คำอธิบาย
คำสอนว่าด้วยรัฐและหลักกฎหมายมหาชน
ผู้เขียน วรเจตน์ ภาคีรัตน์
ISBN ปกอ่อน 978-616-8300-02-2
พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2555 และพิมพ์ครั้งที่สอง สิงหาคม 2557
โดยโครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พิมพ์ครั้งที่สาม แก้ไขเพิ่มเติม พฤษภาคม 2564, พิมพ์ซ้ำ กุมภาพันธ์ 2565
พิมพ์ครั้งที่สี่ กุมภาพันธ์ 2567
โดยสำนักพิมพ์อ่านกฎหมาย ในเครือสำนักพิมพ์อ่าน
จำนวนหน้า 536 หน้า
ปกอ่อน เย็บกี่ ราคา 500 บาท
ในการจัดพิมพ์ตำราเล่มนี้เป็นครั้งที่สี่ ผู้เขียนยังไม่ได้แก้ไขเพิ่มเติมส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ได้แต่แก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลบางส่วนเพียงเล็กน้อยให้ทันสมัยขึ้น โดยเฉพาะกรณีการยุบสภาสามัญชนในระบบกฎหมายสหราชอาณาจักร ซึ่งหลังจากมีการตรา Fixed-term Parliaments Act 2011 ยกเลิกอำนาจของกษัตริย์ในการยุบสภาสามัญชนตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีแล้ว การยุบสภาสามัญชนจะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่จำกัดอย่างยิ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตามบัดนี้ได้มีการตรา Dissolution and Calling of Parliament Act 2022 ยกเลิก Fixed-term Parliaments Act 2011 และกลับไปใช้หลักเกณฑ์ตามที่เป็นมาแต่เดิม ซึ่งหมายความว่ากษัตริย์จะกลับมามีอำนาจในการยุบสภาสามัญชนตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี อันแสดงให้เห็นว่าบัดนี้ระบบกฎหมายสหราชอาณาจักรได้รื้อฟื้นธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญที่เป็นมาแต่เดิมกลับมาใช้ใหม่ และสะท้อนว่าตามประสบการณ์ทางการเมืองในสหราชอาณาจักรนั้น การยุบสภาสามัญชนมีลักษณะเป็นการกระทำทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นตามแต่สถานการณ์ในแต่ละห้วงเวลา กฎเกณฑ์ทางกฎหมายอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมนักที่จะนำมากำกับการกระทำดังกล่าว การย้อนกลับไปใช้กฎเกณฑ์เดิมของสหราชอาณาจักรในเรื่องนี้อาจจะเป็นประโยชน์ต่อข้อถกเถียงเกี่ยวกับอำนาจตลอดจนเงื่อนไขในการยุบสภาผู้แทนราษฎรในระบบกฎหมายไทย ถ้าหากจะมีต่อไปในอนาคตด้วย
หวังว่าผู้อ่านที่ใฝ่ใจในความรู้ทางกฎหมายมหาชนจะได้รับประโยชน์จากตำราเล่มนี้ และหวังว่าในวาระครบรอบหนึ่งทศวรรษของการทำรัฐประหารแย่งชิงอำนาจรัฐโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปีนี้ วงวิชาการกฎหมาย มหาชนไทยจะได้ตระหนักว่าเรายังไม่ได้ไปไหนไกลนัก และยังมีเรื่องที่จะต้องทำอีกมากเพื่อให้หลักกฎหมายมหาชนที่ถูกต้อง เปี่ยมด้วยเหตุผลและความเป็นธรรม ได้มีที่ยืนที่มั่นคงและเจริญงอกงามในสังคมไทย
วรเจตน์ ภาคีรัตน์
กลางเดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๗