บทความ เรื่อง การละเมิดอำนาจศาล

ผลงานผ่านการคัดเลือก โครงการ “เขียนใหม่นายผี” รายการที่ 4

ประเภทผู้ศึกษาหรือประกอบอาชีพทางกฎหมาย เรื่อง “การละเมิดอำนาจศาล”

โดย จิระวัฒน์ ลีละวาณิชย์

กฎหมายว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาลถือเป็นกฎหมายเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณ ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบ Common Law อย่างประเทศอังกฤษนั้นมีการปรากฏวลี “contemptus curiae” ขึ้นในศตวรรษที่ 12 ซึ่งวลีดังกล่าวมีความหมายตรงกับคำว่า “contempt of court” ที่หมายถึงการละเมิดอำนาจศาล ซึ่งเหตุผลแห่งการมีอยู่ของกฎหมายว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาลนั้น ก็เพื่อทำให้การบริหารงานยุติธรรมของศาลเป็นไปโดยความเรียบร้อย ลงโทษผู้ละเมิดอำนาจศาลเพื่อให้ศาลมีความน่าเชื่อถือ และเพื่อป้องกันมิให้ผู้พิพากษาที่ปฏิบัติหน้าที่ถูกล่วงละเมิดหรือถูกชี้นำทำให้เกิดอคติจากการรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่างๆ และรักษาไว้ซึ่งความเป็นกลางของผู้พิพากษา แต่อย่างไรก็ตาม การสงวนไว้ซึ่งสิทธิในการปกป้องอำนาจศาลนั้นจะต้องไม่เกินขอบเขตจนถึงขนาดว่าไม่สามารถกล่าวถึงได้เลย อันเป็นการปิดกั้นสิทธิในการแสดงออกทางความคิด (Freedom of Expression) ของพลเมือง ดังนั้น ข้อเขียนชิ้นนี้มีความพยายามที่จะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการดำรงอยู่ของกฎหมายว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาล และในขณะเดียวกันก็บ่งชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของการใช้อำนาจของศาลในการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาล ทั้งยังเสนอแนวทางในการถ่วงดุลระหว่างการรักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของศาลยุติธรรมกับการคุ้มครองสิทธิในการแสดงออกทางความคิดของประชาชน อาทิเช่น ข้อเสนอในการตีความนิยามคำว่าละเมิดอำนาจศาลในกรณีที่มีโทษอาญาให้มีความชัดเจนมากขึ้นโดยเทียบกับกรณีกฎหมายละเมิดอำนาจศาลของประเทศสหราชอาณาจักร และเสนอให้องค์คณะผู้พิพากษาที่ตัดสินความผิดละเมิดอำนาจศาล เป็นผู้พิพากษาคนละองค์คณะกันเพื่อป้องกันมิให้เกิดการตัดสินโดยความอคติหรืออารมณ์โทสะของผู้พิพากษาซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้

อำนาจตุลาการถือเป็นหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตยของรัฐ อันมีอำนาจหน้าที่ในการชี้ขาด ตัดสิน อรรถคดีต่างๆ เพื่อจัดการกับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลในรัฐและรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยหรือเสรีภาพของพลเมืองในรัฐ โดยอาศัยฐานการตัดสินจากกฎหมายซึ่งออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภาอันมีผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสนอร่างกฎหมาย ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าการดำเนินกระบวนการยุติธรรมของศาลนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของเจตจำนงร่วมกันของประชาชนผ่านทางการใช้อำนาจตุลาการของศาล ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น การรักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของศาลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการรักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของศาลนั้นมีค่าเท่ากับปกป้องกติการ่วมกันของสังคมที่เรียกว่ากฎหมายให้มีการถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อดำรงไว้ซึ่งความสงบสุขของบ้านเมือง ด้วยเหตุนี้พฤติกรรมใดๆ อันถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลเป็นต้นว่า ขัดขืนข้อบังคับของศาลหรือวิพากษ์วิจารณ์โดยกล่าวหาว่าศาลตัดสินไม่ยุติธรรมหรือตัดสินโดยถูกครอบงำ แสดงความคิดเห็นทางลบในเชิงลดคุณค่าความน่าเชื่อถือของศาลหรือโฆษณาต่อสาธารณะเป็นเหตุให้ความศักดิ์สิทธิ์และความน่าเชื่อถือของศาลนั้นถูกบั่นทอนลงเป็นพฤติกรรมที่มิอาจยอมรับได้ หากยอมให้เป็นเช่นนั้นสังคมย่อมเกิดความวุ่นวาย เพราะหากมีการตัดสินคดีความจากศาลแล้วคู่ความฝ่ายแพ้คดีไม่ยอมรับคำตัดสิน กล่าวหาว่าศาลอคติไม่มีความยุติธรรม ทั้งยังพฤติตนไม่เรียบร้อยก่อความรำคาญแก่ศาลหรือไม่ยำเกรงต่อศาลหรือต่อตัวผู้พิพากษา ทำการให้เสื่อมเสียแก่ความน่าเชื่อถือของศาล ดังนี้แล้วสังคมจะไม่วุ่นวายได้อย่างไร ผลกระทบจากการละเมิดอำนาจศาลนั้นอาจจะส่งผลเป็นวงกว้างกว่าที่คิด หากลองนึกไตร่ตรองโดยสังเขปดูว่าถ้าการกระทำอันเป็นการละเมิดอำนาจศาลถือเป็นเรื่องปกติที่พึงกระทำได้ซึ่งอาจเกิดจากพฤติกรรมเลียนแบบอันเป็นทำนองว่าเขาทำได้เราก็ทำได้ และถือว่าการกระทำนั้นเป็นการทั่วไป โดยไม่มีการห้ามปรามหรือลงโทษผู้กระทำ ท่านผู้อ่านลองไตร่ตรองดูว่าสังคมจะอยู่กันอย่างไรบ้านเมืองจะยุ่งเหยิงแค่ไหน ในเมื่อสถาบันซึ่งมีอำนาจในการชี้ขาดข้อพิพาทสามารถถูกทำให้ขาดความน่าเชื่อถือได้เสียแล้ว การที่จะมุ่งหวังให้กลไกทางสังคมที่เรียกว่ากฎหมายถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นคงเป็นไปได้ยาก

แต่อย่างไรก็ตามพฤติกรรมแบบไหนจึงจะถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล เพราะหากจะตีความนิยามของการละเมิดอำนาจศาลไปในทางเข้าข้างหรือยกสถานะของศาลไว้สูงส่งถึงขนาดว่าแตะต้องไม่ได้เลยก็จะดูเป็นการไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไหร่นัก ต้องอย่าลืมว่าศาลในความหมายของตัวผู้พิพากษานั้นแท้จริงแล้วคือปุถุชนคนธรรมดาอันอาจมีความรู้สึกนึกคิดตั้งอยู่บนพื้นฐานของอารมณ์ อันอาจทำให้เกิดความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมได้เหมือนกัน แต่ผู้เขียนก็มิได้หมายถึงผู้พิพากษาทุกคนจะมีพฤติกรรมเช่นนั้น เป็นเพียงแต่ยกตัวอย่างให้ผู้อ่านเห็นภาพมากขึ้น

อนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ให้อำนาจศาลใช้ดุลยพินิจกำหนดวิธีลงโทษความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเองได้ โดยศาลสามารถเลือกลงโทษจำคุกผู้กระทำผิดได้ ซึ่งโทษจำคุกนั้นถือเป็นโทษที่เกี่ยวแก่เสรีภาพของบุคคล โดยหลักการแล้วควรมีการวินิจฉัยไตร่ตรองที่รอบครอบเสียก่อนที่จะใช้อำนาจตัดสินเพื่อล่วงล้ำเสรีภาพของบุคคลใด แต่ประเทศไทยนั้นกฎหมายให้อำนาจเต็มแก่ศาลในการกำหนดลงโทษผู้กระทำผิด โดยอำนาจนั้นเป็นอำนาจที่มีลักษณะพิเศษกล่าวคือ ถ้ามีการกระทำอันถือได้ว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลปรากฎต่อหน้าศาล และศาลเห็นเอง ศาลมีอำนาจสั่งลงโทษผู้กระทำผิดได้ทันทีโดยไม่ต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังเช่นความผิดทางอาญาอื่นๆ หรือเปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ อีกทั้งในทางปฏิบัติแม้ความผิดนั้นมิได้ปรากฎต่อหน้าผู้พิพากษาโดยตรง ผู้พิพากษามีอำนาจในการเรียกให้ผู้รู้เห็นเกี่ยวกับการกระทำผิดมาไต่สวนเพียงฝ่ายเดียวจนได้ข้อเท็จที่ศาลฟังเป็นที่พอใจแล้วก็สามารถตัดสินลงโทษผู้กระทำได้เลย อาจถือได้ว่ากฎหมายละเมิดอำนาจศาลให้อำนาจพิเศษโดยขยายให้ศาลมีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริง (Fact-finding) ได้เองซึ่งโดยปกติแล้วในระบบกล่าวหานั้นศาลจะรับข้อเท็จจริงจากคู่ความเท่านั้นแล้วตัดสินไปตามพยานหลักฐาน หลักการนี้แม้ไม่ได้เขียนไว้ชัดเจนในประมวลกฎหมายใดๆก็ตาม แต่หลักการนี้ถูกรับรองในทางปฏิบัติผ่านทางคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4617/2547 โดยศาลฎีกาอธิบายว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้นเป็นความผิดที่กระทำโดยตรงต่อตัวผู้พิพากษาหรือศาล ไม่ว่าการกระทำความผิดนั้นจะเกิดขึ้นต่อหน้าศาลหรือปรากฏจากพยานหลักฐานอื่นใด ศาลสามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้ทันที โดยไม่จำต้องดำเนินการตามวิธีในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพียงแต่ศาลเรียกพยานหรือผู้เกี่ยวข้องมาไต่สวนหรือสอบถามจนเป็นที่พอใจว่าเอกสารที่นำมาเสนอนั้นจริงหรือไม่ ก็สามารถลงโทษได้เลยและการพิจารณานั้นไม่จำต้องทำต่อหน้าจำเลยเหมือนความผิดอาญาฐานอื่นก็ได้ จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าการใช้อำนาจของศาลในการลงโทษบุคคลฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น กฎหมายไทยได้ให้อำนาจศาลไว้อย่างมาก ขณะเดียวกันความบกพร่องจากการใช้อำนาจของตัวผู้พิพากษานั้นก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดกรอบนิยามว่าเพียงใดจึงถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลเพื่อให้เกิดความชัดเจน ในเมื่อโทษของความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้นมีโทษอาญา การวินิจฉัยหรือตีความใช้กฎหมายเพื่อลงโทษบุคคลใดจะต้องมีความแน่นอนชัดเจนและเคร่งครัดตามหลักกฎหมายอาญา

ด้วยเหตุที่กล่าวข้างต้น จะสังเกตได้ว่าการมีอยู่ของกฎหมายว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาลมีความสำคัญในเชิงส่งเสริมให้การบริหารงานยุติธรรมเป็นไปโดยความเรียบร้อย ปกป้องความศักดิ์สิทธิ์ของศาลเพื่อรักษาไว้ซึ่งความน่าเชื่อในการจัดการกับข้อพิพาทต่างๆในสังคม แต่ในอีกแง่หนึ่งการให้อำนาจศาลในการลงโทษผู้กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลในประเทศไทยนั้น ผู้เขียนเห็นว่าอำนาจดังกล่าวนั้นมีลักษณะที่มากเกินไป กล่าวคือโทษในความผิดฐานดังกล่าวเป็นโทษทางอาญาซึ่งกฎหมายให้อำนาจศาลในการลงโทษได้ทันทีเมื่อพบการกระทำผิด แต่ในขณะที่กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ชัดแจ้งว่าพฤติกรรมแบบใดจึงจะถือว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดอำนาจศาลโดยเปิดโอกาสให้ผู้พิพากษาใช้ดุลยพินิจตีความได้เอง ทั้งยังอนุญาตให้ผู้พิพากษาที่เป็นคู่กรณีใช้อำนาจตัดสินลงโทษผู้กระทำผิดได้เองอีกด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมเกิดความเสี่ยงที่จะเกิดความอคติในการตัดสินได้ ด้วยปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอซึ่งอาจเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย เพื่อช่วยให้เกิดการถ่วงดุลระหว่างการปกป้องอำนาจของศาลมิให้ถูกละเมิดกับการปกป้องสิทธิของคู่ความในฐานะประชาชนให้ได้รับการพิจารณาที่เป็นธรรม (Fair trial) มีหลักประกันที่ได้สัดส่วนกับโทษอาญา โดยข้อเสนอมีดังนี้

ประการแรก กำหนดนิยามของพฤติกรรมที่มีลักษณะเป็นการละเมิดอำนาจศาลซึ่งมีโทษทางอาญาให้มีความชัดเจนแน่นอนกว่าที่เป็นอยู่ มิใช่อนุญาตให้ศาลตีความข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดอยู่ฝ่ายเดียว โดยความแน่นอนชัดเจนของนิยามนั้นอาจทำให้เกิดขึ้นโดยการออกพระราชบัญญัติในกรณีละเมิดอำนาจศาลโดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดความเป็นรูปธรรมในการตีความใช้กฎหมายให้มีองค์ประกอบในการกระทำความผิดที่ชัดเจน มิใช่เพียงอาศัยแต่ดุลยพินิจของศาลฝ่ายเดียว มิฉะนั้นก็จะเกิดความเลื่อนลอยในการตีความดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในประเทศสหราชอาณาจักรมีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาลในกรณี “การเผยแพร่ข้อมูล” โดยเฉพาะ ซึ่งเรียกว่า “The Contempt of Court Act 1981” ในพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดแยกเป็นรายกรณีไว้โดยชัดเจนว่าการเผยแพร่ข้อมูลแบบใดบ้างเป็นความผิดและมีข้อยกเว้นอย่างไรบ้าง เช่น ในมาตรา 5 ของ The Contempt of Court Act 1981 ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าการโต้แย้งหรืออภิปรายต่อสาธารณะด้วยความสุจริต (Good faith) เกี่ยวกับกิจการสาธารณะ (Public affairs) หรือประเด็นที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ (Public interest) ได้รับการยกเว้นว่าไม่เข้าข่ายการละเมิดอำนาจศาล เป็นต้น อีกทั้งพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดวิธีการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลไว้โดยเฉพาะด้วย ยิ่งไปกว่านั้น The Crown Prosecution Service (CPS) หรือ สำนักงานอัยการแห่งอังกฤษ ได้ทำการเผยแพร่เอกสารฉบับหนึ่งชื่อว่า “Contempt of Court, Reporting Restrictions and Restrictions on Publics Access to Hearings” หรือ “คู่มือเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาล ข้อจำกัดในการรายงานข่าวและข้อจำกัดในการเข้ารับฟังการพิจารณาในศาลของสาธารณะชน” เอกสารฉบับนี้ได้อธิบายถึงการปฏิบัติตนอย่างไรที่อาจจะเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาลให้แก่ประชาชนได้ทราบ ทั้งยังอธิบายข้อจำกัดของสื่อว่ามีขอบเขตในการปฏิบัติหน้าที่อย่างไรไม่ให้ละเมิดอำนาจศาล และยังอธิบายให้ข้อมูลเกี่ยวการจะเข้ารับฟังการพิจารณาของศาลของประชาชนทั่วไปว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในศาลเพื่อมิให้เกิดการละเมิดอำนาจศาล โดยนำข้อกฎหมายต่างๆและคำพิพากษาของศาลเผยแพร่ให้ประชาชนเข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยการเข้าถึงเอกสารฉบับนี้ก็มิใช่เรื่องยากแต่อย่างใดเพียงเข้าเว็บไซต์ของสำนักงานอัยการอังกฤษก็สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้แล้ว ผู้เขียนเห็นว่าวิธีการแบบอย่างที่ประเทศสหราชอาณาจักรใช้นั้นมีความน่าสนใจ และสามารถเป็นหลักประกันสิทธิของพลเมืองได้มากขึ้นและมีความเป็นรูปธรรม ผู้เขียนหวังว่ากฎหมายไทยจะมีการอนุวัตไปในแนวทางดังกล่าว

อีกประการหนึ่ง การตัดสินที่ให้ผู้มีส่วนได้เสียในคดีเป็นผู้ชี้ขาดนั้นจะหลีกเลี่ยงจากอคติคงเป็นไปได้ยาก หากปล่อยให้เป็นเช่นนั้นอาจทำให้เกิดประโยชน์ทับซ้อนกันในตัวผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีโดยนัยหนึ่งเป็นคู่ความ อีกนัยหนึ่งก็เป็นผู้ตัดสินข้อพิพาทดังกล่าวด้วย อาจทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าการขัดกันของผลประโยชน์ (Conflict of interest) ได้ อีกทั้งในการพิจารณาคดีทั่วไปหากผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะมีส่วนได้เสียในคดี คู่ความมีสิทธิคัดค้านผู้พิพากษาหรือที่เรียกว่าการตั้งข้อรังเกียจผู้พิพากษาได้ กล่าวคือสามารถเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาในการตัดสินคดีได้นั่นเอง ซึ่งในคดีละเมิดอำนาจศาลก็ควรเป็นเช่นนั้นด้วย

ข้อเขียนนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการปกป้องอำนาจศาลมิให้เกิดการล่วงล้ำเพื่อรักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์และความน่าเชื่อถือของสถาบันศาล แต่อย่างไรก็ตามก็ได้ชี้ให้เห็นถึงการให้อำนาจศาลที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดข้อบกพร่อง หรือผลร้ายที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของพลเมืองได้เหมือนกัน ดังนั้นวิธีถ่วงดุลให้สองสิ่งนี้ดำรงอยู่ในจุดสมดุล กล่าวคือ ศาลยังสามารถรักษาไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือและการบริหารงานยุติธรรมของรัฐก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในอีกด้านหนึ่งก็สามารถรักษาไว้ซึ่งสิทธิของพลเมืองมิให้ถูกละเมิดโดยวิธีการที่เลื่อนลอยไม่มีหลักประกัน ซึ่งผู้เขียนได้เสนอทางออกไว้สองประการดังที่ได้กล่าวไว้ ซึ่งอาจสรุปได้ว่าการถ้อยทีถ้อยอาศัยด้วยวิธีประนอมกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ(ศาล) และพลเมืองเป็นวิธีการที่มีความเป็นไปได้ในการที่จะสร้างความสมดุลร่วมกัน โดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรมีอำนาจที่มากเกินไปจนทำให้เกิดการเหลิงในอำนาจได้ ส่วนสิทธิของพลเมืองนั่นก็ควรได้รับการคุ้มครองแต่ไม่ใช่ถึงขนาดว่าจะใช้เสรีภาพของตนจนเกินขอบเขตไปกระทบสิทธิของผู้อื่นหรือสถาบันหลักของรัฐ สุดท้ายนี้ผู้เขียนหวังว่ากฎหมายไทยที่เกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลนั้นจะมีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น

 

นายจิระวัฒน์ ลีละวาณิชย์
นิติศาสตร์บัณฑิต, นบ. (เกียรตินิยมอันดับสอง), มหาวิทยาลัยรามคำแหง
Master of Law (LL.M.) in Criminal Justice and Human Rights, University of Aberdeen, United Kingdom
ใบอนุญาตว่าความ สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์