สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

ชุมนุมบทความและปกิณกคดีของอัศนี พลจันทร เล่ม 3

250 ฿

หมวดหมู่:

รายละเอียด

ชุมนุมบทความและปกิณกคดีของอัศนี พลจันทร เล่ม 3
ผู้เขียน อัศนี พลจันทร
ลำดับที่ 15 ในโครงการ “อ่านนายผี”
พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก กันยายน 2561
286 หน้า ราคา 280 บาท
ISBN 978-616-7158-83-9

หมายเหตุบรรณาธิการ

ชุมนุมบทความและปกิณกคดีของอัศนี พลจันทร เล่ม 3 เป็นการรวบรวมงานเขียนของคุณอัศนีที่ตีพิมพ์ระหว่าง พ.ศ. 2493-2495 และอีกหนึ่งชิ้นที่สันนิษฐานว่าเป็นข้อเขียนสุดท้าย ซึ่งเขาลงปีกำกับไว้ว่า ค.ศ. 1994 (2527) ทั้งนี้เกณฑ์การชำระต้นฉบับ ทั้งเรื่องการสะกดคำ, การใช้เลขไทยในบทความ ฯลฯ ในเล่มนี้ เป็นดังที่อธิบายไว้แล้วใน ชุมนุมบทความและปกิณกคดีของอัศนี พลจันทร เล่ม 1

ส่วนแรกของข้อเขียนเหล่านี้ในเล่มนี้ คือบทความซึ่งรวบรวมมาฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกใน การเมือง และ การเมืองรายสัปดาห์ ระหว่าง พ.ศ. 2493-2494 ในนามปากกาต่างๆของอัศนี พลจันทร อันได้แก่ กุลิศ อินทุศักติ, สายฟ้า, หะยีซัมซูดิน บิน อับดุลฆานี และอินทรายุธ ต้นฉบับในส่วนนี้ สำนักพิมพ์อ่านได้ใช้จากสำเนาของ การเมือง ปี 2493 ที่คุณธิกานต์ ศรีนารา และคุณปราการ กลิ่นฟุ้ง มีน้ำใจมอบไว้ให้ทั้งหมด ยกเว้นบทความ “อัลละหุ อักบฺร! มฺรเดกะห มุสลีมีน! ตันหยงมลายู เฮาะฆ โอรังมลายู!” ที่เราได้อาศัยต้นร่างจากความอนุเคราะห์จากคุณวิชัย นภารัศมี

ส่วนที่สอง เป็นงานในคอลัมน์ “มิตรที่รัก” ซึ่งคุณอัศนีน่าจะเริ่มดูแลในเดือนมกราคม 2494 ในนามปากกา มาลินี สุนทรธรรม เป็นคอลัมน์บทกวีและวิจารณ์บทกวีตีพิมพ์ประจำในหน้ากลางของ การเมืองรายสัปดาห์ งานในส่วนนี้เราได้รับมาจากคุณวิชัย นภารัศมี ที่ทยอยเลือกถ่ายภาพต้นฉบับที่เกี่ยวข้องส่งมาให้ทีละหน้า ซึ่งสำนักพิมพ์ขอแสดงความขอบคุณในความอนุเคราะห์เป็นอย่างยิ่ง ณ ที่นี้

ส่วนที่สาม เป็นบทความข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปาฐกถาภาคฤดูร้อนของบุคคลต่างๆ ที่มาแสดงไว้ ณ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในปี 2495 ข้อเขียนชุดนี้เคยรวมตีพิมพ์อยู่ในหนังสือชื่อ มหาชนทรรศนะ ซึ่งจัดพิมพ์โดย “กลุ่มวิชาการเพื่อประชาชน” ในปี 2517 มหาชนทรรศนะ ประกอบด้วยเนื้อหาส่วนที่เป็นปาฐกถาหกเรื่อง กับส่วนที่เป็นข้อคิดเห็นของอินทรายุธต่อปาฐกถาสี่เรื่องในหกเรื่องนั้น ในส่วนของปาฐกถาหกเรื่อง มหาชนทรรศนะ ระบุว่านำมาจากที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือชื่อ รวมปาฐกถาพิเศษภาคฤดูร้อน พ.ศ. 2495 ที่ลงนามในการจัดพิมพ์โดยพรชัย แสงชัจจ์ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เป็นผู้จัดปาฐกถาดังกล่าว ส่วนที่เป็นบทความชุดข้อคิดเห็นโดยอินทรายุธ มหาชนทรรศนะ ระบุเพียงว่าคัดมาจากหนังสือพิมพ์ ปวงชนรายสัปดาห์ แต่ไม่มีข้อมูลฉบับที่ตีพิมพ์สำนักพิมพ์อ่านไม่สามารถสืบหาหนังสือพิมพ์ ปวงชน ได้ จึงใช้ฉบับ มหาชนทรรศนะ เป็นต้นร่าง และคงคำอธิบายศัพท์ตาม มหาชนทรรศนะไว้ด้วย

ส่วนที่สี่คือบทความขนาดยาวเรื่อง “ว่าด้วยการปฏิบัติ” ของเมาเซตุง แปลโดย อ.พ. ตีพิมพ์ในนิตยสารรายเดือนอักษรสาส์น ในเดือนมิถุนายน 2494 สำนักพิมพ์อ่านได้รับสำเนาบทความนี้มาพร้อมกับเอกสารต้นฉบับต่างๆ ของคุณอัศนี พลจันทร ที่คุณวิมล พลจันทร รวบรวมไว้

อนึ่ง ในงานศึกษาต่างๆ ที่พาดพิงถึงอัศนี พลจันทร มีข้อเสนอที่ไม่ตรงกันอยู่ว่า นามปากกา อ.พ. นี้เป็นของอัศนี พลจันทร หรือเป็นของ อุดม สีสุวรรณ (เจ้าของนามปากกาหนึ่งว่า อรัญญ์ พรหมชมภู [หรือพรหมชมพู]) แต่หลังจากที่ได้ศึกษาสำนวนภาษา ทั้งในส่วนคำนำของผู้แปล บทแปลและโดยเฉพาะคำแนะนำผู้แปล ซึ่งเขียนโดยสุภา ศิริมานนท์ สำนักพิมพ์อ่านเห็นว่ายังคงมีความเป็นไปได้สูงที่งานแปลชิ้นนี้จะเป็นของอัศนี พลจันทร ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นที่ สุจิรา คุปตารักษ์ และ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เคยเสนอไว้ในปริญญานิพนธ์และวิทยานิพนธ์ของทั้งคู่ตามลำดับ นอกเหนือจากข้อเท็จจริงที่ว่า คุณวิมล พลจันทร เก็บรักษางานพิมพ์ชิ้นนี้ไว้ในฐานะผลงานของคุณอัศนีที่ส่งมอบต่อมายังทายาทผู้ดูแลลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ดี สำนักพิมพ์อ่านจะยังคงค้นหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เพิ่มเติมต่อไป

ทั้งนี้ ในเบื้องต้น สำนักพิมพ์อ่านได้รับคำปรึกษาและการสนับสนุนในระหว่างการค้นคว้าประเด็นนี้อย่างดียิ่งจาก อ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, อ. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และคุณสุพจน์ แจ้งเร็ว จึงขอแสดงความขอบคุณเป็นอย่างสูงไว้ ณ ที่นี้ อนึ่ง คุณสุพจน์ยังให้ข้อมูลจากความทรงจำด้วยว่า ในราวปี 2516 เขาเคยได้เห็นว่าด้วยการปฏิบัติ ของ อ.พ. จัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือเล็กๆขนาด 32 หน้ายก โดยสุรีย์ ทองวานิช สำนักพิมพ์ชูชน ในสภาพเก่าเก็บคล้ายจัดพิมพ์มาหลายปีก่อนหน้านั้นแล้ว

ส่วนสุดท้ายในเล่มนี้ คือบทความชิ้นสุดท้ายในชีวิตของอัศนี พลจันทร เท่าที่ค้นพบในปัจจุบัน คือ “ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว” เราได้รับภาพถ่ายสำเนาต้นฉบับพิมพ์ดีดของบทความดังกล่าวมาจากสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 ก่อนที่เขาจะต้องลี้ภัยการเมืองหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส สำนักพิมพ์อ่านขอขอบคุณในน้ำใจของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ได้มอบสำเนาต้นฉบับนี้ไว้ให้ รวมทั้งที่ได้ให้ข้อมูลและคำปรึกษาเกี่ยวกับงานของอัศนี พลจันทร มาตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นโครงการอ่านนายผี

สำนักพิมพ์อ่านหวังว่า งานชุด ชุมนุมบทความและปกิณกคดีของอัศนี พลจันทร นี้ จะยังประโยชน์กลับคืนบรรดาผู้มีน้ำใจช่วยเหลือทุกท่านที่ได้ร่วมกันนำผลงานทางประวัติศาสตร์ของอัศนี พลจันทร คืนสู่พื้นที่การอ่านในสังคมไทย ซึ่งสำหรับสำนักพิมพ์อ่านแล้ว ยังถือเป็นการสานต่อภารกิจอันควรคารวะยิ่งของคุณวิมล พลจันทร ที่ได้บุกเบิกไว้ตลอดชั่วชีวิตของเธอด้วย