รายงานข่าว เรื่อง ตันหยงกู โปลีติกกู

ผลงานผ่านการคัดเลือก โครงการ “เขียนใหม่นายผี” รายการที่ 5

ประเภทข่าวในประเทศไทยเกี่ยวกับชนมุสลิมมลายู

โดย ไพศอล บือราเฮง

ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดแสดงถึงกระแสตื่นตัวของประชาชนกับความผันผวนของนักการเมืองสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวิวัฒนาการของแนวทางการต่อสู้ทางการเมืองที่มีทั้งความต่อเนื่องและความขาดตอนหลังการเสียชีวิตของฮัจยีสุหลงเมื่อ 65 ปีที่แล้วมา

เมื่อพูดถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งแรกที่คนมักจะคิด คือเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งกับสถานการณ์ไม่สงบหรือไฟใต้ พื้นที่แห่งประวัติศาสตร์ที่ในอดีตมีนามว่า รัฐปาตานี และจากนั้นก็แตกมามีหัวเมืองต่างๆ ได้แก่ หัวเมืองปัตตานี หัวเมืองหนองจิก หัวเมืองยะลา หัวเมืองสายบุรี หัวเมืองรามัน หัวเมืองยะหริ่ง และหัวเมืองระแงะ กระทั่งในปี 2445 รัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนการปกครองจากหัวเมืองกลายเป็นมณฑลปัตตานี   ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ปี 2491 เป็นการต่อสู้ที่ต้องการแยกเชื้อชาติและศาสนาภูมิภาคมลายูออกจากความเป็นไทย จนความไม่สงบเริ่มบานปลายขึ้นในปี 2547

จุดเริ่มต้นของสงครามนั้นเกิดมาจากการสังหารคนเพียงคนเดียว นั้นก็คือฮัจญีสุหลง อับดุลกอเดร์ โตะมีนา หรือเป็นที่รู้จักที่เรียกแบบสั้นๆ ว่า ฮัจญีสุหลง ซึ่งเป็นโตะอีหม่ามที่มีชื่อเสียงในอดีต เป็นผู้นำและ  ปัญญาชนของชาวไทยมุสลิมที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในระบอบการเมืองไทยซึ่งทำให้ตัวเองได้เข้าช่วยงานและให้คำปรึกษาแก่ปรีดี พนมยงค์ ต่อกรณีปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สมัยนั้น รวมทั้งเป็นปัญญาชนและตัวแทนชุมชนคนสำคัญที่เคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ทางภาคใต้ ปัญญาชนรุ่นแรกนี้มีผลต่อภูมิทัศน์การเมืองของปัญญาชนมุสลิมและมีชีวิตชีวามากที่สุด เพราะได้ใช้พื้นที่เคลื่อนไหวในระบอบประชาธิปไตยที่กำลังเบ่งบาน แต่ทว่าของฮัจญีสุหลงไม่ปรากฏให้ศึกษา มีแต่กิจกรรมทางการเมืองที่โดดเด่น[1]  ฮัจญีสุหลงเกิดเมื่อพ.ศ.2438 ที่หมู่บ้านกำปงอาเนาะรู จังหวัดปัตตานีและได้ไปศึกษาศาสนาที่นครมักกะฮ์ประเทศซาอุดีอาระเบีย จนแตกฉานด้านปรัชญาและด้านภาษาของมุสลิมจนคิดที่จะกลับมาเพื่อเผยแผ่ศาสนาในจังหวัดปัตตานีอันเป็นบ้านเกิด ด้วยห้วงเวลานั้นมุสลิมปัตตานียังเป็นสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นและนับถือพวกผีปีศาจเป็นจำนวนมากซึ่งขัดต่อหลักศาสนาอิสลามจึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจในก่อตั้งโรงเรียนศาสนาหรือ “ปอเนาะ”[2] ขึ้นมาเป็นแห่งแรก  ต่อมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพ.ศ.2475 และภายใต้รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี ฮัจญีสุหลงก็ได้เดินทางสู่พระนครเพื่อขอความช่วยเหลือในการทำปอเนาะ

ในทางการเมือง ฮัจญีสุหลงได้เกี่ยวพันกับการเมืองและความขัดแย้งในพื้นที่ซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงราชอาณาจักร ด้วยบทบาทการเป็นผู้นำจนได้เสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้ออันประกอบไปด้วย

1) ให้มีผู้ปกครองใน 4 จังหวัด ปัตตานี สตูล ยะลา และนราธิวาสเป็นคนมุสลิมในพื้นที่และได้การเลือกจากคนในพื้นที่โดยให้มีอำนาจในการศาสนาอิสลามและแต่งตั้งข้าราชการ

2) ให้ข้าราชการในสี่จังหวัดเป็นคนมุสลิมมลายูในพื้นที่ร้อยละ 80

3) ให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการควบคู่ไปกับภาษาไทย

4) ให้มีศาลพิจารณาคดีตามกฎหมายอิสลามที่แยกขาดจากศาลยุติธรรมของทางราชการ โดยให้ดาโตะยุติธรรมมีเสรีในการพิพากษาชี้ขาด

5) ให้มีการใช้ภาษามลายูเป็นสื่อในการเรียนการสอนระดับประถม

6) ภาษีและรายได้ที่จัดเก็บให้ใช้ในพื้นที่ 4 จังหวัดเท่านั้น

7) ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีอำนาจในการออกกฎระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติทางศาสนาโดยได้รับความเห็นชอบจากผู้มีอำนาจตามข้อแรก

เมื่อต่อมาได้มีการรัฐประหารเกิดขึ้นรวมทั้งได้เปลี่ยนขั้วรัฐบาลมาเป็นขั้วอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงครามซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างจากขั้วอำนาจเก่า(รัฐบาลของพจน์ พหลโยธิน) แต่ทว่าข้อเรียกร้องทั้งเจ็ดข้อของฮัจญีสุหลงถูกเพ่งเล็งว่าเป็นกบฏและปัญหาต่อความมั่นคงต่อราชอาณาจักรจนในที่สุดก็ถูกจับกุมในข้อหาปลุกระดมและก่อการกบฏแบ่งแยกดินแดน เมื่อพ้นโทษออกมาฮัจญีสุหลงก็ยังถูกคุกคามจากอำนาจรัฐจนกระทั่งหายสาบสูญอย่างไร้ร่องรอยซึ่งทุกอย่างชี้ว่ามีแนวโน้มถูกฆาตกรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐและได้มีการรื้อคดีจนในที่สุดผู้ก่อเหตุก็ได้รับสารภาพว่าได้สังหารในบังกะโลริมน้ำจังหวัดสงขลาจากคำสั่งโดยตรงทางโทรศัพท์ของรัฐบาลจอมพล ป. โดยการใช้เชือกรัดคอจนเสียชีวิต และจากเหตุการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญของความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อให้เกิดเหตุการณ์อย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จนถูกเรียกว่า “พื้นที่แห่งความขัดแย้ง” และใช้การเมืองเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา สร้างเรื่องราวของตระกูลโต๊ะมีนาที่เต็มไปด้วยความกลัว ความหวาดระแวง ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดในความทรงจำของผู้คนในสามจังหวัดซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นมลายูมุสลิม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องเล่าที่ เด่น โต๊ะมีนา[3] แต่งขึ้นมาเป็นตำนานทางการเมืองที่เล่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อคาดหวังผลการเลือกตั้ง เด่นเริ่มชีวิตการเมืองโดยการลงสมัครรับเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2519 และได้รับเลือกติดต่อกันมาภายใต้สังกัดพรรคการเมืองต่างๆ กันยกเว้นแต่คราวเลือกตั้งเดือนกรกฏาคม 2538  ต่อมาเขาเปลี่ยนมาลงแข่งขันเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งจัดให้มีขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ในการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกปี 2543 เขาได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลาม โดยได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 100,000 คะแนน สิ่งนี้เป็นพยานหลักฐานความสำเร็จของเขาในการกวาดคะแนนสนับสนุนจากบรรดาอิหม่ามและผู้นำศาสนาในพื้นที่[4]

ตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมานั้น การเมืองสามจังหวัดชายแดนใต้มีการเปลี่ยนแปลงหลักๆ อยู่สองรูปแบบคือ การตะล่อมล้อมคอกความคิดที่เห็นต่างรูปแบบหนึ่งและอีกรูปแบบที่ไม่ขนานกันไป คือการผละจากการตะล่อมเหล่านั้นในช่วงทศวรรษ 2530 สภาพการณ์ในภูมิภาคแห่งนี้ดูเหมือนจะ “ปรับให้เป็นปรกติ” ผ่านการเมืองแบบตัวแทนที่ยกระดับขึ้น แต่ก็เช่นเดียวกันกับสิ่งที่เรียกว่ากระบวนการประชาธิปไตยในประเทศที่มีการแทงรากเพียงตื้นๆ ดังที่ได้เห็นจากการก่อรัฐประหารของกองทัพในปี 2549 อย่างกว้างขวาง การปรับให้เป็นปรกติในภาคใต้ก็เป็นเพียงสิ่งลวงตา ในความเป็นจริงแทนที่จะลดความขัดแย้ง การเปิดกว้างทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในปี 2540 กลับเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการปรากฏตัวของความรุนแรง

ใครจะเป็นตัวแทนที่ดีสุดในการสื่อสารความคิดเห็นและความสนใจของชาวมลายูมุสลิมต่อรัฐไทย? และใครจะเป็นผู้เหมาะสมที่สุดที่จะสื่อสารจุดยืนของรัฐบาลต่อชาวมลายูมุสลิม? การสร้างกลไกที่ชอบธรรมในการเป็นตัวแทนความคิดเห็นส่วนใหญ่เป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่งยวดในระบบการเมืองของสามจังหวัดชายแดนใต้ หลายสิบปีที่ผ่านมา กลุ่มวะห์ดะห์เป็นกลุ่มที่มีบทบาทในทางการเมืองชายแดนใต้เป็นอย่างมาก กลุ่มวะห์ดะห์ หรือ “กลุ่มเอกภาพ” เป็นชื่อกลุ่มนักการเมืองมุสลิมที่เคยทรงอิทธิพลอย่างสูงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อตั้งโดย นายเด่น โต๊ะมีนา และ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จนกระทั่งชื่อเสียงของกลุ่มวะห์ดะห์ต้องตกต่ำลงอย่างมากเมื่อพ่ายแพ้การเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2548 โดยไม่มีผู้สมัครของทางกลุ่มได้รับเลือกตั้งเลยแม้แต่คนเดียว ทั้งที่เคยครองพื้นที่อย่างเหนียวแน่นมากว่า 20 ปี ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 พรรคไทยรักไทยถูกฟ้องร้องใน “คดียุบพรรค” และต่อมาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งมีผลทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หนึ่งในกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยต้องเว้นวรรคทางการเมือง ทำได้เพียงให้คำแนะนำ ส.ส. ในกลุ่มซึ่งย้ายจากพรรคไทยรักไทยไปเข้าสังกัดพรรคประชาราชอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะย้ายไปสังกัดพรรคมัชฌิมาธิปไตยเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550[5]

ปัจจุบันได้พ้นจากที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองแล้ว และได้มีการก่อกลุ่มทางการเมืองอีกครั้งในนามพรรคประชาชาติ จึงมีคำถามขึ้นว่า พรรคประชาชาติเป็นพรรคของคนภาคใต้มุสลิมหรือไม่? โดยทางหัวหน้าพรรค นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้ออกสื่อยืนยันว่าพรรคประชาชาติไม่ใช่พรรคของคนภาคใต้หรือคนมุสลิมแต่เป็นพรรคของคนทั้งประเทศและทุกศาสนามีสิทธิเท่าเทียม และดูแล้วทางพรรคเองก็จะชูการเป็นพหุวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก  น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ พรรคประชาชาติ ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ หัวหน้ากลุ่มวะห์ดะห์ ตัดสินใจตั้งพรรคและขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค แม้ว่าพรรคการเมืองนี้เป็นพรรคประกอบด้วยคนหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนา โดยทางหัวหน้าพรรคยืนยันว่า ไม่ใช่ตั้งขึ้นเพื่อชาติพันธุ์มลายูและมุสลิมเท่านั้นแต่เป็นพรรคของทุกคนทั้งประเทศ ก็ยังมีหลายคนที่มองว่าเป็นพรรคที่เอาศาสนามาเป็นการหาเสียงและสามารถผูกมัดใจประชาชนในสามจังหวัดได้จนสามารถทำลายฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ให้เหลือเขตเดียว กล่าวได้ว่า “ชนะ” ในสามจังหวัด

ปรากฏการณ์การกลับมาอีกครั้งของผู้นำกลุ่มวะดะห์ในนามพรรคประชาชาติที่สามารถกวาดคะแนนเสียงของประชาชนในสามจังหวัด สามารถพิจารณาได้ว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่ต่างอะไรมากนักกับการเลือกตั้งในอดีตที่ผ่านมา โดยประชาชนยังคงตัดสินใจเลือกผู้แทนด้วยปัจจัยของบุคคลมากกว่าพรรคการเมืองและเรื่องศาสนา การเปลี่ยนขั้วของนักการเมืองมาอยู่พรรคใหม่ผนวกกับกระแสการอยากเปลี่ยนของประชาชนในพื้นที่จึงส่งผลให้ไม่มีพรรคการเมืองใดที่จะผูกขาดความนิยมอย่างต่อเนื่องของพื้นที่สามจังหวัดได้

 

 

[1] อันวาร์กอมะ, เอกรินทร์ ต่วนศิริ; ประชาธิปไตยกับอิสลาม (2018). หน้า 49.

[2] รากศัพท์ของคำว่า “ปอเนาะ” มาจากภาษาอาหรับว่า PONDOK อ่านว่าปนโด๊ะบ้าง พอนดอกบ้าง แปลว่า กระท่อม ที่พัก ซึ่งความหมายในปัจจุบันคือสำนักศึกษาเล่าเรียนวิชาการศาสนาอิสลาม ซึ่งหมายถึงทั้งที่พักและที่เรียน

[3] เด่น โต๊ะมีนา เกิดเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2477 ที่อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นบุตรชายของฮัจญีสุหลง

[4] ดันแคน แม็คคาร์โก; ฉีกแผ่นดินอิสลามและปัญหาความชอบธรรมในภาคใต้ ประเทศไทย (2008). หน้า 87

[5]“ตำนาน กลุ่มวาดะห์” VoiceTV, 19 กุมภาพันธ์ 2556. www.voicetv.co.th