รางวัลชนะเลิศ โครงการ “เขียนใหม่นายผี” รายการที่ 4
ประเภทผู้ศึกษาหรือประกอบอาชีพทางกฎหมาย เรื่อง “การละเมิดอำนาจศาล”
โดย สรชา สุเมธวานิชย์
“ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนี้เป็นเรื่อง “ผงเข้าตาผู้พิพากษาเอง” การใช้ดุลยพินิจจึงเป็นเรื่องยาก สมควรที่ผู้พิพากษาจะต้องปรึกษาหารือผู้บังคับบัญชา และองค์คณะ พิจารณาพิพากษาคดีอย่างสุขุมรอบคอบก่อนที่จะออกคำสั่งใดๆ ออกไป”[1]
เมื่อกล่าวถึงความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหลายคนอาจจะพอมีความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับความผิดฐานนี้อยู่บ้างไม่มากก็น้อย เมื่อพิจารณาถึงชื่อของฐานความผิดนี้ก็พอจะอนุมานได้ว่าเป็นความผิดที่เกี่ยวกับการ “ละเมิด” อำนาจของ “ศาล” นั่นเอง ความผิดฐานนี้ปรากฏขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ร.ศ.127 หมวดที่ 19 มาตรา 134-139[2] และต่อมาเมื่อได้มีการจัดทำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งขึ้นในปี พ.ศ. 2478 ความผิดฐานนี้จึงได้ถูกนำมาบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในมาตรา 30-33 ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยบทบัญญัติทั้ง 4 มาตรานี้ เป็นกฎหมายที่นำมาใช้บังคับกับการพิจารณาคดีของศาลทุกประเภท ไม่เฉพาะแต่ในคดีแพ่งเท่านั้น[3] โดยเป็นความผิดที่มีขึ้นเพื่อให้ศาลสามารถควบคุมการพิจารณาคดีให้ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว มีความสงบเรียบร้อย และเพื่อป้องกันมิให้เกิดอุปสรรคในการอำนวยความยุติธรรมของศาล[4] อันเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรม ด้วยเหตุดังกล่าว “วิธีพิจารณาคดีละเมิดอำนาจศาล (Contempt Proceeding)[5]” จึงมีความพิเศษแตกต่างไปจากวิธีพิจารณาคดีทั่วๆ ไป
ในคดีที่ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดขอนแก่นได้กล่าวหา 7 นักกิจกรรมในข้อหาละเมิดอำนาจศาล จากการ “ทำการปราศรัย ร้องเพลง แสดงท่าทาง และนำอุปกรณ์มาเป็นสัญลักษณ์แสดงความไม่พอใจการพิจารณาของศาล บริเวณหน้าศาล” เพื่อแสดงถึงความอยุติธรรมในการดำเนินคดีของจตุภัทร์ หรือ ไผ่ ดาวดิน ผู้ต้องหาในคดี มาตรา 112[6] ซึ่งต่อมาศาลจังหวัดขอนแก่นได้ตัดสินให้นักกิจกรรมทั้ง 7 มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นดังกล่าว โดยได้ให้เหตุผลว่า
“เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของพยานผู้กล่าวหา ประกอบกับภาพเคลื่อนไหวและภาพถ่ายว่า ในเวลาต่อเนื่องกันหลังจากศาลชั้นต้นพิจารณาคดีซึ่งนายจตุภัทร์เป็นจำเลย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-6 กับพวก ไปรวมตัวกันอ่านแถลงการณ์ที่บริเวณหน้าป้ายศาล โดยมีไม้แปรรูปทำเป็นสัญลักษณ์คล้ายตาชั่ง อันหมายถึงศาลเอียงไปทางรองเท้าบู๊ทซึ่งหมายถึงทหาร ตั้งอยู่ข้างหน้า สื่อแสดงให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า ศาลพิจารณาคดีของนายจตุภัทร์อย่างไม่ยุติธรรม เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายทหาร ย่อมทำให้สถาบันศาลซึ่งทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีด้วยความเที่ยงธรรม ต้องถูกลดทอนศักดิ์ศรีและความน่าเชื่อถือ…ขณะผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 6 กับพวกอ่านแถลงการณ์และร้องเพลงอยู่บริเวณหน้าป้ายศาล ก็ปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 นำดอกกุหลาบสีขาวไปวางบนทางเท้า บริเวณที่สัญลักษณ์คล้ายตาชั่งข้างต้นตั้งอยู่ อันเป็นพฤติกรรมที่ส่อแสดงถึงการยอมรับต่อการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 6 กับพวก แม้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดจะกระทำการดังกล่าวนอกศาล แต่เป็นการกระทำที่มีความเกี่ยวเนื่องกับคดีที่มีการดำเนินอยู่ในศาลโดยตรง กรณีย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่มุ่งหมายให้มีผลต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นพ้องด้วย”[7]
จากคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ข้างต้น จะเห็นได้ว่าวิธีพิจารณาคดีละเมิดอำนาจศาล (Contempt Proceeding)[8] เป็นวิธีพิจารณาพิเศษที่ขัดกับหลักการทางกฎหมายที่สำคัญหลายประการ อาทิ หลัก Conflict of Interest[9] อันเป็นหลักที่กล่าวว่าในกระบวนพิจารณาคดี ผู้พิพากษาจะต้องดำรงตนอย่างเป็นกลางและปราศจากอคติ และต้องให้โอกาสแก่คู่ความทุกฝ่ายในการต่อสู้คดี ดังนั้นในกรณีที่ผู้พิพากษากลายเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับประเด็นแห่งคดีที่ตนพิจารณา ผู้พิพากษาจะต้องถอนตัวออกจากคดีนั้น[10] เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม หรือหลัก Due Process อันเป็นหลักการที่มีขึ้นเพื่อคุ้มครองและประกันสิทธิของผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหา และผู้ที่ตกเป็นจำเลยในคดีอาญา ซึ่งพฤติการณ์ที่ถือเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลบางประการ เป็นความผิดที่ถือได้ว่าผู้พิพากษาเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดี กล่าวคือ ผู้พิพากษาตกเป็นผู้เสียหายหรือเป็นคู่ความในคดีร่วมกับผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดนั่นเอง ซึ่งพฤติการณ์ที่จะส่งผลให้ผู้พิพากษากลายเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีก็คือ พฤติกรรมที่ส่อไปในทางก้าวร้าว ไม่เคารพ ดูหมิ่น หรือเสียดสีศาล นั่นเอง และเมื่อผู้พิพากษากลายเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดี การพิจารณาพิพากษาคดีจึงหมิ่นเหม่ต่อการถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจเกินขอบเขต ตามใจตนเอง เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน หรือผู้พิพากษาอาจไม่มีความเป็นกลาง หรือปราศจากอคติอย่างแท้จริง เหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานยุติธรรมของศาลทั้งสิ้น
จากการศึกษาความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลผ่านทางการให้เหตุผลประกอบคำพิพากษาของคำพิพากษาฎีกาตั้งแต่ปี พ.ศ.2478 – 2554 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 76 ปี[11] พบว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมีความพิเศษแตกต่างไปจากความผิดฐานอื่นๆ ตรงที่เป็นคดีที่มีลักษณะการดำเนินคดีแบบ ONE STOP SERVICE กล่าวคือ โดยทั่วไปแล้ว คดีจะเริ่มต้นจากการที่ผู้กระทำความผิดจะถูกส่งตัวเข้ามาอยู่ในคดีหรือในอำนาจการพิจารณาของศาลผ่านทางการฟ้องร้องจากโจทก์หรือผู้เสียหายในคดีนั้นๆ และเมื่อคดีถูกนำเข้าสู่ศาล ศาลก็จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างบริสุทธิ์และยุติธรรม อาทิเช่น การกำหนดให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายมีโอกาสแสดงพยานหลักฐานของฝ่ายตน และคัดค้านพยานหลักฐานของคู่กรณีเพื่อให้ศาลได้ชั่งน้ำหนักว่าพยานหลักฐานของคู่ความฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่ากัน อันจะนำไปสู่การตัดสินพิพากษาว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายแพ้หรือชนะในคดีนั้นๆ
แต่ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลของไทย กฎหมายได้ให้อำนาจแก่ผู้พิพากษาไว้เป็นพิเศษ ด้วยการทำให้การพิจารณาความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมีความพิเศษแตกต่างไปจากการพิจารณาคดีอื่นๆ ตรงที่ เมื่อปรากฎว่ามีผู้กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ไม่ว่าจะเป็นความผิดที่เกิดขึ้นต่อหน้าผู้พิพากษา หรือเป็นความผิดที่ปรากฏขึ้นจากพยานหลักฐานต่างๆ ผู้พิพากษาย่อมมีอำนาจสั่งลงโทษผู้กระทำความผิดได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อหาให้ผู้กระทำความผิดทราบ และไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อให้ดำเนินการสอบสวนแต่อย่างใด แต่ผู้พิพากษาสามารถเรียกบุคคลผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีมาสอบถามให้ได้ความว่าเรื่องหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นดังที่ปรากฎในเอกสารที่ได้มีการนำเสนอขึ้นต่อศาลจริงหรือไม่ หรือหากเป็นกรณีที่ผู้พิพากษาคนดังกล่าวเป็นผู้ที่ได้พบเห็นการกระทำความผิดนั้นเอง ก็ไม่จำเป็นต้องมีการสอบถามใดๆ ผู้พิพากษาสามารถพิจารณาและสั่งลงโทษผู้กระทำความผิดนั้นได้เอง เพราะบทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงได้โดยไม่จำต้องกระทำต่อหน้าจำเลยดังเช่นการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป[12]
ในส่วนของการลงโทษ เมื่อความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดพิเศษที่แตกต่างไปจากการพิจารณาคดีอาญาคดีอาญาทั่วไป ดังนี้ เมื่อผู้กระทำความผิดได้กระทำความผิดที่มีโทษทางอาญาและในขณะเดียวกันก็ถือเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วย ผู้พิพากษาจึงมีอำนาจที่จะตัดสินลงโทษผู้กระทำความผิดทั้ง 2 ฐานความผิด เช่น การกระทำความผิดเกี่ยวกับเอกสารที่ส่วนมากแล้วถือเป็นความผิดทางอาญา หากแต่เมื่อพฤติการณ์หรือมีการกระทำเกิดขึ้นในบริเวณศาล การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลอีกหนึ่งฐานความผิดด้วย ซึ่งโจทก์หรือผู้กล่าวหาสามารถฟ้องร้องให้ศาลดำเนินคดีกับจำเลยหรือผู้ถูกกล่าวหาเป็นอีกความผิดหนึ่งได้ โดยเมื่อเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ศาลฎีกาได้ให้เหตุผลว่าพฤติการณ์เหล่านี้เป็น “การกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงศาล พฤติการณ์มีลักษณะร้ายแรง เป็นการหลอกลวงศาลให้ศาลมีคำสั่งโดยผิดหลงว่าหลักฐานที่นำมายื่นต่อศาลนั้นเป็นเอกสารที่ถูกต้อง” ดังนี้ นับเป็นการกระทำที่เป็นความเสียหายร้ายแรงต่อสถาบันศาลยุติธรรม ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการศาลและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง[13] ซึ่งเท่ากับว่าผู้กระทำความผิดถูกลงโทษสองครั้งจากการกระทำความผิดเพียงครั้งเดียวนั่นเอง
จากวิธีพิจารณาที่มีลักษณะเป็น ONE STOP SERVICE นี้เอง ที่ทำให้วิธีพิจารณาคดีละเมิดอำนาจศาล เป็นวิธีพิจารณาที่ถือเป็นข้อยกเว้นของหลักวิธีพิจารณาความอื่นๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นวิธีพิจารณาความในทางแพ่งหรือในทางอาญา อันส่งผลให้ผู้ถูกกล่าวหาอาจไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร อีกทั้งการที่บทบัญญัติกฎหมายความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนี้ เป็นความผิดที่ไม่มีบทนิยามเฉพาะ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พิพากษาซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีได้ใช้ดุลยพินิจพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นรายกรณี การใช้และการตีความของผู้พิพากษาจึงเป็นการ “แปลขยายความ” ถ้อยคำหรือพฤติการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแก่ตน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ย่อมเป็นสาเหตุให้เกิดข้อกังขาต่อความเป็นกลางของศาล อีกทั้งการแปลขยายความที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้พิพากษาแต่ละคน ย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิของคู่ความในการที่จะต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่โดยปราศจากความกังวลถึงความเสี่ยงที่จะ “ละเมิดอำนาจศาล”
[1] ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ (สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ กระทรวงยุติธรรม, 2529), หน้า 15.
“จริยธรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางอรรถคดี
ผู้พิพากษาจักต้องควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งจักต้องมิให้ผู้ใดประพฤติตนไม่สมควรในศาล
บทบัญญัติว่าด้วยเรื่องละเมิดอำนาจศาล พึงใช้ด้วยความระมัดระวังและไม่ลุแก่โทสะ”
[2] กุลพล พลวัน, ข้อสังเกตเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาล (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พาสิโก, 2522), หน้า 134.
[3] ณปภา ตุลารักษ์, “ขอบเขตและวิธีพิจารณาความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล”, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต 2553, หน้า 90.
[4] วินัย ตูวิเชียร, “ละเมิดอำนาจศาล”, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2525, หน้า 4.
[5] กุลพล พลวัน, ข้อสังเกตเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาล (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พาสิโก, 2522), หน้า 111.
[6] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (2562, มกราคม 14). ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน 7 นศ.ผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ชี้ตาชั่งเอียง ลดทอนความน่าเชื่อถือของศาล. [ข่าวออนไลน์]. สืบค้นจาก https://www.tlhr2014.com/?p=10427
เวิร์คพอยท์ ช่อง 23 (2560, กรกฎาคม 3). นทท.แตกตื่น! พบศพหญิงเร่ร่อน ถูกฆ่าฝังทราบชายหาดเกาะสมุย. [ข่าวออนไลน์]. สืบค้นจาก www.workpointtv.com/news/39489
[8] กุลพล พลวัน, ข้อสังเกตเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาล (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พาสิโก, 2522), หน้า 111.
[9] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
“มาตรา 11 เมื่อคดีถึงศาล ผู้พิพากษาคนหนึ่งคนใดในศาลนั้น อาจถูกคัดค้านได้ ในเหตุใดเหตุหนึ่งดั่งต่อไปนี้
- ถ้าผู้พิพากษานั้นมีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องอยู่ในคดีนั้น
- ……………………………….”
[10] ปิยบุตร แสงกนกกุล, ในพระปรมาภิไธย ประชาธิปไตย และตุลาการ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ openbooks, 2553), หน้า 81.
[11] สรชา สันตติรัตน์. (2556). คดีละเมิดอำนาจศาลกับหลักความยุติธรรมในกระบวนพิจารณาคดีของศาล. (วิทยานิพนธ์ปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่).
[12] คำพิพากษาฎีกาที่ 102/2507, 3809/2532, 2474/2542, 4617/2547
[13] คำพิพากษาฎีกาที่ 22/2497, 2678/2529, 2059/2532, 2126/2533, 2594/2535,7093/2542, 1286/2544, 9738/2544, 4617/2547, 1858/2548
สรชา สุเมธวานิชย์ อายุ 31 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอิสระ และอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลั