอ่านไม่รู้เรื่อง หนูต้องถามเพื่อนเพราะหนูไม่เข้าใจคำลาวค่ะ" น้องเป็นคนศรีสะเกษ คนขุนหาญแต่พ่อแม่บ่เคยพาเว่าน้องเคยได้ยินแต่ภาษาไทยกับภาษาส่วยที่เป็นภาษาถิ่นบ้านแม่ (คนขุนหาญเว่าลาว เขมร ส่วย)
มีคนบอกว่าสนุกมองเห็นภาพรู้สึกถึงความแห้งแล้งพยายามของคนที่อยู่ตรงนั้นยิ่งเขียนเป็นภาษาอีสานแต่ต้องอ่านออกเสียงจึงจะได้อรรถรส
แต่ว่าการอ่านเสียงดังๆงวกเบิ่งข่างๆแหน่เด้อค่ะ อยู่คนเดียวย่านมีคนตกใจยามอ่านออกเสียงพึมพัมๆ
พอข่อยฟังแล้วก็เลยถือโอกาสยืมหนังสือครูอ้อกะจะมาให้เด็กอ่านแล้วจะได้ทำความเข้าใจเรื่องภาษากันแหน่จักหน่อย

ความเห็นจากบุ๊คคลับ "อ่านออกเสียง" เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2562 ซึ่งจัดขึ้นที่ร้าน Chibi Chibi ใจกลางกรุงเทพฯ อันห่างไกลโดยไม่มีคนอีสานร่วมวงอยู่เลย

จะเป็นยังไง ถ้าพวกเราอ่านวรรณกรรมที่แปลออกมาเป็นภาษาอีสาน และในวงคุยวันนั้น ไม่มีคนอีสานอยู่เลย!
#อ่านออกเสียง รอบที่ผ่านมา “ท่งกุลาลุกไหม้” เป็นอย่างนั้น 5555

เลยกลายเป็นวงคุยที่ “คลำทาง” ทางภาษาร่วมกันอย่างมาก (คือต้องช่วยกันแปลภาษาอีสานเป็นไทยกลางก่อน ถึงจะคุยกันไปถึงเนื้อเรื่องได้) ล้มลุกคลุกคลาน ทว่าก็สนุกกันไม่น้อยเลยทีเดียว
เพราะ ครั้งนี้ไม่เพียงอ่านอีสาน รวมเรื่องสั้นภาษาสเปน(เม็กซิโก) ที่แปลป็นภาษาอีสานเท่านั้น แต่ยังแตกต่างจากครั้งอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่เราพูดถึงเนื้อเรื่องก่อนการแปล แต่ครั้งนี้น้ำหนักเรื่องการแปลเป็นเรื่องใหญ่ในวงคุย
และมีปฏิกิริยาของผู้อ่านเกิดขึ้นอย่างน่าสนใจ อย่าง

“อ่านเข้าใจคำ แต่ไม่เข้าใจเรื่อง”
“ต้อง ‘อ่านเสียง’ อ่านและออกเสียงในหัวจึงจะเข้าใจ”
“อ่านแล้วเหนื่อยมาก”
“เหมือนเรียนภาษาใหม่”
“ชอบมากแบบที่ไม่รู้เรื่อง”

มีทั้งคนอ่านที่พยายามอย่างมากในการอ่าน เปิดพจนานุกรมคำอีสานจดศัพท์ แปลไปอ่านไป คนที่อ่านเอาแค่คำ คนที่ชอบมากทั้งในแบบเข้าใจและแบบไม่เข้าใจ แม้อ่านไม่เข้าใจทั้งหมดแต่ก็สัมผัสได้ถึงภาษาที่เรียบเรียงมาอย่างสวยงาม เป็นภาษาวรรณศิลป์ มีทั้งคนที่อ่านเรื่องย่อก่อนถึงจะอ่านฉบับแปลอีสานได้เข้าใจ ไปจนถึงคนที่ยอมแพ้ หยุดอ่าน เพราะ “โกรธ”

เป็นความโกรธของคนที่มีอำนาจในการเข้าใจมาโดยตลอด เป็นความโกรธของคนที่คุ้นเคยกับอำนาจดี ตัวเองเคยมี เพราะหนังสือแปลภาษาไทยที่อ่านแทบทุกเล่มแปลเป็นภาษาไทยกลาง อ่านเข้าใจ พอเล่มนี้เป็นภาษาอีสานที่ทั้งเขียนคำเลียนเสียง สะกดคำอ่านยาก ตลอดจนภาษาถิ่นที่คนภาคอื่นไม่คุ้นเคย การจะทะลุกำแพงภาษาไปได้ก็เป็นเรื่องยาก และชวนยอมแพ้ ทว่าในขณะเดียวกัน การอ่านเล่มนี้ก็ทำให้เรามองหาคนอีสานในชีวิตมาช่วยแปล ตั้งแต่เพื่อน แม่บ้าน คนที่เจอ แม่ค้า ฯลฯ จากที่แต่เดิมทุกคนถูกบังคับให้เข้าหาภาษาไทยกลาง ครั้งนี้กลับกลายเป็นว่าการที่พยายามอ่านเล่มนี้ ทำให้คนถิ่นอื่นเข้าไปเรียนรู้ภาษาอีสานอีกที

เมื่อผ่านเรื่องการแปล ก็มาถึงเนื้อเรื่อง เนื้อเรื่องดิบๆ เล่าเรื่องชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล แร้นแค้น ถูกเอาเปรียบ คนในวงบางคนบอกว่า อ่านแล้วนึกถึงงานของสไตน์เบ็คและฟอล์คเนอร์ บ้างก็บอกว่า นี่มัน ฟ้าบ่กั้น เวอร์ชั่นเม็กซิโกชัดๆ
แต่สิ่งที่หลายคนคิดเหมือนกันคือ อ่านไปก็นึกถึงคนอีสานไป บางคนก็บอกว่า เหมือนดูหนังฮอลลีวูดที่พากษ์ภาษาลาว มีสะดุดตรงชื่อตัวละครภาษาสเปน ชื่อนกชื่อต้นไม้ที่ไม่ใช่ภาษาไทลาว ดึงเรียกสติกลับมาให้รู้ว่า นี่อยู่ในเม็กซิโกไม่ใช่อีสานบ้านเรา

ในขณะที่บางคนก็ตั้งคำถามว่า เพราะการแปลเป็นภาษาอีสานชี้นำให้เราคิดว่าบริบทในเรื่องเหมือนอีสานรึเปล่า ถ้าเรามองว่า ก็เป็นเรื่องชาวบ้านทั่วไป ที่เป็นสากลเหมือนกัน บริบทในเรื่องจะเทียบกับภาคอื่นของไทยได้ไหม ภาคเหนือ ภาคใต้ได้หรือเปล่า

ในวงก็มีคนบอกว่า แต่ฉากบรรยากาศในเรื่องมันร้อน ร้อนแบบลกไหม้ ดินแตกระแหง ปลูกอะไรไม่ขึ้นนะ “ฝนมันแล้งอีหลีออหลอ ฮอดนับเม็ดฝนได้ จนว่าดินแห้งพอปานหนังผู้เฒ่า" มันต้องภาคอีสานสิ

และมีผู้จุดประกายมาอีกว่า พอเป็นภาษาอีสาน ภาษาทำให้ฉากในเรื่องมันร้อนขึ้นหรือเปล่า มีผลต่อการอ่านไหม และจินตนาการว่าถ้าเป็นภาษากลางจะให้ปฏิกริยาต่อการอ่านแตกต่างกันไหม?

เมื่อพูดถึงเนื้อเรื่อง หลายคนชอบในความดิบๆ ซื่อๆ ของชาวบ้านในเรื่อง บางเรื่องจบทื่อๆ แบบงงๆ ตอนอ่านคนเดียวเฉยๆ เพราะกว่าจะฝ่าด่านอุปสรรคทางภาษาได้ก็แทบแย่แล้ว เลยไม่ค่อยได้วิเคราะห์เนื้อเรื่องเท่าไร แต่พอได้มาคุย ผลัดกันเล่าเรื่องย่อ ก็พบว่าเข้าใจตรงกันบ้างไม่ตรงกันบ้าง และพอเข้าใจเนื้อเรื่องแล้ว พบว่าหลายๆ เรื่องจบแบบเชิงขำขัน ปนเสียดสีไม่น้อยเลย ชนิด​ “ตอนอ่านคนเดียวไม่ขำนะ มาขำตอนคุยกันนี่แหละ”

น่าเสียดายที่วงรอบนี้ไม่มี Native Speaker เลยยังไม่มีคำตอบกับคำถามที่ว่า ภาษาอีสานในเรื่องเป็นอีสานไหน คนอีสานเองคุ้นเคยกับการอ่านแบบนี้หรือเล่า หรือมุมมองจากคนอีสานเองที่อ่าน ว่าอ่านแล้วแปลกแยกหรือคุ้นเคย?

เรียกได้ว่ามีประเด็นให้คุยอีกเยอะมากกก และก็ยิ่งน่าสนใจว่าคนท้องถิ่นอีสานในหลากบริบทจะมองการอ่านเรื่องนี้อย่างไร ปฏิกริยาจะเหมือนหรือต่างกับคนภาคอื่น วงรอบนี้เลยจบลงแบบมีคำถามผุดขึ้นไม่สิ้นสุด

รีวิวโดย วาด รวี เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2562

ฆวน รูลโฟถือเป็นนักเขียนคนสำคัญที่เปิดโลกวรรณกรรมสไตล์ลาตินอเมริกาในโลกวรรณกรรมสากล ผลงานของเขายังเป็นแรงบันดาลใจให้กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ และนักเขียนลาตินอเมริกาจำนวนมาก โดยเฉพาะการใช้ภาษาชาวบ้านพื้นถิ่นในการเล่าเรื่อง

การแปลงานของรูลโฟเป็นภาษาอิสานครั้งนี้ให้อรรถรสที่เข้ากันได้อย่างน่าสนใจระหว่างเรื่องราวชะตากรรมของคนพื้นถิ่นแม็กซิกันกับการพากย์ภาษาไทบ้าน

เป็นหนังสือที่อ่านยากพอสมควรสำหรับคนที่ไม่คุ้นภาษาอิสาน หรือแม้แต่คนอีสานเองบางคนก็ยังรู้สึกว่าอ่านยาก

การแปลเล่มนี้เหมือนงานแปล "ย้อนยุค" แบบสมัยก่อนมากกว่าการแปลที่เคร่งครัดกับตัวบทแบบสมัยนี้ ให้ความรู้สึกเหมือนดูหนังฝรั่งพากย์ภาษาอีสาน มากกว่าการแปลที่พยายามสะท้อนตัวบทให้เที่ยงตรง สำหรับคนที่อยากฝึกภาษาอีสานก็เพลินดี แต่สำหรับคนที่ต้องการเข้าถึงสำนวนต้นฉบับอาจจะรู้สึกขัดใจว่าอัตลักษณ์ของอีสานเข้ามาสวมทับงานลาตินจนแทบจะจับเค้าโครงสำนวนเดิมไม่ออก และอรรถรสก็ให้รู้สึกถึงรสชาติชะตากรรมของคนอีสานยิ่งกว่าชาวเม็กซิกัน แต่ก็รู้สึกได้ว่าชะตากรรมของชาวเม็กซิกันกับชาวอิสานช่างเข้ากันได้อย่างน่าประหลาด และให้อรรถรสแบบบ้านๆ อย่างที่ภาษากลางให้ไม่ได้

การแปลเป็นภาษาอีสานครั้งนี้ถึอได้ว่าเป็นความพยายามทางวรรณกรรมที่น่าสนใจ และเปิดช่องทางใหม่ให้กับภาษาอีสานที่เป็นลายลักษณ์อักษร

คำถามและการตีความของ สุภัค จาวลา ในงานเสวนา "การเมืองเรื่องภาษา กับท่งกุลาลุกไหม้" เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ร้านหนังสือ Book Re:public เชียงใหม่

ในฐานะคนอ่านรู้สึกว่ามันไม่ใช่ภาษาของเราและมันเข้าถึงได้ยากกว่า ในฐานะที่เป็นคนเรียนภาษาสเปนและพยายามอ่านงานของรูลโฟ เราก็ได้ไปเจอภาษาของรูลโฟที่เน้นการใช้ท้องถิ่นก็รู้สึกว่ายากมาก และรู้สึกว่ามันเกิดการแสดงถึงการเปิดพื้นที่วิธีการพูด การดำรงชีวิต แล้วก็วิธีคิด สำนวน จิตวิญญาณอะไรต่างๆ ที่ไม่ค่อยอยู่ในภาษาที่ใช้กันในภาษามาตรฐาน พอเรามาอ่านงานชิ้นนี้รู้สึกว่าคุณพีระแนะนำให้ไปอ่านสำนวนภาษาไทยและมาอ่านอันนี้แล้วมันต่างกันเยอะมากจริงๆ ต่างกันฟ้ากับดิน แล้วเรารู้สึกว่าอาจจะเข้าใจได้ยากกว่า ไม่รู้ว่าเป็นการสร้าง ความ exotic ให้กันหรือเปล่าซึ่งอันนี้อาจจะเป็นคำถาม แต่ว่าในฐานะของคนที่อ่านเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง เรากลับรู้สึกว่ามันสื่อถึงอะไรบางอย่างที่ส่วนใหญ่แล้วเราจะเข้าไม่ถึง แล้วมันเปิดประตูบางอย่างให้เราที่เรารู้สึกว่ามันมีค่ามาก ถ้าเราอยากจะเข้าใจเราต้องทำงานให้มากกว่านี้เพราะมันเปิดประสบการณ์ปกปิดบางอย่างที่เราไม่สามารถที่จะเข้าถึงได้ รู้สึกว่าประตูนี้ทำไมเราไม่เคยมีมันมาก่อน ทำไมเราอยู่ในสังคมนี้ซึ่งมีภาษาหลากหลาย ทำไมไม่เคยถูกเชิญชวนให้ก้าวผ่านประตูแบบนี้ไปเจอประสบการณ์ที่มีภาษาของตัวเอง สำนวน วิธีคิด มีการสื่อสารที่เข้าใจอะไรบางอย่างซึ่งถือว่าไม่ได้ใช้ภาษานี้เข้าถึงได้ยากมาก ในฐานะของคนที่เรียนภาษาที่สองอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เรียนภาษาอังกฤษหรือภาษาอะไรก็ตาม เราเข้าใจอยู่แล้วว่าการเปิดประตูไปสู่ภาษาใหม่ๆมันให้อะไรกับเราเยอะมาก ทำไมเราไม่เคยจะเปิดไปตูภาษาที่เรามีอยู่แล้วบ้าง พี่มีความรู้สึกว่างานนี้มันได้เปิดประตูให้เรา มันกระแทกมาก ตอนอ่านคือนึกไม่ถึงว่าจะรู้สึกขนาดนั้น เฮ้ย…มันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเรา เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่เรามองเห็นว่ามันเป็นส่วนเดียวกับชีวิตเรามาตั้งแต่เด็ก ทำไมเราไม่เคยเข้าไปส่วนนี้ได้เลย อันนี้ส่วนที่หนึ่งคือประสบการณ์จากการอ่าน

การตีความอีกแบบหนึ่งในงานเสวนาเดียวกันที่ร้านบุ๊ครีพับลิค: การอ่านออกเสียงเรื่องสั้น "หมามันเห่า เจ้าบ่ได้ญิน" ประกอบดนตรีลายปู่ป๋าหลาน โดย ชัยวัฒน์ มัตถิตะเตา (ชวด) และอรุณ ศรีสวัสดิ์ (ฮวก) วงสุดสะแนน ภาวดี ประเสริฐสังข์ ผู้กรองแล้วกลั่นสำนวนแปล ท่งกุลาลุกไหม้ และบรรเลงพิณโดย Arun Kanyama

ความเห็นของนักอ่านท่านหนึ่งบนทวิตเตอร์

บทวิเคราะห์โดย ชัชวาลย์ โคตรสงคราม ผู้ถือสังกัด "ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำของ" เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562

ความกล้าหาญทางปัญญาคืออะไรกัน
แทนคำตอบ อยากให้ไปลองอ่าน "ท่ง กุลา ลุกไหม้"
แบบอย่างการทำงานชั้นเยี่ยมของ "คน" ที่กล้าหาญ
ที่ทำงานแปลออกมาลักษณะนี้

โดยเฉพาะการใช้คำที่หลากหลาย จนส่งแรงสั่นสะเทือนให้เกิดความหมายเกี่ยวพันไปถึงการถอดรื้อ (หื้อส่าง) สภาพเคยชินและความมักง่ายที่ครอบงำคนในรัฐชาตินิยมมานมนานกาเล ทั้งชนชั้นชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจและมายาคติพิธีกรรมของรัฐรวมศูนย์ทั้งหลายทั้งปวงที่สอดซ้อนแผ่ซ่านอยู่ในกฎหมาย หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและการจัดการศึกษา รวมทั้งในละครโทรทัศน์และงานเขียนแฝงฝังนัยกดขี่เพื่อลดทอนอัตลักษณ์ที่ถูกชูค่าขี้นมาสู่กระโหลกสาธารณะซ้ำซากจำเจและดักดานโดยกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวัฒนธรรม ฯลฯ

"ท่ง กุลา ลุกไหม้" ปรากฏตัวภายใต้สภาวะข้างต้น จึงไม่เพียงแต่จะมีความหมายตามผลลัพธ์ทางวิธีวิทยาวรรณกรรมเท่านั้น แต่ความหมายแฝงเร้นที่ไปไกลกว่าความคิดแบบจำยอมภายใต้รัฐรวมศูนย์อำนาจก็คือ การปลดโซ่ตรวนออกจากข้อเท้าเพื่อก้าวเดินไปสู่การบุกเบิก ด้วยการถอดมีดพร้าคมวาวตวัดฟันหักร้างถางพงพฤกษ์หนาอันระงมเสียงสวดเทศนา รกรุงรังด้วยหมู่เครื่องรางของขลังและตลบอบอวลด้วยกลิ่นดอกไม้ธูปเทียนอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จนป่ารกทึกกลายสภาพเป็นทุ่งหญ้าเขียวสดกว้างใหญ่ที่ทำให้เรานอนแผ่หงายมองดูฟ้ากว้างกับหมู่เมฆและบินสูงขึ้นไปได้อย่างไม่จำกัด

เมื่อถึงเวลานั้น ท่ง กุลา ลุกไหม้ คงจะนำให้เรารู้สึกถึงคุณค่าและศักยภาพในจิตวิญญาณของเรา โดยไม่มีสิ่งใดมาลิดรอนทำลายลงได้

พลังอันยอดเยี่ยมของท่ง กุลา ลุกไหม้ ในฐานะตัวบท ทำให้เราเดินสนทนากับจารีตนิยมทางวรรณศิลป์ได้อย่างนิ่งสงบและตรึกตรองรอบคอบ เรารู้สึกว่า ถึงเวลาที่เราจะต้องปลดเปลื้องอำนาจภายนอกที่เข้ามาครอบงำเราเสียที ถ้อยคำในท่งกุลาลุกไหม้ที่นำมาจัดวางนำเราออกมาจากโลกถ้อยคำที่ซ้ำซากจำเจจนแทบจะปรับตัวไม่ทันเปรียบเสมือนหยาดฝนชุ่มฉ่ำชะโลมใจให้เมล็ดพันธุ์อำนาจที่ถูกกดทับมานานในตัวเราเริ่มผลิหน่อทอใบอ่อนขึ้นมาสู่แสงแดด จนเรารู้สึกว่า เราเริ่มต้นช้าไป
กระนั้นถ้าหากเรายังปรารถนา เราอาจได้เดินทางร่วมกัน

ทางนั้นอาจเต็มไปด้วยอุปสรรค ขวากหนามแหลมคมและโตรกผาสูงชัน แต่การต่อสู้กับอำนาจชั่วร้ายที่เข้ามาครอบงำ มันเป็นสิ่งจำเป็นและท้าทายเราไม่ใช่หรือ และหากเราไม่เกียจคร้านจนเกินไป เราจะได้สดับฟังเสียงแห่งอิสรภาพที่โหมโรงมาตั้งแต่ขอบฟ้าฟากโน้น แม้อาจจะเหนื่อยยาก แต่จุดหมายปลายทางอยู่ไม่ไกลนัก

ความเห็นของ Jum Veerawan บนเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562

เมื่อเปิดหนังสือและอ่านเสียงเป็นภาษาอีสาน ด้วยทักษะในการพูดภาษาอีสานอันน้อยนิดทำให้อ่านอย่างตะกุกตะกัก แม้จะมีพ่อแม่ที่ใช้ภาษาอีสานในการพูดคุยกัน แต่กับฉันแม่ไม่เคยสื่อสารภาษาอีสานกับฉัน และการเรียนในระบบการศึกษาของฉันมันได้ทำลายรากเหง้าภาษาไปในรุ่นฉัน แม้จะพยายามที่พูดหรือสื่อสารมันจึงกลายเป็นผิดเพี้ยนไป

ในขณะที่อ่าน (ออกเสียง) มันให้ความรู้สึกว่ากำลังเริ่มเรียนและฝึกภาษาอีสานใหม่อีกครั้ง ฉันค่อยๆไล่เรียงอ่านหนังสือที่เขียนด้วยภาษาอีสานทีละคำ ทีละคำและหลายคำต้องหันไปถามมัจฉา ว่าอ่านว่าอะไร ออกเสียงยังไง และมันหมายความว่าอย่างไร ซึ่งเป็นข้อท้า[ทา]ยสำหรับคนเป็นลูกหลานคนที่พูดภาษาอีสาน แต่พูดกลับภาษาอีสานไม่ได้

การได้อ่านหนังสือที่ถูกเขียนขึ้นมาด้วยภาษาแม่ มันทำให้รู้สึกมีพลัง และคำกล่าวที่ว่า ภาษาคืออำนาจ และเราถูกทำให้หลงลืมภาษาตัวเอง เพราะฉะนั้นการเริ่มต้นเรียนรู้ภาษาแม่ คือการท้วงอำนาจกลับคืนมา 



(Para una versión en español, véase más abajo)

หมายเหตุผู้วิเคราะห์วิจารณ์: เรามีโอกาสได้อ่านรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ครั้งแรกตอนเรียนปีสามที่มหาวิทยาลัยสวาธมอร์ ภาคเรียนฤดูใบไม้ผลิปี 2014 ตอนไปเรียนเทอมหนึ่งที่เม็กซิโก เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยเขี้ยว ไม่เชื่อถือว่าโปรแกรมที่เราเลือกไปมีมาตรฐานการสอนภาษาสเปนที่เข้มข้นพอ อาจารย์เลยบังคับให้อ่านหนังสือเพิ่มเติม 6-7 เล่ม และให้เขียนเรียงความสั้นๆ เล่าปฏิกิริยาต่อการอ่าน 4 ชิ้น หนังสือ El Llano en llamas ของ Juan Rulfo ก็เป็นหนึ่งในเล่มที่ได้อ่าน

เรียงความส่งครูชื่อ Nanci Buiza เขียนแบบซั่วๆ งมซาวไป เพราะตอนอ่านครั้งแรกก็อ่านแบบเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่หลายๆ อย่างทำให้นึกถึง ฟ้าบ่กั้น เลยได้ทีงัด “วรรณกรรมแห่งฤดูกาล” มาเป็นกรอบคิดทำความเข้าใจหนังสือเล่มนี้เสียเลย แล้วก็ดัดจริตปลดกระฎุมพีระมากๆ อ่านแล้วก็อาย แต่ก็หน้าไม่อายพอจะเอามาเผยแพร่ข้างล่างนี้เป็นฉบับภาษาไทย ส่วนฉบับภาษาสเปนอยู่ถัดลงไปอีก (ตรงไหนที่ใช้คำมั่ว ใช้ไวยากรณ์ผิด แล้วมาจับได้เมื่ออ่านตอนนี้ เราใส่ [sic] กำกับไว้ และแน่นอนว่ายังจับผิดภาษาตัวเองไม่หมด)


พีระ ส่องคืนอธรรม / El Llano en llamas ของ Juan Rulfo / 18 เมษายน 2014

“ถ้าจะได้มีการพยายามจะจัดในหมวดหมู่วรรณกรรมหนังสือเล็กๆ เล่มนี้คงจะมีฐานะเป็นได้เพียง ‘วรรณกรรมแห่งฤดูกาล’ ฤดูกาลแห่งความยากไร้และคับแค้นซึ่งเป็นฤดูกาลที่ยาวนานมากของประเทศไทย”

ลาว คำหอม, คำนำผู้เขียน ฟ้าบ่กั้น ฉบับภาษาสวีดิช (1958)

คำกล่าวข้างต้นของนักเขียนชาวไทยส่องสะท้อนแนวทางทางวรรณกรรมของ El Llano en llamas ของ Juan Rulfo (ทศวรรษที่ 1950s) ผลงานสองเล่มนี้มีอะไรหลายๆ อย่างคู่ขนานกัน (เรื่องส่วนใหญ่ของทั้งสองเล่มตีพิมพ์ในทศวรรษ 1950s สมัยที่สหรัฐอเมริกาขึ้นสู่ภาวะอำนาจเจ้าจักรวรรดิ ทั้งสองเล่มเป็นรวมเรื่องแต่งขนาดสั้นเกี่ยวกับบุรุษเบี้ยล่าง (มากกว่าสตรี) ทั้งสองเล่มพรรณนาภาพความทุกข์ยากของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมด้วยท่วงทำนองที่ละเอียดลออแต่ไม่ฟูมฟายและเกือบจะหน้าตาย) เหนืออื่นใด หนังสือสองเล่มนี้เหมือนกันตรงที่การถูกเชิดชูขึ้นเป็นแบบอย่างทางวรรณกรรม ผู้ประพันธ์ทั้งสองได้รับรางวัลระดับชาติ ชะตากรรมที่น่าเศร้ามากๆ ชะตากรรมหนึ่งของหนังสือ ฟ้าบ่กั้น หลังจากช่วงหนึ่งที่ถูกเผด็จการเซ็นเซอร์แล้ว ก็กลายเป็นว่าภาพอธิบายความยากจนข้นแค้นของผู้คนถูกช่วงใช้อย่างผิดๆ โดยชนชั้นนำอนุรักษนิยมว่านี่ไงหลักฐานว่าคนจนในภูมิภาคชนบทมีลักษณะล้าหลัง-โง่เง่า-ป่วยไข้แบบนี้ติดตัวมาแต่ไหนแต่ไร ปรากฏว่าเรื่องเล่าทั้งหลายไม่ได้ปลุกจิตสำนึกผู้อ่านดังที่ผู้ประพันธ์หวัง กลับกลายเป็นตรงกันข้าม สำหรับเรียงความชิ้นนี้ ข้าพเจ้าอยากจะตั้งประเด็นด้านกระแสตอบรับต่อ El Llano en llamas ในเมื่อเรื่องสั้นในเล่มเป็นหนังสือภาคบังคับสำหรับนักเรียนชาวเม็กซิกัน เนื่องจากเข้าไม่ถึงข้อมูลเชิงประจักษ์และไม่มีพื้นที่สาธยาย ในที่นี้ข้าพเจ้าจะไม่ค้นคว้าไปถึงการตอบรับจริงๆ ตลอดจนผลทางอุดมการณ์ที่ตามมา แต่จะวิเคราะห์เฉพาะสไตล์การเล่าเรื่องแบบละเอียดลออและหน้าตายในเรื่องเล่าบางเรื่องของเล่ม เพื่อที่จะใคร่ครวญถึงภัยอันตรายที่ El Llano en llamas อาจตกเป็นเหยื่อถูกบิดพลิ้วให้รับใช้อุดมการณ์แบบครอบงำต่างๆ

การเล่าเรื่องแบบอ้อมค้อม ค่อยๆ เผยแพลมความออกมา ไม่พรั่งพรูทีเดียว ทำให้ผู้อ่านไม่เกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจตัวละคอนได้อย่างง่ายๆ สไตล์การเขียนแบบละเอียดลออแต่แทบปราศจากอาการฟูมฟายเอ่ยพาดพิงถึงความรู้สึกผิดบาป ความอยุติธรรม และความรุนแรงของตัวละครต่างๆ ราวกับว่าเป็นเรื่องสามัญธรรมดา ไม่มีอะไรต้องสนอกสนใจเป็นพิเศษ ยกตัวอย่างเช่น ตอนจบของเรื่อง “La Cuesta de las Comadres” [“โนนแม่ฮัก”] ที่ตัวละครผู้เล่าเรื่องกล่าวถึงการล้างเลือดคนออกจากกระบุงเก็บข้าวโพดของตัวเอง เพราะไม่อยากเห็นเลือดคนที่ตัวเองฆ่าไปทุกครั้งที่ต้องใช้กระบุง หรือตอนจบของเรื่อง “El día del derrumbe” [“วันแผ่นดินปี้น”] ที่ตัวละครผู้เล่าเรื่องตัวหนึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ที่ตัวเองทิ้งเมียให้คลอดลูกตามลำพัง เพียงเพื่อจะเอามาใช้บอกวันที่ว่าตนจำได้แล้วว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เล่ามาทั้งเรื่องนั้นเกิดเมื่อวันที่เท่าไหร่ หรือตลอดเรื่อง “El hombre” [“บักนั่น”] ที่ผู้อ่านรับรู้ความคิดที่ชวนสับสนของมือสังหารโดยไม่มีการเรียงลำดับเรื่องราวหรือสาธยายปูมหลังที่ผลักดันให้เขาต้องฆ่า ราวกับว่าผู้อ่านจะเข้าใจได้เอง ซึ่งแน่ละว่าหลายครั้งหลายคนผู้อ่านก็ไม่เข้าใจ

ความตายก็มักเกิดขึ้นแบบไม่มีการพรรณนาตรงไปตรงมาแบบไม่กำกวม ไม่เปิดโอกาสให้มีความเห็นอกเห็นใจคนที่ตาย และแม้ในเวลาที่พรรณนาอย่างตรงไปตรงมา อย่างในเรื่อง “Acuérdate” [“จื่อได้บ่มึง”] เราไม่เห็นเหตุผลที่จะรู้สึกอะไรเลยต่อผู้ตายที่ถูกแขวนคอหลังจากไปทุบตีญาติตัวเอง ในเรื่องเล่ามากมาย ฆวาน รูลโฟ ทิ้งให้คนอ่านรู้สึกว่าเรื่องมันยังไม่สมบูรณ์ ว่าน้ำเสียงของผู้เล่าเรื่องมันถูกตัดตอนไป เหมือนกับเวลาพยานปิดปากเงียบ หลังจากที่สารภาพความในใจต่อหน้ากล้องของนักข่าวไปได้ช่วงหนึ่ง เป็นหน้าที่ของผู้อ่านที่จะค่อยๆ ปะติดปะต่อเอาเอง ไม่มีทางแก้นอกจากจะพยายามทำความเข้าใจว่าเขาทำสิ่งที่เขาทำลงไปทำไมกัน เป็นไปได้เหมือนกันว่าคนอ่านหลายคนจะเกิดคำถามขึ้นในหัวว่า “ฆวาน รูลโฟ ต้องการจะบอกอะไร?”

เช่นเดียวกับแฝดคนละฝาจากประเทศไทย El Llano en llamas ก็เป็นวรรณกรรมแห่งฤดูกาลของความแร้นแค้นและคับแค้นชัดๆ การจะพรรณนาให้เข้าไปถึงในใจของตัวละครเป็นเรื่องยุ่งยากใหญ่หลวงที่สุดของวรรณกรรมประเภทนี้ นั่นก็เพราะว่าอัตวิสัยของผู้อ่านที่มีชีวิตสุขสบายไม่สามารถจะเป็นเหมือนกันกับของคนที่ถูกกดขี่ได้ เพราะอย่างนั้น ความดีใจของคนเดินเท้าเวลามีลมพัดทรายขึ้นฟุ้งในทุ่งแล้งในเรื่อง “Nos han dado la tierra” [“เพิ่นปันดินดอนให้เฮาแล้ว”] ก็อาจจะถูกตีความผิดไปได้ว่าเป็นลักษณะนิสัยแปลกๆ ของคนในชนบทที่ฆาลิสโก (เหมือนในกรณีของเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งใน ฟ้าบ่กั้น ที่เล่าถึงความดีใจของเด็กจนๆ คนหนึ่งตอนที่เขาจับเขียดขาทองได้สำเร็จเพื่อจะได้กิน) เช่นเดียวกัน ความขัดแย้งระหว่างพ่อกับลูกที่มีอยู่มากมายก่ายกองในเรื่องเล่า ก็อาจถูกให้คำอธิบายแบบตัดจบไปว่าเป็นความผิดของระบบชายเป็นใหญ่แบบเม็กซิกัน หรือความผิดของการทอดทิ้งกันในครอบครัว โดยไม่ทันได้สังเกตเห็นเปลวไฟของความอบอุ่นและความรักที่ถูกทำลายล้างไปด้วยความทุกข์ยากขมขื่น แต่ยังซุกซ่อนอยู่ในคำที่ไม่ได้เอ่ยออกมาบ่อยๆ อย่างในเรื่อง “Paso del Norte” [“หน้าด่านไปเหนือ”] ที่ผู้เป็นพ่อสารภาพกับลูกชายก่อนที่จะยอมช่วยเหลือตามคำขอ พ่อพูดว่า

 “—Me vienes a buscar en la necesidá. Si estuvieras tranquilo te olvidarías de mí. Desde que tu madre murió me sentí solo; cuando murió tu hermana, más solo; cuando tú te fuiste vi que estaba ya solo pa siempre. Ora vienes y me quieres remover el sentimiento; pero no sabes que es más dificultoso resucitar un muerto que dar la vida de nuevo”.
[“มึงกะมาหากูญามเบิ๋ดทางไป คันมึงไปได้อยู่ซำบายมึงกะลืมกูท่อนั่นแม่นบ่ ตั้งแต่แม่มึงตายกูกะฮู้สึกว่ากะญังแต่กูผู่เดียว ญามเอี้ยยมึงตายกูกะแฮ่งโดดเดี่ยวคัก ญามมึงไปอีกฅนกูกะปงแล้วว่า ต้องอยู่ผู่เดียวไปจนเบิ๊ดเวรเบิ๊ดกรรม บาดนี่ มึงมานี่ มาปั่นควมฮู้สึกในเอิ๋กกู แต่มึงบ่ฮู้ดอกว่าสิซุบซีวิตฅนตายมันญากลำบากกั่วสิสร้างซีวิตใหม่”]

ท่งกุลาลุกไหม้, หน้า 113

วิธีการเล่าเรื่องในเรื่องเล่าส่วนใหญ่ของ ฆวาน รูลโฟ ใช้รูปแบบของบทสนทนาระหว่างตัวละครสองตัว ซึ่งมีอัตวิสัยผิดแผกไปจากวิธีคิดวิธีรู้สึกของผู้อ่านสมัยปัจจุบัน หากผู้อ่านไม่วิเคราะห์เจาะลึก การอ่านวรรณกรรมแห่งความแร้นแค้นก็เสี่ยงที่จะเป็นการบิดเบือนความเข้าใจต่อโลกความจริงได้

ถึงจะกล่าวที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด ข้าพเจ้าก็ไม่ต้องการจะกล่าวโทษ ฆวาน รูลโฟ แต่อย่างใดเลย ข้าพเจ้าเชื่อว่ารวมเรื่องเล่าเล่มนี้เป็นงานชั้นครู และยิ่งอ่านไปๆ ก็ยิ่งดีขึ้นจากเรื่องแรกจนถึงเรื่องสุดท้าย มันเปิดประตูสู่โลกความจริงที่ดูผิดแผกไปจากพวกเรา โลกความจริงที่ซับซ้อนของความแร้นแค้นและคับแค้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็ยังไม่หมดสิ้นไป มันยังดำรงอยู่ในหลากหลายรูปแบบต่อหน้าต่อตาเรานี่เอง ¡เป็นของขวัญแค่ไหนแล้วที่มันได้มอบโอกาสให้เราเห็นทะลุไปถึงความเป็นมนุษย์ของตัวละครต่างๆ โดยไม่ละเว้นทั้งความปรารถนา ข้อบกพร่อง อคติ และความล้มเหลว! ในท้ายที่สุด ความรับผิดชอบที่จะสังเกตเห็นความเป็นมนุษย์นั้นก็ตกอยู่กับผู้อ่าน โดยเฉพาะผู้อ่านร่วมสมัยจากพวกชนชั้นนำ ผู้อ่านคนนี้ก็จำเป็นต้องทุบทำลายฟ้าของอัตวิสัยที่กั้นเขาออกจากคนอื่นๆ ให้จงได้.

(ประเด็นเรื่องอัตวิสัยของคนเบี้ยล่างนี้ที่จริงแล้วยุ่งเหยิงซับซ้อนมากกว่าคู่ตรงข้ามที่ข้าพเจ้าได้สาธยายไป รูปแบบการเล่าเรื่องจาก “พวกเรา” ในหนังสือเล่มนี้หลายครั้งหลายหนก็เผยให้เห็นรอยปริแตกในอัตวิสัยของผู้ถูกกดขี่ที่ถูกทึกทักเอาว่าคล้ายคลึงกันไปหมด นั่นก็คือ ผู้เล่าเรื่องในเรื่อง “El Llano en llamas” [“ท่งกุลาลุกไหม้”] “Talpa” [“ตาลปา”] และ “Es que somos muy pobres” [“จั่งว่าเฮาทุกข์ญากหลาย”] สวมบทบาทของการเล่าเรื่องแทนกลุ่มก้อนของ “พวกเรา” คำว่าพวกเรานี้บางครั้งกลับสะท้อนเพียงแต่อัตวิสัยของปัจเจก ทำให้เห็นความปรารถนาของปัจเจกที่จะผนวกตัวเองเข้ากับไอ้คำว่าพวกเรานี้ (อย่างในเรื่อง “Talpa” ที่ผู้เล่าเรื่องพูดแทนตัวเองและพี่สะใภ้ราวกับว่าตัวเองเข้าใจเธอหมดทุกอย่าง) มากกว่าจะสะท้อนเสียงสามัคคีของกลุ่มก้อน)


Peera Songkünnatham / El Llano en llamas de Juan Rulfo / 18 abril 2014

“Si haya un propósito para categorizarlo en algun tipo literario, este pequeño libro será sólo una ‘literatura estacional’, la estación de carencia y rabia, que es una estación muy larga en Tailandia”

Lao Kham-hom, el prólogo para la edición sueca de su libro El cielo no separa (1958)

El dicho del escritor tailandés refleja el modo literario de El Llano en llamas de Juan Rulfo (1950s). Hay muchas paralelos que hacer entre las dos obras. (El Llano en llamas El cielo no separa se publicaron en los cincuenta, en la subida del poder imperialista de los EE.UU.; ambas son libros de cuentos sobre los hombres de abajo (más que las mujeres); ambas describen la miseria de la desigualdad socioeconómica en el estilo sútil y casi indiferente.) Sobre todo, los dos libros han sido celebrados como un ejemplar literario, los dos autores han recibido un premio nacional. Un destino muy triste del libro “El cielo no separa”, después de un período de censura[sic] dictatorial, fue que la descripción de la pobreza de la gente fue abusada por la élite conservadora como evidencia de la condición inherente de los pobres en la región rural como los atrasados-estúpidos-enfermos. Contra la esperanza del autor, los cuentos no lograron en despertar una conciencia de los lectores; perversamente lo contrario ocurrió. Para este ensayo, querría cuestionar el aspecto de la recepción de El Llano en llamas, puesto que los cuentos son lecturas compulsorias para l@s estudiantes mexican@s. Sin investigar la recepción actual y sus implicaciones ideológicas, por falta de acceso y espacio, sólo analizaré el estilo narrativo sútil e indiferente en algunos cuentos del libro, para contemplar sobre el peligro de El Llano en llamas de ser torciada para servir unas ideologías de dominación.

El discurso indirecto[sic] de la narración resiste a que el lector se simpatice fácilmente con los personajes. El estilo sútil y casi indiferente de la escritura narra los arrepentimientos, la injusticia, y la violencia de los personajes como si fueran normales y casi no merecieran la atención especial. Por ejemplo, en “Día del derrumbe” no se revela hasta el último párrafo que el narrador[sic] a su esposa sola en su emergencia del parto; en “El hombre” el lector sabe de los pensamientos confusos del asesino sin saber sus[sic] antecedentes que lo forzan[sic] a matar, como si el lector pudiera entenderlo. Claro, muchas veces el lector no lo entiende. Las muertes también suelen pasar sin descripciones directas e inequivocadas, sin una oportunidad de simpatizarse con los muertos. Y cuando sí son descritas directamente, como en el caso de “Acuérdate”, no sabemos por qué deberíamos sentir algo por el muerto ahorcado por atacar a su compadre[sic]. En muchos cuentos, Juan Rulfo deja al lector sentir que la historia no haya sido completada, que la narración sujetiva[sic] haya sido truncada. Así cómo se calla un testigo, después de un rato de confesar ante la cámara del periodista. Es el deber del lector aprender paulatinamente lo que ya pasó. No hay más remedio que tratar de entender por qué hicieron lo que hicieron. Posiblemente, se les ocurre a los lectores la pregunta “¿Qué es el mensaje de Juan Rulfo?”

El Llano en llamas claramente es, igual que su gemelo tailandés, una literatura de la estación de carencia y rabia. Cómo describirla desde adentro de los personajes es la mayor complicación de este tipo de literatura. Porque la sujetividad del lector acomodado no puede ser la misma con la de los oprimidos, el lector suele suponer que el otro tiene una condición rara sin pensar en las estructuras de opresión. Entonces, la alegría de los caminantes en el desierto[sic] al soplar el viento de arena en “Nos han dado la tierra” puede ser malinterpretado como una calidad rara de la gente de Jalisco rural, (como en el caso de un cuento en “El cielo no separa” que describe la alegría del niño pobre cuando con éxito agarra una rana de pie dorado para comer). También, los numerosos conflictos entre padre e hijo en los cuentos pueden ser justificados por echar la culpa al machismo mexicano o al neglecto[sic] de la familia, sin reconocer la chispa de cariño y amor, arruinados por la miseria, que se esconde en las palabras raramente pronunciadas: como en “Paso del Norte” que el papá le confiesa a su hijo antes de ceder a ayudarlo:

“—Me vienes a buscar en la necesidá. Si estuvieras tranquilo te olvidarías de mí. Desde que tu madre murió me sentí solo; cuando murió tu hermana, más solo; cuando tú te fuiste vi que estaba ya solo pa siempre. Ora vienes y me quieres remover el sentimiento; pero no sabes que es más dificultoso resucitar un muerto que dar la vida de nuevo” (120).

La narración de la mayoría de los cuentos de Juan Rulfo toma la forma de la conversación entre dos personajes, cuyas sujetividades son ajenas del lector contemporáneo[sic]. Sin analizar más a fondo, leer la literatura de carecía arriesga una distorsión del entendimiento de la realidad.

A pesar de todo eso, no echo la culpa a Juan Rulfo en ninguna manera. Creo que los cuentos son obras de maestro, y van mejorando y mejorando desde el primero cuento hasta el último. Abren la puerta a una realidad que parece ajena de nosotros, la realidad compleja de carencia y rabia, que en realidad no ha acabado, que existe en distintas formas ante nuestros ojos. ¡Y qué regalo que nos ofrece la posibilidad entrever a la humanidad de los personajes, con todos sus deseos, defectos, prejuicios, fracasos! La responsabilidad de reconocer esa humanidad, al final, cae sobre el lector, especialmente el lector contemporáneo de las élites. Este lector tiene que romper el cielo de su sujetividad que lo separa de los demás.

(El asunto de la sujetividad subalterna es más complicado de la dicotomía que he descrito; la forma de narrar como colectivo en el libro a veces expone las grietas en la sujetividad supuestamente homogénea de los oprimidos. Es decir, los narradores de “El Llano en llamas”, “Talpa”, “Nos han dado la tierra”, “Es que somos muy pobres” asumen el papel de narrar por un colectivo de “nosotros”. Este nosotros a veces sólo refleja la sujetividad del individuo y su deseo de incorporarse al dicho nosotros (como en “Talpa” donde el narrador habla por él y la esposa de su hermano como si la entendiera todo), más que refleja la voz colectiva.)

กลับสู่หน้าหลักของ ท่งกุลาลุกไหม้ ฉบับคู่หู