สูญสิ้นคือเป็นคน : รีวิว “มิดไน้ท์ แมส”


[For the English-language original “In Loss We Are Found: A Midnight Mass Review“, click here.]

สิ่งที่อาตมามีให้ สิ่งที่พระองค์จ้าวทรงประทานไว้ล้นเหลือคือปริศนา
มิดไน้ท์ แมส เอพพิโสด 3

เจ้าอยากฟังปริศนาเป็นยาใจ แต่ปริศนาจริงๆคือมันไม่มีอะไรเป็นปริศนา
คอแม็ก  แม็กคาที่, บลัด เมอริเดี้ยน

สืบเนื่องจากสภาพการถกเถียงกันบนโซเชี่ยวมีเดี่ยเรื่องซีรี่ย์เน็ทฟลิกซ์ มิดไน้ท์ แมส ของนายไมค์ ฟลานากัน ที่เพิ่งออกมาปีนี้ ข้าพจ้าวเห็นควรชี้แจงให้กระจ่างแจ่มว่าอากิวเม้นที่แทบจะไม่เป็นอากิวเม้นในบทความนี้มีพื้นฐานอยู่บนข้อกังวลทางทฤษฎีสองประการ

ประการแรกเป็นเรื่องความเสื่อมสมรรถภาพของ “ฝ่ายซ้ายไทย” ที่ยังคงพยายามทำความเข้าใจที่ทางของมรดกทางวัฒนธรรมของตนเองในขณะที่ความเป็นไปได้ทางการเมืองเริ่มร่อยหรอลงทุกที การใช้สำบัดสำนวนปลุกใจแรงงานแบบท่องมาหรือต่อต้านลัทธิบูชาจ้าวแบบง่ายๆในบทวิเคราะห์งานวรรณกรรมหรือเวลาขึ้นเวทีปราศัยในม็อบ แสดงให้เห็นถึงจุดสมดุลที่อำนาจรัฐสามารถยอมรับได้จุดใหม่ที่ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยไทยได้มาถึง ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกะสัดของปีที่แล้วถูกลดทอนลงเหลือเป็นข้อเรียกร้องคืนสิทธิการประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมือง ซึ่งต่อมาก็โดนละลายน้ำ(จากรถจีโน่)เหลือข้อเรียกร้องขอสิทธิการชุมนุมอย่างสันติ การใช้การเคลื่อนไหวบนถนนเป็นหลักนี้เป็นอยุทธศาสตร์ที่ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมไม่สามารถเป็นภัยต่อรัฐที่ล้อมหุ้มไปด้วยแขนขากลไกอำนาจต่างๆ  สบายบรื๋อถึงขนาดมันไม่จำเป็นจะต้องเปิดช่องทางคุยกับผู้ชุมนุมซะด้วยซ้ำ  ตัวอย่างล่าสุดเลยคือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 ที่ว่าปฏิรูป=ล้มล้างนั่นแหละ  เช่นกันบนพื้นที่ทางวัฒนธรรมเราเห็นได้บ่อยครั้งว่าการใช้การวิจารณ์เป็นเพียงสายตามองออกสู่ข้างนอก สู่สิ่งอื่น  มันโดนกำราบให้กลายเป็นวิธีการบริโภคแบบหนึ่งภายใต้ทุนนิยมยุคหลังได้ง่ายๆ[1]  ไอ้การเล่นละครกันไปมาระหว่างผู้เขียนที่จารึกความจริงให้หลบซ่อนอยู่ในเนื้อเรื่อง กับผู้อ่านที่ทำเป็นขุดค้นพบความจริงนี้ ณ จุดตรงที่ทุกคนคาดหรือไม่คาดอยู่แล้วว่าเออ มันอยู่ตรงนั้นนั่นแหละ (หรือ เออ คิดไม่ถึงเลยว่ามันอยู่ตรงนั้นนั่นแหละ) มันไม่ใช่ความสัมพันธ์เชิงวิภาษวิถีอีกต่อไป เพราะจุดเหล่านั้นมันทำงานอยู่ภายใต้ข้อสมมติฐานของอุดมการณ์ลัทธิทุนนิยมในโลกแห่งความเป็นจริงอยู่แล้ว

ประการที่สอง ช่วงที่ตำรวจไทยมันปราบปรามกลุ่มทะลุแก๊ซหนักๆ สาธารณะชนก็ได้ตั้งคำถามกันอีกครั้งว่าตำรวจมันเป็นคนรึเปล่า คำถามนี้ถ้าดูดีๆจะเห็นว่ามันเป็นคำถามปลาด กล่าวคือ ถ้าใช้มันเป็นคำถามเล่นสำบัดสำนวนมันเป็นจะการถามหาอัตถิภาวะ (มึงยิงเด็กแบบนี้แล้วยังเรียกตัวเองว่าคนอีกเรอะ?)  ในขณะที่ถ้าใช้เป็นคำถามแบบตรงๆ ตามตัวอักษรโดยไม่ต้องตีความ แต่ตัวคำตอบเปิดช่องให้ผู้ฟังตีความผ่านการอุปมา (จริงๆตำรวจไม่ใช่คน แต่เป็นปีศาจสุกรสวมเนื้อหนังมนุษย์) มันจะกลายเป็นการตั้งคำถามต่อภาวะวิทยา  แต่เราก็รู้กันอยู่ว่า แผนการขับเคลื่อนใดๆที่จะนำไปสู่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงนั้นมันต้องตั้งอยู่บนฐานของการวิเคราะห์สถานการณ์อันเป็นรูปธรรมอย่างเป็นรูปธรรม  ถ้าพูดกันในโหมดของนวนิยายก็คือ นวนิยายในขนบสัจจะนิยมสังคมนิยมนั้นเห็นว่า “รูปธรรม” พึงสื่อสำแดงผ่านการนำเสนอความจริงในฐานะวัตถุที่รับรู้ผ่านจิตสำนึก แต่ถ้าจะให้ชำแหละภาวะวิทยาได้อย่างเข้าท่าน่าเชื่อถือ โดยสามารถชี้ให้เห็นกระบวนการวิภาษที่ตั้งอยู่ในช่องว่างระหว่างอัตตะ (subject) กับความเป็นจริง ระหว่างการวิเคราะห์กับสถานการณ์ ก็เห็นจะมีแต่นวนิยายในแนวทางปลาดคดี (weird fiction) ที่เขียนมาดีในระดับหนึ่งเท่านั้นที่จะทำได้ ดังนั้นบทเรียนสำคัญยิ่งที่ปลาดคดีจะสามารถให้แก่อัตตะเชิงการเมืองและเป็นตัวช่วยส่วนเสริมให้กับการทึกทักเอาความเป็นจริงเป็นหลักของสัจจะนิยมได้ ก็คือ การวิพากษ์ที่หันเข้าหากระบวนการภายในต่างๆของตัวอัตตะเอง

ดังที่ประหลาดชนนิยมสังคมนาม โจเอล เลน (สู่สุขคติ) ได้กล่าวไว้ การที่นิยายเหนือธรรมชาติสามารถผงาดขึ้นเป็นแขนงวรรณคดีจริงจังในศตวรรษที่สิบเก้าได้นั้น เป็นผลมาจากการที่ยุคเรืองปัญญาของฝรั่งถูกถอดหน้ากากออกมาว่าจริงๆแล้วมันเป็นเพียงวาทะกรรมของการคุมอำนาจเท่านั้น พอหลังจากอุบัติการณ์สิ้นโลกที่เรียกกันว่าสงครามฝรั่งครั้งที่ 1 วรรณคดีสยองขวัญก็แตกออกเป็นสองแขนงคือ สยองขวัญสั่นอัตถิภาวะ (existential horror) ซึ่ง “พยายามนิยามความเชื่อ [ฉบับยิว-คริสต์] ใหม่ในโลกฆราวาสที่ศีลธรรมเป็นสิ่งคลุมเครือ” โดยมีนักเขียนหัวโจกเช่น เรย์ บรัดบุรี, เดนนิส เอ๊ทชิสั้น, เอ็มอาร์ เจมส์ และอื่นๆ  กับแขนงสยองขวัญสั่นภาวะวิทยา (ontological horror) ที่ประกาศกร้าวว่าความเป็นจริงตามมุมมองมนุษย์มันเชื่อถือไม่ได้ นำโดยเหล่าผู้ทรงคุณวุฒิอย่าง เฮ็ดพี เลิฟคราฟท์, ดับบลิวเอช ฮอดจ์สัน, อาร์เธอร์ แม็คเค็น เป็นต้น[2]  การอ่านมิดไน้ท์ แมส ผ่านเลนส์จิตวิเคราะห์ ไม่เพียงจะทำให้เราได้เห็นความหมกมุ่นทางอัตถิภาวะต่อชีวิตหลังความตาย แต่ยังจะเห็นได้ถึงภาวะวิทยาของการสูญเสีย ในลักษณะที่เป็นความขัดแย้งระหว่างการสูญเสียแรงปรารถนา กับการสูญเสียจุยซ้อง (jouissance) อีกด้วย

หกชั่วโมงก่อนนิพพาน

แม้รูปลักษณ์ภายนอกมันจะดูเป็นยิว-คริสต์ แต่ มิดไน้ท์ แมส ให้ประสบการณ์การรับชมที่ค่อนข้างพุทธ ความสับสนนี้อาจเป็นเหตุให้มีผู้ชมจำนวนหนึ่งรู้สึกผิดหวังปลาดๆกับครึ่งแรกของซีรี่ส์ ที่พอแค่เอพพิโสดสาม หลวงพ่อพอล ฮิลล์ดัน ก็ดันสารภาพบาปให้ฟังหมดแล้วว่าจริงๆแล้วเขาหาใช่ใครอื่นนอกจากท่านจ้าวประคุณจอห์น พรูอิทท์ ที่เคยแก่หงำเหงอะแต่ได้ดื่มเลือดของเทวดาองค์ที่ท่านไปพบโดยบังเอิญในทะเลทรายระหว่างธุดงค์ไปนครดามาสคุส เล่นเฉลยเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติให้ผู้ชมรู้หมดก่อนจะครึ่งเรื่องซะอีก แล้วเอพพิโสดที่เหลือก็เป็นเรื่องของตัวละครแต่ละตัวที่ต้องเผชิญหน้ากับการเป็นมนุษย์ ที่ต้องมีชีวิต แล้วก็ต้องตายอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ว่ากันตามจุดประสงค์การใช้งานแล้ว ชีวิตหลังความตายของพุทธกับคริสเตียนมันไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ ในศาสนาพุทธดึกดำบรรพ์ เป้าหมายของอัตตะคือการไปสู่นิพพาน หรือการยอมรับและทำความเข้าใจกับความไม่จีรังของกาย เพื่อจะได้ไม่กลับมาเกิดใหม่ในสังสารวัฏ โดยพุทธนิกายสุขาวดีได้เพิ่มชีวิตหลังความตายต่อยอดจากคำสอนดั้งเดิมเพราะคาดการณ์ไว้แล้วว่าการตรัสรู้ได้ในชีวิตนี้มันไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องใช้กุศโลบายอุปมาว่าหลังตายแล้วมีอีกชีวิตหนึ่งให้พยายามตรัสรู้ [3]  ในมิดไน้ท์ แมส ความจำเป็นของอัตตะที่จะต้องจัดที่ทางให้กับความขัดแย้งระหว่างการมีและการไม่มีชีวิตอยู่ ปรากฏให้เห็นผ่านตัวพรูอิทท์ที่พูดไว้ในเอพพิโสด 5 ว่า:

“อาตมากลัวความตายเอามากๆ ที่อาตมาเข้าหาองค์พระจ้าวก็เพราะเหตุนี้ อาตมาพยายามจะทำความเข้าใจความตาย เอ่อ โดยเฉพาะความตายของโยมน้อง [น้องสาวของพรูอิทท์] นั่นแหละ ว่ามันเป็นจะส่วนหนึ่งของแผนการของพระองค์ได้ยังไง อาตมามาบวชเป็นพระก็เพื่อหาคำตอบให้คำถามนี้นี่แหละ. . .”

เทวดาที่ว่าพรูอิทท์ไปเจอเข้านี้ได้ประทานชีวิตหลังความตายให้กับพรูอิทท์และชาวบ้านเกาะคร็อคเก็ตเกือบทุกคนในเอพพิโสดท้ายๆ ผ่านพันธสัญญาเลือดที่คืนชีวิตให้ผู้รับกลายเป็นสิ่งมีชีวิตเสมือนแวมไพร์หลังจากตายไปแล้วรอบแรก เนื้อหาในแง่อัตถิภาวะคลี่คลายผ่านชีวิตหลังความตายของแต่ละตัวละครที่คั่นระหว่างความตายครั้งแรกกับความตายครั้งสุดท้ายตอนโดนแสงอาทิตย์เผาเป็นเถ้าธุลี เหตุการณ์ต่างๆ ที่ตามมาเป็นลูกโซ่ไปจนถึงการเสด็จมายังโลกมนุษย์ของพระจิตวิญญาณบริสุทธิ์ในตอนไคลแม็กซ์ของซีรี่ส์นั้น มีจุดตั้งต้นมาจากการทำอัตวินิบาตกรรมเชิงปฏิวัติของตัวเกือบเอกไร้ศาสนา ไรลี่ย์ ฟลินน์ ผู้ค้นพบทางสงบได้ไม่ใช่เพราะการพูดกล่อมตัวเองให้เชื่อเรื่องความตายภายใต้กรอบอภิปรัชญาวัตถุนิยมแบบกลไก แต่เพราะความรักที่มีต่อสหายสมัยเด็ก เอริน กรีน

ในเอพพิโสดสุดท้าย ศาสนิกชุมชนโบสถ์คร็อคเก็ตที่ได้รับเลือดของเทวดาไปเรียบร้อย ออกล่าเหยื่อกินเลือดชาวบ้านคนอื่นไปทั่วเกาะ เหยื่อที่ไม่ตายก็โดนเปลี่ยนเป็นสัตว์ปลาด  เบฟ คีน ผู้เป็นหัวหน้าของศาสนิกชุมชนนี้โดยพฤตินัย สั่งให้ลูกกระจ๊อกเผาอาคารทุกหลังบนเกาะให้เหลือแต่ศาลาชุมชนที่ตั้งชื่อตามผู้บริจาครายใหญ่คือตัวเบฟ คีน เอง โดยมีแผนจะใช้ศาลานี้เป็นที่หลบแสงอาทิตย์ แต่สุดท้ายศาลาก็ถูกเผาไปด้วยโดยความพยายามของกลุ่มตัวเอกสามคนคือ เอริน, นายอำเภอมุสลิมชื่อฮัสซาน, และซาร่า กันนิ่ง หมอประจำเกาะซึ่งจริงๆเป็นลูกลับนอกสมรสของพรูอิทท์  เมื่อไม่มีที่จะหลบในเช้าวันใหม่ที่กำลังมาถึง ชาวบ้านคร็อคเก็ตที่เหลือก็ไปรวมตัวกันที่ลานกลางเมืองเพื่อรอความตายและขับร้องเพลงสวดพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันครั้งสุดท้ายท่ามเปลวเพลิง ศีลมหาสนิทโลกาวินาศนี้มันไปตรงกับความเข้าใจพระจิตคริสต์พื้นฐานของสลาวอย ชีเช็ค ที่ว่า “ความรักระหว่างผู้มีจิตศรัทธา” และ “จิตวิญญาณของชุมนุมชน”[4] เกิดขึ้นได้จากการจัดตั้งโดยชุมชนเอง[5]  ท่านผู้อ่านสามารถเพิ่มเข้าไปอีกข้อ คือสิ่งที่เรียกว่า “ภาวะความจำเป็นต้องมีคอมมูนิสซึ่ม” ตามนิยามของนาย เจ. มูฟาหวาด-พอล ที่ตกผลึกจากการสังเกตการปฏิบัติของเหมาอิสซึ่มว่า การจัดตั้งทางสังคมการเมืองอันใด ต้องมีการไตร่ตรองถึงเงื่อนไขทางวัตถุอันขาดไม่ได้ ที่หากว่าไม่มีสิ่งนี้แล้วการจัดตั้งจะขาดซึ่งประสิทธิภาพ[6]  สำหรับชาวคร็อคเก็ตผู้เสียไปหมดแล้วทั้งพระจ้าว ทั้งผู้เผยพระวจนะ ทั้งเทวดา เหลือเพียงแต่ความจำเป็นที่จะต้องเผชิญหน้ากับความตายอันเป็นปริศนาไม่ลี้ลับที่เลี่ยงได้ไม่เกินหกโมงเช้า การเปลี่ยนจากหมู่ศาสนิกชนที่ปกติมารวมตัวกันเพื่อสวดมนต์กลายเป็นมวลชนในศัพท์แสงม้ากซิสจึงไม่ใช่เรื่องแปลก พอตัดไปฉากอื่นๆ ท่านผู้ชมก็จะเห็นตัวละครหลักที่เหลืออยู่ในสภาพถึงหรือไม่ถึงนิพานตามยถากรรมของตน จอห์น พรูอิทท์กับคนรักเก่ามิลเดร็ด กันนิ่ง นั่งกอดศพของซาร่าท่ามกลางความเงียบงัน, เอรินหวนนึกถึงบทสนทนากับไรลี่ย์ในขณะที่ตัวเองนอนจมกองเลือดหลังโดนเทวดากัดคอ, ฮัสซานกับลูกชายชื่ออาลีทำละหมาดเช้าหันหน้าเข้าทิศตะวันออก ขณะที่เบฟ คีน ตัวคนเดียวนั่งสะอื้นอยู่ใกล้ๆ  วิชากำกับและเขียนบทของฟลานากัน ผนวกกับบทเพลงสวดใกล้ชิดพระจ้าว อันกินใจ ส่งผลให้ฉากนี้เป็นหนึ่งในโมเม้นต์ที่แรดิคั่ลที่สุดบนจอภาพยนตร์ในรอบหลายปีที่ผ่านมา

ความสลิ่มมีหลายมุม

สองคำที่ข้าพจ้าวเห็นคนใช้บ่อยบนโซเชี่ยวมีเดี่ยไทยเวลาอธิบายถึงตัวเบฟ คีน คือ สลิ่มและคนดี อย่างที่รู้ๆกัน สลิ่มหมายถึงผู้ถูกความเชื่ออนุรักษ์นิยมไทยครอบงำหนัก ส่วนคนดีคือคนที่มีศีลธรรมดีมีคุณสมบัติรักชาติและกะสัดในสายตาของคนเหล่านี้ สองคำนี้มีความหมายที่ค่อนข้างชัดก็จริง แต่พอมีการนำไปใช้แบบมั่วซั่วมันทำให้เกิดการแบ่งแยกทางทฤษฎีภายในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยไทยโดยไม่จำเป็น ยิ่งคนที่ไม่เห็นด้วยกับหลักการและ “ยุทธวิธี” ของเสรีนิยมซึ่งเป็นเสียงส่วนที่ค่อนข้างมีคนให้ค่ามากในหมู่ผู้เคลื่อนไหว ก็อาจจะโดนหาว่าเป็นสลิ่มเอาได้ง่ายๆ ตัวอย่างที่ข้าพจ้าวประสบพบมาคือ คนรู้จักของข้าพจ้าวผู้แสดงความคิดเห็นบนสื่อโซเชี่ยวโดยการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวบนท้องถนนในประเทศอื่นๆว่า ไม่ควรหวังว่าการประท้วงจะเป็นหนทางที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ เนื่องจากมันเป็น “ยุทธวิธี” ลอยๆที่ไม่เชื่อมโยงเข้ากับเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่เป็นรูปธรรม ประสบการณ์ของข้าพจ้าวที่ผ่านวัฒนธรรมภายในและความแข็งแกร่งของระบบที่ค้ำจุนกลไกอำนาจรัฐ เห็นดีเห็นงามกับการประเมินสถานการณ์ของคนรู้จักคนนี้ เงินภาษีเป็นสิบเป็นร้อยล้านเปลี่ยนมือจากกลไกเหล่านี้เข้ากระเป๋านายทุนทั้งที่อยู่ในไทยและมาจากต่างประเทศสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ไม่ได้รู้ร้อนรู้หนาวว่ามีเสียงไม่พอใจทั้งในสภาทั้งบนท้องถนน แค่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ก็มีการประชุมกันระหว่างบริษัทผลิตอาวุธสัญชาติมะกันแลนด์กับเหล่าทัพหนึ่งของกองทัพไทยโดยมีบริษัทจำกัดไทยอีกจ้าวหนึ่งเข้าร่วมด้วยเพื่อหารือกันว่าจะอัปเกรดฝูงยานพาหนะฟุ่มเฟือยฝูงหนึ่ง หยั่งกับว่าเศรษฐกิจประเทศไม่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดอะไรทั้งสิ้น  ใน มิดไน้ท์ แมส การจะตีตราว่าเบฟ คีน เป็นสลิ่ม มันค่อนข้างมีปัญหาถ้าเราตัดสินความเป็นสลิ่มจากเนื้อหาของความเชื่อของอัตตะ (กรณีของเบฟ คีน คือความจงรักภักดีต่อพระจ้าวที่ไม่ยอมรับมนุษย์อื่นที่ไม่ใช่คริสเตียน) เพราะถ้าว่ากันตามนั้นแล้วนายอำเภอฮัสซาน หนึ่งในตัวเด่น ก็ต้องเป็นสลิ่มด้วยเพราะฮัสซานจงรักภักดีต่อรัฐชาติมะกันขนาดไม่พูดถึงจักรวรรดินิยมยูเอสที่เป็นผลพวงทำให้เกิดเหตุการณ์ 9/11 ในกรณีนี้ต้องโทษสคริปของฟลานากันด้วยที่พยายามไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว และพยายามทำให้ฮัสซานดู “แรดิคั่ล” โดยการพูดถึงการทำงานในกลไกอำนาจรัฐมะกันอย่างเอฟบีไอหรือกรมตำรวจนิวยอร์กว่ามันเหยียดผิวตำรวจมุสลิมขนาดไหน ทั้งๆ ที่สององค์กรนี้มันทำอาชญากรรมถูกกฏหมายที่ร้ายแรงและโหดเหี้ยมกว่านั้นมากมาย[7]

ถ้าอย่างงั้นมันหมายความว่าความเข้าใจภาวะวิทยาที่เราใช้มองความเป็นจริงว่าใครสลิ่มไม่สลิ่ม ณ จุดสมดุลปะทะทางวัฒนธรรมที่อำนาจรัฐยอมรับได้นี้ มันใช้ไม่ได้แล้วรึปล่าว? ข้าพจ้าวมีความเห็นว่าเราควรจะถอยมาหนึ่งก้าว แล้วนำการวิเคราะห์ของเรากลับสู่รากฐานเหมาอิสซึ่มที่ว่า ความขัดแย้งเป็นสิ่งครอบจักรวาล อย่างที่ทั่นประธานเหมากล่าวไว้:

“ความครอบจักรวาลหรือความสัมบูรณ์ของความขัดแย้ง มีความหมายสองนัยยะ นัยยะแรกคือหมายความว่า ความขัดแย้งดำรงอยู่ในกระบวนการพัฒนาของทุกสรรพสิ่ง และนัยยะที่สองคือ ในกระบวนการพัฒนาของแต่ละสรรพสิ่ง มีความเคลื่อนไหวไปมาของขั้วตรงข้ามดำรงอยู่ตั้งแต่ต้นจนจบ”[8]

ในบริบทของบทความนี้ มันหมายความว่า ความขัดแย้งมีอยู่ภายในความเชื่อที่รู้ได้ด้วยสำนึกของทุกอัตตะ ศาสตร์จิตวิเคราะห์อาจจะบอกเพิ่มเติมอีกว่า ความขัดแย้งหลักภายในอัตตะ คือความขัดแย้งระหว่างจิตสำนึกกับจิตไร้สำนึก ระหว่างความเชื่อกับอุดมการณ์ วจนะของลัทธิคลั่งจ้าวแน่นอนว่ามันตั้งอยู่บนความเป็นปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่สำหรับผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎร” ตามคณะราษฎร ก็อาจถือได้ว่าไม่ต่างกันทางโครงสร้างความคิดซักเท่าไหร่ แม้นว่าจะในดีกรีที่น้อยกว่าพวกคลั่งจ้าวมากนักก็ตามที เพราะมันก็เป็นการนิยามตัวเองเข้ากับศูนย์อำนาจทางเลือกเชิงจินตภาพที่ดำรงอยู่ในห้วงเวลาก่อนสมัยใหม่ โดยปราศจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าห้วงเวลาและการปฏิบัติของผู้ที่อยู่ในห้วงเวลานั้นนำมาซึ่งระเบียบสังคมปัจจุบันได้อย่างไร[9] การศึกษาความขัดแย้งเป็นกระบวนการที่ไม่สิ้นสุด ข้อแนะนำของข้าพจ้าวมีแค่ว่าให้มิตรสหายทุกท่านเน้นย้ำการนำความสัมบูรณ์อันนี้ไปประยุกต์ใช้งานการเมือง และละทิ้งความเชื่อมั่นที่มีต่อความจริงไปให้สิ้นเพราะความจริงเป็นสิ่งไม่เที่ยงในภาวะวิทยา

แรงปรารถนาและจุยซ้อง

ว่ากันตามตรงสิ่งที่ตัวละครเกือบทุกตัวสูญเสียไปเมื่อจุดจบมาถึง คือแรงปรารถนาหรือความรักที่มีต่อมนุษย์ผู้อื่น มีแต่เบฟ คีน คนเดียวที่สูญเสียจุยซ้องหรือความรักอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีให้แก่มันผู้เป็นอื่น (big Other)  หลวงพ่อพรูอิทท์ที่เริ่มแรกดูเหมือนจะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและสาวกตัวหลัก ละทิ้งภารกิจศักดิ์สิทธิ์อันนี้ไปตอนที่สารภาพให้มิลเดร็ดฟังว่าที่เขาเอาเทวดากลับมาที่เกาะคร็อคเก็ตนั้นจริงๆแล้วก็เพราะเขาต้องการโอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตร่วมกับมิลเดร็ดอีกครั้งหลังจากเสียโอกาสแรกไปเมื่อบวชเป็นพระ พรูอิทท์ รู้ แก่ใจอยู่แล้วว่าพระจ้าวเป็นแค่ข้ออ้างเท่านั้น กระนั้นความขัดแย้งระหว่างความศรัทธาในพระเป็นจ้าวกับจุดมุ่งหมายที่จริงแท้ของพรูอิทท์ ก็ไม่สามารถจำแนกจับวางให้เป็นปฏิปักษ์กันได้ เพราะข้อขัดแย้งทั้งสองมันเกื้อหนุนซึ่งกันและกันตลอดเรื่อง  ตอนที่พรูอิทท์ยังปลอมตัวเป็นหลวงพ่อพอล ก็มีแต่มิลเดร็ดที่แก่เลอะเลือนจนติดเตียงนี่แหละที่พรูอิทท์ดั้นด้นไปให้ศีลมหาสนิทเป็นประจำถึงบ้าน พระเป็นจ้าวที่ก่อนหน้านี้อยู่ได้โดยการกดขี่รีดไถ “ความใคร่เกินเหลือ” หรือจุยซ้องจากพรูอิทท์ตอนที่เขาฆ่าโจ คอลลี่และตอนสังหารหมู่ในโบสถ์ ต้องมาเสียแรงงานมือหนึ่งไปก็ตอนที่พรูอิทท์สื่อถึงต้นเหตุการลงแรงทางความใคร่ของเขาออกมาเป็นคำพูดจากปาก  โมเม้นต์นี้ไม่เคยมาถึงสำหรับเบฟ คีน

ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านอาจจะอดไม่ได้ที่จะอยากแบ่งแยก “แรงปรารถนา” กับ “จุยซ้อง” ตามการจำแนกวัตถุของความรักออกเป็นสองแบบ แต่ข้าพจ้าวคิดว่าจุยซ้องมันทำงานไปตามกระบวนการจำเพาะ ไม่ใช่ตามเนื้อหาจำเพาะ ลองมาช่วยกันคิดผ่านการอุปมาระหว่างอัตตะทางมูลค่า และอัตตะทางความใคร่ จากสัมนาที่ 16 ของจ๊าก! ละคาน ที่อธิบายความใคร่เกินเหลือหรือจุยซ้องผ่านแนวคิดมูลค่าเกินเหลือของคาว ม้ากซ์[10] สำหรับข้าพจ้าวเองสรุปออกมาได้ดังนี้

1. อัตตะทางมูลค่า (subject of value) หมายถึงคนงานที่อยู่ในตลาดแรงงานทุนนิยม สิ่งที่อัตตะทางมูลค่าผลิตออกมาเป็นกำไรคือมูลค่าเกินเหลือ (surplus value) ซึ่งถูกนำไปหล่อเลี้ยงให้ระบบทุนนิยมทำงานต่อไปได้ โดยตัวอัตตะเองได้รับส่วนแบ่งจริงๆ เพียงน้อยนิดจากมูลค่าเกินเหลือที่ตัวเองผลิตได้พอที่จะผลิตซ้ำแรงงานให้กลับมาทำงานอีกรอบต่อๆไป แต่ด้วยความที่ไม่มีสำนึกทางชนชั้น อัตตะตนนี้จึงกลับมีความภาคภูมิใจในมูลค่าเกินเหลือที่ตัวเองผลิตได้ทั้งๆที่ถูกนายทุนเอาไปกินเป็นส่วนมาก มีความภาคภูมิใจที่ทำให้จ้าวนายหรือผู้ถือหุ้นรวยขึ้นในขณะที่ตัวเองจนลง ความภาคภูมิใจนี่แหละที่เราเรียกว่าความใคร่

2. อัตตะทางความใคร่ (subject of enjoyment) ทีนี้ลองมาสมมติว่าอัตตะข้างต้นตอนนี้ทำงานเป็นลูกจ้างในกลไกการกดขี่ของอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นทหาร, ตำรวจ, หรืออยู่ในตำแหน่งผู้กดขี่ในสถาบันทางสังคมหนึ่ง สิ่งที่อัตตะทางความใคร่ผลิตออกมาเป็นกำไรคือความใคร่เกินเหลือ (surplus enjoyment) ที่นำไปเป็นทุนหมุนเวียนหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมองค์กรให้คงอยู่ต่อไปได้ ความใคร่เกินเหลือนี้ถูกขูดรีดมาจากแรงงาน “ทางอารมณ์” (“emotional” labour) ที่อัตตะเป็นผู้ใช้ เวลาที่วิ่งเอาไม้ฟาดผู้ชุมนุมในนามของความสงบเรียบร้อย, เวลาอุ้มหายผู้เห็นต่างทางการเมืองตามคำสั่งจากวัง, เวลาทรมานผู้ต้องสงสัยเพื่อรีดไถเงินเพราะอาชญากรไม่มีสิทธิมนุษย์, หรือเวลาจับ นตท. กรอกน้ำเป็นลิตรๆ เพราะมันเป็นประเพณี ความใคร่เกินเหลือเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏให้สาธารณะเห็น เป็นสิ่ง “ผิด”กฏหมายหรือกฏระเบียบของสถาบัน เพราะในทางปฏิบัติแล้วกลไกการกดขี่ของอำนาจรัฐมันไม่ใช่เครื่องมือการผลิต มันไม่ควรทำกำไรอะไรออกมาทั้งสิ้น สังเกตดูได้จาก Line กลุ่มทหาร/ตำรวจคุยกันเองในที่ทำงานเรื่องการซ้อมผู้ต้องสงสัยตายที่พูดว่า “พลาดเองที่โดนกล้องจับไว้ได้” ไม่ได้สนอะไรเลยว่ามีคนตายในความดูแลของพวกมัน อันนี้แหละคือเนื้อในของความภาคภูมิใจในสถาบัน โฆษณาชวนเชื่อที่ว่าทหาร/ตำรวจทำหน้าที่รับใช้ประชาชนมันเป็นโฆษณาชวนให้คนภายนอกเชื่อ ความภาคภูมิใจที่ผลิตซ้ำแรงงานทางอารมณ์ของทหาร/ตำรวจมันอยู่ตรงความใคร่เกินเหลือที่ขูดรีดมาได้จากพื้นที่นอกกฏหมายแต่ไม่นอกวัฒนธรรมอำนาจ จึงไม่แปลกที่กฏข้อแรกของโรงเรียนนายร้อยไทยคือห้ามนำเรื่องที่ตนเองถูกกระทำในโรงเรียนไปเล่าให้ “คนนอก” ฟัง ซ้ำร้ายคอมแมนด์และนายทหารยังบอกอีกด้วยว่าให้เก็บ(กด)การทารุณทางกายและจิตใจเหล่านี้ไว้เป็นเครื่องบ่งบอกความแข็งแกร่งว่านักเรียนทหารเป็นสิ่งมีชีวิตที่เหนือกว่าพลเรือนทั่วไป ถ้ากำจัดความใคร่เกินเหลือออกไป วัฒนธรรมองค์กรทหารไทยก็จะพังพินาศตามไปด้วย ความสัมพันธ์การผลิตนี้ไม่ต่างจากความสัมพันธ์การผลิตทุนนิยม เพราะความใคร่เกินเหลือที่ผลิตออกมาส่วนมากก็ถูกมันผู้เป็นอื่นเอาไปกินเรียบ (ในที่นี้มันคือวัฒนธรรมสถาบัน) ทำให้มันยังคงอยู่ได้เรื่อยๆ เหลือจุยซ้องอันน้อยนิดให้เหล่าประทวนหรือ คฝ.ได้สำเร็จความใคร่ของตนเองเพียงสะใจพอจะมาปฏิบัติงานใหม่วันต่อไป

แม้แต่นักกิจกรรมที่มีจิตวิญญาณประชาธิปไตยมากที่สุดก็หนีไม่พ้นกระบวนการผลิตจุยซ้องตามธรรมชาติของทุกอัตตะอันนี้ สำหรับตัวข้าพจ้าวเองพูดได้เต็มปากเลยว่ารู้สึกสะใจไม่น้อยตอนที่เห็นเบฟ คีน ถูกผลักไสออกจากความรักและจากพระจิตบริสุทธิ์ จุดจบคือต้องมานั่งใช้มือขุดหลุมศพตัวเอง

ทุกชาติชั่วตกหล่มลงหลุมตัวเอง
ท้าวติดกับดักที่วางไว้จับผู้อื่น
สดุดี 9:15

[1] ยกตัวอย่างจากบทความ “สควิดเกม & การผงาดของนันทนาการต้านทุนนิยม” ของเลาร่า พิทเชอร์ https://www.refinery29.com/en-us/squid-game-netflix-anticapitalist?fbclid=IwAR2O_QaB8JpbNkLkaoRBTcpwfInq4KYK15USwygHh_WSmZFMzSCpIb8a-84.

[2] โจเอล เลน, “มืดมนจนตื่นตา,” บทความพิมพ์อีกครั้งใน มืดมนจนตื่นตา รวมเรียงความวิจารณ์ของโจเอล เลน (สนพ.ทาร์ทารัส, 2020), หน้า 1-4.

[3] คาซุชิเกะ ชิงกู; เท็ดซึโอะ ฟูนากิ, ‘ระหว่างสองความตาย’: พื้นที่คาบเกี่ยวของจิตวิเคราะห์และศาสนาพุทธญี่ปุ่น, ทฤษฎีและจิตวิทยา, https://doi.org/10.1177/0959354307087885, หน้า 256-257.

[4] สลาวอย ชีเช็ค, ‘รำพึงถึง พระคริสต์ตรึงกางเขน ของไมเคิ่ลแองเจโล่’, https://scholarship.rollins.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1042&context=specs, หน้า 7.

[5] จอห์น มิลแบ๊งค์; สลาวอย ชีเช็ค, ความปลาดร้ายของพระคริสต์: ข้อขัดแย้งหรือข้อวิภาษ?, (สนพ.เอ็มไอที, 2009), หน้า 282-286.

[6] เจ. มูฟาหวาด-พอล, ความจำเป็นต้องมีคอมมูนิสซึ่ม: บทนำสำหรับทุกทฤษฎีแรดิคั่ลในอนาคต, (Kersplebedeb, 2014).

[7] มิดไน้ท์ แมส เอพพิโสด 6

[8] เหมาเจ๋อตง, ว่าด้วยความขัดแย้ง, https://www.marxists.org/reference/archive/mao/selected-works/volume-1/mswv1_17.htm

[9] ลองไปอ่านที่แทด ดีเลย์เขียนไว้เรื่องอาการหลงผิดกับลัทธิมูลฐานนิยมของความเชื่อทางศาสนาใน พระจ้าวไร้สำนึก: จิตวิเคราะห์ & ศาสนศาตร์, (Wipf & Stock, 2015), หน้า 6 – 7.

[10] คอแม็ก กัลลาเก้อ, แปล; จ๊าก! ละคาน, สัมนาของจ๊าก! ละคานเล่ม 16, (lacaninireland.com), http://www.lacaninireland.com/web/wp-content/uploads/2010/06/Book-16-from-an-Other-to-the-other.pdf, หน้า I 6 – I 7.