ผ่านเพื่อน: การเมืองกับห้องแห่งเสียงสะท้อนของชนวัยเยาว์

[For the English-language original “Through My Dear Friend: On Young Echo Chamber and Politics“, click here.]

 

[ภาพถ่ายโดยทัศ ปริญญาคณิต]

“ถ้าอยากกลับแล้วบอกนะ”

“กูเริ่มปวดหัวละ จะกลับรึ–”

“โอเค”

ท่ามกลางเสียงร้องเพลงของผู้ชุมนุมที่บ้างก็โยกตัวตามจังหวะบ้างก็ยืนเฉยๆ โดยมีเสียงปรบมือและเสียงโห่ร้องที่อุตส่าห์ดังขึ้นอยู่เป็นระยะ เราเดินผละจากฝูงชนนั้นมาเงียบๆอย่างลังเล ผ่านถนนสายแล้วสายเล่าเพื่อจะหาทางกลับไปที่รถ บทสนทนาฆ่าเวลากลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ก็จะมีอะไรอีกเล่าที่จะเป็นตัวช่วยกอบกู้ความเงียบงันอันซับซ้อนยุ่งยากใจในห้วงยามนั้น

“มึง กูไม่ได้คิดไว้ก่อน แต่กูคิดว่าจะสัมภาษณ์มึง”

“หืม? บทความมึงอะนะ”

“อืม ได้ไหม”

“ก็ได้ แต่ควีน 1 จะเข้าใจกูไหม”

“เข้าใจดิ เอาเป็นว่าก็เหมือนเราคุยกันปกติ”

รอยยิ้มอย่างเหนียมๆฉายขึ้นบนริมฝีปากของเธอ  เต๋า เพื่อนสนิทคนนี้ของฉันมักมีภาษากายและสัญญาณแสดงออกทางสังคมในลักษณะของเด็กสาวที่ขาดความมั่นใจในตัวเองและไม่กล้าแสดงออกอยู่เช่นนั้น ทว่าบ่อยครั้งเธอก็สามารถกระโจนพรวดเข้าสู่บทสนทนาที่ลงลึกและการถกเรื่องการเมืองอย่างถึงแก่น “กูก็อยากได้อะไรที่มันรุนแรงนะ อยากได้จริงๆ แต่ก็อย่างที่มึงว่า ภาพลักษณ์ธนาธรที่เป็นนักการเมืองศิวิไลซ์มีการศึกษาคงพังเละแน่ถ้าขืนเข้ามาเล่นบทแกนนำเมื่อไหร่ การประท้วงมันมักจะมาคู่กับความแรง เขาคงไม่อยากให้ตัวเองมีภาพแบบนั้น” ฉันนั่งเงียบอยู่หลังพวงมาลัย ได้แต่แทรกคำพูดประเภท “ใช่เลย”, “อืม”, “เห็นด้วย” หรือไม่ก็ความเห็นของตัวเองที่หนุนเสริมกับการวิเคราะห์ แก้ต่าง ของเธอ และในห้านาทีถัดมา ฉันก็เกือบจะคล้อยตามไปแล้วว่าการมารวมตัวกันของมวลชนในค่ำคืนของวันที่ 21 กุมภาพันธ์วันนี้ที่หน้าตึกไทยซัมมิทหลังการประกาศยุบพรรคอนาคตใหม่ จะมีความหมายบางอย่างสำหรับเราหรือจุดประกายแม้เพียงเศษเสี้ยวความหวัง จนกระทั่งจู่ๆเต๋าก็โพล่งขึ้นมาเบาๆหลังจากนิ่งเงียบไปครู่ใหญ่ “มึงรู้สึกหดหู่หน่อยๆไหม?” ตอนนั้นเองฉันจึงได้รู้สึกตัวขึ้นมาว่ามันคือชั่วเวลาห้านาทีเท่านั้นหรอกที่เราต่างดันทุรังสวมบทบาทในละครจำเป็นฉากสั้นๆที่ว่าด้วยการต่อสู้ทางการเมืองที่เปี่ยมความหวังและชัยชนะเพื่อปลอบใจตัวเองและปลอบประโลมกันและกัน “เรามาทำอะไรกันที่นี่วะมึง?” เธอพึมพำขณะไถนิ้วอยู่หน้าจอไอโฟนอย่างกระวนกระวาย “เกิดอะไรขึ้นวะ ใครๆก็มารีทวีตกูกันใหญ่เลย กูกลัวนะ!” ฉันฝืนหัวเราะอย่างขำไม่ออกและตอบไป “เราก็แค่วัยรุ่นสองคนที่พยายามต่อสู้กับอะไรบางอย่างที่เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย”

สำหรับเต๋า คืนวันศุกร์นี้ควรเป็นเวลาเตรียมสอบกลางภาคของเธอ “ทีแรกก็ลังเล” เธอกล่าวเมื่อถูกขอให้อธิบายความรู้สึกแรกหลังจากถูกชวนให้ออกมาร่วมในการชุมนุมทางการเมืองที่เป็นครั้งแรกสำหรับเธอและทั้งสำหรับฉัน “ไม่ใช่ไม่อยากไป แต่มันมีอะไรต้องทำ แถมใกล้จะสอบมิดเทอมแล้วด้วย แต่กูก็รู้แหละว่ากูอยากมา มันอยากมาจริงๆ”

นั่นไง! อาจารย์ปิยบุตร! ฉันแทบจะร้องกรี๊ดออกมาตอนที่เรากำลังขับเข้าไปจะถึงหน้าตึกไทยซัมมิท เราใช้เวลาเกือบสองชั่วโมงกว่าจะมาถึงที่นี่จากรังสิต ไม่ใช่เพราะรถติด แต่เพราะกูเกิ้ลแมพง่อยๆนั่น  “มึง ไม่มีที่จอด

มึงขับตรงไปก่อน! เพื่อนผู้น่ารักของฉันกลายเป็นมนุษย์สั่งการเฉียบขาดไปซะแล้ว ด้วยความที่ตอนนี้เรารู้สึกพลาดไม่ได้แม้เพียงเสี้ยววินาทีของการที่จะได้มีส่วนร่วม ฉันจึงลดกระจกลงพอให้ได้ยินเสียงจากข้างนอกก็ยังดี เสียงปรบมือและโห่ร้องดังพุ่งเข้ามาในรถของเราเต็มๆ หัวใจของเราท้นด้วยความหวังระคนกับความเบิกบานยินดี แล้วมือของเราก็มาประสานกันกลางอากาศราวกับฉากในภาพยนตร์ เต๋าวางมืออีกข้างของเธอลงบนมือของฉันแล้วส่งยิ้มร่าสดใส ฉันเองก็ส่งยิ้มกลับไปเช่นกัน

“กูไม่รู้สึกอะไรเลยว่ะ คือมันก็มีคนมาจำนวนหนึ่งแหละ แต่มึงว่ามันไม่น้อยไปหน่อยเหรอเมื่อเทียบกับความร้ายแรงระดับนี้ แล้วคนที่มาก็ดูไม่ค่อยจะคึกคักเลย มันแบบ มันดูไม่มีพลังหรือความฮึกเหิมเลย” การสนทนาอย่างซื่อสัตย์นอกบทชักจะเริ่มตั้งเค้า “กูผิดหวังว่ะ” เธอพูดด้วยน้ำเสียงแผ่วและแทบจะเหมือนเป็นเชิงขอโทษ และฉันก็ยังจดจำได้อย่างแจ่มชัดถึงความรู้สึกของตัวเองตอนนั้นที่ก็คล้ายคลึงกันกับเธอ “กูด้วย มันเศร้าว่ะ หรือมันปกติวะที่การชุมนุมมันจะดูกระอักกระอ่วนหน่อยๆ” ฉันถามเต๋า หรือจะว่าไปก็คงเป็นการถามตัวเองมากกว่า “คนอื่นเขาจะรู้สึกเหมือนเราไหมวะ” ฉันยังถามต่อ ไม่มีคำตอบจากอีกฝ่าย แต่ก็ใช่ว่าฉันจะคาดหวังคำตอบอะไร ความเงียบอันฉับพลันและว่างเปล่าเข้าถมทุกอณูอากาศภายในรถ ฉันปล่อยลมหายใจทิ้งยาว ฉันเหนื่อย “ถนนทางด่วนมันกว้างจัง ทำไมมันกว้างจังมึง?” น้ำเสียงจริงจังในคำถามของเธอกระตุ้นให้ฉันต้องตอบอะไรออกไปซักอย่าง “มันมีรถเยอะ” ฉันตอบ “รถมันเยอะ”

อย่างไรก็ตาม การได้กลับมาฟังบทสนทนาทั้งหมดที่บันทึกเสียงไว้ของเราซ้ำไปซ้ำมา ก็ทำให้ฉันได้มีโอกาสมาประเมินมุมมองและประสบการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับเราใหม่อีกครั้ง รวมทั้งได้เข้าใจให้ถ่องแท้ถึงความรู้สึกนึกคิดของเราและผลกระทบบางอย่างของการสร้างความรู้สึกนึกคิดในลักษณะเช่นนั้นขึ้นมา ซึ่งมามีผลกำหนดมุมมองของเราต่อสถานการณ์บางอย่างและต่อโลกของเรา  เมื่อเต๋ามองว่ากลุ่มผู้ชุมนุมของธนาธร “ดูไม่ค่อยจะคึกคัก” และ “ดูไม่มีพลังหรือความฮึกเหิม” มันก็ทำให้ฉันนึกสงสัยว่าแล้วมาตรฐานแบบไหนกันหรือที่เต๋า รวมทั้งตัวฉันเองด้วย มองว่าคือมาตรฐานที่ควรจะเป็นสำหรับกลุ่มผู้ชุมนุมของธนาธร ในเมื่อเราเองก็ไม่เคยไป ประท้วงหรือชุมนุมทางการเมืองมาก่อน เราพูดกันออกมาถึงความผิดหวังและรับไม่ได้อย่างแรงต่อกลุ่มผู้ชุมนุมที่ขาดความคึกคักของธนาธรได้อย่างไรในเมื่อประสบการณ์ทางการเมืองของเราเองยังไม่เคยเข้าถึงสักมาตรฐาน  เต๋ารู้ถึงอารมณ์ประเภท “คึกคัก”, “มีพลัง, หรือ “ฮึกเหิม” ในบรรยากาศของการชุมนุมทางการเมืองได้อย่างไร? การพูดฟันธงออกมาแบบนั้นมาจากไหน?

“มึง เป็นไงบ้าง? เขายังอยู่กันไหม?” ฉันถามอย่างร้อนรน

“ยังอยู่ ธนาธรเพิ่งทวีตว่าเดี๋ยวอีกสักพักจะขึ้นเวที” แสงสีฟ้าจากหน้าจอทวิตเตอร์ของเต๋าส่องสว่างไปยังใบหน้าของเธอและพื้นที่ในขอบเขตเบาะที่นั่งของเธอ

“โอเค ทุกคนต้องหยุด กูไม่ไหวแล้ว เขาไม่หยุดรีทวีตอะมึง กูจะทำยังไงดี”

“กี่รีทวีตละ”

“ประมาณสามพัน”

“ไม่เป็นไรหรอก ทุกคนเขาก็แค่เห็นด้วยกับมึง”

“คือกูไม่เข้าใจว่าเกิดขึ้นได้ยังไง กูมีคนฟอลแค่ 53 คนนะ”

“เพราะกูรีมึงหรือเปล่า”

“มึงรีหรอ!”

“ไม่ใช่ความผิดกูหรือเปล่าที่คนอื่นเขาจะชอบทวีตมึงเหมือนกัน!”

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา การใช้งานทวิตเตอร์ในประเทศไทยไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่พื้นที่สื่อสารหรือแพลตฟอร์มทางสังคมอย่างเดียวอีกต่อไป หากมีลักษณะเป็นแพล็ตฟอร์มทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ  คำว่าแพล็ตฟอร์มทางการเมืองในที่นี้ฉันไม่ได้หมายความแค่ว่ามันเป็นพื้นที่ในการถกเถียงทางการเมือง แต่หมายถึงว่ามันคือพื้นที่ของการมีส่วนร่วมทางการเมือง, ของการเคลื่อนไหวทางสังคม, และกิจกรรมทางการเมือง ในบรรดาแฮชแท็กอันเป็นที่นิยมในแต่ละวัน จะมีหนึ่งหรือสองอันที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมและการเมืองอยู่เสมอ และผู้ใช้งานทวิตเตอร์แต่ละคนก็เข้าร่วมมิใช่เพียงในฐานะผู้ส่งเสียงแสดงความเห็นในวงแลกเปลี่ยนนั้นๆ หากแต่ยังเป็นผู้คัดค้านและผู้ประท้วงในขบวนชุมนุมประท้วงเสมือนจริงนั้นที่ในบางกรณีก็ดำเนินไปตลอด 24 ชั่วโมงด้วย สถานะความเป็นพื้นที่ทางการเมืองของมันปรากฏเด่นชัดขึ้นทุกขณะ แฮชแท็กดุเดือดอันหนึ่ง คือ“#ขบวนเสด็จ” ซึ่ง “ติดเทรนด์อันดับหนึ่งของทวิตเตอร์ในประเทศไทยอยู่หลายครั้ง” ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงกฎจราจรเรื่องการปิดถนนขณะมีขบวนเสด็จในท้ายที่สุด (Sivasomboon, 2020) งานศึกษาจำนวนมากก็นำเสนอข้อสรุปในทิศทางเดียวกันว่าโซเชียลมีเดียหรือสื่อสังคม เช่น ทวิตเตอร์, เฟซบุ๊ก สามารถส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อวาทกรรมและการมีส่วนร่วมทางการเมือง (Ahmad et al, 2019) ) “ถ้ากูไม่ตอบแชทหรือมึงหากูไม่เจอ มาพบกูที่ทวิตเตอร์” ครั้งหนึ่งเต๋าเคยพูดทีเล่นแต่ก็เป็นจริงอยู่เหมือนกันทีเดียวในวงเพื่อนของเราที่เริ่มล้อเธอว่าเป็น “นักฉอด” แห่งโลกทวิตเตอร์มากขึ้นทุกวัน เมื่อเต๋าพูดกับฉันระหว่างที่เราขับรถกลับรังสิตว่า “ฉันไม่เคยชุมนุมมาก่อน” มันจึงดูจะไม่จริงเสียทีเดียวนัก เพราะเธอเคยชุมนุมมาแล้วและดูเหมือนจะเข้าร่วมมากกว่าใครในกลุ่มเพื่อนของเราเสียอีก และไม่ว่าเธอจะรู้ตัวหรือไม่ นั่นดูเหมือนจะกลายเป็นมาตรฐานประสบการณ์ทางการเมืองของเธอ

บรรยากาศและรูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองในการประท้วงเสมือนจริงสารพัดประเด็นในโลกทวิตเตอร์นั้น แตกต่างจากการชุมนุมทางกายภาพอย่างยิ่ง สิ่งที่เรียกว่าการพังทลายของบริบท (context collapse) อันเป็นหนึ่งในลักษณะโดยธรรมชาติที่สำคัญของทวิตเตอร์ ซึ่งนิยามกว้างๆได้ว่าคือลักษณะบรรยากาศที่ “กลุ่มผู้ใช้งานที่แตกต่างหลากหลายถูกเชื่อมผสานจนเป็นหนึ่งเดียวกัน” (Gil-Lopez et al, 2018) นั้น คือแกนกลางที่เอื้อให้ทวิตเตอร์รวมทั้งโซเชียลมีเดียแบบอื่นๆสามารถกลายเป็นอาณาเขตที่ประชากรผู้แตกต่างกันสามารถเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการเมืองได้อย่างสะดวกใจ  กล่าวอีกอย่างได้ว่า การพังทลายของบริบทเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของพื้นที่ออนไลน์โดยเฉพาะทวิตเตอร์ ที่เส้นแบ่งทางสังคม (social boundaries) ระหว่างปัจเจกถูกลบทิ้ง และสำนึกอันพึงมีในเรื่องความเหมาะสม (a required sense of appropriateness) ถูกลดระดับลง กล่าวคือ วาทกรรมที่สอดคล้องหรือแตกต่างกันสามารถมาดำรงอยู่ร่วมกันหรือปะทะกันได้โดยไม่ถือเป็นเรื่องแปลก และโดยส่วนใหญ่ ผู้ใช้งานก็แทบจะไม่รู้สึกถึงบริบททางสังคมที่แตกต่างกันที่อยู่ตรงหน้า แต่รับรู้มันโดยไม่รู้ตัวในฐานะ “บริบทเดียว” เหมือนๆกันของตัวเอง (Brandtzaeg & Lüders,  2018)  ประเด็นที่ฉันพยายามจะเสนอในที่นี้ก็คือ “การรีดกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายให้ราบเข้ามาเป็นบริบทเดียว” (Brandtzaeg & Lüders, 2018) นั้นมีศักยภาพอย่างสำคัญในการสร้างและเสริมความรู้สึกเป็นหมู่คณะหรือความรู้สึกรวมหมู่ (a sense of collectivity) ภายในกลุ่มหนึ่งๆหรือวาทกรรมหนึ่งๆ และเมื่อถูกผสมกันเข้ากับบรรยากาศของห้องแห่งเสียงสะท้อน (echo chamber) อันเป็นอีกหนึ่งสภาพแวดล้อมในโลกออนไลน์ซึ่ง “บุคคลจะพบแต่ความเชื่อหรือความเห็นที่พ้องกับตนเอง จนทำให้ทัศนะที่ยึดถืออยู่ได้รับการหนุนส่ง และความคิดในแบบอื่นๆ ไม่ถูกนำมาพิจารณา” (Oxford Advanced Learner’s Dictionary) เนื่องมาจากอัลกอริทึมและรูปแบบการใช้งานของแพลตฟอร์มเช่นการรีทวีต ก็ทำให้สำนึกในทางอัตลักษณ์แบบรวมหมู่และวาทกรรมในลักษณะรวมหมู่ยิ่งได้รับการเสริมแรงและเข้มข้นขึ้นไปอีก  ปัญหาในที่นี้ไม่ใช่อยู่ที่ว่ามันจะมีสมรรถภาพในทางการเมืองได้แค่ไหน แต่อยู่ที่ความสามารถของมันในการหล่อเลี้ยง ความรู้สึกนึกคิดแบบรวมหมู่ ในฐานะหนทางเดียวที่เป็นไปได้ในการเอาตัวเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง  สำหรับคนหนุ่มสาว ผู้ซึ่งการดำรงอยู่ทางออนไลน์คล้ายจะเป็นตัวตนของเขาหรือเธอเสียยิ่งกว่าการดำรงอยู่ในโลกทางกายภาพนั้น ความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาถูกผูกติดอย่างแนบแน่นกับลักษณะการรับรู้แบบรวมหมู่เสียจนกระทั่งเมื่อก้าวเข้าสู่บรรยากาศทางการเมืองในโลกกายภาพและพบว่าตนเองล่องลอยอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้า อยู่ท่ามกลางกำแพงแห่ง “บริบท” และการพึงปรับตัวให้เหมาะสม เขาหรือเธอจึงมักเกิดความรู้สึกแปลกแยกและรู้สึกเหมือนถูกริบความสามารถที่จะมีสำนึกแบบรวมหมู่ อันเป็นสิ่งที่ทรง พลัง และ สำคัญ ยิ่งสำหรับพวกเขาในการที่จะเอาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง “มึงรู้สึกยังไงตอนที่ชูสามนิ้ว” ฉันเอ่ยถามเต๋าผู้ยังคงหมกมุ่นอยู่กับภาวะขวัญผวาจากการที่ทวีตของเธอถูกรีทวีตไปเป็นจำนวนมาก

“เอาจริงๆนะ กูรู้สึกอาย มันกระอักกระอ่วน มันดูแปลก กูไม่เข้าใจทำไมคนอื่นเขาไม่ชูเหมือนกัน ถ้าทุกคนชูพร้อมกัน ก็คงไม่รู้สึกแปลกขนาดนั้น”

ความรู้สึกนึกคิดแบบรวมหมู่ซึ่งเป็นพลังอำนาจในรูปแบบเดียวของเรานั้น ได้ทำลายความสามารถของเราในการแสดงความกล้าหาญและห้าวหาญแบบปัจเจกลงไป จริงอยู่ว่าเมื่อคนคนหนึ่งทวีตความคิดเห็นในเรื่องหนึ่งๆ เขาทวีตอยู่ในไทม์ไลน์ของตนเอง ซึ่งก็ทำให้ดูเหมือนเป็นการกระทำโดยพลังอำนาจอย่างปัจเจก แต่เมื่อคำนึงถึงว่าการกระทำนั้นอยู่ในบรรยากาศแวดล้อมของการพังทลายของบริบท และอยู่ภายในห้องแห่งเสียงสะท้อน เขาย่อมรู้แก่ใจดีว่าเรื่องราวใดๆที่ตนผลิตออกมานั้นย่อมอยู่ภายใต้โครงเรื่องและบริบทเพียงหนึ่งเดียวของตนตามที่ตนเองปรารถนา กลไกของลักษณะรวมหมู่นั้นเปิดอยู่และทำงานอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าคนผู้นั้นจะยอมรับมันหรือไม่

“มึง เราควรชูสามนิ้วไหม” ฉันเอ่ยหลังยืนนิ่งอย่างกระอักกระอ่วนอยู่นานท่ามกลางบรรดาเงาวูบวาบสามนิ้วทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

“มึงอะ”

“กูว่าเราควร”

“งั้นก็ชู”

[ภาพถ่ายโดยจุฑามาศ สุขสด]

สิ่งที่อยู่ในห้องแห่งเสียงสะท้อนนั้นใช่จะมีแต่ เรื่องของความเห็นพ้องต้องกันเป็นหนึ่งเดียว หากยังต้องมีฟองอากาศแห่งความสบายใจและพึงพอใจ อยู่ด้วย การจะสร้างและธำรงห้องแห่งเสียงสะท้อนเช่นว่านั้นหรือความเห็นพ้องต้องกันเช่นว่านั้นไว้ ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ มันไม่ใช่แค่แต่ละคนจะพูดออกมาเหมือนๆกันว่า “กูเห็นด้วยกับมึง” หรือ “มึงควรจะเห็นด้วยกับกู” แล้วจะทำให้ห้องแห่งเสียงสะท้อนยังคงมีชีวิตชีวาอยู่ได้ แต่มันต้องเป็นว่า “เฮ้ย มาดูเรื่องนี้สิ–”, “ดูนั่นสิ”, ฟังเรื่องนี้สิ–”, “นี่ไงคือหลักฐาน–”, กูโคตรรู้สึกว่า–” ฯลฯ ฉะนั้นเรื่องเล่าภายในห้องแห่งเสียงสะท้อนจึงต้องเป็นเรื่องที่เลือกมาเล่า ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องอะไรก็ได้ คือไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องที่เล่าให้รู้เรื่องได้ (intelligible) แต่ต้องเป็นเรื่องที่น่าเล่าหรือควรค่าแก่การเล่า (tellable) มันคืออาณาเขตของการคัดสรรเรื่องเล่าที่ผู้ผลิตพิจารณาว่าควรค่าแก่การรับรู้ แต่ละคนแข่งขันกันผลิตแต่ละเรื่องเล่าที่ควรค่ามากพอจะดึงดูดกันและกันภายในห้องแห่งเสียงสะท้อนนี้ นั่นหมายความว่าแต่ละคนจะต้องรู้ได้ว่าเรื่องแบบไหนจะน่าเล่าในเวลานั้นๆ ถ้ายกตัวอย่างคือ สำหรับค่ำคืนวันที่ 21 กุมภาพันธ์นั้น แบบแผนเรื่องเล่าที่ปรากฏคือเรื่องเล่าของการเสริมสร้างพลังและแรงบันดาลใจ แน่นอนว่าก็มีเรื่องเล่าของความหดหู่ปรากฏอยู่บ้าง แต่แบบแผนเรื่องเล่าที่ควรค่าแก่การเล่าที่สุดในค่ำคืนนั้นคืออารมณ์ของความหวังและโอกาส  ผู้ใช้งานทวิตเตอร์แต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือองค์กร ต่างผลิตเรื่องราวที่ทรงพลังของการรวมตัวฉับพลันที่หน้าตึกไทยซัมมิท การซูมภาพระยะใกล้เข้ามาที่ใบหน้าของเราเป็นเรื่องจำเป็นขึ้นมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะการซูมถอยออกอาจเผยให้เห็นว่าเรามีจำนวนน้อยนิดเพียงใดและเสี่ยงที่จะไปทำลายอารมณ์อย่างที่เราปรารถนา เรื่องราวของลูกสาวของธนาธรถูกเล่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าพร้อมกับความรู้สึกชื่นชมและพึงพอใจพรั่งพรูเป็นระยะตลอดคืน ทว่าสภาพความเป็นจริงหน้าตึกไทยซัมมิทนั้นเป็นไปในทางตรงกันข้าม ใช่ว่าจะไม่มีอารมณ์ของการสร้างขวัญกำลังและแรงบันดาลใจ เพียงแต่เมื่อก้าวออกมาจากห้องแห่งเสียงสะท้อน กล่าวได้ว่าเราไม่ได้ยืนอยู่ในจุดของความเป็นมิติเดียวอีกต่อไป หากมันกลายเป็นสามมิติแล้ว เมื่อเต๋าโพล่งออกมาว่า “เราสู้เพื่ออะไรวะ เรามาเพื่อสู้กับอะไร” เป็นครั้งที่สามเข้าไปแล้วในระหว่างที่เราคุยกัน ฉันก็เริ่มตระหนักว่ามันไม่ใช่คำถามอีกต่อไป แต่มันคือถ้อยแถลงของความรู้สึกหดหู่และสิ้นหวังที่เปิดเผยตัวตนออกมาจากภาวะตระหนกของบุคคลผู้ซึ่งเพิ่งจะ กระโดดอย่างไร้เดียงสาออกจากการมีส่วนร่วมแบบมิติเดียวมาสู่ความเป็นจริงอันโหดร้ายแบบสามมิติ 360 องศาที่ปราศจากเบาะของห้องแห่งเสียงสะท้อนรองรับ “กูอยากรู้ว่ามีคนมากี่คน แบบเอาจริงๆน่ะ ร้อยคนถึงไหมวะ?”  และตลอดระยะทางกลับรังสิต มีหลายครั้งที่ฉันอยากจะกดลบทวีตที่ชวนผู้คนออกมาชุมนุมร่วมกัน เพราะอย่างน้อยในห้องแห่งเสียงสะท้อนนั้น, ฉันคิด, เรายังมีความหวัง แม้มันจะยังเป็นแค่ฟองสบู่เปราะบางล่องลอยในอากาศ

ซิส ทำไมมันต่างกับการชุมนุมที่สกายวอล์ควะ กูนึกว่าคราวนี้มันน่าจะล้นหลามและใหญ่โตกว่าในเมื่อเรื่องมันร้ายแรงขนาดนี้ คือคราวนั้นกูก็ไม่ได้ไปหรอก แต่ดูจากรูป มันเห็นได้เลยนะว่ามีคนเยอะกว่า บรรยากาศก็ดูมีพลังกว่า มึงว่าไหม”

“อืม” ฉันตอบ “แต่เราจะแน่ใจได้ยังไง”

“แน่ใจเรื่อง?

“ว่าสกายวอล์คประสบความสำเร็จ”

“ไม่รู้อะ แต่อย่างน้อยมันก็ดูประสบความสำเร็จกว่าที่นี่ไหม” เต๋าตอบกลับมาเสียงอ่อยๆ และในหัวของฉันก็นึกไปถึงตอนนั้นที่ฉันเองก็รู้สึกโล่งอกและมีความหวังเมื่อได้รับรู้บรรยากาศและการตอบรับของผู้คนที่มาชุมนุมแบบแฟลชม็อบบนสกายวอล์คจากในโลกทวิตเตอร์

ตอนที่เรากำลังเพิ่งไปถึงและขับรถผ่านตึกไทยซัมมิท ความรู้สึกนึกคิดแบบนักกิจกรรมบนทวิตเตอร์ของเรายังไม่ถูกทำให้บุบสลาย ร่างที่เห็นอยู่ เบลอๆ ของอาจารย์ปิยบุตรและเสียงโห่ร้องจากระยะไกลได้มอบโอกาสให้เราเติมเต็มช่องว่างจินตนาการของตนเอง สองมือของเราประสานกันกลางอากาศไม่ใช่เพราะความเป็นจริง ที่เรารับรู้จากสถานการณ์ ณ ที่แห่งนั้น แต่เป็นการรับรู้ต่อความเป็นจริงนั้นตามที่เราปรารถนา ตามที่เราสั่งสมและปลุกปั้นมาเนิ่นนานก่อนหน้านั้น ตั้งแต่ที่บ้าน, ที่มหาวิทยาลัย, ในร้านอาหาร, หรือที่ใดก็ตามที่มีสมาร์ตโฟนและอินเทอร์เน็ต เมื่อความเป็นจริงในแบบที่เกิดขึ้นไม่สอดคล้องกันกับสิ่งที่เราสั่งสมมาอย่างไร้เดียงสา โลกของเราก็พังครืน ห้องแห่งเสียงสะท้อนถูกเจาะทะลวง แน่นอนว่าทวิตเตอร์หรือแพลตฟอร์มอย่างอื่นยังคงมีศักยภาพที่สำคัญทางการเมือง และแน่อยู่แล้วว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเราในนั้นยังคงเป็นไปได้และจักต้องดำเนินต่อไป เพียงแต่บางทีมันก็อาจจะต้องควบคู่กันไปกับการตระหนักรู้และปรับมุมมองอีกสักนิดที่จะเอื้อให้การบ่มเพาะความรู้สึกนึกคิดแบบปัจเจกและเรื่องเล่าแบบสามมิติครบ 360 องศา ซึ่งรวมถึงเรื่องเล่าจากทัศนะที่เห็นแย้งกับเรา สามารถมีที่ทางและมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน รวมทั้งหนุนเสริมหล่อเลี้ยงกันได้  แน่นอนว่า ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันของไทย เราต้องการความรู้สึกโล่งอกและความหวัง แต่สิ่งสำคัญยิ่งยวดที่แอคทิวิสต์รุ่นเยาว์หรือใครก็ตามควรจะได้ตระหนักไว้ก็คือ การมีความหวังของเขาหรือเธอจะต้องไม่ใช่เป็นไปเพื่อหล่อเลี้ยงภาวะฟองสบู่ของความหวัง อันเป็นภาวะที่จะนำไปสู่วัฏจักรของการหยุดนิ่ง, การงอมืองอเท้า และการไร้ความสามารถที่จะเผชิญหน้าและก้าวข้ามความเป็นจริงอันโหดร้ายของเส้นทางแห่งการปฏิวัติเปลี่ยนแปลง

“มึง เขาเริ่มโควททวีตกูละ ทำไงดี ถ้าเป็นพวกสลิ่มทำไงวะ ถ้าเขามารุมด่ากูอะมึง”

จนถึงเวลานี้ทวีตเธอคงถูกรีทวีตกว่า 9,000 ครั้ง กระจายตนเองข้ามเข้าสู่ห้องแห่งเสียงสะท้อนห้องอื่นๆ ทุกดวงตา จาก 360 องศา จับจ้องที่เธอ

“มึง ไม่หรอก”

“มึงทำยังไงอะตอนที่โดนรีเหมือนกัน มึงกลัวเหมือนกันไหม กูเครียด”

“กูก็กลัว แต่มันจะดีขึ้น”

“มึงต้องช่วยกู พลอย มึงก็รู้กูเปราะบาง กู fragile”

“เออ กูรู้” ฉันขำ “แต่เอาจริง มึงจะโอเค”

“โอ้ย ออกไป พวกสลิ่ม” เธอเริ่มตะโกนใส่หน้าจอทวิตเตอร์ของตนเอง “ออกไป ออกไป ไป ไป ไป!”

เธอกำลังเรียนรู้ และฉันก็เช่นกัน

 

บรรณานุกรม

Busaba Sivasomboon . (2020, January 13). Thailand eases royal motorcade rules to unblock traffic. Retrieved from https://abcnews.go.com/International/wireStory/thailand-eases-royal-motorcade-rules-unblock-traffic-68241078

Ahmad, T., Alvi, A., & Ittefaq, M. (2019). The Use of Social Media on Political Participation Among University Students: An Analysis of Survey Results From Rural Pakistan. SAGE Open, 9(3), 215824401986448. https://doi.org/10.1177/2158244019864484

Brandtzaeg, P. B., & Lüders, M. (2018). Time Collapse in Social Media: Extending the Context Collapse. Social Media + Society, 4(1), 205630511876334. https://doi.org/10.1177/2056305118763349

Gil-Lopez, T., Shen, C., Benefield, G. A., Palomares, N. A., Kosinski, M., & Stillwell, D. (2018). One Size Fits All: Context Collapse, Self-Presentation Strategies and Language Styles on Facebook. Journal of Computer-Mediated Communication, 23(3), 127–145. https://doi.org/10.1093/jcmc/zmy006

Hampton, K. N., Shin, I., & Lu, W. (2016). Social media and political discussion: when online presence silences offline conversation. Information, Communication & Society, 20(7), 1090–1107. https://doi.org/10.1080/1369118x.2016.1218526

Oxford Advanced Learner’s Dictionary. (n.d.). Echo-chamber, Oxford Advanced Learner’s Dictionary. Retrieved from https://www.oxfordlearnersdictionaries.com/definition/english/echo-chamber

 

หมายเหตุบรรณาธิการ

บทความนี้เดิมเขียนขึ้นเป็นภาษาอังกฤษในฐานะเปเปอร์หรืองานเขียนที่ได้รับมอบหมายในชั้นเรียน วิชา Literary Non-fiction ของสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในวาระเดียวกันนี้ที่เผยแพร่สองภาษาใน อ่านออนไลน์

  1. ชื่อที่เพื่อนๆของฉันบางส่วนใช้เรียกอาจารย์สุธิดา วิมุตติโกศล เนื่องจากชื่อของเธอคล้ายกับชื่อของราชินีคนปัจจุบันของไทย