สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

คำสอนว่าด้วยรัฐและหลักกฎหมายมหาชน

500 ฿700 ฿

ฟรีค่าจัดส่ง

รายละเอียด

คำสอนว่าด้วยรัฐและหลักกฎหมายมหาชน
ผู้เขียน วรเจตน์ ภาคีรัตน์

ISBN ปกอ่อน 978-616-8300-02-2
ISBN ปกแข็ง 978-616-8300-03-9

พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2555 และพิมพ์ครั้งที่ 2 สิงหาคม 2557
โดยโครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พิมพ์ครั้งที่ 3 แก้ไขเพิ่มเติม พฤษภาคม 2564, พิมพ์ซ้ำ กุมภาพันธ์ 2565
โดยสำนักพิมพ์อ่านกฎหมาย ในเครือสำนักพิมพ์อ่าน

จำนวนหน้า 536 หน้า
ปกอ่อน เย็บกี่ ราคา 500 บาท
ปกแข็ง เย็บกี่สันโค้ง หุ้มกำมะหยี่ ปั๊มทอง พร้อมปกกระดาษสวมทับ (ปกแจ็คเก็ต) ราคา 700 บาท

คำนำผู้เขียน

หนังสือ คำสอนว่าด้วยรัฐและหลักกฎหมายมหาชน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นการจัดพิมพ์ครั้งที่สาม และเป็นการพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์อ่านกฎหมายนี้ เป็นหนังสือที่ผู้เขียนมุ่งประสงค์ให้เป็นหนังสือนำทางเข้าสู่วิชากฎหมายมหาชนเป็นสำคัญ ดังที่ได้ผู้เขียนได้เคยกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการเขียนหนังสือเล่มนี้ไว้ค่อนข้างละเอียดแล้วในคำนำฉบับพิมพ์ครั้งที่หนึ่ง ในการจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ครั้งนี้ ผู้เขียนได้แก้ไขเพิ่มเติมตลอดจนอธิบายขยายความเนื้อหาเพิ่มขึ้นเกือบทุกบท และได้เพิ่มบทที่ว่าด้วย “ระบบการปกครอง: พิจารณาจากลักษณะการแบ่งแยกอำนาจ” ขึ้นมาอีกบทหนึ่ง

การแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่ผู้เขียนเห็นว่าควรจะชี้แจงไว้ให้เห็นเป็นพิเศษก็คือ ครั้งนี้ผู้เขียนได้เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับลักษณะทางกฎหมายของรัฐไว้อย่างละเอียดมากขึ้น และได้พัฒนาแนวความคิดของผู้เขียนเองเกี่ยวกับนิติบุคคลมหาชนแท้และนิติบุคคลมหาชนเทียม เพื่ออธิบายความเป็นนิติบุคคลมหาชนของหน่วยงานของรัฐในระบบกฎหมายไทยให้ผู้ที่เริ่มศึกษากฎหมายมหาชนเห็นสภาพปัญหาการจัดโครงสร้างหรือระเบียบองค์การแห่งการปกครองรัฐไทยได้ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ ในบทที่ว่าด้วยนิติรัฐ ผู้เขียนได้อธิบายความโดยแยกคำอธิบายนิติรัฐในทางรูปแบบและนิติรัฐในทางเนื้อหาออกจากกัน และขยายความคำอธิบายเกี่ยวกับหลักนิติรัฐให้ละเอียดขึ้น ในบทที่ว่าด้วยหลักประชาธิปไตย ผู้เขียนได้เพิ่มเติมประเด็นเกี่ยวกับความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ที่เริ่มศึกษากฎหมายมหาชนได้ตระหนักถึงสภาพปัญหาที่ปรากฏในระบบการปกครองและกฎหมายไทยตั้งแต่เริ่มต้นเข้าสู่วิชานี้ สำหรับการแก้ไขในบทอื่นๆนั้น แม้จะเป็นการแก้ไขและเพิ่มเติมในประเด็นที่สำคัญหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงหลักกฎหมายมหาชนเข้ากับพัฒนาการทางรัฐธรรมนูญและการเมืองการปกครองของไทย รวมทั้งประเด็นปัญหาร่วมสมัยโดยสังเขป แต่การสรุปประเด็นเหล่านั้นไว้ในคำนำนี้ทั้งหมด จะส่งผลให้คำนำนี้ยืดยาวเกินไป ผู้เขียนคิดว่าผู้อ่านจะสังเกตเห็นได้เองเมื่อได้อ่านถึงส่วนนั้นๆ และเชื่อว่าผู้อ่านน่าจะจับน้ำเสียงและทัศนะของผู้เขียนผ่านตัวอักษรได้เองด้วย

สำหรับในภาคผนวกนั้น ผู้เขียนได้นำเอกสารสองฉบับมาลงพิมพ์ไว้เพื่อประโยชน์แก่การศึกษา คือ คำร้องให้ศาลแขวงดุสิตส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓๐/๒๕๖๓ คำร้องที่กล่าวถึงนี้เป็นคำร้องซึ่งเกิดขึ้นในคดีที่เริ่มต้นจากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งให้นายทหารพระธรรมนูญแจ้งความดำเนินคดีกับผู้เขียนที่กองบังคับการปราบปราม กองกำกับการ ๑ เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๗ ฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว (ภายหลังจากการเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศของ คสช.) โดยคดีดังกล่าวอัยการศาลทหารกรุงเทพได้ฟ้องผู้เขียนต่อศาลทหารกรุงเทพ (ใช้กฎอัยการศึก ๒๒ พ.ค. ๕๗) เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ และต่อมาในช่วงกลางปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้มีการโอนคดีของผู้เขียนจากศาลทหารกรุงเทพไปยังศาลแขวงดุสิต ในขณะที่คดีอยู่ที่ศาลแขวงดุสิตนี้ ผู้เขียนได้ยื่นคำร้องต่อศาลแขวงดุสิตเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ขอให้ศาลแขวงดุสิตส่งคำร้องของผู้เขียนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๙/๒๕๕๗ และ ๔๑/๒๕๕๗ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ศาลแขวงดุสิตจะต้องใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลต่างๆตามที่ปรากฏในคำร้องของผู้เขียน และต่อมาในวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดประชุมปรึกษาพิจารณาคดีและวินิจฉัยว่าประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๙/๒๕๕๗ เรื่องให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๔๑/๒๕๕๗ เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖ โดยมติเอกฉันท์ และวินิจฉัยว่าประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ ๒๙/๒๕๕๗ เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง อีกโสดหนึ่ง โดยมติเสียงข้างมาก

แม้แต่เดิมนั้นผู้เขียนลังเลที่จะนำคำร้องดังกล่าวมาลงตีพิมพ์ในหนังสือทางวิชาการ เนื่องจากคำร้องดังกล่าวเกิดขึ้นในคดีที่ผู้เขียนเป็นจำเลยเองซึ่งพอจะถือว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในขอบเขตส่วนตัวของผู้เขียน จึงอาจจะมีปัญหาความเหมาะสมในการนำมาลงพิมพ์ไว้ในหนังสือที่มุ่งหมายให้เป็นตำราทางวิชาการเล่มนี้ นอกจากนี้ผู้เขียนก็ได้อธิบายเหตุผลในคำร้องเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติไว้แล้วในคำนำหนังสือ ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ตรึกตรองใคร่ครวญแล้ว ผู้เขียนพบว่าอันที่จริงแล้วประเด็นที่ปรากฏในคำร้องก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับกฎหมายมหาชนโดยตรง และเหตุผลที่ให้ไว้ในคำร้องก็เป็นเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับหลักการทางกฎหมายและข้อกฎหมายทั้งสิ้น เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วจึงคิดว่าการนำคำร้องดังกล่าวมาตีพิมพ์ไว้ในภาคผนวก น่าจะเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาและผู้ที่สนใจในวิชาการทางกฎหมายมหาชน อีกทั้งยังจะทำให้ผู้อ่านเห็นประเด็นในคำร้องและเห็นคำตอบของศาลรัฐธรรมนูญที่ปรากฏในคำวินิจฉัยที่ ๓๐/๒๕๖๓ ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้การนำคำร้องของผู้เขียนมาตีพิมพ์ไว้ยังน่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักวิชาการที่สนใจประเด็นปัญหานี้ในการนำคำร้องดังกล่าวไปอ้างอิงในงานทางวิชาการที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้อีกด้วย โดยอาศัยเหตุผลที่ได้กล่าวมาทั้งหมด ผู้เขียนจึงตัดสินใจนำคำร้องดังกล่าวมาตีพิมพ์คู่กันกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในภาคผนวกของหนังสือเล่มนี้

หวังว่าหนังสือ คำสอนว่าด้วยรัฐและหลักกฎหมายมหาชน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้ จะเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาวิชานิติศาสตร์และสาธารณชนที่สนใจในวิชาการทางด้านกฎหมายมหาชน และหวังว่าสักวันหนึ่งหลักกฎหมายมหาชนที่ถูกต้อง เปี่ยมด้วยเหตุผลและความเป็นธรรม จะได้มีที่ยืนที่มั่นคงและเจริญงอกงามในสังคมไทย

วรเจตน์ ภาคีรัตน์
กลางเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๔

อื่นๆ

ปก

ปกแข็ง, ปกอ่อน