เรียงความ “ฆวาน รูลโฟ ในพากย์อีสานของไทย: การแปลและสำนึกเป็นปึกแผ่น”

(For an English-language version of the award-winning essay "Juan Rulfo in Northeastern Thailand: Translation and Solidarity," click here)

หมายเหตุผู้เรียงความ: เรียงความชิ้นนี้เขียนขึ้นเมื่อเดือนมกราคมปี 2016 เพื่อส่งประกวดเรียงความที่ประเทศคิวบา เรื่องมีอยู่ว่าวันหนึ่งเราเซ็งๆ ไม่มีอะไรทำ เลยอยากรู้ว่าประเทศไทยกับประเทศคิวบามีความสัมพันธ์กันยังไงบ้าง ท่องเว็บไปเรื่อยๆ ดันเจอคำประกาศการประกวดเรียงความอันหนึ่งที่อ่านแล้วรู้สึกประทับใจและมีแรงผลักดันมาก สำหรับคนจากประเทศไทยซึ่งไม่เคยเห็นการประกวดเรียงความหัวข้อทำนองนี้เลย

คำประกาศเจตนารมณ์ของการประกวดเรียงความ “คิดทวนกระแส”

ด้วยเจตนาเฟ้นหาและเผยแพร่ความคิดเชิงวิพากษ์ อันเกี่ยวแก่ปัญหาและความท้าทายที่เร่งด่วนที่สุดในโลกร่วมสมัย จากแง่มุมที่ต่อต้านลัทธิอาณานิคมและจักรวรรดินิยม (นิยามอย่างกว้างๆ) ซึ่งจะมีส่วนช่วยรังสรรค์ชุดความคิดทฤษฎีการเมือง เศรษฐกิจ และกฎหมายเพื่อการปลดแอก โดยผูกโยงกับประเด็นปัญหาสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม และต้านทานกระแสการทำลายล้างอันเป็นผลพวงมาจากโมเดลทุนนิยมที่ถืออำนาจนำอยู่ในระเบียบโลกทั้งทางวัตถุและทางจิตวิญญาณ กระทรวงวัฒนธรรมแห่งประเทศคิวบา สถาบันหนังสือคิวบา และสำนักพิมพ์สหัสวรรษใหม่จึงจัดให้มีรางวัล คิดทวนกระแส ครั้งที่ ๑๓ ขึ้น

เพื่อเป็นอีกทางเลือกนอกจากการถูกปิดปากและการถูกผลักไสไปอยู่ชายขอบของความคิด เพื่อการปลดแอกในวงจรหลักๆ ของการผลิตที่มีอำนาจนำ การครอบงำทางสังคมและทางปัญญา และความท้าทายใหญ่ยักษ์ทั้งหลายที่มวลมนุษยชาติต้องเผชิญจากการเผาผลาญสิ่งแวดล้อมอย่างไร้ความปรานี รางวัล คิดทวนกระแส และรางวัลพิเศษ สปีชีส์เสี่ยงภัย มุ่งหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการพัฒนาความคิด การวิเคราะห์ และข้อเสนอในทางปฏิบัติภายในสาขาวิชาสังคมศาสตร์ วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในบริบทเช่นนี้การประกวดจึงยินดีรับกรอบคิดและมุมมองที่หลากหลาย ดั่งนี้ก็เพื่อการที่จะต่อกรกับฐานหลักของบรรดาระบบความคิดที่ถืออำนาจนำอยู่ในโลกการเมืองระหว่างประเทศยุคใหม่

ตอนนั้นเราเริ่มแปล ท่งกุลาลุกไหม้ ไปแล้วบ้างบางส่วน ยังมั่วมากทั้งภาษาสเปนและภาษาลาวอีสาน แต่ก็ตื่นเต้นมากเหมือนกัน เพราะเป็นช่วงที่เริ่มเห็นว่างานแปลชิ้นนี้จะมีความหมายสำหรับคนอื่นแบบที่เราคาดไม่ถึงได้ยังไงบ้าง เราเลยตั้งใจเขียนออกมาเป็นเรียงความขนาดยาวถึงที่เขากำหนด (20-40 หน้า) แถมยังต้องเสนอทางออกต่อปัญหาอำนาจนำจักรวรรดินิยมในโลกปัจจุบันอย่างเป็นรูปธรรมอีกแหนะ เราเลยได้ขบคิดประเด็นหลากหลายบนพื้นฐานของงานแปลเล่มนี้ ทั้งที่ตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่ามันจะมีวันสำเร็จเป็นเล่มหรือเปล่า

เรียงความชิ้นนี้เดินเรื่องด้วยประสบการณ์ส่วนตัวของการเป็นนักอ่านที่โตมาแบบไม่มีใครจัดตั้ง ไม่มีสังกัด จนกระทั่งได้มีโอกาสไปเรียนรู้จากชุมชนต่างๆ ในเม็กซิโกกับโปรแกรม Mexico Solidarity Network เป็นเวลาหนึ่งภาคเรียนเมื่อปี 2014 และได้พบกับหนังสือ El Llano en llamas เป็นครั้งแรก ผนวกกับการครุ่นคิดถึงพื้นเพจากภาคอีสานของตัวเราเอง และอาศัยโหนทฤษฎีการแปลที่ได้เรียนกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย ตอนนี้ก็ผ่านมาเกือบสามปีแล้วตั้งแต่ที่เขียนเรียงความนี้ ความคิดความรู้สึกก็เคลื่อนไปพอสมควรแล้ว จากสำนึกเป็นปึกแผ่นที่ต้องการให้นักแปลประกอบชิ้นส่วนของโลกที่แตกกระจายกลับเข้าด้วยกันอีกครั้ง ถึงวันนี้เราค่อนข้างรู้สึกอยากเชิดและชูความลื่นไหลไร้หลักแหล่งของการเป็นนักแปลมากกว่า

พีระ ส่องคืนอธรรม / ธันวาคม 2018


ฆวาน รูลโฟ ในพากย์อีสานของไทย: การแปลและสำนึกเป็นปึกแผ่น

พูดถึงเม็กซิโก คนไทยนึกถึงอะไร? หนังฮอลลีวู้ดช่วงที่ผ่านมาอย่าง Sicario ทีมพิฆาต ทะลุแดนเดือด (2015, กำกับโดยริดลี่ย์ สก๊อต) และหนังสารคดีอย่าง Cartel Land ผ่าแดนนรก (2015, กำกับโดยแมธิว ไฮเนมัน) นำเสนอเม็กซิโกว่าเป็นประเทศอันตรายไม่มีขื่อไม่มีแป มีแต่แก๊งมาเฟียที่ไร้ความปรานี พวกเราบริโภคภาพเม็กซิโกที่รุนแรงรุ่งริ่งจากสงครามยาเสพติด และเมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว แค่เอ่ยปากว่าอยากไปท่องเที่ยวที่ใดก็ตามในเม็กซิโกก็ต้องเจอกับน้ำเสียงเป็นห่วงของเพื่อนฝูง แกจะไปที่นั่นทำไมนะ?

พูดถึงไทย คนเม็กซิโกนึกถึงอะไร? หนังตลก-ชีวิตยอดฮิตอันดับหนึ่งของเม็กซิโก Nosotros los Nobles (2013, กำกับโดยแกรี่ อลัซรากี) มีการพาดพิงถึงประเทศไทยในฉากที่ตัวละครสาวไฮโซถูกชายหนุ่มผู้รับใช้พาเดินเข้าตลาดสดไม่ติดแอร์ในเม็กซิโกซิตี้ นางบ่นด้วยเสียงอันดังว่า “¡Esto parece Tailandia! (นี่มันประเทศไทยรึไงคร๊ะ!)” ถึงแม้ความคิดต่อประเทศไทยทำนองนี้ไม่ใช่แนวคิดของชาวบ้านร้านตลาดเม็กซิกันทั่วไป ฉากนี้ก็ผลิตซ้ำภาพลักษณ์นั้นอยู่ดี ภาพของประเทศไทยว่าเป็นตลาดจอแจแออัดเหม็นกลิ่นคาวปลา

ฉันอาจจะถามแบบกว้างขึ้นหน่อยก็ได้ว่า พูดถึงประเทศ “โลกที่สาม” สักประเทศหนึ่ง คนจากประเทศ “โลกที่สาม” อีกประเทศนึกถึงอะไร? ก็คงมองคือๆ กันว่าเป็นแค่ประเทศด้อยพัฒนาอีกประเทศ นั่นเป็นคำตอบอันดับหนึ่งในใจของคนทั่วไปอย่างที่ฉันหวั่นหวาดหรือเปล่า?

คำตอบแบบนี้มีผลกระทบกว้างใหญ่ไพศาลใช่ย่อย เวลาเกิดภัยพิบัติที่มนุษย์สร้างขึ้นขึ้นที่ใดสักที่ใน “ประเทศกำลังพัฒนา” พวกเราก็มักจะเพิกเฉยเอาได้ง่ายๆ  ทำไมคนไทยอย่าง “เรา” ควรถึงต้องช่วยโรฮีนจา “พวกนั้น” ที่ถูกขับออกจากพม่าด้วย? ทำไมคนโดมินิกันที่ “ไม่ใช่คนดำ” ต้องแคร์คนโดมินิกันเชื้อสายเฮติที่ถูกขับออกจากประเทศ “ของเขา” ด้วยเล่า? แล้วถึงแม้เราแคร์ที่สหรัฐอเมริกาส่งโดรนไปสอดแนมและเข่นฆ่าพลเรือนในตะวันออกกลางและแอฟริกา พวกเราจะทำอะไรได้ล่ะ ในเมื่อประเทศของเราๆ ก็มีปัญหามากมายก่ายกองอยู่แล้ว?

ซ้ำร้าย การแบ่งโลกแบบนี้ไม่ได้แบ่งเพียงแต่เรื่องความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจหรือความมั่นคงทางการเมือง แต่ยังแบ่งเข้าไปถึงเรื่องวิทย์-ศิลป์-จินตนาการด้วย

เรามีแนวโน้มจะคิดว่าความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ไต่ขึ้นสู่จุดสูงสุดในประเทศที่ผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในคนผิวขาว ในดินแดนแถบมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ  ดนตรี ภาพยนตร์ วิจิตรศิลป์ วรรณกรรม ปรัชญา เทคโนโลยียุคดิจิตัล แบบที่ถือกันว่าก้าวหน้าและมีระดับสูงสุดในเวทีสากล ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ดูจะแผ่ออกมาจากทางโน้น  แต่น่าสงสัยว่าสักกี่เปอร์เซ็นต์ของความคิดทำนองนี้เป็นผลมาจากอาการที่เราจดจ่อสายตาและใบหูไปยังประเทศแถวหน้าของโลก? จะเกิดอะไรขึ้นถ้าพวกเรา สมาชิกของ “โลกที่สาม” จะหันมามองกันและกันบ้าง?

เรื่องเร่งด่วนอย่างหนึ่งของยุคสมัยนี้ คือการต้องคิดหาสิ่งที่เรียกว่า “เรา” ที่สามารถข้ามพรมแดนและเปิดโลกที่หลากหลายขึ้นมาได้  ที่สำคัญ สรรพนามพหูพจน์ของผู้พูดนี้ต้องมิได้เป็นขั้วตรงข้ามกับ “พวกนั้น” อยู่ตลอดเวลา  คำว่า “เรา” ในที่นี้ต้องบ่งบอกถึงความเชื่อมโยงระหว่างชะตากรรมรวมหมู่ของเขาและเรา  ถ้าหากไร้แนวคิดเรื่องความเป็นปึกแผ่นของคำว่า “เรา” ที่กว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่ เราก็ไม่เหลือทางเลือกอื่นนอกจากการจดจ่ออยู่กับวีรบุรุษแห่งชาติ หมกมุ่นกับการพิทักษ์ความศักดิ์สิทธิ์ที่ทรุดโทรมลงทุกทีทางหนึ่ง กับการจดจ่ออยู่กับประเทศตะวันตก ยินยอมให้ชีวิตเราพัดลอยไปตามโลกาภิวัตน์กระแสแล้วกระแสเล่าอีกทางหนึ่ง

ในโลกภาษาไทย คำว่า solidarity ปรากฏเป็นคำทับศัพท์ในบทเพลงการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพ “โซลิดาริตี” ที่ยังมีการร้องกันอยู่ทุกวันนี้ในหมู่สหภาพแรงงาน ส่วนการแปลเป็นคำไทย ภาคภูมิ แสงกนกกุล ใช้คำว่า “สมานฉันท์นิยม” ส่วนฐาปนันท์ นิพิฏฐกุลใช้คำว่า “ภราดรภาพนิยม” โดยทั้งสองกล่าวถึงแนวคิด Solidarisme ของปรีดี พนมยงค์ อันเป็นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ถืออำนาจนำในฝรั่งเศสยุคหนึ่ง ฐาปนันท์อธิบายว่าหนึ่งในคำขวัญการปฏิวัติฝรั่งเศส Fraternité ซึ่งแปลตรงตัวว่าภราดรภาพ เริ่มถูกทดแทนด้วยคำว่า Solidarité

คำว่า solidarity มีรากศัพท์มาจากกฎหมายเรื่องหนี้ร่วม (in solidum) คือภาวะการเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้อื่น จนต่อมาคำนี้ถูกนำมาใช้อธิบายการประสานหน้าที่ระหว่างกันในสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ และในที่สุดก็กลายเป็นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมืองที่นักการเมืองชาวฝรั่งเศสสมาทานในยุคสาธารณรัฐที่สาม (1875-1940) ฐาปนันท์ยกคำของเลอง บูร์ชัวส์ นักการเมืองคนสำคัญที่สมาทานแนวคิด Solidarisme มาช่วยอธิบายแนวคิดได้ชัดเจนว่า “ในช่วงชีวิตของแต่ละคน มนุษย์มิใช่เป็นแต่เพียงลูกหนี้ของผู้ที่ดำรงชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับตนเท่านั้น นับแต่วันที่ได้ลืมตาดูโลกมาแล้ว มนุษย์เป็นผู้มีพันธะผูกพัน อีกนัยหนึ่ง มนุษย์เกิดมาเป็นลูกหนี้ของสมาคมแห่งมนุษยชาติ”[1]

จากพจนานุกรมภาษาสเปนฉบับราชบัณฑิตยสถานสเปน คำว่า solidaridad หมายความว่า adhesion circunstancial a la causa o a la empresa de otros “การยึดเหนี่ยวเข้ากับอุดมการณ์หรือภารกิจของผู้อื่นโดยอ้อมๆ”

พูดง่ายๆ ก็คือ solidarity (ซึ่งฉันขอใช้คำว่า “สำนึกเป็นปึกแผ่น” เป็นคำแปลในที่นี้ โดยใช้ตามนิธิ เอียวศรีวงศ์) เป็นแนวคิดที่หมายมุ่งถึงการทำเพื่อผู้อื่น หรือการแสดงออกซึ่งพันธะผูกพันที่เรามีต่อผู้อื่น แต่ถ้าเกิดสมมุติให้ “สำนึกเป็นปึกแผ่น” เป็นแนวคิดที่ไม่ขัดแย้งกับ “ความเห็นแก่ตัว” ให้เป็นแนวคิดรวมทั้งความเป็นเราและความเป็นอื่น ทั้ง “พวกเรา” กับ “พวกเขา” ล่ะ?

ต่อคำถามใหญ่โตข้อนี้ ฉันมีคำตอบชิ้นเล็กๆ มอบให้ ห่อไว้ด้วยประสบการณ์ส่วนตัว ฉันจะจูงมือพาท่านเลาะเลียบเรื่องราวที่ฉันได้พบและได้เกี่ยวพันกับฆวาน รูลโฟในเม็กซิโก ระหว่างทางก็จะค่อยๆ คลี่คลายปมทางทฤษฎีระหว่างการแปลกับสำนึกเป็นปึกแผ่น  ด้วยการเสาะหาจุดเชื่อมต่อและการซอกหามุมใหม่ในระหว่างชิ้นส่วนต่างๆ ของโลก ฉันจะร่างเค้าโครงให้ท่านเห็นให้จงได้ว่า นักแปลวัฒนธรรมอย่างเรานั้นสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อประกอบชิ้นส่วนโลกเข้าเป็นปึกแผ่นเดียวกันอีกครั้ง

II. เสาะหาจุดเชื่อมต่อ ซอกหาอีสานในรูลโฟ

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มด้วยความอยากจะนำของต่างประเทศชิ้นหนึ่งกลับบ้าน เป็นของที่ให้ความรู้สึกคุ้นเคยอย่างประหลาด

ฉันค้นพบ ฆวาน รูลโฟ ในดินแดนปกครองตนเองซาปาติสต้าภายในมลรัฐเชียปัส เม็กซิโก ในปี 2014  บนชั้นสองของอาคารโรงเรียนมัธยมบนภูเขาที่โอเบ็นติก มีห้องหนึ่งเป็นที่สิงสถิตของหนังสือและดีวีดีคัดสรร  หนังสือรวมเรื่องสั้นของฆวาน รูลโฟ El Llano en llamas เล่มเก่ายืนพิงหนังสือรวมบทกวีละตินอเมริกันหลายคนเขียน (ที่ซึ่งฉันได้รู้จักกวีนักปฏิวัติ โรเก้ ดาลตัน และอ็อตโต เรเน กัสตีโย) กับหนังสือแนวอนาธิปไตยอย่าง Change the World without Taking Power กับ Crack Capitalism ของจอห์น ฮอลโลเวย์  ชั้นหนังสือหันหน้าเข้าหาจิตรกรรมฝาผนังสีสดใส เป็นใบหน้าที่มีดวงตามีแววลึกลับ จดจ่อกับหน้ากระดาษของหนังสือที่เปิดอยู่ตรงหน้า ปลิวสยายออกไปทางซ้ายและทางขวาคือแม่น้ำสีคราม ซึ่งมีลายเส้นของเรือใบ ปลาหลากชนิด และหอยทากปรากฏเป็นสีขาวตุ่น  นี่คือฉากประจำของการอ่านหนังสือของฉันในยามบ่ายที่หมอกลงจัด

[ZAPATA VIVE เพลงประกอบการเดินทางในขุนเขากับรถตู้สีขาวของโปรแกรม Mexico Solidarity Network
(ปัจจุบันคือ Autonomous University of Social Movements: Mexico)
Resiste Chiapas by 99 Posse from the album EZLN El Fuego Y La Palabra: Fuego.]

ไม่ใช่ว่าชื่อของรูลโฟไม่เคยผ่านตาฉันมาก่อน ร้านหนังสือทุกร้านในเม็กซิโกที่ฉันเคยไปเดินดูจะต้องมีหนังสือ El Llano en llamas วางขายอยู่เสมอ อาจารย์สอนภาษาสเปนของฉันก็ยังแนะนำให้ฉันอ่านหนังสือเล่มนี้ แม้แต่เพื่อนคนไทยคนหนึ่งที่เรียนอยู่ที่เมืองหลวงของเม็กซิโกก็เอ่ยถึงเล่มนี้เป็นเล่มแรกเมื่อนึกถึง “วรรณกรรมเม็กซิกัน”  อาจารย์ให้คำอธิบายรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ไว้อย่างเรียบๆ ว่า “short stories about poverty, corruption, and post-revolution Mexico [เรื่องสั้นเกี่ยวกับความยากจน ความฉ้อฉล และเม็กซิโกยุคหลังการปฏิวัติ]”  ก่อนที่ฉันจะได้ไปเม็กซิโกช่วงต้นปี 2014 ฉันได้พยายามอ่านเรื่องสั้นสองสามเรื่อง แต่สุดท้ายก็วาง เพราะความไม่ค่อยเข้าใจภาษาสเปน แล้วยังมีสำบัดสำนวนแบบเม็กซิกันที่ฉันไม่เคยพบพ้ออีก

อาจารย์คนหนึ่งที่โอเบ็นติกเห็นฉันหยิบ El Llano en llamas ออกมาจากชั้นหนังสือ แกบอกฉันว่างานของรูลโฟมีความสำคัญมาก ที่ได้นำเอาความเป็นจริงของละตินอเมริกาแปลงเข้าเป็นรูปวรรณกรรมที่มีแบบฉบับของตนเองไม่ซ้ำใคร ว่าแล้วอาจารย์ก็ผลักดันให้ฉันอ่านต่อไป  ด้วยความยากลำบาก ฉันค่อยๆ แกะถ้อยคำประโยคและย่อหน้าที่ผุดขึ้นมาจากความเป็นจริงที่ไม่เป็นดั่งฝันหลังการปฏิวัติเม็กซิโกและการก่อกบฏคริสเตโรในมลรัฐฆาลิสโก ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่ฉันเพิ่งจะพอจับต้นชนปลายได้  ด้วยเหตุที่ว่าตอนนั้นฉันยังไม่ค่อยรู้ภาษาสเปนดีนัก การได้อ่านงานของรูลโฟก็เป็นการได้รับรู้ภาษาใหม่ไปในตัว ได้รับเอาวิถีของตัวตนแบบใหม่ให้กับตัว

แต่ความใหม่นี้ก็ส่งเสียงกลับไปหาความเก่าบางอย่าง

ไม่เกินเลยหากจะบอกว่า ฆวาน รูลโฟ นำทางฉันกลับบ้าน

ฉันเติบใหญ่ขึ้นมาในเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ภูมิภาคนี้ที่เรียกกันว่า “ภาคอีสาน” มีประชากรมากถึงหนึ่งในสามของ 70 ล้านคนของทั้งประเทศ แต่ความปรารถนาที่จะอยู่ดีกินดี มีคนนับหน้าถือตา มีตัวแทนทางการเมือง และมีวิถีชีวิตที่ตนกำหนดได้เอง ก็กลับถูกกดทับมาอย่างยาวนาน  รูลโฟนำฉันกลับไปหา “ลาว คำหอม” ผู้บุกเบิกวรรณกรรมไทยภาคอีสานคนหนึ่ง ดังที่ลาว คำหอมได้เคยว่าไว้เกี่ยวกับรวมเรื่องสั้น ฟ้าบ่กั้น (พิมพ์ครั้งแรกปี 1958) ดังปรากฏในคำนำเสนอฉบับภาษาสวีดิชในปี 1978 ว่า

“ถ้าจะได้มีการพยายามจะจัดเข้าในหมวดหมู่วรรณกรรม หนังสือเล็กๆ เล่มนี้ก็คงจะมีฐานะได้เป็นเพียง ‘วรรณกรรมแห่งฤดูกาล’ ฤดูแห่งความยากไร้และคับแค้น ซึ่งเป็นฤดูที่ยาวนานมากของประเทศไทย”[2]

ท่านอาจจะแทนคำว่า “ประเทศไทย” ด้วยคำว่า “ประเทศเม็กซิโก” แต่สาระสำคัญของถ้อยความนี้ก็เห็นจะไม่คลาดเคลื่อนไปแต่ประการใด นักเขียนทั้งสองคนผลิตงานอย่างแข็งขันในช่วงต้นของสงครามเย็น ยุคซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกาสยายปีกอำนาจแผ่มาปกคลุมนานาประเทศ อันรวมไปถึงไทยและเม็กซิโกด้วย

รัฐทั้งสองเองก็มิได้เมตตาปรานีราษฎรของตนเองเท่าใด ต่างก็มีประวัติเปื้อนเลือดนักศึกษาของตนเอง ทั้งการสังหารหมู่ตลาเตโลลโกในนครหลวงเม็กซิโกช่วงการจัดงานกีฬาโอลิมปิกปี 1968 และการสังหารหมู่กลางสนามหลวงกรุงเทพฯ ในปี 1976  ทั้งนี้โดยยังมิได้เอ่ยถึงชนชั้นล่างจากที่ห่างไกล

ฉันรู้สึกได้ว่าหนังสือ El Llano en llamas มีจิตวิญญาณร่วมกันกับวรรณกรรมไทยภาคอีสานยุคคลาสสิก ในภาพจำของชนชั้นนำสยาม-ไทยในกรุงเทพฯ ภาคอีสานเป็นดินแดนยากจนข้นแค้น ดินแตกระแหง เข้าใกล้ความหมายของ páramo ซึ่งปรากฏในชื่อนวนิยายเล่มสำคัญของฆวาน รูลโฟ Pedro Páramo “ปาระโม” คือที่ราบแห้งแล้งที่ถูกลมฟ้าอากาศโบยตีจนปางตาย แห้งแล้งเหมือนฉากในเรื่องสั้น “เขียดขาคำ” ซึ่งเปิดเรื่องขึ้นว่า

“แดดกล้าเริงแรงเหมือนจงใจจะแผดเผาทุกชีวิตบนทุ่งกว้างให้ไหม้มอดจนสิ้นซาก สะแบงหลวงกับพะยอมยืนโดดเด่น ทิ้งใบแก่สีเหลืองคล้ำร่อนลงดินเป็นครั้งคราว เขาหย่อนกายลงตรงโคนไม้ด้วยท่าทางที่เหนื่อยอ่อน เสื้อสีครามคล้ำเปียกชื้นไปด้วยหยาดเหงื่อ รอบตัวมีแต่ความอ้างว้างแห้งแล้ง เขาเพ่งมองกลุ่มหญ้าหม่นและฟางฝอยที่ปลิวว่อนหมุนเป็นลำสูงพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า นอกจากหญ้าและฟาง มันยังหอบเอาดินสีน้ำตาลลอยฟุ้งจนมืดมัวไปหมด มันเป็นลมหัวกุด หรือที่บางคนเรียกลมหัวด้วน เขารู้สึกหวาดขึ้นมาทันทีเมื่อคิดได้ว่าลมที่พัดตึงๆ อยู่นั้น ผู้ใหญ่เคยบอกว่ามันเป็นเครื่องหมายของความแห้งแล้ง ความอดอยาก ความวิบัติและความตาย...”[3]

บรรยากาศคลับคล้ายคลับคลาชุมชนยอดเขาที่มีแต่หินและเถ้าภูเขาไฟในเรื่อง “ลูบีนา” ของรูลโฟไหม? ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ได้รวบรวมความเห็นของนักวิจารณ์ชาวกรุงเทพฯ ที่ได้อ่านเรื่องแต่งใน ฟ้าบ่กั้น แล้วตกอยู่ใต้กรอบคิดว่า สาเหตุที่คนภาคอีสานอดอยากปากแห้งและล้มตายกันง่ายๆ นั้น ก็เป็นเพราะสภาพภูมิศาสตร์และภูมิอากาศ หรือมิฉะนั้นก็เพราะความโง่เขลาและงมงายเป็นแน่แท้[4]  แต่ทว่า เมื่อได้อ่านเรื่องราวอย่างใส่ใจมากขึ้น ก็จะตระหนักได้ว่า ความไม่ไยดีและการกดขี่ของรัฐบาลเป็นต้นตอสำคัญอย่างหนึ่งของความทุกข์ยากที่ประจักษ์ จะตระหนักได้ว่าผู้ที่อ้างว่าตนปกปักรักษาพลเมืองนั่นแหละที่เป็นผู้รังแกมากกว่าใคร  ในเรื่องสั้นเรื่องเดียวกันนั้น ลูกชายของตัวละครเอกกำลังไล่จับเขียดขาทองคำ—ซึ่งเป็นของกินที่หายาก—แต่กลับถูกงูเห่ากัดเสียก่อน เมื่อตอนที่ผู้พ่อกำลังพยายามช่วยชีวิตลูกทุกวิถีทาง ก็มีคำสั่งจากทางการให้หัวหน้าครัวเรือนไปรับเงินช่วยเหลือพอดี

“จะไปได้ยังไง ลูกจะตายแหง็บๆ อยู่ ไม่เห็นรึ?” เขาพูดอย่างเจ็บแค้น
“มันจะเป็นไรไปวะ? มดหมอออกมากมาย ต่างก็เคยรักษากินบ้านกินเมืองมาแล้วทั้งนั้น”
“ไปซีอ้ายบ้า ตั้งสองร้อยบาทเทียวนะ เกิดมามึงเคยมีรึ? เงินสองร้อยน่ะ”
“พูดมันเสียมันเถอะ” อีกคนพูด “ถ้ามันเกิดมีอันเป็นถึงล้มถึงตายก็เลยจะชวดเท่านั้นเอง”
“ไม่ไป๊ ไม่ไป” เขาเอ็ดตะโร “ลูกนอนหายใจปะหงับๆ อยู่ ยังจะมาบอกให้ไป วันอื่นมันทำไมไม่จ่าย? จริง เงินสองร้อยบาทแต่เกิดมาก็ไม่เคยมี แต่กูไม่ไป ข้าไม่ไป”
“ตะราง” อีกคนหนึ่งพูด “ถ้าไม่ไปมันก็ตะรางเท่านั้นเอง มีหรือจะขัดเจ้าขัดนาย เขาให้ต้องเอา ไม่เอาก็ตะราง”[5]

แทนที่ว่าการแบ่งทรัพยากรและการจัดสวัสดิการของรัฐบาลจะอำนวยให้พลเมืองกับรัฐขยับเข้ามาใกล้และเท่าเทียมต่อกันมากขึ้น กลับกลายเป็นคำบัญชาของผู้ทรงเมตตา อันผู้น้อยไม่อาจจะขัดขืนได้ คำสั่งให้ “รับ” ของกำนัลใดๆ ที่รัฐบาลอุตส่าห์ประทานลงมาให้ ก็ไปพ้องกับเรื่องสั้น “เพิ่นปันดินดอนให้เฮาแล้ว” ของรูลโฟอีก เรื่องซึ่งตัวละครถูกคาดหวังให้รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณต่อรัฐบาลหลังการปฏิวัติเม็กซิกัน ที่อุตส่าห์มอบที่ดินตั้งมากมายให้ ซึ่งเป็นที่ดินที่แห้งแล้ง ทำการเพาะปลูกไม่ได้ ไม่มีฝนตกลงมาแม้หยดเดียว ถึงขนาดฝุ่นที่ลอยฟุ้งก็นับว่าให้ความรู้สึกสดชื่นได้ฉะนั้น... เรื่อง “เขียดขาคำ” ดำเนินต่อไปว่า

เขารู้สึกใจเสียเมื่อได้ยินคำว่าตะรางบ่อยๆ แต่ก็ยังแข็งใจพูด
“ตะรางตะเริงที่ไหนก็บอกไม่เอา ไม่เอา ลูกจะตายทั้งคนจะทิ้งไปได้ยังง้าย?” เขาขึ้นเสียง “ไม่ไป ไม่ไป” เขาย้ำอีก
“ไปเสีย อย่าขัดทางการเขา เราเป็นราษฎร” หันไปก็พบผู้ใหญ่บ้านยืนหน้าขรึมอยู่ข้างๆ เสียงเขาแหบแห้งลงทันที
“ถ้าไม่ไป โทษถึงตะรางจริงหรือ?” เขาถาม
“แน่นอน” ผู้ใหญ่บ้านพูดขึงขัง “บางทีถึงจำตลอดชีวิต”[6]

การใช้คำว่า “ราษฎร” แต่ใช้ในความหมายว่าเป็น “ข้าไพร่” ไปพ้องกับตัวละครตัวหนึ่งในเรื่อง “บักนั่น” ของฆวาน รูลโฟ ตัวละครนั้นเป็นคนเลี้ยงแพะซึ่งถูกเจ้าหน้าที่รัฐสืบสวนเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมที่เขาเองไม่ได้ทำอะไรผิด ในตัวบทของเรื่องนี้ คนเลี้ยงแพะเรียกเจ้าหน้าที่รัฐด้วยสรรพนาม “ญาท่าน” (el señor licenciado) ส่วนตัวเขาเองก็ต้องถ่อมตนแสดงความเขลาออกมาสุดฤทธิ์ด้วยความกลัวที่จะถูกโยนเข้าคุก “ผมเป็นคนเลี้ยงแกะ เรื่องอื่นกะบ่ฮู้ดอกครับ”[7] ประโยคนี้แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ถูกเรียกว่า “ความโง่เขลา” ของคนชายขอบ อันที่จริงแล้วถูกผลิตขึ้นมาผ่านการปฏิสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐผู้แสร้งทำเป็นเมตตา แต่มือหนึ่งก็ถือไม้กายสิทธิ์ที่อาจชี้เป็นชี้ตายชีวิตของคนคนหนึ่งได้ แล้วใครยังจะมาโทษความงมงาย!

พูดได้ว่า ทั้งฆวาน รูลโฟ และลาว คำหอม ทำให้ผู้อ่านสะอึกอึ้งได้ถึงสภาพที่รัฐไม่นำพาต่อประชาชน และยิ่งไปกว่านั้นคือรัฐไม่ยอมแม้ให้ประชาชนเป็นเจ้าของชีวิตของเจ้าของ

การได้เห็นตัวเองในคนอื่น และคนอื่นในตัวเอง—การได้ตระหนักว่าเรามีอะไรร่วมกันมากพอที่จะสื่อสารกัน—นั่นคือจุดเริ่มแรกที่ทำให้ฉันกลายเป็นนักแปล

ทำไมนะทำไม ฉันถึงไม่เคยได้อ่านเรื่องเล่าของรูลโฟมาก่อนเลย แม้แต่ในฉบับแปลภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ไม่เคย?

แน่ละ ฉันไม่ใช่คนแรกจากประเทศไทยที่ได้รู้จักฆวาน รูลโฟ อันที่จริงแล้ว Pedro Páramo ถูกแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาไทยมาแล้วถึงสามฉบับ ครั้งแรกเมื่อปี 1980 ครั้งหลังเมื่อปี 2000 [ฉบับที่สามแปลออกมาหลังการเขียนเรียงความชิ้นนี้] แต่ทั้งสองฉบับก็แปลจากฉบับภาษาอังกฤษ และทั้งสองฉบับก็นำเสนอรูลโฟว่าเป็นต้นธารของงานเขียนแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ อันเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ลดความสำคัญของบริบทเฉพาะของเม็กซิโกลงไป ผู้อ่านชาวไทยได้รู้จักรูลโฟผ่านการถูกสื่อสารหลายต่อ ไม่ว่าจะเป็นฉบับแปลภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นการนับงานของรูลโฟไว้ภายใต้ฉลากของ “แมจิคัลเรียลลิสซึม” ซึ่งได้รับความนิยมกันขึ้นมายกใหญ่ในตลาดหนังสือสหรัฐอเมริกา

สิ่งที่ฉันเพรียกหาคือการสื่อสารทางตรงระหว่างฆวาน รูลโฟ และวรรณกรรมไทยภาคอีสาน ทำไมเล่า? ท่านอาจถาม ก็เพราะว่าเรื่องสั้นของรูลโฟเป็นงานที่มีความเป็นสากล โดยสามารถคงความจำเพาะเจาะจงเรื่องชนชั้นและบริบทเฉพาะของเม็กซิโกได้  เพราะว่ารูลโฟเอาภาษาพูดของคนต่างจังหวัดมากลั่นกรองจนตกผลึกเป็นรูปแบบทางวรรณกรรม ซึ่งแวววาวและคงทนอย่างที่ฉันไม่เคยพบเจอมาก่อน  ด้วยเหตุเหล่านี้ รูลโฟสามารถช่วยให้นักเขียนและศิลปินในภูมิภาคบ้านเกิดของฉันเห็นหนทางรังสรรค์งานที่รุ่มรวยยิ่งขึ้น น่าจะช่วยให้พวกเราทั้งหลายที่พยายามเปล่งเสียงออกมาโดยไม่ต้องไปประสานกับแบบศูนย์กลางของชาติ สามารถทำเช่นนั้นได้จริง ตามครรลองประวัติศาสตร์ ภาษา และอนาคตที่เป็นตัวของตัวเอง

คิดได้ดังนี้ฉันจึงพยายามแปลเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของรูลโฟเป็นภาษาลาว ซึ่งเป็นภาษาที่ประชาชนส่วนใหญ่ในภาคอีสานพูดเป็นภาษาแม่ แต่กลับไม่ถูกนับรวมไว้ในหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ แม้ว่าจะมีการเรียกภาษานี้ว่า “ภาษาอีสาน” หรือบางแห่งก็ “ภาษาไทยอีสาน” สถานะของมันในฐานะภาษาถิ่นของประเทศไทยก็ยังต่ำต้อยกว่าภาษามาตรฐานอยู่นั่นเอง เนื่องจากประชาชนชาวอีสานเราถูกสอนเฉพาะตัวอักษรไทยมาตรฐาน แต่ไม่ถูกสอนให้รู้ตัวลาว หรือตัวไทยน้อย หรือตัวธรรม ฉันจึงใช้ตัวอักษรไทยมาตรฐานในการแปล  แต่ถึงกระนั้นการแปลของฉันก็ไม่ยึดถือเอาตามมาตรฐานการเขียนภาษาไทยไปเสียหมด โดยในหลายจุดสะกดคำแบบลาวแทนที่จะเป็นแบบไทยบ้าง หรือใช้คำลาวแทนคำไทยบ้าง

เรื่องสั้นเรื่องนั้นคือ “หน้าด่านไปเหนือ” ซึ่งเล่าผ่านบทสนทนาระหว่างชายหนุ่มกับพ่อเฒ่า ฉากของเรื่องคือโลกของคนยากจากชนบทเม็กซิโกสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ชายหนุ่มจำนวนมหาศาลต้องข้ามแม่น้ำจากเม็กซิโกไปยังฝั่งสหรัฐอเมริกาเพื่อไปหางานและหาเงินที่ฝืดเคืองในภูมิลำเนา ผู้เป็นพ่อแนะให้ลูกชายอยู่ที่เก่า ต่อว่าเขาว่าเป็นคนเกียจคร้านไม่รู้จักทำมาหากิน  ต่างฝ่ายต่างก็ระบายความน้อยอกน้อยใจที่อีกฝ่ายทอดทิ้งตน ในที่สุด ผู้พ่อก็ยอมช่วยดูแลลูกเมียของลูกชายช่วงที่เขาจะไม่อยู่ บทสนทนาระหว่างพ่อลูกขาดช่วงไปจนกระทั่งลูกชายกลับมามือเปล่า มาเล่าเรื่องโศกนาฏกรรมที่เกิดตอนพยายามว่ายข้ามพรมแดน

การแปลเรื่องนี้ ฉันมีเพื่อนคู่คิดเป็นทฤษฎีการแปลของจอร์จ สไตเนอร์ นักทฤษฎีวรรณกรรม จากข้อความตอนหนึ่งที่สาธยายถึง “hermeneutic motion” หรือ “ลีลาทางอรรถปริวรรตศาสตร์” ในหนังสือชื่อ After Babel  สไตเนอร์นำเสนอการแปลว่าเป็นกิจกรรมของการตีความ หลักสำคัญของทฤษฎีนี้คือจริยศาสตร์ของมัน นั่นคือข้อกำหนดที่ว่า ผู้ตีความที่ไปเอาของจากต่างแดนมา ควรจะให้อะไรบางอย่างเป็นการตอบแทน

“ลีลาทางอรรถปริวรรตศาสตร์” เริ่มด้วยความไว้วางใจของนักแปล ผู้ยอมจำนนต่อฤทธานุภาพของงานต้นฉบับ จากนั้นจึงเคลื่อนเข้าสู่การรุกล้ำ ซึ่งนักแปลทะลุทะลวงเข้าไปใน ต่างแดนเพื่อสกัดเอาความหมายออกมา หลังจากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนการรับเข้ามาใส่ตัว ซึ่งภาษาและวัฒนธรรมที่รับงานแปลนั้นๆ เลือกว่าจะรับหรือจะปฏิเสธสิ่งที่เป็นของนอกต่างๆ และในที่สุดกิจกรรมการแปลก็เข้าสู่จุดสมดุลในขั้นที่เรียกว่าการชดใช้คืน

ในขั้นตอนของกิจกรรมการแปลทั้งสี่ขั้นที่ว่ามานี้ ขั้นตอนที่สองและสาม—การรุกล้ำและการรับเข้ามาใส่ตัว—มีนัยยะของความรุนแรง มีการคัดง้างกันระหว่าง “ของใน” กับ “ของนอก” เป็นเกมชักเย่อระหว่างการรับเข้ามาเป็นของตนกับการบอกปัดปฏิเสธ ทว่าความสมดุลในขั้นตอนสุดท้าย ก็บ่งบอกว่าภาษาปลายทางและวัฒนธรรมปลายทางพบจุดดุลยภาพกับภาษาและวัฒนธรรมต้นทาง ขั้นตอนสุดท้ายนี้แหละที่ชี้แนวทางการแปลในฐานะเป็นกิจกรรมเชิงจริยธรรม นั่นคือ นักแปลมีหน้าที่ต้องคืนสมดุลกลับเข้าไปอีกครั้งหลังการปล้นสะดมที่ตนได้ก่อกับงานต้นฉบับ

นักแปล, นักอรรถาธิบาย, นักอ่านจะนับได้ว่าตนซื่อสัตย์ต่อตัวบทของเขา ว่าตนมีความรับผิดชอบอยู่ในเนื้องานอันเป็นคำตอบของเขา (makes his response responsible) ก็ต่อเมื่อเขาได้อุตสาหะพยายามที่จะถ่ายคืนสมดุลของแรง ของการปรากฏตัวอันเป็นหนึ่ง ซึ่งได้แตกเป็นเสี่ยงๆด้วยน้ำมือของการตีความและการทำความเข้าใจของผู้ที่มุ่งหมายจะผนวกตัวบทมาเป็นของตน[8]

สไตเนอร์นำแนวคิดของมานุษยวิทยาแนวโครงสร้างนิยมมาช่วยอธิบายโดยพิสดารมากขึ้นว่า “ความซื่อสัตย์เป็นเรื่องเชิงจริยธรรม แต่ก็เป็นเรื่องเชิงเศรษฐกิจด้วย”

โดยอุดมคติแล้ว มีการแลกเปลี่ยนที่ปราศจากการสูญเสียอยู่ … ตัวแบบที่ใช้อธิบายหลักการข้อนี้ก็คือ Anthropologie structurale ของเลวี-สโตรส ซึ่งพิจารณาโครงสร้างสังคมว่าเป็นความพยายามที่จะเข้าสู่ดุลยภาพท่ามกลางความเคลื่อนไหว (dynamic equilibrium) ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยการแลกเปลี่ยนถ้อยคำ สตรี และสิ่งของ  การจับเชลยศึกย่อมเรียกร้องให้เกิดการชดเชยตามมา ดุจเดียวกัน การเปล่งถ้อยคำก็ต้องการคำขานตอบ การแต่งงานนอกเผ่าและการแต่งงานในเผ่าต่างก็เป็นกลไกเพื่อให้กระแสการรับ-ส่งเสมอกัน ... งานแปลชิ้นหนึ่งๆ เป็นกิจกรรมของการทำรายการบัญชีคู่ระหว่างหนังสือสองเล่ม และนี่มิใช่เพียงโวหารเปรียบเปรย กล่าวอีกแบบก็คือ ยอดรวมด้านเดบิตและด้านเครดิตในหนังสือทั้งสองต้องเท่ากันทั้งทางรูปแบบและทางศีลธรรม (both formally and morally the books must balance) [9]

นี่ก็หมายความว่า การแปลในอุดมคติจะหักลบความไม่สมดุลทางอำนาจระหว่าง “พวกเรา” ที่เป็นของไทยกับ “พวกเขา” ที่เป็นของเทศ  จนถึงจุดที่ทั้งสองฝ่ายยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ ติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน โดยที่ทั้ง “พวกเรา” และ “พวกเขา” ไม่มีฝ่ายใดสูญเสียอำนาจอธิปไตยเหนือตนเอง

ฉันขอยกตัวอย่างของ “การชดใช้คืน” ให้ท่านได้เข้าใจอย่างเป็นรูปธรรมดู ในการแปลเรื่องสั้น “หน้าด่านไปเหนือ” ฉันได้พยายามให้ความยุติธรรมแก่ทั้งตัวงานต้นฉบับภาษาสเปนและตัวภาษาปลายทางคือภาษาลาวอีสาน  การที่ฉันสวมรอยเอาตัวบทเข้ามาเป็นของตน ด้วยการแอบอ้างว่าเรื่องราวนี้สามารถกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรมไทยภาคอีสานได้ ย่อมจะมีส่วนกำหนดการรับสารในงานต้นฉบับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะบอกว่าบิดเบือนก็ได้  แต่ถ้าจะใช้คำว่า “บิดเบือน” เป็นข้อกล่าวหา ฉันก็อาจถามกลับได้เช่นกันว่า หากแปลงานของรูลโฟเป็นภาษาไทยมาตรฐานตามที่สอนกันในหนังสือเรียน มันจะมิใช่การหักหลังตัวงานหรอกหรือ?

การซื่อสัตย์ต่อตัวบท ตามความหมายของจอร์จ สไตเนอร์แล้ว มิได้ขึ้นกับความแม่นยำของการแปลตรงตัวคำต่อคำ และก็มิได้ขึ้นกับความไม่คลาดเคลื่อนความต่อความของสารที่จะสื่ออย่างในการแปลแบบเก็บความ ความซื่อสัตย์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อนักอ่าน/นักแปล “มีความรับผิดชอบอยู่ในเนื้องานอันเป็นคำตอบของเขา” เท่านั้น  ความรับผิดชอบที่ว่านี้วัดได้จากการที่งานแปลหนึ่งๆสามารถ “ทำให้ความดีความงามในตัวเองของตัวงานต้นฉบับปรากฏขึ้นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น” ได้หรือไม่ และวัดได้จากการที่งานแปลนั้นสามารถ “บอกใบ้ได้ว่าตัวบทต้นทางมีสิ่งทรงศักยภาพ มีขุมพลังแร่ธาตุ ที่ซึ่งตัวบทต้นฉบับเองก็ยังมิได้ทำให้ปรากฏจริง”[10]

ฉันใช้อยู่สองวิธีการเพื่อจะได้มาซึ่งความซื่อสัตย์ในงานแปล  วิธีการแรก ฉันเพิ่มเชิงอรรถเพื่ออธิบายเรื่องประวัติศาสตร์การย้ายถิ่นแรงงานในโครงการบราเซโรซึ่งเป็นโครงการระหว่างรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกเพื่อหาแรงงานภาคเกษตรกรรมและการรถไฟในสหรัฐอเมริกา เพื่อทดแทนภาวะขาดแคลนแรงงานช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในเชิงอรรถฉันจัดวางเรื่องเล่าของรูลโฟไว้ตรงเมืองชายแดนทั้งสองฝั่งคือ ซิวดาดฆวาเรส มลรัฐชิวาวา กับเอลปาโซ มลรัฐเท็กซัส เพื่อจะย้ำเตือนให้ผู้อ่านชาวไทยไม่ลืมว่าเรื่องแต่งพากย์อีสานเรื่องนี้หยั่งรากอยู่ที่อื่น ก่อรูปขึ้นมาจากสถานที่อื่น

ผู้อ่านคนแรกของงานแปลฉบับร่าง ซึ่งเป็นคนอีสานที่พูดภาษาลาวเป็นภาษาแม่ ตั้งข้อสังเกตว่าตอนจบของเรื่องชวนให้นึกถึงชะตากรรม “ไปเสียนา มาเสียเมีย” ของชายหนุ่มชาวอีสานมากมายที่ไปเสี่ยงโชคที่ซาอุดิอาระเบีย แต่แล้วก็ไม่เพียงกลับมามือเปล่าแต่ยังต้องติดลบ  เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่เรื่องแต่งสัญชาติเม็กซิกันสามารถทำให้เรานึกถึงเพื่อนร่วมประเทศของเราเองได้ แต่หากฉันพอใจที่จะจบ ณ จุดนั้น ก็เท่ากับว่าการแปลหยุดอยู่ที่ขั้นตอนที่สาม คือการรับเข้ามาเป็นของตน ยังไปไม่ถึงขั้นตอนของการชดใช้คืน  ฉะนั้นแล้ว การใส่เชิงอรรถดังกล่าวจึงเป็นการคืนสมดุลให้แก่ฝ่ายวัฒนธรรมต้นฉบับ โดยมิได้ปิดกั้นการอ่านตามแต่จะตีความกันไปได้ การใส่เชิงอรรถนี้มิได้เพิกถอนความชอบธรรมของการเปรียบเทียบกับคนอีสานที่ไปซาอุฯ แต่อย่างใด  นี่แหละคือการแลกเปลี่ยนโดยปราศจากการสูญเสีย

วิธีการที่สอง ฉันแปลตัวบทให้เป็นภาษาถิ่นที่เป็นภาษาพูด ทำเช่นนี้ก็ด้วยความหวังว่าจะทำให้สิ่งทรงศักยภาพของตัวบทได้เกิดปรากฏให้เห็นจริง ซึ่งตัวบทต้นฉบับเองก็มีการใช้ตัวสะกดเลียนแบบภาษาปาก ไม่เป็นไปตามมาตรฐานภาษาสเปน (เช่น naide แทนที่จะเป็น nadie, ónde แทนที่จะเป็น dónde, güevo แทนที่จะเป็น huevo) และยังมีการใช้สำนวนภาษาที่แม้แต่คนเม็กซิกันเองก็ยังต้องพยายามแกะความหมาย (ดังเช่น “Andar por los caminos enseña mucho. Restriégate con tu propio estropajo, eso es lo que has de hacer” [11]) ฉันเชื่อว่าหนทางเดียวที่จะให้ความยุติธรรมแก่ฤทธานุภาพของตัวบทต้นฉบับได้ ก็ด้วยการแปลมันเป็นภาษาพูดที่แตกต่าง แทนที่จะใช้ภาษาไทยมาตรฐานที่คนอ่านชาวไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย

ไม่เพียงเท่านั้น การชดใช้คืนยังเกิดขึ้นในตัวคนแปลอย่างฉันด้วย การง่วนกับงานแปลชิ้นนี้ก็ทำให้ฉันได้ค้นพบชุมชนของฉันเอง และได้ “ค้นพบ” ภาษาของตัวฉันเองด้วย

นับเป็นเวลาห้าปีที่ฉันได้ใช้ชีวิตอยู่ต่างแดนจนกระทั่งเรียนจบและกลับมาที่ประเทศไทย แต่ยิ่งอยู่ไกลบ้านเท่าไร ฉันก็ยิ่งเกิดความสนใจอยากเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิภาคที่ฉันจากมาขึ้นมากเท่านั้น  ฉันได้ตะลุยอ่านงานขึ้นหิ้งวรรณกรรมจากภาคอีสาน ฉันฝึกพูดภาษาลาวอีสานจนคล่องปาก จากที่ก่อนหน้านั้นฟังได้อย่างเดียว พูดไม่ได้  นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่การแปลเรื่อง “หน้าด่านไปเหนือ” ให้เป็น “ภาษาถิ่นเกิด” เป็นเรื่องยาก เพราะมันไม่ชัดเจนนักว่า “ภาษาถิ่นเกิด” ของฉันคือภาษาใด

กว่างานแปลจะเสร็จพอส่งได้ ก็ต้องแก้อีกเจ็ดแปดร่าง มีคนช่วยอ่านอีกเจ็ดแปดคน แต่ระหว่างนั้นฉันก็รู้สึกว่าได้เข้าใกล้เสียงของตัวเองมากขึ้น  ฉันเลือกทำงานอย่างใกล้ชิดกับที่ปรึกษาสองคนผู้ถนัดพูดภาษาลาวมากกว่าฉัน และเราช่วยกันแปลงภาษาพูดให้กลายเป็นภาษาที่ปรากฏในงานวรรณกรรม ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มความรุ่มรวยให้กับภาษาพูดของพวกเราไปในตัว  ประสบการณ์การแปลนี้ทำให้ฉันรู้สึกยืนอยู่ได้อย่างหนักแน่นและมีความมั่นใจยิ่งขึ้นบนดินดอนของตัวเอง พร้อมกันกับที่ผลงานของรูลโฟได้ถูกเผยแพร่อย่างสัตย์ซื่อ มาแตกหน่อทอยอด ณ อีกซีกโลก

ด้วยวิธีดังนี้ ฉันจึงสามารถลากเส้นเชื่อมโยงใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น พร้อมกับที่ฉันสลัดตัวออกจากกรอบการสร้าง-เสพ-และตัดสินวรรณกรรมที่มีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง  ฉันสามารถลัดวงจรการผลิตและการบริโภคดังที่เป็นอยู่ในช่องทางของระบอบที่มีอำนาจนำ เพื่อให้ภาคหรดีของเม็กซิโกได้สบตากันตรงๆ กับภาคอีสานของไทย

การได้แปลเรื่องสั้นหลายๆ เรื่องของฆวาน รูลโฟ ได้ช่วยให้ฉันเห็นความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมต่อ “พวกเรา” กับ “พวกเขา” มากขึ้นกว่าเดิม  ฉันเสนอว่าทฤษฎีของจอร์จ สไตเนอร์เกี่ยวกับการแปลวรรณกรรม สามารถยกมาคิดต่อยอดเกี่ยวกับเรื่องสำนึกเป็นปึกแผ่นได้  คำถามที่จะนำทางเราไปคือ “การชดใช้คืน” นอกเล่มวรรณกรรมนั้นมันมีหน้าตาอย่างไรกัน?

III. ก่อสร้างสำนึกเป็นปึกแผ่น แพร่สายพันธุ์โอเบ็นติก

ในช่วงเวลาหลายสัปดาห์ที่ฉันอยู่ในเขตปกครองตนเองซาปาติสต้าในมลรัฐเชียปัส สิ่งหนึ่งที่จำได้ชัดเจนที่สุดคือวิดีโอคลิปที่เล่าเรื่องโอเบ็นติก อันเป็นหนึ่งในห้าฐานที่มั่นสำคัญปัจจุบันของชุมชนผู้สนับสนุนขบวนการซาปาติสต้า วิดีโอนั้นชื่อว่า Oventic Construyendo Dignidad (“โอเบ็นติก เรื่องราวการก่อร่างสร้างศักดิ์ศรี”) ถ่ายทอดเรื่องราวการก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติการชุมชนที่โอเบนติกในปี 1995 ด้วยน้ำพักน้ำแรงของชนพื้นเมือง ช็อตหนึ่งมีจอบฟันหินเป็นก้อนเล็กก้อนน้อย อีกช็อตหนึ่งมีกำปั้นชูขับไล่กองทัพที่มาตระเวนเพื่อข่มขวัญ  ตอนหนึ่งของสารคดีที่ประทับใจฉันมากที่สุดฉายภาพรถทหารหลายสิบคันยาตราไปบนถนนภูเขาเส้นที่ตัดใหม่เพื่อการนี้โดยเฉพาะ  หญิงชายตั้งแต่เด็กจนแก่ยืนหน้ากระดานแขนไขว้กัน พากันตะโกน “¡fuera el pinche ejército! [ออกไปสา บักกองทัพหน้ามึน!]” ใส่รถติดกระสุนและพลทหารกระชับปืนและกล้องวิดีโอ  บนหน้าจอสารคดีมีตัวหนังสือสาธยายคุณสมบัติของยานเกราะแต่ละเครื่อง พร้อมบอกผู้ชมด้วยว่าชิ้นส่วนประกอบและเทคโนโลยีมาจากที่ใด

ป้อมปืนรถถัง ลิ้งซ์ 90

ผู้ผลิต: บริษัทอิสปาโน-สวิสซา (ฝรั่งเศส)

พร้อมปืนกลร่วมแกนลำกล้อง 7.62

รถหุ้มเกราะรุ่น MAC-1 ยี่ห้อไคร้สเลอร์ (สหรัฐอเมริกา)

ป้อมปืนติดปืนใหญ่ – 20 มม.

ระบบขับเคลื่อน 4 x4  พลรถหุ้มเกราะ – 4

การผลิตครบวงจรแบบพิเศษสำหรับเม็กซิโก

สเปน-สวิส, ฝรั่งเศส, สหรัฐอเมริกา, เม็กซิโก ตัวหนังสือบนจอเปิดโปงให้ประจักษ์ว่าแสนยานุภาพความรุนแรงของกองทัพเม็กซิโกเป็นไปได้ก็ด้วยความร่วมมือเป็นปึกแผ่นของนานาชาติด้านเทคโนโลยีการทหารนั่นเอง

รถทหารเหล่านี้เป็นประจักษ์พยานต่อข้อเท็จจริงที่ว่าระบอบอำนาจนิยมทำงานแบบนานาชาติ—และไม่เพียงเพื่อการผลิต-ลำเลียง-แพร่กระจายรถถังและอาวุธเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเผยแพร่วิธีการทารุณกรรม ดังเช่นวิธีการทรมานที่องค์การซีไอเอเคยใช้กับผู้ต้องสงสัยคดีก่อการร้ายอยู่ตามสถานที่คุมขังแบบปิดลับที่มีอยู่รอบโลก[12]  การสร้างทางหลวงตัดผ่านภูเขาขึ้นไปถึงโอเบ็นติกนี้ ดูจะเป็นตัวอย่างอันดีสำหรับคำเตือนที่นักประวัติศาสตร์ความคิด เดวิด เอ. ฮอลินเจอร์ ได้กล่าวไว้ว่า “ถ้าคุณไม่ยอมรับมือต่อกรกับโลกให้มากเท่าที่จะทำได้ในยกนี้ ยกหน้าโลกจะมาเคาะประตูบ้านคุณ และด้วยกติกาที่คุณจะมีอำนาจควบคุมได้น้อยยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาเสียอีก”[13]

ชาวซาปาติสต้าร้องตอบด้วยการทำให้ความร่วมมือร่วมใจเป็นปึกแผ่นกลายเป็นเรื่องระดับนานาชาติ ด้วยสโลแกน desde abajo y a la izquierda  สร้างสำนึกเป็นปึกแผ่นจากด้านล่างและทางซ้าย

ชาวซาปาติสต้าเล็งเห็นว่าพวกเขาจะอยู่รอดและดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในฐานะชนพื้นเมืองได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาก่อสร้าง “พวกเรา” ที่ใหญ่กว่าพวกเขาเอง  นับแต่การจัดงาน “การพบปะนานาทวีปสำหรับมนุษยชาติและต่อต้านระบอบเสรีนิยมใหม่” เมื่อปี 1996 จนกระทั่ง “La Otra Campaña” การรณรงค์สร้างเครือข่ายชุมชนผู้ต่อต้านจากด้านล่างและทางซ้ายคู่ขนานกับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีเม็กซิโกเมื่อปี 2005 ชาวซาปาติสต้ายื่นมือไปหาชาวโลก  แต่ตลอดระยะเวลาเหล่านั้น พวกเขาก็ช่วยกันก่อสร้างโอเบ็นติกต่อไป  ปัจจุบันนี้โอเบ็นติกเป็นสถานที่ว่าการของรัฐบาลดี (ซึ่งเรียกคู่ขนานไปกับ “รัฐบาลเลว” หรือรัฐบาลเม็กซิโก) ของขบวนการซาปาติสต้า โอเบ็นติกมีโรงพยาบาลขนาดย่อม ที่ได้รับบริจาคอุปกรณ์การแพทย์และยาจากองค์กรนานาชาติ มีสหกรณ์คนงานสตรี มีโรงเรียนมัธยมที่เปิดทำการสำหรับคนพื้นเมือง และมีโรงเรียนสอนภาษา Bats'il K'op (ภาษาพื้นเมืองของชาว tzotzil) และภาษาสเปนสำหรับผู้มาเยือนอย่างฉัน

แต่ก็ใช่ว่าจะฟ้าใสไร้ภัยพาล เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพยังโฉบเหนืออาณาเขตปกครองตนเอง กลุ่มกึ่งทหาร (paramilitary) ยังคงสร้างความแตกแยกและพยายามขยายอิทธิพลในชุมชน บริษัทใหญ่มือยาวยังพยายามเข้าหาประโยชน์จากแหล่งน้ำและสิ่งมีชีวิตในป่าเขา และกลุ่มของรัฐบาลก็ยังพยายามซื้อที่ดินล้อมเขตปกครองตนเองอย่างโอเบ็นติกอยู่

ฉันได้ใช้โอกาสที่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มนักศึกษาที่ไปเรียนรู้ที่โอเบ็นติกผ่านโปรแกรม “เครือข่ายความเป็นปึกแผ่นกับเม็กซิโก” (Red de solidaridad con México) เป็นส่วนเล็กๆ ของโครงการสร้างโลกที่โอเบ็นติก ด้วยการวาดรูปแต้มฝาผนังซึ่งฉันเป็นผู้ออกแบบ ภาพนั้นจำลองแผนที่ของโอเบ็นติกลงมาเป็นรูปหอยทากที่จุหอยทากได้อีกมากตัว (ซึ่งเล่นล้อกับสโลแกนของซาปาติสต้าที่ว่าเป้าหมายของพวกเขาคือจะสร้างโลกที่จุโลกได้มากใบ) หอยทากยังเชื่อมโยงกับตำนานของชนพื้นเมืองชาวมายา ซึ่งในอดีตเคยใช้ก้นหอยเป็นเครื่องมือเรียกขานผู้คนในชุมชนให้มาชุมนุมกัน[14] คำว่า “caracol” จึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของที่ทำการปกครองตนเองแบบธรรมาภิบาล โอเบ็นติกเป็นหนึ่งในห้า “ก้นหอย” ที่ทำการของชุมชนปกครองตนเอง  ดังที่รองผู้บัญชาการมาร์โกสเขียนไว้ในท่อนแรกของ “ศิลาจารึกแผ่นที่สิบสาม” (La treceava estela) ว่า

…ไทเพิ่นเว้ากันหม่องนี่ว่าผู้เฒ่าผู้แก่เว้าว่าบรรพบุรุษย้อนขึ้นไปอีกเคยเว้าว่าไทผู้ตำอิดตำก่อของดินแดนนี้มีควมฮักแพงฮูปทรงก้นหอย เพิ่นเว้าว่าเพิ่นเว้าว่าเพิ่นเคยเว้าว่าหอยคือสิ่งแทนการเข้าไปในดวงใจ ซึ่งนี่คือคำที่ไทผู้ตำอิดตำก่อเท่าที่ฮู้กันเคยเว้าไว้  และเพิ่นเว้าว่าเพิ่นเว้าว่าเพิ่นเคยเว้าว่าหอยนี่ยังเป็นสิ่งแทนการออกจากดวงใจเพื่อเทียวทางโลก ซึ่งนี่คือคำที่ไทผู้ตำอิดใช้เอิ้นชีวิต และยังบ่เหมิดท่นั้น เพิ่นเว้าว่าเพิ่นเว้าว่าเพิ่นเคยเว้าว่าหอยนี่ยังถืกใช้เอิ้นกลุ่มคนที่มาตุ้มโฮมกันเพื่อให้คำออกมาจากผู้หนึ่งไปหาอีกผู้หนึ่งจนควมเห็นพ้องต้องกันได้บังเกิด  แล้วเพิ่นกะเว้าว่าเพิ่นเว้าว่าเพิ่นเคยเว้าว่าหอยยังเป็นโตซ่อยให้ประสาทหูได้ยินฮอดคำที่อยู่ไกลออกไปที่สุด

ช่วยให้โสตประสาทได้ยินถึงถ้อยคำที่อยู่ไกลออกไปที่สุด... แม้ว่าคำนั้นจะเปล่งมาจากคนละฝั่งโลกก็ยังได้ยิน ข้อความที่ยกมานี้ยังชี้ชวนให้คิดต่อว่าสำนึกเป็นปึกแผ่นอาจมิได้หมายถึงการเชื่อมต่อข้ามระยะทางห่างไกลทางภูมิศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังอาจหมายถึงระยะทางห่างไกลของกาลเวลาด้วย  การรับรู้ถึงความหมายของ “ก้นหอย” เป็นไปได้ก็ด้วยการเล่าเรื่องต่อกันมาเป็นทอดๆ จากรุ่นสู่รุ่น ย้อนหลังไปจนถึงบรรพบุรุษรุ่นแรกของมนุษยชาติ ความร่วมมือร่วมใจแผ่ตัวไปในระนาบพื้นที่และสายใยเวลา อดีตกาลเป่าลมหายใจชีวิตเข้าสู่ปัจจุบัน

Caracol ในความหมายของหอยทาก ยังมีนัยยะของการค่อยๆ คืบคลานไปของการสร้าง
สำนึกเป็นปึกแผ่น poco a poco ทีละเล็กทีละน้อย ฮูปแต้มที่ฉันออกแบบได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพลงเกี่ยวกับโอเบ็นติก ขึ้นท่อนแรกว่า “ตอนนี้ฉันใช้ชีวิตนอกโอเบ็นติกไม่ได้เสียแล้ว เพราะสิ่งที่ฉันชอบเหลือเกินคือการได้ก่อสร้าง”...

...ข้อยอยู่ไสบ่ได้แล้วเว้นแต่โอเบ็นติก
ญ้อนว่าบัดนี้ข้อยมักแปงมักสร้างอีหลี

คันรัฐบาลชั่วอยากกำจัดเฮาไปจากพี้
เฮาซิเฮ็ดให้โอเบ็นติกขยายไปทั่วทีป
ข้อยบ่ญอมออกไปจากพี้
พร้อมซิสู้อยู่ทุกนาที...

ข้อยอยู่ไสบ่ได้แล้วเว้นแต่โอเบ็นตี้...อีก
ญ้อนว่าบัดนี้ข้อยมักแปงมักสร้างอีลี่...อี่
และคันรัฐบาลซั่วอยากกำจัดหมู่เฮาจากพี่...อี่
เฮาซิเฮ็ดให้โอเบ็นติกขยายไปทั่วที่...อีป

โอเบ็นติก สร้างโอเบ็นติก
มีตื่มอีก หลายโอเบ็นติก...
โอเบ็นติก สร้างโอเบ็นติก
มีตื่มอีก หลายโอเบ็นติก…

Ya no puedo vivir fuera de Oventik
Porque lo que a mí me gusta es construir

Y si el mal gobierno nos quiere destruir
Haremos en todas partes más Oventik
No me voy fuera de aquí
Siempre listo a combatir…

Ya no puedo vivir fuera de Oventik
Porque lo que a mí me gusta es construir

Y si el mal gobierno nos quiere destruir
Haremos en todas partes más Oventik
Oventik, más Oventik
Siempre muchos Oventik…

Oventik, más Oventik
Siempre muchos Oventik…

[ฮูปแต้ม “หอยทากที่จุหอยทากได้มากตัว / Un caracol donde quepan muchos caracoles” (ฉันอยู่มุมขวาล่างของภาพ)]

แน่ละ ถึงวันหนึ่งฉันก็ต้องจากโอเบ็นติก แต่เนื้อเพลงท่อนที่ว่า “เราจะสร้างโอเบ็นติกอีกมากมายไปทุกที่” ทุ้มอยู่ในใจฉัน คล้ายจะบอกว่าแม้ฉันจะไม่ได้อยู่ที่โอเบ็นติกแล้ว ฉันก็ยังสามารถจะสร้างโอเบ็นติกขึ้นมาใหม่ในแห่งหนอื่นของชีวิต คล้ายจะบอกว่าฉันสามารถพกพามันกลับบ้านได้  โลกใบที่จุโลกได้มากใบ โอเบ็นติกที่ซึ่งโอเบ็นติกอีกมากมายแพร่สะพัดออกไป

ในวงล่ำอำลา ฉันบอกครูซาปาติสต้าฉันว่า “จะพาหมู่เจ้าไปนำข้อย” คำมั่นต่อครูว่าฉันจะเก็บพวกเขาไว้ในใจได้ช่วยชี้ทางในการทำงานแปลของฉัน ชี้ให้ฉันคำนึงถึงการ “ชดใช้ทดแทน” คือการคืนดุลยภาพระหว่าง “พวกเรา” กับ “พวกเขา” หลังจากที่ฉันใช้เวลาตั้งมากมายเพื่อตักตวงและกอบโกยเอาบทเรียนมาจากพวกเขา คำมั่นนั้นชี้ให้ฉันลงมือทำงานสร้างความร่วมมือร่วมใจข้ามพรมแดน

แต่จะให้ถึงขั้นลบทิ้งคำว่า “พวกเรา” กับ “พวกเขา” ที่ใช้จัดหมวดหมู่คนออกเป็นกลุ่มๆ แล้วโอบรับคำว่า “มวลมนุษยชาติ” เผ่าพันธุ์เดียวก็เห็นจะไม่ได้  เพราะความจริงก็คือ แม้ในยามที่เรากล่าวอ้างว่าเรายืนอยู่เคียงข้างคนทุกคนและสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบทดาวเคราะห์ดวงนี้ เราก็สนิทชิดเชื้อกับคนเพียงหยิบมือและสถานที่ไม่กี่แห่ง  ถึงอย่างไรเราก็ต้องรู้ว่าเรื่องใดมาก่อน ใครสำคัญกว่าใคร

แทนที่จะกล่าวอ้างอย่างลอยๆ ถึงความเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่กับมนุษยชาติทั้งมวล เราจำเป็นต้องสร้างมันขึ้นมาด้วยช่องทางเชื่อมต่อเป็นกรณีๆ ไป เราจำเป็นต้องออกแรงเพื่อการนี้ ไม่ใช่แอบอ้างเอาได้อย่างฟรีๆ  หนแห่งใดที่ “พวกเรา” ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เราในฐานะผู้แปลวัฒนธรรมจำเป็นต้องไปถึงที่นั่น  กว่าที่ “พวกเรา” กับ “พวกเขา” จะยืนเสมอกันได้ เงื่อนไขจำเป็นคือพวกเราจะต้องสนิทชิดเชื้อกับพวกเขาให้ได้เสียก่อน ต้องรู้ภาษาของพวกเขา เห็นอกเห็นใจการต่อสู้ของพวกเขา เชื่อมโยงความเป็นมาและความเป็นไปของเราเข้ากับของเขา เราจำเป็นต้องคืนดุลยภาพให้แก่ความสัมพันธ์ ทำอะไรบางอย่างที่พอจะเข้าใกล้แนวคิดเรื่อง “การชดใช้คืน” ในกิจกรรมการแปลตามอุดมคติของจอร์จ สไตเนอร์—จุดที่ “พวกเรา” และ “พวกเขา” พบสมดุลในความเท่าเทียมที่แตกต่างและความแตกต่างที่เท่าเทียม

เพื่อจะอธิบายให้เห็นภาพ ฉันขอยกตัวอย่างการแปลเรื่องสั้น “หน้าด่านไปเหนือ” ของฆวาน รูลโฟ เป็นภาษาลาวอีสานอีกคำรบหนึ่ง ที่ฉันตัดสินใจแปลเรื่องนี้เป็นภาษาถิ่นมีความเสี่ยงที่จะกีดกันผู้อ่านภาษาไทยส่วนใหญ่ออกไป ซึ่งอาจมีคนหลายต่อหลายคนในกลุ่มนี้ที่สนอกสนใจอยากอ่านงานของรูลโฟก็เป็นได้  มันจะไม่อ่านยากไปหน่อยหรือสำหรับคนเหล่านั้น? และที่พวกเขาไม่คุ้นเคยกับภาษาถิ่น มันเป็นความผิดของเขาเสียเมื่อไหร่?

ฉันไม่ปฏิเสธว่าคนที่ฉันนับรวมไว้ใน “พวกเรา” ในงานแปลรูลโฟเป็นภาษาลาวอีสานกีดกันผู้อ่านจำนวนมากออกไป  แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญกว่าที่ฉันอยากจะชี้ให้เห็นเกี่ยวกับภาษาไทยมาตรฐาน นั่นก็คือภาษาไทยมาตรฐานนี้แม้จะเข้าใจกันโดยทั่วไป แต่ความรู้สึกต่อมันกลับแตกต่างกันไปในหมู่ผู้ใช้ภาษานี้

คนส่วนใหญ่ที่มีภูมิลำเนาที่ภาคอีสานตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน มิได้เป็นเจ้าของภาษาไทย หากแต่เรียนภาษาไทยมาตรฐานเป็นภาษาที่สอง[15] ภาษาที่สองที่เป็นเครื่องพาไปสู่การเลื่อนชนชั้น เป็นเจ้าคนนายคน และเข้าถึงความประณีตสูงส่งทางวัฒนธรรม  การเข้าถึงวรรณคดีแห่งชาติเกือบทั้งหมดขึ้นอยู่กับการซึมซับรับภาษาไทยมาตรฐานเข้ามาเป็นของตน แต่ไฉนเล่าเราจึงต้องดูแคลนศักยภาพของภาษาและวัฒนธรรมของเราเองในการที่ดิ้นรนแสวงหาบางสิ่งบางอย่างที่มีความเป็นสากลและกว้างไกลไม่โลกแคบ? หากเราดูตัวอย่างของเพลงลูกทุ่งสำเนียงอีสาน เราก็จะพบว่าไม่จำเป็นเลยที่ได้อย่างแล้วจะต้องเสียอย่าง ดนตรีลูกทุ่งผสมเครื่องดนตรีพื้นเมืองและเครื่องดนตรีตะวันตกในทำนอง ผสานคำไทยและคำลาวในเนื้อร้อง ปรากฏออกมาเป็นสิ่งใหม่ที่ผู้ฟังชาวอีสานรู้สึกเป็นเจ้าของและรู้สึกตามไปด้วยโดยไม่รู้สึกสะดุดเพียงเพราะมีการสลับสำเนียงภาษา ฉันใฝ่ฝันจะทำให้ได้ทำนองนั้นบ้างในรูปงานเขียน

ฉันขอเลือกก่อความลำบากให้กับผู้อ่านชาวไทยที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาลาว ขอตั้งเงื่อนไขและกติกาการอ่านด้วยตัวเอง และเปิดโอกาสให้คนที่อดทนและเต็มใจพอจะออกแรงเพื่อเข้ามารวมกับ “พวกเรา”  ไม่น่าจะยากเกินไปหรอก อย่าลืมว่าฉันก็ใช้ตัวอักษรของพวกเขาเพื่อถ่ายคำลาวอยู่ดี  ซึ่งข้อนี้ส่งผลข้างเคียงให้คนอีสานอาจรู้สึกถูกกีดกันเองเสียด้วยซ้ำไป เนื่องจากตนไม่คุ้นเคยกับการเขียนภาษาพูดนี้ด้วยตัวอักษรไทย—กรณีนี้ฉันไม่มีอะไรจะบอกนอกจาก “ฝึกอ่านให้คุ้นสิ”

ลองจินตนาการดูว่า ถ้าคนเชื้อชาติสเปนที่เกิดและโตในกรุงมาดริดมาอ่านรวมเรื่องสั้น El Llano en llamas ของฆวาน รูลโฟ ก็คงจะลำบาก รู้สึกว่าอ่านยาก ด้วยคลังคำที่ผิดแผกกันเพราะสืบทอดมาจากภาษาพื้นเมืองอย่างคำว่า tatemar, chacamotear, ocote แล้วยังมีการใช้คำภาษาสเปนที่แทบไม่ใช้กันแล้วในประเทศสเปน แต่ยังติดปากคนเม็กซิกันอยู่อย่างคำว่า nomás  แต่ถึงจะยากอย่างไร ถ้าผู้อ่านคนนี้ไว้ใจให้ค่ากับอะไรบางอย่างที่ “คุ้นเคยอย่างประหลาด” ในภาษาของเขาแต่เขาไม่ได้เป็นเจ้าของเสียทีเดียว ถ้าผู้อ่านคนนี้อดทนและเต็มใจจะอ่าน ฉันเชื่อว่าเขาจะสามารถเสพงานของรูลโฟได้เต็มที่ตามแบบฉบับของเขาเอง

อย่างไรเสีย ความแตกต่างก็ไม่ใช่ข้อหักล้างหลักการข้อสำคัญที่ว่าชะตากรรมของพวกเราทุกคนเกี่ยวโยงกัน การยึดคิดแนวคิดเช่นนี้เท่านั้นที่จะเปิดประตูใหม่ๆ ต่อหน้าเรา เมื่อเราพยายามเพาะปลูกพันธะระหว่างวัฒนธรรมเท่านั้นแหละที่จะทำให้หูของเราได้ยินแม้คำที่อยู่แสนห่างไกล เพื่อจะได้เกิดความเห็นพ้องต้องกันข้ามน้ำข้ามทะเลและเวลา ว่าปวงเราจะต้องสร้างโอเบ็นติกขึ้นอีกมากมาย

ช่วงปลายปี 2015 โอเบ็นติกแห่งหนึ่งได้ถูกสร้างขึ้นระหว่างเม็กซิโกและประเทศไทย เครือข่ายของอดีตนักศึกษาชาวสหรัฐอเมริกาที่ได้มาเรียนรู้จากชุมชนในภาคอีสานของประเทศไทย ได้จัดทริปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระยะเวลาสองสัปดาห์ที่มลรัฐวาฮากา เม็กซิโก สำหรับผู้นำชุมชนและนักศึกษาชาวไทยผู้ต่อสู้เรียกร้องให้ปิดเหมืองแร่ที่อ.วังสะพุง จ.เลย เป็นการถาวร รายละเอียดตามรายงานของเดอะอีสานเรคคอร์ด เมื่อเดือนตุลาคม 2015 ว่า

ชาวบ้านนาหนองบงสองคนที่จะเดินทางไปเม็กซิโก ภัทราภรณ์ แก่งจำปา อายุ 35 ปี และสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ อายุ 44 ปี ได้รับเลือกจากสมาชิกในชุมชนให้เป็นตัวแทนหมู่บ้านในคณะเดินทาง  ทั้งสองคนเป็นส่วนหนึ่งของผู้นำนักกิจกรรมที่ถูกมัดมือมัดตีนและทุบตี [เมื่อกลุ่มชายฉกรรจ์สวมหมวกปิดบังใบหน้ากว่า 300 นายเข้าบุกรุกชุมชนเมื่อกลางดึกวันที่ 15 พฤษภาคม 2013]  ด้วยความรู้สึกไม่ปลอดภัยตั้งแต่นั้นมา ชาวบ้านทั้งสองคนต้องการเรียนรู้ยุทธศาสตร์ใหม่ๆ ในการปกป้องตนเองจากบริษัทเหมืองแร่ บ. ทุ่งคำ จำกัด และพันธมิตรทั้งหลาย

“เราจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการปกป้องตัวเอง” นายสุรพันธ์กล่าวด้วยความหวังว่าตนจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของนักกิจกรรมต้านเหมืองแร่ที่เม็กซิโก “วันหนึ่งข้างหน้าเราอาจจะต้องเผชิญสถานการณ์คล้ายๆ กัน [กับที่ชุมชนที่เม็กซิโกเคยประสบมา]”

ความหวั่นกลัวเรื่องความปลอดภัยของชาวบ้านนาหนองบง พ้องกับที่ซานโฆเซ่เดลโปรเกรโซ เมืองขนาดเล็กทางใต้ของเมืองวาฮากา เม็กซิโก  ในเดือนมีนาคม 2012 เบร์นาร์โด บาซเกซ นักกิจกรรมในพื้นที่ ถูกลอบสังหารหลังจากได้มีบทบาทต่อต้านเหมืองแร่ทองคำและเงินของบริษัทสัญชาติแคนาดาที่มาดำเนินการในบริเวณชุมชนของเขา[16]

ถึงตอนนี้นักกิจกรรมอีสานทั้งสองคนก็กลับประเทศไทยมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ยังคงต่อสู้ในสมรภูมิเดิม แต่ด้วยสายตาที่กว้างไกลยิ่งขึ้น ด้วยเพราะได้สร้างสำนึกเป็นปึกแผ่นกับคนที่เม็กซิโกผ่านการแลกเปลี่ยนกลวิธีการจัดตั้งและปรัชญาการมองระบบสังคม  ฉันมีโอกาสได้นั่งคุยกับคุณสุรพันธ์ หรือ “พ่อไม้” เป็นเวลาสั้นๆ ในวันหนึ่ง ฉันถามเขาถึงช่วงเวลาที่เม็กซิโก พ่อไม้บอกว่าที่เม็กซิโก ชุมชนอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากกว่ามาก แต่การรวมตัวต่อสู้ของที่นั่นก็เข้มแข็งกว่ามากเช่นกัน ข้อสรุปของเขาคือที่นี่ยังมีอะไรต้องทำอีกมาก (ฉันเชื่อว่านักกิจกรรมชาววาฮาเก็ญโญซึ่งต่างก็เคยไปเข้าร่วม “โรงเรียนน้อยซาปาติสต้า” ก็คงจะพูดเหมือนกันว่า ยังมีอะไรต้องทำอีกมาก)

ทุกๆ ปีเป็นเวลาเจ็ดปีมาแล้ว นักกิจกรรมต่อต้านเหมืองแร่เมืองเลยเรียกผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนจากทั่วสารทิศมาร่วมอยู่ร่วมกินเป็นเวลาสั้นๆ เพื่อศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ พร้อมกับงานบุญ ซึ่งในปี 2016 มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างพระพุทธรูปเหล็กประทับไว้บนภูเขาที่ถูกทำเหมือง กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดผู้จัดงานทำบุญ เขียนไว้ในจดหมายเชิญของปีนี้ (พ.ศ. 2560) ไว้ว่า

“การทำบุญภูเขามีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนต้านภัยเหมือง … กิจกรรมปีนี้คือ ฟื้นฟูภูเขา 2 ภูที่เกิดความเสียหายจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ถึงแม้จะต้องใช้เวลาฟื้นฟูกว่า 10 ปีหรือมากกว่าก็ตาม กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดยังต้องเสริมกำลังคนรุ่นใหม่ๆ ให้เข้มแข็ง พร้อมที่ปกป้องพื้นดิน ที่ทำกิน และอนุรักษ์ภูเขา ป่าไม้ ลำธาร ตลอดไป จนกว่าจะแน่ใจ ไม่กังวลสงสัย ว่าเหมืองแร่จะไม่กลับมา”

ที่บ้านนาหนองบง พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์กับวาทกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมหลอมรวมกันเป็นหนึ่ง ซึ่งสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับการต่อสู้ของชุมชนคนชาติพันธุ์ลาว ยื่นมือกลับไปเชื่อมโยงประเพณีที่นำคนมารวมกัน ยื่นมือไปสู่อนาคตที่จิตวิญญาณของคนในชุมชนอยู่ดีมีสุข และยื่นมือไปรอบๆ เชื้อเชิญให้คนนอกผู้เต็มใจจะใช้เวลาเรียนรู้อยู่กับพวกเขามาเข้าร่วมมือเป็นปึกแผ่นอีกแรง นาหนองบงนี่มิใช่หรือที่ก็เป็นโอเบ็นติกอีกแห่งหนึ่ง? โอเบ็นติกก็เป็นนาหนองบงอีกแห่งหนึ่ง หรือมิใช่?

IV. พัฒนาห้องสมุดชุมชน เอาอย่างสภาศิลปวัฒนธรรมเม็กซิโก

หลังจากเดินทางออกจากเชียปัส ฉันได้มีโอกาสเรียนรู้จากขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมและกลุ่มสหกรณ์วิชาชีพหลากหลายกลุ่มในมลรัฐตลัซกาลา ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงของเม็กซิโกราวสองชั่วโมงขับรถ  ช่วงเวลาสามสัปดาห์ที่นั่นฉันอาศัยอยู่ที่เวโยตลิปปัน เมืองเล็กๆ ที่ป้ายทางหลวงก่อนเลี้ยวเข้าเมืองบอกว่ามีประชากร 10,000 คน  หากเดินทอดน่องไปตามถนนหนทางของเมือง ก็จะให้ความรู้สึกเหมือนชุมชนเงียบๆ ในต่างอำเภอของต่างจังหวัดของประเทศไทย มีผู้หญิงวัยกลางคนดูแลบ้าน ชายวัยกลางคนขี่รถขายข้าวโพดต้ม หญิงสาวและชายชราเฝ้าร้านขายของหนึ่งคูหา มีเด็กๆ ในเครื่องแบบนักเรียนเดินกลับบ้านจากโรงเรียนสองสามโรงเรียน มีคู่รักวัยรุ่นกอดจูบลูบคลำกันในที่กึ่งสาธารณะ  แต่ที่ไม่ค่อยมีผ่านสายตาเลยคือผู้ชายวัยทำงาน ซึ่งเกินครึ่งได้ข้ามพรมแดนไปทำงานหาเงินในเมืองอย่างแจ็กสัน มลรัฐเท็นเนสซี และแอรี มลรัฐเพ็นซิลเวเนีย จะว่าเป็นฉบับรีเม้กยุคปัจจุบันของเรื่อง "หน้าด่านไปเหนือ" ของรูลโฟก็คงไม่ผิด

ท่านคงไม่คาดคิดว่า เมืองเล็กๆ แห่งนี้จะมีสถานที่สำหรับจัดแสดงงานศิลปะโดยเฉพาะ พร้อมห้องประชุม ห้องสมุดและห้องคอมพิวเตอร์ แต่ความจริงก็คือที่เวโยตลิปปันมีศูนย์วัฒนธรรมที่มีครบครันทุกอย่างที่ว่ามา El Centro Cultural Hueyotlipan สร้างขึ้นโดยสถาบันวัฒนธรรมแห่งตลัซกาลาตั้งแต่ปี 1989 และเพิ่งได้รับการปรับปรุงและต่อเติมเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตอนนี้ศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้มีสนามเด็กเล่นและห้องสมุดปรับปรุงใหม่

แม้ห้องสมุดจะเล็ก เป็นห้องเดียวมีชั้นหนังสือเป็นแผงตลอดผนังสามด้าน โต๊ะเก้าอี้แค่สามสี่ชุดอยู่กลางห้อง แต่ที่นี่ก็รวบรวมหนังสือใหม่เอี่ยมในหมวดวรรณกรรมเม็กซิกันและวรรณกรรมโลกที่หลากหลายอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ผู้เยี่ยมชมสามารถยืมหนังสือเล่มไหนก็ได้ กำหนดคืนภายในหนึ่งสัปดาห์แต่ก็ขอต่อได้เรื่อยๆ  ช่วงเวลาสามสัปดาห์ที่อยู่ที่นั่น ฉันอ่านนวนิยาย Pedro Páramo ของรูลโฟจนจบ อ่านบางหน้าของความเรียง El laberinto de la soledad ของอ็อคตาวิโอ ปาซ และยังได้ยลภาพประกอบสี่สีของ พันหนึ่งราตรี ที่มีอยู่ตลอดเล่มหนาเป็นปึก ห้องสมุดชุมชนอะไรนี่!

ฉันตื่นตาตื่นใจขนาดนั้นก็เพราะว่าในประเทศไทยโดยเฉพาะเมืองเกิดของฉัน ห้องสมุดดีๆ เป็นของหายาก จะเจอห้องสมุดดีๆ อยู่บ้างประปรายในเมืองใหญ่ แต่ถึงกระนั้นก็ตามห้องสมุดดีๆ ก็ใช่ว่าจะเข้าถึงได้ หรือจะรวบรวมวรรณกรรมโลกไว้ได้หลากหลายเท่าไร

ก็มีแต่ร้านหนังสือที่ฉันได้อาศัยชำแรกแตกหน่อความคิดความอ่าน ช่วงวัยรุ่นฉันชอบไปขลุกอยู่ในร้านหนังสือ มันให้ความรู้สึกเหมือนได้เจอเพื่อนที่ยืนยันกับเราว่าไม่ใช่เรื่องผิดมนุษย์มนาที่จะคิดอย่างวิพากษ์วิจารณ์ ที่จะขวางโลกเท่าที่ได้พบเห็นมา เหมือนฉันได้พบเผ่าเพื่อนผองผ่านตัวหนังสือที่เขียนโดยคนที่ฉันไม่เคยเจอ  ที่ร้านหนังสือ ฉันได้รู้จักนักประพันธ์คนใหม่ๆ แนวการเขียนใหม่ๆ ภาษาใหม่ๆ ความรู้สึกใหม่ๆ และกล่าวถึงที่สุดก็คือหนทางใหม่ๆ สำหรับใช้นำชีวิต  หลังจากเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนมาได้สิบปี การหาอ่านหนังสือเองก็ช่วยให้ฉันอ่าน-เขียนภาษาอังกฤษได้ในที่สุดด้วยอานิสงส์จากการตะลุยอ่านหนังสืออย่าง Mrs. Dalloway ของเวอร์จีเนีย วูล์ฟ เป็นเดือนๆ ซึ่งเป็นอะไรที่ทรมานแต่ก็สะกดใจให้ติดตรึงจนถึงหน้าสุดท้าย  การได้รู้ภาษาเพิ่มอีกภาษาเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้ฉันมาก รวมไปถึงการได้รับคัดเลือกเป็นผู้รับทุนการศึกษาเพื่อไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่สหรัฐอเมริกาด้วย เทอมหนึ่งในช่วงเวลานั้นแหละที่ฉันไปอยู่เม็กซิโก

หลังเรียนจบและกลับประเทศไทย ฉันเกิดตัดสินใจอยากลองแปล El Llano en llamas ขึ้นมาอย่างจริงจัง ว่าแล้วก็อยากหาซื้อรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ไว้กับตัวหน่อย ฉันไปที่ร้านหนังสือร้านประจำในกรุงเทพที่ช่วยสร้างความกระหายและช่วยดับกระหายทางวรรณกรรมให้กับฉันสมัยม.ปลาย—ร้านคิโนะคูนิยะ ที่นั่นมีหนังสือหลากหลายทั้งภาษาไทย ภาษาญี่ปุ่น และภาษาจีนกลาง  ไปเมื่อไหร่ก็จะไปไล่อ่านปกแถวชั้น “วรรณกรรมภาษาอังกฤษ” และ “วรรณกรรมไทย” อยู่ตลอด ความรู้สึกตอนนั้นก็คือ ไม่ว่าต้องการอยากได้อะไรก็เจอหมดเกือบทุกอย่าง ตั้งแต่งานคลาสสิกอย่างเรื่องสั้นของอันตัน เชคอฟ (ฉบับแปลภาษาอังกฤษหลายสำนวน) จนกระทั่งงานร่วมสมัยอย่างรวมเรื่องสั้นของ Junot Díaz เล่ม This Is How You Lose Her ซึ่งมีทั้งฉบับปกอ่อนและฉบับปกแข็งเย็บกี่อย่างประณีต

เกือบทุกอย่าง แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง—ครั้งนี้ฉันพบหนังสือของฆวาน รูลโฟเพียงเล่มเดียว คือนวนิยาย Pedro Páramo เล่มบาง ฉบับแปลภาษาอังกฤษ ราคาปกแพงลิ่วถึง 465 บาท—เทียบกับค่าแรงขั้นต่ำแล้วก็ราวๆ สองวันได้  หนังสือเล่มที่ฉันตามหาไม่มีแม้ในสารบบในเครื่องคอมพิวเตอร์ของร้าน ฉบับแปลภาษาอังกฤษก็ไม่มี ทั้งสำนวนแปลเก่า The Burning Plain and Other Stories และสำนวนแปลใหม่ล่าสุด The Plain in Flames

การกลับไปร้านคิโนะคูนิยะครั้งนี้ทำให้ฉันตระหนักถึงข้อสำคัญข้อหนึ่งที่ไม่เคยได้คิดมาก่อน นั่นก็คือ ฉันในฐานะผู้บริโภค แม้จะเป็นผู้บริโภค “วรรณกรรม” “ต่างประเทศ” “คลาสสิก” ในร้านหนังสือชั้นนำของเมืองหลวงก็เถอะ อำนาจการเลือกก็ไม่ได้อยู่กับฉันจริงๆ  ฉันได้คิดว่าไม่ใช่เพียงแต่อุดมการณ์รัฐอำนาจนิยมหรอกที่สร้างเพดานปิดกั้นการพัฒนาสติปัญญา ด้วยการเซ็นเซอร์นักคิดบางคน แล้วก็ปูนบำเหน็จนักคิดอีกบางคน หรือด้วยการกำหนดให้นักเรียนนักศึกษาอ่านผลงานที่คัดสรรซึ่งล็อกสเป๊กการตีความไว้หมดแล้ว แต่ “ตลาดเสรี” ที่คิโนะคูนิยะก็มีข้อจำกัดเช่นเดียวกัน อำนาจนำของตลาดหนังสือสหรัฐอเมริกาที่มีส่วนกำหนดว่าหนังสือเล่มใดจะได้ติดฉลาก “คลาสสิก” และ “เบสต์เซลเลอร์” การคำนวณราคาและผลกำไรให้ได้ตามเป้า และสถานะของภาษาอังกฤษที่อยู่เหนือภาษาอื่นในโลกนานาชาติ ล้วนแล้วแต่จำกัดว่าฉันจะได้เห็นอะไรบนชั้นบ้าง

แต่ก่อนจะพูดเรื่องการเข้าถึง ก็ต้องเอ่ยถึงสิ่งที่แยบยลยิ่งกว่า นั่นคือความอยากที่จะเข้าถึงอะไรที่เขาไม่มีให้แต่แรก กว่าจะเกิดความปรารถนานั้นขึ้นมา ฉันก็ต้องใช้เวลาตั้งนาน

ฉันได้คิดว่าฉันไม่มีอำนาจรู้ได้ว่าจริงๆ แล้วฉันปรารถนาอยากได้อะไร  ความต้องการอยากอ่านหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ก็เกิดตามมาจากการเดินสำรวจชั้นหนังสือตามร้าน แต่ละเล่มที่อยากอ่านก็สืบเนื่องมาจากเล่มก่อนๆ ที่เคยอ่านมา ซึ่งถ้าสืบสาวไปถึงที่สุดแล้วก็มี “ตลาดเสรี” นี้เป็นตัวก่อรูปร่างขึ้นมานั่นเอง  แล้วฉันก็ไม่ได้มีคนรู้จักที่ชอบอ่านหนังสือวรรณกรรมอ่านยากๆ มาก่อน  ถ้าฉันไม่ได้ไปเม็กซิโก จุดเชื่อมต่อที่อาจนำฉันไปสู่ฆวาน รูลโฟ ก็คงจะเป็นกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ นักเขียนรางวัลโนเบลยอดนิยม ซึ่งมีการแปลผลงานออกมาอย่างแพร่หลายไม่ขาดสายทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย  แต่ถึงมีมาร์เกซพูดถึงหนสองหน มันก็คงอาจไม่ทำให้ฉันกระตือรือร้นและอดทนมากพอจะทำความรู้จักรูลโฟหรอกมั้ง

อาจมีข้อเสนอว่า ระบบตลาดนี่แหละที่จะสามารถช่วยให้ฉัน “ค้นพบ” รูลโฟได้เร็วกว่าที่เป็นมาได้ ถ้าตลาดหนังสือเปิดกว้างให้มีสำนักพิมพ์-ผู้นำเข้า-จัดจำหน่ายที่หลากหลาย มีนีชมาร์เก็ตที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคเฉพาะทาง รวมไปถึงพวกที่อยู่ชายขอบอย่างฉันด้วย  ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีความพยายามหาทางออกด้านใหม่ๆ ผ่านระบบตลาดอยู่บ้างแล้วในประเทศไทย อย่างเช่นโครงการ “มาตรฐานวรรณกรรมพิมพ์จำกัด” ที่มุ่งผลิตงานแปลคุณภาพสำหรับร้านหนังสืออิสระและร้านออนไลน์สำหรับคนอ่านคอแข็ง หรืออย่างเช่นโครงการระดมทุนคนละ 770 บาทจาก 700 คนเพื่อสนับสนุนการแปลนวนิยาย โมบี้-ดิ๊ก ของเฮอร์แมน เมลวิลล์ เพื่อเผยแพร่แบบฟรีๆ สู่สาธารณะออนไลน์[17]  แต่ฉันก็ยังรู้สึกไม่พึงใจกับคำตอบของระบบตลาด เพราะมันก็ยังไม่ไปถึงต้นตอของปัญหาที่ว่า “ตลาดเสรี” นี้เองที่เป็นตัวการที่สร้างความปรารถนาและกำกับทิศทางของมัน แทนที่จะช่วยกระตุ้นให้คนได้หยั่งเห็นสิ่งที่ตัวเองต้องการและลงมือบ่มเพาะมันด้วยตัวเอง  พูดถึง โมบี้-ดิ๊ก แล้วไม่ว่าใครที่รู้จักมักคุ้นกับวรรณกรรมต่างประเทศมาบ้าง ก็คงจะเคยได้ยินกิตติศัพท์ความยิ่งใหญ่และสำคัญของนวนิยายเล่มนั้นมาแล้ว แต่จะพูดแบบนั้นไม่ได้หรอกกับ El Llano en llamas

หรืออาจมีข้อเสนอ “ทางออกแบบศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด” เป็นคำตอบ นั่นคือทำให้วรรณกรรมจากทั่วโลกเข้าถึงได้ในอินเทอร์เน็ต  อันที่จริงแล้วถ้าฉันพิมพ์คำว่า “Juan Rulfo texto” ลงไปในกูเกิ้ลเซิร์ชเอ็นจิน ฉันก็สามารถเข้าถึงเรื่องสั้นและนวนิยายของเขาเกือบทั้งหมดได้โดยไม่ต้องขุดหาให้เสียเวลาเลย แต่คำถามก็คือ แล้วฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าจะต้องสืบค้นคำว่า “Juan Rulfo” ล่ะ? ฉันต้องมีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้อยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับชื่อนี้ในข้อมูลปริมาณมหาศาลในอินเทอร์เน็ต ต้องมีใครสักคนที่แนะนำให้ฉันสนใจนักเขียนคนนี้ บล็อกโพสต์สักโพสต์ที่เชื่อมร้อยผลงานของเขาเข้ากับงานชิ้นต่างๆ เป็นช่อมาลัยที่ชวนค้นหา นักแปลสักคนที่จะถ่ายทอดมันเป็นภาษาที่ฉันอ่านรู้เรื่อง  นั่นก็คือ ฉันก็ยังจำเป็นต้องอิงอาศัยคนที่อุตสาหะพยายามเชื่อมต่อ แปลและแปลง ตรวจปรู๊ฟ คัดสรรจัดแสดง ย่อยย่อ ปริทรรศน์ โฆษณา

ประเทศไทยและทุกๆ ประเทศของโลกควรจะเอาอย่างเม็กซิโกในเรื่องการเผยแพร่วรรณกรรมโลกไปในห้องสมุดชุมชน ห้องสมุดชุมชนที่ฉันได้พบเจอที่ศูนย์วัฒนธรรมเวโยตลิปปันน่าจะเป็นโมเดลที่ตอบโจทย์ได้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ  สถานที่แบบนี้น่าเข้ามากกว่าหอสมุดมหาวิทยาลัยชั้นเยี่ยมที่สุด ซึ่งมักน่ายำเกรงและหลายครั้งก็เข้าใช้บริการลำบาก และเมื่อเทียบกับร้านหนังสือชั้นนำ ห้องสมุดชุมชนก็ไม่ต้องเสียเงินค่าหนังสือ ขอแค่ให้ห้องสมุดนั้นมีหนังสือหลากหลายและคุณภาพดี นั่นก็เปิดโลกใหม่ๆ ให้คนทุกคนได้

หลังจากการขับเคลื่อนนโยบายสร้างห้องสมุดโดยองค์กรเครือข่ายห้องสมุดสาธารณะแห่งชาติเป็นเวลาสามสิบปี จำนวนห้องสมุดชุมชนในเม็กซิโกก้าวกระโดดขึ้นจาก 351 แห่งเป็น 7,363 แห่งในเขตเทศบาล 2,281 เขต[18]  แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือห้องสมุดในศูนย์วัฒนธรรมเวโยตลิปปัน

หนังสือที่ห้องสมุดแห่งนั้น จำนวนมากเป็นหนังสือใหม่เอี่ยมที่ออกแบบปกพิมพ์เดียวกันหมดภายใต้โครงการ “เม็กซิโกอ่าน (México Lee)” โครงการนี้ได้รับการบรรณาธิการ จัดพิมพ์ และจัดส่งโดยสภาศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติเม็กซิโก กระทรวงการศึกษาและวัฒนธรรม ในปี 2012 สภาฯ ลงทุนจำนวน 300 ล้านเปโซ (ประมาณ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 700 ล้านบาท) เพื่อตีพิมพ์หนังสือจำนวนสองล้านเล่มสำหรับจัดส่งไปยังห้องสมุด 3,500 แห่ง[19]  นอกจากจะมีผลงานวรรณกรรมคลาสสิกของนักเขียนชาวเม็กซิกันแล้ว รายชื่อหนังสือในโครงการยังมีวรรณกรรมเยาวชนอย่างหนังสือชุด นาร์เนีย ของซี. เอส. ลูวิส และวรรณกรรมร่วมสมัยจากภาษาต่างๆ แปลเข้ามาเป็นภาษาสเปนอย่างเช่น Norwegian Wood ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย ของฮารุกิ มุราคามิ  รายชื่อแบบนี้เป็นอะไรที่เหนือจินตนาการไปเลยสำหรับกระทรวงวัฒนธรรมของประเทศไทย

[บางส่วนของหนังสือทั้งในและนอกโครงการ “เม็กซิโกอ่าน” ที่ทางสภาศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติเม็กซิโกจัดส่งให้ห้องสมุดชุมชนที่เมืองตุกซ์เตเป็ก มลรัฐวาฮากา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2013]

แน่ละว่า โมเดลที่ฉันเสนอให้หน่วยงานรัฐช่วยจัดหาสินค้าทางวัฒนธรรม ก็อาจลงเอยด้วยการมีข้อจำกัดสารพัดพอๆ กับโมเดลของ “ตลาดเสรี” โดยเฉพาะข้อจำกัดด้านอุดมการณ์ทางการเมือง  อย่างถ้าดูโครงการ “เม็กซิโกอ่าน” ฉันก็คงจะประหลาดใจจริงๆ ถ้ามีหนังสือ ว่าด้วยทุน ของคาร์ล มาร์กซ์ และหนังสือ EZLN: 20 y 10, el fuego y la palabra [กองทัพซาปาติสต้าเพื่อการปลดแอกชาติ: 20 ปีและ 10 ปี แห่งการลั่นไกและลั่นวาจา] ที่ฉันได้อ่านตอนอยู่โอเบ็นติก หลงฝูงมาร่วมโครงการของรัฐด้วย

แต่ฉันยังต้องการเสนอให้โครงการเช่นนี้ปรับสเกลเป็นระดับ “นานาชาติ” ด้วย  เมื่อใดก็ตามที่โครงการด้านวัฒนธรรมเปิดรับพิจารณาสิ่งที่อยู่พ้นพรมแดนรัฐชาติไป ก็จะเปิดช่องทางใหม่ๆ ให้คิดและทำอะไรที่แหวกขนบได้มากขึ้น  การคิดและการทำเช่นนั้นเป็นการใช้เงินภาษีอากรของสาธารณะในทางที่ดีงาม พร้อมกันกับที่มิได้ยอมจำนนเป็นแขนขาของอุดมการณ์และการเซ็นเซ่อร์ของรัฐ

ตัวอย่างหนึ่งของโครงการระดับนานาชาติ ก็คือ “โครงการสนับสนุนการแปล (Programa de apoyo a la traducción)” ของสภาศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติเม็กซิโก โครงการนี้มีมาทุกปีตั้งแต่ปี 2013 จนถึงบัดนี้ก็มีสำนักพิมพ์ต่างประเทศหลายร้อยแห่งแล้วที่ได้รับทุนการแปลและจัดพิมพ์ผลงานของนักเขียนชาวเม็กซิกันเป็นภาษาอื่นๆ และยังมีสำนักพิมพ์ในประเทศกว่าครึ่งค่อนร้อยแห่งที่ได้รับการแปลและจัดพิมพ์ผลงานจากต่างประเทศ  เป้าประสงค์ของโครงการนี้ ตามที่ปรากฏในประกาศฉบับปี 2015 คือ “เพื่ออำนวยการส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรมเม็กซิกันในนานาประเทศ และเพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม”

ขณะนี้[20]ฉันกำลังกรอกเอกสารเข้าร่วมโครงการเพื่อขอทุนแปลรวมเรื่องสั้น El Llano en llamas เป็น “ภาษาไทย”  ถึงแม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นวรรณกรรมระดับ “หนังสืออ่านนอกเวลา” ของประเทศเม็กซิโก คณะกรรมการผู้พิจารณาให้ทุนก็มิได้มีอำนาจจะมากำหนดได้ว่าผู้รับทุนจะแปลและตีกรอบงานชิ้นนี้อย่างไร  ถึงแม้ผู้รับผิดชอบโครงการนี้มีหน้าที่ส่งเสริม “วัฒนธรรมเม็กซิกัน” และมีอำนาจตัดสินใจว่าผู้ใดจะได้รับทุนแปล แต่ก็หาได้มีอำนาจชี้ขาดเลยว่า “วัฒนธรรมเม็กซิกัน” ที่ว่านี้จะถูกแปลความหมายไปเป็นอย่างไรบ้าง ณ ต่างแดน

เป็นหน้าที่ของนักแปลอย่างพวกเราเอง ที่จะต้องชดใช้ความหมายของวัฒนธรรมต่างแดนให้คืนสมดุล ในระหว่างการลักพามันกลับบ้าน

V. บทสรุป: เสียงเรียกถึงมวลหมู่นักแปลวัฒนธรรม

หมู่เรากำลังถูกโลกาภิวัตน์แบบทุนนิยมทำให้หายใจไม่ค่อยออก จำเป็นเหลือเกินที่จะต้องเบิกช่องทางใหม่ๆ เพื่อให้การถ่ายเทและไหลเวียนระหว่างวัฒนธรรมนำชิ้นส่วนต่างๆ ของโลกมาเชื่อมเข้าด้วยกันอย่างงดงามหลากหลาย มิใช่ถูกลดทอนให้แบนราบเป็นผืนเดียวโดยทุนรายใหญ่  ช่องทางใหม่ๆ ที่ว่านี้ ไม่ว่าจะขับเคลื่อนด้วยระบบตลาดหรือระบบอื่นใด จำเป็นจะต้องมีคนเต็มใจจะทำหน้าที่ผู้แปลวัฒนธรรม—นั่นคือ คนที่ช่วยสร้างความเข้าอกเข้าใจและความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของภาษาทั้งหลาย ไม่ใช่แต่เฉพาะเนื้อความในภาษาเท่านั้น

หมู่เรา ในนามนักแปลวัฒนธรรม จักต้องฉวยโอกาสทั้งหมดเท่าที่มีเพื่อเปิดพื้นที่ระหว่างวัฒนธรรมให้มากขึ้นๆ เพื่อการที่ศักยภาพการคิดการจินตนาการของผู้คนจะสามารถเจริญเติบโตได้อย่างเป็นตัวของตัวเอง โดยไม่ขึ้นอยู่กับแรงผลักดึงตามอำเภอใจของระบอบทุนนิยมและอำนาจรัฐ

หมู่เรา ในนามนักแปลวัฒนธรรม จักต้องทำให้คำว่า “มนุษยชาติ” เป็นเรื่องจับต้องได้และอยู่ติดพื้นดิน ในเมื่อคนเราไม่สามารถต้านทานการจัดระบบช่วงชั้นในหมู่มนุษย์ได้ด้วยการกล่าวอ้างว่าตนใส่ใจทุกๆ คนเท่ากันไปหมด หมู่เราในนามนักแปลวัฒนธรรมจึงต้องสังเกตว่าที่แห่งใดขาดภาพนำเสนอความจริงและขาดความเข้าอกเข้าใจ เพื่อที่จะไปเติมช่องว่างนั้น และทำให้มันกลายเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเราให้จงได้

หมู่เรา ในนามนักแปลวัฒนธรรม มิได้พูดในนามของประเทศหรือกลุ่มวัฒนธรรมของเรา เราพูดในนามปัจเจกชนที่มีพื้นเพเฉพาะตัว และใส่ใจในการต่อสู้ของหลากหลายกลุ่ม ซึ่งมีทั้งจุดร่วมสมัครสามัคคีและจุดต่างเครียดตึง  เรามิได้เป็นตัวแทนของใคร และหลีกเลี่ยงไม่ยอมให้รัฐบาลมาแอบอ้างความเป็นเจ้าของของตัวเราและสิ่งที่เราทำ

แต่นั่นไม่ใช่จุดจบ กุญแจสำคัญที่สุด ดังที่จอร์จ สไตเนอร์เสนอไว้ในทฤษฎีการแปลของเขา คือการชดใช้สิ่งที่ถูกฉกฉวยไปคืนให้เจ้าของ  หมู่เรา ในนามนักแปลวัฒนธรรม จักต้องก่อร่างสร้างสำนึกเป็นปึกแผ่นระหว่างประเทศด้วยการให้คืน จากระดับเล็กที่สุดคือการผสมเกสรถ้อยคำ จนถึงระดับใหญ่ที่สุดคือการเชื่อมโลกคนละใบ ประเทศทั้งสองต้องเท่ากันทั้งทางเศรษฐกิจและศีลธรรม

ฉันได้เรียนรู้อะไรมากมายจากสหายร่วมอุดมการณ์ในเม็กซิโก สิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีผู้มาก่อนฉันผู้ถางทางให้ “เครือข่ายความเป็นปึกแผ่นกับเม็กซิโก” เกิดเป็นโปรแกรมศึกษาเรียนรู้จากชุมชนขึ้นมา  ถึงเวลาที่ฉันต้องเป็นฝ่ายให้บ้างแล้ว จากที่ทางของฉัน แรงใจของฉัน ความถนัดของฉัน  ไม่ว่าท่านจะมาจากที่ไหน ฉันหวังว่าความพยายามหิ้วเอาฆวาน รูลโฟ กลับภูมิลำเนา และในระหว่างเส้นทางนั้นก็พาภาคอีสานกลับเข้าหาฉันและออกไปสู่โลกด้วย—ฉันหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยเปิดโลกของท่านให้กว้างขึ้นกว่าเดิม.


[1] อ้างใน ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, “ภราดรภาพนิยม (Solidarisme) ของปรีดี พนมยงค์ (ฉบับขยายความ).” สำนักพิมพ์มิ่งมิตร, หน้า 44.

[2] อ้างใน ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, “ฟ้าบ่กั้นหยังว่าให้ห่างกัน.” อ่าน 1(3), หน้า 71.

[3] ลาว คำหอม, ฟ้าบ่กั้น.

[4] ขูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, “ฟ้าบ่กั้น หยังว่าให้ห่างกัน.” อ่าน 1(3), หน้า 85.

[5] ลาว คำหอม, ฟ้าบ่กั้น.

[6] ลาว คำหอม, ฟ้าบ่กั้น.

[7] Juan Rulfo, El Llano en llamas.

[8] George Steiner.  After Babel: Aspects of Language and Translation. New York: Oxford UP, 1975. p. 318.

[9] Ibid., pp. 318-319.

[10] Ibid., p. 318.

[11] Juan Rulfo (Ibid.).

[12] Senate Select Committee on Intelligence. Committee Study of the Central Intelligence Agency’s Detention and Interrogation Program. United States Senate, 2014. http://www.intelligence.senate.gov/study2014/sscistudy1.pdf

[13] David A. Hollinger. Cospmopolitanism and Solidarity: Studies in Ethnoracial, Religious and Professional Affiliation in the United States. Madison: The University of Wisconsin Press, 2006. p. xxii.

[14] Thomas M. Urban, “Caracol de la Resistencia: Zapatista Symbol References Maya Past.” Archeolog. Posted on August 21, 2007. http://traumwerk.stanford.edu/archaeolog/2007/08/caracol_de_la_resistencia_zapa_1.html

[15] Karl Victor, “Thai Has the Highest Percentage of Second-Language Speakers among Major Languages.” The Isaan Record. Reported on 2 September 2015.

[16] Rebecca Goncharoff. “Isaan Villagers and Students travel to Mine-Affected Communities in Mexico.” The Isaan Record, reported on 29 October 2015. http://isaanrecord.com/2015/10/29/isaan-villagers-and-students-travel-to-mine-affected-communities-in-mexico/

[17] Dennis Abrams. “Thai Publisher Crowdfunds a Translation of Moby Dick.” Publishing Perspectives, posted on 23 February 2015. http://publishingperspectives.com/2015/02/thai-publisher-crowdfunds-a-translation-of-moby-dick/#.VpALjRWLSUk

[18] “La Red Nacional de Bibliotecas Públicas cumple 30 años” Comunicado No. 1189/2013, 5 de agosto de 2013. Secretaría de Cultura. http://www.conaculta.gob.mx/noticias/efemerides/28352-la-red-nacional-de-bibliotecas-publicas-cumple-30-anos.html

[19] “Conaculta presenta Programa de Selección de Adquisición de Acervos para las Bibliotecas Públicas “México Lee”” Comunicado No. 1533, 17 de julio de 2012. Conaculta. http://www.conaculta.gob.mx/movilprensa_detalle.php?id=21892

[20] เรียงความชิ้นนี้เขียนเมื่อต้นพ.ศ.2559 เมื่อภายหลังได้ติดต่อไปยังเจ้าของลิขสิทธิ์ภายหลังแล้ว ปรากฏว่าเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่อนุญาตให้จัดพิมพ์งานแปลของรูลโฟผ่านโครงการนี้

 

กลับสู่หน้าหลักของ ท่งกุลาลุกไหม้ ฉบับคู่หู