บทความ เรื่อง “การปฏิวัติที่ห่าม ๘๗ ปีที่ล่วงผ่าน”

ผลงานผ่านการพิจารณาให้เผยแพร่ โครงการ “เขียนใหม่นายผี” รายการที่ 3

ประเภทบทความ หัวข้อ “การปฏิวัติที่ห่าม 2019 edition”

โดย ชนา ชุติสมิต

 

กุลิศ อินทุศักดิ์ ซึ่งเป็นทั้งผู้เขียนและเป็นตัวละครในนิทานการเมืองเรื่องนี้ ดูเหมือนจะไม่ได้แค่มองการรัฐประหารในคืนนั้นว่าเป็น “การปฏิวัติที่ห่าม” เพียงเท่านั้น แต่น่าจะกินความไปถึงการอภิวัฒน์เมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เลยด้วยซ้ำ เพราะคณะราษฎรในความคิดของผู้เขียนทำได้เพียงปฏิวัติระบอบการปกครองนิดหน่อย ส่วนระบอบสังคมและเศรษฐกิจยังหาได้ทำการปฏิวัติไม่ แถมพวกเขานั่นเองที่เป็นพวกปฏิกิริยาไม่น้อยกว่าพวกจ้าวและพวกจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น ยังมีบางคนเป็นนักเลงหัวไม้อีกด้วย อีกทั้งผู้เขียนยังเชื่อว่าการปฏิวัติจะสำเร็จผลได้ประชาชนต้องสุกงอมแล้วเท่านั้น ขณะที่ประชาชนชาวสยามในเพลานั้นยังเหมือนควายเคี้ยวเอื้องอยู่กลางปลักอันโสโครกอยู่เลย ดังที่เมื่อพวกเขาพบว่าเสียงสนั่นจากทั้งปืนกลและรถเกราะในค่ำคืนนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับตนโดยตรงก็พากันหับหน้าต่าง ดับไฟ แล้วช่วยกันสร้างชาติต่อไปอย่างไม่แยแส (“สร้างชาติ” ในความหมาย ร่วมประเวณี นั่นเอง)  สิ่งที่ผู้เขียนสะท้อนออกมานี้เพียงจะบอกว่าตราบที่ประชาชนยังไม่สุกงอมต่อการเปลี่ยนแปลง จะเรียกสิ่งที่ทำว่ารัฐประหาร หรือ การปฏิวัติก็ตามแต่ ก็มีแต่เจ๊งเท่านั้น ส่วนผู้เขียนซึ่งเรียกมันว่า การจลาจล มองว่าพวกผู้คิดก่อการในคืนนั้นไม่ได้คิดทำเพื่อส่วนรวม แต่เพื่อตัวเอง

การพยายามก่อการรัฐประหารในคืนนั้นคือการโต้กลับการรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ที่นำโดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ กระทำต่อรัฐบาล พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (แต่ทว่าล้มเหลว เพราะถูกจับกุมตัวได้เสียก่อน เรียกในชื่อ กบฏเสนาธิการ) ขณะที่ราษฎรในเวลานั้นคงไม่มีบทบาทอะไรมากไปกว่าเป็นผู้ดูเหตุการณ์ ยังไม่เป็นประชาชนผู้สุกงอม อย่างน้อยก็ในสายตาของกุลิศ เขายังกล่าวถึง “ไฟภายใน” (ความกดขี่ภายในประเทศ) “ไฟภายนอก” (ความบีบคั้นจากภายนอกประเทศ) และดูจะให้น้ำหนักกับ “ไฟภายนอก” มากทีเดียว ซึ่งหมายถึงแนวทางแบบพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเวลานั้นที่กำลังประสบชัยชนะมากขึ้นเรื่อยๆ และถึงกับใช้คำว่าเป็น “ไฟแห่งประทีปอันส่องวิถีแห่งความเป็นบรมสุขในพื้นพิภพ” เขายังสอดใส่สัญลักษณ์ด้วยการบรรยายอย่างเสียดสีว่าในคืนก่อการนั้น ท้องฟ้าปราศจากเมฆ ปราศจากดวงจันทร์ มีเห็นปรากฏอยู่ก็แต่พวกดาวร้ายดาวเลว ดูเหมือนผู้เขียนจะเสียดสีทุกกลุ่มฝ่ายว่ากระจอกงอกง่อยทั้งเพ ขณะดวงจันทร์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของประทีปส่องทางยังไม่ปรากฏ ประทีปดวงนี้ในความคิดผู้เขียนย่อมไม่ใช่ฝ่ายคณะราษฎรแน่นอน โดยความคล้องจองในตัวเรื่องมันเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้แต่คืออันเดียวกันกับ “ไฟภายนอก” นั่นเอง

นับแต่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ การโต้กันไปมาของแต่ละฝ่ายโดยการทำรัฐประหาร ที่มีทั้งสำเร็จบ้างล้มเหลวบ้าง ได้สะท้อนถึงอุดมการณ์ที่แตกต่างกันและผลประโยชน์ที่ไม่ลงรอยกันของกลุ่มอำนาจต่างๆ คณะราษฎรเองต้องเผชิญกับอุปสรรคทั้งภายในตนและภายนอกไปพร้อมกัน เรียกว่าแพ้บ้างชนะบ้าง ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด หลายคนในกบฏเสนาธิการแม้เคยอยู่ฝ่าย ปรีดีฯ มาก่อน แต่ที่พวกเขาคิดก่อการไม่ใช่เพื่อสนับสนุนปรีดีฯ (ในเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดมา หลังกบฏเสนาธิการ ปรีดีฯ เองพยายามกลับมาทำรัฐประหารซ้ำแต่ก็ไม่สำเร็จ เรียกในชื่อ กบฏวังหลวง) จึงกล่าวได้ว่ารัฐประหารเมื่อ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ คือบทสรุปการจบบทบาทลงอย่างไม่อาจฟื้นขึ้นได้อีกของคณะราษฎรนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ประชาชนในวันนี้แตกต่างมากแล้วจากประชาชนในครั้งนั้น เมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยที่คณะราษฎรได้หว่านไว้แม้จะถูกเหยียบย่ำทำลายครั้งแล้วครั้งเล่าแต่มันก็ยังไม่ตายและจะไม่ตาย กงล้อประวัติศาสตร์มนุษยชาติอาจสะดุดล้มลงไปบ้าง อาจถอยหลังไปบ้าง แต่ไม่มีสิ่งใดรั้งให้มันหยุดหรือถอยหลังตลอดไปได้ ไม่มีสิ่งใดรั้งไม่ให้มันเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ประวัติศาสตร์บอกเราไว้เช่นนั้น มันต้องเคลื่อนไปข้างหน้าเสมอ

ประชาธิปไตยและประชาชนมันสำคัญอะไรนักหรือ? ถ้าคุณไปถามพวกอภิชนคนชั้นสูง กระทั่งนักการเมืองบางคน คุณจะได้รับคำตอบในทำนอง : อย่าไปทำอะไรที่เป็นการทำให้สองสิ่งนั้นสำคัญมากนัก… (แต่ก็อย่าลืมท่องสองคำนั้นให้ติดปากไว้เป็นคาถาป้องกันตัว).  แน่นอน เพราะคนพวกนี้รู้ดีว่าทั้งสองสิ่งนั้น ซึ่งเป็นเหมือนสองด้านของเหรียญเดียวกัน เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณต่อพวกเขา พวกเขาเป็นคนกลุ่มน้อยก็จริงแต่มีผลประโยชน์มากมายที่ต้องปกปักรักษา พวกเขารู้ดีว่าการเป็นประชาธิปไตยคือการลดอำนาจของพวกเขาลงแต่ไปเพิ่มให้กับประชาชนแทน (มันเรื่องอะไร!)  ดังนั้นพวกเขาจึงต้องหาวิธีการเท่าที่จะหาได้ เช่น โฆษณาหลอกลวงสารพัดให้ประชาชนเชื่อให้ได้ว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งไม่ดีและเป็นอันตราย (ในมุมมองของพวกเขามันไม่ดีและเป็นอันตรายจริงๆนั่นแหละ!) และหากยังหยุดพลังอำนาจนั้นไม่ได้ พวกเขาก็ยังมีวิธีและมาตรการอื่นๆ อีกที่จะเอาออกมาใช้ พวกเขามี “อาวุธ” ครบครันอยู่ในมือ ทั้งไม้นวมและไม้แข็ง อย่างที่เราเคยได้เห็นกันมาแล้วหลายต่อหลายครั้งเมื่อประชาชนแสดงพลังอำนาจของตนออกมา มันยังคงเป็นเช่นนั้นจวบจนปัจจุบัน แต่มันจะเป็นเช่นนั้นตลอดไปได้แน่หรือ?

ประชาชนได้รับบทเรียนมามากพอที่จะไม่ยอมถูกดึงให้ย้อนกลับไปสู่ความอนารยะตลอดไปได้อีก ไม่มีใครหรือเทวดาหน้าไหนสามารถเสกความขัดแย้งให้หายไปจากโลกนี้ได้ มนุษย์จำต้องอยู่ร่วมกันในความขัดแย้งอย่างไม่อาจเลี่ยงได้ แต่สิ่งที่เลี่ยงได้คือความขัดแย้งอย่างอนารยะและแทนที่ด้วยวิธีอารยะ และประชาธิปไตยนั่นเองคือระบอบที่อารยะที่สุดแล้วเท่าที่มนุษย์ได้ทดสอบมา การเจรจากันย่อมดีกว่าใช้กระบองมารบรากันแน่นอน มันดีกับทุกฝ่าย เพราะที่สุดแล้ว สังคมคือการอยู่ร่วมและก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน

ในปฏิทินปีของเรา วันที่ ๒๔ มิถุนายน เคยเป็นวันชาติมาก่อนอยู่ช่วงเวลาหนึ่งก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นวันที่ ๕ ธันวาคม

ในปัจจุบันเราไม่มีวันสำคัญใดที่บ่งบอกว่าเราได้ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับของเราไม่มีฉบับใดเลยที่ไม่เขียนลงไปว่าเราเป็นรัฐประชาธิปไตยฯ และเช่นเดียวกัน ประชาชนก็ไม่ถูกนับว่าสำคัญเช่นกัน เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เป็นตัวอย่างอันดี เนื่องเพราะเป็นปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์การลุกฮือขึ้นของประชาชนที่ไม่มีครั้งใดเทียบเท่าจวบจนปัจจุบัน แต่จนวันนี้ก็ยังไม่มีวันสำคัญนี้อยู่ในปฏิทินปีของเรา

ไม่เพียงวันสำคัญที่ถูกทำให้ไม่สำคัญ หากเรายังเห็นได้ถึงเจตนาอื่นๆ อีก ที่คงสาธยายได้ไม่หมด ที่ไม่ต้องการให้ความสำคัญทั้งกับประชาธิปไตยและประชาชน

๘๗ ปีที่ล่วงผ่าน เรายังคงประกาศตนว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยและเราต้องเป็นประเทศปากว่าตาขยิบ มือถือสากปากถือศีล ขนาดไหนถึงสามารถพูดอย่างทำอย่างได้ทุกเมื่อเชื่อวันได้อย่างไม่ละอาย

สังคมจะเป็นสังคมไปไม่ได้ ประเทศจะเป็นประเทศไปไม่ได้ หากยังมีฝ่ายหนึ่งพยายามใช้อำนาจอย่าง อยุติธรรมกดขี่ข่มเหงฝ่ายอื่นๆ อยู่ ประวัติศาสตร์บอกเราเรื่อยมาไม่ใช่หรือว่าการพยายามอย่างฝืนเช่นนั้นไม่สามารถทำได้ตลอดไป.

 

ขอบคุณข้อมูลประกอบการเขียนจากหนังสือ แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่๒ (พ.ศ. ๒๔๙๑-๒๕๐๐) โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ.

ชนา ชุติสมิต (นามปากกา): เป็นประชาชน เป็นคนไทย เกิดที่นี่ อยู่ที่นี่ สำนึกในบุญคุณแผ่นดิน และไม่คิดจะไปตายที่อื่น.