จดหมายถึงเบอร์ลิน ปี ๒๐๑๙

ผลงานผ่านการคัดเลือก โครงการ “เขียนใหม่นายผี” รายการที่ 6

ประเภทผู้อาศัยอยู่ภายในราชอาณาจักรไทย

โดย ชนา ชุติสมิต

คุณ…ที่รัก

เพื่อจะได้พูดคุยกันในหัวข้อ “สันติภาพ” ฉันขอตั้งต้นที่คำคำนี้ “ประชาธิปไตย” และจะถือมันเป็นดั่งหัวใจของสันติภาพ สันติภาพซึ่งคือคุณสมบัติหนึ่งของความมีอารยะ ฉันมองไม่เห็นคำอื่นใดอีกที่รวมเอาความหมายหลายๆความหมายของความมีอารยะเข้าไว้ด้วยกันได้ครบถ้วนเช่นคำคำนี้

ในความหลากหลายความหมายที่บรรจุอยู่ในคำ “ประชาธิปไตย” ฉันขอเริ่มที่ความหมายหนึ่งก่อน นั่นคือ ความเสมอภาคเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ ฉันเชื่อว่านี่คือกฎข้อแรกที่สังคมมนุษย์ต้องยึดถือไว้หากปรารถนาในสันติภาพ เพราะอะไร? เพราะในสามัญสำนึกของมนุษย์ด้วยกัน มนุษย์ซึ่งเหมือนๆกัน ย่อมไม่มีใครยินยอมด้วยยินดีให้มนุษย์คนอื่นๆ ที่ก็เป็นมนุษย์เช่นตนไม่เคารพในความเสมอกันนี้ได้ นี่เป็นกฎที่ยุติธรรมที่สุดและตรงตามความเป็นจริงที่สุด และโดยปริยายกฎกติกาในการอยู่ร่วมกันจึงควรถูกตั้งขึ้นโดยความยินยอมพร้อมใจกันของสมาชิกในสังคม และทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติต่ออย่างเสมอหน้าเท่าเทียมกันภายใต้กฎกติกานั้นๆ นี่คือความเสมอภาคและความยุติธรรมที่สอดคล้องกับความเป็นจริง

ฉันจะยังไม่ไปไกลถึงสันติภาพของโลก ฉันจะขอพูดถึงประเทศของฉันนี่แหละก่อน แล้วฉันก็นึกถึงคำคำหนึ่ง คำนั้นคือ “ชังชาติ” นี่นับเป็นคำใหม่และกำลังติดตลาด มันถูกคิดขึ้นใช้เมื่อไม่นานนี้เอง(คุณอาจเคยได้ยินมาแล้ว)โดยฝ่ายไม่เอาประชาธิปไตยเพื่อใช้ประณามฝ่ายประชาธิปไตยท่ามกลางบรรยากาศการเมืองแบบแบ่งขั้วที่ยังติดหล่มยืดเยื้อมายาวนาน ความหมายง่ายๆตรงๆที่มันต้องการสื่อ คือ “ไม่รักชาติ ไม่หวังดีต่อชาติ” หรืออาจแปลต่อไปอีกขั้นว่า “ทำลายชาติ” ก็น่าจะได้ เป็นคำที่จัดอยู่ในประเภทคำประณามที่ออกจะรุนแรงและอันตรายถ้าใครโดนเข้า (ทำนองเดียวกับคำ เช่น “คอมมิวนิสต์”, “พวกหัวรุนแรง” ที่เคยใช้กันในอดีต) เช่น ถ้าคุณวิพากษ์วิจารณ์ประเทศไปในทางที่พวกเขาไม่เห็นด้วยไม่เอาด้วยกับคุณคุณก็จะถูกปาใส่ด้วยคำคำนี้ทันที เหมือนมีนิ้วที่ชี้ประณามมาที่คุณอย่างหมายว่า ฉันดี-คุณเลว ฉันถูก-คุณผิด ฉันธรรมะ-คุณอธรรม มันคือคำที่มีนัยของการพิพากษาตัดสินที่อันตราย เพราะมันให้ความชอบธรรมที่ฝ่ายหนึ่งจะทำลายอีกฝ่ายหนึ่งได้

ฟังว่าคนที่คิดคำคำนี้เป็นถึงดอกเตอร์ด้านโฆษณานั่นเทียว และคงด้วยลักษณะที่เป็นคำสั้น มีสัมผัส จึงทำให้จำง่าย ติดหูติดปากผู้คนได้ง่าย แต่ยังนับไม่ได้ว่าเป็นที่ชมชอบยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์ของคนทั้งชาติ ทั้งนี้ฉันคิดว่าเพราะมันถูกใช้ไปในทางสร้างความแตกแยกนั่นเอง ซึ่งจากเดิมแตกแยกอยู่แล้ว มันไม่ได้ช่วยหยุดความแตกแยก ไม่ได้ช่วยลดความแตกแยก แต่ทำให้แตกแยกขึ้น  ฉัน ซึ่งกำลังจะวิพากษ์วิจารณ์ประเทศของฉันในตอนนี้- ไม่แน่หรอกว่าอาจจะถูกชี้ด้วยนิ้วนั้น?

ฉันคิดว่าจุดเริ่มของความแตกแยกเกิดขึ้นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว มันประทุออกมาเป็นการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จากนั้นดำเนินเรื่อยมาและค่อยๆขยายใหญ่ปรากฏเด่นชัดขึ้นในคราวที่ กปปส. ออกมาชุมนุมเคลื่อนไหว ในแง่หนึ่งฉันคิดว่าฉันพอจะเข้าใจถึงสาเหตุที่พวกเขาออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในเวลานั้น ก็เพราะพวกเขามองว่าในเมื่อคุณ(รัฐบาลเอง)ไม่เล่นตามกติกา ฉันก็ไม่เล่นตามกติกาบ้างสิ (ขอย้ำว่านี่เป็นเพียงการมองในแง่หนึ่งเท่านั้น ด้วยเชื่อว่ายังมีแรงจูงใจอย่างอื่นอีกที่เป็นสาเหตุให้พวกเขาออกมาชุมนุม แต่เพราะไม่ใช่เป็นประเด็นที่ฉันต้องการกล่าวถึงในที่นี้จึงละเว้นไว้)

จริงที่รัฐบาลในเวลานั้นไม่เล่นตามกติกา(กรณีร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่ง) แต่ในที่สุดก็ยอมถอยจนต่อมายุบสภาและประกาศกำหนดการการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งคือวิธีการหนึ่งของการตั้งต้นเล่นตามกติกาอีกครั้ง แต่พวกเขากลับยังไม่ยอมเลิกชุมนุม ทั้งที่ก่อนหน้าได้ประกาศไว้ว่าหากรัฐบาลยอมถอนร่างฯ ดังกล่าวก็จะเลิกชุมนุมทันที ตรงกันข้ามพวกเขาประกาศยกระดับการชุมนุมด้วยการขับไล่รัฐบาล ซึ่งแม้นายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุบสภาและลาออกแล้ว แต่พวกเขาก็ยังเรียกร้องให้ลาออกจากรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซ้ำอีก?! พวกเขาควรรู้ดีว่านี่เป็นข้อเรียกร้องที่ประหลาด เพราะรัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้น และพร้อมกันนี้พวกเขาชูข้อเสนอให้ “ปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง” โดยเสนอว่าจะดำเนินการผ่านสภาประชาชนที่พวกเขาตั้งขึ้นเอง(ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน) ที่แท้พวกเขาไม่ต้องการการเลือกตั้งนั่นเองจึงได้รณรงค์ข้อเรียกร้องประหลาดนี้ขึ้นมา พวกเขาตัวหลักๆ ล้วนเป็น “ผู้มีการศึกษา” บางคนเป็นถึงศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์ บ้างเป็นดอกเตอร์ด้านกฎหมายมหาชน และอื่นๆ ยังไม่นับบรรดานักการเมืองที่ประกาศตนเป็นนักประชาธิปไตยอีกไม่น้อยด้วย ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาจะร่วมกันกระทำการในสิ่งที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย(ที่สำคัญคือขัดรัฐธรรมนูญ)อย่างเห็นได้ชัดได้ถึงเพียงนี้ พวกเขาประกาศว่าจะใช้แนวทาง “สันติ อหิงสา และปราศจากอาวุธ” ในการเคลื่อนไหว ทั้งๆที่รู้กันทั่วไปว่าความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น(กระนั้นก็ยังมีนักสันติศึกษาบางคนออกมาส่งเสียงทำนองรับรองให้เสียอีก?!) พวกเขาอ้าง “มวลมหาประชาชน” ของพวกเขาว่าเป็นเสียงที่ต้องรับฟัง ซึ่งความหมายจริงๆที่พวกเขาต้องการบอกคือ ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตาม?! นี่ไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างที่เขาอ้างแต่คือการบังคับขู่เข็ญ คือเผด็จการ เหมือนพวกเขากำลังประกาศว่า ไม่เอาแล้วกฎกติกาที่ตกลงกันไว้ ตอนนี้มีกฎกติกาใหม่ที่ฉันตั้งขึ้นเองแล้ว ทุกคนต้องเล่นตามกฎกติกาใหม่นี้เท่านั้น ห้ามโต้แย้งใดๆ!

ใครจะยอมรับข้อเรียกร้องที่บังคับข่มขู่เช่นนี้ได้ เป็นเรื่องประหลาดที่บรรดา “ผู้มีการศึกษา” ทั้งหลายเหล่านั้นซึ่งควรจะรู้ดีแต่กลับกลายเป็นหูหนวกตาบอดไปได้ ทำไมพวกเขาไม่คิดบ้างว่าถ้าอีกฝ่ายลุกขึ้นประกาศไม่ยินยอมบ้างแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อไม่มีความยุติธรรมก็ยากจะมีสันติ และแล้วก็เกิดการใช้กำลังเข้าปะทะกันขึ้นจริงๆ เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายอย่างที่รู้กัน ซึ่งเหยื่อที่ต้องสังเวยให้กับความรุนแรง ไม่ว่ากี่ครั้งต่อกี่ครั้ง มักไม่พ้นประชาชนคนธรรมดา ไม่ใช่พวกเขา “ผู้มีการศึกษา”

ขออภัย อาจน่าเบื่อที่ฉันนำเหตุการณ์ที่รู้กันดีอยู่แล้วนี้มากล่าวซ้ำ ทั้งนี้ก็เพื่อเน้นประเด็น “กฎกติกา” นั่นเอง

นอกจากความเสมอภาคและกฎกติกาการอยู่ร่วมกัน ยังมีอีกองค์ประกอบหนึ่งนั่นคือ หลักแห่งสิทธิเสรีภาพ นี่เป็นประเด็นที่ฉันสนใจยิ่ง เพราะเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับ “ประชาธิปไตย” และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพัฒนาการทางปัญญาของมนุษย์

มนุษย์คือผู้มีความคิด รู้คิด เมื่อเขาคิดเขาย่อมต้องการแสดงมันออกมาโดยไม่ถูกห้ามหรือขัดขวางจากสิ่งใด นี่คือหลักการกว้างๆของเสรีภาพซึ่งแน่นอนว่าย่อมต้องมีข้อยกเว้นหรือข้อห้ามบางประการ(ขอละที่จะพูดถึงไว้ก่อน) เพราะเสรีภาพไม่ได้หมายถึงใครจะพูดจะทำอะไรตามแต่ใจตัวเองได้ทั้งหมด

ย้อนไปที่คำ “ชังชาติ” ซึ่งฉันเองแม้ไม่ชอบคำนี้ดังที่ได้กล่าวไป แต่ฉันรู้ว่าจะไปห้ามไม่ให้เขาพูดไม่ได้ เพราะโดยหลักแห่งเสรีภาพเขาย่อมสิทธิที่จะพูด ถ้าฉันไม่ชอบหรือไม่เห็นด้วย ที่ฉันจะทำได้คือ ใช้เสรีภาพเดียวกันนั้นพูดแสดงความคิดของฉันโต้กลับไปเท่านั้นเอง การโต้กันไปมาเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะมันก่อประโยชน์ให้กับทั้งระดับบุคคลและสังคมได้ เป็นธรรมดาที่เมื่อความเห็นที่แตกต่างหลากหลายมาปะทะสังสรรค์กัน ต่างฝ่ายต่างย่อมต้องสรรหาเหตุผล ข้อเท็จจริง และอื่นๆ ที่ดีที่สุดเท่าที่ตนจะหามาได้เพื่อใช้โต้แย้งหักล้างอีกฝ่าย ขณะเดียวกันสมมุติหากแต่ละฝ่ายเปิดใจกว้างเผื่อไว้ว่าตนอาจผิดพลาดได้ การฟังกันและกันอย่างใส่ใจจริงจังก็จะเกิดขึ้นได้ ข้อผิดพลาดของแต่ละฝ่ายที่มีก็จะถูกคัดออก คงเหลือไว้แต่ความถูกต้อง ก่อเกิดเป็นผลิตผลทางปัญญา เกิดผลพลอยได้เป็นความรู้ใหม่ๆ เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เป็นการสร้างสรรค์ใหม่ๆ การโต้กันอย่างมีคุณภาพเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยต่างฝ่ายต่างต้องมีความอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่างจากตนได้ เชื่อว่าตนผิดพลาดได้ จึงไม่ปักหลักว่าตนถูกไว้ก่อนก่อนฟังเหตุผลของอีกฝ่าย ต่างกันอย่างมากกับการมีอคติไว้ก่อนว่าตนเท่านั้นที่เป็นฝ่ายถูกฝ่ายอื่นผิดหมด และการสามารถอดทนอดกลั้นได้นี้เป็นคุณสมบัติที่สำคัญอันหนึ่งของความมีอารยะ เพราะมันช่วยประกันการใช้สติปัญญาที่จะให้เหตุผลแก่กัน ไม่ใช่ใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน

ในทางสาธารณะยิ่งหากต่างฝ่ายต่างมุ่งใช้เหตุผล ข้อเท็จจริง และอื่นๆที่ถูกต้องเหมาะสมมาหักล้างกัน ละเว้นอคติต่อกัน ละเว้นการยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงอันจะนำไปสู่การใช้กำลังทำร้ายกัน(ตัวอย่างข้อห้ามหนึ่งของหลักสิทธิเสรีภาพ) สังคมย่อมจะได้ประโยชน์จากการโต้กันอย่างมีคุณภาพนั้น

แต่แม้จะเป็นการโต้กันแบบคุณภาพต่ำ เช่น ใช้เหตุผลกะพร่องกะแพร่ง ใช้ทั้งข้อเท็จและข้อจริงมาปะปนกัน ใช้วาจาสร้างความขุ่นเคืองใจ ใช้อารมณ์สาดใส่กัน ฯลฯ เหล่านี้ก็ใช่ว่าจะไร้ประโยชน์ เพราะอย่างน้อยสังคมย่อมจะได้เรียนรู้และถกเถียงกันต่อได้ว่าอย่างไรที่ว่าคุณภาพต่ำซึ่งไม่ควรเอาเป็นแบบอย่าง ดังนี้ไม่ว่าจะเป็นการโต้กันอย่างมีคุณภาพหรือไม่ก็ก่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ทั้งสิ้น บางทีอาจไม่ง่ายที่จะเปรียบเทียบเพื่อสรุปว่าด้านใดก่อประโยชน์ให้มากกว่ากัน เพราะทั้งสองด้านนั้นสามารถหนุนเสริมกันได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

อีกอย่าง การอดทนอดกลั้นได้ต่อความคิดเห็นที่ตนไม่นิยมชมชอบ แถมบางครั้งยังสร้างความขุ่นเคืองใจหรือยั่วโทสะอีกด้วย เป็นสิ่งบ่งบอกว่าผู้นั้นมีใจกว้าง มองโลกอย่างที่เป็นอยู่จริงว่ามากไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย มีคนอยู่หลายประเภท ซึ่งตนก็เป็นประเภทหนึ่ง ไม่เอาตนเป็นศูนย์กลางของความจริงความถูกต้องใดๆ เป็นเช่นปุถุชน รู้ตนยังไม่สัมบูรณ์ คนที่อดทนอดกลั้นได้จะไม่เป็นต้นเหตุแห่งการใช้กำลังหรือความรุนแรงเพราะเชื่อในการใช้เหตุผล คนที่อดทนอดกลั้นได้จะไม่ปิดปากใคร ไม่ริบเอาเสรีภาพในการพูดไปจากใคร แต่จะยินดีฟังอย่างใส่ใจจริงจังแม้เป็นความคิดที่ตนไม่ชื่นชอบ แม้เป็นผู้ที่ตนไม่ชมชอบ ก็ตาม

นี่คือหลักคิดที่ว่า ใครก็สามารถพูดสิ่งที่คิดได้ จะโต้ใครก็ได้ เมื่อใครคนหนึ่งพูด ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร คำพูดของเขาย่อมสมควรถูกโต้ตอบได้ภายใต้หลักเสรีภาพในการพูด และถ้าเสรีภาพในการพูดก่อให้เกิดประโยชน์ แล้วการไม่มีเสรีภาพในการพูดจะก่อให้เกิดอะไรขึ้น? ฉันเหมือนจะตั้งคำถามนี้กับคุณซึ่งฉันควรจะถามตัวเองหรือไม่ก็ถามประเทศของฉันเองมากกว่า…

เสรีภาพในการพูดคือการสามารถจะพูดอะไรก็ได้(ยกเว้นข้อห้าม)โดยไม่ถูกจำกัด การมีเสรีภาพที่จะพูดถึงได้เพียงบางสิ่ง โดยต้องละเว้นการพูดถึงบางสิ่ง ไม่ใช่เสรีภาพ แต่คือการไม่มีเสรีภาพ ไม่มีมนุษย์คนไหนในโลกนี้ที่ไม่รู้จักคิด และไม่มีมนุษย์คนไหนที่คิดเหมือนกันทุกอย่างกับคนอื่นๆ การโต้กันต้องไม่ถูกมองเป็นความขัดแย้งวุ่นวาย การห้ามการโต้กันแท้จริงเป็นข้ออ้างที่จะปิดปากเสรีภาพนั่นเอง ถ้าเสรีภาพในการพูดก่อประโยชน์แก่สติปัญญาทั้งในระดับบุคคลและสังคมได้ เช่นนี้ การไม่มีเสรีภาพในการพูดย่อมให้ผลในทางตรงข้ามจากที่กล่าวเป็นแน่ เมื่อมนุษย์คิดสิ่งใดเขาควรมีเสรีภาพที่จะแสดงมันออกมา(ตราบใดที่มันไม่ไปฆ่าใครหรือเป็นเหตุให้ไปฆ่าใคร) ทั้งควรได้รับการคุ้มครองจากรัฐด้วย แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่ฉันจะคาดหวังได้จากประเทศของฉัน อย่างไรก็ตาม มีผู้คนไม่น้อยที่ไม่สามารถทนการไม่มีเสรีภาพเช่นนี้ได้ ไม่สามารถทนให้ใครมาปิดปากได้ จึงเปิดปากพูดวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป้าส่วนใหญ่เป็นพวกผู้มีอำนาจ และสิ่งที่เกิดตามมาคือพวกเขาได้รับผลร้ายต่างๆกันไป เช่น ถูกกลั่นแกล้ง ถูกข่มขู่คุกคาม ถูกทำร้ายร่างกาย/ทรัพย์สิน ถูกทำให้สูญหาย ถูกดำเนินคดี ต้องหลบหนี ลี้ภัย ฯลฯ ในขณะที่หลายๆกรณีเป็นการกระทำแบบกึ่งลับกึ่งเปิดเผยโดยตรงจากรัฐ เช่น การไป “เยี่ยมบ้าน” การเรียกตัวไป “ปรับทัศนคติ” ซึ่งคือการข่มขู่คุกคามชนิดหนึ่ง กรณีต่างๆเหล่านี้อาจไม่เป็นข่าวหรือเป็นแค่ข่าวเล็กๆในสื่อกระแสหลัก ดูภายนอกจึงเหมือนว่าบ้านเมืองของฉันมีความสงบเรียบร้อย ไม่มีเหตุการณ์ขัดแย้งวุ่นวายใหญ่โตเช่นแต่ก่อน แต่นี่คือภาพลวงตา ภาพลวงตาที่กลบเกลื่อนคลื่นใต้น้ำที่อยู่ข้างล่าง นี่คือความเป็นจริงของประเทศฉันในเวลานี้

ฉันขอพูดซ้ำพูดย้ำ- ไม่มีมนุษย์มนาคนไหนในโลกนี้ที่ไม่รู้จักคิดหรือไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง และไม่มีมนุษย์คนไหนที่คิดเหมือนกันทุกอย่างกับคนอื่นๆ นี่เป็นสิ่งที่แสนจะปรกติธรรมดา เป็นสัจธรรม แต่สำหรับผู้ที่ไม่เชื่อในหลักสิทธิเสรีภาพจะมองสิ่งปรกติธรรมดานี้อย่างเป็นสิ่งไม่น่ายินดี อย่างเป็นสิ่งที่น่าชิงชังรังเกียจ น่าหงุดหงิดรำคาญใจ ที่ควรถูกกำจัดไม่ให้มีอยู่ สิ่งที่เขาต้องการคือ ทุกคนไม่ควรรู้จักคิดด้วยตนเอง ไม่ควรมีความคิดของตัวเอง ทุกคนต้องไม่คิดในสิ่งที่ถูกห้ามให้คิด คิดได้เฉพาะที่อนุญาตให้คิด และสุดท้าย จะเป็นการดีที่ทุกคนจะคิดเหมือนๆกันและทำตามที่ถูกสั่งได้เช่นหุ่นยนต์ และเขาเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นความดีงาม ความสงบเรียบร้อย และความสามัคคี

ทั้งหมดนี้คือความนึกคิดเท่าที่นึกได้ของฉันเกี่ยวกับ “สันติภาพ” และฉันหวังว่าจะได้แลกเปลี่ยนกันกับคุณในข้อความคิด มุมมอง และอื่นๆ ไม่ว่าจะในลักษณะใดด้วยยินดียิ่ง

มีข้อเตือนใจล้ำค่ามากมายที่ฉันได้จากประเทศคุณ มันราวถูกส่งไกลมาจากใจกลางแห่งนครเบอร์ลิน คือข้อเตือนใจที่จะไม่ถูกทำให้แผ่วจางหรือเงียบเสียงไป และคือข้อเตือนใจที่จะคอยดังเตือนอยู่ในมโนนึกของมนุษยชาติไปตลอดกาลนาน  แม้ “สันติภาพ” จะยังเป็นความฝันอันแสนไกล ก็ขอเราจงร่วมกันฝ่าฟันไป ถึงหากแม้จะเป็นแค่ก้าวเล็กๆ แต่ก็ยังเปี่ยมความหมาย.

เสรีภาพ ความเท่าเทียม กฎกติกา คือประชาธิปไตย มีประชาธิปไตยจึงมีสันติภาพ.

๗๔ ปี รำลึกวันสันติภาพไทย สันติภาพจงเจริญ!

 

ด้วยมิตรภาพ

จาก มิตรของคุณ

 

ชนา ชุติสมิต เป็นสามัญชน ไม่มีและไม่ปรารถนาสิทธิพิเศษใด เป็นปุถุชน มีดีมีเลว และเคารพกฎกติกา.