นิทานการเมือง เรื่อง “การปฏิวัติแกมดิบ”

ผลงานผ่านการพิจารณาให้เผยแพร่ โครงการ “เขียนใหม่นายผี” รายการที่ 3

ประเภทนิทานการเมือง หัวข้อ “การปฏิวัติที่ห่าม 2019 edition”

โดย ภูมิชาย คชมิตร

 

1 ตุลาคม พ.ศ. 2491

หญิงชายคู่หนึ่งซึ่งนั่งอยู่ริมหน้าต่างไม้ลายฉลุ ของค่ำคืนอันสับสนอีกครั้งหนึ่งของประเทศ สายตาของเขาและเธอ จ้องมองที่ท้องถนนอันมืดมนของเมืองหลวง  เสียงปืนยังคงยิงต่อสู้ คำรามอยู่ทางศูนย์ราชการ และอาคารร้านค้า ขณะที่             รถตีนตะขาบออกวิ่งโครมคราม สะท้านสะเทือนผิวถนนรนแทมผ่านเลยไป  ประตูทุกบานปิด แต่หน้าต่างหลายบานเปิดเกือบจะพร้อมกัน หลายคนเบียดออกมาดูทางหน้าต่างอย่างไม่กลัวอันตรายว่าจะถูกลูกหลง

เขาเบิกตาอย่างไม่เชื่อสายตาตนเอง…..อัคคีภัย?  ชุมนุมประท้วง?  ยึดศูนย์ราชการ?  ปิดสนามบิน?  สงครามกลางเมือง?  แต่เมื่อเห็นเหตุการณ์ผ่านพ้นบ้านเรือนของตนไปแล้ว ทุกคนต่างก็ทอดถอนใจอย่างโล่งอก แล้วก็ทยอยกันปิดหน้าต่างแล้วก็ตามมาด้วยการกระซิบ กระซาบและพูดคุยกันอย่างเพลิดเพลินใจ บ้างก็กลั้วเสียงหัวเราะพึงใจ เมื่อไฟมืดดับพวกเขาต่างก็หลับใหลด้วยความเหนื่อยล้าเหมือนไม่เคยเกิดเรื่องร้ายแรงในค่ำคืนอันแสนอึกทึก

หากมองจ้องลงมาจากท้องฟ้า…. ก็จะเห็นว่ามีหน้าต่างบานหนึ่งยังไม่ปิดสนิท  และมีหญิงชายคู่หนึ่งนั่งสนทนากันอยู่ที่ริมหน้าต่าง ครั้งแรกสายตาทั้งสองคู่ดูที่พื้นผิวถนนอันมืดมน เขาถอนใจ แล้วดวงตาของคนทั้งคู่ก็เงยขึ้นไปมองบนท้องฟ้าอันแสนกว้างใหญ่ไพศาล ฟ้านั้นทั้งเมฆ และพระจันทร์ยังหายหน้า โอ้ หากไม่มีแม้พระจันทร์นั้นเล่า ดาวทั้งหลายก็เฉิดฉาย ไฉไลอยู่เต็มท้องฟ้า มีทั้งดาวสีแดงระยิบระยับ ดาวสีขาวนวล ดาวสีน้ำเงินเข้ม ดาวสีเหลืองที่ส่องแสงเรืองรองไปตามวัฏจักรของจักรวาล ทั้งสองคน ถอนหายใจอีกวาระ

“เธอคิดว่าจะลงเอยอย่างไร กุลิศ” หญิงสาวไถ่ถาม

“ผลลัพธ์นั้นหรือ?” กุลิศ อินทุศักดิ์ กล่าวอย่างซีเรียส

“ยุ่งเหมือนลิงแย่งกันขึ้นต้นมะม่วง”

“เธอว่า ฝ่ายไหนเป็นลิง ฝ่ายไหนเป็นต้นมะม่วง” ฝ่ายรัฐประหาร หรือฝ่ายปฏิวัติ ?”

“เธอ โปรดอย่าเรียก พวกเขาเหล่านั้นว่าฝ่ายปฏิวัติเลย เพราะโดยแก่นแท้แล้ว พวกเขาหาใช่ฝ่ายปฏิวัติแต่อย่างใดเลย  ถ้าเธอถามว่า ใครเป็นลิง? ใครเป็นต้นมะม่วง?  ฉันก็ทายได้ว่า พวกนั้นต่างก็สลับกันเป็นลิง สลับกันเป็นต้นมะม่วง เป็นเด็กเล่นขายของในสภานั่นแหละ นอกเสียจากความคิดที่ไม่ถูกกาลเทศะ  ในความพยายามก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองเวลานี้ และโลเลเป็นไม้หลักปักขี้เลนขาดจุดยืน พวกเขาย่อมพบกับความพินาศ เพราะต้นเหตุแห่งการเลือกข้างเป็นฝักฝ่าย แบ่งเขาแบ่งเรา

“ฉันเองก็สงสัย” เธอพูด

“เธอสงสัยอะไรเล่า ฟาตีมะห์” กุลิศกล่าว

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันควันเรื่องการต่อต้านการก่อรัฐประหาร การจลาจล แต่ผู้ใดไปโฆษณาปล่อยข่าวลือทั่วเมืองหลวง ข่าวลือนั้นเปรียบเหมือนเป็นควันพิษที่พวกที่ไม่หวังดีไปปล่อยข่าว เพื่อดิสเครดิตฝ่ายประชาชนที่ไม่เลือกข้าง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ควันพิษเหล่านี้ หากสูดดมเข้าไปเกินพิกัด ประชาชนผู้บอบบางก็จะคลื่นเหียนอาจเจียรเป็นผื่นคันตามเนื้อตัว หายใจไม่สะดวก แต่ประชาชนในกลุ่มนี้ เป็นพวกคนชนิดที่เห็นทรัพย์สินของบุคคลอื่นเหมือนก้อนกรวด และเห็นฝ่ายที่แย่งชิงอำนาจกันนั้น เสมือนฝูงลิงแต่งตัวมาเล่นละครในโรงละครเพื่อแย่งชิงกันขึ้นต้นมะม่วง ทั้งยังแต่งหน้าทาปากมาแก่งแย่งเล่นบทพระเอกที่ชื่อว่า “เทพแห่งความสงบ” ไร้เดียงสาๆ เหมือนลิงที่แย่งกันขึ้นไปกินลูกมะม่วงอยู่บนต้นที่ไม่รู้ว่าลูกใดสุก หรือลูกใดดิบ แล้วก็ผลักใสลิงตัวอื่นๆ ตกลงมานอนแอ้งแม้ง เพื่อป้องกันผลประโยชน์ของฝ่ายตนเอง  แม้กระนั้นก็ตาม ควันพิษนั้นที่พุ่งกระจาย แต่ประชาชนก็ได้สวมสวมหน้ากากไม่ไม่สำลัก แต่ควันร้ายนั้นก็พลันย้อนไปเข้าจมูกผู้ที่เป็นต้นเหตุที่ปล่อยควันพิษร้ายนั้น

พวกนั้นสำลักควันพิษแล้วก็คิดสกัดควันร้ายนั้น แต่ก็ไร้ความสามารถไม่สามารถกำจัดได้หมด ได้แต่ภาวนาคอยฟ้าคอยฝนที่จะมาโปรยปรายช่วยลดควัน ลดฝุ่นพิษ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ไม่หวังดีก็ออกตระเวรสืบหาต้นเหตุของคนที่ปล่อยข่าวพิษ ฟาตีมะส์ เหมือนอย่าง ที่เธอได้เห็นภาพในการ์ตูนล้อการเมืองเมื่อเร็วๆนี้ คนที่ปล่อยข่าวลือ พวกนี้ก็สะกดรอยมาเจอแต่พวกพ้องของตัวเองที่ยิ่งไปกว่านั้น โอธรรมชาติเจ้า ต้นตอที่ปล่อยข่าวนี้กลับใส่ไฟ ยุยงให้ประชาชนรากหญ้าตาดำๆ ลุกขึ้นมาชุมนุมประท้วง เพื่อควานหาแพะที่พวกเขาตระเตรียมเอาไว้ แล้วก็สร้างความแตกแยกให้คนไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน โจมตีรัฐบาลโดยอ้างประเด็นทางการเมืองว่า ประชาชนเตรียมการประท้วงก่อความไม่สงบ เพื่อให้ประชาชนฝ่ายต่างๆ เข้าใจผิด และชุมนุมครั้งใหญ่ ครั้นประชาชนกระทำเช่นนั้นแล้วพวกเขาก็พาสมัครพรรคพวกมาสลายการชุมนุม

“เหตุนี้ฉันจึงว่า พวกนั้นสลับกันเป็นลิงแย่งกันขึ้นไปลิ้มชิมมะม่วงบนต้นนั่นเอง  มันเป็นอุบายที่ไม่น่าไว้วางใจเป็นอย่างยิ่ง ฟาตีมะห์  ฉันไม่แน่ใจว่าฝ่ายรัฐก็ดี ฝ่ายรัฐประหารก็ดีจะเฉลียวใจถึงมูลเหตุดังกล่าวนี้หรือไม่”

“ถึงจะรู้ก็ทำเหมือนเอาหูไปนา เอาตาไปไร่” ฟาตีมะห์ พูดลอยๆ

“ผู้ที่เดือดร้อนก็คือประชาชนรากหญ้า แต่ฉันเห็นว่า เหตุการณ์นี้จะส่งผลด้านลบ กับชาติบ้านเมือง แต่ส่งผลเสีย ทำให้รัฐบาลเกิดความไม่น่าเชื่อถือต่อนานาประเทศ หรือฝ่ายที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ต่อตัวเองและพวกพ้อง ก็เป็นที่น่ารังเกียจเดียดฉันท์ที่พวกเขาได้กระทำสิ่งที่คนทั่วไปไม่ให้การสนับสนุน และสมัครใจ”

“ใช่เลย ฟาตีมะห์ พวกเขา ไม่เฉลียวใจว่า การกระทำเช่นนี้ ได้ส่งเสริมให้ประชาชนรากหญ้าที่หาเช้ากินค่ำ ลุกขึ้นมาต่อต้าน และสร้างความแตกแยกให้กับคนในชาติ เพราะในที่สุดเหตุการณ์เหล่านี้จะทำให้ เกิดการชุมนุมใหญ่กลางเมือง และเมื่อเหตุการณ์ตรึงเครียดถึงที่สุดประชาชนก็จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับกำลังฝ่ายบ้านเมืองที่ถืออาวุธมากระชับพื้นที่ แย่งคืนพื้นที่การชุมนุม จากนั้นหากมีการรัฐประหาร บ้านเมืองก็จะไม่มีวันเหมือนเดิมหรอกฟาตีมะห์, ก็จะเป็นผลร้ายกับประเทศชาติ แต่นั่นแหละ ผลร้ายนั้นอาจจะมาจากความหวังดี ดอกไม้พิษอาจจะสวยงามก็จริง แต่ก็ต้องการปุ๋ยที่ดี เหมือนกับประชาชนรากหญ้าที่ต้องการความยุติธรรมที่อยู่ในเมืองเช่นกัน

เหตุการณ์ความไม่สงบ อาจเป็นถูกนำมาเป็นข้ออ้างที่เป็นทางออก เพื่อนำไปสู่การผ่าทางตันทางการเมือง แต่เหตุการณ์เช่นนี้ อาจไม่ได้รับความสนับสนุนจากทุกฝ่าย เพราะบ้านเมืองของเราได้แบ่งเป็นฝักฝ่าย จนบ้านเมืองไม่อาจไว้เนื้อเชื่อใจกันได้อย่างสนิทชิดเชื้อเหมือนที่ผ่านมา

 

หมุดหมายในนิทานการเมือง

เรื่อง “การปฏิวัติแกมดิบ” นี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในจดหมายวรรณกรรม คณะผู้เขียนจดหมาย  โดยแบ่งเป็นสองตอน ตอนแรกตีพิมพ์ในฉบับวันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2491 และตอนที่สองตีพิมพ์ในฉบับ วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491 ในการตีพิมพ์ตอนที่สองพบข้อความชี้แจงของผู้ประพันธ์ไว้ดังนี้

เรื่อง “การปฏิวัติแกมดิบ” ซึ่งตีพิมพ์ในจดหมายวรรณกรรม คณะผู้เขียนจดหมาย ฉบับวันที่ 30 ตุลาคมนั้น เป็นนิทานการเมืองที่ได้บันทึกท่ามกลางความมืดมิดในคืนวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2491 อันเป็นคืนที่เกิดรัฐประหารในเมืองหลวง ในฐานะของผู้สื่อข่าว ข้าพเจ้าได้รับข่าวรัฐประหารอย่างทันท่วงที- การดำเนินการจับกุมยังดำเนินอย่างเป็นขั้นตอนและฉับพลัน ในฐานะสื่อมวลชน ข้าพเจ้ารู้สึกผิดหวังต่อการปฏิวัติ ทำให้ข้าพเจ้าต้องบันทึกสถานการณ์จริงเอาไว้ แต่ได้บันทึกไว้เพียงตอนแรก ซึ่งยังไม่อวสาน ข้าพเจ้าก็ต้องลงไปทำข่าวภาคสนามอีกครั้งด้วยเหตุนี้ทำให้ข้าพเจ้าต้องทิ้งบันทึกที่ยังเขียนไม่จบนี้ไว้ที่โต๊ะทำงานในสำนักงาน  เพื่อนในกองบรรณาธิการของข้าพเจ้าได้มาพบต้นฉบับ จึงนำลงตีพิมพ์ในจดหมายวรรณกรรม คณะผู้เขียนจดหมาย ซึ่งข้าพเจ้าเพิ่งได้รับรู้ในภายหลัง ด้วยความไม่สมบูรณ์ดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงได้เขียนส่วนที่เหลือตามเหตุ นิทานเสมือนจริง ดังต่อไปนี้ :-    

 

 

หนึ่งตุลาคม พุทธศักราชสองพันสี่ร้อยเก้าสิบเอ็ด

หญิง ชาย ทั้งคู่ยังคงนั่งอยู่ที่ริมหน้าต่าง เสียงปืนและเสียงระเบิดยังคงดังอึกทึกครึกโครม….. เธอพูดถึงการปฏิวัติแกมดิบว่าเป็นการปฏิวัติของประชาชน ฉันยังสงสัยว่าจะยังมีอีกหรือ?  ฟาตีมะห์ พูด

“ไม่ต้องตั้งคำถามมากมายหรอก ฟาตีมะห์”  กุลิศ อินทุศักดิ์ อธิบาย

“การกระทำในค่ำคืนนี้ถ้าเธอจะเรียกว่าเป็นการปฏิวัติก็เป็นการปฏิวัติแกมดิบ คือเกือบถึงขั้นแตกหัก ด้วยเหตุนี้จึงไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทุกฝ่าย นั่นเป็นการสื่อถึงความเปราะบางอันนำไปสู่ความล้มเหลว เธออาจโต้งแย้งว่า ก็พวกที่ปฏิวัติแกมดิบที่ผ่านมานั้น ประชาชนส่งเสริมหรือ จึงประสบผลสำเร็จ ฉันจะอธิบายว่า การปฏิวัติในครั้งนั้น  ถ้าประสบชัยชนะก็ไม่ถูกถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะการขับไล่รัฐบาลเก่าไป และเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลใหม่นั้น หาได้หมายความว่า ทำรัฐประหารประสบผลสำเร็จทั้งหมด รัฐบาลใหม่จะผ่านมากี่รัฐบาลแล้วก็ตาม ยังไม่ได้สื่อให้เห็นถึงสัญญาณแห่งความประสบผลสำเร็จทางการเมือง เธอไม่เอะใจหรือว่า การที่คณะรัฐบาลหลังการรัฐประหาร ประกาศว่า เสียงประชาชนไม่ใช่เสียงสวรรค์ คือการกล่าวอย่างหน้าชื่นตาบานว่า การปฏิวัติจะมีก็ได้ แม้ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน เธอเคยฟังไหม ประชาชนเขายอมรับการปฏิบัติการทางการเมืองของฝ่ายนั้นหรือไม่?  ฟาตีมะห์เอย ตราบใดที่รัฐบาลหลังรัฐประหาร มัวแต่ไปยุ่งกับการกวาดล้างศัตรูทางการเมือง มัวแต่ไปสนใจอยู่กับการยอมรับข้อตกลงในการช่วยกำจัดศัตรูทางการเมืองที่ต่างชาติให้การสนับสนุนก็ดี ก็เป็นการแสดงถึงความไม่เปิดใจกว้างทางการเมืองของรัฐบาลหลังรัฐประหารอย่างชัดเจน เมื่อการรัฐประหารยังล้มเหลว ดังนั้นฉันจึงไม่เรียกการปฏิบัติการในคืนนี้ของอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นการปฏิวัติโดยประชาชน  แต่ฉันพอใจเรียกว่าการชุมนุมก่อความไม่สงบในบ้านเมือง หรือจะเรียกว่าการปฏิวัติแกมดิบก็ได้ ตามประสาคนรากหญ้าที่ถ้ามีอะไรขึ้นมาก็เรียกว่าการชุมนุมประท้วง  ทั้งนี้เพราะการปฏิวัติเมื่อปี 2475 นั้นเป็นการปฏิวัติที่ไม่สมบูรณ์ คณะราษฎร เพียงแต่ รีไรท์ระบบการปกครองไม่มาก   หลักความจริงนั้นมีอยู่ว่าการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่ระบอบของประชาชนอย่างแท้จริงนั้น ในการปกครอง เศรษฐกิจและสังคม ย่อมจะต้องเกิดขึ้นอย่างเป็นพลวัต และต้องดำเนินไปเหมือนลูกมะม่วงเมื่อสุกแล้วก็จะหล่นลงจากต้นสู่พื้นดิน เมื่อถึงที่สุดแล้วก็ย่อมนิ่งอยู่กับพื้น และจะไม่เหินลอยขึ้นไปอยู่บนกิ่งมะม่วงอีก

การปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตยของประชาชน ยังไม่สิ้นสุด แต่รูปแบบการปฏิวัติอาจเปลี่ยนรูปแบบที่ไม่ใช้อาวุธเช่นกาลก่อน  ดังเช่น รูปแบบการชุมนุมโดยสันติ หรือการชุมนุมใหญ่กลางท้องถนนก็ต้องมีขึ้นแล้วแต่เหตุการณ์ และอุปสรรคที่ประเดประดังเข้ามา ถ้าความอยุติธรรมยังไม่หมดไปจากสังคม ความรุนแรงก็ต้องต้องเกิดขึ้นไม่วันใดก็วันหนึ่ง

“เหตุการณ์ในคืนนี้ ไม่ใช่กระแสการปฏิวัติของประชาชนโดยแท้จริงดอกหรือ?”

“ฉันรู้มาว่า พวกก่อเหตุการณ์ในคืนนี้ไม่ใช่จะมีแต่คนรากหญ้า แต่เป็นคณะบุคคลหนึ่งที่ก่อเหตุขึ้นเพราะเสียผลประโยชน์จึงได้ก่อรัฐประหาร  ฉันยืนยันว่าการปฏิวัติแกมดิบนั้นยากยิ่งจะประสบผลสำเร็จ ไม่ว่าจะใช้ความรุนแรงหรือไม่”

“พวกองค์กรเอกชน และนักวิชาการไม่ได้ร่วมมือในการนี้ด้วยหรอกหรือ” ฟาตีมะห์ถาม

“ตามความเข้าใจของฉัน พวกองค์กรเอกชน นักวิชาการอาจไม่กล้าแสดงตัวว่าเห็นด้วยกับเหตุการณ์ในครั้งนี้  อาจมีบางส่วนเห็นว่ามีนักวิชาการบางคนให้การสนับสนุน ถ้าจริงก็นับว่าเกิดความแตกแยกในวงการวิชาการ  ดวงจันทร์กับพระอาทิตย์บางทีก็ยังมีโอกาสพบกันบนฟากฟ้า แต่พวกฝ่ายซ้ายที่เข้าข้างประชาชนรากหญ้า และพวกฝ่ายซ้ายอีกกลุ่มที่อยู่ข้างคนมีอันจะกินนั้นไม่มีวันจะปรองดองกันได้เลย พวกนักวิชาการ กับฝ่ายปฏิวัติจะพบกันไม่ได้อย่างแน่นอน พวกชุมนุมประท้วงครั้งนี้ ฉันทราบว่าเป็นพวกที่ไม่ชอบความสันติ  แต่เป็นพวกที่ชอบใช้ความรุนแรง…….”

“ก็ไหนฉันได้ยินมาว่า พวกที่ก่อความไม่สงบรู้ว่าพวกรัฐบาลเก่าให้การสนับสนุน” ฟาตีมะห์โต้แย้ง

“ฟาตีมะห์ เธอยังไม่ทราบอีกหรือ ?” กุลิศ อินทุศักดิ์พูด

พวกรัฐบาลเก่าเป็นพวกไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติทั้งหมด พรรคพวกส่วนใหญ่ของนายปรีดี พนมยงค์ และพวกหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์  ต่างก็บอบช้ำทั้งสิ้น ไม่น้อยไปกว่าพวกที่เสียผลประโยชน์และฝ่ายจอมพล ป.พิบูลสงคราม ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยก็ดี หากล้นด้วยปัญหาของระบอบประชาธิปไตย การเคลื่อนไหวของนักศึกษาก็เพื่อป้องกันสิทธิของประชาชน และเพื่อต่อต้านกับฝ่ายเผด็จการ จึงได้รับการขัดขวางจากนักวิชาการที่ตกอยู่ร่มเงาของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ดังที่เธอได้ยินมา เธออย่าหวังว่า ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลนั้นเป็นกลุ่มนักคิด นักเขียน  องค์กรเอกชน และนักวิชาการทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับความสับสนวุ่นวายในคืนนี้ ฉันได้เบาะแสว่า พวกรัฐบาลเก่านั้นปฏิเสธว่าให้การสนับสนุน ถึงกระนั้นพวกนี้ก็คงได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย ฉันเห็นว่าฝ่ายใดก็ตามที่เข้ามาสลายการชุมนุมในคืนนี้ ย่อมจะเป็นฝ่ายที่ทำให้พวกรัฐบาลที่แล้วได้รับความเดือดร้อน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกนักวิชาการที่มีความคิดแบบเอียงซ้าย และฝ่ายที่มีความคิดแบบเอียงขวา ก็ย่อมได้รับผลสะเทือนต่อเหตุการณ์นี้อย่างแน่นอน ถ้าเป็นจริงดังที่เธอคิดแล้วก็คงยุ่งไปกันใหญ่ และในที่สุดสงครามประชาชนก็คงไม่ปิดสวิตช์จริงๆ “

“เธอเห็นแล้วหรือ, ฟาตีมะห์ เอ๋ย” กุลิศพูด แต่ก่อนที่จะเกิดการชุมนุมในท้องถนนของประชาชนขึ้น เหตุการณ์จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ  การลอบทำร้าย ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองจะเป็นไปอย่างรุนแรง สถานการณ์บ้านเมืองจะยังคงอยู่ท่ามกลางกฎอัยการศึก บ้านเมืองถูกเผา คือการกดขี่และการเผาเพื่อใส่ร้ายศัตรูทางการเมือง และการทำลายความเชื่อถือของผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง”

“ไฟคือการบีบคั้นจากความไม่เท่าเทียม ฉันพอจะได้ยิน แต่ไฟที่มาจากคนที่ไม่หวังดีนั้นทำไปเพื่ออะไร?  ”

“ไฟคือความเห็นต่างที่มาจากการเสียผลประโยชน์ คือไฟที่มีสภาพที่ไม่เหมือนไฟที่มาจากจิตวิญญาณ ไฟภายนอกเป็นไฟที่มองว่าตนเองเป็นผู้ที่มีความรู้ และจะนำไปสู่ความสงบสุขของคนส่วนใหญ่ในสังคม และคนที่สูญเสียอำนาจ คนพวกนี้ต่างมองเห็นว่าคนรากหญ้าได้นำปัญหามาให้ คือ ทำดีแทบตายก็หาอะไรดีไม่ได้เลย”

“เธอจงดูกองทัพกองโจรในอเมริกาใต้ที่กำลังได้รับชัยชนะนั่นสิ  ถ้าโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการได้หมดเมื่อไร ลาตินอเมริกาก็ต้องตกอยู่ในกำมือของประชาชนผู้ทุกข์เข็ญ  ดังภาษิตลาตินอเมริกา ที่กล่าวว่า ใครสามารถยึดเกาะคิวบาได้ ก็ย่อมสามารถช่วงชิงมวลชนให้เข้ามาร่วมเพื่อขับไล่เผด็จการได้นั่นเอง เมื่อใดที่ประชาชนโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการได้สำเร็จ ก็จะเป็นการโหมไฟเพื่อลุกขึ้นสู้กับอำนาจอยุติธรรมในลาตินอเมริกาและจะส่งผลไปทั่วกลุ่มประเทศโลกที่ 3  อัฟริกา และเอเชีย อำนาจจักรพรรดินิยมในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงจะต้องล่มสลาย อำนาจของสหภาพราชอาณาจักรในแหลมมลายู และในพม่าจะสิ้นสุดลง ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ย่อมส่งผลกระทบถึงกันตามทฤษฎีโดมิโน่ เพราะถ้าหากโดมิโน่ตัวหนึ่งล้มก็จะล้มตามๆ กันทั้งหมด  ยิ่งเหตุการณ์ในประเทศ เกิดปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจ ประชาชนก็ต้องออกมาเดินเรียกร้องความเป็นธรรมอยู่กลางถนน และให้การสนับสนุนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายรัฐบาล เพื่อเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร และย่อมเป็นการส่งเสริมระบอบที่ได้มาด้วยความรุนแรง ที่ยากต่อการจะไม่สูญเสียเลือดเนื้อ

“แต่กุลิศ” ฟาตีมะห์ กล่าว

“กุหลาบต้องงอก และงดงามจากดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินผองเรา ตามแบบอย่างในอุดมคติไม่ใช่หรือ”

“ฟาตีมะห์, การปฏิวัติแกมดิบนั้นจะได้รับการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยจากประชาชนส่วนใหญ่ในดินแดนนี้ก็ตาม แต่กุหลาบงดงามนั้น ก็ควรรู้กาละ ไม่ควรจะไปงอกงามในดินแดนอันแสนแห้งผาก และกันดาร -โดยเฉพาะ- บนปลายกระบอกปืน.

 

อ้างอิง

ภูมิชาย คชมิตร หนึ่งในคณะผู้เขียนจดหมาย ผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเขียนจดหมายวรรณกรรม, เขียน อ่านหนังสือ และทำวิจัย เป็น Text Analyst อ่านวิเคราะห์ตำราชาติพันธุ์ และงานวิจัยต่างๆให้ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เรียนจบปริญญาโท สาขาวิชาลุ่มน้ำโขงศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น