สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

กำเนิดสถาปนิกไทย : ความหมาย ความรู้ และอำนาจ

450 ฿

คำอธิบาย

กำเนิดสถาปนิกไทย : ความหมาย ความรู้ และอำนาจ
ผู้เขียน ชาตรี ประกิตนนทการ / ภ-สถ 5539
พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2568
ISBN 978-616-8300-15-2
ปกแข็งกระดาษจั่วปังปั๊มดำ เย็บกี่สันเปลือย คาดแจ็คเก็ตกระดาษไข
ราคา 450 บาท

คำนำผู้เขียน

กำเนิดสถาปนิกไทย: ความหมาย ความรู้ และอำนาจ เป็นหนังสือที่ปรับมาจากงานวิจัยเรื่อง “กำเนิดสถาปนิกสยาม : บทบาทและอำนาจในสังคมสมัยใหม่ พ.ศ. 2459-2508” ภายใต้ชุดโครงการวิจัยเรื่อง “พัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของความคิดว่าด้วยความ (ไม่) เป็นสมัยใหม่ในสังคมไทย” ของ ศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย” ระหว่าง พ.ศ. 2556-2559

หลังจากงานวิจัยแล้วเสร็จตั้งแต่ พ.ศ. 2559 ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน ซึ่งสนใจตีพิมพ์งานชิ้นนี้ และได้รับปากว่าจะปรับงานวิจัยมาเป็นหนังสือเพื่อตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์อ่าน อย่างไรก็ตาม ต้นฉบับก็ยังไม่ได้รับการปรับปรุง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะงานอื่นที่แทรกเข้ามามากมาย และอีกส่วนที่สำคัญที่สุดคือ ไม่แน่ใจว่างานชิ้นนี้จะมีผู้อ่านในวงกว้างมากพอจนคุ้มค่าต่อการตีพิมพ์เป็นหนังสือ เพราะเนื้อหาเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กำเนิดของวิชาชีพนี้ในสังคมไทยที่ค่อนข้างเป็นประเด็นเฉพาะในวงการวิชาการเล็กๆ ซึ่งไม่น่าจะขายได้สักเท่าไร และด้วยความคิดนี้ ทำให้ต้นฉบับถูกทิ้งค้างเอาไว้เรื่อยมา

จนมาถึงปลาย พ.ศ. 2566 เริ่มมีข่าวเล็กๆ แต่สำคัญมากปรากฏขึ้นในวงการสถาปนิกว่า สภาสถาปนิกมีแนวคิดที่จะผลักดันให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “มาตรฐานวิชาชีพสถาปัตยกรรมไทย” สำหรับใช้กำหนดว่าใครบ้างที่มีสิทธิ์ในการออกแบบงาน “สถาปัตยกรรมไทยประเพณี” ภายในวัด และมีแนวคิดที่ดูเสมือนว่าจะล้ำเส้นไปไกลจนถึงการกำหนดมาตรฐานว่างานออกแบบแบบไหนมี “ความเป็นไทย” ที่ถูกต้องตามมาตรฐานที่สามารถสร้างได้ในวัด และอะไรไม่มีมาตรฐานห้ามสร้างในวัด

ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว แม้โครงการนี้จะมีเจตนาที่ดี แต่หากปล่อยให้เกิดขึ้นจริงจะเป็นการสถาปนาอำนาจของวิชาชีพสถาปนิกจนเกินขอบเขตอันเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการชี้นิ้วว่าอะไรคืองานสถาปัตยกรรมไทยที่ดีมีมาตรฐานและอะไรไม่ดีไร้มาตรฐาน อันจะนำไปสู่การฉุดรั้งความก้าวหน้าและสร้างสรรค์ของวงการสถาปัตยกรรมไทย รวมถึงอาจเป็นช่องทางในการแสวงหาอำนาจของผู้ที่จะได้รับมอบหมายให้เป็นผู้วิเศษในการบอกว่าอะไรคือสถาปัตยกรรมไทยที่ดีมีมาตรฐาน

แม้ในปัจจุบันแนวคิดนี้จะมีเสียงคัดค้านพอสมควรและดูเสมือนว่าสภาสถาปนิกจะชะลอโครงการดังกล่าวออกไป แต่เหตุการณ์นี้ได้ทำให้ผู้เขียนเริ่มมองเห็นว่า ประเด็นว่าด้วยความรู้กับอำนาจของสถาปนิกในสังคมไทยและการกำหนดนิยามความหมายว่าอะไรคือสถาปัตยกรรมไทยและอะไรไม่ใช่นั้น ไม่ใช่เรื่องเฉพาะในแวดวงวิชาชีพสถาปัตยกรรม แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง และคนทั่วไปควรตระหนักถึงให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ความคิดนี้ได้ทำให้ผู้เขียนย้อนกลับไปมองงานวิจัยชิ้นนี้ใหม่และเริ่มปรับปรุงต้นฉบับที่ถูกทิ้งไว้นานถึงเจ็ดปีอีกครั้ง ผู้เขียนเริ่มคิดว่า งานชิ้นนี้อาจจะมีประโยชน์อยู่บ้างถ้าได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่แก่ผู้อ่านทั่วไป โดยหวังอยู่ลึกๆ ว่างานชิ้นนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้นให้ผู้อ่านที่แม้ไม่ใช่คนในแวดวงสถาปนิก ได้เข้าใจบทบาทและนัยยะที่สลับซับซ้อนของวิชาชีพสถาปนิกในสังคมสมัยใหม่ที่มีมากกว่าการเป็นเพียงแค่นักสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมตามความเข้าใจทั่วไป โดยเฉพาะในมิติที่ว่าด้วยความรู้และอำนาจของสถาปนิกในสังคมไทย ซึ่งในหลายกรณีส่งผลกระทบมากกว่าที่หลายคนคาดคิด

ผู้เขียนขอขอบคุณ ศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อีกครั้ง ที่ให้โอกาสได้ทำงานวิจัยเรื่องนี้เมื่อหลายปีก่อน และขอขอบคุณคุณบารมี สิทธิปัญญา บรรณารักษ์หอสมุดแห่งชาติ ที่กรุณาช่วยเหลือผู้เขียนระหว่างกลับไปค้นวารสารเก่าที่เคยได้ใช้ตั้งแต่เมื่อครั้งทำวิจัย เพื่อนำมาสอบทานใหม่ในการทำต้นฉบับสำหรับการจัดพิมพ์ครั้งนี้ นอกจากนี้ยังขอขอบคุณทีมนักศึกษาคือ คุณคณินทร์ สหศักดิ์กุล, คุณชาลิสา อ่อนจันทร์ และคุณนภาพร บุญยัง ที่มาทดลองช่วยทำดัชนีร่างแรกก่อนส่งให้สำนักพิมพ์อ่านนำไปปรับปรุง

และต้องขอขอบคุณ คุณไอดา และสำนักพิมพ์อ่าน เป็นอย่างมากที่ยังคงสนใจงานวิจัยชิ้นนี้ แม้ว่าจะล่าช้าไปนานมากกว่าเจ็ดปี อีกทั้งยังรับเป็นบรรณาธิการ อ่านต้นฉบับอย่างละเอียด ให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ และช่วยปรับแก้ข้อความหลายส่วนที่ไม่ชัดเจน จนทำให้หนังสือสำเร็จออกมาได้ในที่สุด

ชาตรี ประกิตนนทการ
ภ-สถ 5539

หมายเหตุบรรณาธิการ

ทั้งนี้ เราไม่หมายจะแสดงว่าอาชีพของเรานี้ประเสริฐไปกว่าอาชีพอื่นๆ มากนัก, แต่เราถือว่าอาชีพของเรานี้เป็นอาชีพที่ให้กำเนิดแก่อารยะการได้ดีกว่าอาชีพอื่นๆ
— อิทธิเทพสรรค์ กฤดากร (ม.จ.)*

อดอมยิ้มด้วยความเอ็นดูไม่ได้จริงๆ เมื่ออ่านพบข้อความข้างต้นนี้ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายข้อความลักษณะเดียวกันที่อยู่ในเอกสารอ้างอิงต่างๆ ซึ่งข้าพเจ้าขอยืมจากอาจารย์ชาตรีมาไว้ใช้ตรวจทานต้นฉบับหนังสือเล่มนี้ นี่ถ้าหากไม่เฉลยให้ ผู้อ่านจะนึกกันไปทางไหนได้บ้างแล้วว่าอาชีพที่ ให้กำเนิดแก่อารยการ ได้ดีกว่าใครที่ว่านี้คืออาชีพอะไร และจะมีกี่คนที่คิดได้ตรงกับความตั้งใจของผู้เขียนว่า คือสถาปนิก

“งานเขียนของสถาปนิกเขาจะเวอร์ๆ หน่อยนะครับ” อาจารย์ชาตรีเตือนไว้แล้วด้วยสีหน้าออกจะอายๆ ข้าพเจ้าได้มาเข้าใจก็ตอนนี้

แต่การอ่านหนังสือ กำเนิดสถาปนิกไทย เล่มนี้ จะทำให้เราเข้าใจพวกเขาได้ พอๆ กับที่เข้าใจได้ว่า ที่มาที่ไปของวิชาชีพหนึ่งๆ, ซึ่งในกรณีนี้คือสถาปนิก, เอาเข้าจริงแล้วอาจมาจากความคับข้องเชิงการเมืองของตำแหน่งแห่งที่ในทางช่วงชั้นได้พอๆ กับที่มาจากแรงบันดาลใจอย่างนักสร้างสรรค์ และอาจมาจากความยโสถือดีอย่างปุถุชนโลกียวิสัยได้พอๆ กับที่มาจากน้ำใจอย่างผู้บุกเบิกขอบฟ้าแห่งอาชีววิชชา

พ.ศ. 2459-2508 คือกรอบเวลาจากแรกคลอดจนถึงระยะตั้งไข่ของวิชาชีพสถาปนิกที่อาจารย์ชาตรีได้หมุดหมายไว้ ถ้าว่ากันในทางรัชกาลข้าพเจ้าก็นับได้สี่แผ่นดินพอดี คือจากรัชกาลที่ 6 ผู้มอบเค้าร่างคำแปลของ architect เป็นภาษาไทยไว้ให้ จนถึงรัชสมัยที่ 9 ซึ่งมีการตรากฎหมายในนามวิชาชีพนี้พร้อมกับที่เกิดประเพณียกสมาคมวิชาชีพไปแขวนไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ข้าพเจ้าจงใจคงการเรียกรัชกาลในหนังสือเล่มนี้ตามวิถีไทยๆ ที่คำว่ารัชกาลหมายถึงได้ทั้งยุคสมัยและหมายเรียกได้แทนผู้เป็นกษัตริย์ และจงใจเก็บการสะกดคำตามต้นฉบับอ้างอิงจากอดีตกาลเพื่อให้เห็นรอยเปลี่ยนผ่านของนามต่างๆ เมื่อครั้งยังไม่เสถียรสถาปนา ผู้อ่านจึงจะพบได้ทั้ง สถาปัตยกรรม, สถาปัตยะกรรม, สถาปิตยะกรรม รวมทั้งพบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เคยเป็นจุลาลงกรน์มหาวิทยาลัย เป็นต้น ส่วนภาพประกอบต่างๆ หากไม่ระบุที่มาไว้ คือภาพที่โดยอายุขัยได้กลายเป็นสาธารณสมบัติไปแล้ว

ทุบหม้อข้าวตัวเองไปหน่อยไหม ข้าพเจ้าเคยนึกจะถามอาจารย์ชาตรีด้วยสำนวนนี้ที่เคยอ่านพบว่าพระยาอนุมานราชธนใช้ในการปรามลูกศิษย์บางคน เพราะข้าพเจ้าเห็นอยู่ว่าเป้าหมายของงานเขียนชิ้นนี้มิได้จำกัดอยู่แค่การขุดค้นสังคายนาที่มา หากยังเปิดหน้าสะสางตรงๆ กับสภาพการณ์ปัจจุบันของวงการสถาปนิกและสังคมไทย

แต่ข้าพเจ้าก็รู้ได้ว่านี่คือสปิริตของการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาตามเนื้อผ้าของนักวิชาการผู้เป็นสถาปนิกอยู่เองด้วยผู้นี้ และเป็นสถาปนิกที่ ถ้าใช้สำนวนแบบเก่าคือ ถือศักดิ์ศรี เกินกว่าจะใช้วิธีกึ่งข่มกึ่งตัดพ้อแบบสถาปนิกรุ่นบุกเบิกที่ต้องการให้สังคมเห็นความสำคัญ หรือถ้าพูดในภาษาปัจจุบันคือ เคารพตัวเอง เกินกว่าจะต้องไปอาศัยอำนาจอื่นมาช่วยสถาปนาความมั่นคงทางวิชาชีพด้วยการมอบอาญาสิทธิ์ให้ แทนที่จะพิสูจน์ตนด้วยผลงานให้สังคมเห็นคุณค่าและความหมาย

สำหรับข้าพเจ้า หนังสือเล่มนี้คล้ายจะบอกเราว่า อารยะการ หรือไม่, ก็วัดใจกันตรงนี้

ไอดา อรุณวงศ์

* ม.จ. อิทธิเทพสรรค์ กฤดากร, “สถาปัตยกรรมนั้นเราเข้าใจกันอย่างไร,” จดหมายเหตุสมาคมสถาปนิกสยาม เล่มที่ 1, ฉบับที่ 2 (พ.ย. 2477): 5.

สารบัญ

หมายเหตุบรรณาธิการ
คำนำผู้เขียน

บทนำ ศึกษากำเนิดวิชาชีพสถาปนิกไปเพื่ออะไร

บทที่ 1 สถาปนิกนาม
กำเนิดสถาปนิกสยามผ่านนิยามศัพท์

บทที่ 2 สถาปนิกสมาคม
กำเนิดสมาคมสถาปนิกสยาม

บทที่ 3 สถาปนิกวิชชา
กำเนิดโรงเรียนสถาปัตยกรรม

บทที่ 4 สถาปนิกศิวิไลซ์
กำเนิดวิชาสถาปัตยกรรมไทย

บทที่ 5 สถาปนิกบัญญัติ
กำเนิดอำนาจสถาปนิกผ่านกฎหมาย

บทส่งท้าย คำถามต่อมาตรฐานวิชาชีพสถาปัตยกรรมไทย

แหล่งข้อมูลอ้างอิงและดัชนี

 

© 2018 ติดต่อหรือแลกเปลี่ยนความเห็นที่ [email protected]