จงอ่านตามกาลเทศะ


หัดอ่านตามตัวสะกด

ณ ห้องเรียนชั้น ป.1 โรงเรียนประถมศึกษาประจำจังหวัดอุดรธานี ทศวรรษ 1990

    “คนไทยนี้ดี     เป็นพี่เป็นน้อง

เมืองไทยเมืองทอง     เป็นของคนไทย

คนไทยเข้มแข็ง     ร่วมแรงร่วมใจ

รักชาติยิ่งใหญ่     ไทยสามัคคี”

ฉันจำตอนต้นของบทอาขยานนี้ได้ขึ้นใจ แม้ว่าจะไม่ได้เจอะเจอตัว(หนังสือ)เป็นๆ มายี่สิบกว่าปีแล้ว เหตุผลหนึ่งที่จำได้คงเป็นเพราะครูประจำชั้น ป.1 สั่งให้อ่านออกเสียงพร้อมกันเป็นสิบเป็นร้อยครั้ง จนเด็กความจำดีหลายคนยืดอกภูมิใจว่าตัวเองปิดหนังสือท่องได้จนจบ

ฉันเป็นหนึ่งในเด็กปิดหนังสือ ลอยหน้าลอยตารอครูชม แต่ผิดคาด ครูตวาดให้หยุดอ่านกลางคำ

    “ธงไทยไตรรงค์    เป็นธงสามสี

ทั้งสามสิ่งนี้             เป็นที่บู—”

ครูสั่งเปิดหนังสือให้หมดทุกคน แล้วสั่งให้เอานิ้วชี้ไปตามคำที่กำลังอ่าน

ตอนเด็กฉันงง นักเรียนอ่านจนจำได้น่าจะเป็นเรื่องดี ปกติครูชมเด็กความจำดี แต่ทำไมครั้งนี้ครูน้ำเสียงไม่สบอารมณ์ ตอนโตขึ้น รู้ความมากขึ้น เลยค่อยเข้าใจว่าวันนั้นครูไม่สบอารมณ์เพราะฉันกับเพื่อนอ่านผิดกาลเทศะ ทะเล่อไปอ่านตามความ(จำ) ครูให้อ่านตามตัวสะกด

เหตุการณ์วันนั้นผ่านไปด้วยดี ทุกคนเปิดหนังสืออ่านตามใจครู


หัดอ่านตามหลักสูตร

ณ ห้องเรียนชั้นประถมศึกษา เมือง(จริงแต่นามสมมติ)แทร็กตัน แห่งที่ราบแคโรไลน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา ทศวรรษ 1970 [1]

Shirley Brice Heath นักมานุษยวิทยาภาษา ได้ศึกษาชีวิตการอ่านเขียนในชุมชนสามชุมชนแห่งที่ราบแคโรไลน่า ทั้งสามชุมชนมีสภาวะทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมแตกต่างกัน Heath สงสัยว่าชีวิตการอ่านเขียนของเด็กแต่ละชุมชนเลื่อนไหลผ่านรอยต่อระหว่างบ้านกับโรงเรียนอย่างไร ในงานภาคสนาม Heath มองหากิจกรรมหรือสถานการณ์ในครอบครัวและในโรงเรียนที่มีภาษาเขียนเป็นองค์ประกอบสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบเหตุการณ์เหล่านี้ภายในชุมชนเดียวกันและระหว่างชุมชน Heath ช่วยให้เราเห็นว่าคนแต่ละชุมชนมีปฏิสัมพันธ์กับภาษาเขียนที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

ชุมชนแรกให้ชื่อว่าชุมชนเมืองเอก (Maintown) คนในชุมชนนิยามตัวเองว่าเป็น “ครอบครัวธรรมดาทั่วไป” เป็น “ชนชั้นกลาง” “กระแสหลัก” เด็กในชุมชนนี้ลืมตาเกิดมาท่ามกลางหนังสือ แม่อ่านหนังสือให้ฟังก่อนนอน เด็กรู้จักสนใจหนังสือ รู้จักตอบคำถามเกี่ยวกับหนังสือ อย่างเช่น นั่นใครเอ่ย? (หนูน้อยหมวกแดง) นี่อะไรเอ่ย? (ตะกร้าอาหารฝากคุณยาย) เมื่อกี้หมาป่าพูดว่าอะไรนะ? (หมาป่าบอกว่าฉันเป็นคุณยายของเธอไงล่ะ) หนูน้อยใส่หมวกสีอะไร? (สีแดง) เด็กรู้ว่าโลกในหนังสืออาจจะต่างไปจากโลกความจริง ผู้ใหญ่ส่งเสริมให้เด็กเล่าเรื่องตามจินตนาการ แม้จะยังอ่านหนังสือไม่ออก เด็กเริ่มขอเป็นคนอ่านหนังสือให้แม่ฟัง เรียกได้ว่าเด็ก “รู้หนังสือ” ก่อนจะอ่านออกเขียนได้เสียอีก สำหรับครอบครัวในเมืองเอก หนังสือมีอำนาจสั่งการ หนังสือกำกับความสนใจและจังหวะชีวิต เวลาที่เด็กหยิบจับหนังสือ ผู้ใหญ่มักจะผละจากกิจกรรมของตัวเองมาอ่านหนังสือให้เด็กฟัง เทียบกับกิจกรรมอื่นๆ การอ่านหนังสือเป็นกิจกรรมที่ไม่ตายตัว ทำเมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ข้อจำกัดอย่างเดียวคือต้องรู้จักรักษาหนังสือ อย่าขีดเขียน อย่าปล่อยให้เปียก ทำขาด หรือทำหาย [2] พ่อแม่มักจะชี้ชวนให้ลูกสังเกตเห็นสิ่งของและเหตุการณ์รอบตัว แล้วช่วยเชื่อมโยงกับเรื่องราวในหนังสือ พ่อแม่ในเมืองเอกบอกว่าซื้อหนังสือให้ลูกเพราะอยากให้ลูกรู้จักรักหนังสือ และความรักหนังสือจะนำไปสู่ความสำเร็จในโรงเรียน

ชุมชนกลางทาง (Roadville) เป็นชุมชนผิวขาวชนชั้นแรงงาน คนในชุมชนเป็นแรงงานในโรงงานทอผ้ามาตั้งแต่รุ่นทวด เด็กแรกเกิดในชุมชนกลางทางกลับจากห้องคลอดในโรงพยาบาลมาเจอห้องนอนประดับประดาด้วยโปสเตอร์และโมบายสีสด ผู้ใหญ่พูดกับทารกอย่างกับว่าเด็กรู้ภาษา แต่เวลาพูดกับเด็ก ผู้ใหญ่จะออกเสียงสระพยัญชนะชัดถ้อยชัดคำเกินปกติ พ่อแม่ลุงป้าน้าอาหรือพี่มักจะอ่านหนังสือให้เด็กฟัง กิจกรรมเกี่ยวกับหนังสือส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับพยัญชนะหรือสัญลักษณ์ เช่น “A เหมือน A ใน Apple” พออายุสักสามขวบกว่า เด็กโดนห้ามไม่ให้ขัดจังหวะเรื่องเล่าอีกต่อไป วิถีอ่านเอาความจากสิ่งพิมพ์ของครอบครัวกลางทางแตกต่างจากครอบครัวเมืองเอกมาก สำหรับครอบครัวกลางทาง กิจกรรมการอ่านไม่บูรณาการกับกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ไม่อ่านสูตรอาหารเวลาทำอาหาร สิ่งของและตัวละครจากหนังสือที่อ่านจำกัดอยู่ในกิจกรรมการอ่านหนังสือเท่านั้น ไม่ออกมาร่ายรำปะปนกับเหตุการณ์จริง เรื่องเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์จริงที่ผสมจินตนาการเข้าไปนับเป็นเรื่องโกหก เวลาที่เด็กจากชุมชนกลางทางเข้าโรงเรียน เด็กรู้จักตอบคำถามเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานเป็นอย่างดี แต่พอครูถามสะกิดให้สะท้อนคิดตอนท้ายเรื่อง อย่างเช่น ถ้าเธอเป็นบิลลี่เธอจะทำอย่างไร? จะเกิดอะไรขึ้นถ้าบิลลี่ไม่ไปแจ้งตำรวจ? เด็กจากชุมชนกลางทางมักจะตอบว่าไม่รู้ หรือไม่ก็ยักไหล่ไม่ไยดี แม้ว่าในชั้นต้นๆ เด็กจากชุมชนกลางทำท่าจะไปได้สวยด้านการเรียน ความสำเร็จทางการเรียนของเด็กชุมชนกลางทางเริ่มจางลงเมื่อเข้าชั้น ป.4 เพราะเป็นช่วงที่หลักสูตรเริ่มคาดหวังให้นักเรียนรู้จักคิดต่อยอดจากเรื่องที่อ่าน เช่น หลังจากอ่านบทความเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองในถิ่นที่อยู่ดั้งเดิม ครูให้นักเรียนคิดต่อว่าวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อถูกขับไล่เข้าเมือง เด็กชุมชนกลางทางไม่ใคร่คิดต่อ มักจะเขียนซ้ำข้อมูลที่อ่านมาเป็นคำตอบแทน

ชุมชนทางไถ (Trackton) เป็นชุมชนผิวดำชนชั้นแรงงาน คนในชุมชนส่วนมากเป็นแรงงานภาคการเกษตร บ้างทำงานบนที่ดินของตัวเอง บ้างเป็นแรงงานให้เจ้าของที่ดินคนอื่น เด็กในชุมชนทางไถกลับจากโรงพยาบาลมาในบ้านที่แวดล้อมด้วยผู้คน และแทบจะไร้สิ่งของ ไม่มีเปลนอนหรือตะกร้าติดเบาะรถ ที่จะมีอยู่บ้างคือเก้าอี้สูงสำหรับเด็ก เด็กทารกรายล้อมไปด้วยเสียงสนทนา ผู้ใหญ่ไม่พูดเปล่งพยางค์ให้ชัดเป็นพิเศษหรือตั้งใจพูดช้าลง เด็กค่อยๆ เรียนรู้มีส่วนร่วมในบทสนทนาที่ดำเนินไปอย่างไม่คอยใคร ผู้ใหญ่ไม่ถามคำถามพื้นฐานที่คำตอบตำตาเกี่ยวกับสีหรือรูปร่างเพียงเพื่อเป็นเกมให้เด็กตอบ แต่ผู้ใหญ่ในชุมชนทางไถถามถึงความคิดเห็นและความรู้สึกของเด็ก และจะถามเอาข้อเท็จจริงก็ต่อเมื่อผู้ใหญ่ไม่รู้คำตอบจริงๆ เช่น จะเอาอะไร? ไปเอาอันนี้มาจากไหน? ทำอย่างนั้นไปเอาอย่างใครมาน่ะ? พอเข้าโรงเรียน ครูชั้นเล็กๆ มักจะถามคำถามพื้นฐาน อันนี้เรียกว่าอะไร? นี่สีอะไร? เด็กจากชุมชนทางไถเหลืออดต่อคำถามซังกะตายอย่างนั้น เวลาฟังเรื่องราวจากหนังสือ เด็กมักจะตอบโต้ด้วยความคิดเห็นหรือความรู้สึกของตัวเอง เช่น บิลลี่ทำไมทำอะไรไม่ได้เรื่องเลย ใครจะไปทำอะไรอย่างไม่เข้าท่าอย่างนั้น? หรือเชื่อมโยงเรื่องราวในหนังสือกับประสบการณ์จริง เช่น ในหนังสือพูดถึงเป็ด เด็กก็จะโยงไปว่าที่บ้านผมมีเป็ด หรือ เมื่อวันเสาร์ผมไปยิงเป็ดกับพ่อ ในโรงเรียน การมีส่วนร่วมกับหนังสืออย่างนี้ถือว่านอกลู่นอกทาง หลักสูตรกำหนดว่าเด็กอายุเท่านี้ควรจะอ่านเอาข้อมูลพื้นฐาน (หมวกสีอะไร?) ให้ได้ก่อน ถึงจะเลื่อนขั้นไปแสดงความเห็นต่อตัวบท (ทำไมเขาถึงทำอย่างนั้น?) ทำให้เด็กจากชุมชนทางไถถูกประเมินผลการเรียนต่ำตั้งแต่ชั้นเล็กๆ เพราะไม่ยี่หระต่อคำถามพื้นฐาน พอถึงเวลาที่คำถามเชิงวิเคราะห์วิจารณ์มีความหมายขึ้นมาในชั้นสูงขึ้น เด็กชุมชนทางไถก็พลาดที่จะเก็บเกี่ยวทักษะการอ่านการเขียนพื้นฐานที่จำเป็น และกลายเป็นเด็กเรียนแย่ไปแล้ว

หลักสูตรให้อ่านตามข้อเท็จจริง เด็กนอกเมืองทะเล่อไปอ่านตามจินตนาการตามความรู้สึก

หากวิถีการอ่านแห่งเมืองเอกเป็นทางสายหลัก สอดคล้องคู่ขนานไปกับวิถีการอ่านในโรงเรียน วิถีการอ่านในอีกสองชุมชนที่ห่างไปจากเมืองเอกไม่กี่กิโลเมตรคงเป็นทางคดเคี้ยวตัดผ่านกับวิถีการอ่านในโรงเรียน มีทางเชื่อมอันตรายให้ตกไหล่ทางอยู่เป็นระยะๆ ป้ายบอกทางคอยให้ความหวังว่าถนนเส้นนี้จะพาไปถึงชีวิตที่ดีกว่า แต่สุดท้ายก็อาจจะไปสุดที่ทางตัน แม้ว่าครอบครัวในอีกสองชุมชนนี้เข้าใจว่าความสำเร็จในโรงเรียนเป็นหนทางเลื่อนขั้นทางเศรษฐกิจทางหนึ่ง ลูกหลานในสองชุมชนนี้มักไม่ประสบความสำเร็จในโรงเรียนอย่างที่พ่อแม่คาดฝัน


(เป็นเด็กเป็นเล็ก)หัดอ่านตามใจ(ใครดี)

ลองดูตัวอย่างจากนักอ่านวรรณกรรม ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ แจกแจงวิธีการอ่านวรรณกรรมไว้สี่ทิศทาง

  • อ่านตามใจผู้แต่ง—ผู้แต่งตั้งใจเขียนว่าอะไร ก็อ่านไปอย่างที่ผู้แต่งตั้งใจให้อ่าน
  • อ่านตามใจนึก—อ่านตามอำเภอใจและความพึงใจส่วนบุคคล เช่น รักนิยายเรื่องนี้เพราะแฟนซื้อให้ ชูศักดิ์บอกว่าแบบนี้อย่าอ่านเลย หรือถ้าอ่านแล้วก็กรุณาเก็บไว้ในใจคนเดียว
  • อ่านตามใจความ—อ่านตามเจตนาของตัวบท เพราะตัวบทวรรณกรรมเมื่อถูกเขียนขึ้นมาแล้วก็สื่อสารความหมายได้ด้วยตัวมันเอง ไม่ต้องคอยวิ่งหน้าตั้งไปถามคนเขียนว่าที่เขียนมาต้องการให้หมายความว่าอะไร อ่านเอาเองตามใจความ ซึ่งอ่านแล้วอ่านอีกหรืออ่านหลายคนอาจจะไม่ได้ความเดียวกันก็ได้
  • อ่านตามใจชอบ—หลายกรณีตัวบทวรรณกรรมคลุมเครือกำกวม ชวนผู้อ่านให้ต่อกรกับตัวบท การอ่านแบบนี้อาศัยการตอบโต้กันระหว่างตัวบทกับความสันทัด สันดานและรสนิยมการอ่านของผู้อ่าน

แล้วเป็นเด็กเป็นเล็ก จะอ่านตามใจใครดี?

ประสบการณ์ตรงของผู้เขียนสอนว่าให้อ่านตามใจครู เหตุการณ์ในห้องเรียน ป.1 เมื่อเกือบ 20 ปีก่อนนั้นผ่านไปด้วยดี เพราะทุกคนเปิดหนังสืออ่านตามใจครู ชีวิตจึงอยู่รอดปลอดภัยมาได้ถึงทุกวันนี้ ถ้าริอ่านตามใจชอบอย่างนักอ่านวรรณกรรมตั้งแต่ตอนนั้น ชีวิตคงจะตกไหล่ทางไปแล้วหลายตลบ

ปัจจุบัน กลอน “รักเมืองไทย” บทเดียวกันนี้ยังคงถูกบรรจุไว้ในหลักสูตร อยู่ในหนังสือเรียนวิชาภาษาไทย ชุดภาษาเพื่อชีวิต วรรณคดีลำนำ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 บทที่ 5 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 พลอยให้สงสัยว่า ผ่านไป 20 ปีแล้ว เด็กสมัยนี้ยังอ่านตามใจครูอยู่ไหม

จากการสำรวจอินเตอร์เน็ตอย่างคร่าวๆ พบใบงานแบบฝึกหัดท้ายบท “รักเมืองไทย” ที่แบ่งปันกันอย่างแพร่หลายราวกับมีม คือใบงานที่ยกมาไว้ข้างล่างนี้ (หาได้จากหลายแหล่งจนไม่รู้จะอ้างแหล่งไหน ฉบับนี้เอามาจากที่นี่)

อ่านแบบฝึกหัดท้ายบทที่ระบาดราวกับมีม เด็กปิดหนังสือท่องได้อย่างฉันแทบจะตรอมใจตาย [แต่เจอข้อ 6 เข้าไปก็ใจอ่อนนะ—ผู้เขียน]

ในระบบการศึกษาที่มีคะแนนเป็นสำคัญ เป็นตัวเลขตัดสินตัวตน-คุณค่า กะเกณฑ์สิทธิเข้าถึงทรัพยากรการศึกษา ส่งผลกระทบต่อโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต คงจะต้องอ่านตามใจครูผู้แต่งหลักสูตรและครูผู้แต่งข้อสอบไปพลางๆ ก่อน เพื่อความอยู่รอดของชีวิต

ถ้ายังมีกำลัง(ใจ)เหลือจากการอ่านตามกาลเทศะ หัดอ่านเอาจิตวิญญาณให้รอดไปด้วยก็จะดี


 

[1] บทความต้นทางคือ Heath, S. B. (1982). What no bedtime story means: Narrative skills at home and school. Language in society, 11(1), 49-76.

[2] เขียนมาถึงตรงนี้แล้วสะดุดใจ อดไม่ได้จริงๆ ที่จะเอามาเทียบกับคำบรรยายของศรีดาวเรืองถึงพฤติกรรมการอ่านของคนบ้านนอก ศรีดาวเรืองเล่าว่า

“คนบ้านนอก เวลาอ่านหนังสือ เขาไม่จำชื่อคนแต่งกันหรอก อย่างอ่านหนังสือนี่นะ คำนำเข้าก็ไม่อ่าน เปิดมาอ่านเรื่องเลย และอ่านหนังสือแล้วก็ทิ้ง ไม่มีเก็บ ไม่มีถนอม อย่างบางทีอ่านๆ อยู่ ลูกกวนก็เอาหนังสือนั่นแหละฟาดลูก อ่านยังไม่ทันจบเล่มเลย หนังสือขาดแล้ว”

ชูศักดิ์ ครูทางไกลผ่าน วารสาร อ่าน วิเคราะห์พฤติกรรมการอ่านของคนบ้านนอกตามคำบรรยายของศรีดาวเรืองไว้ว่า “นี่คือสปิริตที่แท้จริงของการอ่านที่เคารพเทิดทูน ‘ตัวหนังสือ’ ให้อยู่เหนือ ‘หนังสือ’ มันคือการอ่านเพื่ออ่านจริงๆ มิใช่การอ่านเพื่อทำให้หนังสือกลายเป็นของขลัง (fetish) ที่เราต้องทนุถนอมเชิดชูบูชาเพื่อชดเชยปมบางอย่างในตัวเราเอง”

ภาพประกอบ โดย Pi Songkuntham