สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

ฟ้าบ่กั้น

250 ฿350 ฿

รวมเรื่องสั้นโดยลาว คำหอม พร้อมบทนำ “ฟ้าบ่กั้น หยังว่าให้ห่างกัน” โดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

รายละเอียด

คำนำสำนักพิมพ์/ไอดา อรุณวงศ์

ด้วยในสังคมไทยนั้นดูเหมือนจะไม่มีการกระทำอันใดที่ต้องอาศัยความอาจหาญมั่นใจเท่ากับการวิจารณ์ เพราะสังคมไทยมีเวรกรรมตั้งอยู่และโตขึ้นมาบนรากฐานความเยินยอสรรเสริญ จึงไม่ใช่เรื่องประหลาดแต่อย่างใด ที่เราได้พบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่เสียผู้เสียคนไปเพราะการประจบประแจงและด้วยเหตุผลแห่งความเคยชินดังนั้น

คำสิงห์ ศรีนอก
ปากช่อง นครราชสีมา, 25 พฤษภาคม 2515
ใน ลาว คำหอม (สนพ. นักเขียน, 2544)

ในฐานะสำนักพิมพ์หน้าใหม่ที่โผล่ขึ้นมาอย่างดุ่ยๆ และออกจะโดดเดี่ยว ข้าพเจ้าเพิ่งจะบังเอิญได้มีโอกาสติดต่อกับ “ลาว คำหอม” หรือ คำสิงห์ ศรีนอก เป็นครั้งแรกก็เมื่อคราวที่จะพิมพ์  ในกระจก: วรรณกรรมและการเมืองสยามยุคอเมริกัน (2553) เพื่อขออนุญาตนำเรื่องสั้น “อีกไม่นานเธอจะรู้” ของลาว คำหอม มาพิมพ์ซ้ำในหนังสือเล่มดังกล่าว  ในระหว่างการพูดคุยสั้นๆ ทางโทรศัพท์เพียงไม่กี่ครั้งนั่นเองที่ทำให้ข้าพเจ้าได้ทราบว่า “ลุงคำสิงห์” ไม่เพียงรู้จักวารสาร อ่าน แต่ยังติดตามผลงานและได้ช่วยสนับสนุนซื้อแจกตามโรงเรียนในละแวกบ้านไปแล้วหลายเล่มและในคราวหนึ่งของการสนทนา ลุงคำสิงห์ปรารภให้ฟังว่า ได้มีการเสนอแนะกันในหมู่เพื่อนพ้องนักเขียนใกล้ชิดของลุงคำสิงห์ว่าน่าจะถึงเวลาที่จะนำ ฟ้าบ่กั้น กลับมาพิมพ์ซ้ำใหม่อีกคำรบแล้ว  ลุงคำสิงห์เองมิได้ขัดข้อง แต่ได้เสนอไปว่าหากจะมีการพิมพ์ซ้ำ อยากจะให้สำนักพิมพ์อ่านเป็นผู้ดำเนินการ โดยจะขอให้นำบทความ “ฟ้าบ่กั้น หยังว่าให้ห่างกัน” โดย อ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ที่เคยตีพิมพ์ในวารสาร อ่าน มาพิมพ์รวมกันไว้ด้วย ข้อเสนอนี้ทางสำนักพิมพ์อ่านเห็นเป็นอย่างไร

ข้าพเจ้าจะเห็นเป็นอย่างไรไปได้นอกจากตื่นเต้น ตื้นตัน และตกลงรับตามข้อเสนอนั้นด้วยความยินดี

แม้การได้รับความไว้วางใจเช่นนี้อาจชวนให้คิดเข้าข้างสำนักพิมพ์ของตัวเองไปได้ต่างๆ นานา แต่ข้าพเจ้าคิดว่าประเด็นที่เป็นหัวใจสำคัญกว่า คือการที่นักเขียนอาวุโสผู้เป็นที่ยอมรับโดยปราศจากข้อกังขาตลอดมา กลับเลือกที่จะให้ผลงานของตัวเองนั้น ได้รับการนำเสนอไปพร้อมกับคำวิจารณ์ชุดใหญ่จากนักวิจารณ์คนสำคัญ ที่ไม่เพียงประมวลเอาข้อวิจารณ์หลักๆ ที่เคยมีมาก่อนหน้า มาทำในสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นการ “วิจารณ์ซ้อนวิจารณ์” เท่านั้น แต่ยังเปิดประเด็นให้แก่การ “อ่านใหม่” ในยุคสมัยและในฤดูกาลที่เปลี่ยนไป (ทว่ายังเปลี่ยนไม่ผ่าน) อันท้าทายนี้ด้วย

แน่นอนว่าแม้จะมีเนื้อหาส่วนที่เป็นการยกย่องอยู่ในบทวิจารณ์ แต่ก็มิได้เป็นไปเพื่อการประเมินค่า ประทับตรา หรือเพื่อเฉลยคุณค่าอย่างเป็นที่ยุติ หากเป็นเพียงส่วนหนึ่งการนำเสนอชุดคำอธิบายและข้อโต้แย้งต่อตำแหน่งแห่งที่และการให้ความหมายที่แวดล้อมเรื่องสั้นเหล่านี้ตลอดมา  และแน่นอนว่า คำวิจารณ์ที่หนักแน่นและจริงจังนั้น ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการเสนอชุดวิเคราะห์ตามหลักการและเสนอชุดวิจารณ์ที่รอบด้านตรงไปตรงมาด้วย

และย่อมมีแต่ “ผู้ใหญ่” หรือ “ผู้ยิ่งใหญ่” ที่แท้จริงเท่านั้น ที่จะไม่เพียงไม่ปิดกั้น แต่ยังให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนต่อการวิจารณ์เช่นนี้

การไว้วางใจให้สำนักพิมพ์อ่านเป็นผู้จัดพิมพ์ในครั้งนี้ และในรูปแบบเช่นว่านี้ จึงไม่ได้สะท้อนความยิ่งใหญ่อะไรของสำนักพิมพ์เล็กๆ แห่งนี้ เท่ากับที่สะท้อนความยิ่งใหญ่ในหัวใจของผู้ใหญ่ที่ใหญ่จริง ในท่ามกลางสังคมนี้ที่ถูกปลูกฝังให้เข้าใจผิดตลอดมาว่าการปกปักความยิ่งใหญ่คือการไม่ยินยอมให้มีการวิจารณ์ และบังคับกวดขันให้ประจบสอพลอหรือหาไม่แล้วก็ให้อยู่ในความเงียบงัน ให้สำเหนียกในความต่างและห่างกันไกลเช่นนั้น

เฉกเช่นมีผืนฟ้ากางกั้น เฉกเช่นนั้นตลอดมา

หมายเหตุว่าด้วยงานบรรณาธิกรณ์ต้นฉบับ/เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์

หนังสือรวมเรื่องสั้น ฟ้าบ่กั้น ของ “ลาว คำหอม” ฉบับพิมพ์ครั้งนี้ ใช้เกณฑ์ในงานบรรณาธิกรณ์ ดังนี้

การเรียงลำดับเรื่อง

ฟ้าบ่กั้น เป็นหนังสือที่พิมพ์จำหน่ายมาแล้ว 21 ครั้งในห้วงเวลาครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ในการจัดพิมพ์แต่ละครั้ง บรรณาธิการของสำนักพิมพ์แต่ละแห่งต่างพิจารณาจัดเรียงลำดับเรื่องด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกันไป อีกทั้งจำนวนเรื่องที่จัดพิมพ์ก็มีการเพิ่มเติมขึ้นตามลำดับ กล่าวคือ ในฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2501 โดยสำนักพิมพ์เกวียนทอง มีจำนวนเรื่องสั้นเพียง 7 เรื่อง แต่ได้เพิ่มเป็น 13 เรื่องในการพิมพ์ครั้งที่ 2 โดยสำนักพิมพ์ศึกษิตสยาม (2512) และครั้งที่ 3 กับครั้งที่ 4 โดยสำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร (2517) ครั้นต่อมาในปี 2522 สำนักพิมพ์ดวงกมลได้คัดเลือกเรื่องสั้นของลาว คำหอม พิมพ์เพิ่มเติมรวมเป็น 17 เรื่องด้วยกัน ซึ่งเป็นจำนวนเรื่องต้นแบบของการจัดพิมพ์ในชั้นหลังเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน การจัดพิมพ์ ฟ้าบ่กั้น ในครั้งนี้ สำนักพิมพ์อ่านเลือกเรียงลำดับเรื่องตามฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 โดยสำนักพิมพ์ดวงกมล

การพิสูจน์อักษร

สำนักพิมพ์อ่านเลือกยึดตามฉบับพิมพ์ครั้งที่ 8 โดยสำนักพิมพ์กำแพง เนื่องจากเห็นว่าเป็นฉบับที่บรรณาธิการเฉพาะกิจได้ชำระต้นฉบับไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ดังที่ระบุในข้อสังเกตของบรรณาธิการตอนหนึ่งว่า “ได้ตรวจสอบกับต้นฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งแรก โดยเฉพาะที่ลงตีพิมพ์ใน ปิยมิตร เมื่อพบว่ามีข้อความใดที่ตกหล่น ก็ได้เทียบเคียงกับฉบับตีพิมพ์ปรากฏครั้งแรกเป็นเล่ม ครั้นพิจารณาพบว่าเป็นการตกหล่นโดยเผอเรอ ก็ได้แก้ไขเพิ่มเข้าไปให้เหมือนกับที่ตีพิมพ์ปรากฏครั้งแรกในหน้านิตยสาร … ในกรณีที่เป็นปัญหาในรายละเอียดพิเศษ ได้สอบถามกับผู้เขียนเป็นสำคัญ” (วชิระ บัวสนธ์, หน้า 17-18)

นอกจากนั้น สำนักพิมพ์อ่านยังได้สอบทานกับฉบับพิมพ์ครั้งที่ 19 พ.ศ. 2550 โดยแพรวสำนักพิมพ์ และพบว่า หากไม่พิจารณาการเรียงลำดับเรื่องแล้ว ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 8 กับ 19 มีรายละเอียดปลีกย่อยเรื่องการสะกดคำแตกต่างกันอยู่บ้าง เช่น ก้อ กับ ก็ หรือในคำแทนเสียง เช่น แพๆ กับ แพ-แพ โทๆ กับ โท-โท และเว้นวรรคตอนไม่ตรงกันในบางจุด จึงได้พิจารณาปรับเปลี่ยนโดยเน้นให้สะดวกแก่การอ่านแต่ไม่เสียใจความสำคัญและลีลาของผู้เขียนไป ในกรณีคำที่ต้นฉบับทั้งสองสะกดไม่ตรงกัน เช่น พยอม กับ พะยอม ได้ปรึกษา พจนานุกรมฉบับมติชน ตามความเหมาะสม

อย่างไรก็ดี เนื่องจากยังมีข้อสงสัยจุกจิกอีกเล็กน้อย เช่น ในเรื่อง “คนหมู” มีข้อความว่า “อากาศค่อยเย็นลง เมฆสีส้มแผ่กระจายที่ขอบฟ้าหยาบ ผืนดินอันเลี่ยนโล่งยังคงระอุ ไออุ่นยังแทรกผ่าวระหว่างเม็ดทราย” เมื่อได้ตรวจสอบกับฉบับแพรวสำนักพิมพ์ก็พบข้อความตรงกัน จึงย้อนกลับไปค้นต้นฉบับที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ปิยมิตรวันจันทร์ อีกครั้ง พบว่า คำ “หยาบ” เป็นคำขยายของ “เม็ดทราย” ไม่ใช่ “ขอบฟ้า” จึงได้แก้ไขเสีย แต่กรณีที่เห็นว่าเป็นการเพิ่มหรือตัดถ้อยคำบางคำ รวมทั้งเพิ่มเครื่องหมายปรัศนีย์ไว้ท้ายประโยคคำถาม เพื่อปรับปรุงต้นฉบับให้สมบูรณ์ขึ้น ก็คงไว้ตามฉบับพิมพ์ครั้งที่ 8 เป็นหลัก

ในส่วนของบทนำซึ่งเป็นบทความที่เคยตีพิมพ์ในวารสารอ่าน (ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 ต.ค.-ธ.ค. 2551) กับภาคผนวกซึ่งรวบรวมและคัดเลือกมานั้น ใช้เกณฑ์บรรณาธิกรณ์ในทำนองเดียวกัน แต่ปรับปรุงระบบอ้างอิงให้สอดคล้องกับการจัดพิมพ์ในครั้งนี้

อนึ่ง ผู้อ่านจะเห็นว่านามปากกาผู้เขียนที่ปรากฏในบทความต่างๆ ใส่เครื่องหมาย “…..” เมื่อปรากฏครั้งแรกในแต่ละบทความเพียงครั้งเดียว ดังเช่นการอ้างถึงลาว คำหอม ในหมายเหตุนี้ เหตุผลก็คือ เพื่อลดความรำคาญสายตาในระหว่างการอ่านลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหลายบทความจำเป็นต้องอ้างถึงนามปากกาผู้เขียนซ้ำหลายครั้งด้วยกัน  ทั้งหมดนี้อาจดูคล้ายทำงานตามอำเภอใจอยู่บ้าง แต่ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ล้วนเป็นไปด้วยเจตนาที่จะทำหนังสือเพื่อการอ่านนั่นเอง

อื่นๆ

ผู้เขียน

ลาว คำหอม

บรรณาธิการ

เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์

บทนำ

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

จำนวนหน้า

384 หน้าพร้อมภาพประกอบ

ปีที่พิมพ์

มีนาคม 2555