นิทานการเมือง เรื่อง “เมื่อแรกอภิวัฒน์สยาม”

ผลงานผ่านการพิจารณาให้เผยแพร่ โครงการ “เขียนใหม่นายผี” รายการที่ 3

ประเภทนิทานการเมือง หัวข้อ “การปฏิวัติที่ห่าม 2019 edition”

โดย ขอม ตลุง

ปีพุทธศักราช 2675 สยามกลับมาเป็นสยามอีกครั้ง แต่มิใช่สยามอย่างที่เคยเป็นมาดังเก่าก่อน เป็นสยามใหม่สยามในฝันของใครหลายคนในหลายชั่วอายุคน ระบบการเมืองประชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ มีพลเมืองคุณภาพสิทธิเสรีภาพความเท่าเทียมเกิดขึ้นจริง ๆ อำนาจก็เป็นของประชาชนจริง ๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนบนแผ่นดินนี้ เศรษฐกิจมั่งคั่งมั่นคงและยั่งยืนจริง ๆ ใช่เพียงคำพูดพล่อย ๆ ที่หลอกตัวเองไปวัน ๆ แต่กว่าที่จะมาถึงวันนี้ได้เราผ่านอะไรกันมามากมาย จุดเปลี่ยนอย่างแท้จริงคือปี พ.ศ. 2562-2573 เหตุแห่งความเดือดดาลการปลุกเร้าและชนวนต่าง ๆ เกิดขึ้นในช่วงนั้นนั่นเอง หลายสิบปีกว่าจะคืนสยามให้เป็นสยามและพัฒนาขึ้นมาได้

แต่ปัญหาที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ในปัจจุบัน คือหลายสิบปีของการอภิวัฒน์สยาม กำลังหลักคือเยาวชนคนหนุ่มสาวที่มิยอมถูกอำนาจที่เป็นอธรรมครอบงำ การเสียสละเพื่อแผ้วถางมีจำนวนมากทำให้จำนวนประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่ออยู่ในยุคเข็ญมนุษย์ไม่นิยมทำหน้าที่การดำรงเผ่าพันธุ์ เมื่อทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอยแล้ว    พันธกิจสำคัญของรัฐบาลอีกประการหนึ่งคือ ส่งเสริมให้สร้างสรรค์ประชากรคุณภาพเพิ่มมากขึ้น เพื่อไม่ให้ประสบปัญหาดังในอดีตที่เคยเป็นมาการศึกษากระบวนการคิด และคุณธรรมจริยธรรมจึงถูกบูรณาการเป็นความรู้พื้นฐานอย่างเข้มข้นและจริงจัง เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้จริง

ประวัติศาสตร์คือรากฐานที่สำคัญช่วยยึดโยงเราให้เห็นความเป็นไปในบริบทนั้น ๆ  ยิ่งเกี่ยวกับเรื่องการอภิวัฒน์และชาติบ้านเมืองด้วยแล้วยิ่งต้องเรียนรู้ แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็ยังอาจถูกบิดเบือนได้ เรื่องมดเท็จหากถูกกล่าวถึงด้วยเสียงที่ดังต่อเนื่องและยาวนานวันหนึ่งอาจมีคนเชื่อว่าเป็นความจริง แม้แต่ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวไกลถึงขนาดที่สามารถย้อนอดีตไปเพื่อสึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ในสถานการณ์จริงได้แล้วแต่ก็ต้องผ่านการตีความ เพราะในสภาพความเป็นจริงนั้น ๆ มีรายละเอียดความปลีกย่อยมากมาย การพาเยาวชนทัศนศึกษาในรูปแบบคณะท่องเวลาจึงต้องมีภัณฑารักษ์ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูง และการเคารพกฎระเบียบการท่องเวลาสากลจึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด “ ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือในการสร้างพลเมืองโลก แต่ประวัติศาสตร์ที่ถูกสอนผิด ๆ เป็นเครื่องมือในการสร้างกำแพง แบ่งเขาแบ่งเรา ” รศ.อรรถพล อนันตวรกุล กล่าว ถึงจะผ่านเวลามากว่าศตวรรษแล้วก็ตาม คำกล่าวนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจในการส่งเสริมให้การศึกษาประวัติศาสตร์ในสยามจนถึงปัจจุบัน

ในสยามประเทศ มิวเซียมสยาม เป็นศูนย์ปฏิบัติการสำคัญที่ได้รับมอบหมายให้จัดการในด้านนี้ โดยเอกลักษณ์สำคัญของ การจัดการคณะท่องเวลาของมิวเซียมสยามนั้นคือ ไทม์แมชชีนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตนและยังผลิตขึ้นเองโดยชาวสยาม มีชื่อว่า “บัลลังก์” ด้วยรูปทรงได้รับแรงบัลดาลใจจาก บัลลังก์ประธานรัฐสภาโบราณอายุกว่า 196 ปี เคยใช้ในการประชุมรัฐสภาสมัย ปี 2475 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง และยุติการใช้งานไปในปี 2517 เมื่อย้ายการประชุมรัฐสภามาที่อาคารรัฐสภา ถนนอู่ทอง

และในปี 2562 ได้ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งในรัฐบาลเผด็จการ บัลลังก์ที่เคยใช้เลือก “ผู้นำประเทศ” ในอดีตสมัยการประชุมรัฐสภาในพระที่นั่งอนันตสมาคม ถูกใช้ในห้องประชุมรัฐสภาชั่วคราว ที่หอประชุมทีโอทีระหว่างรออาคารรัฐสภาแห่งใหม่แล้วเสร็จ ซึ่งในการโหวตเลือกประธานรัฐสภาในสมัยนั้นได้แก่ นายชวน หลีกภัย เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 และนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 สมัยที่ 2 ในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 (อย่างไม่ชอบธรรม)

ความอยุติธรรมหลายประการในขนะนั้น จึงเป็นแรงบันดาลใจและข้อคิดเกร็ดประวัติศาสตร์ที่ถูกสอดแทรกในการเรียนรู้เพื่อระลึกถึงความไม่น่าพิสมัยของอำนาจเผด็จการ

“เรียนท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ กระผมภัณฑารักษ์ชัย ประธานภัณฑารักษ์คณะนักท่องเวลา ผู้ดูแลควบคุม      ‘บัลลังก์’ ที่จะนำทุกท่านเดินทางไปในห้วงเวลาแห่งเรื่องราวที่ล้ำค่าแก่การเรียนรู้และจดจำของชาวสยาม……………….” ภัณฑารักษ์ผู้เฒ่าแนะนำตัวอธิบายความรู้อย่างชำนาญ แสดงถึงประสบการณ์และภูมิรู้ที่สั่งสมมาตลอดชีวิต “ก่อนอื่นผมอยากให้นักท่องเวลาในรอบนี้ทุกท่าน ห้อยการ์ดประจำตัวเพื่อป้องกันอันตรายจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดในการท่องเวลา ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยนี้จะช่วยดูแลท่านตลอดการเดินทาง และกฎเหล็กที่ท่านพึงปฏิบัติและระลึกไว้เสมอตลอดการเดินทางคือ ‘เป็นเพียงผู้เฝ้ามองอดีตแลอนาคตด้วยใจที่เป็นกลาง เพื่อเรียนรู้ แต่ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือพยายามแก้ไขสิ่งใด’ ซึ่งในวันนี้คณะของเราประกอบไปด้วย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 5 คน ได้แก่ เอก เต้ ช่อ ณต และเนเน่ ซึ่งนิทรรศการแห่งเวลาที่ท่านจะได้รับชมต่อไปนี้มีชื่อว่า          ‘เมื่อแรกอภิวัฒน์สยาม’ หากทุกท่านพร้อมแล้วเราจะออกเดินทางกันในอีก 5 4 3 2 1 บัลลังก์ GO………..”

วันนี้ภัณฑารักษ์ชัยนำคณะของเราท่องอดีตประชาธิปไตย ตั้งแต่เหตุการณ์ใกล้ที่สุดอย่างการอภิวัฒน์สยามไปถึงไกลสุดอย่างการปฏิวัติเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ระหว่างนั้นเราได้เห็นเหตุการณ์ การอภิวัฒน์สยามที่เป็นไปอย่างอยากลำบากและยาวนาน เหตุแห่งการอภิวัฒน์เกิดจากการจุดไม้ขีดก้านเดียว อย่างการที่ทหารตำรวจเข้าปรับทัศนคตินักเรียนที่ทำพานในงานไหว้ครูปี 2562 เสียดสีการเมือง การเคลื่อนไหวของนักสิทธิมนุษยชนและสำนักพิมพ์ ต่าง ๆ ที่ไม่ส่งหนังสือให้นายกในขณะนั้นแนะนำอย่างไม่รู้จริงและเบียดเบียนคนทำหนังสือที่ในขณะนั้นขายยากไม่เหมือนในสมัยนี้ ด้วยการขอฟรี ๆ

บักเต้เองก็ดูจะเดือดดาลมิใช่น้อยเพราะเอา Animal Farm หนังสือเล่มโปรดของมันมาพูดเสียหาย ผิดจากเนื้อความที่ผู้เขียนต้องการสื่อจริง ๆ และกลโกงของการเลือกนายก ปี 62 นี่เองที่ทำให้ เอก ช่อ เนเน่ หัวเราะชอบใจกับคำว่า “โจรห้าร้อย” “ณตเราถามหน่อยสิ ทำไมพวกผู้ชายถึงเรียกเต้ว่า ‘บักเต้’ ล่ะ” ช่อถามด้วยความสงสัยเพราะเราเรียก บักเต้ ๆ กันตลอดหลายวันมานี้ “ก็ไม่มีอะไรหรอกช่อ วันก่อนไปเล่นบ้านมันแม่มันเรียกบักเต้ แล้วแม่มันก็ไม่ได้เป็นคนอีสานอะไรหรอก เรียกตามกันเอาสนุกปากไปงั้น ฮ่า ๆ”

แต่ช่วงที่สะเทือนใจที่สุดทำให้เอกผู้แข็งแก่ง หรือเอกสายชนที่เพื่อน ๆ ตั้งให้ถึงกับน้ำตาไหลคือช่วง รัฐประหารปี 2557 ที่ประชาชนเอาดอกกุหลาบมาให้ทหาร และรัฐประหารปี 2549 ที่เอาน้ำเต้าหู้มาให้ ทุกคนสะเทือนใจมาก ที่ครั้งหนึ่งเพียงเพราะความเกลียดชังความเห็นต่าง ทำให้ผู้คนยินดีกับการใช้อำนาจเผด็จการได้ถึงขนาดนี้ ภัณฑารักษ์ชัยยังคงให้ความรู้พวกเราอย่างเต็มที่ตลอดการเดินทาง

จากนั้นคณะของเราเข้าสู่ช่วงการเรียกร้องต่าง ๆ ของประชาชนในอดีต อย่างเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬปี พ.ศ. 2535  6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ช่วงเวลาเหล่านี้สร้างแรงบัลดาลใจให้พวกเราทุกคน และที่สำคัญคือการได้เรียนรู้การถูกกดขี่ของอำนาจเผด็จการ ท้ายที่สุดของการเดินทางคือการปฏิวัติเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 เช้าตรู่เงียบสงัดยุคที่สยามยังไม่ขวักไขว่ด้วยผู้คนรถราตึกระฟ้ามากมาย เมื่อประมวลภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ นับแต่ปี 2475 ถึงปัจจุบันพวกเราเห็นแต่ความโหดร้าย การทำลายล้างการแย่งชิงแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ แต่ภาพที่เราประทับใจคือคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจนิยม เขาสู้เพื่อความถูกต้องไม้ขีดไฟก้านเล็ก ๆ เหล่านี้เองที่จุดประกายแห่งความถูกต้องและคอยให้ผู้คนมาเติมเชื้อไฟต่อไปโดยไม่มีวันดับสูญ

ขณะที่ภัณฑารักษ์ชัยกำลังอธิบายสรุปเพื่อปิดการชมนิทรรศการ ‘เมื่อแรกอภิวัฒน์สยาม’ และพาคณะกลับสู่โลกปัจจุบัน บัลลังก์เกิดการขัดข้องในอุโมงค์กาลเวลาทำให้ต้องหยุดแทรกไปในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หลังจากที่กลับออกมาจาก ปี 2475 ได้ไม่กี่วินาที “พอจะทราบหรือเปล่าครับ ภัณฑารักษ์ชัย ว่าเราอยู่ช่วงเวลาไหนกัน”

“ทราบครับ หนู ๆ ไม่ต้องเป็นห่วงครับ ระบบของเรามีความปลอดภัยเชื่อถือได้ ทีมช่วยเหลือกำลังมา ไม่แน่วันนี้เราอาจได้เห็นอะไรดี ๆ นอกเหนือจากแผนการเดินทางกันครับ เพราะวันนี้คงเป็นวัน กบฏเสนาธิการ หรือ กบฏนายพล ที่นายทหารระดับเสนาธิการของกองทัพ เช่น พลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิต และ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน เป็นหัวหน้าคณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง วางแผนที่จะเข้ายึดอำนาจการปกครอง และปรับปรุงกองทัพจากความเสื่อมโทรม และได้ให้ทหารเล่นการเมืองต่อไป แต่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทราบแผนการล่วงหน้าและทำการจับกุมผู้คิดก่อการได้”

ชั่วโมงสุดท้ายของคืนวันที่ 1 ตุลาคม 2491 คณะนักท่องเวลาของเรา อยู่บนทางเท้าติดกับท้องถนน อันมืดตื้อของพระนครหลวงแห่งกรุงสยาม

เสียงปืนกลยังคงยิงสนั่นอยู่ทางกระทรวงกลาโหม ทางนี้รถเกราะออกวิ่งโครมครามผ่านไปอย่างรวดเร็ว

ประตูทุกประตูปิด แต่หน้าต่างทุกหน้าต่างเปิดผางออกเกือบจะพร้อม ๆ กัน หน้าหลายหน้าเบียดเสียดกันออกมาทางหน้าต่างเหล่านั้น พวกเราคณะเดินทางเฝ้าสังเกตุการณ์จากมุมมืดของท้องถนน

แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นบ้านของตนไปเกิดในที่ไกล ทุกคนก็ถอนหายใจออกมาอย่างโล่งอกหน้าทุกคนชักกลับเข้าไป, หน้าต่างทุกบานปิด, มีเสียงซุบซิบกันอย่างน่าสงสัยเล็กน้อย, แล้วก็มีเสียงหัวเราะ มีเสียงคิกคักกัน, ไฟดับ, เขาช่วยกันสร้างชาติต่อไปอย่างไม่แยแส ! (เหตุแห่งการท่องเวลาเพื่อสร้างคนคุณภาพ)

แต่ … หน้าต่างบานหนึ่งยังไม่ปิด และหญิงชายคู่หนึ่งก็ยังนั่งอยู่ริมหน้าต่างนั้น ครั้งแรกสายตาทั้ง 2 คู่มองดูที่พื้นถนนอันมืดทึบ เขาถอนหายใจใหญ่ แล้วดวงตาทั้ง 4 ดวงก็แลดูขึ้นไปบนฟ้า

หญิงชายคู่นั้น ถอนหายใจใหญ่อีกครั้งหนึ่ง “เธอคิดว่าผลจะเป็นอย่างไร กุลิศ” หญิงสาวกล่าว  กุลิศ อินทุศักดิ์ คือชายผู้นั้น ส่วนเสียงแสนหวานเย็นชื่นระรื่นหู ที่ถูกฝากให้ลอยมากับสายลม เป็นเสียงของเธอ  ฟาติมะห์ คณะของเรานิ่งเงียบ และคอยสดับเรื่องราวที่ทั้งคู่ได้ร้อยเรียง เป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากปากคำจากประวัติศาสตร์ ฟังในเวลาจริงสถานการณ์จริง

ความคิดความเชื่ออุดมการณ์ ของทั้งคู่เราประจักษ์แล้ว และสิ่งนี้เองคงเป็นบทสรุปการเดินทางที่ยอดเยี่ยมในครั้งนี้ ว่าต้นทางแห่งประชาธิปไตยของสยามประเทศ กว่าที่จะได้รับการอภิวัฒน์ให้สมบูรณ์แข็งแรงอย่างในยุคสมัยที่พวกเราเติบโต และใช้ชีวิตได้อย่างสุขสงบสวยงามนั้น ต้องแลกมาด้วยความยากลำบากและความเสียสละของคนในรุ่นก่อน ๆ ที่เบิกทางมาอย่างยาวนานถึง  200 ปี แห่งการก่อสร้างและต่อสู้ อาจมีความพ่ายแพ้มากมาย บางเวลาถูกตรึงให้อยู่กับที่ และค่อย ๆ ถูกกระชากลากถูให้กลับไปเป็นอย่างเดิมด้วยอำนาจเผด็จการ แต่ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่เพียงครั้งเดียวก็เกินพอ เพราะหากเกิดสำนึกแห่งความถูกต้องผสมผสานกับปัญญา และความกล้าหาญแล้วไซร้ ชัยชนะย่อมบังเกิดแก่หมู่ชนที่เห็นชอบ

เวลาล่วงเลยมาสมควรแก่การที่เราจะกลับได้แล้ว เพราะบัดนี้ทีมช่วยเหลือได้มาถึงและพร้อมที่จะออกเดินทาง ภัณฑารักษ์ชัยส่งสัญญาณเตือนพวกเราทุกคน บทสนทนาของ กุลิศ และ ฟาติมะห์ ก็คงสมควรแก่เวลาแล้วเช่นกัน ผมจึงตั้งใจฟังส่วนนี้เป็นพิเศษ และเชื่อว่าเอก ช่อ บักเต้ และเนเน่ก็คงจดจ่อยู่เช่นเดียวกัน

“แต่กุลิศ” หญิงสาวกล่าว “กุหลาบซึ่งออกดอกสีแดงงามนักนั้นย่อมเป็นผลแต่การรดด้วยน้ำล้างปลาอันก่ำไปด้วยเลือดปลามิใช่หรือ ?”

“ฟาตีมะห์, การปฏิวัติที่ห่ามนั้น จะผิดหรือถูกอย่างไรก็ตามที แต่ก็เป็นน้ำล้างปลาหยดหนึ่งเหมือนกัน !”

ถ้อยสนทนาของทั้งคู่นั้นเร้าอารมณ์ผมเหลือเกิน ผมแหงนหน้าขึ้นไปด้านบน แล้วตะโกนสุดเสียง

“ถูกต้องแล้วครับที่คุณทั้งสองพูดคุยกันมานี้ผมเห็นด้วย จงเชื่อมั่นในความถูกต้องเถิด เพราะเส้นทางสายนี้ยังอีกยาวไกลนัก ถึงจะไม่เห็นชัยชนะในชั่วชีวิตคุณ หรือชั่วชีวิตของอีกหลาย ๆ คน ก็อย่าท้อถอยครับเมื่อไฟถูกจุดขึ้นแล้วจักมีคนเติมเชื่อไฟให้เสมอ เชื่อมั่นศรัทธากล้าหาญและอดทน ผมคนหนึ่งที่จักสู้ต่อไป” เอก บักเต้ ช่อ และเนเน่ก็ตะโกนออกมาพร้อมกันว่า “พวกเราด้วย”

ภัณฑารักษ์ชัย และทุกคนในคณะนักท่องเวลาตื่นตลึง แต่ก็ไม่มีใครที่พยายามจะหยุดยั้งผม ถึงผมจะทำผิดกฎสำคัญของการท่องเวลา คือ “เป็นเพียงผู้เฝ้ามองอดีตแลอณาคตด้วยใจที่เป็นกลาง เพื่อเรียนรู้ แต่ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือพยายามแก้ไขสิ่งใด” ผมเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้อง และคำพูดผมที่เป็นเพียงกำลังใจคงไม่สามารถเปลี่ยนประวัติศาสตร์ได้มากมายอะไรนัก ที่สำคัญกว่านั้นคือความอัดอั้นของทั้งวันนี้ถูกปลดปล่อยไปสิ้นแล้ว

ขณะที่ภัณฑารักษ์ชัยสั่งให้บัลลังก์เริ่มทำงาน เพื่อนำพวกเรากลับสู่โลกปัจจุบัน อุโมงค์กาลเวลาเปิดขึ้นแล้วบัลลังก์กำลังเคลื่อนตัวผ่านเข้าไป ผมหันกลับไปมองด้านหลังชำเลืองไปทางด้านบน ที่ชั้นสองหน้าต่างและไฟยังเปิดอยู่ ด้วยหางตาเพียงแว้บเดียวเท่านั้น เท่านั้นจริง ๆ กุลิศ และฟาติมะห์ชะโงกหน้าลงมามอง ตาทั้ง 2 คู่จับจ้องมาที่คณะของเรา ทั้งคู่อ้าปากค้างผมโบกมือให้ แต่ไม่ทราบว่าจะทันเห็นกันหรือเปล่า

 

ขอม ตลุง” นายประณต พลประสิทธิ์ ปัจจุบันศึกษา ชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

คำกล่าวของ รศ.อรรถพล อนันตวรกุล “ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือในการสร้างพลเมืองโลก แต่ประวัติศาสตร์ที่ถูกสอนผิด ๆ เป็นเครื่องมือในการสร้างกำแพง แบ่งเขาแบ่งเรา” ผมเติบโตมาในระบบการศึกษาที่มีอยู่อย่างจำกัดและถูกวางยา ทำให้เราถูกฝังหัวด้วยวาทกรรมมายาคติต่าง ๆ มากมาย สภาพสังคมที่ขัดแย้งทางความคิดความเชื่อและอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้คนในยุคสมัยที่ผมเติบโตเข่นฆ่ากันมากมาย ครอบครัวที่พ่อแดงแม่เหลียง การทะเลาะเบาะแว้งบนโต๊ะอาหารผมพอแล้วกับเรื่องอย่างนี้ ในฐานะนักการศึกษาผมเชื่อว่าเราเปลี่ยนแปลงมันได้เพียงต้องใช้ความเชื่อมั่นศรัทธากล้าหาญและอดทน สักวันคงเห็นสังคมที่ดี