Still Lives No. 1 : มุทิตา เชื้อชั่ง

มุทิตา เชื้อชั่ง

มุทิตา เชื้อชั่ง เป็นนักข่าวสังกัด ประชาไท มาตั้งแต่เรียนจบ แม้ตอนนี้จะลาออกจากต้นสังกัดแล้วก็ยังเป็นนักข่าว เธอสนใจคนชายขอบและปัญหาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ทำงานฝึกหัดที่หนังสือพิมพ์มติชน  แต่กระนั้นเธอบอกว่าในตอนแรกเธอไม่อยากเป็นนักข่าว เธอเพียงแต่อยากรู้ความเป็นไปของชีวิตชาวบ้าน “ก็แค่อยากเสือกเรื่องของชาวบ้านน่ะพี่ แล้วการเป็นนักข่าวมันก็อนุญาตให้ทำในสิ่งที่เราสนใจ” เธอว่าไว้อย่างนั้นในเย็นวันที่เรานั่งจิบกาแฟคุยกันที่เคาท์เตอร์เบียร์ที่ยังไม่เปิดย่านรัชดาฯ

มุทิตาเรียนจบภาควิชาหนังสือพิมพ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัย(วิชา)ธรรมศาสตร์(และการเมือง) แต่เธอยอมรับว่าเธออกหักกับคณะวารสารฯ ไม่ได้เรียนวิชาในคณะมากนักเพราะไม่ใช่สิ่งที่เธอต้องการ เธอว่ามันเป็นความรู้ในเชิงเทคนิค ขณะที่เนื้อหาวิชาการออกจะเบาหวิว เธอสนใจอะไรที่มากกว่านั้น อะไรที่เจาะลึก มีการวิเคราะห์ อะไรบางอย่างที่สามารถให้คำอธิบายได้ไม่ว่าในเชิงประวัติศาสตร์หรือการเมือง เพื่อทำความเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น วิชารัฐศาสตร์ดูเหมือนจะให้คำตอบ เธอเข้าไปเรียนวิชาสายรัฐศาสตร์ในวิชาปรัชญาการเมือง แล้วรู้สึกพบเจอในสิ่งที่เธอต้องการ มุทิตาจึงเริ่มเป็นนักศึกษารัฐศาสตร์ทางพฤตินัยมาตลอด

“สนใจการเมืองตั้งแต่เมื่อไหร่” ผมถาม

“ก็ไม่ได้สนใจมากหรอก แต่จำได้ว่าตอนเด็กๆ เราเห็นหนังสือ เห็นโปสเตอร์เกี่ยวกับตุลาคม 2519 ที่บ้าน เป็นของพ่อแม่ ตอนสมัยนั้นเขาเป็นประชาชนคนธรรมดาที่สนใจแนวคิดฝ่ายซ้ายแนวร่วมกับฝ่ายนักศึกษาปัญญาชน” เธอเล่าย้อนหลัง “พอสงสัยแล้วถาม เขาก็เล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เขาก็ไม่ได้เป็นนักศึกษา แต่เป็นคนธรรมดาที่สนใจการเมือง และเข้าไปมีส่วนร่วม”

มุทิตาทำงานเป็นนักข่าวมาตั้งแต่ปี 2547 ช่วงแรกๆ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ต่อมาเมื่อเกิดรัฐประหาร 2549 ก็เกิดขบวนการทางการเมืองทั้งเหลืองทั้งแดง

“สนใจเสื้อแดง ควายแดงทั้งหลาย เลยเข้าไปดูว่าถูกจ้างมาจริงไหม จากที่ทำข่าวเคยร่วมวิพากษ์ทักษิณหนักๆ พอมีมาตรา 7 ทวงคืนพระราชอำนาจ ก็เริ่มหยุด คิดว่าผิดที่ผิดทาง รู้สึกว่าไม่ใช่ เราได้รับอิทธิพลจากวาทกรรมเรื่องนักการเมืองชั่วมาตลอด แต่สุดท้ายเราว่าเวลาคิดแบบนี้มันไปเข้าทางอำนาจอื่นที่จะเข้ามาแทรกแซงการเมือง นักการเมืองจะเลวขนาดไหนอย่าไปไม่เอา แต่ควรวิพากษ์วิจารณ์กันไป ปฏิเสธไม่ได้ ประชาธิปไตยมันถูกดีไซน์มาแบบนี้”

“แล้วไหนบอกว่าไม่ชอบเป็นนักข่าว ทำไมทำมาได้ตั้งหลายปี” มุทิตาทำงานเป็นนักข่าวอยู่ประชาไท 13 ปี ก่อนที่จะลาออกมาเป็นนักข่าวอิสระ

“เราไม่ชอบเป็นนักข่าว มันขัดกับบุคลิก ไม่ชอบพูดกับคน เป็นคนช้า โลกส่วนตัวสูง แต่พอมาทำที่ประชาไท เขาให้อิสระ ซึ่งมันตรงกับจริตของเราที่ชอบสื่อสารในเรื่องที่สนใจผ่านการเขียนและ approach แบบนักข่าว”

“พอเกิดรัฐประหารปี 53 มีเหตุการณ์รุนแรงก็เลยยิ่งอิน เสื้อแดงโดนหลายรอบ นอกจากปมเรื่องการเมือง-ทาสทักษิณ ปัญหาความรุนแรง ยังเป็นปัญหาชนชั้น ช่วงนั้นไม่ค่อยมีคนอยากเปลืองตัววิจารณ์การเมือง แต่เราอยู่ในสนาม เราเห็น เราก็เลยทำประเด็นนี้”

“แล้วจากรัฐประหารทำไมขยับมาสนใจคดี 112 ทั้งๆที่มันเป็นประเด็นอ่อนไหวมาก ยากที่จะอธิบายให้คนเข้าใจ”

“เลือกประเด็นนี้เพราะเราคิดว่าเรื่องนี้เป็นใจกลางปัญหา เราคิดว่าบทบาทสถาบันกษัตริย์ตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมามันไม่จบ วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ แล้วมักถูกดึงเอามาใช้อย่างไม่มีเหตุผล มาฟ้อง มาใช้กฎหมาย กลไกรัฐต่างๆ ถูกใช้เป็น propaganda มาหกสิบปี แล้วเอามาเล่นงานคนอื่น มันเป็นปัญหาหลัก สื่อไม่เล่นเพราะกลัว  ประชาไท เกิดมาเพื่อสู้กับปัญหาความไม่เป็นธรรมแบบนี้ มันก็เลยแมทช์กัน”

“เธอไม่กลัว ?”

“เราขี้กลัวจะตาย แต่บรรณาธิการไม่กลัว ประชาไท ไม่กลัวไง”

“แล้วเธอคิดว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ?”
“สิ่งที่เราทำก็คือ เราไม่คิดจะเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนอะไรใคร เราไม่ได้มีความคิดแบบนักเคลื่อนไหวที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคม เราโง่เง่ากว่านั้นเยอะ เราเป็นคนขี้เสือก และอยากจะพูด แค่นั้นเอง เป็นคนขี้เม้า อยากเล่า ทึกทักเอาว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง ให้คนเขารู้อีกมุมหนึ่ง เวลาแก่แล้วความคิดก็เปลี่ยนไปบ้างเหมือนกันนะ อยากรู้ ไปเสวนา รู้อะไรมาอยากเล่า คิดแค่เรื่องเฉพาะหน้า ไม่ได้คิดอะไรยาวๆ ”

วันต่อมาผมอยู่บนรถกับมุทิตาที่กำลังจะไปเยี่ยม รสมาลิน ตั้งนพกุล หรือ ป้าอุ๊ (ภรรยาของ “อากง SMS” อำพล ตั้งนพกุล อดีตผู้ต้องหาคดี 112 ที่ต่อมาเสียชีวิตในเรือนจำ) มุทิตาขับรถไปเรื่อยๆ พลางฟังและตอบคำถามเกี่ยวกับความเป็นนักข่าวอาชีพ และความรู้สึกผูกพัน เห็นอกเห็นใจ ‘แหล่งข่าว’ ในฐานะของความเป็นมนุษย์

“เธอรู้จักกับป้าอุ๊ได้ยังไง แล้วทำไมถึงไปช่วยเขา”

“เราจำไม่ได้แล้วว่าวันนั้นเรารู้ได้ยังไงว่าอากงอยู่ที่ศาล เราไปนั่งเป็นเพื่อนป้าอุ๊รอคำสั่งศาล ไม่ได้ช่วยอะไรเขา ไม่ได้คุยกัน ก็นั่งเป็นเพื่อนอยู่เงียบๆ ก่อนกลับเราก็ให้เบอร์แกไว้เผื่อว่ามีอะไรเราพอช่วยได้ก็บอก สุดท้ายแกก็โทรมา เราก็แนะนำทนายไป จากนั้นก็คุยมาเรื่อย แกก็ไว้ใจ หน้าที่ของเราคือรับฟัง ต่อมาแกจะไปเยี่ยมอากง เราเห็นแกลำบากก็อาสาไปรับส่ง ช่วยอะไรได้ก็ช่วยกันไป หลังๆ แกมีอะไรก็โทรมาคุย มาเล่าให้ฟัง ซึ่งเราก็ไม่ได้ช่วยอะไร หน้าที่เราคือรับฟังเฉยๆ ถ้ามีคำถาม มีปัญหาที่เราตอบไม่ได้ เราก็ไปถามคนอื่นๆ ให้ แล้วก็ไปบอกแก ตอนนี้ก็เหมือนเป็นญาติผู้ใหญ่” มุทิตา เล่าประวัติไล่เรียงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“แล้วเคสคุณดาล่ะ (“ดา ตอปิโด” – ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล อดีตผู้ต้องโทษคดี 112) เริ่มมาจากอะไร”

“พี่ดานี่เคสคลาสสิค เป็นคดีแรกของคดีหมิ่นฯ ถูกตัดสินจำคุกสิบแปดปี เราสงสารแก ติดคุกมาตลอด จากคนที่เป็นนักสู้ เป็น fighter แต่ก็ถูกขังจนหง่อมเลย พี่ดาติดจริงแปดปี ไม่รับสารภาพ สู้คดีจนถึงชั้นอุทธรณ์แล้วถอนฎีกาเพราะป่วย แกได้ลดหย่อนโทษจนเหลือแปดปีกว่า เจอก้อนเนื้อในเรือนจำแต่ไม่ได้ตรวจ ได้กินแต่ยาพาราฯ

“ไม่ได้รู้จักแกตั้งแต่แรก คือเราไปรายงานข่าว ต่อมาไปเยี่ยมแกในคุก พอได้คุยก็พบว่าแกไม่ใช่คนเลวร้าย แล้วยังเป็นคนอ่านหนังสือ พอได้คุยก็เข้าใจวิธีคิด แต่การแสดงออกชอบไม่ชอบนี่อีกเรื่องนะ คือในฐานะมนุษย์ เราฟังเขาก่อน”

“ได้ยินมาว่าแกป่วย ?”

“พอแกออกมาจากคุกเราก็ไม่สนใจแก หน้าที่เราคือทำข่าว พอแกออกมาก็หมดหน้าที่เรา จริงๆ คือเรารู้สึกผิด เราแค่รู้สึกว่าอยากแนะนำให้แกไปตรวจสุขภาพแต่ตอนนั้นเราไม่ได้บอก เราบอกแกช้าไป สองปี จริงๆเราน่าจะบอกแกก่อน แล้วอีกอย่างคือแกออกมาจากคุกแล้วไม่มีเงิน พอไม่มีเงินเลยไม่ได้คิดเรื่องสุขภาพ ไม่ได้ไปตรวจ ตอนนี้ช่วยอะไรได้ก็ช่วย เราพาแกไปหาหมอที่ศิริราชตามเวลานัด ถ้าเราไปได้เราก็ไป ถ้าไปไม่ได้ก็มีน้องอีกคนหนึ่งเป็นอาสาสมัครช่วยรับส่งแก เราไม่คุยเรื่องสภาพจิตใจกับแกเลยนะ คุยเรื่องสุขภาพอย่างเดียว

“ที่จำกัดคุยเรื่องนี้เพราะไม่อยากมีความสัมพันธ์ใช่ไหม”

“เป็นไปได้ และแกก็พูดเท่านั้น เป็นความสัมพันธ์แบบที่เราดีลกัน เกินอาชีพนักข่าวไปเยอะละ (หัวเราะ)”

“เคสนี้เราจะเห็นทศวรรษของคนที่การเมืองทำอะไรกับเขาไว้บ้าง แกแค่อ่านหนังสือประวัติศาสตร์เยอะไปหน่อย แล้วต่อจิ๊กซอว์ได้ ถ้าอยู่เมืองนอกนี่ก็คนธรรมดา แต่ที่นี่มันไม่ได้ไง แกมีลักษณะเป็นปัญญาชน ชอบทักษิณแต่ไม่ได้คลั่งนะ เพราะแกเคยจนเป็นเจ๊กที่ลำบาก ทักษิณช่วยให้คนรากหญ้าลืมตาอ้าปากได้”

เมื่อไปถึงบ้านป้าอุ๊ ผู้หญิงสองคนที่ไม่ใช่ญาติแต่ผูกพันกันในฐานะมนุษย์ คนหนึ่งเป็นแม่หม้ายที่มีลูกหลานต้องดูแล อีกคนเป็นนักข่าวที่สานความสัมพันธ์กับแหล่งข่าวจนเป็นเหมือนญาติผู้ใหญ่ ทั้งสองสวมกอดพูดคุยไต่ถามสารทุกข์ ส่วนความสุขคงไม่มีอะไรนอกเสียจากได้พบหน้ากันบ้าง ผมได้แต่เฝ้ามองเหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้า

สวนที่เคยแห้งแล้งเป็นเพียงแผ่นดินแตกระแหงในช่วงไม่กี่ปีกลับกลายเป็นผืนดินชุ่มชื้นด้วยต้นไม้ผักสวนครัวที่เป็นแหล่งอาหาร บ่อขุดข้างบ้านเป็นแหล่งหาปลา มะนาว มะเฟือง มะม่วงหาวมะนาวโห่ให้ผลผลิตพอเก็บกินได้บ้าง ต้นตาลสูงเป็นที่อยู่ของค้างคาวที่ส่งเสียงจี๊ดๆ เหมือนหนู บ่อเลี้ยงกบที่เคยเป็นแหล่งรายได้ถูกปล่อยให้แห้งเพราะตัวเหี้ยแอบลงไปกินหมด เวลาผ่านไปจากบ่ายจนเย็นย่ำ ผู้หญิงต่างวัยสองคนดูเหมือนมีเรื่องคุยกันไม่จบสิ้น รอยยิ้มของความสุขมากล้นจนเปิดให้เห็นฟันหลายซี่ปะปนไปกับริ้วรอยความกังวลของชีวิตและหนทางข้างหน้าที่หว่างคิ้ว ถึงเวลาแล้วต้องจากกัน ทั้งคู่สวมกอดกันนานหลายนาที

“คิดยังไงกับจรรยาบรรณของวิชาชีพ ที่ควรจะรักษาระยะกับแหล่งข่าว” ผมถามเมื่อความเงียบเริ่มทำงานบนถนนสายกลับบ้าน

“คือวิธีการทำงานของเรา เราจะค่อยๆ ถามสะสมไปเรื่อย ถ้าเขายังไม่ไว้วางใจ เราก็จะไปนั่งเป็นเพื่อนให้เขาค่อยๆรู้จัก เราไม่เร่งรีบ เราไม่ต้องการถามแบบ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า เรารู้สึกไม่พอใจ เราต้องการบทสนทนา ต้องการเข้าใจภาพรวม วิธีคิด ซึ่งเป็นวิธีการทำงานที่ใช้เวลาเยอะ และมีดีเทลเยอะ ตอนแรกก็สับสนบทบาทตัวเอง คนอื่นก็ตั้งคำถาม ทำไมต้องไปเหนื่อยขนาดนั้น ก็เคยกังวลว่าจะกระทบจรรยาบรรณวิชาชีพไหม เราก็ทบทวนตัวเองหลายครั้ง มีความเห็นอกเห็นใจไหม -มี เราก็ไม่ได้ปั้นแต่งอะไรให้มันเกินเลย ก็บอกเล่าไปตามความเป็นจริงที่เรารับรู้ อะไรที่เป็นข่าวก็ข่าว อะไรเป็นสกู๊ปก็ใส่ความคิดเห็นลงไปได้บ้าง คนอ่านก็รู้ว่าเป็นสกู๊ป ก็เป็นวิจารณญาณของคนอ่าน ส่วนความเสือกของเราส่วนตัวที่ห้ามไม่ได้ก็ไม่รู้จะทำยังไง ก็พยายามรักษาระยะห่างของเราเอาไว้ ไม่งั้นจะรบกวนการทำงานเหมือนกัน

“สุดท้ายคำตอบของเรา (ถอนใจ) ถ้าเราเป็นนักข่าวผู้ถือปากกาทองแล้วทำอะไรก็ไม่ได้ มันก็ขัดกับธรรมชาติของเรา ก็ต้องเลือกต้องบาลานซ์ คือเรามีหมวกหลายใบ อาชีพก็เป็นหมวกใบหนึ่ง ถ้าเราเป็นนักข่าวแล้วเราทำอะไรไม่ได้เลยที่เป็นความคิดความรู้สึกเราเอง เราไม่สวมหมวกใบนั้นก็ได้ เราก็ทำในฐานะเรานี่แหละ ในฐานะหญิงบ้าคนหนึ่งก็ได้”

แล้วผมจะต้องการคำตอบอะไรที่ชัดเจนไปกว่านี้ ?

พระอาทิตย์กำลังจากลา ถนนเบื้องหน้าสีเทาดำเข้ม ไฟถนนเปิดเรียงเป็นทางทอดยาว ในรถยนต์ไม่ได้เปิดเพลงกล่อมการเดินทาง เสียงล้อบดถนนดังคลอตลอดทาง นอกจากนั้นก็เป็นความเงียบอันอื้ออึง

ผมถามคำถามเกี่ยวกับการเมืองในช่วงเวลาของเรา เด็กรุ่นใหม่ และความหวัง

“เราคิดว่ามันเป็นความเหมาะเจาะ คือมันมีความเข้าใจเป็นพื้นฐานอยู่ มันอินกับประวัติศาสตร์การเมือง มันอินกับ 2475 มันเข้าใจแล้วมันก็มาเห็นสถานการณ์ในปัจจุบัน แล้วมันก็เห็นคนที่ถูกกระทำ แล้วมันก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ มันไม่ถูก แล้วมันดันไปอยู่ในจุดที่ทำอะไรบางอย่างได้

“เราคิดว่าใครหลายๆ คน ถ้ามาอยู่ในจุดที่ทำอะไรบางอย่างได้ ก็จะทำ

… มันไม่ใช่แค่เรา”