สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

ปฤษฎางค์ กระดูกสันหลังแขวนคอ

320 ฿500 ฿

จัดส่งฟรี

รหัสสินค้า: ไม่ระบุ หมวดหมู่: ,

รายละเอียด

ปฤษฎางค์ กระดูกสันหลังแขวนคอ
ชีวิตและการลี้ภัยในยุคสมบูรณาญาสิทธิ์ของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์

ทามารา ลูส เขียน
ไอดา อรุณวงศ์ แปล

แปลจาก
Bones Around My Neck :
The Life and Exile of a Prince Provocateur

by Tamara Loos
Cornell University Press, 2016

ปกแข็ง ISBN 978-616-8300-08-4
ปกอ่อน ISBN 978-616-8300-09-1
ฉบับภาษาไทยพิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2565

บางส่วนจากบทนำ โดย ทามารา ลูส

ข้าพเจ้ากำลังไล่ค้นเรื่องสมาชิกชนชั้นนำสยามผู้เสื่อมเสียอีกคนอยู่ไม่ลดละ ตอนที่เจ้าชายปฤษฎางค์ ชุมสาย มาปะเข้ากับข้าพเจ้าบนเก้าอี้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติที่กรุงเทพฯ โดยไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว เขาไม่ยอมอยู่เงียบๆ เสียอย่างนั้น เล่นเอาคุณรู้สึกกดดันกับคำรบเร้าไม่หยุดหย่อนของเขาอย่างคนที่เข้าตาจน “ความฉิบหาย/ความตายก็รอคอยท่าข้าพระพุทธเจ้าอยู่ทุกวัน” “ข้าพระพุทธเจ้าเปนผู้รักความจริง/ความสัตย” “ข้าพระพุทธเจ้ายอมตายดีกว่าที่จะเสียความสัตยจริง” “ที่ตั้งใจจะตายให้ทรงเหนความสัตย” ความเร่งเร้าอย่างป่าวร้องเกินระงับไหวต่อความอยุติธรรมนานาที่เขาทนกล้ำกลืนมานั้นดึงให้ข้าพเจ้าต้องสนใจ ปฤษฎางค์เคยเป็นเอกอัครราชทูตคนแรกของสยามประจำยุโรปและสหรัฐฯเมื่อปลายศตวรรษที่สิบเก้า แต่แล้วหลังจากนั้นเขาก็หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์สยาม ทว่านี่เขามาอยู่ตรงนี้ ประท้วงว่าเขามี “กระดูกแขวนคอ” อันเป็นการอ้างสุภาษิตไทยซึ่งในที่นี้สื่อความหมายใกล้เคียงกับสำนวนว่าแพะรับบาป เขาก่นร้องทุกข์ว่าตนได้รับแต่คำกล่าวโทษเป็นการตอบแทนต่อความอุตสาหะด้านการทูตที่เขาทุ่มเทอย่างไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากเพื่อกษัตริย์และรัฐบาลสยาม

เมื่อแรกนั้นข้าพเจ้าพลิกอ่านเรื่องของเขาอย่างไม่สู้เต็มใจ บุคคลสุดท้ายที่ข้าพเจ้าจะนึกอยากขีดเขียนถึง คือสมาชิกไม่ว่าชั้นปลายแถวเพียงใดของราชวงศ์จักรีที่ครองประเทศไทยอยู่ กฎหมายว่าด้วยความผิดต่อกษัตริย์ของไทยที่ใช้กันอย่างโหดร้ายทารุณขึ้นทุกทีนับแต่ต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดเป็นต้นมานั้น ทำให้การเขียนถึงกษัตริย์ ราชินี และรัชทายาท ไม่อาจกระทำได้โดยไม่เสี่ยงต่อข้อหาหมิ่นหรือกระทั่งเสี่ยงคุกตะราง ความเสี่ยงที่ว่านี้ยิ่งสูงขึ้นไปอีกสำหรับชาวไทย นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังไม่อยากผลิตงานวิชาการที่ยิ่งจะชักนำความสนใจมาให้แก่ราชวงศ์และสถาบันในระบบการเมืองและวัฒนธรรมประเภทที่สามารถจะบดขยี้การแสดงความเห็นต่างไม่ว่าทางส่วนตัวหรือสาธารณะ เศรษฐกิจการเมืองทางวิชาการของวงการไทยคดีศึกษาก็เอนเอียงไปในทางสร้างเกียรติประวัติราชวงศ์กันพอแล้ว

อย่างไรก็ดี ปฤษฎางค์ทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจคาดไม่ถึงกับเรื่องอดีตในฉบับของเขาที่เป็นการท้าทายต่อบันทึกเรื่องราวที่มีอยู่เกี่ยวกับประเทศไทยและตำแหน่งแห่งที่ของไทยในประวัติศาสตร์โลก ชีวิตเขาลั่นกึงกังราวกับเป็นดุมล้อของกิจกรรมการเมืองที่กำลังควบตะบึงซึ่งยึดซี่แกนชาตินิยมไทย, จักรวรรดินิยมยุโรป, สากลนิยมพุทธ, และการต่อต้านจักรวรรดินิยมข้ามชาติ เข้าไว้ด้วยกัน แต่บันทึกประวัติศาสตร์ของไทยก็กุดบทบาทของเขาในสยามไปเสีย ทั้งปัดกิจกรรมเชิงการเมืองของเขาในชุมชนพุทธศาสนิกข้ามชาติทิ้งไปด้วย ข้าพเจ้าอยากรู้ว่าเป็นเพราะอะไร

บางส่วนจากหมายเหตุผู้แปล โดย ไอดา

หนังสือเล่มนี้แปลด้วยเจตนาที่จะเคารพภาษาต้นฉบับอย่างถึงที่สุด ในความหมายของการคงแก่นของถ้อยคำไว้เมื่อถ่ายเป็นภาษาไทย โดยปฏิเสธที่จะรวมมโนทัศน์ของจารีตสังคมช่วงชั้นแบบไทยเข้าไปในภาษา “ไทย” ที่ว่านี้ด้วย

ในทางศิลปะของภาษา มันคือการจงใจสลายความคุ้นเคย หรือบางคนอาจเรียกว่าเป็นการ defamiliarize เพื่อให้เกิดรสสัมผัสอย่างใหม่ อันอาจนำไปสู่สำนึกรับรู้ทางความหมายอย่างใหม่ด้วย สำนึกรับรู้ที่ว่านี้เป็นการทำงานทางวัฒนธรรมที่อาจส่งผลแก่สำนึกของผู้อ่านที่มีต่อตนเองในทางการเมืองด้วย ภาษาคือศิลปะและคือการเมืองภายในตัวมันเองเช่นนี้ และเป็นเช่นนี้ตั้งแต่ในขั้นของรูปแบบ ไม่ใช่เพียงเนื้อหา

ในทางเนื้อหา มันคือการสลัดมโนทัศน์รุงรังที่พ่วงมากับตัวภาษา ที่มาคอยเกลื่อนหรือบดบังสาระของเนื้อความ ในเมื่อหนังสือเล่มนี้พูดถึงการเมืองของช่วงชั้นในสังคมไทยผ่านเรื่องราวของเจ้าคนหนึ่งทั้งในฐานะที่เขาเป็นเจ้าและในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์ รวมทั้งพูดถึงบรรดาเจ้าคนอื่นที่แวดล้อมตัวเขาไม่ว่าจะเป็นเจ้าในชั้นยศฐานันดรใดในฐานะมนุษย์ด้วยเช่นกัน ภาษาไทยที่ใช้จึงต้องสะท้อนนัยยะเหล่านั้นออกมาให้ได้ ไม่ต่างจากที่ภาษาอังกฤษต้นฉบับสามารถทำไว้ได้โดยไม่ใช่เป็นแค่เพราะว่ามันเป็นภาษา “ฝรั่ง” แต่เพราะว่ามันยังเป็นภาษาของมโนทัศน์ที่ต่างไปในทางชนชั้น และในทางขนบของโลกวิชาการนอกประเทศไทยด้วย

สารบัญ
คำผู้เขียนสำหรับฉบับตีพิมพ์ภาษาไทย
หมายเหตุผู้แปล
บทนำ
บทที่ 1 ความลับจัดฉาก: การเอาคืนทางประวัติศาสตร์ของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์
บทที่ 2 อ่าวสยาม: รุ่งดาวปฤษฎางค์
บทที่ 3 ยุโรป: การทูตพิพาทของปฤษฎางค์
บทที่ 4 กรุงเทพฯ: กระดูกรอบคอปฤษฎางค์
บทที่ 5 อาณานิคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: การรอนแรมลี้ภัย
บทที่ 6 บริติชซีลอนและอินเดีย: เจ้าชายพระ
บทที่ 7 กรุงเทพฯ: บ้านไร้รัง
บทที่ 8 ชีวิตหลังความตาย: อรรถประโยชน์ปฤษฎางค์
กิตติกรรมประกาศ
บรรณานุกรม
ดัชนี

อื่นๆ

ปก

ปกอ่อน, ปกแข็ง