บทความ เรื่อง “การปฏิวัติที่ห่ามสำหรับฝ่ายก้าวหน้าที่ไม่มีความเจนจัดและไม่มีอำนาจ”

ผลงานผ่านการพิจารณาให้เผยแพร่ โครงการ “เขียนใหม่นายผี” รายการที่ 3

ประเภทบทความ หัวข้อ “การปฏิวัติที่ห่าม 2019 edition”

โดย จิราวุฒิ จิตจักร

 

นิทานการเมืองเรื่องการปฏิวัติที่ห่าม เป็นการบันทึกเหตุการณ์การรัฐประหารซ้อนในวันที่  1 ตุลาคม พ.ศ. 2491 หรือที่เรียกว่ากบฏเสนาธิการ พร้อมๆกับอธิบายความแตกต่างระหว่างรัฐประหารกับปฏิวัติ ผ่านการสนทนาระหว่างตัวละครสมมติที่ชื่อกุลิศ และฟาตีมะห์ เพื่อนหญิงของเขา เพื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วจะพบว่างานเขียนของนายผีนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงของสังคมไทยที่ดำเนินไปเมื่อการปฏิวัติ/รัฐประหารเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการที่ประชาชนไม่สนใจความเป็นไปของบ้านเมือง ประเด็นการสร้างข่าวลือ ข้อแตกต่างระหว่างการปฏิวัติและการรัฐประหาร และเมื่อพิจารณาให้ถี่ถ้วนขึ้นไปอีกก็จะพบกับแก่นแท้ของนายผี (อย่างน้อยก็ในขณะที่นายผีเขียนนิทานเรื่องนี้) ไม่ว่าจะเป็น ผู้ที่ใช้อุปลักษณ์ (metaphor) อย่างแยบยล และการเป็นฝ่ายก้าวหน้าที่ไม่มีความเจนจัดและอำนาจ

นายผีคือใคร ใครคือนายผี ในวันนี้

คงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าสลดเป็นอย่างยิ่ง หากว่าจะเขียนงานวิจารณ์โดยไม่ได้กล่าวถึงผู้เขียนงานชิ้นนั้นเลย ดังนั้นเพื่อเป็นการรู้ให้แจ้งเห็นให้จริงมาขึ้น จึงขอกล่าวถึงนายผีโดยย่อดังต่อไปนี้ นายผีเป็นนามปากกาของ อัศนี พลจันทร์ เขาเกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2461 หลังจากที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้ารับราชการกรมอัยการ แต่ด้วยความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ทำให้เขาต้องถูกกลั่นแกล้งอยู่บ่อยครั้ง ต่อมานายผีลาออกจากราชการเพื่อเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในปลายปี 2495 และเสียชีวิตขณะลี้ภัยในประเทศลาว เมื่อปี 2530 งานเขียนของนายผีมีทั้งบทกวี เรื่องสั้น งานแปล บทวิจารณ์วรรณคดี บทความทางการเมือง ฯลฯ เขาใช้นามปากกาในหลากหลายชื่อ เช่น อัศนี อินทรายุธ สายฟ้า ฯลฯ แต่ที่รู้จักอย่างแพร่หลายก็คือ นายผี ซึ่งหมายถึงนายของผี/เจ้านายของผี/ปีศาสบดี/พระศิวะ นั่นเอง ในระหว่างมีชีวิตนายผีเป็นนักเขียน นักวิจารณ์ นักประพันธ์ที่มีความสำคัญต่อวรรณกรรมไทยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากนายผีเองเป็นนักเขียนช่วงเวลาเดียวกับนักเขียนหัวก้าวหน้าหลายคน เช่น ศรีบูรพา, เสนีย์ เสาวพงศ์, จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งนักเขียนเหล่านี้ต่างพร้อมใจกันลุกขึ้นมาตั้งคำถามและตรวจสอบความเป็นไปของสังคมไทย ผ่านวรรณกรรมอย่างเอาจริงเอาจัง ดังที่เห็นได้จาก “นิทานการเมือง เรื่องการปฏิวัติที่ห่าม” ที่จะอธิบายดังต่อไปนี้

ใช่อยู่ที่ ประชาชน กระนั้นหรือ 

ประเด็นแรกที่นายผีพยายามแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ของการรัฐประหารก็คือ การไม่สนใจการเมืองของประชาชนไทย เพียงชำเลืองดูห่างๆแบบไทยมุง แต่เมื่อตนเองไม่เดือดไม่ร้อน ประชาชนไทยก็จะปิดหูปิดตาไม่รับรู้ใดทั้งสิ้น อุปมาดั่งเจ้าเบนจามิน ในนิยาย Animal Farm ก็ไม่ปาน ดังจะเห็นได้จากข้อความที่ว่า

“เสียงปืนกลยังคงยิงสนั่นอยู่ทางกระทรวงกลาโหม ประตูทุกบ้านปิด แต่หน้าต่างทุกบ้านเปิดออกมาพร้อมๆกัน… แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นบ้านของตนไปเกิดที่ไกล หน้าทุกหน้าชักกลับเข้าไป หน้าต่างทุกบานปิด ไฟดับ เขาช่วยกันสร้างชาติอย่างไม่แยแส” (น. 82)

เมื่อย้อนกลับมาดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย หลังจากที่นายผีเขียนนิทานเรื่องนี้แล้วก็จะพบว่า เกือบทุกครั้งหลังรัฐประหาร/ก่อกบฏ ชาวสยามเมืองยิ้มก็ไม่ได้ยี่หระต่อการปล้นสิทธิทางการเมืองของตนเอง แม้แต่การปฏิวัติเมื่อปี พ.ศ. 2475 ก็มีเพียงผู้ก่อการ ผู้ถูกโค่นอำนาจ และทหารซึ่งถูกหลอกมาเท่านั้นที่ร่วมเป็นสักขีพยาน เรื่องที่น่าเศร้าสลดคือรัฐประหารสองครั้งหลังสุดกลับมีประชาชนจำนวนไม่น้อยให้ดอกไม้แก่ทหาร ทั้งที่เวลาผ่านไปแล้วหลายสิบปี แต่นายผีก็สามารถมองเห็นแก่นแท้ของคนไทยได้อยู่สงทะลุปรุโปร่ง อาจกล่าวได้ว่านายผีก็เป็นผู้ที่มาก่อนกาลคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเรียกร้องให้คนไทยออกมามีส่วนร่วมกับการเมืองมากแค่ไหน คนไทยก็ดูจะไม่สนใจใคร่รู้เรื่องใดๆทั้งสิ้น ดังข้อความที่ว่า “ก็ไม่สดุ้งสะเทือน ไม่หวั่นไหวและไม่รู้เรื่อง เหมือนควายเคี้ยวเอื้องอยู่กลางปลักอันโสโครกอย่างไม่ระคายตัว” (น. 83) คำถามที่น่าสนใจคือการที่ประชาชนไม่สนใจการเมืองเช่นนี้เป็นเพราะนิสัยแต่ดั่งแต่เดิมที่ไม่ใยดีเรื่องบ้านเมืองของคนไทย หรือการที่ถูกชนชั้นปกครองปลูกหญ้าเลี้ยงดูให้อยู่สุขสบาย ใช่อยู่ที่ประชาชาชนจริงๆกระนั้นหรือ เพราะครั้งหลังก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งหลังสุด  บางทีอาจหาคำตอบได้จากหัวข้อถัดๆไป

หรืออาจเพราะ ที่เขาเรียก ว่าข่าวลือ

ประเด็นต่อมาที่นายผีตั้งข้อสังเกตเมื่อมีการปฏิวัติ/รัฐประหารคือ ก่อนหน้านั้นจะมีการสร้างข่าวลือ การใส่ร้ายป้ายสี การสร้างภัยคุมคาม เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ก่อการ ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนในช่วงก่อนปี 2475, การให้คนไปตะโกนในโรงหนัง, กล่าวหาว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์, มีทุจริตคอรัปชั่น, มีพวกล้มล้างสถาบันหลักของชาติ, บ้านเมืองจะกลับไปขัดแย้งอีก, และนักศึกษาถูกนักการเมืองจ้างมา นายผีเปรียบข่าวลือ/ข้ออ้างเหล่านั้นว่าเป็นเมืองควันที่จะรมให้ประชาชนเชื่อ ดังจะเห็นได้จากข้อความที่ว่า

“ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ควันเรื่องการต่อต้านบ้าง การก่อวินาศกรรมบ้าง ได้พลุ่งขึ้นอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่งในพระนครนี้ ควันเหล่านี้เป็นควันร้าย เพื่อบลัฟประชาชนตั้งสงบอยู่อย่างไม่แยแสต่อเหตุการณ์ ยุให้ประชาชนกระวนกระวายรำคาญ” (น. 84)

ใช่ข่าวลือและภัยคุกคามเหล่านี้หรือไม่ที่ทำให้ประชาชนไทยไม่ออกมาข้องแวะการปฏิวัติ/รัฐประหาร หรือแม้กระทั่งไม่ออกมาทวงถามสิทธิอื่นๆอันชอบธรรมของตนเอง ด้วยเกรงจะถูกกล่าวจากข่าวลือ/ข้ออ้างที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา

นอกจากนี้สิ่งที่น่าสนใจคือ นายผียังสังเกตเห็นผลเสียของการสร้างภัยคุมคาม/ข่าวลือที่จะกระทบต่อผู้ที่สร้างเรื่องเหล่านั้นเสียเอง ดังข้อความที่ว่า

“ควันร้ายต่างๆ ซึ่งพลุ่งขึ้นรมแต่ประชาชนไม่สำลัก ก็ย้อนกลับไปในรูจมูกของผู้ก่อควันเอง เขาสำละแล้วก็คิดจำกัดควัน แต่ไม่กำจัดไปจากตัวเขา กลับหันไม่กำจัดจากทางอื่น ด้วยเหตุนี้สปายต่างๆ ก็ออกเที่ยวซอกซอนดมกลิ่นผู้ก่อการร้าย… สปายพวกนี้ก็สะกดรอยเจอแต่ตีนตัวเอง”

สะท้อนให้เห็นถึงระบบวิธีคิดของชนชั้นปกครองในสังคมไทย และผลกระทบของมันได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการที่สร้างภาพชาวพม่า กัมพูชา เวียดนาม เป็นผู้ร้ายในทางประวัติศาสตร์ จนเป็นปัญหาในเวทีระหว่างประเทศ การผลักใสไล่ส่งหัวก้าวหน้า/ปัญญาชนว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนพวกเขาต้องเข้าป่าไปในที่สุด การใส่ร้ายคู่แข่งทางการเมืองว่าจะล้มล้างสถาบันเบื้องสูง แต่ก็อย่างที่เราทราบกันว่าก็เป็นชนชั้นนำเอง ที่ปล่อยควันเหล่านั้นออกมา ท้ายที่สุดก็เป็นชนชั้นนำเองที่ต้องดับควันนั้นเพราะตกสำลักเอง ไม่ว่าจะเป็น การออกคำสั่ง 66/23 เพราะประเทศต้องใช้ปัญญาชนเหล่านี้ในการขับเคลื่อน ลำพังปัญญาของชนชั้นปกครองไม่เพียงพอต่อโลกที่เปลี่ยนไป การที่ต้องปลูกฝัง และรณรงค์เรื่องให้เยาวชนใส่ใจ ASEAN เพราะชนชั้นปกครองต้องการขยายธุรกิจไปในประเทศเหล่านั้น คงเหลือแต่เพียงเรื่องเกี่ยวกับสถาบันเบื้องสูงเท่านั้นที่ชนชั้นปกครองยังไม่รู้ตัวว่าตีนที่เจอนั้นเป็นตีนของตัวเอง  อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าตั้งคำถามว่าควันนั้นก็มีหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นควันที่เกิดจากก้านธูป ควันที่เกิดจากกัญชา ควันที่เกิดจากสมุนไพรโบราณราชประเพณี ควันที่เกิดจากสารเคมีจากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ควันแต่ละแบบส่งผลกระทบอย่างไรต่อพฤติกรรมของประชาชนไทย ???

ต้องลุกฮือ จึงจะเป็น ที่ต้องการ

ประเด็นใจกลางของนิทานการเมืองชิ้นนี้ก็คือ การอธิบายว่าการปฏิวัติ/รัฐประหารในคืนวันที่ วันที่  1 ตุลาคม พ.ศ. 2491 ว่า “เป็นการปฏิวัติที่ห่าม หรือแท้ง หรือยังไม่ถึงที่ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนโดยทั่วๆไป อย่างพร้อมเพรียง” (น. 87) กระนั้น สำหรับนายผีแล้ว แม้ว่าการปฏิวัติ/รัฐประหารครั้งอื่นๆจะมีประชาชนสนับสนุน มาให้ดอกไว้ มีคนสรรเสริญหลังจากกระทำ มีการแต่งเพลง ก็ไม่อาจนับได้ว่าเป็นการปฏิวัติ เพราะ

“การขับไล่รัฐบาลเก่าไป และขึ้นเป็นรัฐบาลใหม่ได้ แต่เท่านั้นหาได้หมายความว่าทำรัฐประหารสำเร็จไม่ รัฐบาลใหม่จะกี่รัฐบาลก็ตาม ยังไม่ได้แสดงสัญลักษณ์แห่งการปฏิบัติการทางการเมืองเลยว่าได้สำเร็จหรือไม่ เธอเห็นหรือเปล่าว่าประชาชนสนับสนุน” (น. 87)

“เมื่อการรัฐประหารยังไม่สำเร็จดังนี้ ฉันจึงไม่เรียกการปฏิบัติการในคืนนี้ของอีกฝ่ายว่าเป็นการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ฉันพอใจเรียกว่าการจลาจล… ส่วนการปฏิวัติที่สุกงอม อันเป็นการปฏิวัติของประชาชนนั้นย่อมต้องมีแน่ การปฏิวัติเมื่อปี 2475 คณะราษฎรทำได้เพียงปฏิวัติระบอบการปกครองนิดหน่อย ส่วนระบอบสังคมและเศรษฐกิจยังหาได้ทำการปฏิวัติไม่ ไม่มีแม้แต่การปฏิวัติศาลยุติธรรม และการศึกษา” (น. 88)

เมื่อนำองค์ประกอบที่นายผีต้องการ ก็จะพบเงื่อนไขที่ทำให้การปฏิวัติสมบูรณ์อันประกอบไปด้วย 1. ไม่ใช่แค่เปลี่ยนรัฐบาล แต่ต้องประกาศ/แสดงสัญลักษณ์/มีรัฐนาฏกรรม ให้ประชาชนเห็นเสียก่อนว่าอำนาจนั้นได้ถ่ายโอนไปแล้ว 2. ต้องมีประชาชนสนับสนุน 3. ต้องมีการเปลี่ยนระบอบสังคม เศรษฐกิจ ระบบยุติธรรม การศึกษา และเรื่องอื่นๆที่นายผีไม่ได้บอกเรา การปฏิวัติสำหรับนายผีจึงจะไม่ห่าม

เมื่อเรานำเงื่อนไขที่จะทำให้การปฏิวัติสมบูรณ์ของนายผี มาปรับใช้ในการอธิบายประวัติศาสตร์ ก็จะพบสิ่งที่น่าสนใจคือ เหตุการณ์สำคัญๆในทางประวัติศาสตร์ จะผิดแปลกประหลาดไปอย่างอักโข หรือไม่ก็อาจนำเข้าไปสู่ภวังค์ของความโหดร้ายรุนแรง หรือไม่ก็เห็นความเป็นอกาลิโกของแนวคิดนายผี  ความผิดแปลกประหลาดที่เราจะเห็นคือ การปฏิวัติ/รัฐประหารก็จะถูกลดความสำคัญลง เหลือเพียงคำว่า ‘การก่อจลาจล’ การก่อจลาจล ของคณะราษฎร เมื่อ 2475, การก่อจลาจลของนิสิตนักศึกษา เมื่อวันที่ 14 ตุลา 2516, การก่อจลาจลของประชาชน เมื่อเดือน พฤษภา 2535,  ฯลฯ แต่ก็อาจนับว่าวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมานั้น เป็นการปฏิวัติได้ เพราะ มีการแสดงสัญลักษณ์แห่งการปฏิวัติผ่านการออกโทรทัศน์ มีประชาชนสนับสนุนอย่างล้นหลาม มีการเปลี่ยนระบอบเศรษฐกิจจากเสรีเป็นผูกขาดผ่านนโยบายรัฐ ระบบยุติธรรมก็อย่างที่เราเห็น สังคมถูกปลกคุมด้วยความกลัวและการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ฯลฯ หากตีความแบบเคร่งครัดกว่านั้นไปอีก ก็เห็นเค้าลางของความน่าสะพรึงกลัวและความรุนแรงอยู่มาก เพราะการปฏิวัติที่ใช้เงื่อนไขแบบนี้ เป็นไปได้ว่าเกิดขึ้นจริงบนโลก เช่น การปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน การปฏิวัติของเขมรแดง  ซึ่งครบองค์ประกอบโครงสร้างการปฏิวัติของนายผี เหตุการณ์ทั้งสองนั้นนำมาซึ่งความรุนแรง ความโหดร้าย ซึ่งกระทำโดยฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าหัวก้าวหน้านั่งเอง ถ้าหากเราตีความอีกลักษณะหนึ่ง เป็นไปได้หรือไม่ว่า ในระบอบประชาธิปไตยตามปกติ ก็มีการปฏิวัติ เพียงแต่เป็นการปฏิวัติในระบบ นั่นคือ การเปลี่ยนถ่ายอำนาจกระทำผ่านรัฐนาฏกรรมที่เรียกว่า การถวายสัตย์ของคณะรัฐมนตรี แน่นอนผู้ชนะการเลือกตั้งย่อมต้องมีผู้สนับสนุน มีการเปลี่ยนระบอบสังคม/เศรษฐกิจ/การศึกษาในระบบ เช่น เสรีที่จะไม่นับถือศาสนา การให้สิทธิแก่สัตว์  การมีระบบประกันสุขภาพ การที่เปิดโอกาสให้ประชาชนออกแบบระบบการศึกษาของลูกหลานเอง ฯลฯ เหล่านี้ก็ล้วนเป็นการปฏิวัติเล็กๆ แต่ก็ทำให้ประเทศน่าอยู่ขึ้นด้วยมือของประชาชน การปฏิวัติในระบอบประชาธิปไตยจึงไม่มีทางที่จะห่ามเลย

นายผีในนิทานการเมือง

เป็นที่น่าตั้งคำถามว่านิทานการเมืองเรื่องนี้สะท้อนตัวตนของนายผีอย่างไรบ้าง  สำหรับตัวตนของนายผีที่พอจะเห็นได้ในนิทานเรื่องนี้คือ เป็นผู้ใช้อุปลักษณ์ (metaphor) ได้อย่างแยบยล ดังจะเห็นได้จากการเปรียบเทียบ ประชาชนที่ไม่สนใจ เป็นควายในโคลนตม การเปลี่ยนเทียบข่าวลือ/ข้ออ้าง เป็นควันที่จะให้ผู้ปล่อยสำลัก การเปรียบเทียบการปฏิวัติที่ห่ามว่าเป็นเพียงการก่อจลาจล ดังที่กล่าวมาแล้ว นอกจากนี้อุปลักษณ์ที่เราคาดไม่ถึงก็คือ หมายเหตุจากบรรณาธิการต้นฉบับ ที่มีการตีพิมพ์สองตอน หากว่าเป็นการเข้าใจผิดก็แล้วไป แต่ถ้าเป็นการใช้อุปลักษณ์อย่างหนึ่ง ก็ดูน่าฉงนสนเท่ห์ทีเดียว การบันทึกไปได้เพียงครึ่งๆกลางๆ แล้วมีคนเข้าใจผิด นำไปลงตีพิมพ์ ก็จำเป็นที่จะต้องแก้ไขข้อบกพร่องตามมา เช่นเดียวกันกับการปฏิวัติที่ห่าม มักจะต้องให้คนรุ่นหลังๆมาแก้ไขอยู่เสมอ

ตัวตนนายผีที่พบอีกคือการเป็นฝ่ายก้าวหน้าที่ไม่มีความเจนจัด และไม่มีอำนาจ แม้ว่านายผีจะมีความรู้ ตามทันข่าวรอบด้าน ดังหลายข้อความที่กล่าวขึ้นไม่ว่าจะเป็นการทำนายอนาคตของการก่อรัฐประหารคืนนั้นเอง  การอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ การมองแก่นแท้ของชนชั้นนำและประชาชนไทยอย่างทะลุปรุโปร่ง แต่กระนั้นนายผีก็ยังไม่มีความเจนจัดในเรื่องการเล่นการเมือง ดังข้อความที่ว่า “เดือนแลตะวันนั้นยังบางทียังมีโอกาสพบกันได้ในท้องฟ้า แต่ฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาไม่มีวันจะได้พบกันเลย” (น. 89) นายผีคงลืมเหตุการณ์ที่ อ.ปรีดีของนายผีร่วมมือกับฝ่ายเจ้า ทั้งในปฏิวัติการเสรีไทย และการร่างรัฐธรรมนูญ 2489 ซึ่งมี คึกฤทธิ์ เป็นคนช่วยร่างกระมัง นอกจากนี้ยังมีลักษณะเป็นเหมือนฝ่ายซ้ายในปัจจุบัน ที่ปรารถนาแต่เพียงให้ตนเองสำเร็จความใคร่ทางเสรีภาพเท่านั้น เมื่อคนอื่นเห็นไม่ตรงกับตนก็จะมองว่าเป็นศักดินา ฝ่ายขวา พวกอำนาจนิยม ดังจะเห็นได้จากข้อความที่ว่า

“ฟาตีมะห์ เธอยังเขลาไปถนัด… มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองเต็มไปด้วยอุปสรรคของประชาธิปไตย การเคลื่อนไหวของนักศึกษาได้รับการขัดคอและขัดขาจากพวกเกะดำ ซึ่งบังเอิญว่ามีอำนาจในวงการบริหารของ ม.ธ.ก.” (น.90)

ส่วนแรกเป็นการดูถูกดูแคลนคนอื่นว่าโง่เขลาเบาปัญหา ด้วยเหตุนี้กระมังที่นายผีอุปมาประชาชนว่าเป็นควาย หลงลมไปว่าไม่มีใครโง่หรือฉลาดเกินไปสำหรับการตัดสินใจทางการเมือง ส่วนหลังนั้นเป็นการเห็นแก่ตัว มองเฉพาะผลประโยน์ของตนเอง การที่ผู้บริหาร ม.ธ.ก. ขัดขวางบางทีก็อาจเพราะมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ไม่กี่แห่งที่ประชาชนในขณะนั้นพึ่งได้ จึงต้องรักษาไว้ มิเช่นนั้นจะแสดงออกทางเสรีภาพที่ไหน ซึ่งนายผีและฝ่ายก้าวหน้าก็ได้ประสบเองเมื่อ 6 ตุลาคม 2519

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงออกจากเสรีภาพในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ปฏิเสธไม่ได้ว่าธรรมศาสตร์มีฝ่ายก้าวหน้าที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นยุคของนายผีอยู่หรือยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องที่สมควรหากจะให้เสรีภาพแก่พวกเขาเหล่านั้น เพราะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือดินแดนแห่งเสรีภาพ แต่ความจริงอีกด้านก็คือในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองก็มีคนที่ต้องการรักษาโลกใบนี้ด้วย สิ่งที่ต้องคำนึงก็คือเสรีภาพไม่ได้เป็นของฝ่ายก้าวหน้าเท่านั้น แต่เป็นของคนทุกคน รวมถึงคนที่ฝ่ายก้าวหน้ามองว่าอำนาจนิยม  หากเสรีภาพจะมีความหมายอยู่บ้าง มันคือการให้โอกาสคนได้คิดได้พูด ให้คนอื่นที่ไม่ได้อยากฟัง “ได้ฟัง” ซึ่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือเป็นพื้นที่ที่ผู้คนที่หลากหลาย และต่างความคิด ต่างรสนิยม ได้มาปะทะแลกเปลี่ยนความคิดกันอย่างอิสระ และเท่าเทียม คำถามที่น่าสนใจคือหากว่าจะทำหารปฏิวัติหรือสร้างสภาพแวดล้อมให้การเกิดการสุกงอม เราควรสร้างพื้นที่เหล่านี้และขยายมันออกไปให้กว้างที่สุดใช่หรือไม่ หากใช่เราจะฟังเรื่องที่เราไม่อยากฟังจากคนที่ไม่อยากจะอยู่ในโลกอีกแบบหนึ่งอย่างไร  ฝ่ายก้าวหน้าและฝ่ายอำนาจนิยมในปัจจุบันได้คำนึงถึงบ้างหรือไม่ หากไม่การออกมาเรียกร้อง ประท้วงรัฐบาล การรัฐประหารซ้อน ก็อาจจะเป็นการปฏิวัติที่ห่าม 2019 ก็เป็นได้

 

จิราวุฒิ จิตจักร / อาชีพหลัก อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง เพื่อให้มีงานเขียนอีกชิ้นเพื่อให้คนอื่นอ่าน  วิจารณ์กลับ  จากนั้นก็อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลงอีกรอบ เพื่อเขียนงานอีกชิ้น / อาชีพรอง ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีสุดท้าย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / งานอดิเรก นอกเหนือจากอาชีพหลักแล้ว ก็พบปะพูดคุยกับเพื่อนฝูงบ้าง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องต่างๆกับคนอื่นๆบ้าง ท่องเที่ยวบ้าง ประท้วงรัฐบาลบ้าง ตามวาระและโอกาสเอื้ออำนวย