รายละเอียด
ต้องเนรเทศ
โดย วัฒน์ วรรลยางกูร
พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2565
จำนวนหน้า 832 หน้า
จัดพิมพ์เป็นสองรูปเล่ม
ปกแข็งภาพสีมีแจ็คเก็ตหุ้มปก เนื้อในกระดาษปอนด์ถนอมสายตา ราคา 1,120 บาท
ISBN 978-616-8300-05-3
ปกแข็งภาพขาวดำไม่มีแจ็คเก็ตหุ้มปก เนื้อในกระดาษปรูฟ ราคา 619 บาท
ISBN 978-616-8300-06-0
หมายเหตุบรรณาธิการ
“แกงหม้อใหญ่ ใจเย็นๆ”
ทุกครั้งที่ข้าพเจ้ารู้สึกลน รู้สึกกดดัน รู้สึกผิดสารพัดในระหว่างการทำหน้าที่บรรณาธิการหนังสือเล่มนี้ ถ้อยคำนี้ของ วัฒน์ วรรลยางกูร ช่วยเตือนให้ข้าพเจ้าสงบลง แล้วตั้งหน้าตั้งตาเคี่ยวต่อไปอย่างมั่นคงและมั่นใจยิ่งขึ้น มันเป็นประโยคที่เขาย้ำกับข้าพเจ้ามากกว่าหนึ่งครั้งหลังจากส่งต้นฉบับมาแล้ว ด้วยอุปมาของการทำอาหาร ที่เขามักใช้เมื่อสื่อสารกับข้าพเจ้าเรื่องงานเขียน อันเป็นอุปมาที่ข้าพเจ้าสะดุดใจนับแต่ครั้งแรกที่เขาฝากความผ่าน กอฟ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง มาถึงข้าพเจ้าเมื่อปลายปี 2019 ตอนที่เขาเพิ่งไปถึงฝรั่งเศสได้ไม่นาน ว่าเขากำลังจะลงมือเขียนต้นฉบับหนังสือเล่มนี้ และขอให้ข้าพเจ้า “ติดไฟรอได้เลย กำลังปรุงเครื่องอยู่”
เขาส่งต้นฉบับมาครั้งแรกตอนสามทุ่มกว่าของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2021 ด้วยคำทักทายที่ประหลาด “สวัสดีครับ สำนักพิมพ์ยังดำเนินงานตามปกติอยู่หรือไม่ ผมมีต้นฉบับให้พิจารณาตามที่ส่งมานี้”
ข้าพเจ้าเกือบขัดใจ แต่ก็ขัดไม่ได้ เพราะก็รู้แก่ใจอยู่ว่า นับแต่หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ข้าพเจ้าก็หมดไฟไปเป็นวูบๆ กับวงการ และหมดเวลาทำงานสำนักพิมพ์ไปกับเรื่องการประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองตามโรงศาล คำถามที่ว่าสำนักพิมพ์ยังดำเนินงานอยู่หรือไม่ จึงเป็นคำทักทายที่ตรงไปตรงมาที่สุดแล้วจากนักเขียนถึงบรรณาธิการ ที่อยู่กันคนละโลกคู่ขนาน เขา – คือผู้ลี้ภัยหลังรัฐประหาร ส่วนข้าพเจ้ายังอยู่ในราชอาณาจักรที่เขาจำต้องลี้ไป ราชอาณาจักรที่กฎหมายมีไว้เพื่อบีบคนอย่างเขาและอีกมากมายให้ต้องเสี่ยงคุกและเสี่ยงตาย ในนามของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
หลังจากการทักมาครั้งแรก เขาเปลี่ยนใจขอปรับแก้ต้นฉบับ แล้วส่งมาใหม่อีกสามรอบ โดยที่ระหว่างนั้นก็ราวกับเขาเฝ้าสังเกตการณ์การเมืองไทยพร้อมกับสังเกตสถานการณ์ของข้าพเจ้าไปเช่นกัน ยามที่ข้าพเจ้าดูจะมัววุ่นวายเกินกว่าจะมาจัดการต้นฉบับของเขาได้ เขาก็แจ้งมาว่าเขาขอเวลาปรับปรุงใหม่อีกรอบ และให้ข้าพเจ้าไปดูแลเรื่องราวเหล่านั้นตามสบาย
เดือนพฤษภาคม หลังมหกรรมเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องหาคดีการเมืองรอบแรกผ่านไป เขาส่งคำแสดงความยินดีมาทันที แล้ววันที่ 7 มิถุนายน ก็ส่งต้นฉบับแก้ไขมาใหม่ ยืนยันว่า “เสถียรแล้วครับผม” ข้าพเจ้ายังไม่ทันแสดงความรู้สึกผิดที่ทอดทิ้งไว้ เขากลับเป็นฝ่ายชิงออกปากรับผิดไป “ขอโทษที่ส่งบ่อย”
ข้าพเจ้าอ่านต้นฉบับของเขาแล้วคุยกันในเบื้องต้นถึงความเห็นในภาพกว้าง เขาขอกลับไปแก้อีกครั้ง แล้วแจ้งข้าพเจ้ากลับมาในต้นเดือนสิงหาคมว่า อีกไม่กี่วันจะส่งร่างสุดท้าย เขาบอกข้าพเจ้าว่าเขาดีใจเพียงใด บรรณาธิการคือสิ่งที่นักเขียนต้องการเพียงไหน และเป็นห่วงว่างานเขียนของเขาจะทำข้าพเจ้าเดือดร้อนหรือไม่ “เพราะผมอยู่นอกประเทศ ลอยตัวแบบเห็นแก่ตัวอยู่แล้ว” เขาบอกข้าพเจ้าสารพัด เว้นแต่เรื่องที่ว่า เขาเพิ่งเข้ารับการผ่าตัดครั้งใหญ่มาเมื่อเดือนกรกฎาคม
เดือนกันยายน ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะการติดเชื้อหลังผ่าตัด เขาแจ้งมาว่าขอเพิ่มต้นฉบับอีกประมาณสองหน้าสุดท้าย แต่ในที่สุดแล้ว เขาเพิ่มมาอีกถึงหนึ่งบท ระหว่างนั้นเขายืนยันกับข้าพเจ้าว่าไม่ต้องห่วงกังวลใด เขาได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลฟรี “ผมได้สถานะพักพิง…จึงได้สิทธิเทียบเท่าพลเมืองเขาในทุกด้าน ทุกวันนี้อยู่สบาย ไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน จึงเป็นช่วงที่มีแรงทำงานเขียนได้เต็มตามที่มีแรงบันดาลใจ สรุป ผมสบายดีครับ เห็นน่าห่วงก็แต่ทางคุณที่อุตลุดทะลุแก๊สกันจนมอมแมม”
เขายังคงยืนยันไม่ให้รีบลน “ตอนนี้อยู่ไกลบ้าน สบายจนอายใจคนที่ยังต้องผจญเวรในกะลาครับ ส่วนหนังสือ เหมือนแกงหม้อใหญ่ ต้องใจเย็นๆ งานหนังสือจะเต้นตามแรงกดดันไม่ได้ โดยส่วนตัวผมไม่มีไรกดดัน มีแต่เดินหน้าเขียนงานใหม่ นี่คือโค้งสุดท้ายของชีวิตแล้ว ที่เราจะได้เขียนงานอย่างปลอดโปร่งใจ”
แต่ปลายเดือนนั้นเขาก็เปรยมาราวกับคนที่ปลงใจ ข้าพเจ้าใจหาย
“ผมไม่รู้จะอยู่ทันเห็นหนังสือเล่มนี้ออกได้หรือเปล่า ยังไงก็ขอบคุณนะครับ”
แล้วเขาก็ยังคงเพิ่มเติมเนื้อหาส่งมาอีกรอบ
และอีกรอบสุดท้าย
จบจริงแล้วครับ ขอให้มีความสุขกับการแกงหม้อใหญ่ ใจเย็น
wat wanlayangkoon
5 oct 2021
ณ รพ.บนเนินเขา
หลังจากนั้นเขาก็พ้นอันตรายและได้ออกจากโรงพยาบาล วันที่ 20 พฤศจิกายน 2021 ข้าพเจ้าแจ้งเขาว่า ข้าพเจ้าเอดิตต้นฉบับเสร็จแล้ว โดยทำไปพร้อมจัดหน้าไปเบ็ดเสร็จในตัว และลงตัวที่ 800 หน้าถ้วน หลังจากนั้นจนถึงตลอดช่วงหยุดเทศกาลปีใหม่และหลังเทศกาลอีกราวสิบวัน ข้าพเจ้าทยอยส่งให้เขาตรวจทานการแก้ไขของข้าพเจ้าไปทีละบทพร้อมลิสต์คำถาม ในช่วงแรกเขาดูสดชื่นกระปรี้กระเปร่า ข้าพเจ้าเห็นเขาโพสต์ภาพเดินเที่ยวงานปีใหม่อย่างสบายใจในเฟซบุ๊ก
12 มกราคม เขาแจ้งมาว่าเขาอาจตรวจแก้ได้ช้าลงเพราะเข้าโรงพยาบาลอีก “แต่ตอนนี้ไม่เป็นไรมากแล้วครับ” เรายังคงตรวจทานกันไปจนจบกระบวนความในวันที่ 17 มกราคม 2022 ตามแผนที่เคยคุยกันไว้นั้น เมื่อต้นฉบับนิ่งแล้ว เราจะให้เวลาตามสมควรแก่การพิสูจน์อักษรและแก่โรงพิมพ์ในการผลิตเพื่อไม่ให้ผิดพลาด ขอเพียงให้หนังสือได้ออกมาในวาระ 22 พฤษภาคม 2022 หรือ 2565
วาระครบรอบรัฐประหารที่ทำให้เขา ต้องเนรเทศ ไป
แต่แล้ววันที่ 19 มกราคม ข้าพเจ้าได้รับแจ้งข่าวว่าเขาอาการทรุดลง
ในวันที่ 20 มกราคม คุณภัทรา คนรักผู้เฝ้าดูแล ต้องสื่อสารกับข้าพเจ้าแทนเขา เขาอยู่ห้องไอซียู ไม่รู้สึกตัว
เมื่อครั้งที่เขาเริ่มป่วย ข้าพเจ้าเคยถามเขาว่าจะเร่งกำหนดการให้เร็วขึ้นไหม เขายังยืนยันให้ทำไปตามแผน แต่เมื่อเขาทรุดไปเช่นนี้ ข้าพเจ้าคงรอไม่ได้ ตอนนั้นเหลือแต่หน้าหมายเหตุบรรณาธิการ ที่ปกติข้าพเจ้ามักรอไว้เขียนในนาทีสุดท้าย
lost เขาแปลว่าแพ้
แต่ข้าพเจ้าแปลว่าคว้าง
ข้าพเจ้าเขียนไปแค่สองประโยคนั้นแล้วก็ได้แต่นั่งร้องไห้ ข้าพเจ้าไม่สามารถเขียนต่อได้ จนกว่าจะรู้ผลการลุ้นในช่วงสองวันนั้นว่าเขาจะฟื้นกลับมาหรือไม่
คำว่า lost ในสำนวน lost generation คือประเด็นแรกที่เราเคยคุยกันในระหว่างการแก้ไข เขาเรียกตัวเองว่ารุ่นลอสต์เจเนอเรชั่นเพราะมองว่าเป็นคนรุ่นที่แพ้มาตั้งแต่ 6 ตุลา 19 ข้าพเจ้าบอกเขาว่าอันที่จริง lost ใน lost generation อาจไม่เชิงว่าหมายความอย่างนั้น เพราะมันหมายถึงคนรุ่นที่มาทีหลังการล่มสลายของความคิดความเชื่อในรุ่นก่อนหน้า และทำให้รุ่นที่ตามมารู้สึก lost ในความหมายที่ข้าพเจ้าเคยแปลว่า คนรุ่นคว้าง และจะว่าไปแล้วคนรุ่นข้าพเจ้าต่างหากที่เคยถูกคนรุ่นเขาแสดงความเวทนาว่าเป็นคนรุ่นลอสต์เจเนอเรชั่น แต่เขากลับหัวเราะและพูดอย่างไม่ไว้ฟอร์มไว้ทีท่า ว่าผมก็ใช้ไปเรื่อยครับ ไม่ได้รู้ที่มาอะไรมาก แต่ผมน่ะรู้สึกว่าคนรุ่นผมต่างหากที่ควรรู้จักเจียมตัวว่าเราน่ะคือพวกขี้แพ้ เราตกลงกันว่าข้าพเจ้าจะคงการใช้ของเขาแบบนี้เพราะถือว่าเขาย่อมมีสิทธิใช้ตามที่ตัวเองเลือกได้ เพียงแต่จะปรับคำให้รัดกุมขึ้นแต่ต้นว่าเป็นการจงใจเลือกใช้ในความหมายนี้
ข้าพเจ้านึกถึงคำว่า lost นี้ในวันที่ข้าพเจ้าเสียใจว่าเขาจะจากไปก่อนที่จะทันได้เห็นหนังสือที่ข้าพเจ้าจะถือให้มันเป็นชัยชนะของเขา อันจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังของข้าพเจ้าไปด้วย — เพราะเขาจะต้องไม่แพ้, และข้าพเจ้าจะไม่คว้าง
ข้าพเจ้าไม่ได้หมายถึงชัยชนะของการลุกขึ้นสู้เป็นขบวนใหญ่อย่างการต่อสู้ที่เขาผูกพัน ไม่ว่ารุ่นคนแพ้ 6 ตุลา, ขบวนการประชาชนในนามคนเสื้อแดงที่ถูกฆ่าถูกไล่ล้างและถูกด้อยค่า กระทั่งขบวนคนรุ่นใหม่แห่งฤดูใบไม้ผลิอันแสนสั้นกลางปี 2020 ถึงกลางปี 2021 ที่ถูกกำราบในนามศาลในพระปรมาภิไธย แต่ข้าพเจ้าหมายถึงชัยชนะและความหวังของการยืนหยัดในตัวตน ซึ่งในกรณีของเขากระทำผ่านงานเขียน การไม่ยอมแพ้ของเขาทำให้ข้าพเจ้ากลับมารู้สึกถึงศักดิ์ศรีและความหมายของมัน ข้าพเจ้ายืนยันกับเขาตลอดมาว่าขอให้แน่ใจได้ว่าข้าพเจ้าจะทำอย่างดีที่สุด ข้าพเจ้าจะเอาชัยชนะของหนังสือเล่มนี้ฟาดมันกลับไป เย้ยทุกความลำเค็ญที่เขาเผชิญมา เย้ยทุกความเดียวดายของการเป็นนักเขียนที่เลือกจะเป็นธุลีอิสระ
เหมือนปาฏิหาริย์ เขายังคงไม่ยอมแพ้ 22 มกราคม 2022 เขาฟื้นกลับขึ้นมา
แล้ววันที่ 4 กุมภาพันธ์ นักเขียนเดนตายก็ถามมาว่า เอาคำนำผู้เขียนไหม
ข้าพเจ้าตอบว่าถ้าเขียนไหวและอยากเขียน ข้าพเจ้าก็อยากให้เขียน และจะรอ
หลังจากนั้นคุณภัทราได้คอยส่งข่าวให้ทราบเป็นระยะ แม้เขาจะเริ่มดีขึ้นบ้าง แต่ยังมีอาการหลงเป็นช่วงๆ และหมอบอกให้ทำใจว่าเขาจะจากไปเมื่อไหร่ก็ได้ ข้าพเจ้าปลงใจว่าเขาอาจไม่ได้กลับออกมา อาจไม่มีวันส่งคำนำให้ข้าพเจ้าได้ แต่ข้าพเจ้ารู้สึกนิ่งขึ้น เมื่อเราได้ตกลงกันไว้แล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องหวั่นไหว ข้าพเจ้าจะทำตามนั้น จะรอจนนาทีสุดท้ายตามที่รับปากไว้ จะเก็บหน้ากระดาษไว้ให้เขา ต่อให้สุดท้ายอาจตีพิมพ์ได้เพียงความว่างเปล่า
18 มีนาคม บ่ายสามของเขา สามทุ่มกว่าของข้าพเจ้า เราได้สื่อสารกันเป็นครั้งสุดท้าย ยาวนานถึงชั่วโมงครึ่งเพราะเหมือนคนเมาคุยกัน คนเล่าแยกไม่ได้ว่าสิ่งที่เล่านั้นจริงหรือฝัน คนฟังฟังแล้วก็แยกไม่ได้พอกัน เขาเล่าฉากที่มีโจรบุกมาจับมัดตัวในโรงพยาบาล เขาดิ้นรนขัดขืนตะโกนลั่น “ลิเบอร์ตี้! ลิเบอร์ตี้!” แถมบอกว่า “เหมือนในหนังเลย” ข้าพเจ้าแซวว่า โจรที่ว่าน่ะ สวมชุดขาวไหม เขาว่า เออ ใช่
แต่เสียงของเขากลับชัดเจนมีสติเป็นคนละคนทันทีที่เราคุยกันเรื่องต้นฉบับ เขาขอโทษที่ยังเขียนคำนำไม่เสร็จ “ผมลืมเวลา แป๊บเดียวนี่มันมีนาแล้ว” ข้าพเจ้าแซวว่าเป็นนักเขียนใหญ่รุ่นนี้แล้ว ให้มีคนจดตามคำบอกดีไหม เขายืนยันว่าไม่ได้ นักเขียนต้องเขียนเอง ต้องลงมือเขียนด้วยตัวเอง เขาพูดถึงมันเหมือนเป็นการงานอันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นศักดิ์ศรี
แล้วสามทุ่มกว่า วันที่ 21 มีนาคมของเขา ตีสามกว่าวันที่ 22 มีนาคม 2022 ของข้าพเจ้า เขาก็จากไป เขาไม่ทันได้ส่งคำนำ และข้าพเจ้าไม่ทันได้รับสาย…
ข้าพเจ้าได้แต่รวบรวมสิ่งที่ตกค้าง จะขัดขืนทุกความรู้สึกค้างคาต่อกันให้ได้ ข้าพเจ้าได้รับมอบข้อเขียนที่เขาพยายามเขียนระหว่างอยู่โรงพยาบาล ชิ้นหนึ่งที่ชื่อ “ครูการประพันธ์” นั้น คุณภัทราบอกว่าเขาเคยเปรยไว้ว่าอาจนำมารวมในเล่มนี้ ส่วนอีกชิ้นชื่อ “บ้าน” เป็นงานที่บุตรชายคือคุณวนะ เล่าว่าเขาเขียนในภาวะที่สับสนแยกแยะไม่ได้ ซึ่งข้าพเจ้ากลับรู้สึกว่ามันงดงามราวบทกวี และอีกชิ้นคือบทกลอนอวยพรวันเกิดที่เขาเขียนให้มิตรผู้หนึ่งซึ่งได้คุยกับเขาถัดจากข้าพเจ้าหนึ่งวัน แม้เป็นงานที่เขียนมอบให้ส่วนตัว แต่ผู้รับยินดีอนุญาตให้นำมาตีพิมพ์ในฐานะข้อเขียนชิ้นสุดท้าย ข้าพเจ้านำทั้งสามชิ้นนั้นมารวมไว้ในบทที่ข้าพเจ้าตั้งชื่อเป็นอื่นไปไม่ได้—บทสุดท้าย ข้าพเจ้ายังอดไม่ได้ที่จะนำภาพถ่ายที่บ้านท่าเสาอันเป็นที่รักยิ่งของเขามาพิมพ์รำลึกไว้ให้ และนำลายเซ็นที่เขาลงไว้ท้ายกลอนบทสุดท้ายมาพิมพ์ปิดท้าย ให้เป็นลายเซ็นจากนักเขียนแด่ผู้อ่านที่เฝ้ารอหนังสือเล่มนี้ของเขา
นอกจากนั้น คุณภัทราและคุณวนะยังได้ส่งคำนำที่เขายังเขียนไม่เสร็จมาให้ ข้าพเจ้าลังเลอยู่นานว่าควรทำอย่างไร สุดท้ายข้าพเจ้าตัดสินใจตีพิมพ์ในสภาพลายมือที่ยังค้างอยู่เช่นนั้นแม้ใจจริงแล้วข้าพเจ้ารู้สึกไม่อยากเผยแพร่สิ่งที่นักเขียนยังเขียนไว้เป็นร่าง เพราะถือว่ามันยังมีความเป็นงานส่วนตัวของเขาตราบเท่าที่เขายังไม่ส่งมาให้ แต่ข้าพเจ้ามาเปลี่ยนใจเมื่อข้าพเจ้าตัดใจว่าฐานะของงานเหล่านี้คือวัตถุดิบทางประวัติศาสตร์ไปแล้ว เพราะเขาคือนักเขียนที่ควรเป็นความภูมิใจของชาติ คือประวัติศาสตร์ศักดิ์ศรีของนักเขียนไทย ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจนำมาตีพิมพ์ไว้ ส่วนหน้าว่างที่ตามมานั้น ข้าพเจ้าขอใช้รูปถ่ายการทำอาหารระหว่างลี้ภัยของเขาแทนคำบอกเล่าอย่างที่นักเขียนจะเล่าในคำนำถึงแรงบันดาลใจและที่มาของผลงาน
สำหรับตัวเล่ม ข้าพเจ้าเคยคุยกับเขาว่า เนื่องจากหนังสือทั้งใหญ่และหนามาก จึงควรพิมพ์ปกแข็ง โดยแบ่งเป็นสองรุ่นตามกำลังผู้อ่าน คือรุ่นเนื้อในกระดาษปรูฟที่ปกเป็นภาพถ่ายขาวดำ ตั้งราคา 619 บาทแด่ 6 ตุลา 19 ของเขา และปกแข็งรุ่นเนื้อในกระดาษปอนด์ ปกพิมพ์สี่สีเป็นภาพวาดที่ฝังใจเขาจากฝีมือของบุตรชาย วนะ วรรลยางกูร ราคา 1,120 ตัวเลขหมุดหมายป่าเถื่อนที่ทำให้เขาต้องเนรเทศ ไป
แต่ข้าพเจ้ายังไม่เคยอธิบายความคิดเบื้องหลังของข้าพเจ้าให้เขาฟัง ว่าข้าพเจ้าตั้งใจให้ปกสองแบบนั้นสะท้อนภาพตัวตนของเขา ที่ด้านหนึ่งคือความเป็นนักเขียนนักต่อสู้ทางอุดมการณ์อันโรแมนติคมั่นคงยาวนาน อันสะท้อนผ่านภาพจิตรกรรมสีน้ำมันที่วาดโดยบุตรชาย ขณะที่อีกปกคือภาพถ่ายเรียลลิสติคของตัวเขาในฐานะปัจเจกปุถุชนหน้าเตาถ่าน ข้าพเจ้าจะให้ทั้งสองปกนั้นคือภาพแทนของความยิ่งใหญ่ที่ไม่จำเป็นต้องสูงส่ง ความทรนงที่ไม่ยี่หระต่อรอยแปดเปื้อน
สำหรับชื่อหนังสือ ต้องเนรเทศ เขาเป็นคนตั้งไว้ ในช่วงหนึ่งเขาเคยปรึกษามาว่าควรเปลี่ยนหรือไม่ ข้าพเจ้าตอบว่าชื่อที่เขาตั้งมานี้ข้าพเจ้าเห็นว่าเหมาะมากแล้ว คำว่า “เนรเทศ” อาจดูมีนัยเก่าโบราณกว่า “พลัดถิ่น” หรือ “ลี้ภัย” แต่มันลงตัวกับคำว่า “ต้อง” ซึ่งได้ทั้งความหมายแบบสำนวนเก่าอย่าง “ต้องโทษ” “ต้องอาญา” คือถูกกระทำหรือถูกลงทัณฑ์ และได้ทั้งความหมายแบบทั่วไปว่าคือความจำเป็นให้กระทำ มันจึงเป็นคำที่ให้ทั้งนัยยะของผู้ถูกกระทำและผู้ตัดสินใจกระทำด้วยตนเอง เป็นฐานะก้ำกึ่งระหว่าง agent และ victim เหมือนตัวเขาที่ถูกกระทำด้วยคดีความต่างๆ จนต้องหลบภัย-ลี้ภัย แต่ขณะเดียวกันเขาก็เป็นผู้ตัดสินใจกระทำในแง่ที่เขาตัดสินใจเลือกที่จะออกไป ไม่ยอมอยู่อย่างก้มหัวแถวนี้ สำหรับข้าพเจ้า มันคือการตัดสินใจสู้ทั้งที่อยู่ในฐานะผู้หนี ดังนั้นในแง่นี้ “ต้องเนรเทศ” จึงทั้งลึกซึ้งทั้งเจ็บนัก
ส่วนชื่อรองที่เขาเคยตั้งไว้ว่า Seven Years in Exile นั้น สุดท้ายเขาเห็นตามข้าพเจ้าว่าจะไม่ใช้ เหตุผลหนึ่งที่ข้าพเจ้าละไว้ไม่ได้บอกไป คือข้าพเจ้าไม่อยากจบมันไว้ที่เจ็ดปี เพราะเขายังคงเป็นผู้ลี้ภัย และอาจจะต้องเป็นไปทั้งชีวิตของเขา ซึ่งข้าพเจ้าหวังให้ยืนยาวเลยพ้นไปกว่าเจ็ดปีนี้ ต่อให้หนังสือเล่าถึงวันเวลาเท่านี้ก็ตาม
และที่สำคัญ สำหรับข้าพเจ้า หนังสือเล่มนี้เป็นมากกว่านั้น มันคือชีวิตของเขา มันคือ The Book of His Life ในทุกความหมายของคำคำนี้ ที่จะยืนยงตลอดไป
ไม่มีอำนาจใดจักฆ่าเขาได้ และยิ่งไม่มีใคร หรืออำนาจใด จักฆ่าความทรงจำของเราที่มีต่อเขา
à tout à l’heure ค่ะคุณวัฒน์, à tout à l’heure,
ไอดา
29 มีนาคม 2022