สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

ชุด กาพย์กลอนนายผี

300 ฿

รายละเอียด

ประกอบด้วย

1. ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน
เขียนโดยนามปากกา “ศรีอินทรายุธ” พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2501 คำสำคัญเช่น “กาพยายุธ” “อหังการแห่งกวี” ปรากฏอย่างโดดเด่นอยู่ในหนังสือว่าด้วยกาพย์กลอนเล่มนี้ ราวกับจะยืนยันว่าผู้เขียนยังคงเชื่อมั่นในการต่อสู้กับเผด็จการด้วยตัวหนังสือ ทั้งๆ ที่ขณะนั้นเขาต้องหลบซ่อนตัวจากการตามล่าเอาชีวิตมาตั้งแต่หลังกรณีกบฎสันติภาพเมื่อปี 2495

2. กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม เล่ม 1 (2484-2490)
รวมบทกวีที่เขียนในนามปากกา “นายผี” ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ เอกชน, นิกรวันอาทิจ, สยามนิกร และสยามสมัย ระหว่าง พ.ศ.​ 2484-2490 เขียนด้วยฉันทลักษณ์หลายประเภท เนื้อหาวิจารณ์สังคมการเมืองแต่มีลักษณะซ่อนนัยเนื่องจากต้องหลบเลี่ยงอำนาจเผด็จการ แต่ก็มีความแหลมคมจนทำให้มีหลายคนถามหาว่าคือใคร ในเล่มนี้ซึ่งเป็นงานเปิดตัวช่วงแรกจึงมีกาพย์กลอนที่อธิบายหรือโต้เถียงว่านายผีคือใครไว้หลายชิ้น

3. กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม เล่ม 2 (2491-2493)
รวมบทกวีที่เขียนในนามปากกา “นายผี” ซึ่งตีพิมพ์ใน สยามสมัย และนิตยสาร อักษรสาส์น ระหว่าง พ.ศ.​ 2491-2493 ด้วยฉันทลักษณ์หลายประเภท นายผีซึ่งมีจุดยืนวิพากษ์รัฐ ได้วิพากษ์นโยบายหลายประการของรัฐบาล รวมทั้งความขัดแย้งในหมู่ผู้นำและเคราะห์กรรมที่เกิดขึ้นแก่นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งนายผีให้ความเคารพนับถือ ช่วงปี 2493 ยังเป็นช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนปฏิวัติสำเร็จ พร้อมๆกันไปกับที่เกิดกระแสขบวนการสันติภาพ กาพย์กลอนในเล่มนี้จึงสะท้อนบรรยากาศในช่วงเวลาดังกล่าว

3. เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า… และกาพย์กลอน “ความเปลี่ยนแปลง”
ประกอบด้วยกาพย์กลอนขนาดยาวที่มีลักษณะเป็นเรื่องเล่าในตัวเองสองชิ้น ชิ้นแรกคือ “เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า” เรื่องเล่าถึงครอบครัวกรรมกรหญิงครอบครัวหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2495 โดยมีเค้ามาจากเรื่องจริง ในกาพย์กลอนเรื่องนี้ เราจะได้เห็นบทบรรยายฉากความทุกข์ยากของกรรมกรโดยล้อกันกับฉากว่ายน้ำกลางมหาสมุทรของพระสมุทรโฆษใน สมุทรโฆษคำฉันท์ รวมทั้งการนำกลุ่มคำศัพท์ของฝ่ายสังคมนิยมมาใช้คู่ขนานกันไปอย่างเสมอหน้ากับคำศัพท์ในวรรณคดีแนวขนบ

ชิ้นที่สองคือ “ความเปลี่ยนแปลง” เป็นงานที่นายผีเขียนเพื่อให้กำลังใจคุณอุทธรณ์ พลกุล ญาติคนหนึ่งของเขาที่ต้องติดคุกจากกรณีกบฏสันติภาพ หลายคนมองว่างานชิ้นนี้คือการเขียนประวัติส่วนตัว คือประวัติครอบครัวบรรพบุรุษของนายผีเอง ซึ่งอาจจริงส่วนหนึ่งในแง่ที่ว่าเรื่องเล่านั้นอิงข้อเท็จจริงพื้นฐานจากครอบครัวของเขา แต่เหตุที่นายผีปฏิเสธตลอดมาว่าไม่ใช่ ก็น่าจะเป็นเพราะว่าหัวใจของมันอยู่ที่การสาธิตให้เห็นถึงพัฒนาการสังคมตามกรอบคิดแบบมาร์กซิสต์ที่เบื้องปลายจะนำไปสู่การล่มสลายของสังคมศักดินาและการเกิดขึ้นของความเปลี่ยนแปลงอย่างใหม่

งานกาพย์กลอนสองชิ้นนี้เขียนด้วยฉันทลักษณ์และรสทางภาษาในแบบวรรณคดีวิจิตร ให้รสชาติความงามที่ต่างไปจากงานกาพย์กลอนในชุดวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยามซึ่งมีลักษณะกระชับ ดุดัน เสียดสี ต่อสถานการณ์รายวัน ท่อนที่อาจเป็นที่คุ้นตาที่สุดสำหรับคนร่วมสมัยปัจจุบันคือ “เพราะทรงธรรมรัชย์ชัชวาลย์ แผ่นดินจึงดาล ประดุจประดงกำเดา” จากชิ้น “ความเปลี่ยนแปลง”

5. กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม เล่ม 3 (2494-2495 และ 2501-2502)
รวมบทกวีที่เขียนในนามปากกา “นายผี” ซึ่งตีพิมพ์ใน สยามสมัย ระหว่าง พ.ศ.​ 2494-2495 และ สยามนิกร กับ ปิยมิตรวันจันทร์ ระหว่าง พ.ศ.​ 2501-2502 เนื้อหายังคงเป็นการวิพาษ์การเมืองภายใต้ยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม และสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องสังคมวัฒนธรรมมากกว่าในชุดกาพย์กลอนวิพากษืสองเล่มก่อนหน้า งานประพันธ์ “อีศาน” อันโด่งดัง ก็อยู่ในเล่มนี้

6. เคล็ดกลอน เคล็ดแห่งอหังการ
เป็นงานรวมบทความสองชุดที่ตีพิมพ์ใน ปิยมิตรวันจันทร์ ในปี 2502 และ 2504 นับเป็นผลงานรุ่นหลังที่สุดก่อนที่นายผีจะเดินทางออกจากประเทศไทยเพื่อร่วมงานกับพรรคคอมมิวนิสต์อย่างเต็มตัว เป็นการให้ “เคล็ด” ทั้งในแง่เทคนิคและในทางวิธีคิด ในแง่เทคนิคนั้นเป็นการลงรายละเอียดและเสนอข้อถกเถียงในทางสุนทรียศาสตร์อย่างอย่างเข้มข้นจริงจัง ขณะที่ในทางวิธีคิดนั้นเป็นการถกประเด็นทางการเมืองวัฒนธรรมและเป้าหมายของตัวงานบนฐานของจุดยืนแบบสังคมนิยม เป็นงานเขียนที่สะท้อนความจัดเจนและการขบคิดจนตกผลึกเป็นข้อเสนอเชิงทฤษฎีในแบบของตัวเอง และราวกับเป็นงานสั่งเสียไว้ให้แก่ผู้ที่ยังคง “ต่อสู้ในเมือง” ในขณะที่ตัวเขาเองจะหันหลังสู่ป่าเขา