หมายเหตุผู้อธิบาย: ความงดงามอย่างหนึ่งของภาษาสเปน คือการที่มันเรียงคำในประโยคได้หลากหลายวิธี จะเอากริยาหลักขึ้นก่อน บุพบทวลีขึ้นก่อน หรือเอากรรมขึ้นก่อนก็ได้ หรือจะแทรกวลียาวๆ ก็ไม่มีปัญหาแม้กระทั่งในเนื้อเพลงกระแสหลัก อย่างเพลง “Amar Así” ของ Bomba Estéreo ที่มีเนื้อร้องท่อนหนึ่งว่า
Y en tus ojitos / และในดวงตาคู่นั้นของเธอ
verde manzana / สีเขียวแอ๊ปเปิ่ล
yo todos los días / ฉันทุกๆ วัน
quiero vivir / อยากอาศัยอยู่
หรืออย่างเพลง “Amor Eterno” ของ Juan Gabriel / Rocío Durcal ท่อนฮุกว่า
Como quisiera / อยากเหลือเกิน
que tú vivieras / ให้เธอยังมีชีวิตอยู่
que tus ojitos / ให้ดวงตาคู่นั้นของเธอ
jamás se hubieran cerrado nunca / ไม่เคยต้องปิดลงไม่เคย
y estar mirándolos / และได้มองพวกมันอยู่ร่ำไป
พาให้ชาวต่างชาติต่างภาษาอย่างเราสับสนว่า “ได้มองพวกมันอยู่ร่ำไป” นี่ใครมอง พวกมันคือใคร? ก็จนเข้าใจว่า อ๋อ มันสืบเนื่องมาจากถ้อยคำบรรทัดแรก ว่า “อยากเหลือเกินที่(ฉันจะ)ได้มอง(ดวงตาคู่นั้น)อยู่ในตอนนี้” นี่เอง ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้เพราะระบบการผันกริยาที่ซับซ้อนและตัวติดสอยห้อยตามคำที่รุงรัง ทำให้สลับตำแหน่งชิ้นส่วนประโยคได้แทบจะตามใจนึกโดยผู้อ่านผู้ฟังยังจับความได้ ตลอดจนละคำสรรพนามได้สะดวก
(อาการละคำสรรพนามมีส่วนคล้ายในภาษาไทย-ลาว คือเป็นการไม่เน้นตัวผู้พูดเมื่อไม่จำเป็น แม้ในภาษาไทยจะมีเหตุผลจำเป็นที่เฉพาะเจาะจงกว่า ประธานประโยคในภาษาสเปนฝังอยู่ในคำกริยาที่ผันแล้ว จึงพูดสรรพนามเฉพาะเวลาอยากเน้น แต่ผู้ใช้ภาษาไทยเลี่ยงสรรพนามเพื่อเลี่ยงการสวมบทบาทที่มันไม่ใช่ เพราะไม่มีคำสรรพนามที่เหมาะสำหรับสถานการณ์ที่ตนเป็นสามัญชนคนธรรมดา จนทุกวันนี้มีคนโดยเฉพาะผู้หญิงจำนวนมากใช้คำว่า “นี่” เป็นคำสรรพนามแทนตัวเอง เช่น “นี่ก็ไม่เคยไปนะไอ้ไอค่อนสยามอ่ะ มันคืออะไรเหรอ”—แม้แต่คำว่า “มัน” บางทีใช้กับบางเรื่องแล้วผู้ฟังก็กลับระคายหูซ้ำ)
ตลอดกระบวนการทำงานแปล ท่งกุลาลุกไหม้ เราสำเริงสำราญไปกับการเรียนรู้คำเชื่อมและโครงสร้างประโยคหลายแบบของลาวอีสานที่เราไม่รู้จักมาก่อน อย่างเช่นการนิยมยกกรรมขึ้นหน้าประโยค ต่างจากความนิยมภาษาไทยมาตรฐาน “หมามันเห่า เจ้าบ่ได้ญิน” “เข้าพอกำกะบ่มี” และเราก็ได้เรียนรู้ไวยากรณ์หลายๆ อย่างที่ผิดแปลกไปจากมาตรฐานไวยากรณ์ไทย ทว่าถูกวากยสัมพันธ์ของลาวอีสาน อย่างเช่น “ข้อยจนฮ้องไห้” แปลว่า “จนฉันถึงกับร้องไห้” หรืออย่าง “ข้อยทันได้กินเข้าอยู่” แปลว่า “ฉันยังไม่ทันได้กินข้าวเลย”
จึงได้รวบรวมรูปไวยากรณ์ที่งดงามและอาจก่อความสับสนเหล่านี้มาไว้ ณ ที่นี้ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกสำราญทางการอ่านสำหรับทุกท่าน
พีระ ส่องคืนอธรรม / ธันวาคม 2018
[อัพเดตล่าสุด มกราคม 2020]
1. คำที่อาจมีความหมายผิดจากที่คุ้นเคย
นำ
- นำ หมายความว่า “ตาม” อย่างใน “ติดตาม” เช่น “บักผู้มันนำไป” หมายความว่า “ไอ้หมอคนที่ตามไป” มิได้หมายความว่า “คนที่มันนำไป”
- ทั้งนี้ คำว่า “ตาม” ในความหมายว่า “แล้วแต่” ในลาวอีสาน ใช้ ตาม เช่นกัน เช่น ตามใจ ✔ ใน “บ่อยากเซี่ยกะตามใจเจ้า”
- นำหน้า หมายความว่า นำหน้า
- นำหลัง หมายความว่า ตามหลัง
- นำทาง หมายความว่า ตามทาง
- นำกัน หมายความว่า ด้วยกัน
- เจ้ามานำข้อย เฮาไปเซลฟี่นำเพิ่น หมายความว่า เธอมากับฉันมา เราไปเซลฟี่กับเขากัน
ทัน
- ทัน อาจหมายความว่า “ทัน” หรือ “ไม่ทัน” ก็ได้ แล้วแต่บริบทประโยค
- อย่างเช่น “หลังจากญ่างมาหลายซั่วโมงคักโดยทันได้พ้ออีหญัง แม้แต่ฮ่มไม้จักฮ่ม” ในกรณีนี้หมายความว่า “ไม่ทันได้เจออะไร”
- หรืออย่างเช่น “พ่อลุงเพิ่นคาแต่กู้ฟืน เพิ่นเลยทันได้สังเกต” ในกรณีนี้หมายความว่า “ลุงแกมัวแต่กู้ฟืน เขาเลยไม่ทันได้สังเกต”
- แต่อย่างใน “ลาวเห็นซุมมันทันการ ลาวมักสิหมานเห็นอีหญังทันการตลอด” ในกรณีนี้หมายความว่า “ทัน”
- ทั้งนี้ ก็ปรากฏรูป บ่ทัน ที่หมายความว่า “ไม่ทัน” เช่นกัน อย่างเช่น “ทางกูกะมาสวยคือกัน มาบ่ทันมึงมา”
คือ คึ
- คือ ไม่เหมือนคำว่า “คือ” ในภาษาไทยมาตรฐาน แต่มีส่วนคล้ายคำว่า “คือๆกัน” มากกว่า นั่นคือหมายความว่า “เหมือน” หรือ “คล้าย” อย่างใน คือเก่า=”เหมือนเดิม” และยังอาจใช้เป็นคำถามทำนอง “ทำไมถึง…” ได้ด้วย
- อย่างเช่น “ฮู้สึกมีหญดหญังหนักๆ ญ้อยใส่ผมเพิ่น คือหญดน้ำตา” ในที่นี้มิได้หมายถึงว่าหยดอะไรหนักๆนั้นคือหยดน้ำตา หากแต่เป็นความเปรียบว่ามันเหมือนหยดน้ำตา
- หรืออย่าง “อีแม่ข้อยบ่เข้าใจว่าเป็นหญังพระผู้เป็นเจ้าคือมาลงโทษทัณฑ์เพิ่น” ในที่นี้หมายถึง “คุณแม่ผมไม่เข้าใจว่าทำไมพระผู้เป็นเจ้าถึงมาลงโทษทัณฑ์ท่าน”
- หรืออย่าง “คือฝนสิตก” หมายถึง “เหมือนฝนจะตก”
- คือสิ หมายความว่า “คงจะ” อย่างเช่น “เพิ่นคือสิเมามาแต่หม้องอื่น” ในกรณีนี้หมายความว่า “เขาคงจะเมามาจากที่อื่น”
- คือกัน หมายความว่า “เหมือนกัน” อย่างเช่น “ทางกูกะมาสวยคือกัน มาบ่ทันมึงมา”
- ทรงคือ… หมายความว่า “ท่าทางเหมือน” อย่างเช่น “บ่ได้แต่งองค์ทรงเคื่องมาออกเศิก ทรงคือผ่านทางมาเฮ็ดแนวอื่นซื่อๆ” แต่ถ้าพูดว่า ทรงคือ เฉยๆไม่มีความอื่นต่อท้ายจะหมายถึง “ท่าทางใช้ได้”
- เช่นกันกับการกล่าวว่า คือบ่…? โดยมีความอื่นต่อท้ายจะหมายถึง “ทำไมถึงไม่…?” อย่างเช่น “เจ้านั่งทับฮังมด จั่งใด๋คือบ่ถืกกัด?” หมายถึง “คุณนั่งทับรังมดอีท่าไหนทำไมถึงไม่ถูกกัด?” แต่ถ้ากล่าวว่า …คือบ่? โดยจบที่คำถามว่าบ่ จะหมายถึง “…นี่ใช้ได้ไหม?” ตอบได้ว่า คืออยู่ หมายถึง “ผ่านอยู่ๆ” หรือตอบว่า บ่คือๆ หมายถึง “ใช้ไม่ได้ๆ” อาจใช้กล่าวถึงมาด เครื่องแต่งกาย หรือการแสดงความสามารถบางอย่าง
- ทั้งนี้ คือ มีใช้ในความหมาย “คือ” เช่นกัน อย่างเช่น “กะคือว่า ญามนั้นธุระข้อยหลายคัก” หมายถึง “ก็คือว่า ตอนนั้นธุระฉันมากเหลือเกิน”
แต่กี้ ตะกี้
- แต่กี้ หมายความว่า “เมื่อก่อน” “แต่ก่อน” มิได้หมายความว่า “เมื่อกี้นี้” ปรากฏรูป แต่กี้แต่ก่อน เช่นกัน อย่างเช่น “กะพอดีบักอาร์มานซิโย อัลกาลาโผ่มา มันเป็นผู้รับใซ้และผู้ส่งสารของเปโดร ซาโมรา มาแต่กี้แต่ก่อน”
- สำหรับคำที่หมายความว่า “เมื่อกี้นี้” ใช้ หว่างหั้น หลายคนนิยมสะกด วังหั่น อย่างเช่น “เฮาพากันจ้องหน้า เปโดร ซาโมรา ถามเพิ่นด้วยแววตาว่ามันเกิดอีหญังขึ้นหว่างหั้น” และทราบมาว่าถ้าเป็นทางหนองคาย จะใช้ วังญา
แต่ ตะ
- แต่ นอกจากจะใช้หมายถึง “แต่ทว่า” และ “เฉพาะแต่” เหมือนในภาษาไทยมาตรฐานปัจจุบันแล้ว ยังใช้กันในความหมายว่า “จาก” ในภาษาระดับทั่วไปอีกด้วย
- อย่างเช่น “เจ้ามาแต่ไส?” หมายถึง “คุณมาจากไหน?”
- นอกจากนี้ ยังใช้หมายถึง ตั้งแต่ ได้ด้วย คล้ายการลดรูปในคำว่า “(ตั้ง)แต่นี้ต่อไป”
- ซึ่งคำว่า ตั้งแต่ ในลาวอีสานมีความหมายกว้างกว่า “ตั้งแต่” ของไทยกลาง กล่าวคือ ตั้งแต่ สามารถหมายถึง “ขนาด…” ได้ อย่างเช่น “เว้าจนปากฉีกกูกะบ่ออนซอนดอก แต่แม่กูเบ่งกูออกมากูยังบ่ออนซอนนำปานนั้น” หมายถึง “พูดจนปากฉีกกูก็ไม่เคลิ้มหรือซาบซึ้งหรือปลื้มด้วยหรอก ขนาดแม่กูเบ่งกูออกมากูยังไม่ได้เคลิ้มหรือซาบซึ้งหรือปลื้มอะไรปานนั้น”
- ทั้งนี้ ในภาษาปัจจุบัน มักพบการใช้คำว่า ตะ แทนคำว่า แต่ เช่น “กินตะทอดไข่” หมายถึง “กินแต่ไข่เจียว”
- หัวแต่ หัวตะ หัวกะ… หมายความว่า “เพิ่งจะ…” ส.ป.ป.ลาว เขียน ຫາກໍ່ (หาก่)
- ว่าแต่ หมายความว่า “ขอแค่ให้…” อย่างเช่น “ว่าแต่ไปถึง ส่ำได้อยู่ต่อหน้าพระแม่ โรคภัยเพิ่นกะสิส่วงเซาหายเสี้ยงบ่มีหญังเจ็บอีก”
กะ ก่า ก่
- กะ ก่า หมายความว่า “ก็” ส.ป.ป.ลาว เขียน ກໍ່ (ก่) ภาษาปัจจุบันมีออกเสียงทั้งสองแบบ แต่ใน ท่งกุลาลุกไหม้ เขียน กะ ตามความนิยม
- กะ ไม่ใช้ในหมายความว่า “กับ” อย่างในภาษาไทยมาตรฐาน ด้วยสองคำนี้ออกเสียงวรรณยุกต์ไม่เหมือนกัน กับ ในภาษาลาวอีสานผันเสียงวรรณยุกต์แบบคำตาย นั่นคือตวัดเสียงขึ้นเป็น “กั๊บ” เช่น “ข้อยกับเจ้า” สำเนียงกระแสหลักออกเสียงว่า “ข่อยกั๊บเจ่า” ในขณะที่ กะ ก่ นั้นผันเสียงวรรณยุกต์เอกแบบคำเป็น นั่นคือระดับเสียงกลางๆ คล้ายเสียงสามัญในไทยมาตรฐาน
- สำหรับคำว่า กะ ที่หมายถึงคาดคะเน ส.ป.ป.ลาว เขียน ກະ แต่ใน ท่งกุลาลุกไหม้ เขียน ก๋า เพื่อแยกคำและเพื่อสะท้อนการออกเสียงจริงของการตวัดเสียงขึ้นในคำตายสระเสียงสั้น อย่างเช่น “เห็นเหลี่ยมฟ้าเทื่อใดมันกะก๋าเบิ่งจุดหมายปายทางของมัน” หมายถึง “เห็นเส้นขอบฟ้าครั้งใดมันก็กะระยะจากจุดหมายปลายทางของมัน”
จัก จั๊ก
- ในภาษาลาวอีสาน คำว่า ฮู้ กับคำว่า ฮู้จัก ใช้ได้ในความหมายว่า “รู้” ได้เหมือนกัน ไม่ได้แยกความหมายกันอย่างชัดเจนเหมือนในคำว่า “รู้” กับ “รู้จัก” ในภาษาไทยมาตรฐาน หรืออย่างระหว่างคำว่า saber กับ conocer ในภาษาสเปน
- จัก นอกจากจะใช้เป็นคำกริยาที่หมายความว่า “รู้” แล้ว โดยมักเป็นคำสร้อยของ ฮู้
- เมื่อใช้โดดๆ หรือใช้ขึ้นต้นวลี จะหมายความว่า “ไม่รู้” เช่น จั๊กดอก จั๊กแหล่ว จั๊กแหลว จักสิว่าจั่งใด๋ จั๊กใผมากันเป็นหมู่อยู่ทางนั้น
- เมื่อไม่ได้ใช้เป็นคำกริยา อาจเป็นคำวิเศษณ์ที่ใช้เหมือนคำว่า “สัก” “ซัก” เช่น สิแม่นจักสี่โมงแลงแล้ว แปลว่า “คงจะซักสี่โมงเย็นแล้ว”
- และยังอาจเป็นคำวิเศษณ์ที่ใช้เหมือนคำว่า “กี่” อย่างเช่น จั๊กบาท แปลว่า “กี่บาท?” หรืออย่าง “รุ่นลูกกะเวียนวนนำแต่เฮ็ดเวียกเฮ็ดงานให้พ่อให้แม่ คือจั่งพ่อแม่มันเฮ็ดมาให้พ่อแม่เจ้าของ ย้อนหลังไปจั๊กว่าจักซั่วโคตรแล้วกับกฎอันนี้…” ส่วนที่ทำตัวเน้นหมายความว่า “ไม่รู้กี่ชั่วโคตรแล้ว”
2. คำที่วางในตำแหน่งที่อาจไม่คุ้นเคย
จน
- จน เมื่อวางหลังประธานโดยไม่มีวลีขยายอยู่ด้านหน้า อาจหมายความว่า “ถึงกับ” เช่น “เพิ่นจนต้องญ้ายหนีไปเอลกรูโย” หมายความว่า “เขาถึงกับต้องย้ายหนีไปเอลกรูโย”
- จนว่า หมายความว่า “จนกระทั่ง” “จนถึงกับ” แต่ถ้าวางอยู่ท้ายประโยคอย่างเน้นเสียง เป็นคำขยายให้เห็นอาการย้ำคิดย้ำทำ เช่น “ลางเทื่อเฮาปะสาทจ๊นว่า ส่ำเห็นเงาเมฆกะใจหายใจคว่ำ”
เทื่อ เที่ย เถี่ย เถื่อ เทีย
- เทื่อ นอกจากจะหมายความว่า “ครั้ง” “ที” เช่น ลางเทื่อ ห่าลังเที่ย เทื่อนี้
- ยังหมายความว่า “กว่า” ในรูป เทื่อสิ หรือ “กว่าจะ…” ด้วย อย่างเช่น “ซุมข้อยลำบากหลายเด๊ะเทื่อสิพ้อเจ้า” หมายความว่า “พวกฉันลำบากมากนะกว่าจะเจอเธอ” ความหมายนี้ปรากฏใช้คำว่า ซั่ว ชั่ว เช่นกัน อย่างเช่น “แต่ซั่วสิฮู้เรื่องทังเหมิด”
ซื่อ ซือ
- ซื่อๆ หมายความว่า “เฉยๆ” เช่น “ลาวเฮ็ดเล่นซื่อๆ” หมายถึง “แกทำเล่นเฉยๆ”
- ซื่อ หมายความว่า “ตรง” ทั้งในความหมาย “ไม่เอียง” อย่างเช่น “คนซื่อ เฮ็ดแบบตงไปตงมานี่คือกู” และในความหมาย “ณ ตำแหน่ง” อย่างเช่น “เฮานอนหงายเฮียงแถวกันซื่อตีนกำแพง”
บัก
- บัก นอกจากจะใช้เรียกแทนผู้ชายหรือสัตว์เพศผู้หรือผลหมากรากไม้แล้ว ยังสามารถใช้เรียกเครื่องไม้เครื่องมือได้ด้วย เช่น บักปิ่นลมเด็กน้อย หมายถึง “กังหันลมเด็กเล่น” หรืออย่าง บักจก หมายถึง “จอบ” หรืออย่าง บักกอก หมายถึง “มะเหงก”
- บัก อี ยังใช้เป็นคำลักษณนามได้ด้วย เช่น บักหนึ่ง อีหนึ่ง สองบัก สองอี จักบัก จักอี ซุมบักห่า ซุมอีเฒ่า อย่างในประโยค “บักนั่นสิจื่อหน้าไทบ้านไว้กะเฉพาะแต่ญามมีบ่าวแวงจักบักมาเฮ็ดเรื่องอีหญังไว้ทางลุ่มพี้ กะสิส่งคนนำไปฮอดลูบีนาแล้วฆ่าถิ้ม นอกจากนั้นแล้วกะบ่ฮู้จักเลยว่าบักรัฐบาลมีอีหลีบ่”
- บักคัก บักใหญ่ บักญาว บัก… เป็นการขยายความให้เข้มข้นยิ่งขึ้นกว่า คัก ใหญ่ ยาว … เฉยๆ และฟังดูเป็นภาษาพูดมากยิ่งขึ้นด้วย
- บักอันนี้หนิ! สามารถใช้ตอบโต้คนที่กวนประสาทได้ ทำนอง “ไอ้คนนี้นี่มั๊นxxxจริงๆเลย!”
ตั๋ว ตั๊วะ ตัวะ
- ตั๋ว เมื่อใช้ตบท้ายประโยคบอกเล่ามักมิได้หมายถึง “โกหก” แต่เป็นการเน้นความแก่ผู้ฟังอย่างเช่น “เอ้อ กะจั่งซั้นตั๋ว” หมายถึง “เออ อย่างนั้นนั่นแหละ” หรืออย่างในเพลงที่ขึ้นว่า “แม่นบ่มีผัว กะบ่ได้ตายตั๊วค่ะ” ของตั๊กแตน ชลดา หมายถึง “ถึงไม่มีผัว ก็ไม่ได้ตายนี่คะ”
- การเน้นความนี้อาจแฝงความรู้สึกประหลาดใจได้ อย่าง “เมียเจ้ากะอยู่นี่ตั๋ว เจ้ามานำเฮาเถาะ บ่ต้องเฝ้าเฮือนกะได้” หมายถึง “เมียเธอก็อยู่นี่ไม่ใช่เรอะ เธอมากับเราเถอะ ไม่ต้องเฝ้าบ้านก็ได้”
- ตั๋วนี่ ตั๊วหนิ ตั๋วนั่น ตั๊วหนั่น ใช้ลงท้ายประโยค ให้อารมณ์ประหลาดใจ ความหมายทำนอง “นี่หว่า”
ตา เป็นตา
- เป็นตา เมื่อประกบกับคำกริยา หมายความว่า “น่า…” อย่างเช่น “เป็นตาฮัก” “เป็นตากิน” หมายถึง “น่ารัก” “น่ากิน” ตามลำดับ
- หรือในรูปปฏิเสธอย่าง “ใผมาอยู่กางทางบ่มีขอบแคมนี้ กะคือสิคึดสิเซื่อว่าบ่เป็นตาสิมีอีหญังจักอย่างดอกทางหน้านั้น” หมายถึง “ใครมาอยู่กลางทุ่งกลางทางนี้ ก็คงจะคิดจะเชื่อไปว่าไม่น่าจะมีอะไรซักกะอย่างหรอกข้างหน้าโน้น”
- เมื่อใช้โดดๆ มักปรากฏในรูปปฏิเสธ บ่เป็นตา หมายความว่าไม่ได้เรื่อง ไม่เข้าท่า ถ้าต้องการด่าคนหรือสิ่งที่ไม่ได้เรื่องมากๆ ใช้คำว่า บ่เป็นตาสะแตก บ่เป็นตาซิแตก หมายถึง “หมาไม่แดก”
- ทั้งนี้ ในภาษาปัจจุบัน มักพบการใช้คำว่า ตา แทนคำว่า เป็นตา เช่น “ตาฮักแถะ” หมายถึง “น่ารักจัง” หรืออย่าง “ตาลิโตนเนาะ” หมายถึง “น่าสงสารเนอะ”
- ทั้งนี้ ใช้คำว่า น่า ในความหมาย “น่าจะ” เหมือนภาษาไทยมาตรฐาน อย่างเช่น “ข้อยบ่น่าฆ่ามันเหมิดสู่คนเลย อย่างน้อยๆ น่าสิเว้นไว้จักคนสองคน”
มา
- มา นอกจากการใช้ต่างๆ ทำนองเดียวกับคำว่า “ไป” แล้ว ยังสามารถใช้ขึ้นต้นประโยคเพื่อสื่อถึงน้ำหนักของถ้อยคำได้ด้วย อย่างเช่น “หืย มาซ่างว่าแท้! ลูกัส ลูกาเตโร” หมายถึง “ชิชะ ช่างมาพูดได้นะ! ลูกัส ลูกาเตโร”
- หรืออย่าง “มาสิญอมให้เขาฆ่าบ่ได้ บ่ได้เด็ดขาด” หมายถึง “จะยอมให้เขาฆ่าตอนนี้ได้ยังไงกัน ไม่ได้เด็ดขาด”
โพด
- โพด เป็นคำกริยาวิเศษณ์ที่ใช้ได้หลายแบบ โดยมากมักพบเป็นคำลงท้ายหมายความว่า “เกินไป” อย่างเช่น “อยู่พี้มันใกล้ควมสำนึกผิดกับควมทรงจำที่เฮามีต่อตานีโลหลายโพด”
- แต่ โพด ก็อาจใช้ย้อนคำพูดอย่างวลี “ต่างหากล่ะ” “ละไม่ว่า” ได้ อย่างเช่น ตัวละครหนึ่งกล่าวว่า “หล่อนมีกลิ่นสาบบริสุทธิ์เด้” แล้วอีกตัวละครหนึ่งสวนทันควันว่า “กลิ่นผีห่าเหมิดเมืองโพด”
พอ
- พอ ในประโยคปฏิเสธ สามารถวางอยู่หน้าคำลักษณนามได้ เช่น มันบ่ปากพอคำ เพิ่นหลกหญ้าเหมิดมื้อกะได้บ่พอไร่ เฮาแนมบ่เห็นหญังพอเม็ด หมายถึง “มันไม่เอ่ยปากแม้แต่คำเดียว” “เขาถอนหญ้าทั้งวันก็ได้ไม่ถึงไร่เดียว” “เรามองไม่เห็นอะไรสักนิดเดียว” ตามลำดับ
- พอแต่ หมายความว่า “พอ…” ใช้เชื่อมสองวลีให้ต่อเนื่องกันในเชิงเวลา อย่างเช่น “มันเป็นบ่าวกันตั้งแต่ฟ้าทันได้ฮุ่งแจ้งพุ้น คือเขาว่านั่นละ โตนจากเอิกแม่แล้ว พอแต่บายบักจกเป็น กะเสียจากลูบีนาไปจ้อย” หมายถึง “พอจับจอบเป็น ก็หายจากลูบีนาไปเลย”
- พอปาน เป็นคำเปรียบเปรยที่มีน้ำหนักเป็นอุปลักษณ์ (เปรียบเป็น) มากกว่าอุปมา (เปรียบเหมือน) เหมือนคำว่า “as if” ในภาษาอังกฤษ หรือ “como si” ในภาษาสเปน
- แต่ พอปานกัน หมายถึง “พอๆกัน” เช่น “สิญามเว็นหรือญามคืน ลูบีนากะหนาวสะท้านพอปานกัน”
- บ่พอ เมื่อใช้บรรยายลักษณะอย่างโดดๆ มิได้มีอะไรต่อท้าย จะหมายความว่า “ไม่เต็ม” ในความหมาย “ไม่เต็มบาท” หรือ “พิการทางปัญญา”
- สมพอ ส่ำพอ สำพอ หมายความว่า “มิน่าล่ะ…” “สมควรแล้วล่ะที่…” อย่างเช่นในบทสนทนาที่ฝ่ายหนึ่งกล่าวว่า “เจ้านี่มันผีห่ามาเกิดอีหลีลูกัส ลูกาเตโร” แล้วอีกฝ่ายสวนว่า “สมพ๊อข้อยได้เป็นผู้ซ่อยอนาเกลตโต โมรอนเนส มันน่ะพญามารคักๆ”
พ้อม พร้อม พ่อม
- พ้อม เมื่อวางท้ายประโยค ไม่ได้แปลว่า “พร้อม” แต่แปลว่า “ด้วย” อย่างเช่น “คันเจ้าหมาน กะฮอดสิได้สัญญาเฮ็ดงานพ้อม” แปลว่า “ถ้าคุณดวงดี ก็จะได้กระทั่งสัญญาทำงานด้วย”
- ความหมายเดียวกันกับ นำ นำพ้อม เมื่อวางท้ายประโยค อย่างเช่น “อยากกินแกงหน่อไม้ใส่ผักหลายๆใส่เห็ดขอนนำพ้อม”
ฮอด
- ฮอด นอกจากจะแปลว่า “ถึง(จุดหมาย)” ทั้งในเชิงพื้นที่อย่าง อีแม่ฮอดบ้านแล้วบ้อ? และในเชิงกาลเวลาอย่าง อ้ายฮักเจ้าฮอดมื้อตาย และนอกจากจะใช้ประสมคำอย่างในคำว่า คิดฮอด คึดฮอด ที่แปลว่า “คิดถึง” หรืออย่าง เว้าฮอด ที่แปลว่า “พูดถึง” แล้ว
- ฮอด เมื่อวางอยู่หน้าคำนาม ยังอาจหมายความว่า “แม้” “กระทั่ง” ได้ด้วย อย่างเช่น “บ่เลย ท่งนี่บ่มีปะโหญดหญัง บ่มีฮอดกะต่ายฮอดนก” แปลว่า “เปล่าเลย ทุ่งนี่เปล่าประโยชน์สิ้นดี ไม่มีแม้กระต่ายแม้นก”
- หรือเมื่อวางอยู่หน้ากริยาวลี ความหมายว่า “กระทั่ง” “ถึงขนาด” อย่างเช่น “เจ้านั่นแต่ก่อนกะเป็นคนขี้ตั๋ว ฮอดเสกสรรปั้นแต่งเรื่อง” แปลว่า “เธอน่ะสมัยก่อนก็เป็นคนขี้โกหก ถึงขนาดปั้นน้ำเป็นตัวก็ยังทำ”
สู่ สุ ซู่ ซุ
- สู่ ใช้ไม่เหมือนในไทยมาตรฐาน กล่าวคือมักใช้หมายถึง “ทุก” เช่น สู่อย่าง สู่มื้อสู่เว็น ตายเบิ๊ดสุผู่สุคน ควมตายแขนคอซุบาทญ่าง หมายถึง “ทุกอย่าง” “ทุกวันๆ” “ตายหมดทุกคนถ้วนหน้า” “ความตายแขวนอยู่ทุกย่างก้าว” ตามลำดับ
- วลี สู่มื้อนี้ ปรากฏรูป คู่มื้อนี้ คุมื้อนี้ เช่นกัน ซึ่งเป็นรูปคำที่ฟังดูเก่าและห่างไกลกว่า
- ใช้ประกบคำว่า “อย่า” เป็น อย่าสู่ ในคำสั่งได้ เช่น “ควมหวังสุดท้ายของเฮาฝากไว้นำงัวน้อย ขอให้มันญังมีซีวิตอยู่ถ้อน ขออย่าสู่คึดลงน้ำนำแม่มันเลย”
- ใช้ประกบกับคำกริยาเช่น “ฟัง” เป็น เว้าสู่ฟัง เล่าสู่ฟัง เหมือนวลี “เล่าสู่กันฟัง” ในภาษาไทยมาตรฐาน หรืออย่าง “กิน” เป็น เฮ็ดอาหารสู่กินแซบๆ หมายถึง “ทำอาหารให้กินกันอร่อยๆ”
แม้ แหม แมะ
- แม้แต่ ใช้ได้เหมือนภาษาไทยมาตรฐาน แต่ “แม้” “แม้ว่า” โดดๆ นั้นมักใช้ แม่นสิ แม้นว่า
- เมื่อใช้ แม้ แหม แมะ ลงท้ายประโยค เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้สิ่งที่กล่าวมา โดยอาจลงท้ายคำสั่งหรือคำบอกเล่าก็ได้ อย่างเช่น “เบิ่งแหน่แหม” หรืออย่าง “อีเฒ่าซุมนี้นี่แม้!”
- เมื่อใช้ ทะแม้ แหน่แหม แหน่แม้ ลงท้ายประโยค หมายความว่านั่นเป็นประโยคคำสั่ง อย่างเช่น “หาหญังแดกฮูปากบักขี้เมาทะแม้!” หมายถึง “หาอะไรยัดปากไอ้ขี้เมาหน่อยซิวะ!” การเลือกประกบคำและใช้เสียงวรรณยุกต์และความยาวสระหลากหลายบ่งถึงน้ำหนักคำสั่งและภาวะอารมณ์ที่ต่างกัน
ญัง ยัง
- ญัง นอกจากเป็นคำกริยาช่วยทำนองเดียวกับ “ยัง” ในภาษาไทยมาตรฐานแล้ว ยังมีใช้อีกหลายความหมาย ได้แก่
- ญังญัง หมายถึง “ยังมีชีวิตอยู่” ญัง หมายถึง มีชีวิต อย่างเช่น “บัดญามซุมผู้ที่ญังเริ่มคานออกมาจากซากเหล็กตู้รถไฟ”
- ญังแต่ บ่ญัง หมายความว่า “เหลือแต่” “ไม่เหลือ” ตามลำดับ อย่างเช่น “ซุมแฮ้งกะสิกินซากจากทางใน จกไส้จกพุงออกมาจนว่าญังแต่หนัง” หรืออย่าง “แม้แต่หมาญังดับแนวบ่ญังผู้ใดสิเห่าหอนใส่ควมมิด”
สำมะปิ สำมะปี๋ สำปะปิ สำปะปี๋
- สำมะปิ รากคำเดียวกับคำว่า “สรรพ-” หมายความว่า “สารพัด” “จิปาถะ” มักวางข้างหลังคำ เช่น “แกงเห็ดสำปะปิ” หมายถึง “แกงเห็ดสารพัด”
- แต่ สำมะปิ… ก็ใช้วางหน้าคำได้ด้วย เช่น “ลมพัดสำมะปี๋เสียงลอยขึ้นมา” เป็นไวยากรณ์ที่กระเดียดไปทางกวีมากกว่าภาษาพูดทั่วไป
- และปรากฏคำว่า บักสำมะปี๋ อีสำปะปิ๋ เป็นคำด่าด้วย ซึ่งข้าน้อยก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็นคำด่าอย่างไร
3. คำอเนกประสงค์
จั่ง จัง จั๊ง
- จั่ง หมายความว่า “อย่าง” อย่างเช่น “จั่งข้อยบอกไป” หมายถึง “อย่างที่ฉันว่าไป,” “คนจั่งข้อย” หมายถึง “คนอย่างฉัน” ปรากฏรูป จั่งซี้ จั่งเซียะ จั่งซั้น
- แต่ไม่ใช้ขยายความในทำนอง “อย่างเยอะ” “อย่างรวดเร็ว” ในกรณีนี้ใช้ อย่าง ได้ แม้จะทราบมาว่าไม่แพร่หลายนักในภาษาพูด แต่เราก็เคยได้ยินคนพูด “อย่างหลาย” “อย่างฟ้าว” เป็นปกติ ด้วยน้ำเสียงที่เน้นความมากกว่าเวลาใช้รูปประโยคแบบอื่นที่ไม่มีคำว่า อย่าง
- จั่ง จั่งค่อย ใช้ในความหมายว่า “ถึงค่อย” ก็ได้ อย่างเช่น “มันต้องเอาบักจกก่นลงไปเป็นฮู จั่งค่อยหย่อนเมล็ดใส่”
- คือจั่ง คือ ใช้ในความหมายว่า “เหมือนอย่าง” หลายครั้งใช้แปลคำภาษาสเปนคำเดียวกับที่แปลมาเป็นคำว่า พอปาน ปานว่า [como si] แม้น้ำหนักการเปรียบเปรยของ คือ จะเบากว่า ปาน กล่าวคือมีความเป็นอุปมา (เปรียบเหมือน) มากกว่าอุปลักษณ์ (เปรียบเป็น)
- จั่งแม่น ใช้ขึ้นต้นความที่ผู้พูดต้องการเน้นกล่าวประชดประชันอย่าง “ควมทรงจำของคนอาญุปานนี้จั่งแม่นมันตั๋ว” หมายความว่า “มันหลอกกันเสียเหลือเกิน ความทรงจำของคนอายุปูนนี้” หรืออย่าง “จั่งแม่นเพิ่นคัก” หมายความว่า “แหม๊ สุดยอดจริงๆคนนี้”
- จั่งว่า มีหลายความหมาย อาจเป็น 1) การพูดขึ้นต้นก่อนจะเล่าเรื่องหรือร่ายกลอน ทำนองเดียวกับ “มาจะกล่าวบทไป” หรืออาจเป็น 2) การพูดทวนความย้อนหลังที่ตนเคยกล่าวแล้ว ทำนองเดียวกับ “อย่างที่ว่าไป” หรืออาจเป็น 3) การพูดขึ้นประโยคเพื่อสร้างน้ำเสียงที่ทำให้สิ่งที่จะกล่าวตามมาฟังดูเป็นภาษาพูดทั่วไป ไม่หนักแน่นนัก ดังที่ปรากฏในชื่อเรื่องสั้น “จั่งว่าเฮาทุกข์ญากหลาย” [“Es que somos muy pobres”]
แม่น แมน
- แม่น โดดๆ หมายความว่า “ใช่” เช่น “คือสิแม่น” หมายถึง “คงจะใช่”
- แม่น ยังใช้ในความหมาย “ถูก” ได้ เช่นใน แม่นความเจ้า หมายถึง “ถูกของคุณ”
- แม่น กะแม่น ใช้ในความหมายว่า “เป็น” หรือ “คือ” ได้ อย่างเช่น “บักนั่นแม่นเมลีตอน” หมายถึง “คนนั้นคือเมลีตอน”
- คันแม่น ครั้นแม่น ใช้ในความหมายว่า “ถ้าหาก” ปรากฏรูป แม้น อยู่บ้างเช่นกัน
- แม่นสิ ใช้ในความหมายว่า “ถึงแม้จะ” อย่างเช่น “ลาวสิปกปักฮักษาซีวิตไว้แม่นสิเกิดหญังกะซ่าง”
- สิแม่น ใช้ในความหมายว่า “หรือว่า” อย่างเช่น “สิแม่นลาวอยากหาเรื่องตีมึงแล้วมึงเลยตีสวนไปก่อนฤๅ”
- ว่าแม่น หมายความว่า “นึกว่าเป็น” อย่างเช่น “ซานฆวนลูบีนา ฟังชื่อนั่นว่าแม่นวิมานฟ้า แต่อีหลีแล้วเป็นแดนล้างบาปล้างเวร”
บัด บาด
- บัด อาจใช้ขึ้นต้นประโยคหรือวลีเพื่อหมายความถึงการบอกช่วงเวลา เช่น บัดนั้น บัดนี้ บัดเทื่อนี้ บัดห่า บัดพอ บัดญาม บัดคาว บัดลุน บัดหลัง บัดเพิ่นมา…
- แต่ บัดนี้ เดี๋ยวนี้ เดียวหนิ ก็สามารถใช้ลงท้ายประโยคเพื่อเน้นความได้ด้วย ไม่ได้บ่งบอกกาลเวลาเสมอไป ทำนองเดียวกับการลงท้ายประโยคด้วย “ล่ะทีนี้” ในภาษาไทยมาตรฐาน อย่างเช่น “ญามต้องมาเฮ็ดเวียกอยู่นี่ สิหาบ่อนใดบังแดดละบัดนี้?” หรืออย่าง “กูสิตบปากมึงแบะเดี๋ยวนี้ บักงัวผีปอบ”
- หรืออย่าง “ผมมาบอกเจ้าอันที่ผมฮู้ กลายมาเป็นว่าผมเป็นผู้ปกปิดผู้ร้ายซั้นบ้อ? มันเป็นจั่งซี้แล้วบัดนี้” ออกเสียงตามสำเนียงอีสานกระแสหลักได้ประมาณว่า บาดหนิ หรือ บ่านหนี่
- บัดใด๋แล้ว หมายความว่า “ในที่สุด” “สุดท้ายแล้ว” อย่างเช่น “วงดุริญางค์เพิ่นมาสวยญ้อนเหตุว่ารถทังเหมิดถืกใซ้ไปกับคณะท่านผู้ว่าฯ ซุมนักดนตีกะเลยต้องญ่างมาเอง บัดใด๋แล้วกะฮอด”
- บัดใด๋แท้ หมายความว่า “ที่แท้” “จริงๆ แล้ว” ในเล่ม ท่งกุลาลุกไหม้ ไม่ปรากฏคำนี้ แต่แบ๊งก็เคยเขียนเสนอให้ใช้อยู่ แต่เนื่องจากตอนนั้นไม่เคยได้ยิน เลยไม่กล้าใช้ ปรากฏว่าตอนนี้ไปสถิตบนเนื้อเพลง “คิดไปเอง” ของ ไอดิน อภินันท์ ไปสาแล้ว ก็จะพบในรูป อีหลีแล้ว แทน อย่างเช่น “ซานฆวนลูบีนา ฟังชื่อนั่นว่าแม่นวิมานฟ้า แต่อีหลีแล้วเป็นแดนล้างบาปล้างเวร”
คัก
- คัก นอกจากเป็นคำขยายเพิ่มน้ำหนักคำคุณศัพท์ทำนอง “สุดๆ” เช่น งามคัก แซบบักคัก ดีคักดีแหน่ แล้ว ยังสามารถใช้โดดๆ ในความหมายว่า “สุด” “สุดยอด” “เริ่ด” เช่น “อันเรื่องสี้เรื่องเซิงหนิ ผู้ใด๋คัก เจ้าฮู้บ่?”
- คัก ยังใช้กันทั่วไปในความหมายเชิงลบแกมเสียดสีด้วย เช่น เจ้ากะเว้าคักโพด ผู้เพิ่นนั้นคักหลาย หมายถึง “เธอก็พูดเกินป๊าย” “สุดยอดซะเหลือเกินเขาคนนั้น” ตามลำดับ
- คัก สามารถใช้สื่อถึงการเห็นชัดฟังถนัดด้วย เป็น เห็นคัก ได้ญินคัก
- สามารถประกบคำขยายอื่นๆได้ เช่น คักขนาด คักหลาย คักฮ้าย คักแฮง คักเอาโพดเอาเหลือ คักอีหลีอีหลอกะด้อกะเดี้ย คักโพดโพบักโมบักแตง
- คักๆ หมายความว่า “เน้นๆ” หรือ “แน่ๆ” อย่างเช่น “เพิ่นสิเอาไปซ่าเป็นเรื่องหีนะคักๆ” หมายความว่า “เขาต้องเอาไปลือเป็นเรื่องอื้อฉาวต่ำช้าแน่ๆ”
- หรืออย่าง “ฟาดหินใส่กบาลคักๆ เทื่อเดียวมันกะต้องดับแนวคาหม้อง” หมายความว่า “เหวี่ยงหินใส่กบาลเน้นๆ ครั้งเดียวมันก็ต้องตายคาที่”
แล้ว แหล่ว แหล้ว แหลว
- แล้ว นอกจากจะเป็นคำวิเศษณ์ที่ช่วยลำดับเวลาหรือตรรกะแล้ว สามารถใช้ แล้ว เป็นคำกริยาที่หมายถึง “เสร็จ” ได้อย่างเป็นปกติ ดังปรากฏร่องรอยในคำซ้อน “แล้วเสร็จ” ในภาษาไทยมาตรฐาน ตัวอย่างเช่น แล้วแล้วบ้อ? แปลว่า “เสร็จแล้วรึ?”
- หรืออย่าง “สิบ่ให้ข้อยจ่อยได้จั่งใด๋ เข้ากะจนบ่ได้กิน เหมิดมื้อเหมิดเว็นกะเคี่ยนงัวท่อนั้น บัดหนึ่งกะพาไปฆีกีลปันหม้องเพิ่นซื้อท่งไว้ ท่ามันกินหญ้าจนอิ่ม แล้วกะเคี่ยนงัวหลบเมือญามค่อนสิแจ้ง ค้ายๆการจาริกแสวงบุญแบบบ่มีมื้อสิแล้ว” ส่วนที่เน้นข้อความหมายถึง “ไม่มีวันเสร็จสิ้น”
- ปรากฏวลี บ่แล้วบ่ไล ที่มีความเก่าและความเป็นกวีสักหน่อย อย่างใน “ข้อยคึดไปว่าข้อยคือสิได้ฮักได้แพงนางต่อไปอย่างบ่แล้วบ่ไล”
- พุ้นแล้ว พุ่นแหล่ว เมื่อใช้โดดๆ เป็นเหมือนคำอุทานเพื่อสื่อถึงการกล่าวเกินจริง สามารถใช้ในเชิงเหน็บแนมได้ ทำนอง “ขนาดนั้นเลย”
- และเมื่อใช้ …พุ่นแหลว พ้วนแหล่ว ลงท้ายประโยค จะเป็นการเน้นความทำนอง “เลยล่ะ” เช่น “ตอกเตกีล่าเข้าไปเป๊กสองเป๊กเจ้ากะสิวิ่งปานฟ้าปี้นพุ้นแหลว”
- สำหรับวลี ซั้นแล้ว ซั่นแหล่ว ดูด้านล่าง
ซั้น ซั่น สั่น
- ซั้น หมายความว่า “เช่นนั้น” “ฉะนั้น” “งั้น” พบหลายรูปแบบ และวางได้หลายตำแหน่งในประโยค เช่น
- ซั่นแหล่ว ซั้นแล้ว ถ้าใช้โดดๆ เหมือนคำอุทาน จะหมายถึง “นั่นไงว่าแล้ว”
- แต่เมื่อใช้ ซั้นกะ ซั้นละ ซั้นแล้ว… ขึ้นต้นประโยค หมายความว่า “งั้น…”
- แต่เมื่อใช้ …ซั้นแล้ว ซั้นแหลว ลงท้ายประโยค จะเป็นการเน้นความที่ผ่านมาในประโยค เช่น “อยู่พี้มันเป็นจั่งซี้ซั้นแหลว” หมายถึง “อยู่นี่มันเป็นหยั่งงี้ยังไงเล่า”
- บ่ซั้น… ขึ้นต้นประโยค หมายความว่า “ไม่งั้น…”
- คันซั้น… ขึ้นต้นประโยค หมายความว่า “ถ้างั้น…”
- …ซั้นตั๊ว สั่นตัวะ ลงท้ายประโยค เป็นคำกึ่งอุทานทำนอง “…สิคะ!” ตอนเราเป็นเด็กประถมที่โรงเรียนอนุบาลศรีสะเกษ เวลาย่าไปส่งเรากับน้องสาวที่โรงเรียน แล้วน้องกล่าวสวัสดีย่าแต่ไม่มีหางเสียง “ค่ะ” ย่าก็จะคอยบอกว่า “ค่าาา…สั่นตัวะ!” ด้วยน้ำเสียงหงุดหงิด เรากับน้องก็จะเอาคำของย่ามาล้อเล่นด้วยการ “สั่นตัว” เหมือนผีเข้าอยู่อย่างครื้นเครงบนเบาะหลังรถฮอนด้าซีอาร์วีคลุ้งกลิ่นเครื่องพะโล้
- …ซั้นบ้อ ซั้นติ? ลงท้ายประโยค เป็นการทวนถามด้วยความไม่เชื่อหู คล้าย “อย่างนั้นเหรอ?” อย่างเช่น “ผมมาบอกเจ้าอันที่ผมฮู้ กลายมาเป็นว่าผมเป็นผู้ปกปิดผู้ร้ายซั้นบ้อ?”
- …ซั้นดอก ซั่นดอกวา สั่นดอกหวา ลงท้ายประโยค เป็นการพูดให้ซอฟต์ลง ลดความหนักแน่นของประโยคที่ได้พูดไป อย่างเช่น “บ่ต้องเล่ากะได้ซั้น ย้านแต่ซุมฟังอยู่นี่บ่ได้ฟังของดีซั้นดอก” หมายถึง “งั้นไม่ต้องเล่าก็ได้ แค่กลัวว่าพวกที่ฟังอยู่เนี่ยะจะไม่ได้ฟังของดีเท่านั้นแหละ”
- …ว่าซั้น ว่าซั้นว่า หว่าสั่น วะซ้าน หว่ะส้าน ลงท้ายประโยคหรือวลี อาจใช้เน้นความเฉยๆก็ได้ แต่โดยมากแล้วเป็นการทวนคำพูดคนอื่น หรือบอกว่าที่พูดไปก่อนหน้านั้นเป็นคำพูดของคนอื่น–เขาบอกมาว่างั้น อาจมีน้ำเสียงกระทบกระเทียบด้วย เช่นในเนื้อเพลง “ไสว่าสิบ่ถิ้มกัน” ที่ว่า “สิบสิฮ้าง หรือซาวสิฮ้าง สิจับมือกันญ่างว่าซั้นว่า” ที่ผู้ร้องทวนคำสัญญิงสัญญาของอดีตคนรักด้วยอารมณ์ตัดพ้อ
- …ว่าซั้นเทาะ วาสั่นเถาะ วั่นเถาะ ว่าซั่นเถาะไป๊ ลงท้ายประโยค หมายถึง “ว่างั้นเถอะ” หรือ “อะไรทำนองนั้นแหละ” ให้ความรู้สึกเหมือนว่าผู้พูดกำลังบุ้ยใบ้ในสิ่งที่ผู้ฟังสามารถคิดตามหรือนึกภาพต่อเอาเองได้ อย่างเช่น “โตนางกะมีแต่อดแต่อยาก บ่อิ่มบ่เต็มจักเทื่อว่าซั้นเทาะ”
- ซึ่งคล้ายกันกับ …ซั้นเด๊ะ สั่นเด๊ะ สั่นเด๊ะบาดหนิ สั่นเด๊ะเดียวหนิ ลงท้ายประโยค แต่อันหลังนี้มีน้ำเสียงชี้ชวนให้สนเท่ห์ บุ้ยใบ้ไปยังนัยพลิกผันบางอย่าง คล้ายกับการพูดว่า “ซะงั้นน่ะ”
ขี้ ขี่
- ขี้ นอกจากจะใช้ประกบหน้าคำเพื่อสื่อถึงทุรลักษณะเหมือนในภาษาไทยมาตรฐานเช่น ขี้คร้าน/ขี่ค่าน ขี้ถี่ ขี้ย้าน ขี้ร้าย ซึ่งหมายถึง “ขี้เกียจ” “ขี้เหนียว” “ขี้กลัว” “อัปลักษณ์” ตามลำดับ หรือเพื่อสื่อถึงของเสียเช่น ขี้ดัง น้ำขี้สีก ขี้เหญื้อ ซึ่งหมายถึง “ขี้มูก” “น้ำคร่ำ” “ขยะ” แล้ว
- ยังใช้ ขี้ นำหน้าคำอื่นๆ ที่ไม่ได้มีนัยเป็นของเสีย แต่อาจยังตีความได้ว่ามีนัยของการเป็นเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งของสิ่งที่มันนำหน้า เช่น ขี้ตาเว็น ก้อนขี้ฝ้า/ขี้ฟ้า ก้อนขี้ถ่าน หมายถึง “ดวงอาทิตย์” “ก้อนเมฆ” “ถ่าน” ตามลำดับ
- ยังใช้ ขี้ ประกอบคำเรียกสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆ เช่น ขี้กะตึก ขี้ไก่เดือน ขี้คันคาก ซึ่งหมายถึง “พยาธิ” “ไส้เดือน” “คางคก” ตามลำดับ
- ยังใช้ ขี้ สื่อถึงอาการทางร่างกาย เช่น ขี้คะญือ ขี้ไก่เดียม/ขี่กะเดียม ขี้โผ้/ขี่โผ่ ซึ่งหมายถึง “หืด” “จั๊กจี้” “พุงโร” ตามลำดับ
- และยังใช้ ขี้ ในคำอีกสำมะปิที่ไม่รู้จะจัดประเภทอย่างไร เช่น ขี้พื้น ซึ่งหมายถึง “สันดาน” เช่นใน กูฮู้ขี้พื้นมันเหมิด หรืออาจหมายถึง “ขี้ปาก” เช่นใน ขี้พื้นไทบ้าน, หรืออย่าง ขี้เดียด เป็นคำกริยาหมายถึง “ยี้” “หยะแหยง” “รังเกียจ”
- ขี้ ยังใช้กล่าวถึงเรื่องขี้ปะติ๋ว เรื่องขี้ๆ ทำนองเดียวกับภาษาไทยมาตรฐาน โดยสามารถพูดว่า เรื่องฮูขี้ฮูดาก
- ฮูขี้กูนี่! ใช้ตอบโต้ว่าคำที่คนอื่นกล่าวมานั้นหาความจริงไม่ได้ ทำนองเดียวกับการตบท้ายประโยคด้วยคำว่า “…my ass!” ในภาษาอังกฤษ ปรากฏในรูปคำเลี่ยง ฮุคิกุนิ สวมกิโมโนในเพลงของ บอย เขมราฐ ที่ท่อนฮุกว่า “HU-KIKUNI HU-KIKUNI HU-KIKUNI อย่ามาหาตั๊ว… HU-KIKUNI HU-KIKUNI HU-KIKUNI เห็นว่าเป็นจั่งซี้จ้ำปาแดกต่อนกินกบกินเขียดแต่บ่ได้โง่… HU-KIKUNI HU-KIKUNI HU-KIKUNI เห็นว่าเป็นจั่งซี้สะแตกเหล้าขาวใส่เกิบดาวเทียมแต่กะบ่โง่… “
4. คำเชื่อมที่อาจไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน
- หน่อยบ่นาน หมายความว่า “ในไม่ช้า” ใช้ขึ้นต้นความ เป็นสำนวนวรรณคดี-หมอลำ ไม่พูดกันในชีวิตประจำวัน
- กะซาม เป็นคำเดียวกับ กะซ่าง หรือ “ก็ช่าง” ปรากฏในวรรณคดีไทยโบราณ
- กะดาย เป็นคำใช้ลงท้ายประโยคเพื่อใส่อารมณ์ ไม่มีความหมายในตัวเอง อย่างเช่น “เจ้ากะบ่ซ่อยข้อยเลยน้อ ประสาควมหวังส่ำนี้กะดาย”
- อั่นนึง อันหนึ่ง อนึ่ง เป็นคำเดียวกัน ใช้ขึ้นเรื่องใหม่ รากเดียวกันกับคำว่า อั่น ที่ใช้กันติดปากเวลานึกคำพูดไม่ออก
- จ้อย เป็นคำใช้ลงท้ายประโยคหรือคำ ความหมายทำนอง “ซะงั้น” หรือ “(หาย)ไปเลย” เป็นการลงน้ำเสียงเน้นประโยคปฏิเสธหรือเน้นคำที่มีเนื้อหาของการสูญหาย อย่างเช่น มิดจ้อย เสียจ้อย หายจ้อย บ่มีจ้อย ลงไปแล้วออกบ่ได้จ้อย
- ดู้ ดู๊ เป็นคำลงท้ายประโยคขอร้อง พูดกันอยู่แถวอื่น แถวเมืองศรีสะเกษไม่เคยได้ยิน — มิตรสหายท่านหนึ่งเพิ่มเติมว่าคำนี้มีน้ำเสียงเชิงข่มขู่และท้าทายด้วย เช่น ลองเบิ่งดู๊ หมายถึง “ก็ลองดูสิ”
- ไป่ เป็นคำลงท้ายประโยคคำถาม เช่น “กินเข้าแล้วไป่” “ฮอดแล้วไป่” หมายถึง “กินข้าวแล้วยัง” “ถึงรึยัง” ตามลำดับ พูดกันอยู่แถวอื่น แถวเมืองศรีสะเกษไม่เคยได้ยิน คำเดียวกับที่ปรากฏในวรรณคดีไทยโบราณ ตกหล่นหายไปกลางทางระหว่างการขัดเกลาสำนวนแปล ท่งกุลาลุกไหม้
- ผัด หมายความว่า “แต่ทว่า” “แต่กลับ” มีปรากฏรูป ผั่น ผั้น ด้วย
- พวม หมายความว่า “กำลัง” วางหน้ากริยาเหมือนเติม -ing หลังคำกริยาภาษาอังกฤษ ไม่ค่อยเคยได้ยินคนใช้โดดๆในภาษาปัจจุบัน แต่ยังพบรูป พวมสิ มากกว่า ซึ่งหมายความว่า “กำลังจะ” “จวน”
- ฮอม หมายความว่า “จวน” เช่น “ฮอมสิฮอดแล้ว” หมายถึง “จวนจะถึงแล้ว”
- แป๋ แปะ หมายความว่า “เฉียด” “ชิด” อย่างเช่น “อ้ายฮักเจ้าแป๋ตาย” หมายถึง “พี่รักเธอแทบตาย” หรืออย่าง “เฮาสิเอาที่ดินแป๋น้ำ” หมายถึง “เราจะเอาที่ดินติดน้ำ” หรืออย่าง “เสียงเมียหันใจข้อยกะได้ญินอยู่แป๋หู” หมายถึง “เสียงเมียหายใจข้าก็ได้ยินอยู่รดหู”
- แฮ่ง แห่ง หมายความว่า “ยิ่ง” ใช้นำหน้าคำหรือวลีเพื่อเน้นความหมายเหมือนไทยมาตรฐาน สระเสียงสั้น ฟังคล้าย แฮ็ง
- ซ้ำ สาซ้ำ เป็นคำลงท้ายประโยคหมายความว่า “ด้วยซ้ำ”
- สา เมื่อใช้ลงท้ายวลี ทำงานเหมือนคำว่า “ซะ” ในภาษาไทยมาตรฐาน แต่ในบางบริบทอาจฟังดูอ่อนน้อมกว่า
- ถืก หมายความว่า “ถูก” ทั้งในความหมาย “ถูกต้อง” เป็น ถืกต้อง และในการบ่งบอกว่าเป็นประโยคกรรมวาจก หรือ passive voice อย่างเช่น “คืนที่มันถืกถิ้มไว้ผู้เดียว”
- ตำอิด หมายความว่า “แรก” ส.ป.ป. ลาว เขียน ທຳອິດ (ทำอิด) ใช้โดดๆ หรือใช้ประกอบคำอื่นเช่น “เทื่อตำอิด” “คนตำอิด” ก็ได้ ปรากฏรูป ตำอิดตำก่อ ตำอิดตำอ่อ เช่นกัน เวลาผู้เฒ่าผู้แก่เล่าเรื่องครั้งหลัง
- ลุน หมายความว่า “หลัง” ใช้ใน บัดลุน บาดลุน ลุนมา หมายถึง “คราวหลัง” “ทีหลัง” “หลังจากนั้นมา” ปรากฏในตำแหน่งอื่นด้วย อย่างเช่น “ซุมเด็กน้อยเกิดใหม่ใหญ่ลุนกะเสียจ้อยจากหั้นไปแล้ว” หมายถึง “พวกเด็กน้อยเกิดใหม่โตมาทีหลังก็หายหัวจากที่นั่นไปแล้ว”
- ประสา หมายความว่า “กะอีแค่” มักมาคู่กับคำว่า ส่ำ ส่ำนี้ ซึ่งหมายความว่า “แค่” “แค่นี้” อย่างเช่น “เจ้ากะบ่ซ่อยข้อยเลยน้อ ประสาควมหวังส่ำนี้กะดาย”
- แต่ ส่ำใด่ ซำใด๋ หมายถึง “ขนาดไหน” มักใช้ในเชิงวาทศิลป์
- เป็นหญัง เป็นหยัง นอกจากความหมายว่า “เป็นอะไร” อาจหมายความได้ว่า “ทำไม” เมื่อขึ้นต้นประโยค อย่างเช่น “ข้อยจั่งได้ฮู้ว่าเป็นหญังเพิ่นจั่งโทษข้อยว่าเป็นผู้ฆ่าอ้ายเพิ่น” หรืออาจหมายความว่า “จะเป็นอะไร” เมื่อลงท้ายประโยค อย่างเช่น “ไปแหน่เป็นหญัง”
- สัง หมายความว่า “อะไร” “ทำไม” อย่างเช่น “สังข้อยสิไลลืมเจ้า ญังว่าเจ้ามีอีหญังที่ลืมบ่ได้” คำรากเดียวกับ อีหญัง อิหยัง แต่ปัจจุบันไม่ค่อยใช้กันแล้ว มิตรสหายท่านหนึ่งบอกว่าบางถิ่นยังใช้คำนี้เมื่อกล่าวถึงอดีตหรือผู้ตายไปแล้ว อย่างเช่น “สังพ่อใหญ่ลาวบ่ทันตาย เพิ่นบ่ให้หมู่เฮาอึดหยากปานนี้ดอก”
- บู๋ บุ ใช้ลงท้ายประโยคเพื่อสื่อว่าผู้พูดไม่รู้ เข้าใจว่าลดรูปมาจาก บ่ฮู้ เมื่อประกบกับคำถามอย่าง อยู่ไสบู๋ จั่งใด๋บุ สามารถให้ความรู้สึกเป็นคำถามเชิงวาทศิลป์ทำนอง “อยู่ไหนก็ไม่รู้ละ” “ยังไงก็ไม่รู้ละ” ได้ อย่างเช่น “กะญังแต่ซุมผู้เฒ่าหลังงุ้มกับแม่ญิงค้างโคก บ่ซั้นกะได้ผัว แต่ว่าผัวมันไปไสบู๋ พระเจ้านั่นตั๋วสิฮู้แต่ผู้เดียว…”