สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

ชุมนุมบทความและปกิณกคดีของอัศนี พลจันทร เล่ม 2

Original price was: 260 ฿.Current price is: 195 ฿.

หมวดหมู่:

คำอธิบาย

ชุมนุมบทความและปกิณกคดีของอัศนี พลจันทร เล่ม 2
ผู้เขียน อัศนี พลจันทร
ลำดับที่ 14 ในโครงการ “อ่านนายผี”
พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก กันยายน 2561
264 หน้า ราคา 260 บาท
ISBN 978-616-7158-82-2

 

หมายเหตุบรรณาธิการ

ชุมนุมบทความและปกิณกคดีของอัศนี พลจันทร เล่ม 2 เป็นผลงานในกลุ่มบทความและบทบรรณาธิการของอัศนี พลจันทร ที่ตีพิมพ์ระหว่างปี 2490-2492 ในหนังสือพิมพ์รายวัน สยามนิกร และสิ่งพิมพ์รายสัปดาห์ คือ สยามสมัย, การเมือง และ มหาชน ทั้งนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว เขาเป็นอัยการอยู่ที่จังหวัดสระบุรีและพระนครศรีอยุธยา

ข้อเขียนที่อยู่ในเล่มนี้ยังคงมีเนื้อหาทั้งด้านวรรณคดีและที่เกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง แต่ประเด็นที่โดดเด่นคือเรื่องเกี่ยวกับมุสลิมภาคใต้ โดยเฉพาะ “สารคดีพิเศษ” ความยาวหกตอนในปี 2490 เรื่อง “บริเวณ ๗ หัวเมือง” ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลพื้นฐานตั้งแต่ภูมิศาสตร์ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนการปกครองและการศาลที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่อันเชื่อมโยงกับหลักคำสอนของอิสลาม โดยในระยะไล่เลี่ยกันนั้นก็มีบทบรรณาธิการว่าด้วยการเมืองในบริเวณ 7 หัวเมือง ด้านวรรณคดีก็มีการแนะนำผลงานอย่างนิทาน “เทวาธรรมเทพกับเทวีธรรมเทวี” ซึ่งเป็นที่นิยมอ่านกันในหมู่ชาวมลายู* รวมถึงงานชุดอิเหนาซึ่งมีรากเหง้ามาจากอินโดนีเซีย ตลอดไปจนถึงวรรณคดีสำคัญของโลกอาหรับ นอกจากนี้ยังมีข้อเขียนชื่อ “ความเห็นผู้อ่านต่อกรณีย์ ๔ จ.ว. ภาคใต้” เป็นจดหมายขนาดยาวลงนามว่า “อ.ส.” ตีพิมพ์อยู่ใน มหาชน เดือนพฤษภาคม ปี 2491 ภายหลังจากที่ฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา ผู้นำศาสนาอิสลาม ถูกจับกุมในเดือนมกราคม และเกิดกรณีปราบปรามประชาชนที่บ้านดุซงญอที่นราธิวาสในปลายเดือนเมษายนปีเดียวกัน นอกจากนั้นในปี 2492 ยังมีบทบรรณาธิการอีกหนึ่งชิ้นที่หวนกลับมาเขียนถึงสถานการณ์พื้นที่มลายูด้วย

เนื้อหาสำคัญอื่นๆ ที่ปรากฏในข้อเขียนช่วงปี 2490-2491 แวดล้อมอยู่กับปัญหาต้นแบบของโจรหรือ “เสือ” ที่ “ปล้นคนรวยช่วยคนจน” ไปจนถึงข่าววิสามัญฆาตกรรมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง การแสดงความเห็นต่อประเด็นเหล่านี้มักมีการแทรกมุมมองทางกฎหมาย กระทั่งมีหลายชิ้นที่เป็นการอภิปรายข้อกฎหมายโดยตรง รวมถึงปัญหาเรื่องสิทธิอำนาจระหว่างอัยการกับผู้พิพากษาและปัญหากระบวนการทางอาญาที่พาดพิงไปถึงชะตากรรมของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นตกเป็นผู้ต้องหาใน “กรณีสวรรคต” และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้รับผลกระทบจากกระแสการกวาดล้างทางการเมืองที่ตามมาต้นร่างของงานที่นำมาพิมพ์รวมในเล่มนี้มาจากฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกทั้งหมด ส่วนหนึ่งเราได้รับมอบมาจากคุณวิมลมาลี พลจันทร ซึ่งเป็นทายาทผู้ดูแลต้นฉบับและผลงานของคุณอัศนี รวมทั้งงานต้นร่างที่คุณวิมล พลจันทร ริเริ่มไว้อย่างยากลำบาก คงมีเฉพาะต้นฉบับใน มหาชน ที่เราทำสำเนาจากไมโครฟิล์มในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ส่วนต้นฉบับใน การเมือง นั้น เราได้รับน้ำใจจากคุณไทเรล ฮาเบอร์คอร์ณ (Tyrell Haberkorn) ในการทำสำเนามาให้จากห้องสมุดมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เช่นกันกับที่เราได้รับน้ำใจจากคุณธิกานต์ ศรีนารา และคุณปราการ กลิ่นฟุ้ง ที่มอบสำเนาบางส่วนจากต้นฉบับ การเมือง ซึ่งเคยมีเก็บอยู่ในห้องสมุดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาให้ สำหรับต้นฉบับใน สยามนิกร นั้น เราได้รับบริการด้านค้นคว้าอย่างดีจากหอสมุดแห่งชาติ และสำนักพิมพ์อ่านขอขอบคุณ อ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ที่กรุณาช่วยเหลือในการค้นหาเอกสารมาให้เพื่อใช้สอบทานในขั้นงานบรรณาธิการ

อนึ่ง เกณฑ์การชำระต้นฉบับของเล่มนี้ เป็นไปตามที่ระบุไว้ในหมายเหตุ บ.ก. ของ ชุมนุมบทความฯ เล่ม 1

 

———-

* ที่น่าสังเกตคือแม้คุณอัศนีจะใช้วิธีเล่าเรื่องย่อแล้วเขียนคำอธิบายต่อท้าย ซึ่งเป็นรูปแบบการเขียนที่เขาเคยทำมาแล้วเมื่อเขาเขียนถึงบทละครกรีก (“ออยดิปุสประภุ”, สยามนิกร 8, 10 ก.ย. 2489) แต่ครั้งนั้นตีพิมพ์ภายใต้คอลัมน์ชื่อ “จักรวาฬวรรณกรรม” ในนามปากกา “อินทรายุธ” ส่วนครั้งนี้แม้จะเป็นข้อเขียนในรูปแบบเดียวกัน แต่เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับมลายู ก็ไปอยู่ในข่ายคอลัมน์ “สารคดีพิเศษ” และในนามปากกา อ.ส. ที่เขามักใช้เมื่อเขียนเกี่ยวกับอิสลามหรือมลายู

 

 

© 2018 ติดต่อหรือแลกเปลี่ยนความเห็นที่ [email protected]