Still Lives No. 4 ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล

 

คุณดา – ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล

You can blow out a candle
But you can’t blow out a fire
Once the flames begin to catch
The wind will blow it higher

— BIKO, Peter Gabriel

ผมรู้สึกตื่นเต้นเมื่อคุณดาตอบรับให้สัมภาษณ์ ไม่ได้ตื่นเต้นอย่างคนมีชื่อเสียงตอบรับ แต่เพราะเธอกำลังป่วยและยังมีแก่ใจที่จะให้พบเจอ ผมสนใจคุณดาเพราะเธอมีความแน่วแน่ในสิ่งที่เธอเชื่อ มุ่งมั่น และไม่เปลี่ยนแปร นับแต่ที่เธอปราศรัยครั้งแรกโดยยืนบนเก้าอี้พลาสติกพร้อมโทรโข่งหนึ่งตัวที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2549 จนถึงวันที่เธอให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ในปลายเดือนพฤศจิกายน 2562

ผมเดินเข้าไปในเนอสเซอรี่ที่คุณดารักษาตัว มันคลุมไปด้วยสีน้ำตาลอ่อนๆ ของเสื้อผ้าเครื่องใช้ บันไดไม้สีน้ำตาล เงียบเชียบเยียบเย็น ได้กลิ่นยาเหมือนในคลินิค ผู้ดูแลสถานที่สองคนดูใจเย็น พูดน้อย และมีสายตาช่างสังเกต บ้านสองชั้นหลังนี้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นเนอสเซอรี่ คะเนด้วยสายตาน่าจะมี 6-8 ห้อง ทุกห้องถูกจับจองโดยคนชราและผู้ป่วยติดเตียง ผมก้าวขึ้นบันไดอย่างระมัดระวังไม่ให้เป็นการรบกวนเจ้าของห้องที่กำลังพักผ่อน คุณดาอยู่ชั้นสองห้องซ้ายมือ พยาบาลข้างล่างบอกไว้ ผมมาหยุดยืนหน้าประตูสีขาวนวลลูกบิดสเตนเลส ผมเคาะประตูและแนะนำตัว ก่อนที่คนข้างในจะตอบกลับมาว่า เชิญค่ะ ด้วยเสียงที่ค่อนข้างแหลมและหนักแน่น ผมจินตนาการถึงตัวคนที่อยู่ในห้องที่ไม่เคยพบเจอกันมาก่อน คะเนบุคลิก อารมณ์ และคาดการณ์ถึงเวลาที่เราจะนั่งคุยกัน

คำถามที่เตรียมมามีไม่มาก เพราะไม่อยากวาดภาพคุณดาอย่างที่เคยรับรู้มาว่า ดา ตอร์ปิโด เป็นนักปราศรัยปากกล้า เจ็บแสบ และใช้ภาษาเผ็ดร้อน ผมอยากสัมผัสและเห็นความเป็นตัวเธอด้วยตาของตัวเอง ด้วยการฟังสิ่งที่เธอพูด และทำความเข้าใจว่า ดา ตอร์ปิโด คือใคร

คุณดานั่งอยู่บนเตียง ใส่หมวกแก๊ปสีดำ ปีกหมวกหันไปด้านหลัง เธอยิ้มให้ผม แล้วบอกว่าวันนี้มีแรงมากขึ้นหน่อย อ่อนล้าน้อยลง เพราะได้พักผ่อนหลังจากไปทำคีโมมาเมื่อสองสามวันก่อน เสียงของเธอเหมือนคนปกติ แต่ฟังยากหน่อยเพราะเธอพูดโดยกัดฟันไว้ เป็นเพราะผังผืดบริเวณกรามที่ตรวจพบหลายปีก่อน เธอบอกว่าการรักษาที่พอทำได้นั้นต้องผ่ากระโหลกแล้วเลาะออกมา เธอตัดสินใจไม่ทำ เธอว่าเธอทนได้

คุณดาพร้อมสำหรับการให้สัมภาษณ์ตั้งแต่ผมเปิดประตูเข้ามาแล้ว ผมรู้สึกอย่างนั้น แต่ผมไม่แน่ใจนักว่าสุขภาพของเธอจะอณุญาตให้มีแรงพูดนานแค่ไหน นับเป็นนาทีหรือชั่วโมง

เมื่อคำถามแรกถูกถามออกไป คุณดาตอบคำถามอย่างต่อเนื่อง ไล่เลียงเหตุการณ์แวดล้อมของคำถามอย่างละเอียดลออสมกับการเป็นอดีตนักข่าวและนักปราศรัย ผมจึงได้ฟังเรื่องของคุณดาตั้งแต่เด็กอย่างคร่าวๆ คล้ายภาพสเก็ตช์ และลงรายละเอียดมากขึ้นเมื่อถึงช่วงเวลาที่คุณดาเริ่มจะเป็นนักปราศรัยช่วงรัฐประหาร กันยายน 2549 จนกระทั่งถูกพิพากษาคดีอาญามาตรา 112

หนึ่งในคำถามที่ผมอยากรู้คือทำไมคุณดาต้องพูดดุเดือดเผ็ดร้อนขนาดนั้น เพราะใครก็รู้ว่าแกนนำที่เป็นนักปราศรัยบนเวทีนั้นคือเป้า หากมีจุดอ่อนให้เพลี่ยงพล้ำ ฝ่ายตรงข้ามคงไม่ละเว้น คุณดาตอบคำถามนี้ด้วยน้ำเสียงที่อ่อนลง หลังใคร่ครวญในเรือนจำนานแปดปี ร่างกายอ่อนล้า จิตใจที่เคยเข็มแข็งเมื่อถูกกระหน่ำซ้ำเติมและทอดทิ้ง อย่างไรเสียก็ย่อมบอบช้ำ เธอยอมรับว่าพลาด แต่นั่นก็เพราะเธอไม่คิดว่าเสรีภาพในการแสดงออกในสังคมประชาธิปไตย (?) จะน้อยขนาดนี้

ความผิดพลาดครั้งนี้เป็นราคาที่จ่ายด้วยเวลาในชีวิตและความทุกข์ทรมานตามมาทางร่างกาย ซึ่งถือว่าไม่คุ้มค่า เพราะเมื่อเกิดรัฐประหารต่อมาในปี 2557 ทุกอย่างก็กลับไปตั้งต้นใหม่ ไม้ขีดก้านที่จุดเผาไหม้ตัวเองนั้นสูญเปล่า

แต่เธอก็สรุปบทเรียนไว้ใน บันทึกการต่อสู้ครั้งสุดท้าย ของดา ตอร์ปิโด อย่างคนที่ปลงใจต่อความเป็นสัจธรรม “ใครก็ตามที่เดินเข้ามาสู่เส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ล้วนพบกับความเจ็บปวด”

และเธอพูดเหมือนเธอไม่ได้ป่วย
เธอพูดเหมือนคนที่กำลังจะลุกขึ้นไปสู้ต่อ

ขอคุณดาไปสู่สุคติ

— อะคิราห์