สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

อ่านใหม่

250 ฿340 ฿

เมืองกับชนบทในวรรณกรรมไทย

รายละเอียด

อ่านใหม่:
เมืองกับชนบทในวรรณกรรมไทย
โดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
คำนำโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก มีนาคม 2558
ปกอ่อน ราคา 320 บาท
ปกแข็ง ราคา 420 บาท

บางส่วนจากคำนำโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมอ่านผลงานวิจารณ์วรรณกรรมของท่านอาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ แล้วทำให้ “ตาสว่าง” ทั้งต่อชิ้นงานวรรณกรรม และต่อปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นรอบตัว โดยมองเลยไปจากเจตนาของผู้เขียนชิ้นงานวรรณกรรม เกิดความหมายใหม่ที่ทำให้วรรณกรรมดีๆ ไม่เคย “ตาย” เสียที

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นเพียงตำราที่ขาดไม่ได้สำหรับนักเรียนวรรณกรรมไทยเท่านั้น แต่เป็นหนังสือที่คนทั่วไปควรอ่าน ซึ่งจะเปิดโลกใหม่ของการอ่านวรรณกรรมจนทำให้วรรณกรรมหลายชิ้นนั้นอ่านแล้วอ่านอีกได้

คำนำผู้เขียน : ทำไมจึง “อ่านใหม่”

หลังจากที่เขียนบทวิจารณ์วรรณกรรมในแนวหลวมๆ ที่ผมเรียกว่า “อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง” มาได้สักระยะหนึ่งแล้ว ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือชื่อแปลกๆ ว่า S/Z ของโรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับอ่านซ้ำ (rereading) หรือที่ผมขอเรียกว่า “อ่านใหม่” ไว้อย่างน่าสนใจว่า

กิจที่พึงกระทำเบื้องแรกสุดคือการอ่านซ้ำ อันเป็นปฏิบัติการที่สวนทางกับกิจวัตรการอ่านภายใต้กลไกการค้าและอุดมการณ์ของสังคม ที่คอยบอกให้เรา “โยนทิ้ง” เรื่องที่อ่านทันทีที่เราบริโภค (“สวาปาม”) เสร็จ เพื่อที่เราจะได้อ่านเรื่องอื่นต่อไป และซื้อหนังสือเล่มต่อไป จะมีก็เพียงกลุ่มผู้อ่านจำนวนน้อยนิดในสังคมนี้เท่านั้นที่ได้รับการผ่อนปรนให้อ่านซ้ำได้ (เด็ก คนแก่ และอาจารย์มหาวิทยาลัย) การอ่านซ้ำคือการปกป้องตัวบทจากความซ้ำซาก (ผู้ใดที่ไม่เคยอ่านซ้ำ ผู้นั้นจะถูกบังคับให้ต้องอ่านเพียงเรื่องเดิมๆในทุกๆเรื่องที่อ่าน) การอ่านซ้ำช่วยเพิ่มพูนและทวีคูณความหลากหลายและความเป็นพหุลักษณ์ของตัวบท” (S/Z, น. 15-16 แปลจากต้นฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย Richard Miller, 1974)

ในที่นี้บาร์ตส์ช่วยเตือนสติให้เราตระหนักถึงมิติเชิงพาณิชย์ของการอ่านที่เราไม่ทันฉุกใจคิด ด้วยว่ามัวแต่ชื่นชมโสมนัสกับมิติเชิงวัฒนธรรมและเชิงปัญญาของการอ่าน จนหลงเข้าใจไปว่ายิ่งอ่านหนังสือมากเล่มเท่าใด ก็ยิ่งจะช่วยทำให้เกิดความงอกงามทางปัญญามากขึ้นเท่านั้น โดยลืมไปว่ากิจวัตรหรือพฤติกรรมดังกล่าวจะทำให้เงินในกระเป๋าของเราลดน้อยลงตามไปด้วย และถึงแม้เราจะตระหนักรู้ในความจริงข้อนี้ แต่หลายคนย่อมรู้สึกว่าเป็นราคาที่ต้องจ่ายซึ่งคุ้มค่าอย่างยิ่ง เพราะเรามักเชื่อกันว่าหนังสือนั้นมิใช่สินค้าแต่เป็นแหล่งประเทืองปัญญา ยิ่งซื้อมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ใครเล่าจะกล้าตำ หนิคนบ้าซื้อหนังสือว่าเป็นผ้หู ลงใหลในลัทธิบริโภคนิยม แต่บาร์ตส์พยายามเตือนสติเราถึงความเป็นวัตถุวิสัยของหนังสือที่ไม่ควรมองข้าม ในท้ายที่สุดแล้วหนังสือก็เป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่อยู่ภายใต้กลไกตลาดของระบบทุนนิยม

แต่ประเด็นสำคัญที่บาร์ตส์ชี้ชวนให้เราครุ่นคิดคือ กลไกเชิงอุดมการณ์ของการตะลุยอ่านหนังสือ หรือที่บาร์ตส์ได้บรรยายไว้อย่างเห็นภาพว่า “การสวาปาม” ตามความเข้าใจอันจำกัดของผม คำพูดปริศนาที่ฟังดูขัดแย้งกันเองของบาร์ตส์ที่ว่า “ผู้ใดที่ไม่เคยอ่านซ้ำ ผู้นั้นจะถูกบังคับให้ต้องอ่านเรื่องเพียงเรื่องเดียวในทุกๆเรื่องที่อ่าน” เป็นการอธิบายการทำงานของอุดมการณ์การอ่านในสังคมทุนนิยมที่น่าสนใจ โดยทั่วไปเราเชื่อกันว่าการอ่านและการเขียนเป็นกิจกรรมเชิงปัจเจกและเป็นอิสระ ที่เสมือนหนึ่งว่าปลอดจากการควบคุมครอบงำของสังคม นั่นคือคนสิบคนอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน ย่อมจะเกิดความเข้าใจต่อเรื่องไม่เหมือนกันทั้งหมด หลักใหญ่ใจความอาจจะตรงกัน แต่ว่ารายละเอียดปลีกย่อยน่าจะต้องต่างกันไปตามนานาจิตตังของผู้อ่าน และยิ่งถ้าเป็นคนอ่านคนเดียวอ่านหนังสือสิบเล่มไม่ซ้ำกันเลย ย่อมจะได้เรื่องสิบเรื่อง แต่ไฉนบาร์ตส์จึงบอกว่ายิ่งอ่านหนังสือมากเล่ม ยิ่งต้องอ่านแต่เรื่องเดิมตลอดเวลา และการอ่านซ้ำหรือการอ่านใหม่คือการปกป้องตัวบทจากความซ้ำซาก

การอ่านหนังสือเล่มเดียวกันซ้ำๆนำไปสู่การค้นพบเรื่องใหม่อันหลากหลายนั้น เป็นสิ่งที่พอจะเข้าใจได้ง่าย ดังที่หลายคนคงจะประสบกับตัวเองว่า เมื่อหวนกลับไปอ่านนวนิยายที่เคยอ่านในวัยเด็ก ความหมายที่ได้ดูจะต่างกันลิบลับ ข้อเสนอของบาร์ตส์ที่ดูจะฝืนสามัญสำนึกก็คือการอ่านหนังสือมากเล่มทำให้ต้องอ่านอยู่แต่เรื่องเดิมๆ ผมคิดว่า “เรื่องเดิมๆ” (“same story”) ที่บาร์ตส์เสนอในที่นี้มีนัยยะสองระดับ ในระดับแรกคือ “เรื่องเดิมๆ” ในความหมายที่ว่าเรื่องที่เราอ่านเป็นเรื่องเดียวกันกับที่เราคาดหวังให้เรื่องเป็น เพราะกระบวนการอ่านนั้นแท้จริงแล้วเป็นกระบวนการที่เรามุ่งหวังให้หนังสือช่วยยืนยันชุดความเชื่อและระบบคุณค่าที่เรายึดถือ มากกว่าที่จะตั้งคำถามกับมัน ดังนั้นไม่ว่าเราจะอ่านหนังสือนับสิบนับร้อยเล่ม แต่ทุกเล่มก็เป็นเรื่องเดิมๆ ทั้งสิ้น เพราะหนังสือแต่ละเล่มล้วนเป็น “หนังสือที่อ่านมาก่อนแล้วทั้งสิ้น” ในแง่ที่ว่าเรามีชุดคำ อธิบายไว้ล่วงหน้าแล้วในใจ และเรามีแนวโน้มที่จะอ่านหนังสือเล่มนั้นให้เข้ากับชุดคำอธิบายของเรา เช่นเมื่อเราอ่าน แผลเก่า และพบว่าเรียมหมดรักขวัญเมื่อเธอมาอาศัยอยู่ในบางกอก เราก็จะคิดว่า “ใช่เลย ผู้หญิงก็อย่างงี้แหละ สามวันจาก นารีเป็นอื่น” “เรื่องเดิมๆ” ของบาร์ตส์ยังน่าจะมีความหมายรวมไปถึง “เรื่องเล่าแม่บท” (master narrative/grand narrative) ที่ทำหน้าที่ผลิตและกำกับความหมายต่างๆในสังคม เป็นตัวกำหนดว่าอะไรพูด/เขียน/อ่านได้ อะไรพูด/เขียน/อ่านไม่ได้ อะไรเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ เรื่องเดิมๆของแต่ละบุคคลในท้ายที่สุดจึงเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าแม่บทอีกทอดหนึ่ง ในแง่นี้การอ่านหนังสือสิบเล่มจึงกลายเป็นการอ่านเรื่องเล่าแม่บทเรื่องเดียวตามที่บาร์ตส์กล่าวไว้

การอ่านใหม่หรืออ่านซ้ำจึงเป็นมากกว่าการหวนกลับไปอ่านเรื่องที่เคยอ่านมาแล้ว การอ่านใหม่คือปฏิบัติการขัดขืนเรื่องเล่าแม่บทที่กำกับความหมายและเรื่องที่เราอ่าน คือการเปิดรับความเป็นพหุลักษณ์ของตัวบท และเป็นการทวีคูณความแตกต่างหลากหลายของความหมาย ทั้งนี้เพื่อปลดปล่อยหนังสือและความหมายจากอำนาจผูกขาดของเรื่องเล่าแม่บท ดังที่บาร์ตส์ได้เสนอว่า การอ่านใหม่นั้นมิใช่เพื่อเข้าถึงตัวบทที่เป็นอยู่ แต่เพื่อเข้าถึง “พหุลักษณ์ของตัวบท: ตัวบทเดิมและตัวบทใหม่” (Barthes, น. 16)

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับที่ผมกำลังสนใจการอ่านใหม่ในแนวทางของบาร์ตส์ คุณไอดา อรุณวงศ์ ได้เชิญชวนมาว่าอยากให้ผมเขียนบทความวิจารณ์วรรณกรรมเป็นประจำในวารสารด้านวัฒนธรรมและวรรณกรรมที่กำลังจะออกใหม่ ชื่อห้วนๆตรงๆว่า อ่าน ซึ่งเธอเป็นบรรณาธิการ ผมได้เสนอไอเดียการ “อ่านใหม่” ดังกล่าว ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นจากคุณไอดา พร้อมคำยืนยันว่า “อาจารย์กำลังจะทำในสิ่งที่เป็นเป้าหมายหนึ่งของวารสาร อ่าน อย่างยิ่งแล้ว” ด้วยแรงยุส่งของบรรณาธิการ บทความในคอลัมน์ “อ่านใหม่” นี้จึงค่อนข้างยาวถึงยาวมาก ผิดจากบทความที่รวมพิมพ์อยู่ใน อ่าน(ไม่)เอาเรื่อง เพราะในการอ่านตัวบทใหม่ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นอกเหนือจากการหวนกลับไปอ่านตัวงานวรรณกรรมที่จะวิเคราะห์แล้ว คือการหวนกลับไปอ่านการอ่านตัวบทที่ได้กระทำกันมาก่อนหน้านี้ ตลอดจนตัวบทอื่นๆ ที่ร่วมสมัยร่วมยุคกับตัวบทวรรณกรรม เพื่อทำความเข้าใจเรื่องเล่าแม่บทที่กำกับตัวบทและการอ่านตัวบทดังกล่าว ทั้งหมดนี้ผมได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลืออย่างดียิ่งจากคุณไอดาและทีมงานวารสารอ่าน ไม่ว่าจะเป็นการเสาะหาต้นฉบับวรรณกรรมเก่าในอดีตที่ขาดหายไปในท้องตลาด และการสืบค้นข้อมูลแวดล้อมและเอกสารที่เกี่ยวข้อง

ในการเลือกตัวบทมาอ่านใหม่นั้น ประเด็นหนึ่งที่ผมสนใจมากเป็นพิเศษคือประเด็นเรื่องเมืองและชนบทในวรรณกรรมยุคต่างๆ ดังที่ทราบกันดีว่าในรอบสิบปีที่ผ่านมาการเผชิญหน้าและปะทะกันทางการเมืองและวัฒนธรรมนับวันจะทวีความเข้มข้นและแหลมคมยิ่งขึ้น จนกลายเป็นหัวข้อศึกษาและวิจัยสำคัญของนักวิชาการจากหลากหลายสาขาไม่ว่าจะรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา และอื่นๆ ผมคิดว่าวรรณกรรมเป็นเวทีสำคัญที่บันทึกและถ่ายทอดการเผชิญหน้ากันของเมืองและชนบทได้อย่างมีชีวิตชีวาและรอบด้าน วรรณกรรมสมัยใหม่ของไทยจำนวนไม่น้อยนำเสนอแง่มุมต่างๆของเมืองและชนบท ไม่ว่าจะเป็นบทกวีอมตะ “อีศาน” ของนายผี, รวมเรื่องสั้น ฟ้าบ่กั้น ของลาว คำหอม, นวนิยายลูกทุ่ง แผลเก่า ของไม้ เมืองเดิม, นวนิยายเพื่อชีวิต ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ และ คำ พิพากษา ของชาติ กอบจิตติ งานเหล่านี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานชิ้นเอกที่สามารถทำให้เราเข้าใจและตระหนักถึงความทุกข์ยากของชาวบ้านและชนบทได้อย่างแจ่มแจ้งและชวนสะเทือนใจ แต่ที่สร้างความฉงนสนเท่ห์แก่ผมเป็นอย่างยิ่งคือ ในสถานการณ์ของความขัดแย้งทางการเมืองที่ถูกแบ่งขั้วเป็นเมืองและชนบทเช่นในปัจจุบัน หลายคนที่เอ่ยปากชื่นชมงานวรรณกรรมเหล่านี้กลับกลายเป็นผู้ที่ออกมาร่วมกับขบวนการเหยียดหยามคนชนบทอย่างกระตือรือร้นโดยปราศจากความกระดากใจใดๆ ตัวบทวรรณกรรม ฟ้าบ่กั้น และการอ่านตัวบทวรรณกรรมเล่มนี้ เป็นตัวอย่างสาธิตประเด็นการอ่านเพื่อตอกย้ำเรื่องเล่าแม่บทในสังคมว่าด้วยคนอีสานได้เป็นอย่างดี บทความ “ฟ้าบ่กั้น หยังว่าให้ห่างกัน” จึงเป็นการนำแรงบันดาลใจจากแนวคิดของบาร์ตส์เรื่องอ่านใหม่ มาประยุกต์ใช้เพื่อค้นหาความเป็นพหุลักษณ์ของตัวบท กอบกู้ตัวบทเดิมพร้อมกันไปกับก่อรูปตัวบทใหม่ของ ฟ้าบ่กั้น ที่เกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับการเผชิญหน้าระหว่างเมืองและชนบทที่อยู่เบื้องหน้าเราในขณะนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับชนบทที่แสดงออกผ่านแรงเครียดและแรงดึงดูด การเผชิญหน้าและการหนีหน้า การปะทะและการประสาน ตลอดจนการปรับเปลี่ยนและการต่อต้านขัดขืน ดังที่ปรากฏในวรรณกรรมตลอดช่วงเวลามากกว่า 60 ปี ยังเผยให้เห็นว่า ปัจจัยสำคัญที่จำต้องนำมาพิจารณามิได้มีเพียงเรื่องความต่างทางชนชั้น ทางเศรษฐกิจ และความต่างทางวัฒนธรรมรวมถึงชาติพันธุ์เท่านั้น แต่มิติทางเพศสถานะ (gender) ก็เป็นปัจจัยสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันในกรอบความสัมพันธ์ของเมืองและชนบท ดังที่ผมได้ทดลองเสนอไว้ในการอ่านใหม่ ทุ่งมหาราช ของเรียมเอง, เขาชื่อกานต์ ของสุวรรณี สุคนธา, ผลงานเรื่องสั้นของศรีดาวเรือง และรวมถึง คำพิพากษา ของชาติ กอบจิตติ ด้วย

การคัดเลือกบทความจากคอลัมน์ “อ่านใหม่” ในวารสาร อ่าน มารวมเป็นเล่มในที่นี้จึงเลือกคัดเฉพาะบทความที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องเมืองและชนบทในวรรณกรรมยุคต่างๆ ตั้งแต่ช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จนถึงยุคพฤษภาทมิฬ 2535 ในการนี้ได้นำ บทความอีกสองชิ้นที่เคยตีพิมพ์ในที่อื่น คือ “25 ปี คำพิพากษา กับคำอุทธรณ์ของสมทรง” และ “เหมือนอย่างไม่เคย … มีแต่พวกมัน : จากวิทยากร เชียงกูล ถึง วัน ณ จันทร์ธาร” มารวมไว้ด้วย เพื่อให้ครอบคลุมยุคต่างๆของวรรณกรรมที่เกี่ยวกับเมืองและชนบท โดยเริ่มจากนวนิยาย แผลเก่า ของไม้ เมืองเดิม ที่คนบางกอกรุกเข้าไปในพื้นที่ชนบท จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมของขวัญและเรียม และมาสิ้นสุดด้วยเรื่องสั้น “มีแต่พวกมัน” ของวัน ณ จันทร์ธาร พร้อมภาพชวนหลอกหลอนตอนท้ายเรื่อง หลังจากที่สามารถขับไสไล่ส่งเคน เด็กหนุ่มบ้านนอกที่เธอเคยสนิทสนมด้วยสมัยไปออกค่ายชนบท ธิติมาสาวกรุงเทพฯก็เกิดความหวาดระแวงตลอดเวลาว่าจะถูกตามรังควานจาก “พวกมัน” เพราะใน “ทุกซอกทุกมุมเหมือนมีแต่พวกมันอยู่เต็มไปหมด เพิงขายส้มตำ รถเข็นโรตี วงหมากรุกหน้าอู่ ป้ายรถเมล์ วินมอเตอร์ไซค์ คิวรถสองแถว วงตะกร้อ สวนหย่อม วงเวียน ร้านขายผัก ทุกโค้งทุกแยกทุกแห่งทุกหน” อันเป็นภาพหลอนที่กลายเป็นจริงจนน่าขนลุกหลังการรัฐประหาร 2549

คำนำสำนักพิมพ์ โดยไอดา อรุณวงศ์

ในสมัยหนึ่ง, จะว่านานมาแล้วแค่ไหนก็พูดลำบาก เพราะเรื่องของ “วัย” บางทีก็ไม่ใช่อย่างเดียวกันกับเรื่องของ “ปี”, ดิฉันเคยตั้งมั่นไว้ว่า ภารกิจอย่างหนึ่งที่จะต้องทำให้ลุล่วงก่อนตาย คือการหวนกลับไปอ่านหนังสือทุกเล่มที่เคยอ่านในช่วงราวสิบสองปีแรกของชีวิต หนังสือเหล่านั้นที่เคยอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกปิดภาคเรียน และได้ก่อรูปความคิดความเข้าใจของเรา กำหนดตัวตนและความหมายที่คนคนหนึ่งจะเชื่อมโยงตัวเองต่อโลกและสังคม ดิฉันหวังให้การหวนกลับไปอ่านหนังสือเหล่านั้นซ้ำทั้งหมดทีละเล่มก่อนตาย (สมมติเอาเองไปก่อนว่าดิฉันจะตายด้วยโรคภัยบางอย่างที่ทันรู้ตัวล่วงหน้า หรือไม่ก็ฆ่าตัวตาย ไม่ใช่ตายกลางถนนด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์หรือเพราะโดนทหารไล่ยิง) คือการอ่านซ้ำครั้งสุดท้าย และสรุปกับตัวเองได้ว่าเราเปลี่ยนไปแค่ไหนจากวัยเริ่มต้นนั้น แล้วก็ถือเป็นอันบรรจบรอบวงจรชีวิตธรรมดาสำมะหาอะไรมิได้ชีวิตหนึ่ง

สมัยที่มีความคิดเพียงนั้น ดิฉันยังไม่ทันรู้จักงานของ อ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

เพราะสิ่งที่ดิฉันไม่ทันได้เคยนึกถึง ก็คือความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในตัวเองที่หากเราจะค้นพบนั้น มิได้เกิดขึ้นอย่างปัจเจกที่ปลอดและปราศจากอิทธิพลรอบข้างที่ผ่านเข้ามาพร้อมประสบการณ์ อันแม้โดยปัจเจกลำพัง ทว่าการณ์ใดๆ ที่ได้ประสบและได้เข้าใจไปในทางหนึ่งทางใดเหล่านั้น ล้วนแยกออกได้ยากจากการยอมรับ ขัดขืน ต่อต้าน ต่อแรงปะทะจากภายนอกทั้งสิ้น หากจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวเองได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจสิ่งภายนอกที่กำกับอยู่นั้น เป็นภายนอกที่กำกับอยู่ภายในของการอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน หากเพียงแต่อ่านหนังสือซ้ำๆ หรือกระทั่งหนังสือเล่มใหม่ในทุกช่วงวัยที่เปลี่ยนไป แต่อ่านไม่ออกว่าในการอ่านแต่ละครั้งเราอ่านมันในบริบทที่ถูกกำหนดด้วยอะไรได้อย่างไร อ่านตอนแปดขวบหรืออ่านตอนแปดสิบก็คงไม่ได้ทำให้ดิฉันบรรลุอะไรขึ้นมา นอกจากอารมณ์โหยหาอดีตที่ลับหายแล้วฟูมฟายกับมันต่อไป

และในเมื่อในช่วงวัยหนึ่งวัยนี้ ดิฉันอุตริลุกขึ้นมา “อ่าน” ไปพร้อมๆ กับโลกสาธารณะด้วยการทำวารสาร อ่าน และสำนักพิมพ์อ่าน การได้พบหนทางของการ “อ่านใหม่” (ที่มิใช่แค่ “อ่านซำ้”) ของอาจารย์ชูศักดิ์ จึงมีความหมายที่ไม่ใช่แค่เรื่องของการเล่นสนุกทางวิชาการ แต่คือการจี้ตรงไปยังหัวใจอันเป็นอุดมคติของการอ่านนั้น นั่นคือการอ่านในฐานะที่เป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่งของชีวิต — ชีวิตที่ไม่ว่าจะผันแปรเปลี่ยนแปลงในทางปัจเจกไปแค่ไหน ก็ไม่อาจแยกออกได้จากความแปรผันแปลงเปลี่ยนของสังคม – ไทย

บางคำถาม ถ้าหากมีใครคิดจะถาม ดิฉันก็จะขอตอบไว้ ว่าถ้าหากแม้นว่า “อ่าน” คือความหมายของชีวิตช่วงหนึ่งช่วงนี้แห่งวัย “อ่านใหม่” ก็คือความหมายของสำนักพิมพ์อ่าน

อื่นๆ

ผู้เขียน

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

คำนำ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

บรรณาธิการ

ไอดา อรุณวงศ์

พิมพ์ครั้งที่

พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2558

ปก

ปกแข็ง, ปกอ่อน