สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

ข้อคิดจากวรรณคดี

150 ฿

ลำดับที่ 7 ในโครงการ “อ่านนายผี”

 

หมวดหมู่:

รายละเอียด

ข้อคิดจากวรรณคดี
โดย อินทรายุธ (อัศนี พลจันทร)

ลำดับที่ 7 ในโครงการ “อ่านนายผี”
พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2559

บางส่วนจากหมายเหตุการจัดพิมพ์ / เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์

ข้อคิดจากวรรณคดี เป็นงานรวมบทความของอินทรายุธ (นามปากกาของคุณอัศนี พลจันทร) ที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารรายเดือนชื่อ อักษรสาส์น ของคุณสุภา ศิริมานนท์ นิตยสารหัวก้าวหน้าฉบับนี้วางจำหน่ายตั้งแต่เดือนเมษายน 2492 จนถึงตุลาคม 2495 ซึ่งเป็นช่วงเวลาระหว่างหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490 จนถึงก่อนหน้ากรณีกบฏสันติภาพ

บทความที่สำนักพิมพ์อ่านรวบรวมมาจัดพิมพ์ในครั้งนี้แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นบทความจากแผนก (คอลัมน์) “ข้อคิดจากวรรณคดี” ซึ่งตีพิมพ์ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2492 ถึงกันยายน 2493 รวม 10 เรื่องด้วยกัน ยกเว้นเรื่อง “ที่มาของวรรณคดี” ซึ่งอินทรายุธได้นำข้อเขียนว่าด้วยที่มาและความหมายของคำว่าวรรณคดีของร้อยเอกหลวงบวรบรรณารักษ์ (นิยม รักไทย) อาจารย์คนหนึ่งของเขาผู้มอบเอกสารนี้ให้แก่เขาไว้เมื่อนานมาแล้ว มาลงพิมพ์ไว้ในแผนกนี้ด้วย

กลุ่มที่สองเป็นบทความของอินทรายุธจากแผนก “ข้อน่าศึกษาทางการประพันธ์” (เป็นแผนกซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายตำรา ณ เมืองใต้) ที่ตีพิมพ์ในระยะเวลาไล่เลี่ยกันสามเรื่อง ได้แก่ “ข้อไม่น่าศึกษาทางการประพันธ์”, “ARS GRATIA ARTIS?” และ “ศิลปและวรรณคดี” บทความหลังสุดนี้ อินทรายุธแปลมาจากคำบรรยายของเมาเซตุง (สะกดคำตามต้นฉบับ) เรื่อง “Arts and Literature” ในคราวเปิดประชุมวงศิลปินที่นครเยนอัน ประเทศจีน เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1942

ความริเริ่มของบทความชุด “ข้อคิดจากวรรณคดี” มีคำอธิบายสั้นๆ อยู่ในหน้าเปิดคอลัมน์ครั้งแรกว่า มาจากการที่กองบรรณาธิการของ อักษรสาส์น ได้รับจดหมายจากผู้อ่านซักถามปัญหาต่างๆ ทางวรรณคดีและความเกี่ยวเนื่องระหว่างวรรณคดีกับสังคม จึงมอบหมายให้อินทรายุธ ในฐานะผู้กำกับแผนกวรรณคดี นำมาเรียบเรียงลงในแผนก “ข้อคิดจากวรรณคดี” และแม้ว่าเดิมผู้เขียนตั้งใจจะเขียนเป็นบทความสั้นๆ โดยกำหนดตีพิมพ์เดือนเว้นเดือนเท่านั้น แต่เมื่อบทความแรกคือ “ศาสนาถูกระชากไปสู่ตะแลงแกง” ตีพิมพ์ในเดือนพฤศจิกายน 2492 แล้ว ปรากฏว่ามีผู้อ่านสนใจกันมากจน อักษรสาส์น ต้องเปลี่ยนมาตีพิมพ์บทความแผนกนี้ทุกเดือนดังคำชี้แจงในหน้าเปิดของบทความเรื่องถัดมา คือ “ความแตกต่างระหว่างรามายณะและมหาภารตะ” ฉบับมกราคม 2493 :

การจัดบทความในแผนก “ข้อคิดจากวรรณคดี” ลงตีพิมพ์นี้ นับจากฉะบับนี้เป็นต้นไป “อักษรสาส์น” จะได้พยายามจัดลงพิมพ์ทุกเล่ม มิใช่ลงเล่มเว้นเล่มดังที่กำหนดไว้แต่แรก ทั้งนี้ เพราะปรากฏว่า ได้มีผู้อ่านสนใจในแผนกนี้มากอย่างที่ “อักษรสาส์น” ไม่ได้คาดคิดมาแต่ก่อน ซึ่งความจริงก็เป็นที่น่ายินดีอยู่ไม่น้อยเลย ที่ได้มีผู้ซึ่งให้ความสนใจต่อแนวความคิดอันก้าวหน้าในทางวรรณคดี อันเป็นแนวของสำนักใหม่ ดังที่บรรณาธิการผู้กำกับแผนกวรรณคดีได้กรุยทางไว้แล้วนี้ (น. 77)

เมื่อสำรวจดูว่า “ความคิดอันก้าวหน้าในทางวรรณคดีอันเป็นแนวของสำนักใหม่” ดังที่อ้างถึงข้างต้นนี้คืออะไร โดยย้อนกลับไปค้นหาคำตอบใน อักษรสาส์น ฉบับก่อนหน้าที่จะเริ่มตีพิมพ์คอลัมน์ข้อคิดจากวรรณคดี พบว่า คุณสุภา ศิริมานนท์ เขียนบทบรรณาธิการของนิตยสารฉบับดังกล่าวและอธิบายไว้อย่างยืดยาว ควรแก่การพิจารณา :

นับตั้งแต่ฉะบับหน้า คือ ฉะบับที่ 8 เป็นต้นไป อักษรสาส์น จะได้มีงานแผนกใหม่ออกเสนอต่อผู้อ่านอีกชิ้นหนึ่งเป็นประจำ คือ “ข้อคิดจากวรรณคดี” เป็นทำนอง Reflections from Literature ผู้ซึ่งจะเขียนเป็นประจำก็คือ “อินทรายุธ” ผู้กำกับแผนกนี้เอง เรื่องต่างๆ ที่จะลงพิมพ์ในแผนกนี้ไม่ใช่เรื่องหนักและจะไม่ใช่เรื่องคร่ำครึ อย่างที่เป็นแบบแผนตามความคิดเก่าๆ ของสิ่งที่เรียกขานกันว่า “วรรณคดี” นั้นเลย แต่หากจะเป็นความเรียงสั้นๆ ฉะบับละเรื่องสองเรื่อง ในทำนองอ่านข้อความระหว่างบรรทัด ที่ปรากฏอยู่ในวรรณคดี การอ่านเช่นว่านี้จะเป็น การอ่านด้วยความคิดใหม่ เพื่อให้เห็นว่ามนุษย์เรานี้ บางคน บางชั้น นั้น เมื่อความเห็นแก่แต่ฉะเพาะประโยชน์ตนเข้าจับสันดานเสียแล้ว ก็กักขฬะถึงขนาดที่จะลากเอาดึงเอาสิ่งที่พึงเป็นไปเพื่อความเจริญของสาธารณะและเพื่อความรุ่งเรืองแห่งจิตต์ไปเป็นเครื่องมือในการแสวงหาและในการธำรงรักษาประโยชน์และอำนาจของตนและพวกของตนได้ ทั้งเมื่อดึงเอาไปแล้วยังสรรเสริญพฤตติการณ์อย่างนั้นๆ ว่าเป็นของดีงามเสียด้วย งานในแผนกนี้ของ อักษรสาส์น จะได้ฉายให้เห็นว่า นโยบาย “สันตติแห่งความเป็นทาส” ได้เกาะแน่นอยู่ในจิตต์ใจของมนุษย์เราหลายรุ่นเพราะเหตุที่ผู้ใช้นโยบายนั้นได้ใช้วรรณคดีเป็นปัจจัยมาด้วยอาการอย่างไรบ้าง หรือบางทีก็เอาของดีๆ และศักดิ์สิทธิ์เช่นศาสนาเป็นเครื่องมือเสียเลยด้วยซ้ำ ข้อคิดเหล่านี้จะมีลงพิมพ์ฉะบับละเล็กละน้อย เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้วิเคราะห์ เป็นเรื่องอ่านเบาๆ และจะเป็นข้อคิดจากหนังสือต่างๆ ที่นักหนังสือรู้จักกันดีอยู่แล้วโดยมาก ท่านผู้อ่านจะได้เห็นได้เข้าใจเรื่อยๆ ไปอย่างหนึ่งว่าการศึกษาวรรณคดีนั้น สำนัก (School) เก่ากับสำนักใหม่แตกต่างกันในกรณีที่ว่า สำนักเก่าผลักไสให้ผู้ศึกษาจมหายเข้าไปในป่าแห่งความจำเสียจนตกเป็นทาสของความคิดเก่าๆ อันคร่ำเตอะตัง ไม่รู้จักใช้ความคิดความริเริ่มของตนแต่อย่างใด แต่สำนักใหม่นั้นเมื่อศึกษาของเก่าแล้วก็ให้คิดว่า สิ่งนั้น เรื่องนั้น ทำไมมันจึงเกิดขึ้น? ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชนชั้นใดกลุ่มใดบันดาลให้มันเกิด? ฯลฯ นั่นคือผู้ศึกษาต้องรู้จักใช้ความคิด อ่านความคิดจากของเก่าให้ออก และต้องยืนอยู่บนฐานของความคิดใหม่ ไม่ใช่เอาความคดิจากของเก่ามาเป็นฐาน สำนักใหม่ถือว่ากาลเวลาได้ก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงมากแล้ว พันธนาการแห่งความเป็นทาสโดยอาศัยวรรณคดีเป็นปัจจัย พึงได้รับการวิเคราะห์ปลดเปลื้อง (“สาส์นจาก ‘อักษรสาส์น’”, อักษรสาส์น ปีที่ 1 ฉบับที่ 7 ตุลาคม 2492, น. 2-3)

จะเห็นว่าการอ่านวรรณคดีของสำนักใหม่ตามที่คุณสุภากล่าวถึงนี้ ให้ความสำคัญกับการอ่านโดยใช้ความคิดริเริ่มและตั้งคำถามต่อไปถึงปัญหาทางชนชั้นที่ปรากฏในเรื่องที่อ่าน แทนที่จะอ่านท่องจำในแบบเก่าซึ่งคอยกดคนลงเป็นทาส จึงไม่น่าแปลกที่ในเวลาต่อมาผลงานชุดข้อคิดจากวรรณคดีของอินทรายุธจะถูกจัดวางในตำแหน่งแห่งที่ของงานวิจารณ์แนวมาร์กซิสม์ยุคแรก

อื่นๆ

ผู้เขียน

อินทรายุธ (อัศนี พลจันทร)