สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

อ่านซ้ำ : การเมืองวรรณกรรมวรรณกรรมการเมือง

450 ฿650 ฿

รายละเอียด

อ่านซ้ำ
การเมืองวรรณกรรมวรรณกรรมการเมือง

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ เขียน
ไอดา อรุณวงศ์ คำนำ

พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2566
หนังสือขนาด 16.5×24 ซม. จำนวนหน้า 396 หน้า
เข้าเล่มเย็บกี่ไสกาว ปกแข็งมีแจ๊คเก็ตหุ้มปก

อารัมภบท โดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

จาก “อ่านใหม่” มาเป็น “อ่านซ้ำ”

บทความที่รวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ส่วนใหญ่คือบทความจากคอลัมน์ “อ่านใหม่” ในวารสาร อ่าน และบางส่วนเป็นบทความที่เคยนำเสนอในงานเสวนาวาระต่างๆ ผมได้เสนอทางสำนักพิมพ์ให้ตั้งชื่อหนังสือว่า “อ่านซ้ำ การเมืองวรรณกรรมวรรณกรรมการเมือง” เพื่อให้หลีกล้อและแตกต่างจากหนังสือรวมบทวิจารณ์วรรณกรรมเล่มก่อนหน้านี้ ที่ชื่อว่า “อ่านใหม่ เมืองกับชนบทในวรรณกรรมไทย” (2558) ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่านเช่นกัน พร้อมกันนี้ ผมได้ขอให้คุณไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการวารสาร อ่าน ได้ช่วยเขียนคำนำสำหรับหนังสือเล่มนี้ด้วย ในฐานะบรรณาธิการ คุณไอดาได้ช่วยดูแลต้นฉบับบทความทุกชิ้นที่ผมส่งไปตีพิมพ์อย่างพิถีพิถัน ทั้งยังให้คำแนะนำและข้อคิดอันทรงคุณค่ากับบทความหลายชิ้น รวมทั้งช่วยเสนอแนะตัวบท
วรรณกรรมบางชิ้นที่ควรค่าแก่การศึกษา ดังนั้นจึงไม่มีใครอีกแล้วที่จะเหมาะสมไปกว่าคุณไอดา

อันที่จริงแล้ว คำว่า “อ่านซ้ำ” หรือ “อ่านใหม่” ต่างก็แปลมาจากคำเดียวกันในภาษาอังกฤษว่า “reread” ในหนังสือ อ่านใหม่ เมืองกับชนบทในวรรณกรรมไทย ผมได้อธิบายไปแล้วถึงนัยยะของการอ่านซ้ำ/อ่านใหม่ ในที่นี้จะขออนุญาตยกเฉพาะคำพูดของ โรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) มาฉายซ้ำ

กิจที่พึงกระทำเบื้องแรกสุดคือการอ่านซ้ำ อันเป็นปฏิบัติการที่สวนทางกับกิจวัตรการอ่านภายใต้กลไกการค้าและอุดมการณ์ของสังคมที่คอยบอกให้เรา “โยนทิ้ง” เรื่องที่อ่านทันทีที่เราบริโภค (“สวาปาม”) เสร็จ เพื่อที่เราจะได้อ่านเรื่องอื่นต่อไป และซื้อหนังสือเล่มต่อไป จะมีก็เพียงกลุ่มผู้อ่านจำนวนน้อยนิดในสังคมนี้เท่านั้นที่ได้รับการผ่อนปรนให้อ่านซ้ำได้ (เด็ก คนแก่ และอาจารย์มหาวิทยาลัย) การอ่านซ้ำคือการปกป้องตัวบทจากความซ้ำซาก (ผู้ใดที่ไม่เคยอ่านซ้ำ ผู้นั้นจะถูกบังคับให้ต้องอ่านเพียงเรื่องเดิมๆ ในทุกๆ เรื่องที่อ่าน) การอ่านซ้ำช่วยเพิ่มพูนและทวีคูณความหลากหลายและความเป็นพหุลักษณ์ของตัวบท (S/Z, 15-16)

การอ่านซ้ำดังที่บาร์ตส์เสนอในที่นี้ เป็นปฏิบัติการเชิงการเมืองของผู้อ่านที่ขัดขืนการผูกขาดด้านความหมายของตัวบท และต่อต้านวัฒนธรรมการบริโภคตามตรรกะของกลไกตลาดในระบบทุนนิยม ในทำนองเดียวกัน บทความที่รวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้ก็สามารถถือได้ว่าเป็นปฏิบัติการทางเมืองของวรรณกรรมวิจารณ์ ที่พยายามสร้างบทสนทนากับตัวบทวรรณกรรมที่นำมาอ่านซ้ำและอ่านใหม่ (ในความหมายว่าเป็นตัวบทที่ไม่เคยอ่านมาก่อน) ตลอดจนชักชวนให้วิสาสะและวิวาทะกับการตีความที่เคยมีมา ที่ยังมีอยู่ และที่อาจจะมีใหม่

อะไรคือการเมืองวรรณกรรม วรรณกรรมการเมืองคืออะไร

บทความที่คัดสรรมารวมเล่มครั้งนี้แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นการศึกษามิติและนัยยะทางการเมืองของวรรณกรรมในฐานะวัสดุทางวัฒนธรรม (cultural artefacts) และปรากฏการณ์เชิงสังคม (social phenomena) นั่นคือความเป็นการเมืองของวรรณกรรม ส่วนกลุ่มที่สองเป็นการวิเคราะห์ความหมายและนัยยะทางการเมืองในตัวบทวรรณกรรม นั่นคือวรรณกรรมการเมือง

โดยทั่วไปเรามักจะนึกถึงวรรณกรรมในฐานะรูปแบบหนึ่งของความบันเทิงเริงรมย์ หรือไม่ก็เป็นศิลปะแขนงหนึ่ง หรือไม่ก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และสำหรับบางคนบางกลุ่ม วรรณกรรมคือเครื่องหมายแสดงอารยธรรม การเมืองกับวรรณกรรมจึงดูเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะอยู่คู่กันได้ อย่างมากที่เราจะนึกเชื่อมโยงการเมืองกับวรรณกรรม มักเป็นในแง่ที่ว่า วรรณกรรมบางเล่มบางเรื่องมีเนื้อหาพาดพิงเกี่ยวกับการเมือง หรือไม่ก็ในแง่ที่ว่านักเขียนบางคนบางกลุ่มมีความคิดทางการเมืองหรือร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองในทางใดทางหนึ่ง ทัศนะที่แบ่งแยกวรรณกรรมออกจากการเมืองดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้อาจถือได้ว่าเป็นความสำเร็จของการเมืองวรรณกรรม เพราะมันสามารถทำให้คนโดยทั่วไปมองไม่เห็นความเป็นการเมืองของวรรณกรรม

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า เรามีแนวโน้มจะมองคำว่า “การเมือง” ในความหมายแคบ หรือมุ่งดูเฉพาะสิ่งที่เป็นสถาบันทางการเมือง เช่น รัฐบาล รัฐสภา หน่วยงานราชการ พรรคการเมือง องค์กรเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ หรือไม่ก็รูปแบบการปกครอง เช่น ระบอบประชาธิปไตย ระบอบสังคมนิยม ระบอบเผด็จการ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฯลฯ แน่นอนว่าสถาบันและรูปแบบทางการเมืองดังว่าย่อมอยู่ห่างไกลกับวรรณกรรมอย่างไม่ต้องสงสัย แต่หากเราพิจารณาคำว่า “การเมือง” ในความหมายกว้างว่าคือความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคนหรือกลุ่มคน หรือองค์กรหรือวัตถุสิ่งของในสังคม เช่น อาจารย์กับนักเรียนสัมพันธ์กันอย่างไรในชั้นเรียน พ่อแม่และลูกสัมพันธ์กันในลักษณะใดในบ้าน ถนนกับทางม้าลายกับทางเท้าสัมพันธ์กันอย่างไรในระบบจราจรไทย ที่ดิน น้ำ คูคลอง สัมพันธ์กันในลักษณะใดในระบบเกษตรกรรมของไทย ฯลฯ ความสัมพันธ์เหล่านี้ล้วนมีความเป็นการเมืองให้พินิจพิจารณาทั้งสิ้น

การศึกษาการเมืองวรรณกรรมจึงเป็นการมองวรรณกรรมในฐานะวัสดุทางวัฒนธรรมและปรากฏการณ์เชิงสังคมที่มีหลายฝ่าย (รัฐ หน่วยงานและองค์กรต่างๆ สำนักพิมพ์ นักเขียน นักวิจารณ์ นักวิชาการ ผู้อ่าน ฯลฯ) เข้ามาเกี่ยวข้อง ภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย หนังสือลักษณะใดจึงจะได้รับการยอมรับว่าเป็นวรรณกรรม วรรณกรรมประเภทใดจัดว่าเป็นเรื่องอ่านเล่น และประเภทใดจัดว่าเป็นศิลปะ วรรณกรรมต้องมีคุณสมบัติใดบ้างจึงจะสามารถเข้าไปอยู่ในทำเนียบวรรณกรรมยอดเยี่ยม ข้อเขียนชนิดใดจึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนังสือดีเด่นที่ทุกคนควรอ่าน ใครบ้างที่จัดว่าเป็นนักเขียน ใครบ้างพึงจะได้รับการเชิดชูให้เป็นศิลปินและศิลปินแห่งชาติ ฯลฯ ประเด็นคำถามเหล่านี้คือการเมืองของวรรณกรรมทั้งสิ้น เพราะเกณฑ์และมาตรฐานเชิงสุนทรียศาสตร์ที่ใช้กำหนดและคัดเลือกเพื่อจำแนก แบ่งประเภท หรือเพื่อยกย่องเชิดชูวรรณกรรมและนักเขียนมิได้มีความเป็นสากลเช่นที่คนมักเข้าใจกัน แต่อิงอยู่กับอคติและชุดคุณค่าบางประการที่แปรเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขและบริบททางสังคมเสมอ

โดยปกติแล้ว มาตรฐานและชุดคุณค่าด้านวรรณกรรมอาศัยเวลาค่อนข้างยาวนาน บางครั้งนานชั่วอายุคนจึงจะเกิดการขยับปรับเปลี่ยน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องยากที่เราจะรู้สึกถึงความเป็นการเมืองของมัน ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องโชคดีหรือโชคร้ายกันแน่ แต่วงการวรรณกรรมไทยในรอบสามสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้อยู่ในยุคของการเปลี่ยนผ่านทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม จนเป็นเหตุให้เราได้เห็นการปรับเปลี่ยนอย่างรุนแรงและอย่างชนิดกลับซ้ายเป็นขวาในวงการนักเขียนและวรรณกรรมได้อย่างชัดเจนจนแสบตา บทความหลายชิ้นในภาคแรกของหนังสือเล่มนี้พยายามจะทำความเข้าใจและอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว

ภาคสองของหนังสือคือวรรณกรรมการเมือง เช่นเดียวกัน หนังสือเล่มนี้ใช้คำคำนี้ในความหมายกว้างกว่าความเข้าใจทั่วไป กล่าวคือเมื่อพูดถึง “วรรณกรรมการเมือง” เรามักนึกถึงเฉพาะวรรณกรรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองโดยตรง เช่น ไผ่แดง ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นวรรณกรรมการเมืองเพราะมีเนื้อหาเสียดสีแนวคิดสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ หรือ แลไปข้างหน้า ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นวรรณกรรมการเมืองเพราะพูดถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่หากเรายอมรับนิยามของการเมืองในความหมายกว้างคือความสัมพันธ์ทางอำนาจ วรรณกรรมทุกชิ้นไม่ว่าเป็นนิทานพุทธภาษิต นวนิยายรักโรแมนติค เรื่องสั้นแนวหักมุม บทกวี และบันทึกความทรงจำ ต่างสามารถเป็นวรรณกรรมการเมืองได้ทั้งสิ้น หากผู้อ่านมุ่งเพ่งเล็งไปยังมิติต่างๆ ของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ โดยเฉพาะมิติเรื่องชาติพันธุ์ เพศสถานะ ชนชั้น วัยหรือเจเนเรชั่น ทั้งที่ปรากฏหรือไม่ปรากฏ แต่ทำหน้าที่กำกับชุดความสัมพันธ์และชุดความหมายในงานเหล่านั้น

อนึ่ง การวิเคราะห์การเมืองวรรณกรรมและวรรณกรรมการเมืองในหนังสือเล่มนี้จะแตกต่างกับแนวทางการศึกษาวรรณกรรมเชิงสังคมวิทยาและเชิงรัฐศาสตร์อยู่ค่อนข้างมาก ขณะที่การวิเคราะห์การเมืองกับวรรณกรรมในแนวสังคมวิทยาและแนวรัฐศาสตร์ในอดีตมักนิยมมองว่า ตัวบทวรรณกรรมเป็นผลผลิตของบริบททางสังคมและการเมืองของยุคสมัย นักวรรณกรรมศึกษากลับมองว่าสิ่งที่เรียกว่า “บริบท” ทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม หรือประวัติศาสตร์ นั้น เมื่อวิเคราะห์ถึงที่สุดแล้วก็คือ “ตัวบท” ชนิดหนึ่ง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบริบทกับวรรณกรรมจึงเป็นไปในลักษณะสอดประสาน เกื้อหนุน หรือโต้ตอบกันและกัน มากกว่าจะเป็นในลักษณะที่บริบทกำหนดตัวบท หรือตัวบทเป็นภาพสะท้อนของบริบท ถ้าจะยืมคำที่บาร์ตส์ใช้ก็ต้องบอกว่า ตัวบทมิได้สัมพันธ์กับบริบทในฐานะที่ถูกกำหนดโดยบริบท แต่ว่าทั้งตัวบทและบริบทต่างอ้างอิงกันไปมา และนี่คือความเป็นสัมพันธบทในทัศนะของบาร์ตส์ (Barthes, “Textual Analysis” 261-262) ดังนั้นแม้จะมุ่งมองการเมืองของวรรณกรรมในฐานะปรากฏการณ์ทางสังคมและในฐานะวัสดุทางวัฒนธรรม แต่บทความในหนังสือเล่มนี้เลือกจะวิเคราะห์ตัวบทวรรณกรรมโดยละเอียด ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ “บริบท” ทางสังคม การเมือง และประวัติศาสตร์ ในฐานะตัวบทชนิดหนึ่ง

บริบท/ตัวบท ปฐมบท/ปัจฉิมบท

ด้วยสปิริตของชื่อหนังสือเล่มนี้ เมื่อกลับไปอ่านซ้ำบทความแต่ละชิ้น ผมได้เขียนตัวบทสั้นๆ อีกชิ้นหนึ่งขึ้นมาประกบ โดยตั้งชื่อข้อเขียนสั้นๆ นี้ว่า “อ่านซ้ำ” ตามด้วยหมายเลขไล่ไปตามลำดับ 1, 2, 3 เพื่อทำหน้าที่บอกบริบทและความเป็นมาเป็นไปของบทความชิ้นนั้นๆ แต่ก็ดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ สิ่งที่เรียกว่าบริบทนั้น ในที่นี้จริงๆ แล้วก็เป็นตัวบทอีกหนึ่งชิ้น นอกจากนี้ ตัวบท/บริบทที่ทำหน้าที่เป็นปฐมบทบอกเล่าความเป็นมาเป็นไปของบทความ จริงๆ แล้วก็สามารถมองได้ว่าเป็นปัจฉิมบทของบทความ เพราะเขียนขึ้นหลังจากที่กลับมาอ่านซ้ำบทความอีก
รอบหนึ่ง

“อารัมภบท” ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ก็เช่นกัน อันที่จริงแล้วเขียนขึ้นหลังสุด

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
2 สิงหาคม 2566

อื่นๆ

ปก

ปกแข็ง, ปกอ่อน