รีวิวหนังสือ ประชาธิปไตยมีดีอะไร ของ พริษฐ์ วัชรสินธุ: ประชาธิปไตยแต่ไม่เอา “เสรีนิยม” ละกัน

Review of Why So Democracy: An Elementary Case for Democracy without Liberalism –

Disclaimer: In Lacanian psychoanalysis, the first alienation occurs when we are confronted with what would become our native language. The Real specific to a language as an Other institutes a reality specific to that alienation, so that in essence something may appear in one language but not anOther. The irreconcilability in what emerges from Itim’s Real is manifest in the title of the book under discussion here and its liberal translation: Why So Democracy; or ประชาธิปไตยมีดีอะไร (trans: What is good about democracy). In the course of my review, I attempt to keep in the forefront this irreconcilability by putting the thai word for liberalism in quotation marx (“เสรีนิยม”) where the liberalism as understood by Itim actually corresponds with the liberal centrist consensus rather than classical liberalism, a valid distinction in the english-speaking world that is suspiciously not made in this beginner’s guide to the milestone of western civilization.

ครั้งแรกที่ข้าพเจ้าเคยได้ยินว่ามีบุคคลชื่อไอติมอยู่ในโลกก็ประมาณช่วงปีที่แล้วที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เวิร์ลด  เผอิญวันนั้นเดินทอดน่องผ่านหน้าร้านหนังสือและเครื่องเขียนบีทูเอสก็เห็นคนมาออกันเต็มไปหมด พอมองป้ายก็เห็นว่าเป็นงานเปิดตัวหนังสือ Why So Democracy หรือ ประชาธิปไตยมีดีอะไร ของบุคคลดังกล่าว ด้วยความที่ตอนนั้นไม่ได้รีบจะไปไหน ข้าพเจ้าเลยยืนรอดูท่ามกลางหมู่แฟนๆหนังสือรุ่นสาวแก่แม่หม้ายทั้งหลาย ไอติมซึ่งต่อมาข้าพเจ้าทราบชื่อทางกฏหมายว่า พริษฐ์ วัชรสินธุ เดินมานั่งตรงเวทีเล็กขนาบด้วยป้ายโฆษณาหนังสือ ตัวไอติมใส่เสื้อเชิ๊ตกระดุมสีเทาไม่ก็กากีและกางเกงสแล็คสีดำ (มั้ง) ใจความโปรโมตหนังสือข้าพเจ้าจำไม่ได้หรอก แต่ที่จำได้แม่นคือคำพูดที่เปรียบเอาระบบสังคมนิยมและประชาธิปไตยและอื่นๆไปเทียบกับการขับรถในวงเวียน ได้ยินอุปมานี้เข้าก็อดถอนใจหัวเราะออกมาไม่ได้

หลายเดือนที่ผ่านมาข้าพเจ้าก็ได้เอาเหตุการณ์ที่บีทูเอสนั้นไปเล่าให้บรรดาเพื่อนๆฟังจึงได้ทราบว่าไอติมเป็นใคร มีเส้นสายและจารีตอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใด ล่าสุดก็ได้รับหนังสือเล่มที่ว่ามาจากสหายท่านนึงพร้อมคำท้าทายหยอกเล่นๆ (รึปล่าว?) ทำไมไม่ลองวิจารณ์หนังสือของไอติมจากมุมมองจารีตอุดมการณ์อื่นดูล่ะ  ในใจเองตอนแรกก็คิดว่าก็ได้นะ จะลองนำเนื้อหาของมันเข้าไปวางในกรอบใดกรอบนึงดู  แต่พอข้าพเจ้าได้อ่านเข้าจริงกลับพบว่าตัวเองไม่สามารถยอมรับกับความคาดหวังที่มีต่อหนังสือเล่มนี้ไว้ได้ ถึงขนาดรีวิวนี้ต้องเขียนต้นฉบับเป็นภาษาถิ่นเกิด  กระแสตอบรับตัวไอติมเองที่ข้าพเจ้าได้ยินมาจากเพื่อนๆ บางท่านที่เป็นอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ก็สรุปเป็นคำขยายง่ายๆว่า ยึดมั่นในอุดมคติเกินไปบ้างไม่ก็ไร้เดียงสาบ้าง แต่เราสามารถใช้คำเหล่านี้ได้หรือในแง่ที่มันผูกติดอยู่กับความอ่อนโลกด้อยประสบการณ์ หากในโลกแองโกลตะวันตกยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่มีความคิดเดียวกันและผ่านวัตถุสภาวะเดียวกันกับที่ไอติมผ่านประสบการณ์มา เช่น นักวิชาการ, “นักปรัชญา” และอื่นๆ  หนังสือเล่มนี้เป็นผลผลิตจากสภาวะแวดล้อมวิชาการอำนาจตะวันตกฉันใด วิธีการรีวิวหนังสือเล่มนี้ของข้าพเจ้าก็จะทำการสวนกระแสอำนาจตะวันตกจากมุมมองของนักประวัติศาสตร์ “นักวิชาการ”สวนอำนาจตะวันตกก็ฉันนั้น หากข้าพเจ้าจะใช้พื้นที่นี้ในการสอนทำลายความเชื่อผิดๆที่ไอติมพูดมโนเอาเป็นความจริง ตัวผู้อ่านของไอติมเองก็คงจะไม่ว่าที่จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ

ก่อนจะเข้าสู่การวิจารณ์ข้าพเจ้าก็บอกก่อนว่าเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของไอติมที่ต้องการจะให้ทุกคนยึดมั่นกับ “อุดมการณ์ประชาธิปไตย” ซึ่งก็เป็นความเสมอภาคของทุกผู้คนในรูปแบบหนึ่ง1 และข้าพเจ้าก็ยอมรับว่าไอติมมีความรอบรู้ข้อมูลเชิงกฎหมายและระเบียบสภาที่ข้าพเจ้าไม่มีหัวให้หรอกในระดับที่สามารถอธิบายให้อ่านฉับเดียวเข้าใจได้ แต่กระนั้นความผิดพลาดของไอติมเห็นได้อย่างชัดเจนและแบ่งได้ออกเป็นสามประเภทคือ การบิดเบือนความเป็นจริงบนเวทีสนทนาโลกโดยไม่ได้ตั้งใจ, บิดเบือนประวัติศาสตร์ชาตินอกอำนาจตะวันตกด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการไม่ถามคำถามสำคัญที่ต้องละไว้ในฐานที่เข้าใจตามสภาพรัฐอำนาจตำรวจไทย จะให้ตอบแย้งทุกข้อก็คงจะเป็นการทำอะไรเกินขอบเขตงานของตัวหนังสือจนอาจมีคนสวนกลับว่าแล้วทำไมไม่เขียนหนังสือเอง ข้าพเจ้าจึงขอหยิบยกมาเพียงหัวข้อที่น่าสนใจโดยคำวิจารณ์จริงๆอาจจะไม่ได้ตรงกับบทที่เขียนเป็นหัวเรื่องไว้อาจจะมีไหลทะลักเข้าไประรานเนื้อหาที่อยู่ในบทอื่น

 

ภาพรวม

Why So Democracy รูปพรรณเป็นหนังสือกว้างยาวขนาดเล็กหนา 290 หน้า ปกอ่อนพิมพ์ฟอนต์ใหญ่ขนาดกะทัดรัดสามารถใส่ในกระเป๋ากระดุมของกางเกงชุดฝึกพรางได้ไม่ตุงน่าเกลียดระเบียบเครื่องแต่งกาย เนื้อหาแบ่งออกเป็น 26 บท โดยแต่ละบทเป็นการตั้งคำถาม “ชวนคิด” ของไอติมตามด้วยบทความสั้นๆให้ผู้อ่านได้ตอบในใจหรือเอาไปขบคิดเอง โดยผิวเผินดูจะเป็นรูปแบบที่สนับสนุนการปลูกสร้างความคิดในตัวผู้อ่าน ซึ่งความรู้ที่ไอติมสอดแทรกไว้ในแต่ละบทไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับ “ปรัชญา” หรือเกร็ด“ประวัติศาสตร์”การเมือง เป็นความรู้ผิวเผินที่ท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปค้นหาดูเองได้ในวิกิพีเดีย เช่นกันผิวเผินแล้วประสบการณ์ส่วนตัวที่ไอติมสอดแทรกมาดูเหมือนจะเพิ่มความเป็นอัตลักษณ์อยู่บ้างแต่ความเป็นอัตลักษณ์นี้กลับไม่มีความคิดอ่านดั้งเดิมมาสนับสนุน กล่าวคือ คำพูดคำคมและข้อกล่าวหาประเทศที่ไม่ได้อยู่ในกรอบประชาธิปไตยของพ่อแม่แบบสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นของไอติมพูดเองหรือเป็นของผู้ที่ไอติมให้ความสำคัญขนาดถึงต้องยกมาให้เป็นวิทยาทานนั้น เป็นคำพูดที่ท่านผู้อ่านสามารถเห็นได้ทั่วไปในกระดานสนทนาการเมืองซ้ายขวาในโลกสื่อสังคมออนไลน์ไทยและเทศ ซึ่งแน่นอนคำพูดที่ถอดแบบตามตามกันมาเช่นนี้ไม่มีข้อมูลทางสถิติหรือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มาสนับสนุน  หากจุดประสงค์ของไอติมในการเขียนหนังสือเล่มนี้คือต้องการจะเปิดประตูแรกสู่ความเป็นไปได้ทางจินตนาการการเมืองของผู้อ่านที่เคยแต่ยืนจ้องเอาแต่เคาะประตูนี้อยู่นั่นแหละ ข้าพเจ้าก็บอกได้ว่าไอติมแค่เอากระดิ่งไฟฟ้ามาติดให้กดออดออดออดได้สะดวกขึ้นก็เท่านั้น

ความดาษดื่นทางเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ถูกสะท้อนให้เห็นในการที่ไอติมชอบยกคำพูด “เด็ด” (ideological) สั้นๆ จาก “นักปรัชญา”การเมืองหรือบุคคล“สำคัญ”ทางประวัติศาสตร์ โดยไม่มีบริบท และยึดถือคำพูดคำเขียนของไดโนเสาร์เหล่านี้มาโคว๊ตเป็นบัญญัติดุจบัญญัติศาสนาโดยไม่มีการตั้งคำถามว่า แล้วไอ้ที่ จอน รอวส์, อัลแบร์ ไอสะตายน์, จอน สตุหวอด มิล, หรือที่อาชญกรสงครามอย่าง มากาเล็ต แต๊ตเช่อ, หรือนักกำหนดประวัติศาสตร์ตามใจอำนาจอาณานิคมอย่าง วินสตั้น เชอชิ่ล พูดเนี่ย มันจริงเหรอ? มีปัจจัยใดทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้คนเหล่านั้นพูดเช่นนั้นในเวลานั้น ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าซิลลาบุสของโปรแกรม PPE ที่ไอติมไปเรียนมาที่อ๊อกซ์เฟิดเค้าให้อ่านอะไรกัน แต่เทรนด์การพัฒนาของปรัชญาจากยุคของ โซคระเทส จนถึงปัจจุบันนั้นมิใช่การรีไซเคิลคำถามเดิมๆให้ชวนกันหาคำตอบใหม่ๆแบบที่ไอติมกำลังทำอยู่เสียด้วยซ้ำ แต่เป็นการพยายามหาทางตั้งคำถามใหม่ให้ถูกต้องตามปัญหาที่มันมีอยู่แล้ว ด้วยความที่ว่ามนุษยชนชาติและปัญหาที่ระดมรุมล้อมเรานั้นเริ่มจะเป็นสิ่งที่เกินความคิดออกไปเรื่อยๆ เป็นการยึดคืนกรอบความคิด มิใช่การปัดกวาดสรรหาพื้นที่นั่งนอนท่ายากพิสดารภายในกรอบนั้น ดังนั้นข้าพเจ้าจึงอยากจะแนะนำผู้สนใจอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่ทาง“ปรัชญา”การเมือง หรือกรำศึกมาอย่างโชกโชนเหมือนแม่ทัพแฮหัวตุ้น ว่าพอได้คำตอบของคำถามไอติมแล้ว ลองไปดูสิว่าคำถามแต่ละข้อของไอติมมันมีวิธีการถามที่“ชวนคิด”หรือชวนหลุดพ้นกว่านี้หรือไม่

 

เริ่มที่บทที่ 25 ความสับสนทางขั้วเศรษฐกิจสังคมการเมืองของไอติมและความสับสนของ“เสรีนิยม”ระหว่างประชาธิปไตยในฝันกับตลาดทุนอิสระ

ในบทรองสุดท้ายที่เป็นตัวครอบคลุมมุมมองโลกของไอติมในหนังสือทั้งเล่มนี้ ไอติมได้ยกตัวอย่างคำโต้เถียงกันระหว่างนักการเมืองสองคนของอังกฤษว่าทุนนิยมเปรียบเสมือนการให้รถที่ขับทุกคันในวงเวียนบริหารการขับกันเองได้อย่างราบรื่นและสังคมนิยมคือการมีรัฐมาคอยคุมสัญญาณไฟจราจรให้ และได้สรุปขั้วการเมืองซ้ายขวาออกเป็นสี่มุมมอง ดังนี้

  1. การเมือง: ประชาธิปไตย (ซ้าย) vs เผด็จการ2 (ขวา)
  2. เศรษฐกิจ: สังคมนิยม (ซ้าย) vs ทุนนิยม (ขวา)
  3. สังคม: เสรีนิยม (ซ้าย) vs อนุรักษ์นิยม (ขวา)
  4. การเปลี่ยนแปลง: ก้าวหน้า (ซ้าย) vs อนุรักษ์นิยม (ขวา)

มองดูเผินๆ ดูเหมือนการแบ่งแยกขั้วทั้งสี่มุมมองนี้มีครอบคลุมถึงสี่มิติ แต่ทว่าไอติมมิได้พิจารณาถึงความคาบเกี่ยวกันระหว่างซ้ายขวาที่ไม่ได้ไม่เกี่ยวข้องกันไปซะทั้งหมด (mutually exclusive) หากเรานำคำนิยามของไอติมที่ว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยมมักให้ความสำคัญกับการคงไว้ซึ่งระบบหรือรากเหง้า ไปใช้กับประเทศที่มิใช่โลกตะวันตก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกลุ่มอนุรักษ์นิยมสองกลุ่มในประเทศอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียต ซึ่งบริบทของกลุ่มแรกในประเทศเหล่านี้ความอนุรักษ์นิยม(ขั้วขวา)คือการนำกลับมาซึ่งรากเหง้าเก่าคือระบอบคอมมูนิส ซึ่งในตัวมันเองเป็นระบอบเศรษฐกิจในขั้วซ้าย เป็นเวทีของพรรคคอมมูนิสแห่งสหพันธรัฐรัสเซียปัจจุบันนำโดย Gennady Zyuganov  บริบทของอีกกลุ่มหนึ่งเป็นการเรียกร้องการกลับคืนมาของชาตินิยมรัสเซียก่อนหน้าการก่อตั้งสหภาพโซเวียต นั่นก็คือราชาธิปัตย์ ซึ่งในตัวมันเองนั้นเป็นขั้วขวา  ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้นสองกลุ่มนี้เราสามารถกำหนดให้เป็นขั้วก้าวหน้า (ขั้วซ้ายตามใจไอติม) ได้ทันทีเมื่อเราเออออตามอีตา ฟรานซิส ฟูกูยาม่า ที่พูดส่งเดชไว้ว่า ประวัติศาสตร์มันจบสิ้นลงไปแล้วกับการทลายของกำแพงเบอร์ลิน ทั้งพรรคคอมมูนิสทั้งพวกโหนจ้าวที่ตายห่าสิ้นโคตรกันไปนานแล้วก็จะพลิกบทบาทเป็นพวกหัวก้าวหน้าต้องการเปลี่ยนแปลงไปจากระบอบทุนนิยมอันนับเป็นจุดศูนย์เริ่มต้นของประวัติศาสตร์รัสเซียร่วมสมัยได้ทันที  อีกตัวอย่างหนึ่งคือประเทศคูบา การใช้ตัวอย่างของไอติมไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมรัฐบาล“เผด็จการ” ที่มีพรรคคอมมูนิสท์เป็นใหญ่นั้น จึงสามารถรองรับการทำงานของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมได้  รึว่าประชาธิปไตยกับเผด็จการมันอยู่ด้วยกันได้!??!  โอ้วมายก๊าาาอออดดดด! สิ่งที่ข้าพเจ้าอยากจะให้คนสนใจอ่านไอติมลองถามตัวเองดูก่อนคือ ประชาธิปไตยคืออะไร?

น่าแปลกที่ไอติมไม่ได้ตั้งคำถามนี้เลยในหนังสือเล่มนี้ แต่กลับเปิดหนังสือประโยคแรกด้วยคำทื่อสักแต่พูดของ เชอชิ่ล ที่ว่า “ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่เลวร้ายน้อยที่สุด” วาทะนี้ถูกนำไปใช้ในบริบทอื่นมากมาย ล่าสุดที่ข้าพเจ้าจำได้คือออกมาจากปากนักจิตวิทยาปาหี่ จอร์แดน ปีเตอร์เซ่น ตอนสนทนาสาธารณะที่ไหนสักที่ในประเทศคานาดากับปราชญ์ชาวสโลวีน สลาวอย ชีเชค เมื่อประมาณต้นกลางปีที่แล้ว ว่า “ก็ทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่เลวน้อยที่สุด” อะไรทำนองนั้น เมื่อได้ยินดังนี้ข้าพเจ้าก็อยากจะให้ท่านผู้อ่านลองถามกลับไปว่า “แล้วมันเลวน้อยที่สุดสำหรับใคร?”  ไอติมเองก็ได้พูดลอยๆ ถึงสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ที่ว่าไม่มีประชาธิปไตยอย่างที่ชื่อประเทศโฆษณาไว้ แต่ท่านผู้อ่านรู้หรือไม่ว่าการที่ชนชั้นแรงงานชาวคองโกไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ถูกกดขี่อยู่นั้น เป็นสิ่งสามานย์ที่จำเป็น (necessary evil) ที่ระบอบประชาธิปไตย“เสรีนิยม”และทุนนิยมโลกหลับหูหลับตายอมรับอยู่แล้ว ธรรมชาติของผลิตภัณฑ์ผู้บริโภคที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดทุน“อิสระ”ก็เป็นเช่นนี้ คือในกระบวนการสายการผลิตและการบริการ อย่างน้อยจุดหนึ่งจะต้องมีผู้ถูกกดขี่อยู่ไม่ว่าจะด้วยค่าแรงขั้นต่ำ, ค่าแรงชั้นทาส, หรือค่าครองชีพที่เกินกำลังขึ้นทุกวัน เป็นต้น

ข้าพเจ้าอดสังเกตไม่ได้ในการที่ไอติมลดระดับประชาธิปไตยลงเหลือเพียงประชาธิปไตยรูปแบบทางการ (formal democracy) “ทุกคนมีเสียงหนึ่งเสียงเท่ากันหมด” ในบทที่ไอติมพูดถึงความเป็นไปได้ของประชาธิปไตยแบบผสมผ่านเทคโนโลยีบล็อคเชน ซึ่งคำวิเคราะห์นี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าเสียงโหวตของประชาชนทุกคนจะลื่นไหลได้อย่าง “อิสระ” เหมือนกับการลื่นไหลของตลาดทุน แต่การลื่นไหลของทุนนั้นอยู่นอกเหนือการตัดสินใจอย่างเป็นประชาธิปไตยของผู้มีส่วนร่วมในการสร้างทุนนั้นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในปัจจุบันก็เช่นอาณาจักรเจ้าสัวซีพี, เนสเล่ห์, บ้านแสนสิริที่สามารถกว้านซื้อนวัตกรรมและมีส่วนกำหนดความต้องการตลาดอสังหาริมทรัพย์, กูเกิ้ลที่สามารถควบคุมการไหลของข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มของตน, บริษัทผลิตอาวุธสงครามข้ามชาติที่กำลังกินเงินภาษีชาวอเมริกันเป็นจำนวนมากด้วยความช่วยเหลือของนักการเมืองที่เลือกมาอย่างถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะประชาธิปัตย์หรือรีพับปิดกั้น (ขอละการใช้จ่ายยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยและเหล่าบริษัทนายหน้าไว้ในฐานที่เข้าใจ) และอื่นๆ สรุปก็คือการจะพูดว่าประชาธิปไตยนั้นมันเป็นอุดมคติที่ทรงคุณค่าสมควรยึดเหนี่ยวไว้ เป็นการโปรโมตประชาธิปไตยที่เป็นไปได้เพียงบนหน้ากระดาษเท่านั้น หากเรามองตามบริบทของโลกความเป็นจริงแล้ว ประชาธิปไตยรูปแบบ“เสรีนิยม” มิได้อยู่เหนือระบบเศรษฐกิจที่มันวางตัวอยู่คู่กันไป แต่กลับกลายเป็นเครื่องมือที่กลุ่มอำนาจใช้กล่อมประชาชนให้พอใจในสิ่งที่มีอยู่และลืมสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในส่วนประชาคมโลกที่กำลังถูกสูบกิน อย่างที่ปราชญ์เหมาอิสท์ชาวฝรั่งเศส อะเลง บะดิว (Alain Badiou) ว่าไว้ “การยอมจำนนต่อประชาธิปไตยรัฐสภานี้คือการยอมจำนนนต่อเศรษฐกิจตลาด เป็นการยอมจำนนต่อรูปแบบอำนาจรัฐที่เอื้ออำนวยระบบทุนนิยมมากที่สุด และนำไปสู่การยอมรับว่าแม้แต่ความเหลื่อมล้ำที่เลวร้ายที่สุดเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้และเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ”

 

บทที่ 14 ควบ 15 “เสรีนิยม” กับความมั่วที่เกิดจากความรู้“ปรัชญา”ที่ละเลยโลกความเป็นจริงและความไร้เขี้ยวเล็บของประชาธิปไตยในอุดมคติ

หนึ่งในวิธีการเขียนหนังสือเล่มนี้ที่ข้าพเจ้าไม่อาจให้อภัยได้เลยคือ การที่ไอติมทึกทักเอาความเชื่อส่วนตัวที่ไม่มีการอ้างอิงบทสนทนาหรือทฤษฎีวิชาการที่เป็นที่ยอมรับกันในสากลโลกมาโมเมเป็นข้อเท็จจริงแล้วทำเป็นยกตัวอย่างง่ายๆจาก“ในชีวิตประจำวัน” เพื่อหันเหความสนใจมิให้คนอ่านได้คิดเองออกไปจากกรอบที่ไอติมวางไว้ 3  ใครที่เคยผ่านการวิจัยในสภาพแวดล้อมวิชาการคงเข้าใจดีถึงความไม่พอใจของข้าพเจ้าในข้อนี้

สิ่งที่ไอติมพูดไว้ที่ไม่อาจให้อภัยได้ประการแรกข้าพเจ้าขอยกมาประจานทั้งดุ้นจากหน้า 174

“อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ (Communism) เล็งเห็นถึงคุณค่าของการสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมทางผลลัพธ์ โดยมองว่าหน้าที่ของรัฐคือการวางแผนงานแต่ละประเภทที่ประเทศต้องการ และจำหน่ายกำลังพลลงไปทำหน้าที่เหล่านั้น โดยผลลัพธ์ทุกอย่างของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นรายได้หรือผลผลิต จะถูกแบ่งปันอย่างเท่าเทียมกันให้แก่ทุกคน แต่แน่ใจหรือว่านี่คือสังคมที่ยุติธรรมที่สุด แน่ใจหรือว่า ความเท่าเทียมทางผลลัพธ์ คือความเท่าเทียมที่เราอยากเห็น

อ่านมาถึงตรงนี้ข้าพเจ้าถึงกับต้องกุมขมับ ถึงกับต้องอุทานออกมาเป็นคำอุทานของนักการเมืองอังกฤษ จอร์จ กัลละเวย์ ที่ชอบใช้เป็นประจำตอนไปสนทนาที่ Oxford Union คำอุทานที่แปลเป็นไทยสรุปใจความได้สั้นๆว่า “นี่หรือผู้ที่ได้รับการศึกษาจากออกซ์ฟอร์ด?”

สำหรับผู้อ่าน, ผู้สนใจอ่านหนังสือของไอติม, และตัวไอติมเอง คำถามง่ายๆที่ควรจะถามแทนคำถามเชิงปลุกคุณธรรมในสุญญากาศที่ข้าพเจ้าทำตัวหนาไว้ข้างบนนั่นก็คือ “แน่ใจหรือว่านี่คืออุดมการณ์คอมมูนิสที่เป็นที่ยอมรับกันในทางทฤษฎีปรัชญาวิชาการและที่เกิดขึ้นจริงตามรัฐคอมมูนิสที่มีอยู่จริงในโลกนี้?

ขอยกตัวอย่างสองสามตัวอย่างจากหนังสือปรัชญาทฤษฎีและจากโลกความเป็นจริงที่ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเป็นที่ยอมรับกันมากกว่าลมปากของนักการเมืองอาชีพคนหนึ่งของประเทศไทยอย่างแน่นอน

“ในสังคมคอมมูนิสที่ไม่มีใครถูกจำกัดอยู่ในกรอบกิจกรรมกรอบหนึ่งนั้น สังคมเป็นผู้ควบคุมทิศทางในการผลิตทั่วไป จึงทำให้ข้าพเจ้าสามารถเลือกลงแรงกับกิจการหนึ่งในวันนี้และอีกกิจการหนึ่งในวันถัดมา สามารถออกล่าสัตว์ได้ในเวลาเช้า, ตกปลาเวลาบ่าย, เลี้ยงวัวควายในย่ำค่ำ, เขียนบทวิจารณ์หลังอาหารเย็นได้อย่างอิสระตามใจนึก โดยไม่ต้องลดตัวตนให้เหลือเพียง คนล่าสัตว์ ชาวประมง โคบาล หรือนักวิจารณ์ เลย”

คาร์ล มากซ์ และ ฟรีดริช เอ็งเกลส์
อุดมการณ์เยอรมัน, บทที่ 1, บทย่อย A, ทรัพย์สินเอกชนและคอมมูนิสซึ่ม

“เมื่อถึงคราวที่สมาชิกทั้งหมดหรือส่วนมากในสังคมได้เรียนรู้เรียบร้อยวิธีการบริหารจัดการรัฐด้วยตนเอง ได้กุมกิจการนี้ไว้ในมือ ได้ควบคุมกดขี่ทั้งเหล่าชนชั้นนายทุนอันเป็นชนกลุ่มน้อยที่แท้จริงของสังคม, ทั้งเหล่าพวกผู้ดีเก่าที่สลัดนิสัยทุนนิยมไม่หลุดหรือทั้งเหล่าคนแรงงานด้วยกันเองที่ถูกทุนนิยมกลืนกินกลายเป็นทุจริตชนไว้อย่างสมบูรณ์ — นั่นก็ถึงคราวความจำเป็นที่จะต้องมีรัฐบาลเริ่มมลายหายสิ้น

ยิ่งประชาธิปไตยสมบูรณ์เท่าไหร่, รัฐบาลก็ยิ่งเป็นสิ่งไม่จำเป็นเท่านั้น . . .

แล้วประตูก็จะเปิดออกสำหรับการเปลี่ยนแปลงจากสังคมคอมมูนิสระยะแรก (สังคมนิยม) สู่ระยะหลัง (คอมมูนิสซึ่ม) ซึ่งจะนำมาสู่การเหี่ยวแห้งลงไปอย่างสมบูรณ์ของรัฐ”

วแลดิมีร์ เลนิน
รัฐและการปฏิวัติ (The State and Revolution)
บทที่ 5, บทย่อยที่ 4 สังคมคอมมูนิสระยะหลัง

“คอมมูนิสซึ่มคือการพัฒนาก้าวผ่านระบบทรัพย์สินเอกชนที่ในตัวมันเองเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความบาดหมางในหมู่มนุษย์ และนับว่าเป็นการจัดสรรแก่นสารความเป็นมนุษย์ผ่านมนุษยชนโดยมนุษยชนอย่างแท้จริง มันคือการคืนความเป็นสัตว์สังคมคืนความเป็นมนุษย์ให้กับคน สิ่งที่เรียกว่าคอมมูนิสซึ่มนี้ . . . คือการแก้ปัญหาขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ, ระหว่างมนุษย์และมนุษย์ด้วยกัน, มันคือการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างการเป็นอยู่ในภาวะความเป็นอยู่ของโลกนี้, ระหว่างการถูกทำให้เป็นกรรมวัตถุและความยืนหยัดในตัวตนมนุษย์, ระหว่างอิสระเสรีภาพและความจำเป็น, ระหว่างอัตบุคคลและสปีซี่ซ์ที่เขาเป็นส่วนหนึ่ง มันคือข้อเฉลยปริศนาของประวัติศาสตร์และมันก็ตระหนักรู้ว่าตัวมันคือความสำคัญของตัวมันอันนี้”

คาร์ล มากซ์
ต้นฉบับข้อเขียนเศรษฐศาตร์และปรัชญาปี 1844
(Economic and Philosophical Manuscripts of 1844)
ฉบับที่สาม

สามย่อหน้าด้านบนที่ข้าพเจ้ายกมานี้ฟังก์ชั่นเป็นคำนิยามของอุดมการณ์คอมมูนิสท์ในระดับอุดมการณ์บริสุทธิ์ซึ่งนิยามนี้ยืดหยุ่นและลื่นไหลปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆจนถึงทุกวันนี้และจะปรับเปลี่ยนต่อไปในอนาคต มิใช่คำนิยามตายตัวที่ไอติมทึกทักเอาเองไม่ว่าจะทั้ง “คอมมิวนิสท์” หรือ “ประชาธิปไตย” ของไอติม เนื่องด้วยปราชญ์คาร์ล มากซ์ ผู้เป็นบิดายุคโมเดิ้นทางทฤษฎีคอมมูนิสท์นำวิภาษวิธี (Dialectics) ของปราชญ์ จีดับบลิวเอฟ เฮเก้ล มาประยุกต์เป็นวิธีการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ผ่านวัตถุวิถี (Historical Materialism) กล่าวสั้นๆคือเป็นการอ่านวิเคราะห์ว่าประวัติศาสตร์โลกนั้นมิได้เป็นไปตามอุดมการณ์ใดๆ หรือกำลังมุ่งหน้าสู่จุดสูงสุดในวิวัฒนาการใดจุดหนึ่งด้วยกำลังผลักดันของมันเอง แต่เป็นผลพวงถูกกำหนดมาจากเงื่อนไขทางวัตถุ เป็นการอ่านประวัติศาสตร์ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างกำลังการผลิต (productive forces) และความสัมพันธ์การผลิตในสังคมนั้นๆ (relations of productive forces)4

กล่าวสรุปนิยามอุดมการณ์คอมมูนิสท์ที่เป็นที่ยอมรับกันในสากลโลกสั้นๆในส่วนที่ข้าพเจ้าเห็นสำคัญก็คือ การที่ผู้ผลิตเป็นเจ้าของเครื่องมือและรูปแบบการผลิตเอง มีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างเป็นประชาธิปไตยว่าจะกระจายผลผลิตและมูลค่าเกินเหลือ (surplus value) ของผลผลิตนั้นไปทางไหนในสังคม มิได้เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางผลลัพธ์ใดๆเลย ที่แย่ไปกว่านั้นจากย่อหน้าของเลนินที่ยกมาด้านบนจะเห็นได้ว่าไอติมมั่วขนาดไหนที่โมเมว่ารัฐเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของคอมมูนิสท์ ไอติมสมมติการมีอยู่ของรัฐในคอมมูนิสซึ่มขึ้นมาจากสุญญากาศ แต่ในความเป็นจริงแล้ว “รัฐ” เป็นผลผลิตที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างชนชั้นที่เกิดขึ้นในสังคมสังคมหนึ่ง ณ จุดวิวัฒนาการจุดหนึ่งของมันเท่านั้น มิใช่อย่างที่ไอติมหรือคนเขียนคำนิยมที่ชื่อ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ บอกเป็นนัยว่าอยู่ๆรัฐก็โผล่ขึ้นมาเป็นไฟจราจรรบกวนชาวบ้านชาวช่องจะขับรถจากไหนไม่รู้

หลังจากคำนิยามสุญญากาศไอติมก็ยกตัวอย่างจากในชีวิตประจำวันมาให้เห็นคือทีมฟุตบอล โดยไอติมบอกว่าในระบอบคอมมูนิสนั้นไม่ว่านักเตะจะเก่งแค่ไหนก็ได้รับค่าตอบแทนเท่ากันหมด ก่อให้เกิดความไม่พอใจ ความขี้เกียจภายในทีม  ก็ดูเอาเถิดว่าคนเขียน Why So Democracy ได้ค่าตอบแทนในระบบทุนนิยมจนร่ำรวยแล้วยังขี้เกียจอ่านหนังสือทำการบ้านมาก่อนได้ซะขนาดนี้  ถ้าเล่นตามเกมส์ไอติมด้วยตัวอย่างเดียวกัน (ตัวข้าพเจ้าไม่สนใจเรื่องกีฬาซ๊อกเก้อ จึงขออภัยมา ณ ที่นี้ถ้าเขียนอะไรเกี่ยวกับกีฬานี้ผิดไป) จริงๆแล้วใน“รัฐ”คอมมูนิส สิ่งที่เรียกว่าเจ้าของสโมสรหรือกลุ่มนายทุนที่ขี้เกียจตั้งแต่แรกไม่ได้เตะฟุตบอลเองไม่ได้ทำงานอะไรเองแต่เป็นเจ้าของนักเตะ (ความสัมพันธ์การผลิตในที่นี้คือ ทีมซ๊อกเก้อเป็นทรัพย์สินเอกชนของเจ้าของสโมสร) อยู่ๆได้เงินไปใช้เล่นเป็นล้านล้านจะไม่มีอยู่อีกต่อไป “รายได้” ทั้งหมดที่สโมสรได้มาจะอยู่ในความตัดสินใจแบบประชาธิปไตยของ นักเตะ โค้ช ผู้จัดการทีม ทีมงานบริการ และอื่นๆ ซึ่งหากจะมีสิ่งที่เรียกว่ารัฐอยู่คู่ไปกับตลาดกีฬาอิสระในบริบททุนนิยมของไอติม การวิเคราะห์ในเชิงคอมมูนิสก็จะบอกว่ารัฐเป็นเพียงตัวควบคุมเข้าข้างอำนาจทุนไม่ให้ความขัดแย้งทางความสัมพันธ์ในการกระบวนการผลิตระหว่างเจ้าของสโมสรและตัวนักเตะเลยเถิดจนถึงขั้นแตกหัก  ในนิยามของเอ็งเกลส์และเลนินแล้วเมื่ออำนาจทุนยิ่งแก่กล้าขึ้น รัฐก็จะยิ่งบาดหมางกับสังคมมากขึ้นตามสัดส่วน ในตัวของมันเองรัฐไม่สามารถและไม่มีความต้องการที่จะไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างชนชั้นได้

ยกตัวอย่างจากโลกความเป็นจริงของรัฐสังคมนิยมที่เคยมีอยู่จริงมาให้เห็นสักข้อก็ได้เอ้า ในประเทศสหภาพโซเวียต คนทำงานไม่ได้รับค่าตอบแทนเหมือนกันหมดอย่างที่ไอติมได้โกหกเอาไว้ (จะประเทศไหนโลกก็ไม่มีทั้งนั้นนอกจากในนิยาย) ผู้จัดการร้านสะดวกซื้อมิได้มีค่าตอบแทนเท่ากับยูริ กาการิน แต่สิ่งที่ทุกคนได้รับโดยการการันตีจากรัฐธรรมนูญของสหภาพโซเวียตฉบับแก้ไขปี ค.ศ. 1936 บทที่ 10 ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง ก็คือ ทุกคนได้การันตีการรักษาพยาบาล, การศึกษาถึงระดับมหาวิทยาลัย, การันตีทุกคนมีอยู่อาศัย, การันตีรัฐให้ทุกคนมีงานทำ, การรันตีคนทำงานผู้หญิงสามารถลาคลอดได้พร้อมยังได้เงินค่าตอบแทนอยู่ (paid maternity leave), การันตีคนทำงานทุกคนมีสิทธิ์ที่จะร่วมกันก่อตั้งสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองกับรัฐ เป็นต้น ที่ยกตัวอย่างมาเหล่านี้คือสิ่งที่ตะวันตกมาเรียกทีหลังว่าสวัสดิการสังคมนั่นแหละ มั่วทฤษฎียังไม่พอไอติมยังมั่วยกสถิติมาจากไหนไม่รู้ที่ว่ายิ่งรัฐธรรมนูญรวบรัดได้ใจความจะยิ่งส่อให้เห็นถึงความเจริญของประเทศและได้เอารัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกามาเป็นแม่แบบว่ามี 7,000 คำ ข้าพเจ้าได้นั่งนับดูแล้วรัฐธรรมนูญของสหภาพโซเวียตฉบับแก้ไขปี ค.ศ. 1936 รวมภาคผนวก 2 ผนวก มีไม่เกิน 7,500 คำ เนื้อหาสามารถครอบคลุมสมาชิกสมาพันธ์ได้ถึง 16 สาธารณรัฐ ว่ากันตามตรรกะของไอติมแล้ว จึงมิแปลกที่สหภาพโซเวียตเป็นประเทศที่คิดค้นการเดินทางอวกาศ, ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 แทบจะด้วยตัวคนเดียว ช่วยประชาคมโลกไว้ไม่ให้อยู่ใต้เงื้อมมือของนาซีเยอรมนี, ขจัดสภาวะทุภพิกขภัยเรื้อรังในแผ่นดินรัสเซียและยุโรปตะวันออกที่แห้งแล้งยากจนดุจโลกที่สามให้กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมได้ภายในเพียงครึ่งศตวรรษจนปูทางให้อำนาจทุนของสหพันธรัฐรัสเซียในปัจจุบันสามารถไปแข่งในตลาดโลกจนถึงทุกวันนี้ เป็นต้น ถ้าไอติมยึดความเหนือชั้นของเนื้อหารัฐธรรมนูญอำนาจตะวันตกข้าพเจ้าก็สามารถยึดความเหนือชั้นของเนื้อหารัฐธรรมนูญอำนาจคอมมูนิสได้เช่นกัน หากเรายังโดนคำว่ารัฐธรรมนูญศักดิ์สิทธิเป็นผีจับหัวอยู่เช่นนี้ ยังคงยึดถือ“ความเจริญ”ที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐอำนาจ แล้วเนื้อหาความจริงในชีวิตสังคมมันอยู่ตรงไหนกันเล่า

มีสองชั่วขณะที่ไอติมเกือบจะเป็นคอมมูนิสแล้ะ คือหน้า 50 ที่กล่าวถึงว่าประชาธิปไตยในกรุงอะเธไนยโบราณนั้นก็เป็นนิยามประชาธิปไตยสำหรับผู้ชายที่รวยและไม่เป็นทาส กับในบทที่ 14 ที่พูดถึงเสรีภาพเชิงบวก ซึ่ง วแลดิมีร์ เลนิน นักปฏิวัติชื่อก้องโลกได้กล่าวเอาใยไหมความคิดไอติมทั้งสองใยที่แยกกันอยู่มารวมเป็นหนึ่งเดียวว่า

“อิสระเสรีภาพในสังคมทุนนิยมก็เป็นอิสระเสรีภาพเดียวกับในสาธารณรัฐกรีกโบราณ: เป็นอิสระเสรีภาพของชนชั้นนายทาสเท่านั้น ด้วยเหตุสภาวะการกดขี่โดยอำนาจทุน ทาสค่าแรงในปัจจุบันถูกบดขยี้โดยความยากจนข้นแค้นถึงขนาดที่พวกเขา “ไม่มีเวลาอยากจะไปคิดเรื่องประชาธิปไตย”, “ไม่มีเวลาอยากจะไปคิดเรื่องการเมือง” ในการใช้ชีวิตประจำวันอันเป็นปกติสุขนี้ประชากรส่วนมากถูกปิดกั้นจากการมีส่วนร่วมในชีวิตสาธารณะและชีวิตการเมือง”

วแลดิมีร์ เลนิน
รัฐและการปฏิวัติ
บทที่ 5, บทย่อยที่ 2 ระยะการเปลี่ยนสังคมจากทุนนิยมสู่คอมมูนิสซึ่ม

การเพิ่มการวิเคราะห์จารีตอุดมการณ์ผ่านเลนส์วัตถุวิถีช่วยเสริมความเป็นรูปธรรมให้กับคำพูดลอยลมของไอติมที่ว่า “ประชาธิปไตยกับเสรีภาพเป็นสิ่งที่ควบคู่กัน เพราะท้ายสุดแล้ว ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบเดียวที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการกำหนดทิศทางของประเทศตนเอง . . . (ผ่านการลงคะแนนเลือกตั้ง)” มันทำให้เราเข้าใจว่าการลุกฮือของสามัญชนขึ้นมาทวงคืนการกำหนดทิศทางของประเทศไม่อาจเกิดขึ้นมาจากการเลือกตั้งภายในรัฐใต้อำนาจทุนได้  Paris Commune มิได้เกิดขึ้นเพราะประชาชนอยู่ดีดีอยากได้เสรีภาพในอุดมคติ แต่เกิดจากความไม่พอใจสั่งสมที่มาปะทุหลังจากการตกลงกันระหว่างชนชั้นจ้าวของทุนเอกชนฝรั่งเศสทำข้อตกลงกับพวกสมุนอำนาจจักรพรรดิไก่เซ่อวิลเฮมที่หนึ่งอยู่บนความยากแค้นของชนชั้นกรรมาชีพปารีส การถอดคำว่าชนชั้นออกจากการวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ก็เป็นการถอนเขี้ยวเล็บการเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพของสามัญชนสมัยก่อนในสายตาของสามัญชนสมัยใหม่ หวานปากพวก จ้าวๆ ลุงๆ เสี่ยๆ ทั้งนั้น 5

 

บทที่ 13 คนพูดผิดมีสิทธิ์พูดแต่คนพูดถูกเข้าคุก ความสับสนระหว่างอิสระเสรีภาพกับทางเลือกผู้บริโภคของ “เสรีนิยม”, เสรีภาพรูปแบบทางการ (formal freedom) v. เสรีภาพแท้จริง (authentic freedom)

สิ่งที่ไอติมเรียกว่า“เสรีภาพ”เชิงบวกจริงๆแล้วมันคือเสรีภาพที่ถูกถอนเขี้ยวเล็บออกแล้วเช่นกัน ไอติมกล่าวไว้ว่าประชาธิปไตยสมควรมีพื้นที่ให้คนที่“พูดผิด”มีโอกาสออกมาแสดงความเห็นให้สาธารณชนเป็นผู้ตัดสินเองว่าเขาพูดผิดหรือถูก หากสังคมตัดสินแล้วว่าความเชื่อของเขาเป็นความเชื่อที่ผิด ผู้ที่เชื่อดังนั้นมาแต่เก่าก่อนก็จะค่อยๆเรียนรู้อะไรใหม่จนปรับความคิดของตัวเองให้ถูกต้องตามชาวบ้าน อีกครั้งแล้วที่ไอติมโมเมเอาเองว่าเสรีภาพทางความคิดจะลื่นไหลได้เหมือนตลาดอิสระและยังได้ประเมินความรุนแรงของสิ่งที่เรียกว่า“ความเชื่อ”ต่ำไปโดยเอามันไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่เรียกว่าความคิดเห็น ตัวอย่างในโลกแห่งความเป็นจริงมีให้เห็นถมเถไปที่“ความเชื่อผิดๆ”แทนที่จะมลายหายไปพร้อมกับการพัฒนาการศาสตร์ต่างๆของมนุษย์ กลับถูกกลุ่มอำนาจส่งเสริมจนปักหลักได้ไม่มีวี่แววว่ามันจะตายไปหรือพอมันตายก็สายไปซะแล้ว อาทิเช่น ความเชื่อในความเหนือชั้นของเผ่าอารยันที่พอถูกปล่อยให้มีเวทีอิสระเป็นของตัวเองก็ทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุชาวยิวขึ้น, ความเชื่อในพระเป็นจ้าวที่วาติกันโบราณใช้เป็นข้ออ้างในการเข้ายึดทรัพย์สินชาวบ้านในคราบสงครามศักดิ์สิทธิ์, ความงมงายในสถาบันพระราชาที่ประเทศบางประเทศยังใช้ยัดคนเข้าคุกสนองความสะใจส่วนตัวอยู่, หรือแม้แต่ความเชื่อผิดๆในทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาลร์ส ดาร์วิ่น เพื่อเอาไปเป็นข้ออ้างว่าระบอบทุนนิยมนั้นเป็นระบอบที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติของมนุษย์ที่สุด เป็นต้น

ปัจจุบันยังมีกรณีให้เห็นว่า ในประเทศที่ไอติมเชิดชูให้เป็นแม่แบบของประชาธิปไตยอย่างอังกฤษนั้น คนพูดถูกกลับถูกจับเข้าคุกซะเอง นั่นก็คือคดีที่กำลังไต่สวนกันอยู่ในการส่งตัวนักเป่านกหวีด จูเลียน อัสซอนจ์ ข้ามชาติไปดำเนินคดีที่สหรัฐอเมริกาเพราะอัสซอนจ์นำอาชญากรรมสงครามต่างๆ ของอเมริกาที่รัฐบาลพยายามปิดเป็นความลับ6 มาเปิดเผยผ่านการตีพิมพ์บนเว็บไซต์ Wikileaks ของเขา  สื่อหลักๆ ในยูเอสและยูเคไม่ว่าจะ CNN, MSNBC, BBC เป็นต้น ไม่มีการรายงานคดีที่เป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพของผู้สื่อข่าวนี้เลย กลับกลายเป็นว่าผู้สนใจในคดีนี้ต้องหาอ่านเอาจากสื่อนอกกระแสหลักเท่านั้น  รัฐสภาของอังกฤษที่ไอติมเชื่องมงายนักหนาได้เซ็นข้อตกลงการส่งตัว“ผู้ต้องหา”ข้ามชาติกับอเมริกาโดยเสียเปรียบเพราะอเมริกาพี่ใหญ่ไม่ตกลงว่าจำเป็นต้องส่ง“ผู้ต้องหา”กลับมาให้อังกฤษแม้แต่คนเดียว สาธารณชนอังกฤษได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเซ็นข้อตกลงนี้หรือไม่ ทำไมผู้มีอำนาจในอังกฤษถึงเซ็นข้อตกลงนี้ มีผลประโยชน์ที่ตรวจสอบไม่ได้อยู่ตรงไหนหรือว่ารัฐบาลอังกฤษมีส่วนได้เสียจากการก่ออาชญากรรมสงครามของรัฐบาลยูเอส? นิยามคำว่าผู้ต้องหาข้ามชาตินี้แท้จริงแล้วใช้กับนักโทษทางการเมืองอย่างเดียวใช่หรือไม่? แลัวไอ้รัฐสภาเนี่ยมันเป็นตัวแทนความต้องการของชนชั้นไหนกันแน่ถึงได้ไปเชื่อมั่นมันขนาดนั้น? นี่หรือพ่อแบบแม่แบบประชาธิปไตย?

ในเหตุการณ์ความอยุติธรรมที่เห็นได้ชัดไม่ต้องเอาทฤษฎีหรือกฎหมายมาจับนี้ หนึ่งในบุคคลที่เรียกได้ว่ามีอิสระเสรีภาพที่แท้จริงมิใช่เสรีภาพรูปแบบทางการที่ไอติมพูดถึง ก็คือนักโทษทางการเมืองที่ถูกคุมตัวอยู่ฝั่งอเมริกานาม เชลซี แมนนิ่ง (Chelsea Manning) อดีตทหารฝ่ายข่าวกรองของอเมริกาที่นำวิดีโอเปิดเผยการสังหารหมู่พลเรือนชาวอิรักโดยการทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ และเอกสารลับอื่นๆของกลาโหมอเมริกามาเปิดโปงผ่าน Wikileaks ในความพยายามของยูเอสที่จะให้ เชลซี แมนนิ่ง ปรากฏตัวต่อหน้าศาลเป็นพยานยืนยันความผิดตาม Espionage Act ของ จูเลียน อัสซอนจ์ เพื่อให้การส่งตัวอัสซอนจ์มาจากยูเคเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เธอกลับเลือกที่จะยอมทนการถูกขังลืมตั้งแต่พฤษภาคมของปีที่แล้วและได้ตัดสินใจปลิดชีพตนเองถึงสองครั้งเพื่อแสดงถึงความยืนหยัดในคุณธรรมของเธอ ซึ่งปัจจุบันหลังการพยายามปลิดชีพตัวเองครั้งล่าสุดเมื่อ 11 มีนาคมที่ผ่านมา (โชคดีที่ผู้คุมช่วยชีวิตไว้ได้ทัน) ผู้พิพากษาได้ตัดสินให้ปล่อยตัวเธอและแฮกเก้อผู้เปิดโปงความลับอีกคนคือนายเจเรมี่ แฮมม่อนด์ (Jeremy Hammond) แต่ติดค่าปรับไว้ 256,000 ดอลล่าสหรัฐ (ปจบ.ประชาชนก็ระดมทุนช่วยค่าใช้จ่ายส่วนนี้ครบถ้วนเรียบร้อยแล้วเช่นกัน)

นี่ต่างหากคือเสรีภาพที่แท้จริง เสรีภาพมิใช่การที่เราสามารถเลือกได้ว่าจะบริโภคอะไรจากหลายๆตัวเลือกโดยไม่มีผู้อื่นมาแทรกแซง มิใช่ความอิสระในการจับจ่ายใช้สอย นี่เป็นการเข้าใจอิสระเสรีภาพผ่านลัทธิบริโภคนิยม (consumerism) แต่อิสระเสรีภาพที่แท้จริงนั้นข้าพเจ้าเข้าใจมันผ่านทฤษฎีความบาดหมาง (alienation) กล่าวสรุปสั้นๆก็คือ อิสรภาพที่แท้จริงเกิดจากการที่เราตัดสินใจที่จะทำอะไรอย่างหนึ่งเพราะภาวะตัวตนของเรามันติดขัดอึดอัดอยู่ในอกว่า “ไม่ทำอย่างนี้ไม่ได้นะ” อิสรภาพที่แท้จริงเสนอตัวขึ้นมาในกระบวนการตัดสินใจของเราในรูปแบบของ ตัวเลือกที่ถูกบังคับ (forced choice) มิใช่รูปแบบหลายตัวเลือก “อิสระ” ดังนั้นการที่ เชลซี แมนนิ่ง ต้ดสินใจปลิดชีพตนเองแทนที่จะยอมรับตัวเลือกที่รัฐอำนาจอเมริกาเสนอให้ระหว่างโดนขังลืมไปเรื่อยๆหรือความสบายกายส่วนตัวแลกกับการยอมจำนนให้ความอยุติธรรมอันถูกกฏหมายกลืนกิน จูเลียน อัสซอนจ์ จึงนับว่าเป็นเสรีภาพที่แท้จริงยิ่งกว่าการเลือกจะไปเที่ยวพักร้อนที่สวิสเซอร์แลนด์หรือเมียนมา แท้จริงยิ่งกว่าการเลือกว่าเย็นนี้กูจะกินซิสเล่อหรือฮะจิบังราเม็งหลายขุมนัก

พอข้าพเจ้าอ่านคำนิยมที่ว่าหนังสือเล่มนี้มีการอภิปรายถกเถียงในเรื่องที่อ่อนไหวและร้อนแรงในสังคมไทย ข้าพเจ้าก็รู้ได้ทันทีเลยว่ามันไม่มีเรื่องที่อ่อนไหวและร้อนแรงที่สมควรถกเถียงกันจริงๆเขียนอยู่อย่างแน่นอน ก็โทษไอติมไม่ได้ที่กลัวการพูดถูกเพราะเดี๋ยวติดคุกเหมือนกัน เช่นว่า ทำไมเงินภาษีประชาชนเป็นร้อยเป็นพันล้านต่อปีจึงเอาไปใช้ซื้อดูแลรักษาเครื่องบินรบทั้งฝูงให้บุคคลเอกชนกลุ่มหนึ่งเอาไปขับเล่นเป็นเด็กแว๊นอากาศ, ใช้ซื้อดูแลรักษาเครื่องบินขนาดใหญ่ระดับสายการบินและฝูงเฮลิคอปเต้อใหม่เอี่ยมพร้อมโอนความครอบครองเรียบร้อยเอาไปใช้เป็นพาหนะส่วนตัวเลือกว่าวันนี้จะไปทำตัวเป็นเจ้าของยุโรปเมืองไหนประเทศไหนดี และอื่นๆและอื่นๆ

 

บทที่ 21 การเขียนนิยาม “สิทธิมนุษยชน” ขึ้นมาเองของอำนาจตะวันตกและการควบคุมประวัติศาสตร์กระแสหลัก

มีความเชื่อผิดๆอันหนึ่งที่ข้าพเจ้าไม่ได้ยกเป็นตัวอย่างในวิจารณ์บทที่แล้วข้างบนเอามาพูดตรงนี้แทน คือความเชื่องมงายในนิยาม “สิทธิมนุษยชน”ที่รัฐอเมริกันชอบใช้เป็นวาทะชวนเชื่อเพื่อแอบอ้างใช้กำลังทางทหารบุกแทรกแซงเศรษฏกิจของประเทศอื่นไม่ให้เติบโตได้ในตลาดโลก ในหนังสือเล่มนี้ไอติมได้กล่าวหาประเทศไว้สองประเทศเป็นนัยว่าเป็นประเทศเผด็จการ กดขี่ประชาชนของตนให้อยู่ภายใต้อำนาจอันไม่ชอบธรรมจนถึงขนาดที่อำนาจตะวันตก (ที่มีกำลังทางทหารมหาศาลเกินจินตนาการภายใต้การรวมตัวกันของกลุ่ม NATO) ต้องทำตัวเป็นตำรวจโลกเข้าไปแทรกแซงอย่างชอบธรรมเพื่อทำให้สภาพชีวิตของประชาชนในสองประเทศนี้ดีขึ้นมา!!  ไม่ทราบว่าไอติมจินตนาการทั้งสองประเทศนี้ไว้ในหัวอย่างไร: ว่ารัฐมีอำนาจตำรวจมากขนาดทิ้งเศษหมากฝรั่งบนพื้นต้องถูกจับปรับ ว่ารัฐใช้กำลังทหารบุกยึดพื้นที่ล้างชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยด้วยการไล่ต้อนเข้าไปอยู่ใน“เขตสงวน” ใช้กำลังทหารตำรวจรับจ้างเข้าสลายปราบปรามการชุมนุมการประท้วง, ว่านักโทษจากคดีครอบครองกัญชาเล็กน้อยต้องโดนจับไปเป็นทาสในค่ายทำงานนรกแลกกับค่าแรงชั่วโมงละ 35 เซ็นท์, ว่าเดินเข้าบ้านทุกหลังหรือที่ทำงานทุกแห่งหนต้องมีรูปหน้าตรงของสหายสตาลินอยู่บนหิ้งมีจุดธูปเทียนน้ำแดงบูชามีธงแขวนอยู่หน้าบ้านสามสี่ผืน, ว่าประชาชนโดนล้างสมองขนาดต้องแกะสลักหน้าท่านผู้นำสูงสุดของประเทศไว้บนภูเขาจารึกไว้ตลอดกาล, ว่าประชาชนหิวโหยไม่มีอะไรจะกินขนาดต้องไปยืนท้าลมหนาวต่อแถวยาวเหยียดรอรับเศษขนมปังกับซุปน้ำต้มเกลือ, ว่าท่านผู้นำสูงสุดของประเทศมีอำนาจสั่งผ่านองค์กรชายชุดดำให้สังหารนักการเมืองหรือนักกิจกรรมคนที่ตนเองไม่ชอบหน้าตอนไหนก็ได้, ว่าประชาชนตกอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญลวงตาเลือกตั้งยังไงก็ไม่พ้นนโยบายที่พรรคการเมืองกำหนด รึว่ายังไง? ท่านผู้อ่านที่รอบรู้ประวัติศาสตร์ตะวันตกดีก็จะรู้ได้ทันทีว่านอกจากอันแรกแล้วตัวอย่างที่ข้าพเจ้ายกมาหยอกเล่นล้วนแล้วแต่เป็นภาพที่เห็นได้ในสหรัฐอเมริกาทั้งในยุคศตวรรษที่ 19, ยุคปัจจุบันและยุคสงครามเย็นทั้งสิ้น ไม่ว่าอำนาจรัฐสหภาพโซเวียตหรือสาธาณรัฐประชาชนประชาธิปไตยเกาหลีจะมีสภาพเป็นเช่นไรก็ตามข้าพเจ้าอยากให้เหล่าผู้สนใจอยากจะจริงจังกับคำสอนของไอติมรู้ไว้อย่างน้อยว่าภายใต้หน้ากาก“เสรีนิยม”ผ่านสื่อหลักและสื่อบันเทิงของรัฐตะวันตก เนื้อในของมันไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากคำที่มันใช้กล่าวหารัฐนอกอำนาจทุนเลย ตามสำนวนไทย ว่าแต่เขาอิเหนา (รู้อยู่แก่ใจว่า) เป็นเอง

ในบทนี้มันก็มีประโยคของไอติมที่ขัดตาขัดใจข้าพเจ้าเหลือเกินดังต่อไปนี้:

“การยับยั้งการเจริญเติบโตของอุดมการณ์คอมมิวนิสท์ที่กำลังถูกเผยแพร่โดยสหภาพโซเวียต . . . ปฏิเสธได้ยากว่าชัยชนะของสหรัฐอเมริกาในสงครามเย็นครั้งนั้น นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของปะระชาชนในหลายประเทศที่สหรัฐฯ เข้าไปยุ่งเกี่ยว”

สิ่งที่ไอติมพูดมานี่ทำให้เห็นพื้นเพจารีตอุดมการณ์ของไอติมสามประการ คือ ความฝักใฝ่อำนาจตะวันตก, ความไม่รอบรู้ประวัติศาสตร์โลกนอกระบบอำนาจศึกษา, และความไม่มีคุณธรรมส่วนตัวสามารถหาข้ออ้างให้อำนาจใช้กำลังทำอะไรก็ได้ในนาม“สิทธิมนุษยชน”

ข้าพเจ้าถามกลับไปง่ายๆ “สหภาพโซเวียตพยายามเผยแพร่อุดมการณ์คอมมูนิสท์ตอนไหน? ให้ใครฟัง?” จริงอยู่ที่ว่าเลนินเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรคอมมูนิสท์นานาชาติร่างที่ 3 (The Third Communist International) ในปี 1919 แต่ด้วยสภาพทางเศรษฏกิจและภัยจากเยอรมันนาซีทำให้การจะคงองค์กรระดับนานาชาติไว้เป็นไปได้ยาก คณะกรรมการบริหารจึงต้องประกาศยุบมันไปในปี 1943 ในเมื่อมันไม่มีองค์กรกลางคอยเผยแพร่อุดมการณ์อยู่แล้วไอติมจะอธิบายยังไงกับการเคลื่อนไหวคอมมูนิสท์ที่เกิดขึ้นแยกกันทั่วโลกใน จีน, เวียตนาม, คูบา, อินเดีย, สเปน, กรีซ, ตุรกี, สหรัฐอเมริกา, ไทย, เยอรมนี และอื่นๆและอื่นๆและอื่นๆและอื่นๆ? ในความเป็นจริงแล้ว สหภาพโซเวียตไม่เคยมีแผนที่จะเผยแพร่อุดมการณ์จากศูนย์กลางใดๆทั้งสิ้นด้วยเหตุผลที่ว่าเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตนั้นส่วนมากในชีวิตของมันเป็นเศรษฐกิจแบบปิดล้อม (Siege Economy) เป็นที่มาของ Mass Line ไร้ความหมายของสหายสตาลินที่ว่าระบอบสังคมนิยมต้องเริ่มจากระดับประเทศแล้วหลังจากนั้นแต่ละประเทศที่มีสังคมนิยมแบบฉบับของมันเองถึงจะช่วยกันป้องกันการรุกรานของอำนาจทุนในระดับนานาชาติ (Socialism in one country)7 ที่ต่อมารัฐบาลจีนปัจจุบันเอาไปปรับใช้พิสดารกลายเป็นโฆษณาชวนเชื่อ “ระบอบสังคมนิยมแบบลัถษณะจีน” (Socialism with chinese characteristics) ซึ่งผู้ที่ปิดล้อมก็คือมหาอำนาจทุนตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาและอังกฤษนั่นเอง โดยมีเหตุผลการปิดล้อมที่แท้จริงก็คือรูปแบบการผลิตของสหภาพโซเวียตนั้นเป็นแบบตลาดสังคมนิยมที่ไม่ขึ้นกับตลาดทุนโลก สามารถค้าขายภายในกับประเทศสมาชิกสหภาพได้ไม่ต้องง้อกลุ่มเงินนอกอย่าง IMF หรือพึ่งพาสินค้านำเข้าจนเกินกำลัง ในปัจจุบันท่านก็ยังเห็นการปิดล้อมทางเศรษฐกิจที่อเมริกาและอังกฤษยังใช้เป็นเครื่องมือข่มขู่ประเทศที่ไม่ยอมง้อตลาดทุนที่ตนเองคุมเป็นใหญ่อยู่หรือเพราะยังมีความแค้นส่วนตัวเนื่องจากทำรัฐประหารในประเทศเหล่านี้ไม่สำเร็จ เช่น ในประเทศคูบา, เวเนซูเอล่า, สาธารณรัฐประชาชนประชาธิปไตยเกาหลี, นิคารากัว เป็นต้น8  “อุดมการณ์”คอมมูนิสท์ทั่วโลกที่พัฒนาไปตามสภาพวัตถุวิถีของแต่ละประเทศนั้นมิได้เกิดจากมี“กลุ่มอำนาจ”คอมมูนิสท์เป็นศูนย์กลางคอยสั่งการอยู่ แต่เกิดจากการลุกฮือของชนชั้นต่ำในสังคมนั้นขึ้นมาต่อต้านความอยุติธรรมที่เห็นได้ชัดไม่ต้องเอาทฤษฎีหรือจารีตอุดมการณ์มาจับต่างหาก

ที่ไอติมบอกว่า “ปฏิเสธได้ยาก” จริงๆแล้วเป็นคำโกหกที่ปฏิเสธได้ง่ายที่สุด คุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียตไม่ได้ดีขึ้นเลย ทั้งในทางทฤษฎีและทางข้อเท็จจริงของชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโซเวียต

ในทางทฤษฎีแล้ว เนื่องจาก “ประชาธิปไตย”เป็นศาสนาหลักที่หนังสือ Why So Democracy พยายามเผยแผ่ ข้าพเจ้าก็สามารถตั้งสมมติฐานได้ว่า ไอติมมีความเชื่อส่วนตัวคือ “ประเทศสหภาพโซเวียตมันไม่มีประชาธิปไตย พออเมริกาทำลายมันแตกแล้ว ประชาชนก็ได้ประชาธิปไตยไปใช้ สภาพชีวิตเลยดีขึ้น”  ไม่ใช่ว่าที่อ๊อกซ์ฟอร์ดเค้ามีคณะประวัติศาสตร์ชั้นนำตามที่ข้าพเจ้าได้ยินมาอยู่เหรอ? ในความเป็นจริงแล้วก่อนที่ บอริส เยลท์ซิน (Boris Yeltsin) ประธานาธิบดีรัสเซียผู้ได้รับเงินสนับสนุนพรรคชาตินิยมจากสหรัฐอเมริกาจะทำรัฐประหาร รัฐสภาของสหภาพโซเวียตได้จัดทำประชามติทั่วประเทศขึ้นในช่วงต้นปี 1991 เสียงโหวตของประชาชนทั้ง 9 สาธารณรัฐสมาชิกมีเปอร์เซ็นต์ของผู้มาใช้เสียงเกิน 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิ ตอบเป็นเสียงเดียวกันเกิน 70 เปอร์เซ็นต์ว่าให้คงรักษาสหภาพแห่งสาธาณรัฐสังคมนิยมโซเวียตไว้ ซึ่งในช่วงที่ไอ้เยลซินขึ้นมามีอำนาจนี้ สื่อสิ่งพิมพ์หลายสำนักที่ใช้เงินซื้อไม่ได้ถูกสั่งปิดลง รัฐสภาสหภาพโซเวียตในตอนนั้นลงมติระหว่างพรรคผู้แทนสามครั้งไม่ให้สลายสหภาพโซเวียตแต่ประธานาธิบดีโซเวียต มิคาอิล กอร์บาเชฟ (Mikhail Gorbachev) ผู้เป็นสุนัขรับใช้ของเยลซิน เหมือนประยุทธ์เป็นหมาของประวิตร ก็เข้าขัดขวาง ตัดไมโครโฟนผู้แทนในสภา กดดันสั่งยุบสภาไปทั้งสามครั้งจนได้ผลลัพธ์ที่ตนเองต้องการ ประชาชนโซเวียตใช้ร่างกายของตัวเองเข้าป้องกันตึกรัฐสภาแต่ก็ถูกกำลังทหารของเยลซินปราบจนเหี้ยน ดังนั้นการที่ไอติมมีความเชื่อว่าสหภาพโซเวียตไม่มีประชาธิปไตยนั้นเป็นความเชื่อที่ผิดขั้นร้ายแรงเพราะมันเป็นหนึ่งในขั้นตอนการลบประวัติศาสตร์โลกออกไปทีละหน้าจนกว่ามหาอำนาจตะวันตกจะได้ประวัติศาสตร์ฉบับที่มันต้องการ การล่มสลายของสหภาพโซเวียต9มิได้เป็นชัยชนะของสิทธิเสรีภาพหรือความเท่าเทียมกันแต่อย่างใด สิ่งที่ประชาชนรัสเซียได้มาคือการเลือกยี่ห้อนักการเมืองให้มากดขี่ตนเองต่อได้หลายยี่ห้อภายใต้แบรนด์หลักพรรครวมพลังรัสเซีย (United Russia) เป็นเพียงการดึงวจนะสังคมของรัสเซียให้เข้าไปอยู่ภายใต้ความคลั่งเศรษฐศาสตร์ (economic fundamentalism) ตามกระแสตะวันตกซิวิไลซ์เท่านั้น ซึ่งหลังจากที่เยลซินยึดอำนาจเรียบร้อยโรงเรียนจีน ก็ทำการสั่งแบนพรรคการเมืองทั้งสิ้น 15 พรรคในปี 1993 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หลังจากฉีกฉบับเก่าทิ้งซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าร่วมลงประชามติเพียง 46 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เป็นรัฐธรรมนูญผิดกฏหมายที่หน้าด้านอนุมัติผ่านมาได้ไงไม่รู้10 กล่าวสรุปในส่วนนี้ง่ายๆ ก็คือ จริงๆแล้วประเทศสหภาพโซเวียตมีประชาธิปไตยรูปแบบหนึ่งอยู่แล้ว การที่มันสลายตัวไปทำให้ประชาชนสูญเสียประชาธิปไตยไปต่างหากมิใช่กลับกันอย่างที่ไอติมว่าไว้ ถ้าท่านยังเชื่อว่าโลกใหม่ที่ดีกว่านี้มันยังเป็นไปได้นะก็ขอให้สลัดให้หลุดพ้นซะจากกรอบจารีตความคิดของ “เสรีนิยม” ที่ว่า “ประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นต้องมีพรรคการเมืองให้เลือกหลายพรรค เหมือนเลือกยี่ห้อน้ำอัดลม”

ทางข้อเท็จจริงของชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโซเวียต ไอติมก็คงมีความเชื่อส่วนตัวอีกว่า “ประชาชนในสหภาพโซเวียตถูกกดขี่ ทำมาหากินอะไรก็เข้ารัฐให้ข้าราษฎรกินหมด คุณภาพชีวิตย่ำแย่ขนาดตอนแมคดอเน่า คริสปี้คีม มาเปิดครั้งแรก คนหิวโหยกรูแย่งกันเข้าไปซื้อแดก (เอาเงินมาจากไหนกันหว่าก็รัฐแดกไปหมดแล้วนิ) แบบป่าตื่นเหยียบกันม้ามไส้แตกตายห่า11” ในความเป็นจริงแล้วเกิดอะไรขึ้นในอดีตประเทศสมาชิกสหภาพโซเวียตบ้างหลังจากการแทรกแซงของอำนาจทุนตะวันตก? ยกตัวอย่างประเทศเบลารุส ในปี 1996 ประธานธิบดี Alexander Lukashenko (อ่านนามสกุลแล้วลิ้นพัน ขออภัย) ผู้ชื่นชอบอุดมการณ์นาซี สถาปนาตนเองจากประชามติโมเมที่มีรายงานจำนวนผู้มาใช้สิทธิอย่างเฟ้อและไม่สามารถตรวจสอบการนับคะแนนได้ ในยุคของ Lukashenko ประชาชนอย่างน้อยหนึ่งในสามของประเทศตกลงไปอยู่ใต้เส้นความยากจน12, ความไร้ประสิทธิภาพของสาธารณสุขที่ถูกขายให้ภาคเอกชนทำให้อัตราการตายต่อวันกลายเป็นสองศพต่อหนึ่งทารกที่เกิดในเยอรมนีตะวันออกหลังจากกำแพงเบอร์ลินพัง13, ผลผลิตทางการเกษตรของประเทศบุลกาเรียตกต่ำลงจนเกิดภาวะขาดแคลนในปี 1996 ท้ายที่สุดต้องยอมจำนนตัดงบบริการสังคมเพื่อขอกู้เงินจาก IMF มาใช้หนี้ต่างชาติที่ตัวแดงอยู่ 9.4 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ14 และอื่นๆและอื่นๆและอื่นๆเป็นที่เข้าใจกัน โดยสรุปแล้วหลังจากโซเวียตแตกยุโรปตะวันออกถอยหลังกลับเข้าภาวะโลกที่สามอีกครั้งจนทุกวันนี้ยังมีกลุ่มเขตยากจนทางใต้ของสหพันธรัฐรัสเซียเป็นแถบเทือก ไหนละคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างปฏิเสธได้ยากอย่างที่หนังสือเล่มนี้โกหกท่านผู้อ่านไว้ แม้แต่โพลสำรวจความคิดเห็นในปัจจุบันก็ไม่สนับสนุนความเชื่อของไอติม15

ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของไอติมทำให้ข้าพเจ้านึกถึงมุขตลกมุขหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้ยินบ่อยๆในประเทศอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียต

นาย ก พูดกับ นาย ข หลังการแตกตัวของสหภาพโซเวียตและการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน

นาย ก: นี่คิดๆดูแล้ว ระบบทุนนิยมมันก็ประสบความสำเร็จในเรื่องนึงที่ระบบคอมมูนิสท์มันพยายามมาเป็นสิบๆปีทำยังไงก็ไม่เคยสำเร็จสักที

นาย ข: เรื่องอะไร

นาย ก: ก็การทำให้ระบบคอมมูนิสท์ดูดีไงละ

 

ส่งท้าย

ไอติมจบหนังสือ Why So Democracy ด้วยคำถามนำบทที่ 26 ว่า “ถ้าเรามีอุดมการณ์ที่ชัดเจนและยังไม่มีใครเป็นตัวแทนความคิดเรา เราควรทำอะไร” พร้อมมีปริศนาหน้าตาคล้ายๆ ปริศนาอักษรไขว้ที่หาเล่นได้ตามหนังสือพิมพ์มีประโยคใบ้ให้เติมลงในช่องว่าง 9 ข้อ พอเติมคำครบทุกข้อก็จะได้คำตอบที่วางกรอบบังคับให้ผู้อ่านตอบตามไอติมอย่างสวยหรูว่า “ตั้งพรรคใหม่” ข้าพเจ้าขอบอกตามมารยาทว่า เชื่อในความตั้งมั่นและจริงใจของไอติม(ฮา) แต่ไม่รู้นะว่ามันไปตั้งอยู่บนความจริงโลกไหน เป็นโลกเปื้อนเลือดที่ไอติมอยากให้คนไทยหลับหูหลับตาเข้าไปมีส่วนร่วมหรือปล่าว ขอไม่พูดถึงบทบาทของพรรคการเมืองในทางทฤษฎีก็แล้วกัน เพราะดูเหมือนตอนนี้มันจะเป็นแสงสว่างเดียวที่ประชาชนไทยฝากความหวังไว้ให้หมดสิ้น รีวิวนี้มันก็ชักจะยืดเยื้อไปกันใหญ่ ขอส่งท้ายไว้ด้วยคำถามแกมบังคับตอบบ้าง

“อุดมการณ์”ของพวกเรามีดีอะไร แล้วทำไมมันถึงเป็นคอมมูนิสซึ่ม

 

เชิงอรรถ

1  จะวางความสัมพันธ์เชิงตัวตนอย่างไรให้ “อุดมการณ์” นิยามยุคหลังร่วมสมัยไม่เป็นผีจับหัวเหมือนจารีตอุดมการณ์เก่า (เช่น ความรัก/คลั่งชาติ ลัทธิศาสนา ลัทธิบูชาชนชั้นนายทาส เป็นต้น)? ไอติมมิได้ถกเรื่องนี้แต่ได้วางเดิมพันเป็นสองเท่าแทงเข้าข้างความเป็นผีนี้ลงไป ในบทที่ 1, 2, 12, 20 ผู้สนใจหัวข้อนี้ให้ไปอ่าน อีโก้กับตัวมันของมัน (Der Einzige und sein Eigentum) ของ มักซ์ สเตอร์เนอร์ ตามด้วยการโต้ตอบโดย คาร์ล มากซ์ ใน อุดมการณ์เยอรมัน (Die deutsche Ideologie) บทที่ 3

2  ไม่ทราบว่าไอติมเข้าใจคำว่าเผด็จการมาจากคำว่า Dictatorship หรือ Totalitarianism เพราะสองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน Dictatorship นั้นจะเกี่ยวกับว่าอำนาจกลางในทางปฏิบัติหรือทฤษฎีอยู่กับใคร แต่ Totalitarianism คือลักษณะจำเพาะของวจนะ ภายในสังคมสังคมหนึ่ง

3  ในที่นี้ข้าพเจ้าขอแสดงความไม่พอใจเพิ่มเติมต่อหนึ่งในผู้เขียนคำนิยมหนังสือเล่มนี้ ในคำนิยมของคนนี้ได้โฆษณาไว้ว่ารูปแบบของเนื้อหาเป็นแบบบทสนทนาทางปรัชญา (dialogue) ที่โซคระเทสเอาไปยัดปากพละโททำให้เป็นที่นิยมขึ้นมา ท่านผู้อ่านลองเปิด Why So Democracy แล้วหาดูว่ามันมีเสียงของผู้สนทนาอื่นนอกจากเสียงของไอติมเองหรือไม่

4  สำหรับผู้สนใจอ่านคำอธิบายทฤษฎีนี้ของมากซ์และเอ็งเกลส์แบบสรุปสั้นๆได้ใจความให้ไปอ่าน วัตถุวิถีวิภาษและวัตถุวิถีประวัติศาสตร์ (Dialectical and Historical Materialism) เขียนโดยโจเซฟ สตาลิน ในปี ค.ศ.1938

5  ไม่น่าแปลกที่ไอติมตกหลุมพรางนี้ในระหว่างไปศึกษาในประเทศตะวันตก ไมเคิ่ล พาเรนทิ ได้พูดถึงการที่อำนาจทุนควบคุมสถาบันและเนื้อหาการศึกษากระแสหลักในประเทศอเมริกาและอังกฤษ ไม่ให้สอนประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของชนชั้นแรงงานที่ทำให้ได้มาซึ่งสิทธิพลเมืองในสองประเทศ จุดเริ่มอ่านในเรื่องนี้คือ ประวัติศาสตร์กลายเป็นเรื่องลึกลับ (History as Mystery) บทที่ 1 ประวัติศาสตร์กลายเป็นการศึกษาถอยลงคลอง (History as Miseducation) ของไมเคิ้ล พาเร็นทิ (Michael Parenti) ตีพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.1999 โดยสนพ. City Lights Books เมืองซานฟรานซิสโก

6  ถ้าอยากรู้ว่า CIA , FBI, NSA ของอเมริกาใช้งบมหาศาลขนาดไหนเพื่อปกปิดความลับจากสาธารณชนไม่ให้ตรวจสอบได้ต่อปี และมีเอกสารความลับมหาศาลขนาดไหนที่ยังไม่ได้รับการเปิดชั้นความลับต่อสาธารณชน สามารถอ่านเริ่มต้นได้จากบทที่ 4 ของหนังสือพาเร็นทิเล่มที่แนะนำไปข้างบนเช่นกัน

7  รายงานผลการประชุม พ.ค.ร.(บ.) ครั้งที่ 14 [The Results of the Work of the Fourteenth Conference of the R.C.P.(B.)] 9 พ.ค 1925

8  ยังไม่ต้องพูดถึงประเทศที่ถูกทำรัฐประหารสำเร็จโดยรัฐบาลไม่ชอบธรรมที่ได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐฯ เช่น ชิเลหลังซัลวาดอร์ อะเย็นเด้ถูกลอบสังหาร, โบลิเวียหลังเอโว โมราเลสถูกขับไล่ออกจากประเทศ, อิหร่านก่อนยุครัฐประหารปี 1953, อัฟกานิสถานก่อนถอยหลังสู่ความป่าเถื่อนนำโดยรัฐบาลตาลีบัน และอื่นๆ หรือแม้แต่ตอนที่สหรัฐฯ ร่วมมือกับรัฐบาลไทยขอความช่วยเหลือบุกยึดประเทศเวียตนามไอติมก็ลืมไปแล้วหรือ?

9  สามารถถกเถียงกันได้อีกว่าการล่มสลายมีความหมายอย่างไรในบริบทความเป็นตัวตนโซเวียต ก็ในเมื่อทางกฎหมายรัฐธรรมนูญทุกฉบับมีข้อที่กล่าวไว้ชัดเจนว่าประเทศสมาชิกสมาพันธ์สามารถขอถอนตัวได้ทุกเมื่อตามต้องการ

10  รายงานผลโดยคณะกรรมการตรวจสอบรัฐธรรมนูญรัสเซียในหนังสือพิมพ์ Los Angeles Times ฉบับวันที่ 3 มิ.ย. 1994

11  ในความเป็นจริงนี่ก็เป็นอีกภาพความป่าเถื่อนหนึ่งที่เห็นกันได้ในสหรัฐอเมริกาช่วงเทศกาล“ลดราคา”สินค้าผู้บริโภคประจำปีในวันศุกร์ทมิฬ (Black Friday) ที่มนุษย์ถูกบั่นทอนลงไปกลายเป็นสัตว์นรก

12  นสพ. San Francisco Bay Guardian ฉบับวันที่ 4 ธ.ค.1996 รายงาน

13  นสพ. New York Times ฉบับวันที่ 6 เม.ย.1994 รายงาน

14  นสพ. San Francisco Chronicles ฉบับวันที่ 18 ก.ค.1996 รายงาน

15  ยกตัวอย่างเช่นโพลสำรวจความคิดเห็นของผู้อยู่อาศัยในเขตเมืองและชนบทรัสเซียในปี 2018 และ 2019 จัดทำโดย Yuri Levada Analytical Center ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 66 เปอร์เซ็นต์ ตอบว่า “ใช่” เมื่อผู้สำรวจถามว่า “คุณรู้สึกเสียใจกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียตหรือไม่” (СОЖАЛЕЕТЕ ЛИ ВЫ О РАСПАДЕ СССР?) และจากคำถามให้เลือกตอบได้หลายข้อว่า “อะไรที่คุณคิดว่าเป็นลักษณะเด่นของประวัติศาสตร์ชาติรัสเซียในช่วงยุครัฐบาลโซเวียต” ผู้ตอบแบบสอบถาม 59 เปอร์เซ็นต์ตอบว่า “ก็ความที่รัฐบาลห่วงใยประชาชนคนเดินดินไงละ” ไม่เชื่อเอาไปอีกโพลของ Gallup ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา สุ่มสัมภาษณ์ผู้อาศัยในประเทศอดีตสมาชิกจำนวน 11 ประเทศ 51 เปอร์เซ็นต์ตอบว่า “มีผลเสีย” กับคำถามว่า “การล่มสลายของสหภาพโซเวียตมีผลเสียหรือผลดีมากกว่ากัน” (24 เปอร์เซ็นต์ตอบว่า “มีผลดี”, 15 ตอบ “ไม่ดีไม่เสีย”, 11 ตอบ “ไม่รู้” หรือปฏิเสธไม่ตอบ) และอื่นๆ