สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

รักสามัญ: บันทึกความผูกพันชั้นราษฎร

180 ฿

รักสามัญ: บันทึกความผูกพันชั้นราษฎร
โดย รสมาลิน ตั้งนพกุล

พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2563
ISBN 978-616-7158-97-6
ปกอ่อนมีปีกปก ขนาด 13×18.5 ซม.
จำนวนหน้า 192 หน้า
ราคา 200 บาท จัดส่งฟรี

 

รายละเอียด

หมายเหตุบรรณาธิการ

อันที่จริงฉันเบื่อการเขียนมาก เพราะฉันเป็นคนที่เขียนแล้วขี้เกียจลบ มันเมื่อย พอต้องแก้ใหม่ฉันก็ขีดฆ่าเอา รอยฆ่าน่าเกลียด จะเขียนจดหมายถึงใครซักฉบับต้องตั้งใจ ต้องร่างไว้ก่อน บางทีเขียนๆแล้วก็ขีดฆ่าไปเลย ไม่ดีโว้ย  (รักเอย, น.65)

อะไรทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งลุกขึ้นมาเขียนหนังสือ โดยเฉพาะเมื่อเป็นผู้หญิงเบื่อการเขียนและขี้เกียจลบคนนี้ที่อยู่ในวัยเจ็ดสิบ มีการศึกษาในระบบถึงชั้นประถม มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน มีหลานหลายปากท้องต้องดูแล และไม่มีคนรักอยู่เคียงข้างอีกต่อไปแล้ว

วันหนึ่งในปี 2557 ก่อนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม ดิฉันได้รับจดหมายลายมือจากผู้อ่านที่ใช้นามปากกาว่า “ก้น กะลาดำ” เขียนมาสนทนากับข้อเขียนของดิฉันเองในวารสารอ่าน (จดหมายนี้นำมาตีพิมพ์ไว้ในภาคผนวกท้ายเล่มนี้แล้ว) เมื่อดิฉันเดาได้ว่าผู้อ่านปริศนาท่านนี้คือ ป้าอุ๊ รสมาลิน ตั้งนพกุล ดิฉันจึงขอให้เธอเขียนงานลักษณะนี้ส่งมาอีก คือเป็นงานเขียนที่เล่าถึงผู้คนที่เธอผูกพัน บรรดาผู้คนในความทรงจำเหล่านั้น ที่ในภาษาแบบหนึ่งอาจเรียกว่าเพื่อนร่วมชะตากรรม และในภาษาอีกแบบคือเพื่อนร่วมชนชั้น

จากจุดเริ่มต้นนั้นผ่านกาลพลิกผันสู่ยุคมืดยุคใหม่ จดหมายฉบับแล้วฉบับเล่าที่เป็นต้นฉบับจากป้าอุ๊ก็เดินทางผ่านเวลามืดมนอันไม่ยอมพ้นไปเสียทีนี้มาด้วยกัน จนกลายมาเป็นหนังสือเล่มนี้

ต้นฉบับของป้าอุ๊เป็นลายมือปากกาหมึกแห้งบนกระดาษที่มีเส้นบรรทัดบ้าง ไม่มีบ้าง หลายครั้งคือกระดาษจากสมุดการบ้านเล่มเก่าของหลาน ตัวอักษรอัดแน่นติดกันมาเต็มทุกบรรทัดจนแทบไม่เหลือชานกระดาษ ในแง่หนึ่งก็แทบจะเหมือนงานเขียนในแนวทดลองที่เขียนเป็นพรืดไปตามการพรั่งพรู ท้าทายให้คนอ่านปรับความคุ้นเคยใหม่ไปพร้อมกับที่ต้องเป็นฝ่ายขยับจังหวะวรรคของประโยคเอง ซึ่งสำหรับดิฉันแล้วน่าสนใจจนนึกอยากจะคงไว้อย่างนั้น แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนใจเพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่ป้าอุ๊ต้องการ นี่มิใช่เป็นงานทดลองจากความเหลือเฟือทางรสนิยม หากคือความอัตคัดจนไม่ทิ้งพื้นที่ว่างบนหน้ากระดาษให้สูญเปล่า

ในแง่ภาษา ภาษาของป้าอุ๊มีสเน่ห์ของความเป็นภาษาเขียนที่คงจังหวะของความเป็นภาษาพูด และเป็นภาษาพูดของคนที่มีปฏิภาณทางภาษา ทั้งบ่งเค้าถึงการเสพรับสุนทรียรสของภาษามาจากวรรณกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นวรรณกรรมที่อยู่ในบทเพลงประเภทที่นิยมใช้ภาษาพรรณนาและโวหารแบบกวี ทั้งงานเขียนของป้าอุ๊ก็มีการพาดพิงถึงบทเพลงต่างๆอยู่เป็นระยะ ดิฉันจึงได้ประมวลขึ้นมาให้มีฐานะอย่างบรรณานุกรมท้ายเล่มไว้ เพื่อบอกที่มาของแหล่งอ้างอิงทางอารมณ์และข้อคิดบทเรียนชีวิตเหมือนอย่างในขนบงานเขียนประเภทอื่น

ในแง่วันเวลา เรื่องเล่าของป้าอุ๊ครอบคลุมหลายยุคสมัยไปตามอายุขัยของผู้คนที่ถูกเขียนถึง แต่ป้าอุ๊ไม่ได้ใช้วิธีระบุปีพ.ศ. หากใช้ช่วงอายุตัวเองเป็นจุดอ้างอิง ดิฉันก็เลือกจะคงไว้เช่นนั้น เช่นกันกับที่ป้าอุ๊มักไม่อ้างถึงบทเพลงจากชื่อเพลง หากรำลึกจากเนื้อร้องที่กินใจหรือฝังใจ ซึ่งก็คงเพราะบทเพลงเหล่านั้นเข้ามาในความทรงจำผ่านการฟังรายการวิทยุมากกว่าที่จะได้เป็นเจ้าของแผ่นเสียง ดิฉันก็เลือกคงธรรมชาติของความทรงจำเช่นนั้นไว้อีกเช่นกัน บทเพลงต่างๆเหล่านี้สะท้อนความโรแมนติคได้พอๆกับทำให้เห็นหน้าที่ของมันในโลกเรียลลิสติคของผู้คนหาเช้ากินค่ำ ว่านามธรรมของความเป็นดนตรียิ่งมีความหมายเพียงใดในโลกของผู้คนที่ไม่อยู่ในวิสัยจะครอบครองรูปธรรมของสิ่งบำเรอหรือคลายอารมณ์ในลักษณะอื่น

พอๆกับที่เราจะเห็นได้ว่า มีหลายครั้งในเล่มนี้ที่ป้าอุ๊เขียนถึงความหมายของครอบครัว ว่าการมีครอบครัวทำให้ไม่เดียวดาย และใครที่ไม่มีคนรักหรือครอบครัว ป้าอุ๊ก็ดูจะรู้สึกเหมือนชีวิตของคนผู้นั้นอาภัพขาดอะไรไป ดิฉันอ่านแล้วนึกอยากแย้งว่าสำหรับบางคน ครอบครัวอาจจะไม่ใช่คำตอบขนาดนั้นก็ได้ บางทีการอยู่ลำพังกลับจะทำให้รู้สึกอ้างว้างน้อยกว่าก็ได้ แต่เมื่อนึกถึงราษฎรส่วนใหญ่ของประเทศนี้ บางทีครอบครัวคงเป็นสมบัติเดียวนั่นแล้วที่มีได้และมีค่าความหมายที่สุด เพราะเป็นสิ่งเดียวที่สร้างขึ้นและคงเหลืออยู่ได้ในขณะที่ด้านอื่นของชีวิตดูจะขาดไร้ไปเสียหมด

และด้วยเหตุดังนี้ การถูกพรากคนรักหรือถูกพรากความเป็นครอบครัวไป จึงยิ่งส่งผลสะเทือนอย่างที่บรรดาฆาตกรผู้ลงทัณฑ์ยากจะเข้าใจ และเมื่อสูญเสียไปแล้ว ก็ยิ่งต้องพยายามรักษาส่วนที่ยังเหลือไว้ให้แคล้วคลาดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หลานๆจึงกลายเป็นพันธกิจสุดท้ายที่ป้าอุ๊เขียนถึงไว้ในหลายบทของเล่มนี้ พันธกิจที่จะสร้างความเข้มแข็งให้พวกเขาอยู่รอดปลอดภัยได้ในสังคมนี้ที่พราก “อากง” ของพวกเขาไป สังคมที่เธอบอกว่ามันคือ “โลกที่มีความโหดร้ายคอยจ้องเราอยู่ และเรากำลังจ้องตากับมันอยู่” เพราะมันคือสังคมชนิดที่ไม่มีหลักประกันว่าผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิดนั้นจะได้รับการปฏิบัติอย่างผู้บริสุทธิ์

ดังนี้เองผู้หญิงคนหนึ่งจึงลุกขึ้นมาเขียน เหมือนที่ครั้งหนึ่งเธอเคยบอกว่า “คำว่า ‘อากงปลงไม่ตก’ ทำให้ฉันต้องเริ่มเขียน” เพราะ “ใครจะปลงได้ คนไม่ได้ทำจะปลงได้ยังไง” (รักเอย, น.65) และการเขียนสำหรับป้าอุ๊ก็เป็นทุกอย่างที่การเขียนจะเป็นตัวแทนได้ ไม่ว่าการบันทึก, การระบาย, การยืนหยัด, การคุยกับตัวเอง, การสู้กับตัวเอง จนถึงการยังชีพ โดยที่ระหว่างบรรทัดซึ่งเธอเขียนถึงผู้คนสารพัด เราจะยังสัมผัสได้ถึง “อากง” ที่อยู่ในฉากหลังเสมอ และสิ่งที่เธอเขียนถึงก็คือความรักอย่างสามัญที่มีความขาดไร้ขรุขระ สุข-ทุกข์เป็นธรรมดาโดยไม่ต้องอ้างความสูงส่งสมบูรณ์แบบอย่างใด ให้การจดจำได้ถึงความผูกพันครั้งอดีตคือเครื่องเยียวยาปัจจุบัน คือรักสามัญ ที่เธอจะรักษามัน ไว้ ในท่ามกลางความทรงจำอื่นอันโหดร้ายที่เธอต้องใช้การเขียนมาเยียวยารักษามัน

มันกลายเป็นความสุขในความเศร้า ขำในความขื่น เหมือนกลิ่นหอมรื่นของดอกลั่นทมที่ป้าอุ๊เคยบอกว่าทำให้เธอคลายทุกข์ บนลำต้นที่หยัดยืนด้วยรูปทรงสง่า คือดอกไม้สีขาวนามเศร้าที่ส่งกลิ่นหอมกำจายให้ลืมทุกข์ได้เพียงเพราะมันปลุกความทรงจำต่อสถานที่ที่เธอเคยได้ไปเยือนกับคนรักผู้ถูกพรากไป

ไม้ดอกนี้อาจมีชื่ออื่นในถิ่นอื่น กระทั่งมีนามอื่นซึ่งใครตั้งไว้ให้สูงส่งชดช้อยกว่า แต่สำหรับความรักสามัญของผู้คนสามัญในประเทศนี้ จะมีชื่อใดที่เหมาะไปกว่าลั่นทมที่ราวกับลั่นความระทมออกมาแล้วก็ดูจะยังไม่อาจมีวันสลัดพ้นไป ตราบใดที่ยังมีความรักเทียมค่าสูงเกินราคา มาคอยคร่า—และฆ่า—ความรักสามัญ

ไอดา อรุณวงศ์