ไม่กลับ : การลาลับเพื่อคงอยู่ของวัฒน์ วรรลยางกูร

ภาพถ่ายโดยศุภชัย เกศการุณกุล ปี 2015

เมื่ออ่านต้นฉบับหนังสือ ต้องเนรเทศ ของคุณวัฒน์ วรรลยางกูร จบลงในรอบแรก ข้าพเจ้ารู้สึกไม่สบายใจ และคล้ายจะรู้สึกหวั่นใจอยู่ลึกๆ

ข้าพเจ้าไม่ทราบจะขอร้องเขาอย่างไร

ว่าอย่าเขียนราวกับว่ามันจะเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายของชีวิต

แต่จะว่าอย่างไรได้ ก็มีอยู่หลายครั้งในชีวิตมิใช่หรือ ที่เราหวังให้คำว่า “ครั้งสุดท้าย” คือหมุดหมายของบรรลุถึงเบื้องปลาย ว่ามันจะถึงที่สุดแห่งชัย ไม่ต้องเผื่อ ไม่ต้องผัดอีกต่อไป มันจะหมายถึงการพ้นจากภาวะของคำว่า “ครั้งแล้วครั้งเล่า” ไปได้ เพราะว่ามันคือครั้งสุดท้าย คือที่สุดของความสมบูรณ์แบบดังใจ

แต่ที่ตลกร้ายคือ เรามักไม่มีวันได้อยู่เห็นมัน

ข้าพเจ้านึกถึงท่อนหนึ่งในบทกวีที่ชื่อ “เรือลำสุดท้าย” บทกวีชิ้นสำคัญที่คุณวัฒน์เขียนในปี 2523 ก่อนที่เขาจะหันหลังกลับจากป่า คุณวัฒน์เขียนในลักษณะที่เป็นการทบทวนตัวเอง และทบทวนต่อสิ่งที่เรามักเรียกกันว่า “ขบวน” ด้วยการใช้คำถามว่า

เราจะเป็นเรือลำสุดท้ายของเส้นทางหรือไม่?
เมื่อไรจะถึงแผ่นดินสีทอง?  (“เรือลำสุดท้าย”, ธงปฏิวัติ, ส.ค. 23)

คุณวัฒน์ใช้อุปมาของเรือ มาหักกับอุปมาของ “ขบวน” หรือขบวนรถไฟ ที่มักใช้กันในหมู่นักต่อสู้ เขาไม่เชื่อในการขับเคลื่อนแบบขบวนรถไฟที่มีคนไม่กี่คนเป็นผู้ขับนำพา แล้วคนร่วมขบวนเป็นเพียงผู้นั่งโดยสาร ที่หากไม่พอใจก็มีแต่ต้องลงกลางทางไปเองอย่างช่วยไม่ได้ แต่อุปมาที่คุณวัฒน์เลือกมาใช้แทน คือเรือ พาหนะที่ขับเคลื่อนโดยแรงพายของทุกคนบนลำเดียวกัน ช่วยกันอุดรูรั่ว ช่วยกันเร่งฝีพาย “โปรดหยุดเพ้อฝันถึงขบวนรถไฟ” เขาเขียนไว้อย่างนั้น

หลังเขียนบทกวีชิ้นนั้นไม่นาน เขาตัดสินใจกลับจากป่า คงเพราะเขาเห็นว่า นั่นไม่ใช่เรือลำสุดท้าย

ใช่แต่ตัวพาหนะ เครื่องมือก็ถูกอุปมาเป็นคู่ขัดแย้ง ระหว่าง ดาบ กับ ไม้พาย  ในปี 2524 หลังออกจากป่า เขาตีพิมพ์บทกวีชิ้นหนึ่งที่ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการทบทวนตัวเองอย่างซื่อสัตย์และน่าสะเทือนใจ เขาตั้งชื่อบทกวีนั้นว่า “กลับมาเมื่อฟ้าค่ำ” ที่ลำพังชื่อ ก็สะท้อนการยอมรับสำนึกต่อความแพ้พ่าย ไม่ฟูมฟายกล่าวโทษใครนอกจากตัวเอง เป็นเจ้าขุนทองที่ยอมรับว่าไม่อาจทำได้ดังคำมั่นสัญญา เพราะมันกลับมาเสียเองแล้วตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง ทั้งยังยอมรับความเขลาเย่อหยิ่งของตน ที่ทิ้งไม้พายไปคว้าดาบ ด้วยหลงละเมอไปว่าดาบคือดอกไม้ ด้วยลุ่มหลงลำพองไปว่า “ดาบในมือข้าจะไม่เหมือนดาบในมือผู้อื่น” เขาเขียนตอกย้ำตัวเองไว้ท่อนหนึ่งในบทกวีว่า

คมดาบไม่ใช่กลีบดอกไม้
ดาบไม่ใช่บาป ดาบไม่ใช่บุญ
เมื่อดาบถูกทำให้กลายเป็นบาป ดาบอาจกลายเป็นบุญ
ดังตำนานหาญกล้าครั้งเจ้าขุนทองไปปล้น
ดาบคือดาบ คือบาดแผลและความเจ็บปวด
มันไม่เคยเลือกหน้า  (“กลับมาเมื่อฟ้าค่ำ”, สนพ. อาทิตย์, 2524)

คุณวัฒน์วางดาบ แล้วกลับมาออกมาใช้ชีวิตอย่างนักเขียนที่เป็นชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง เขียนหนังสือที่เล่าถึงชีวิตของผู้คนธรรมดารอบตัวอันหลากหลาย  เขากลับมาหาไม้พาย ในวันที่ไม่มีเรือ

ในฐานะคนรุ่นถัดมาที่บังเอิญว่าเป็นเพศหญิง ข้าพเจ้าเคยนึกดูเบาและนึกระอา ว่าเขาคงไม่ต่างอะไรจากบุรุษปัญญาชนหกตุลาน่าเบื่ออีกหลายคน ที่มีปมฝันค้างเรื่องความเป็นฮีโร่ ไม่รู้จักโต ไม่รู้จักเลิกเป็นลูกแหง่ แต่ข้าพเจ้ามาสะดุดใจเขาจากวงเสวนาครั้งหนึ่งในยุคของการต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่เขาเอาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง เขาพูดในลักษณะที่เกือบจะเป็นทั้งการสำนึกในบุญคุณและการสารภาพบาปอย่างไม่อายบนเวทีในห้องประชุมที่ล้นไปด้วยคนเสื้อแดงว่า เขาได้กลับมามีแรงใจ กลับมามีศรัทธาในการต่อสู้อีกครั้ง ก็เพราะการอุทิศตัวอย่างเข้มแข็งของคนเสื้อแดง จากที่เขาเคยเป็นคนขี้แพ้ไม่เอาถ่านมานานหลังการปฏิวัติอันล้มเหลวครั้งอดีต บัดนี้เขากลับมามีเรี่ยวแรงกำลัง พร้อมทุ่มเทอีกครั้ง

การที่นักเขียนซักคนจะพูดอะไรอย่างนั้นออกมาไม่ใช่เรื่องเท่แต่อย่างใดในยุคสมัยอันอ้างว้างนั้น ที่การยืนอยู่ข้างคนเสื้อแดงยังไม่ถูกนับว่าเป็นความก้าวหน้า ข้าพเจ้าจำได้ว่าข้าพเจ้าฝากคุณ เพียงคำ ประดับความ ไปบอกเขาว่า ข้าพเจ้าอยากให้เขาลองเขียนงานอีกสักชิ้นในยุคเสื้อแดงนี้ ข้าพเจ้าจะรอตีพิมพ์ให้  เหตุที่ข้าพเจ้าเสนอไปอย่างนั้นก็เพราะข้าพเจ้านึกถึงเรื่องสั้นในตำนานเรื่องหนึ่งของเขา ที่ชื่อ “ก่อนถึงดวงดาว” ซึ่งเขาเขียนไว้ในวัยหนุ่ม ในเรื่องนั้นมีตัวละครเอกคือแม่ ที่เป็นแต่เพียงชาวบ้านยากจนไม่รู้ประสา ที่ต้องมาเรียนรู้เรื่องการต่อสู้ด้วยอุดมการณ์อันเสียสละของลูกชายที่ชื่อ “ร้อย” ข้าพเจ้าสนใจว่า ในวันนี้ที่เขาไม่ได้มองตัวเองเป็นพระเอกผู้เผยแผ่อุดมการณ์อีกต่อไป หากแต่กลายเป็นฝ่ายรับแรงบันดาลใจจากชาวบ้านธรรมดาเสียบ้าง และเข้ามาร่วมต่อสู้อย่างเท่าเทียมกันนั้น มุมมองสายตาที่ใช้ในการเขียนและจัดวางตัวละครนั้นจะเปลี่ยนองศาไปอย่างไร มันอาจเสี่ยงต่อการถูกมองว่าโรแมนติไซส์ชาวบ้านหรือคนเสื้อแดงก็ได้ แต่สำหรับข้าพเจ้า สิ่งที่ยากกว่าเสมอมาของปัญญาชนนักเขียนนักต่อสู้ของไทย คือการไม่รู้จักเลิกโรแมนติไซส์ตัวเองในฐานะพระเอกผู้นำการต่อสู้ให้ได้เสียที

แต่เขาก็ไม่มีเวลาและสมาธิที่จะเขียน เขาง่วนอยู่กับการเดินสายงานวัฒนธรรมไปยังพื้นที่ต่างๆ ยุ่งอยู่กับการจัดและเข้าร่วมกิจกรรมกับคนเสื้อแดง จนกระทั่งเกิดรัฐประหารในปี 2557 แล้วเขาก็ตัดสินใจ “เข้าป่า” อีกครั้ง

ด้วยชีวิตรอนแรมของผู้หลบภัย ข้าพเจ้าไม่กล้าถามถึงต้นฉบับจากเขาอีกต่อไป

ข้าพเจ้าไม่แน่ใจหรอกว่าเขาจำได้หรือไม่ถึงคำขอต้นฉบับของข้าพเจ้าในครั้งนั้น แต่ในต้นฉบับที่ข้าพเจ้าได้รับมาจริงๆในครั้งนี้ มันยิ่งกว่าที่ข้าพเจ้าเคยคาดหวังไว้ เขาไม่เพียงไม่เขียนด้วยสายตาที่สูงส่งกว่า แต่เขาลดฐานะตัวเองลงมาเป็นตัวละคร ที่ไม่เพียงไม่ใช่พระเอกอีกต่อไป แต่ยังกลายเป็นแค่ตัวเอกขี้แพ้ที่เพียงแต่พยายามยืนหยัดสู้ต่อไป ในสภาพที่เขาเรียกว่า “บักหำเหี่ยวตุหรัดตุเหร่”

หนังสือเล่มสุดท้ายของเขาเล่มนี้เริ่มต้นบทแรกด้วยการเล่าภาพรวมของเส้นทางจากฝั่งโขงถึงปารีส เส้นทางการบินของนกปีกหักที่ต้องเอาชีวิตรอดจากการไล่ล่าสังหาร จนได้พ้นจากสถานะ “ผู้หลบภัย” ตามยถากรรม กลายมาเป็น “ผู้ลี้ภัย” ในนิยามอย่างเป็นทางการ

บทที่ 2 ชื่อ “คิดถึงท่าเสา” เป็นการเล่าย้อนอดีตกลับไปที่บ้านท่าเสา กาญจนบุรีของเขา เป็นบทที่อบอวลด้วยรายละเอียดของความรักความผูกพัน เขาเขียนไว้ว่า “ท่าเสาสำหรับผมไม่ใช่แค่จุดพักเหนื่อย แต่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต” (106)  ความรักบ้านของเขา ผูกกับตัวบุคคลที่เขารัก คือคุณอัศนา หรือสหายรุ่งโรจน์ คนรักที่ผูกพันกันมาตั้งแต่ครั้งเป็นนักรบในเขตป่าเขา และทำให้ความคิดถึงท่าเสาในบทนี้จึงพลอยเล่าพ่วงไปถึงภูพาน มันเป็นบทที่หลอมรวมความหลังอันชวนให้รู้สึกทุกข์ทรมานแทนเขายิ่งนัก ที่ต้องมาเขียนถึงมันในยามไกลบ้าน

บทที่ 3, 4 และ 5 คือมหากาพย์ช่วงลี้ภัย เราเคยคุยกันว่า นี่คือสิ่งที่ทำให้งานวรรณกรรมต่างออกไป มันไม่ได้เพียงบอกให้คนอ่านรับรู้ข้อมูลการกินอยู่และผู้คน แต่มันทำให้เราเข้าถึงและร่วมรู้สึกได้ถึงภาวะที่คนคนนั้นเผชิญอยู่ ภาวะทางจิตใจที่กำหนดจากสถานการณ์ของผู้ไม่อาจกำหนดอะไรได้ ข้าพเจ้าสะเทือนใจที่สุดกับบทที่ 4 ที่เขาตั้งชื่อว่า “เนินลมโชย” เขาบรรยายถึงชีวิตที่พยายามตั้งหลักในประเทศที่สอง มันอาจเป็นชีวิตกันดารห่างไกล แต่เราสัมผัสได้ว่ามันสะท้อนความคิดถึงบ้านท่าเสาและความพยายามจำลองเอาสิ่งที่สูญเสียไปกลับคืนมา ในบ้านที่ไม่ใช่ ในครอบครัวที่ไม่เหลือใครนอกจากตัวเองลำพัง การเลือกไปพยายามปักหลักในพื้นที่อย่างนั้นแทนการอยู่ในพื้นที่หลบภัยชั่วคราวที่สบายกว่าในประเทศเพื่อนบ้านแห่งแรก คือการยืนยันแล้วว่า การออกมารอบนี้ของเขาไม่ใช่อย่างการ “เข้าป่า” ประเภทมาทัศนศึกษาดูงานชั่วคราวเพื่อรอวันกลับบ้านคืนเมือง เพราะเขาไม่คิดหันหลังกลับ เขายืนยันการเป็นธุลีอิสระที่จะไม่กลับไปอยู่ใต้ฝ่าเท้าผู้ใดที่อยู่ใต้กะลาอีกที อาณาบริเวณที่เขาต้องการ คือป่าผืนใหม่ ที่เขาจะเข้าไปเป็น “เจ้าป่าขี้เมา” เหมือนอย่างที่เขาเคยเป็นที่บ้านท่าเสา

การบรรยายของเขาในหนังสือเล่มนี้ ใช้สรรพนามแทนตัวเองสลับไปมาระหว่าง ผม เขา ฉัน ตามแต่ห้วงคำนึงสถานการณ์ ในภาวะที่เปราะบางอ่อนไหว  ข้าพเจ้าสังเกตว่าเขากลายจาก “ผม” เป็น “ฉัน”  ในวันที่เขาไปถึงเนินลมโชยแห่งนั้น เขาบรรยายราวกับเป็นการได้ไปถึงยังแผ่นดินสุดท้ายที่อบอุ่นปลอดภัยเท่าที่จะเป็นไปได้ ที่จะไม่ต้องรอนแรมไปไหนอีกแล้ว ไม่ต้องรู้สึกเดียวดายอีกแล้วแม้ตัวคนเดียว เขาเขียนไว้ว่า

ฉันเห็นตัวเองยืนอยู่กลางดงทิวแถวต้นยมหินนับร้อยต้น
กิ่งก้านยมหิน คือมือที่ยื่นออกมาต้อนรับ ทักทาย โอบกอด รับขวัญ…
มะพร้าวสูงด้านหน้าเจ็ดแปดต้น น้อมกายสูงก้มลงมาโบกมือต้อนรับ
มาสิ มาอยู่ด้วยกัน ฉันอยู่ที่นี่มาเป็นสิบๆ ปีแล้ว ที่นี่สงบ ปลอดภัย ขอให้เธอไว้วางใจพวกเรา เราเป็นมิตรสหายไม่หักหลังกัน
ฉันมองเห็นตัวฉัน เดินไปโอบกอดต้นมะพร้าว ความรู้สึกของเราตรงกัน คือเราอยากมีเพื่อน อยากมีมิตรสหายที่ไว้วางใจได้  (335)

แต่ชะตากรรมอย่างผู้หลบภัยไม่อนุญาตให้เขามีได้กระทั่งบ้านจำลอง เขาต้องระหกระเหินอีกครั้ง โดยในระหว่างการรอนแรม “เข้าป่า” ของศตวรรษที่ 21 นี้ เขาเหมือนได้กลับไปเผชิญหน้ากับอดีตในป่าเมื่อศตวรรษก่อนของเขาอีกครั้ง เพียงแต่ในครั้งนี้ “สหาย” ของเขาไม่ใช่ปัญญาชนหนุ่มสาวผู้เร่าร้อนวิชา หากคือสหายที่เขาเรียกว่าเป็นเหมือน “เส้นด้ายเปื่อยๆ” จากอดีตที่ยังเชื่อมถึงกัน สหายที่ยังคงอยู่กับเส้นทางปฏิวัติอันแร้นแค้นและรกร้างจากอดีตกาล ส่วนสหายจากเมืองที่เข้าป่าไปรอนแรมกันดารกับเขาในรอบนี้ ก็กลายเป็นบรรดานักรบเสื้อแดงนิรนามบ้างไม่นิรนามบ้าง ที่เนื้อตัวมอมแมมแปดเปื้อนไปคนละทาง เขานั่งมองเพื่อนร่วมชะตากรรมเหล่านั้นจากระดับสายตาที่เสมอกันได้ เพราะเขาลดระดับองศาของสายตาในการมองตัวเองลงมาแล้วเช่นกัน เขาเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า

พวกเขาผ่านการล้อมปราบกลางเมืองเมื่อปี 2553 เป็นกลุ่มคนที่ถูกไล่กระทำย่ำยีโดยคนติดอาวุธสงคราม บาดเจ็บเป็นพัน ล้มตายเป็นร้อย ถ้าต้องการให้ทุกอย่างจบลงโดยสงบสันติ ฝ่ายผู้ถูกกระทำจะต้องได้รับการเยียวยาทั้งทางจิตใจ และการชดเชยค่าเสียหาย ต้องมีกระบวนการยุติธรรม สะสางอะไรถูก-ผิด แต่ในเมื่อกระบวนการเยียวยาและกระบวนการยุติธรรมไม่มีให้พึ่งพาได้ กลุ่มผู้คับแค้นย่อมต้องหาหนทางต่อสู้ดิ้นรนไปตามยถากรรม สมัย 6 ตุลา 19 มีทางออกให้ผู้ถูกกระทำย่ำยี คือเข้าร่วมกับกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในป่าเขา มาสมัยปี 2553 ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีทางออกเช่นก่อนโน้น พวกเขา—คนเสื้อแดง จึงต้องดิ้นรนไปตามยถากรรม บางคนคิดจะตั้งกองกำลังอาวุธสำหรับทำการล้างแค้น ทั้งที่ไม่มีความพร้อมอะไรสักอย่าง ไม่มีอาวุธ ไม่มีนักรบมืออาชีพ ไม่มีเงินทุนเป็นก้อนเป็นกำ การดิ้นรนกลายเป็นรนหาที่ พาตัวเองเข้าไปต้องคดีอาญาต่างๆ อย่างชวนเวทนา

ผมมองพวกเขาอย่างเข้าใจ เห็นใจ แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการ เพราะมันไม่ง่ายอย่างที่คิด

“แล้วอาจารย์จะให้พวกผมทำยังไง สู้ไปกราบไปหรือ? หรือว่าสันติ ปราศจากอาวุธ?”

มีความในใจอีกมากมายหลายหลาก แต่มันคงไวเกินไปที่ผมจะปล่อยทะลักทลายออกมา…ออกมาจากหัวใจของนักปฏิวัติขี้แพ้ แพ้แล้วแพ้อีก (438-439)

การเผชิญหน้ากับอดีตของเขายังมาในอีกรูปหนึ่ง ที่ออกจะชวนอมยิ้มสำหรับข้าพเจ้า ในบทที่ 2 ที่เป็นเรื่องท่าเสาและภูพาน เขาเปรียบคนรักของเขา คือสหายรุ่งโรจน์ ว่าเป็นเหมือนนางเอก อึ้งย้ง ในมังกรหยก ซึ่งนั่นก็ย่อมแปลว่าเขามองตัวเองเป็นพระเอกนาม ก๊วยเจ๋ง แต่ในบทต่อๆมาที่เป็นเรื่องของการเข้าป่าเมื่ออีกศตวรรษให้หลัง ที่มีเพื่อนร่วมชะตากรรมคนหนึ่งเป็นสหายรุ่นเยาว์กว่า อย่าง สหายข้าวเหนียวมะม่วง หรือสยาม ธีรวุฒิ เด็กหนุ่มผู้ต้องลี้ภัยเพียงเพราะเล่นละครเรื่องเจ้าสาวหมาป่า  สายตาของเขามองเห็นว่า บัดนี้สยามต่างหากคือก๊วยเจ๋ง และตัวเขาก็รู้จักปลดระวางตัวเองลงมาเป็นเพียงจิวแป๊ะทง—เฒ่าทารก

ส่วนบทที่ 6 ที่ชื่อ “แม่โขงวิปโยค” นั้น เป็นบทสั้นๆ ที่ข้าพเจ้าขอละไว้ เป็นบทที่บอกได้เพียงว่า อ่านแล้วตายไปเลย

บทที่ 7-9 คือช่วงเวลาที่เขาไปถึงฝรั่งเศส ดินแดนศิวิไลซ์ที่ให้หลักประกันของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน และรัฐสวัสดิการ เป็นเรื่องราวความพยายามปรับตัวในดินแดนใหม่ พร้อมๆ กับการคืนสังเวียนในฐานะนักเขียนอาชีพอีกครั้ง หลังจากต้องผ่านภาวการณ์รอนแรมที่ทำให้เขารู้สึกเหมือนถูกถอดจากความเป็นนักเขียนอยู่กลายๆ เมื่อไม่รู้ว่าจะเขียนให้ใครอ่าน ไม่กล้าส่งงานให้ใครตีพิมพ์ด้วยกังวลว่าจะทำให้ผู้จัดพิมพ์เดือดร้อน ตัวตนความเป็นนักเขียนของเขาได้รับการประคองไว้แค่ด้วยน้ำใจจากนักเขียนที่เขาเรียกว่า “มิตรน้ำหมึก” กลุ่มเล็กๆ จำนวนนับนิ้วมือไม่เกินหนึ่งข้าง ที่พยายามหยิบยื่นความช่วยเหลือข้ามฝั่งไปให้ ไม่ใช่ด้วยความเป็นอุดมการณ์ฟากฝ่ายใด แต่ด้วยสำนึกอย่างเสรีชนร่วมอาชีพ ด้วยมนุษยธรรม และด้วยความเป็นนักมนุษยนิยมตัวจริงที่กล้าหาญโดยไม่ต้องป่าวประกาศ และข้าพเจ้าขออนุญาตเอ่ยนามเพื่อแสดงความเคารพจากหัวใจไว้ ณ ที่นี้ ว่า หนึ่งในนั้นคือคุณ บินหลา สันกาลาคีรี

แต่ภาวะที่แท้จริงที่ทำให้เขาเขียนไม่ได้ในระหว่างการรอนแรมหลบภัย คือภาวะทางจิตใจอันหนักอึ้งไม่น้อยไปกว่าทางกายภาพ มันเป็นภาวะอย่างที่ทำให้เขาเขียนไว้ว่า เขาได้มาเข้าใจแล้วว่า ทำไมนักเขียนอย่าง กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา ซึ่งต้องลี้ภัยไปอยู่ที่จีนหลังเผด็จการสฤษดิ์ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 และไม่ได้กลับบ้านที่ซอยพระนาง กรุงเทพฯ อีกเลยจวบจนเสียชีวิตเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2517 นั้น ไม่ปรากฏว่ามีงานเขียนตีพิมพ์ชิ้นใหม่อีกเลยตลอดสิบเจ็ดปีของการลี้ภัย เขาได้มาเข้าใจ และยิ่งทำให้เขานึกเคารพ เขาจบนิยามตัวตนของการเลือกเป็นนักเขียน ต้องเนรเทศ ไว้ที่ตัวตนของศรีบูรพา ดังที่เขาเขียนไว้ว่า

มหาบุรุษแห่งการประพันธ์อย่างศรีบูรพา ยืนหยัดอยู่ในการลี้ภัยสิบเจ็ดปี จนลมหายใจสุดท้าย เท่านั้นก็เพียงพอ เป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของเสรีชน ไม่สยบยอม ไม่กลับกลอก ขึ้นต้นเป็นอย่างไร บั้นปลายลงท้ายเป็นอย่างนั้น … เท่านั้นก็มากพอแล้วสำหรับชายผู้เลือกเดินเส้นทางประชาธิปไตยตั้งแต่อายุยี่สิบปีเศษ จนถึงจบชีวิตในวัยหกสิบเก้าปี … ไม่ต้องไปถามไถ่เยื่อใยไมตรีจากสมาคมวิชาชีพทางการเขียนในประเทศไทยซึ่งมีอยู่สองสมาคม สมาคมเหล่านี้มีไว้เพียงเพื่อไมตรีผิวเผิน นัดมากินเลี้ยงปีละครั้ง เยื่อใยไมตรีที่จะแสดงท่าทีปกป้อง หรือช่วยเหลือ—ไม่มี เหมือนธุระไม่ใช่ เมื่อถึงเวลาเอาจริงเอาจังต้องเผชิญภัยเผด็จการ สมาคมเหล่านี้ทำตัวตามคำกวีสุนทรภู่ในเรื่องพระอภัยมณี ว่า “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”  (429-430)

สำหรับข้าพเจ้า “เนรเทศ” ไม่ใช่ลี้ภัยชั่วคราวเพื่อรอวันกลับมา เนร คือ นิร คือไร้ ไม่ใช่กลับไม่ได้ แต่ไม่ขอหันหลังกลับมาอีกแล้ว เขาได้ไปถึงแล้ว เขาได้ไปเห็นแล้วซึ่งแผ่นดินสีทองจำลองในจินตนาการ ว่ามันมีอยู่จริงได้ ดินแดนรัฐสวัสดิการของผู้คนที่เท่าเทียมกัน ดูแลกันและกันอย่างเคารพในศักดิ์ศรีไม่เลือกชนชั้น กระทั่งต่อคนไร้บ้านสัญชาติเดียวกัน และคนไร้บ้านที่ ต้องเทรเทศ จากแดนไกลเพราะกฎหมายเถื่อนที่เข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างมาตรา 112

ข้าพเจ้าขอเลือกจดจำว่า ด้วยการ ต้องเนรเทศ นี้ เขาได้พบแล้วซึ่งเรือลำสุดท้ายที่เขาโดยสารไปถึงปลายทางจนได้แม้ในสภาพนกปีกหัก และเขาได้เขียนหนังสือเล่มสุดท้าย ที่แม้ไม่ได้ทันอยู่เห็นตัวเล่มของมัน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเขาเขียนมันเสร็จลงแล้ว เขาได้บรรลุภารกิจของเขา ในฐานะผู้ถือไม้พายแล้ว

เขาจะเป็นแรงบันดาลใจแก่สังคมไทยและคนรุ่นหลังหรือไม่อย่างไร คงแล้วแต่ว่าใครจะเลือกจดจำเขาในภาพไหน แต่สำหรับข้าพเจ้า เขาคือแรงบันดาลใจของความแน่วแน่แม้สามัญและเงียบงันลำพังอย่างไม้พาย

เหมือนในท่อนสุดท้ายของบทกวี “กลับมาเมื่อฟ้าค่ำ” ของเขา ที่ข้าพเจ้าขอยกมาคารวะแด่การ “ไม่กลับ”

ดวงจันทร์เลื่อนลับดับหาย
เสียงใบพายชำแรกน้ำเป็นจังหวะเนิ่นช้า
พายทำให้เรือเคลื่อนที่
พายคือพาย มันจะเป็นอะไรได้มากกว่านี้

———————————————————————-
หมายเหตุ: เขียนขึ้นเพื่อเป็นบทอภิปรายสำหรับเสวนา “กึ่งศตวรรษ วัฒน์ วรรลยางกูร ในสายธารวรรณกรรมไทย” ในงานรำลึก ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน 2565  ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา