บทความ เรื่อง ข้าพเจ้าใคร่ถาม

รางวัลชนะเลิศ โครงการ “เขียนใหม่นายผี” รายการที่ 4

ประเภทผู้ไม่ได้ศึกษาหรือประกอบอาชีพทางกฎหมาย เรื่อง “การละเมิดอำนาจศาล”

โดย ชนา ชุติสมิต

ในฐานะคนนอกวงการ ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางกฎหมายโดยตรง ข้าพเจ้าใช้สื่อสมัยใหม่เป็นเครื่องมือสืบค้นประเด็น “ละเมิดอำนาจศาล” และพ่วงด้วย “ดูหมิ่นศาล” ของกฎหมายไทยปัจจุบัน ซึ่งทำให้ได้เข้าใจถึงความจำเป็นต้องมีกฎหมายเหล่านี้ไว้เพื่อคุ้มครองกระบวนพิจารณาคดีให้เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย รวดเร็ว บริสุทธิ์ ยุติธรรม มีความศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนให้ความเคารพปฏิบัติตาม ให้การคุ้มครองเจ้าหน้าที่ศาล คู่ความ พยาน คุ้มครองผู้พิพากษาจากการถูกว่าร้าย ข่มขู่ ทำร้าย อันจะกระทบกับการทำหน้าที่โดยอิสระ

การละเมิดอำนาจศาล, ดูหมิ่นศาล คือการกระทำใดๆก็ตามที่เป็นเหตุอันจะก่อให้เกิดสิ่งต่างๆซึ่งตรงข้ามกับที่กฎหมายให้การคุ้มครอง โดยในทั้งสองกรณีนี้มีองค์ประกอบความผิดที่คล้ายกัน แต่ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายสองฉบับต่างกัน ซึ่งพอจะสรุปโดยย่อได้ว่า กฎหมาย “ละเมิดอำนาจศาล” เน้นคุ้มครองระเบียบวิธีปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยต่อหน้าศาลและในบริเวณศาล ส่วนกฎหมาย “ดูหมิ่นศาล” เน้นคุ้มครองที่ตัวศาล ผู้พิพากษา การพิจารณาคดี และการพิพากษาคดี

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดกรณีเหล่านี้ตามที่ศาลชี้ จะพบว่าในหลายๆกรณีประชาชนเพียงใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกต่อการใช้อำนาจหน้าที่ของศาล ยกตัวอย่าง เช่น กรณีเจ็ดนักศึกษาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยนำไม้มาทำเป็นสัญลักษณ์ตาชั่งเอียง (ข้างหนึ่งแขวนรองเท้าบู๊ททหาร อีกข้างแขวนถังเปล่า โดยที่ข้างรองเท้าบู๊ททหารเอียงลงต่ำกว่าอีกข้าง) อ่านแถลงการณ์ฯ อ่านบทกวีและร้องเพลง ที่ป้ายหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ ๑๐ ก.พ. ๒๕๖๐ หลังศาลเสร็จสิ้นกระบวนการสอบคำให้การคดี ม.๑๑๒ ของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน”

พวกเขาทั้งเจ็ดคนถูกกล่าวหาจากผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดขอนแก่น และศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ได้มีคำสั่งว่าการกระทำของพวกเขาเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลซึ่งทำให้เกิดข้อถกเถียงอย่างน้อยสองข้อต่อคำสั่งนี้ของศาล คือ การทำกิจกรรมของพวกเขาถือว่าอยู่ “ในบริเวณศาล” ตามที่ศาลชี้ได้อย่างไร เพราะพวกเขาทำอยู่ภายนอกรั้วรอบของศาล กับอีกข้อคือ กิจกรรมของพวกเขาไม่ได้ไปรบกวนการทำงานของศาลหรือการพิจารณาคดี ไม่มีลักษณะข่มขู่ว่าจะทำร้ายหรือได้ทำร้ายผู้ใด พวกเขาเพียงแสดงออกตามสิทธิที่ตนมีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

การตีความคำว่า “ในบริเวณศาล” ของศาลไม่มีความแน่ชัดในขอบเขต เพราะนอกรั้วศาลก็ยังนับว่าอยู่ “ในบริเวณศาล” ได้ ซึ่งก็ยังไม่มีความแน่ชัดว่านอกรั้วออกไปเท่าใดจึงนับว่ายังอยู่ “ในบริเวณศาล” ไม่แน่ชัดว่าต้องพ้นจากขอบเขตใดออกไปจึงจะไม่นับว่าอยู่ “ในบริเวณศาล” และในส่วนกิจกรรมของพวกเขาศาลชี้ว่าเป็นการประพฤติตัวไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลและทำให้สถาบันศาลสูญเสียความน่าเชื่อถือนั้นเท่ากับศาลไม่ให้น้ำหนักกับเสรีภาพในการแสดงออกของบุคคลทั้งที่เป็นรัฐประชาธิปไตยฯ แต่ไปให้กับการรักษาภาพลักษณ์ของศาลในแง่ความสงบเรียบร้อยและน่าเชื่อถือเสียมากกว่า ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าไร้น้ำหนักเอามากๆ เพราะหากจะอ้างว่าเป็นการกระทำที่ไม่สงบเรียบร้อยก็ควรชี้ด้วยว่าไม่สงบเรียบร้อยต่ออะไรหรือใคร ต่อหน้าบัลลังก์ศาลหรือ? ต่อหน้าผู้พิพากษาหรือ? ก็เปล่าเลย ส่วนความน่าเชื่อถือจะยังอยู่กับศาลหรือสูญเสียไปย่อมขึ้นอยู่กับตัวของศาลเอง หาใช่จากเหตุอื่นใดจากภายนอกไม่ ทำอย่างกับว่าถ้ามีใครสักคนออกมาล้อเลียน ประท้วง วิพากษ์วิจารณ์ศาลเมื่อใดสาธารณชนก็จะเชื่อไปตามที่คนเหล่านั้นกระทำอย่างแน่แท้เชียวหรือ (เช่นเดียวกันและคล้ายกันกับกรณีนี้อีกคดีคือ “คดีสุดสงวน” ข้าพเจ้าจะไม่แจกแจงรายละเอียด ใครสนใจลองหาดู) ซึ่งข้าพเจ้าให้แปลกใจต่อวิธีรักษาภาพลักษณ์เช่นนี้ของศาล ด้วยคิดว่าวิธีที่ศาลใช้นี้จะยิ่งให้ผลในทางตรงข้ามกับที่ศาลประสงค์เสียมากกว่า

ถ้าหากข้าพเจ้าจะเปรียบเทียบกฎหมายนี้ของเรากับของพวกฝรั่งข้าพเจ้าจะถูกใครบางคน (ซึ่งคงมีจำนวนไม่น้อย) ไล่ออกนอกประเทศไปไหมนะ

ในประเทศที่เจริญ(มีอารยะ)แล้ว ไม่มีใครเขาจับคนเข้าคุกเพียงเพราะการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายกับใครจริงๆ โดยรวมๆพวกเขาจะดูว่าถ้าไม่เป็น “ภัยอันตรายที่เห็นได้ชัดเจน” ต่อการพิจารณาคดีก็จะไม่ถือเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เช่น หากมีการประท้วงนอกห้องพิจารณาคดี(แม้ยังอยู่ในบริเวณศาล ไม่ไกลจากห้องพิจารณาคดี) แต่เป็นไปโดยสงบจะไม่ถือเป็นความผิด แต่ถ้าการประท้วงนั้นรบกวนการพิจารณาคดีในทางใดๆ เช่นกีดกั้นจำเลยไม่ให้เข้าห้องพิจารณาคดีจึงจะถือเป็นความผิด ลองเปรียบเทียบกับกรณีเจ็ดนักศึกษาข้างต้นของเราดูแล้วกัน หรืออีกตัวอย่างของประเทศแคนาดา ทนายความคนหนึ่งได้วิจารณ์การพิจารณาคดีของศาลต่อผู้สื่อข่าวหลังลูกความของเขาแพ้คดีและเขาถูกดำเนินคดีฐานละเมิดอำนาจศาล แต่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องด้วยเหตุผลเพราะไม่ปรากฏ “ภัยอันตรายที่เห็นได้ชัดเจน” อีกอย่างถ้าคำวิจารณ์นั้นๆมุ่งให้เหตุผลทางกฎหมายของผู้พิพากษา และตั้งอยู่บนหลักเหตุผลมากกว่าการโจมตีเรื่องส่วนบุคคลก็ถือว่าไม่ผิด

เมื่อหันกลับมามองของไทยเรา เปรียบเทียบกับที่ยกมาข้างบน ดูช่างห่างไกลกันเหลือเกินในเกณฑ์การพิจารณา ข้าพเจ้าไม่อยากจะพูดหรอกว่า ศาลไทยเราใจไม่กว้าง และวางตัวเกือบๆจะเป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้เสียแล้ว ข้าพเจ้ายกตัวอย่างกรณีนักศึกษาเจ็ดคนนั้นด้วยเห็นว่าเป็นกรณีที่ศาลไม่ควรสะดุ้งสะเทือนแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นประเด็น “ในบริเวณศาล” หรือ “รบกวนศาล” เพราะน้ำหนักช่างน้อยแสนน้อยเกินกว่าจะนำมากล่าวหาได้ แต่พวกเขาก็ถูกกล่าวหาจนได้ ยังไม่ต้องพูดถึงกรณีการวิจารณ์ศาลอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังด้วยเหตุผลทางกฎหมายซึ่งเสี่ยงอย่างมากที่จะถูกกล่าวหา เมื่อไม่นานมานี้ได้มีกฎหมายห้ามวิจารณ์ศาลออกมาปรามแล้ว โดยมีคำว่า “โดยไม่สุจริต” พ่วงมาเป็นข้อแม้ให้ศาลได้ตีความและเป็นผู้ชี้(เพียงฝ่ายเดียว)ว่าใครวิจารณ์โดยสุจริตหรือไม่สุจริต!?

อย่างไรก็ตาม มีกรณีที่ดูเหมือนจะน่ากลัวและน่าตกใจยิ่งกว่าที่ได้กล่าวมานี้ มันเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภา (สมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ชะลอการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ที่กำลังดำเนินการไปถึงวาระสาม ซึ่งน่าแปลกมาก เพราะเห็นชัดอยู่ว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบตั้งแต่เหตุแห่งการเสนอคำร้อง และผู้ร้องไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงซึ่งไม่อาจทำได้ จนในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าวออกมา

รัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ ให้สิทธิแก่บุคคลผู้ทราบการกระทำอันเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ สามารถเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้

ประการแรก การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องจากผู้ร้องโดยตรง โดยตีความมาตรา ๖๘ วรรคสอง ที่  “กำหนดให้บุคคลมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย” โดยตีความคำว่า “และ” ในประโยคนี้ว่าผู้ร้องสามารถร้องได้สองวิธี คือ จะยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุดหรือจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงเลยก็ได้ ซึ่งที่จริงไม่มีทางที่จะตีความเป็นอย่างนั้นได้เลย ที่ถูกคือ ต้องยื่นต่ออัยการสูงสุดเท่านั้น เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นี่ไม่ใช่เป็นเพียงความชัดเจนของถ้อยคำเท่านั้นแต่คือความถูกต้องตามระบบกฎหมายทั้งระบบด้วย การที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่ายื่นเรื่องให้แก่ตนโดยตรงเลยก็ได้เป็นการขยายสิทธิให้กับประชาชนเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะการยื่นให้อัยการสูงสุดไม่ได้ทำให้สิทธิในการยื่นของบุคคลใดก็ตามต้องหดแคบลงแต่อย่างใด และอัยการสูงสุดเองก็ไม่ใช่ท่อนำส่งสารไปให้ศาลอย่างทื่อๆ เสียเมื่อไร เพราะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องที่ร้องก่อนว่ามีมูลหรือไม่

ประการต่อมา ผู้ร้องอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทั้งฉบับ อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ ซึ่งความจริงมาตรา ๖๘ ใช้ได้ก็แต่กับบุคคลหรือพรรคการเมือง ไม่ใช่กับรัฐสภาซึ่งทรงอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทั้งรัฐสภาเองก็ได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ให้แก่บุคคลหรือพรรคการเมือง ส่วนจะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วนหรือทั้งฉบับ ย่อมทำได้ตราบที่ไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ

จึงเห็นได้ว่าการร้องนี้ไม่เข้าเกณฑ์ตั้งแต่ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องเป็นอัยการสูงสุดเท่านั้น ไม่ใช่บุคคลทั่วไป และต่อมาไม่เข้าเกณฑ์ในแง่เนื้อหาดังที่ได้กล่าวมาเพราะไม่ใช่เป็นเรื่องของบุคคลหรือพรรคการเมืองแต่เป็นเรื่องของรัฐสภา

ดังนี้ ที่ศาลอ้างว่าเพื่อขยายสิทธิให้แก่ประชาชน(ร้องได้สองทาง) แท้แล้วเป็นการขยายสิทธิให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญเองเสียมากกว่า ขออภัย ข้าพเจ้าไม่อยากจะพูดเลยว่า เหมือนศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า โยนข้ามหัวอัยการสูงสุดมาได้เลยเดี๋ยวจะจัดให้

การกระทำเช่นนี้เท่ากับว่าศาลเป็นผู้ “ละเมิดรัฐธรรมนูญ” เสียเองใช่หรือไม่?

พวกท่านย่อมต้องรู้ดีว่าพวกท่านได้รับอำนาจหน้าที่มาจากรัฐธรรมนูญเพื่อพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ทำตัวอยู่เหนือรัฐธรรมนูญซึ่งให้กำเนิดพวกท่านมา ทั้งอำนาจตุลาการที่พวกท่านได้รับมอบมาก็เท่าเทียมกันกับอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร(ตามหลักตรวจสอบและถ่วงดุล) ที่ไม่อาจปลอดจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ศาลไม่ได้มีสิทธิพิเศษอันใดที่จะได้รับการยกเว้นจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์ดังที่พวกท่านกำลังวางตนเป็นดังพวกที่แตะต้องไม่ได้ และข้าพเจ้าไม่อาจยอมรับแนวปฏิบัติเรื่อง “ละเมิดอำนาจศาล” ดังที่ยกตัวอย่างมา และการ “ละเมิดรัฐธรรมนูญ” ที่พวกท่านกระทำนั้นได้

ย้อนกลับไปดูผลงานของศาลรัฐธรรมนูญนับแต่ก่อตั้งมา เช่น กรณียกคำร้องกรณีจงใจแจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จหรือที่เรียกกันว่า “คดีซุกหุ้น” ของ ทักษิณ ชินวัตร จนเป็นที่มาของวาทะโด่งดัง “บกพร่องโดยสุจริต” ในยุคนั้น, กรณีถอดถอนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ที่ไปออกรายการทำอาหารว่าเป็นการ “รับจ้าง” โดยอาศัยพจนานุกรมแปลความหมายคำว่า “รับจ้าง”, กรณียุบพรรคการเมืองบางพรรคในปี ๒๕๕๑, กรณีห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับและที่มาของสมาชิกวุฒิสภาในปี ๒๕๕๕ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนไม่ควรถูกปิดกั้นจากการถูกตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์

ประชาชน(ซึ่งรวมข้าพเจ้าด้วยคนหนึ่ง)เป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ การที่พวกท่านได้กินได้ใช้อย่างสุขสบายล้วนเป็นเงินภาษีอันมาจากน้ำพักน้ำแรงของประชาชน และเกียรติที่พวกท่านได้รับนั้นประชาชนเป็นผู้มอบให้ อำนาจหน้าที่ของพวกท่านให้คุณให้โทษกับผู้คนอย่างเป็นจริง สร้างผลกระทบต่อชีวิตผู้คนอย่างเป็นจริง คนที่สมควรได้รับคุณหรือโทษไม่ใช่คนซึ่งพวกท่านรู้สึกนึกคิดเอาเองว่าเขาสมควรได้รับสิ่งใดหากคือคนที่กฎหมายซึ่งพวกท่านเป็นผู้พิทักษ์อยู่นั่นเองที่จะชี้บอกว่าเขาสมควรได้รับสิ่งใด

ศาลรัฐธรรมนูญ- ถูกต้องแล้วที่พวกท่านกล่าวอ้างว่าพวกท่านปกป้องรัฐธรรมนูญแห่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ข้าพเจ้าจะเชื่อพวกท่านได้อย่างไรเล่าเมื่อดูทั้งจากกรณีดังยกตัวอย่างมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลามีการรัฐประหาร เพราะไม่เห็นว่าพวกท่านจะออกมาปกป้องรัฐธรรมนูญดังที่ได้กล่าวอ้างไว้ ไม่เพียงไม่พิทักษ์ปกป้อง หากพวกท่านยังหันไปรับใช้แนวทางเผด็จการของคณะรัฐประหารได้อย่างหน้าชื่นตาบาน!? (ไม่ใช่หน้าชื่นอกตรม)

ข้าพเจ้าไม่ใคร่จะคิดว่าพวกท่านยังคิดและเชื่อแบบเดิม กระทำแบบเดิม ปฏิบัติแบบเดิม โดยยังดันทุรังเชื่อว่าประชาชนจะยอมก้มหัวให้ตลอดไป เชื่อว่ายังคุมสภาพเช่นนั้นไว้ได้ตลอดไปชั่วกัลปาวสาน และสุดท้ายข้าพเจ้าภาวนาให้พวกท่านคิดและเชื่อเสียใหม่อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง(อย่าได้คิดบิดเบือน)ว่าพวกท่านไม่ได้ใหญ่กว่าประชาชน ด้วยข้าพเจ้าเชื่อว่านี่คือทางรอดทางเดียวของพวกท่านและเป็นทางเดียวที่จะกู้เกียรติที่เสียไปมากแล้วของพวกท่านให้กลับคืนมาได้

เพราะไม่เช่นนั้นแล้วข้าพเจ้าใคร่ถาม— ประชาชนจะมีระบอบตุลาการเช่นนี้ไปเพื่ออันใด? และจำต้องมีพวกท่านไปเพื่ออันใด?.

 

ขอบคุณข้อมูลและความรู้เพื่อประกอบการเขียนจากเพจต่อไปนี้: ไอลอว์, นิติราษฎร์, ประชาไท.

ชนา ชุติสมิต เป็นประชาชน เป็นคนไทย ตระหนักและเคารพในสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งรัฐนี้.