จดหมายจากเบอร์ลิน ปี 2019

รางวัลชนะเลิศ โครงการ “เขียนใหม่นายผี” รายการที่ 6

ประเภทผู้อาศัยอยู่ภายในราชอาณาจักรไทย

โดย วรรณา แต้มทอง

ถึง ลุงควา จี ที่เคารพ

สองปีแล้วที่เราไม่ได้เจอกัน มันทั้งนานและไม่นานในเวลาเดียวกัน อยู่ที่ว่าลุงจะมองว่าผมเป็นคนที่จากไปหรือคนที่เพิ่งลืมตาดูโลก ผมหวังว่าลุงจะยังแข็งแรงดีเหมือนเดิมนะ ที่จริงผมอยากเขียนจดหมายหาลุงมานานแล้ว แต่ติดตรงที่การเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นี่ไม่ง่ายเลย ทุกอย่างในเยอรมันดูแปลกหูแปลกตาไปหมด ปีแรกที่เบอร์ลินเวลาของผมถูกใช้ไปกับการเรียนภาษาเยอรมันจากพ่อและอาสาสมัครที่โบสถ์ ผมใช้เวลาเรียนภาษาเยอรมันเกือบ 8 ชั่วโมงทุกวันทั้งที่โบสถ์และที่บ้าน พ่อย้ำเสมอว่าถ้าไม่ได้ภาษาผมก็ไม่มีทางได้อนาคตในประเทศนี้เหมือนกัน หลายเดือนอยู่กว่าผมจะเริ่มพูดคุยกับคนที่นี่รู้เรื่อง ช่วงแรกที่ย้ายมาเบอร์ลินผมแทบไม่กล้าออกไปไหนคนเดียว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะยังไม่มั่นใจในภาษาเยอรมันกระท่อนกระแท่นของตัวเองนัก แต่ลึกๆ แล้วผมว่าผมไม่รู้จะปรับตัวกับโลกใบใหม่ที่เปลี่ยนไปรวดเร็วตรงหน้านี่อย่างไงต่างหาก เป็นครั้งแรกที่ผมได้อยู่บ้านที่สร้างขึ้นจากปูนและหลังคามุมด้วยกระเบื้องลอนสวย ถึงแม้ว่าผมจะมาไม่ทันเห็นสีขาวสะอาดตาของมันที่ตอนนี้ขมุกขมัวไปหมดแล้วก็ตาม แต่ถึงอย่างไรบ้านหลังนี้ก็มีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่าความถาวรแข็งแรง ซึ่งหาไม่ได้จากบ้านไม้ไผ่หลังคาใบตองตึงในค่ายพักพิงชั่วคราวที่ความถาวรแข็งแรงเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับพวกเรา ที่นี่เวลาออกไปนอกบ้านผมเจอถนนหลายสาย มีทางให้ผมเลือกเดินเต็มไปหมด จนผมไม่รู้จะไปทางไหนก่อนดี และผมยังค้นพบอีกอย่างว่าเสื้อผ้ารองเท้าที่เยอรมันหาง่ายยิ่งกว่าหน่อไม้ในป่าไผ่ เบอร์ลินอนุญาตให้ผมมีโอกาสได้เลือกเสื้อผ้าที่จะใส่และรองเท้าที่จะสวมด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก เสื้อที่ผมได้แกะป้ายราคาและใส่มันเป็นคนแรก รองเท้าที่พอดีกับขนาดเท้าของผม มันเดินสบายมากจริงๆ นะลุงควา จี ไม่คับจนเจ็บระบมและไม่หลวมเดินทีสองก้าวก็หลุดเหมือนคู่เก่าในค่ายพักพิงชั่วคราว เมื่อก่อนผมคิดเสมอว่าถ้าได้นอนหลับในบ้านที่แน่นหนาและหลังคาไม่รั่วทุกครั้งที่ฝนกระหน่ำจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ผมเดินทางมาไกลมากจริงๆ ไกลจนวันนี้ผมได้นอนหลับอย่างเป็นสุขในบ้านที่มีทั้งพ่อและแม่ ได้ใส่ชุดที่ไม่ต้องรับบริจาคมาจากใคร และที่สำคัญผมมีสิทธิเดินไปไหนมาไหนก็ได้ ไม่มีรั้วมาขวางกั้นผมอีกต่อไป

ผมยังจำได้ดี สมัยก่อนหลังจากเวลาที่ช่วยแม่กับยายเก็บข้าวโพดเสร็จ ผมชอบไปนั่งดูลุงทำขาเทียมที่ศูนย์พยาบาล แล้วก็ถามลุงเสมอว่าโลกนอกรั้วค่ายพักพิงชั่วคราวมันเป็นโลกแบบไหนกัน ทำไมอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่แต่ละคนที่เข้ามาในค่ายถึงเหมือนอยู่คนละโลกกับเรา ผมออกไปข้างนอกอย่างเขาบ้างไม่ได้เหรอ ตอน 5 ขวบผมฝันถึงขนมหวานๆ เหนียวๆ แบบที่อาสาสมัครคนหนึ่งเคยให้ผมกินตลอด ในค่ายมีแต่หมากไม่มีขนมแบบนี้ขายและผมก็ไม่กล้าพอที่จะวิ่งไปขอขนมจากเขาอีกครั้ง แม้จะอยากทำแค่ไหนก็ตาม ครูจะดุเอาได้ถ้าผมไปวุ่นวายกับอาสาสมัครมากเกินไป หลังจากที่อาสาสมัครคนนั้นไม่กลับมาอีกแล้วถึงอาสาสมัครคนอื่นจะมีขนมมาแจกเด็กๆ บ้างแต่มันก็เป็นแค่ขนมถุงเล็กๆ ที่กินแล้วก็หายเข้าไปในปากไม่ได้ทิ้งกลิ่นหอมไว้เหมือนขนมที่ผมฝันถึง เป็นครั้งแรกที่ผมอยากออกไปนอกค่าย ผมอยากไปซื้อขนมแบบนั้นมาเคี้ยวอีก ผมวางแผนไว้ในใจด้วยว่าถ้าได้เจ้าเหนียวหนึบนั่นมาเมื่อไหร่นะคราวนี้ผมจะค่อยๆ เคี้ยวมันอย่างช้าๆ เดินเคี้ยวไปทั้งวันให้รอบค่ายจนกว่าจะหมดรสชาติ ผมอยากได้กลิ่นหอมชื่นใจที่เย็นไปทั้งปากและจมูกแบบนั้นอีกสักครั้ง หลังจากนั้นผมจึงชอบถามลุงกับแม่เสมอว่าทำไมเราถึงต้องมาอยู่ในค่ายพักพิงด้วย ทั้งๆ ที่ลุงกับแม่ต่างพูดเหมือนกันว่าบ้านเราอยู่ที่รัฐกะเหรี่ยงในฝั่งพม่า เราแค่มาข้ามมาอยู่ฝั่งไทยชั่วคราว รอปัญหาที่บ้านเราสงบลงเมื่อไหร่เราก็จะกลับไปอยู่บ้านเรา ซึ่งผมสงสัยมาตลอดว่า “ชั่วคราว” นี่มันยาวนานแค่ไหน ผมเกิดในค่ายพักพิงและอยู่ในนี้มาทั้งชีวิต พี่เก ทูว ข้างบ้านผมก็ชอบบอกว่าชั่วคราวเหมือนกันทั้งที่ตัวแกเองก็เกิดและโตในนี้ จนมีน้องเก ลา ออกมาอีกคนแล้ว ไม่เห็นมันจะชั่วคราวตรงไหน ตรงกันข้ามค่ายพักพิงดูจะเป็นชั่วชีวิตของพวกเรามากกว่า เมื่อไหร่ผมจะได้ออกไปอยู่ข้างนอกกับพ่อซะที แล้วลุงจำได้ไหมเวลาที่ผมเริ่มบ่นเรื่องนี้หนักขึ้นทีไรลุงมักปลอบผมเสมอว่า “พยายามใช้ชีวิตวันนี้ให้มีความสุขก่อนเถิดลวอย เซ เจ้ายังมีขาทั้งสองข้างอยู่กับตัวจะไปกลัวอะไร สักวันมันจะพาเจ้าออกไปเดินสำรวจโลกข้างนอกแน่นอน เมื่อถึงวันนั้นเจ้าจะได้เห็นเองว่าโลกข้างนอกที่เจ้าฝันถึงมันสวยงามหรือโหดร้ายกับชีวิตเจ้าอย่างไรบ้าง เฝ้าถามหาโลกทั้งใบจากสายตาคนอื่นน่ะ ไม่มีประโยชน์อะไรหรอก ลุงเองก็ตอบเจ้าไม่ได้เด็กน้อย โลกข้างนอกที่ลุงเคยเห็นเมื่อ 30 ปีที่แล้วกับโลกที่เจ้าจะได้เห็นไม่มีทางเหมือนกันแน่นอน จงออกไปเห็นมันด้วยตาตัวเองเถอะลวอย เซ เจ้าจะได้ออกไป ลุงเชื่อแบบนั้น” ใจผมสงบลงทุกทีที่ได้ยินพูดแบบนี้

วันนี้ผมเห็นมันแล้วลุงควา จี โลกนอกรั้วค่ายพักพิงชั่วคราว แม้ต้องคอยนานถึง 10 ปีหลังจากฝันถึงเจ้าเหนียวหนึบก็ตาม เบอร์ลินใหญ่โตและทันสมัยกว่าค่ายพักพิงชั่วคราวบ้านใหม่ในสอยของเราจนไม่รู้จะอธิบายอย่างไรให้ลุงนึกภาพออก ผมอยากให้ลุงได้มาอยู่ตรงนี้ด้วยกัน แม้จะรู้ดีว่าลุงไม่มีทางยอมย้ายออกจากค่ายพักพิงไปไหนนอกจากกลับไปยังที่ที่ลุงจากมาเท่านั้น ลุงปฏิเสธโอกาสที่จะได้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในอเมริกาที่เจ้าหน้าที่ UNHCR หยิบยื่นมาให้ ทั้งที่คนในค่ายหลายคนต่างรอคอยโอกาสนี้มาหลายปี ผมยังจำได้ขึ้นใจถึงน้ำเสียงและแววตาที่มุ่งมั่นของลุง เมื่อครั้งที่ลุงบอกกับผมว่าการได้ทำขาเทียมและซ่อมขาเทียมให้กับคนในค่ายเป็นสิ่งเดียวที่ช่วยทำให้จิตวิญญาณที่หลุดลอยหายไปแสนไกลของลุงบินกลับมาสู่ร่างกายลุงอีกครั้ง ในคืนที่เหยียบกับระเบิดระหว่างหลบหนีกองกำลังทหารซึ่งบุกมาเผาทำลายหมู่บ้านข้ามมายังฝั่งไทย เสียงดังสนั่นของระเบิดที่ถูกฝังอยู่กลางป่าไม่ได้ทำให้ลุงเสียขาซ้ายเพียงอย่างเดียว แต่เสียงดังก้องเข้าไปในทุกโสตประสาทของระเบิดยังทำให้ลุงสูญเสียจิตวิญญาณไปพร้อมกันด้วย ลุงย้ำเสมอว่าลุงได้ชีวิตใหม่แล้วตั้งแต่วันที่ทำขาเทียมให้คนอื่นสำเร็จ ผมดีใจแทนพี่น้องในค่ายที่มีลุงค่อยช่วยเหลือพวกเขาอย่างตั้งใจจริง

และลุงเองก็ไม่ต้องห่วงผมอีกต่อไปแล้ว ตอนนี้ผมปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ที่เบอร์ลินได้เร็วกว่าที่คิด สิ้นปีก่อนผมผ่านการสอบวัดระดับภาษาเยอรมันที่ผู้ลี้ภัยเข้ามาใหม่ทุกคนจำเป็นต้องสอบ ทำให้เทอมที่แล้วผมมีสิทธิได้เข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมปลายเหมือนกับเด็กเยอรมันทั่วไป แต่มีเรื่องหนึ่งที่ตลกมากเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่โรงเรียนผมมีเด็กเยอรมันอยู่เต็มไปหมด แต่เพื่อนคนแรกในเบอร์ลินที่นั่งติดกับผมในห้องเรียนกลับเป็นผู้ลี้ภัยเหมือนกัน อัลอะหซาบกับผมจึงสนิทกันได้ไม่ยาก ครอบครัวของอัลอะหซาบหนีภัยสงครามมาจากซีเรียเมื่อ 3 ปีก่อน เขาเดินเท้าอยู่เกือบ 3 เดือนเต็มเพื่อหาทางเข้ามายังเยอรมันพร้อมกับแม่และน้องๆ หลังจากที่สูญเสียพ่อไปจากการทิ้งระเบิดกลางเมืองดูมาครั้งใหญ่ของรัฐบาลซีเรีย เพื่อปราบปรามกลุ่มกบฏหัวรุนแรงที่ยึดครองเมืองดูมาอยู่ในขณะนั้น แต่พ่อของอัลอะหซาบไม่ใช่สมาชิกกลุ่มกบฏที่ต่อต้านรัฐบาลซีเรียหรือเป็นพวกหัวรุนแรงแต่อย่างใด เขาเป็นเพียงประชาชนธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ต้องการทิ้งบ้านเกิดตัวเองไปไหน อัลอะหซาบเล่าว่าพ่อของเขาเชื่อมั่นว่าพระเจ้าจะทำให้ซีเรียอย่างสงบลงได้ในไม่ช้า แต่มันก็สายเกินไปตอนนี้สงครามได้พรากชีวิตพ่อของเขาไปแล้ว คำสวดอ้อนวอนของครอบครัวอัลอะหซาบไปไม่ถึงพระผู้เป็นเจ้า แม่ของเขาจึงตัดสินใจ (เรียกว่าถูกบังคับให้ตัดสินใจน่าจะถูกต้องกว่า) ทิ้งบ้านที่สร้างมากับมือและความเจ็บปวดจากสงครามไว้ที่ซีเรีย และพาเขากับน้องๆ ย้ายมาอยู่ในประเทศที่ปลอดภัยกว่าอย่างเยอรมัน ลุงเชื่อไหม ถึงแม้ตอนนี้ผมจะหนีมาอยู่ในประเทศที่เหมือนจะมีทั้งอนาคตและปราศจากสงครามได้แล้ว แต่ผมไม่เคยหนีพ้นจากสงครามไปได้เลย ทุกคนรอบตัวผมต่างมีแผลเป็นที่เกิดจากสงครามด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าที่ตัวหรือที่ใจ

เราไม่มีวันรู้ได้เลยว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น ผมคนที่ไม่เคยเห็นโลกนอกรั้วค่ายพักพิงชั่วคราวกับอัลอะหซาบเด็กผู้ชายที่เคยมีทุกอย่างในชีวิต ต่างถูกสงครามจากแผ่นดินเกิดตัวเองไล่ต้อนให้มารอนแรมอยู่ในเบอร์ลิน เราถูกทำให้กลมกลืนเข้ากับเบอร์ลินด้วยภาษาเยอรมันและการศึกษา แต่เราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของมันจริงๆ ผู้ลี้ภัยอย่างเราต่างรู้อยู่แก่ใจดี ไม่ว่าอยู่ที่ไหนพวกเราก็ยังรอคอยวันที่จะได้กลับบ้านของตัวเอง ถึงแม้ว่าความหวังจะมีไม่มาก แต่มันก็ยังดีกว่าไม่หวังอะไรเลย ผมเองก็หวังอย่างสุดหัวใจว่าจะได้พบลุงควา จี อีกครั้งที่ “รัฐกะเหรี่ยง” ในวันที่ท้องฟ้าสีครามมอบแสงสว่างในชีวิตให้แก่พวกเราอีกครั้งหนึ่ง

เราจะได้พบกัน ผมเชื่อแบบนั้น

ลวอย เซ

 

น.ส.วรณา แต้มทอง นักเียนกฎหมาย (สาขาวรณกม) ที่กำลังค่ำเค่งกับกาทำวิทยานิพนธ์เื่องเปาบุ้นจิ้น และเป็นคนนอกที่เคยมีโอกาสจับพลัดจับผลูได้เข้าไปเห็นโลกในค่ายพักพิงชั่วคาวชายแดนไทย-พม่า อยู่ 2 คั้ง