สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

สินสาด: สรรนิพนธ์วิชาการศิลปศาสตร์ มธ.

650 ฿

“สินสาด: สรรนิพนธ์วิชาการศิลปศาสตร์
ในวาระ 60 ปี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ บรรณาธิการ

สินค้าหมดแล้ว

รายละเอียด

“สินสาด: สรรนิพนธ์วิชาการศิลปศาสตร์
ในวาระ 60 ปี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ บรรณาธิการ
พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2565

หนังสือขนาด 19x 21 ซม. ความหนา 600 หน้า ปกอ่อน
ISBN 978-616-8300-07-7

“จุดกำเนิดของคณะศิลปศาสตร์บนฐานคิดเรื่อง liberal arts education ที่อิงอยู่กับแนวคิดเสรีนิยม ผนวกกับวัฒนธรรมส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลงานวิชาการของอาจารย์คณะศิลปศาสตร์มีความโดดเด่นเฉพาะตัวสูง ในแง่ที่งานแต่ละชิ้นแสดงให้เห็นถึงความเป็นอิสระทางวิชาการและทางความคิดของผู้เขียนเป็นพิเศษ โดยภาพรวมแล้วงานวิชาการของคณะศิลปศาสตร์จึงมิได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หรือสังกัดสำนักความคิดใดความคิดหนึ่งเพียงสำนักเดียว แม้แต่งานที่มาจากสาขาวิชาเดียวกัน บางครั้งพบว่าจะโต้แย้งกันเองด้วยซ้ำ จนอาจพูดได้ว่าการไม่อยู่ในสังกัดความคิดใดๆ เพียงสำนักเดียวของงานวิชาการจากคณะศิลปศาสตร์ คือสิ่งที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นลายเซ็นของ ‘สำนักคิดศิลปศาสตร์ธรรมศาสตร์’

“หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยสองภาค ภาคแรกคือผลงานคัดสรรในอดีตของอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์แต่ละยุคสมัย ที่พยายามให้ครอบคลุมทุกสาขาวิชาที่เปิดสอน และเป็นงานที่มีบทบาทสำคัญต่อวงวิชาการและ/หรือแสดงถึงสปิริตของ  ‘สำนักคิดศิลปศาสตร์ธรรมศาสตร์’ ภาคสองคือผลงานที่อาจารย์และศิษย์เก่าคณะศิลปศาสตร์ส่งเข้ามาและผ่านการประเมินคุณภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรฐานวารสารวิชาการปัจจุบัน”

“คำว่า ‘สินสาด’ อันเป็นชื่อหนังสือเล่มนี้ อาจสะดุดสายตาคนทั่วไปอยู่บ้าง แต่ทุกคนที่คณะศิลปศาสตร์แห่งนี้ย่อมทราบกันดีว่า ‘สินสาด’ เป็นคำที่นักศึกษาของคณะศิลปศาสตร์นิยมเขียนและเรียกชื่อคณะอย่างลำลองและอย่างเป็นกันเอง ด้วยสปิริตของความไม่ถือเคร่งในจารีตอันเป็นวัฒนธรรมเสรีนิยมของคณะศิลปศาสตร์และของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยรวม นอกจากนี้คำว่า ‘สินสาด’ ยังมีนัยยะสื่อถึงการเผยแพร่แจกจ่ายทรัพย์สินทางปัญญาที่คณะศิลปศาสตร์ได้สร้างสมไว้ตลอดช่วงเวลา 60 ปีที่ผ่านมาด้วย อันถือได้ว่าเป็นการขานรับเจตนารมณ์ของผู้ประศาสน์การ ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเสมือน ‘บ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎร’ ”

— บางส่วนจากบทนำโดยชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, บรรณาธิการ

สารบัญ

บทนำ
สินสาด: 60 ปี คณะศิลปศาสตร์ กับการสร้างและส่งต่อความรู้สู่สังคมเสรีชน
– ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

ภาคแรก

Specialism and the Liberal Arts
– Adul Wichiencharoen / อดุล วิเชียรเจริญ

โสกราตีสและปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายและความยุติธรรม
– พินิจ รัตนกุล

ระบบหอสมุดรัฐสภาอเมริกัน กับผู้ใช้ห้องสมุดมหาวิทยาลัย
– ทองหยด ประทุมวงศ์

วิวัฒนาการของวรรณกรรมจีน, แบบจีน, และเกี่ยวกับจีนในภาษาไทย
– ขวัญดี รักพงศ์

กบฏไพร่สมัยอยุธยากับแนวคิดผู้มีบุญ-พระศรีอาริย์-พระมาลัย
– ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

วิจารณ์เรื่องสั้นของหลู่ซิ่น
– อาทร ฟุ้งธรรมสาร

ชีวิตและงานของนิคาลัย โกเกิ้ล
– ยอดบุญ เลิศฤทธิ์

เอกลักษณ์ไทยในสามก๊ก รูปแบบการประพันธ์
– มาลินี ดิลกวณิช

ภาพสะท้อนของภิกษุณีสงฆ์
– ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์

ภาษาในหนังสือสามสมเด็จ
– วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์

ภาษาอังกฤษเฉพาะกิจ
– พิมพันธุ์ เวสสะโกศล และ สุมทุม ปริสุทธิมาน

ข้อคิดเกี่ยวกับไตรภูมิพระร่วง : พระราชนิพนธ์ในพระมหาธรรมราชาที่หนึ่ง พญาลิไทย หรือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
– พิริยะ ไกรฤกษ์

ผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ไทย : กรณีพระมหาธรรมราชา ผู้ร้ายกลับใจ หรือถูกใส่ความโดย plot ของนักประวัติศาสตร์
– ธงชัย วินิจจะกูล

“เราสู้”: เพลงพระราชนิพนธ์การเมืองกับการเมืองปี 2518-2519
– สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

พรุสต์: ตัวตน กาลเวลา วรรณกรรม
– นพพร ประชากุล

มองสังคมเยอรมันจากนวนิยาย
– ฤดี พลานุเวช

จิตวิทยาพฤติกรรมนิยม จิตวิทยานิมาน และอุเบกขาธรรมในชีวิตกับการทำงาน
– สิทธิโชค วรานุสันติกูล

ชุมชนกับชาติ อำนาจกับความรัก ใน ทุ่งมหาราช
– ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

เครื่องมือ/วิธีการที่นักภูมิศาสตร์ใช้ในการศึกษาปรากฏการณ์ทางภูมิศาสตร์:ผลการสังเคราะห์งานวิจัยทางภูมิศาสตร์ในช่วง 30 ปี (พ.ศ. 2521 – พ.ศ. 2550)
– ทรงชัย ทองปาน

ภาคสอง

ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กับการวิจัยทางประวัติศาสตร์
– พนารัตน์ อานามวัฒน์, ณรงค์ บริจินดากุล

รูปแบบของภาษาป้อนเข้าจากผู้ปกครองสู่เด็กเล็กในภาษาไทย: การศึกษากลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก โดยวิธีการประเมินของผู้ปกครอง
– จุฑาทิพ ดวงมาลย์, จุฑามณี อ่อนสุวรรณ และนวศรี ชนมหาตระกูล

การศึกษาแนวทางการคุ้มครองและสืบทอดตำนานนางพญางูขาว ในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของจีน
– สุภินดา รัตนตั้งตระกูล

กลวิธีการแปลบันเทิงคดีร้อยแก้วจีนเป็นไทย: จากอดีตสู่ปัจจุบัน
– กนกพร นุ่มทอง

Reading Postcolonial Literature at the Peripheral Site of Reception: A Case of Thailand’s University Classroom
– Sutida Wimuttikosol / สุธิดา วิมุตติโกศล