บทความ เรื่อง ละเมิดอำนาจศาล หรือ ละเมิดอำนาจใคร

ผลงานผ่านการคัดเลือก โครงการ “เขียนใหม่นายผี” รายการที่ 4

ประเภทผู้ศึกษาหรือประกอบอาชีพทางกฎหมาย เรื่อง “การละเมิดอำนาจศาล”

โดย อภิสิทธิ์ เรือนมูล

ภาพ Escaping Criticism, โดย Pere Borrell del Caso (1835-1910)

“The true city offers citizens the love of freedom instead of the hope of rewards or even the security of possessions; for “it is slaves, not free men, who are given rewards for virtue. Spinoza is not among those who think that a sad passion has something good about it. Before Nietzsche, he denounces all the falsifications of life, all the values in the name of which we disparage life. We do not live, we only lead a semblance of life; we can only think of how to keep from dying, and our whole life is a death worship.”
—Gilles Deleuze, Spinoza Practical Philosophy

ในการเมืองไทยร่วมสมัย “การละเมิดอำนาจศาล” เป็นคำกล่าวที่มักถูกเอ่ยขึ้น เมื่อใดก็ตามที่ได้มีผู้หนึ่งผู้ใดได้มีการกระทำในเชิงแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง (จากคำพิพากษา) ไม่ว่าจะเป็น การแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ หรือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และเมื่อกล่าวถึงการเมืองแล้ว ก็เป็นดินแดนแห่งความสกปรก ผู้คนซึ่งอยู่ในแวดวงการเมืองจึงไม่มีใครเลยที่จะมีความสะอาดบริสุทธิ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองไปจนถึงสิบร้อยพันยันรัฐมนตรี ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่า การเมืองเป็นดินแดนคนบาป และเมื่อมีคนบาปที่พร้อมจะทำชั่วอยู่ตลอดเวลานั้น ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคนดีที่มือสะอาดเข้ามาจัดการชำระล้างดินแดนแห่งความเลวทรามนี้ให้สกปรกน้อยที่สุดหรือถ้าเป็นไปได้ก็ต้องกำจัดความสกปรกให้สูญสิ้น

อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาวะสมัยใหม่ ซึ่งถูกครอบงำด้วยอุดมการณ์แบบเสรีนิยม ที่มีฐานคิดว่ามนุษย์ทุกคนนั้นชั่วร้ายไม่ต่างกัน และอำนาจก็จะเป็นสิ่งที่จะทวีความชั่วให้รุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการป้องกันไม่ให้ความชั่วปกครองเมือง ทั้งนี้แม้เสรีนิยมจะแสดงตนเป็นฝ่ายตรงข้ามกับความชั่วแต่ก็มิได้มีเป้าหมายที่จะกำจัดความชั่วให้สิ้นซากไปแต่อย่างใด กระนั้นยังมีความปรารถนาที่จะใช้อำนาจอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าจะต้องมีการจำกัดอำนาจไว้เพื่อไม่ให้มีการใช้อำนาจอย่างอำเภอใจ ดังนั้นความชั่วหรืออำนาจนั้นก็เป็นสิ่งที่ยังคงต้องดำรงอยู่ในรัฐเสรีนิยม หรือที่รู้จักในนาม “ความชั่วร้ายที่จำเป็น” (necessary evil) และหากจะกล่าวให้ชัดเจนขึ้นไปอีก การจำกัดอำนาจที่ว่านี้ก็เป็นการที่รัฐจำกัดอำนาจไว้ที่ตนเองหรือก็คือการผูกขาดความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงเชิงกายภาพหรือเชิงระบบไว้กับตนเพียงผู้เดียว ซึ่งในรัฐเสรีนิยมนั้นจะให้ความสำคัญกับกลไกทาง “กฎหมาย” ในฐานะที่เป็นกลไกหนึ่งในการจำกัดอำนาจ ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากหลักการที่ว่า “ไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจ” อันเป็นหลักการที่มีความสำคัญมากโดยเฉพาะในกฎหมายมหาชน เมื่อไม่มีกฎหมายก็จะไม่มีอำนาจ ดังนั้นกฎหมายจึงเป็นทั้งที่มา (Source) และเป็นข้อจำกัด (Limitation) ไปในเวลาเดียวกัน การที่กฎหมายเป็นทั้งที่มาและข้อจำกัดของอำนาจนั้น นับว่าเป็นคุณลักษณะสำคัญของหลัก “นิติรัฐ” หรือ “Rechtsstaat”[i] ในภาษาเยอรมัน อย่างไรก็ตามหากมองไปที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะพบว่ามิได้มีการใช้คำว่า นิติรัฐ ในรัฐธรรมนูญเลย จะพบเพียงแต่คำว่า “นิติธรรม” ยกตัวอย่างเช่น ในรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสองที่บัญญัติไว้ว่า

“รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม”

สำหรับ นิติธรรม หรือ “the Rule of Law” ที่ปรากฏในมาตราข้างต้นนี้ มีความหมายแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญกับ นิติรัฐ ทั้งในแง่เนื้อหาและประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ในเบื้องต้นแม้หลักการทั้งสองจะมีความแตกต่างกันอยู่ แต่ผู้เขียนขอไม่ลงรายละเอียดใน ณ ที่นี้[ii] โดยจะมุ่งไปที่หลักการที่ซึ่งทั้งสองหลักการต่างก็มีเป็นองค์ประกอบร่วมกัน คือ “การยอมรับความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ”

ศาลในฐานะที่เป็นองค์กรตุลาการ เมื่ออยู่ภายใต้การปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตยอันเป็นระบอบที่จะพ่วงมาพร้อมกันกับหลักนิติรัฐหรือนิติธรรม ก็ย่อมจะต้องตกอยู่ภายใต้หลักไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจด้วยเช่นกัน โดยศาลมีหน้าที่ในการพิจารณาข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางเอกชนหรือมหาชน ซึ่งภายใต้อุดมการณ์ของนิติรัฐ/นิติธรรม ศาลต้องคงไว้ซึ่งความอิสระและเป็นกลาง ในการพิจารอรรถคดีหรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้น และเพื่อที่จะให้ศาลดำเนินไปตามหลักการดังกล่าวได้ จึงต้องมีกฎหมายที่ให้อำนาจศาลในการที่จะทำให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว ด้วยการกำหนดให้ ผู้ใดที่ขัดขวางกระบวนการพิจารณาหรือฝ่าฝืนคำสั่งศาล ต้องมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล[iii]

ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น สามารถเกิดได้หลายกรณี ซึ่งกฎหมายได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตามมาตรา 30-33 โดยความผิดฐานนี้ไม่ต้องมีการฟ้องร้องให้ศาลลงโทษโดยศาลสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายสั่งลงโทษผู้ที่ละเมิดอำนาจได้ทันทีและความผิดฐานนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อคุ้มครองผู้พิพากษาเป็นการส่วนตัวแต่ต้องคำนึงถึงการรักษาความยุติธรรมในการดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นสำคัญ[iv]

โดยมีประเด็นที่พึงตั้งข้อสังเกตได้แก่ ในมาตรา 31(1) ซึ่งวางหลักว่า ผู้ใดกระทำการอย่างใด ๆ ดังกล่าวต่อไปนี้ ให้ถือว่า กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

(1) ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตราก่อนอันว่า ด้วยการรักษาความเรียบร้อย หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล

ในถ้อยคำว่า “…ประพฤติตนไม่เรียบร้อย…” ได้มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาอันเป็นตัวอย่างการตีความกฎหมายที่น่าสนใจ คือ การนำเมทแอมเฟตามีนเข้าไปที่หน้าห้องควบคุมผู้ต้องขัง[v] การให้สินบน[vi] โดยศาลสั่งให้การกระทำเหล่านี้เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า ในเมื่อความผิดข้างต้นศาลสามารถใช้ความผิดฐานอื่นในการเข้ามาจัดการได้ เช่น ฐานความผิดที่เกี่ยวกับยาเสพติดและความผิดฐานให้สินบนเจ้าหน้าที่  แต่ด้วยเหตุผลใดศาลจึงเลือกที่จะสั่งให้มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และการที่ศาลเลือกที่จะให้การกระทำข้างต้นมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจะส่งผลให้เป็นการตีความที่กว้างเกินกว่าตัวบทหรือไม่? การที่ศาลตีความกฎหมายโดยปราศจากความแน่นอนดังในกรณีข้างต้นจะเป็นการที่ศาลใช้อำนาจมากเกินไปหรือไม่? และนี่ยังไม่รวมถึงข้อกำหนดต่าง ๆ ในการเข้าบริเวณศาลที่มีอยู่อย่างยิบย่อยซึ่งหากดูจากพฤติการณ์แล้วก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ (หรือไม่มีความเป็นไปไม่ได้เลย) ที่จะเป็นอุปสรรคหรือขัดขวางในการพิจารณาของศาล แต่การไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านั้นกลับอาจเป็นเหตุให้ศาลสั่งว่ามีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้อีก ยกตัวอย่างเช่น การนั่งไขว่ห้างในห้องพิจารณา การห้ามสวมรองเท้าแตะเข้าห้องพิจารณา ซึ่งในกรณีหลังนั้นมีข้อสังเกตว่า แม้การสวมรองเท้าแตะเข้าศาลจะเป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายในการมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล แต่การเดินเท้าเปล่าเข้าห้องพิจารณานั้นกลับกระทำได้

สำหรับ “รองเท้า” ในฐานะที่เป็นหนึ่งใน “เครื่องที่เอาไว้แต่งกาย” ก็คงไม่แตกต่างไปจากเสื้อผ้าหน้าผมอันจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความมี “class” มันสามารถบอกได้ว่าคน ๆ นี้ มาจาก class หรือชนชั้นใด เพราะในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมที่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะกันอย่างเคร่งครัดแล้วนั้น เครื่องแต่งกายหรือเครื่องประดับจำนวนมากที่ถึงแม้จะมีเงินทอง ทรัพย์สินมหาศาลแค่ไหน หากมิใช่เจ้าแห่งชนชั้นนั้นแล้วก็จะริอาจนำมาแต่งกายไม่ได้

อำนาจของโครงสร้างทางชนชั้นที่กำหนดให้แต่ละคนบริโภคสินค้าให้ถูกต้องตามชนชั้น เช่น ในฝรั่งเศสภรรยาของพวกกระฎุมพีไม่มีสิทธิ์จะใช้เสื้อผ้าที่ถักทอด้วยทองและเงิน ห้ามใช้ไข่มุก และ ห้ามใช้เครื่องถ้วยชามที่มีราคาแพง[vii] สิ่งเหล่านี้ก็มีไว้เพื่อรักษาไว้ซึ่ง “ระเบียบทางชนชั้น” (class order) มิเช่นนั้นระเบียบที่วางไว้ก็จะสั่นคลอนและจะเป็นการนำไปสู่สังคมที่วุ่นวาย “กระเบื้องก็จะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยก็จะถอยจม”

ในหนังสือ เรื่องเล่าจากข้าวของเครื่องแต่งกาย[viii] ที่เขียนโดย ส. พลายน้อย ได้กล่าวถึงการสวมรองเท้าของคนไทยไว้ว่า “การสวมรองเท้าเข้าใจว่าจะเริ่มจากเจ้านายและขุนนาง ข้าราชการก่อน แล้วพวกที่ทำตามแฟชั่นก็รับถ่ายทอดมา ส่วนพวกชาวบ้านยังไม่กระตือรือร้นอะไรนัก ในสมัยรัชกาลที่ 5 สินค้าพวกถุงเท้ารองเท้ามีขายตามห้างฝรั่ง มีทั้งรองเท้าต่ำ รองเท้าสูง พวกที่มีเงินเดือน มีเงินก็เลือกซื้อใช้ได้ ส่วนชาวบ้านระดับคนชั้นกลางอย่างดีก็เป็นรองเท้าแตะชนิดมีหนังหุ้มที่หัวรองเท้า ปิดบังเท้าไว้ครึ่งหนึ่ง”[ix]  ดังนั้นรองเท้าแตะในฐานะที่เป็นเครื่องแต่งกายของพวกที่ไม่ใช่ชนชั้นสูงจึงเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นชนชั้นต่ำที่ไม่มีเงินมากพอให้ไปใช้ฟุ่มเฟือยเพื่อซื้อรองเท้าที่ตัดเย็บอย่างดีมาใส่ไว้ประดับบาทา  ประกอบกับการที่เดิมทีคนไทยก็มิได้มีความนิยมในการสวมรองเท้าและต่างก็เดินเท้าเปล่ากันทั้งนั้น และยังรวมไปถึงการมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันคือ ชนชั้นนำของไทยนั้นมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบายไม่ต้องเผชิญยากลำบากอะไร (อย่างน้อยก็ไม่ต้องมานั่งกังวลว่าจะมีอาหารให้ทานหรือไม่) ราวกับว่ามีชีวิตที่เดินอยู่บนกลีบกุหลาบตลอดเวลา ทำให้คนกลุ่มนี้มี “ตีนบาง” ต่างจากชาวบ้านหรือชนชั้นล่างที่มี “ตีนหนา” เพราะต้องทำไร่ทำนาและเดินไปบนผืนดินที่แห้งแตกระแหง ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นที่มาของสำนวน “พวกผู้ดีตีนแดง ต้องตะแคงตีนเดิน” เพราะฝ่าเท้าไม่เคยลำบาก เท้าไม่เคยแตะดิน และ “การที่ไม่สวมรองเท้านี้เป็นประเพณีให้ทุกบ้านต้องมีอ่างหรือโอ่งที่กระได เพื่อให้คนล้างเท้าก่อนขึ้นบ้านขึ้นเรือน” จนทำให้เกิดสำนวน “หัวกระไดไม่แห้ง” โดย ส. พลายน้อย ผู้เขียนยังได้ขยายความสำนวนนี้อีกว่า “คตินี้เห็นจะใช้กับพวกเทวดาด้วย เพราะมีเรื่องว่านนทุกเคยมีหน้าที่ล้างเท้าเทวดาที่มาเข้าเฝ้าพระอิศวร[x]

และเมื่อไปสืบค้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยผ่านทางภาพถ่ายโดยมุ่งเป้าความสนใจไปที่รองเท้าแล้วนั้น ก็จะพบว่าภาพถ่ายของชนชั้นสูงนั้น หากไม่เป็นภาพที่มีการสวมรองเท้าหุ้มส้นก็จะเป็นภาพที่ไม่มีการสวมรองเท้า (เท้าเปล่า) โดยจะไม่ปรากฏภาพใดที่ชนชั้นสูงมีการใส่รองเท้าแตะเลย[xi] โดยภาพถ่ายของคนที่ใส่รองเท้าแตะนั้นจะปรากฎเฉพาะแต่ในกลุ่มชาวบ้านที่อยู่ชนบทเท่านั้น[xii]

รองเท้าแตะและเท้าอันสกปรกของชาวบ้านจึงเป็นของต่ำที่ชนชั้นสูงไม่ปรารถนาที่จะยุ่งเกี่ยวด้วย (แม้จะยังต้องการให้เขามีความรัก ความศรัทธาในตนเองก็ตาม) และเมื่อเป็นของต่ำแล้ว ก็ไม่ควรเหยียบย่ำเข้าไปในที่สูงอย่างศาล ดังนั้นหากชนชั้นล่างยังคงปรารถนาที่จะเรียกร้องความยุติธรรมจากศาลอยู่ ก็อย่าบังอาจนำของต่ำ ๆ เหล่านี้เข้าไปทำให้เปรอะเปรื้อนในบริเวณศาล มิเช่นนั้นอาจกลายเป็น “การละเมิดอำนาจศาล” ได้ ดังนั้นนอกจากศาลจะเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ เป็นที่สถิตแห่งความยุติธรรมแล้ว ก็ยังคงเป็นที่สิงสถิตของบรรดาบริวารของพระผู้เป็นเจ้า (หรือพระศิวะ ฯลฯ) ที่จะประสาทความยุติธรรมให้กับชนชั้นล่าง “ในนามของสิ่งศักดิ์สิทธิทั้งหลาย”

สำหรับในทฤษฎีมาร์กซิสคลาสสิคแล้วนั้น รัฐก็เป็นกลไกรัฐที่กดขี่ปราบปรามของชนชั้นนำ(กระฎุมพี)  และกฎหมายก็เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของชนชั้นนำเท่านั้น ดังนี้ศาลซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของรัฐที่มีหน้าที่ตีความกฎหมายและพิพากษาตัดสินอรรถคดี ก็มิใช่อะไรอื่นนอกเสียจากหนึ่งในกลไกของชนชั้นนำ เช่นนี้รัฐจึงเป็นเรื่องเหนือกฎหมาย (extralegal) ซึ่งเมื่อกล่าวถึงรัฐก็จะหมายความถึง “รัฐของชนชั้นปกครอง”

ในหนังสืออุดมการณ์และกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ[xiii] (Ideology and Ideological State Apparatuses) ที่เขียนโดย หลุยส์ อัลธูแซร์ (1918-1990) นักทฤษฎีมาร์กซิสแนวโครงสร้างนิยม (Structural Marxism) ได้มีการแยกกลไกรัฐออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ กลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ (Ideological state apparatuses) เช่น โรงเรียน วัด ครอบครัว พรรคการเมือง สหภาพแรงงาน สื่อต่าง ๆ หรือศิลปวัฒนธรรม และกลไกด้านการปราบปรามกดขี่ของรัฐ (Repressive state apparatuses) เช่น รัฐบาล ฝ่ายบริหาร กองทัพตำรวจ ค่าย คุก ฯลฯ โดยอัลธูแซร์ได้จำแนกความแตกต่างระหว่างกลไกทั้งสองนี้ไว้ ดังนี้

ประการแรก กลไกด้านการปราบปรามกดขี่ของรัฐจะมีเอกภาพอยู่ร่วมกันเป็นอันหนึ่งเท่านั้น แต่ กลไกอุดมการณ์ของรัฐจะยังคงมีลักษณะที่หลากหลายและเราไม่อาจรู้ได้ว่าความหลากหลายนี้จะมีความเป็นเอกภาพหรือไม่ และถึงแม้จะมีความเป็นเอกภาพขึ้นมา เราก็ยังไม่อาจมองเห็นได้ในทันที

ประการที่สอง กลไกการปราบปรามกดขี่ของรัฐนั้น ทำหน้าที่โดยใช้ความรุนแรง ในขณะที่กลไกอุดมการณ์ของรัฐ ทำหน้าที่โดยใช้อุดมการณ์[xiv]

อัลธูแซร์ได้อธิบายต่อไปอีกว่า กลไกทั้งสองนี้ต่างก็มีการทำหน้าที่ไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด ภายใต้อุดมการณ์แบบชนชั้นปกครอง กล่าวคือ “ภายใต้อุดมการณ์ของชนชั้นปกครองนั่นเอง” และด้วยเหตุที่ชนชั้นปกครองเป็นผู้ที่กุมอำนาจรัฐไว้ ย่อมส่งผลให้มีกลไกด้านการปราบปรามอยู่ในมือด้วย นี่เองจะเป็นสิ่งที่ทำให้สรรพสิ่งดำเนินไปตามระเบียบแบบแผนที่ได้วางไว้ หรือก็คือ “เป็นไปตามกฎหมาย” ในขั้นตอนนี้ผู้ที่จะเข้ามามีบทบาทในการคงไว้ซึ่งระเบียบให้เป็นไปตามกฎที่วางไว้ก็คือ “ศาล” นั่นเอง[xv]

อย่างไรก็ตามสำหรับทฤษฎีแนวโครงสร้างนิยมของอัลธูแซร์นั้น ก็ถูกวิจารณ์ว่า ไม่ได้มีการสร้างทฤษฎีการปฏิวัติและทฤษฏีเกี่ยวกับองค์ประธาน (อย่างดีที่สุดก็แค่แยกความแตกต่างระหว่างองค์ประธานให้เห็น [ความแตกต่างระหว่าง “Subject” ที่สะกดด้วย “S” ตัวใหญ่ กับ “subject” ที่สะกดด้วย s ตัวเล็ก]) ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการย้อนกลับไปหาวลาดีมีร์ เลนิน (1870-1904) ผู้ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้าง “ทฤษฎีการปฏิวัติ” ดังนั้นสำหรับกรณีศาลไทยแล้ว การกลับไปหาการปฏิวัติแบบเลนินดังที่อัศนี พลจันทรหรือในนามปากกาสายฟ้า เคยกล่าวถึงไว้ในบทความชื่อ “การละเมิดอำนาจศาล” จึงเป็นสิ่งที่ผู้ถูกกดขี่หรือได้รับความอยุติธรรมในไทยควรค่าแก่การพิจารณา อย่างไรก็ตามปัญหาใหญ่ที่ทฤษฏีฝ่ายซ้ายร่วมสมัยก็ยังหาคำตอบไม่ได้อย่างชัดเจนก็คือปัญหาที่ว่า “ใครจะเป็นองค์ประธานในการปฏิวัติ?” กล่าวอย่างง่ายคือ “ใครที่เป็นชนชั้นกรรมมาชีพในปัจจุบัน?” และองค์กรปฏิวัติยังต้องการกองหน้า (vanguard) อยู่หรือไม่?[xvi]

ในเมื่อองค์ประธานในการปฎิวัติยังไม่ปรากฏขึ้นชัดเจน เหล่าผู้ถูกกดขี่ก็คงจะต้องถูกกดขี่ต่อไป แต่การถูกกดขี่นั้น ผู้ถูกกดขี่ต้องไม่เป็นการยอมทำตัวให้เชื่อง หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ควรมีความเชื่องทางความคิด ผู้ได้รับความอยุติธรรมทั้งหลายนี้จะต้องแสดงออกต่อไปเพื่อทำให้เห็นว่า เสรีภาพยังคงเป็นวิถีทางและเป้าหมายของมนุษย์ และอะไรก็ตามที่พยายามเข้ามาขัดขวางเส้นทางสู่เสรีภาพนี้จะต้องถูกทำลายให้หายไป

และเพื่อยืนยันถึงความปรารถนาในเสรีภาพนั้น ผู้ถูกกดขี่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตั้งคำถามทุกครั้งกับการใช้อำนาจเกิดขึ้นของผู้มีอำนาจหรือก็คือผู้กดขี่ (นอกเสียจากจะสวดภาวนาให้ผู้กดขี่จะตั้งคำถามกับตนเองและหวังว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลง) ผู้ถูกกดขี่จำเป็นอย่างยิ่งต้องถามว่า “การละเมิดอำนาจศาล” นี้ เป็นการละเมิดอำนาจที่ศาลได้อำนาจมาจากใคร? ปวงชนชาวไทยใช่หรือไม่? เป็นการละเมิดอำนาจต่อศาลที่อยู่ในระบอบใด?  ความยุติธรรมที่ศาลปฏิญาณนั้นเป็นความยุติธรรมของใคร? ศาลปฏิญาณต่อชนชั้นใด? นิติรัฐ/นิติธรรมที่ศาลอ้างเป็นแบบไหน?

“รองเท้าที่ศาลสวมใส่เป็นรองเท้าแบบใด?”

 

[i] Rechtsstaat เกิดจากการประกอบกันระหว่างคำว่า Recht ที่แปลว่ากฎหมายและยังหมายถึงสิทธิได้อีกด้วย กับคำว่า Staat ที่แปลว่า รัฐ ดังนั้นการแปลคำนี้ว่า นิติรัฐ ในภาษาไทย หรือ Rule of Law ในภาษาอังกฤษ จึงยังมิใช่การแปลที่สื่อความหมายดั้งเดิมออกมาได้อย่างสมบูรณ์

[ii] โปรดดู ปิยบุตร แสงกนกกุล., (2553),  “นิติรัฐ” (Rechtsstaat, Etat de droit) ไม่เหมือนกับ “นิติธรรม” (Rule of Law), ใน เอกบุญ วงศ์สวัสดิ์กุล (บรรณาธิการ), นิติรัฐ นิติธรรม. (หน้า 313-317). กรุงเทพฯ : โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

[iii] สำหรับกฎหมายที่มีเจตนารมณ์เพื่อให้กระบวนการพิจารณาคดีดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยนั้น “ความผิดฐานดูหมิ่นศาล”  นับว่าเป็นอีกฐานความผิดหนึ่งซึ่งมีการตีความที่กว้างขวางและขาดความชัดเจน อีกทั้งยังเป็นความผิดที่มีการบังคับใช้ใกล้ชิดกับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

[iv] ธานินทร์ กรัยวิเชียร, คำอธิบายกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เล่ม 2, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2522), น.19. อ้างอิงใน อัจฉรา สิทธิบูรณาญา. (2559). (ดูหมิ่นศาลกับละเมิดอำนาจศาล. วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต. สาขากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.)

[v] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5615/2543

[vi] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5462/2539

[vii] Daniel Roche, A History of Everyday Things: The Birth of Consumption in France, 1600-1800, translated by Brian Pearce (Cambridge: Cambridge University Press, 2000), p. 44. อ้างอิงใน ธเนศ วงศ์ยานนาวา. ปฏิวัติบริโภค: จากสิ่งของฟุ่มเฟือยมาสู่สิ่งจำเป็น, พิมพ์ครั้งแรก, กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2550.

[viii] ส. พลายน้อย, เรื่องเล่าจากข้าวของเครื่องแต่งกาย, พิมพ์ครั้งที่  1 (กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ, 2546)

[ix] เรื่องเดียวกัน, หน้า 174

[x] เรื่องเดียวกัน, หน้า 174

[xi] โปรดดู สมุดภาพวิวัฒนาการการแต่งกายสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่จัดพิมพ์โดย กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร

[xii] โปรดดู อเนก นาวิกมูล, การแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2557.)

[xiii] อัลธูแซร์, หลุยส์, อุดมการและกลไกของรัฐทางอุดมการ/ หลุยส์ อัลธูแซร์ เขียน; กาญจนา แก้วเทพ แปล.

[xiv] ทั้งนี้อัลธูแซร์ขยายความอีกว่า ไม่ว่าจะเป็นกลไกใด ต่างทำหน้าที่โดยการใช้ความรุนแรงและการใช้อุดมการณ์ด้วยกันทั้งนั้น การจำแนกนี้เป็นการจำแนกตามข้อเท็จจริงว่าในแต่ละกลไกได้ให้ความสำคัญกับเรื่องใดเป็นหลักและเป็นเรื่องรอง

[xv] เมื่อเรามุ่งพิจารณาในประเด็นเรื่องที่มาของผู้พิพากษา จะเห็นว่า ระบบในการคัดเลือกและการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่ง ของผู้พิพากษานั้น จะเปิดทางให้แก่ผู้ที่มีกำลังทางทรัพย์สินมากหรือคนรวย มากกว่าผู้ที่ฐานะไม่ดีหรือคนจนเป็นอัตราส่วนที่ค่อนข้างสูงมาก อาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นการกีดกันคนจนจำนวนมากออกไป และทำให้ตำแหน่งผู้พิพากษามีแต่คนรวย ๆ ที่เป็นพวกกันเอง

[xvi]  โปรดดู เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, CONATUS ชีวิตและอำนาจควบคุมชีวิตในระบบทุนนิยมแห่งศตวรรษที่ 21. (กรุงเทพ : Illuminations Editions, 2561) ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่จะขยายจินตนาการและให้ความหวังแก่ผู้อ่าน อีกทั้งยังมีความก้าวหน้าอย่างมากด้วยเมื่อเทียบกับวงการหนังสือทฤษฎีฝ่ายซ้ายในภาษาไทย

 

อภิสิทธิ์ เรือนมูล เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้เขียนขอขอบคุณ สรัล อร่ามรัศมีกุล สำหรับคำปรึกษาทางด้านกฎหมาย อันเป็นข้อบกพร่องของผู้เขียนเสมอมา ขอขอบคุณ ยศวีร์ ศิริผลธันยกร สำหรับการแนะนำหนังสือทางประวัติศาสตร์ และสุดท้ายขอขอบคุณ กันต์ธนิน จิรโรจน์อังกูร สำหรับความเอื้อเฟื้อที่ให้ที่ซุกหัวนอนและแบ่งปันอุปกรณ์ในการพิมพ์ ผลงานชิ้นนี้คงมิอาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากความช่วยเหลือและมิตรภาพจากบุคคลดังกล่าวนี้