สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

สถาปัตยกรรมไทยหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49

360 ฿440 ฿

ปรากฏการณ์สถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

รายละเอียด

สถาปัตยกรรมไทย
หลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๔๙
โดย ชาตรี ประกิตนนทการ
คำนิยมโดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก มีนาคม 2558
ปกอ่อน ราคา 450 บาท
ปกแข็ง ราคา 550 บาท

บางส่วนจากคำนิยมโดยชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์


บทความหลายชิ้นที่รวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้คือความพยายามของอาจารย์ชาตรีที่จะเผยให้เราเห็นถึงชุดคุณค่าและอุดมการณ์ที่แฝงตัวอยู่ในอาคารสถานที่สาธารณะเช่น อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ (ที่กำลังจะสร้าง) อาคารศาลฎีกา (ที่กำลังจะถูกทุบทิ้ง) หรือพื้นที่สาธารณะเช่น สนามหลวง เป็นต้น การวิเคราะห์ความหมายเชิงระบบคุณค่าที่กำกับและแฝงอยู่ในศิลปะ สถาปัตยกรรม และพื้นที่ดังที่พบในงานของอาจารย์ชาตรีนั้น เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในวงวิชาการด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมไทย ปฏิกิริยาเชิงปฏิเสธหรือกระทั่งต่อต้านบทวิเคราะห์เหล่านี้เป็นเรื่องที่คาดหวังได้ เนื่องจากคนจำนวนไม่น้อยคาดและคิดไม่ถึงว่าวัตถุวัฒนธรรมเหล่านี้จะมีความหมายอื่นที่นอกเหนือไปจากความงามและประโยชน์ใช้สอย สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นชินกับการวิเคราะห์ในแนวสัญศาสตร์ ผมเสนอว่าก่อนที่ท่านจะรีบปฏิเสธข้อเสนอต่างๆ ของหนังสือเล่มนี้ ขอให้ท่านละวางความเข้าใจเดิมๆของท่านไว้ชั่วขณะ และติดตามอ่านบทวิเคราะห์ของอาจารย์ชาตรีไปจนจบกระบวนความ และท่านจะพบว่าข้อเสนอต่างๆ ของอาจารย์ชาตรีมีน้ำหนักน่ารับฟังและควรค่าต่อการนำไปครุ่นคิดต่อทั้งสิ้น ในท้ายที่สุดท่านอาจจะไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปของอาจารย์ชาตรี แต่ผมเชื่อว่าท่านจะเริ่มมองวัตถุทางวัฒนธรรมรอบตัวของท่านด้วยสายตาที่เปลี่ยนไปไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน และผมคิดว่านี่คือเป้าหมายสำคัญของหนังสือเล่มนี้ที่จะชี้ชวนและชักชวนให้ท่านหันมาไตร่ตรองและมองปรากฏการณ์ทางศิลปะและสถาปัตยกรรมด้วยสายตาเชิงวิพากษ์วิจารณ์


คำนำสำนักพิมพ์ / ไอดา อรุณวงศ์

ในจำนวน 16 บทความในหนังสือเล่มนี้, 12 บทความเคยตีพิมพ์ระหว่างปี 2551-2556 ในคอลัมน์ประจำของอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ ที่อยู่ในวารสารอ่าน ส่วนอีก 4 บทความแม้จะตีพิมพ์ครั้งแรกมาจากที่อื่น แต่ก็ได้คัดสรรมาพิมพ์รวมเข้าไว้ด้วยกัน ภายใต้โครงเรื่องอันว่าด้วยปรากฏการณ์สถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49

มานึกย้อนความหลังกลับไปในปี 2551 เมื่อแรกเริ่มก่อตั้งวารสารอ่าน วันที่ดิฉันตัดสินใจติดต่ออาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ เพื่อขอเชิญเขียนบทความลงวารสารอ่าน โดยที่ยังไม่เคยรู้จักกันมาก่อนนั้น ดิฉันเพียงแต่แน่ใจว่าเราน่าจะได้ผลงานเขียนที่น่าสนใจและน่าพอใจในแง่ของคุณภาพการวิเคราะห์วิจารณ์และคุณภาพการเขียน แต่ยังไม่ทันได้มีความตระหนักมากพอว่า โลกของศิลปะสถาปัตยกรรม จะสามารถถูก “อ่าน” โดยคู่ขนานไปกับโลกของการเมืองวัฒนธรรมไทยได้อย่างเข้มข้นถึงเพียงนี้ ความด้อยปัญญาของดิฉันสาหัสถึงขั้นว่า ดิฉันนึกไม่ออกว่าควรจะตั้งชื่อคอลัมน์นี้ว่าอย่างไร ในคราวเร่งรีบต้องส่งต้นฉบับเข้าโรงพิมพ์ เมื่อฝ่ายศิลป์ในขณะนั้น คือคุณดนัยพันธ์ วัชรีวงศ์ ส่งสเก็ตช์เลย์เอาท์มาให้ แล้วเซฟไฟล์งานมาในชื่อง่ายๆ ว่า “อ่าน arch” ดิฉันก็ฉวยเอาชื่อไฟล์งานนั้นมาเป็นชื่อคอลัมน์ โดยคิดเอาคร่าวๆว่า คำว่า arch ที่เป็นการย่อคำมาจาก architecture นั้น ชวนให้ประหวัดไปถึงทั้งรูปทรงอันเป็นองค์ประกอบหนึ่งทางสถาปัตยกรรม และรากคำที่เมื่อนำไปใช้เป็น prefix หรือ suffix ของคำใดแล้ว ก็จะทำให้ฐานะของคำนามหลักนั้น ดูมีอำนาจในการนำ หรืออำนาจในการอ้างสิทธิขึ้นมา ดิฉันตะแบงเข้าข้างตัวเองไปว่า มันครือๆกับก็อะไรๆในข่ายของการสำแดงอำนาจนั่นละว้า

แล้วตลอดต่อมานับแต่นั้นที่ปัญญาของดิฉันได้งอกเงยขึ้นจากการอ่านต้นฉบับของอาจารย์ชาตรีที่ตีพิมพ์ในวารสารอ่าน และตลอดจนถึงปัจจุบันที่มาทำเป็นต้นฉบับรวมเล่มสี่ร้อยกว่าหน้าเล่มนี้ ใช่แต่ดิฉันเท่านั้น แต่เราสามคนคณะบรรณาธิการก็ได้ซึ้งแก่ใจ ถึงนัยยะแห่งอำนาจที่สำแดงผ่านสนามปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมอันเรียกว่าสถาปัตยกรรม และเป็นความซึ้งแก่ใจที่มาพร้อมการทอดถอนใจของพวกเรา (หากมิใช่กระดกแก้วเหล้าย้อมใจตามไปในบางคราว) เมื่อหวนนึกถึงวรรคทองต้องคำสาปครั้งเก่าที่ว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

ดิฉันเคยแซวอาจารย์ชาตรีไว้นานแล้วว่า ทำไมหนังสือไม่ว่าจะกี่เล่มๆของอาจารย์ ถึงได้ตั้งชื่อเสียยืดยาวราวกับวิทยานิพนธ์นักศึกษาขนาดนั้น อาจารย์ชาตรีบอกว่าไม่เคยตั้งชื่อเองเลย ไม่รู้จะตั้งอย่างไร จึงปล่อยให้เป็นสิทธิของบรรณาธิการแต่ละท่านตลอดมา และในครั้งนี้อาจารย์ชาตรีก็ขอให้ดิฉันตั้งชื่อให้ใหม่ โดยดักทางไว้ว่าให้สั้นกว่าชื่อบทนำที่อาจารย์ตั้งมาว่า “ปรากฏการณ์สถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49”

ในคราวนี้ที่ดิฉันซึ้งแน่แก่ใจกว่าเมื่อคราว 2551 แล้วว่าอะไรเป็นอะไรในโลกศิลปะสถาปัตยกรรม แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าดิฉันก็ยังเข้าตาจนเหมือนเดิม เพราะถ้าให้ตั้งชื่อกันโดยสัตย์ซื่อต่อชะตากรรมอันเป็นปัจจุบันจริงๆ มันคงไม่เพียงแต่ไม่อาจย่อเอาง่ายๆอย่าง “arch” แต่กลับจะยิ่งต้องยาวไปอีกเป็นว่า “ปรากฏการณ์สถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49 และ 22 พฤษภา 57 และที่จะตามมาอีกไม่รู้กี่ครั้ง จนกว่าชนชั้นนำ และราษฎรประเทศนี้จะรู้ซึ้งกันไปทุกฝ่ายข้าง ว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

อย่ากระนั้นเลย, ดิฉันทำใจ, ก็แค่ตัดคำที่ยาวเหล่านั้นให้สั้นลงมาหน่อยนึงก็ได้ เผื่อว่าวงการสถาปัตยกรรมไทยหลังจากนี้จะเป็นฝ่ายรุกปักหมุดขึ้นมาบ้างว่า สถาปัตยกรรมก็เป็นหนึ่งในอำนาจทางภาษาของราษฎรทั้งหลาย ที่เราสามารถจะ “อ่าน” และ “เขียน” มันขึ้นเองมาได้ ดังที่อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ ได้พยายามกระตุ้นเตือนไว้ในหนังสือเล่มนี้

อื่นๆ

ผู้เขียน

ชาตรี ประกิตนนทการ

คำนิยม

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

บรรณาธิการ

ไอดา อรุณวงศ์

ปก

ปกแข็ง, ปกอ่อน

ปีที่พิมพ์

มีนาคม 2558