อ่าน “สามก๊ก” แบบคนอีโก้สูง

[For the English-language original “The Egoist Reads Three Kingdoms,” click here.]

ดีโยน ณ มานดารูน เขียน
พีระ ส่องคืนอธรรม แปล
ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการแปล

กูเจอคำถามมาหลายกรรมหลายวาระแล้วว่านี่เธอเริ่มอ่านหนังสือจริงจังตอนไหนอ่านอะไรอ่านของใครเหรอ? เจอแบบนี้กูก็มักตอบไปแบบอัตโนมัติว่าก็เอ๊ดก้าร์โปตอนซักม.สองม.สาม บางทีก็เจาะจงถึงสกอล้าสติคพ้อคเก็ตคอลเล็คชั่นที่มีบทกวีดังๆของแกรวมไว้ เล่มที่กูหยิบมาจากแผงร้านหนังสือซี้ดที่เดอะมอลล์บางแคสมัยเก่ากึ๊กตั้งแต่ยังมีไอ้แฟนเทเชียลากูนโชว์นั่นน่ะที่มีภูเขาไฟกับปีศาจภาพฉายสามมิติกับพ่อมดเหาะเหิรเดิรลวดสลิงสวมเสื้อคลุมสดใสไม่มีหมวกร่อนถลาจากฝาโน้นไปฝานั้นตั้งแต่ยังไม่มีเสารองรางรถไฟเหาะตรงถนนไดม่อนด์หรือทางฝั่งนั้นของแม่น้ำหลอดส์แม้สักต้นเดียว แต่การยืนกรานกับคำตอบง่ายๆนี้ก็เท่ากับมักง่ายอยู่กับแนวคิดเก่าที่กูสมาทานเพื่อรักษาภาวะวิกลจริตให้อยู่รอดตลอดหลายปีที่โรงเรียนเตรียมทหารมุ่งแหกตากูให้สว่างสร่างเมาจนมองไม่เห็นอนาคต: แนวคิดที่ว่ายิ่งเป็นงานแนวหนีห่างโลกความจริงเท่าใด ก็ยิ่งเป็นงานประพันธ์ที่จริงจังขึ้นเท่านั้น ก็นั่นแล ในเงื่อนไขตามใบสั่งให้หมอบราบคาบแก้วต่อสติปัญญาและศีลธรรมกำลังของผู้บังคับบัญชาเช่นนั้น มีสิ่งรบกวนไม่กี่อย่างที่มีอิทธิฤทธิ์พอจะกระชากกูจากโลกแวดล้อมตัวแล้วยังยวนยั่วให้เห็นอีกโลกอยู่วับแวมแพลมโผล่ได้เท่ากับเรื่องแต่งสกุลเวียร์ด แต่ทว่าเมื่อกูได้มาค้นพบมักซ์สเตอร์เนอร์ กูก็ต้องกลับไปพินิจพิเคราะห์ความหมกมุ่นในวรรณกรรมที่ก่อนหน้านั้นกูเห็นเป็นเพียงเครื่องฆ่าเวลาของผู้ปลีกวิเวก

แนวทางปัจเจกนิยมอันเป็นเอกลักษณ์ของสเตอร์เนอร์กระตุ้นต่อมในอัณฑะของมาร์กซ์จนแกเอาไปวิพากษ์วิจารณ์เสียเรี่ยราดใน อุดมการณ์เยอรมัน [Die deutsche Ideologie] ข้อหาที่ว่า อีโก้กับตัวมันของมัน [Der Einzige und sein Eigentum] ของสเตอร์เนอร์ปฏิเสธสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกสิ่งอันแม้กระทั่งจิตสำนึกชนชั้นกรรมาชีพ สเตอร์เนอร์ป่าวประกาศิตไว้ในงานเขียนเล่มดังกล่าวว่าความศักดิ์สิทธิ์คือศัตรูตัวแรกของปัจเจกที่ต้องกำจัดให้สิ้นซาก ไม่ว่าจะเป็นของพระมหากษัตริย์หรือ ฯพณฯผู้แทนราษฎร ของพระราชบัณฑูรหรือมติเอกฉันท์ในระบอบประชาธิปไตย ของสิทธิอำนาจประทานโดยอาณัติแห่งสวรรค์หรือสิทธิเสรีภาพรับประกันโดยหลักนิติรัฐนิติธรรม ของศาสนาหรืออศาสนา ฯลฯ สำหรับศิษย์สเตอร์เนอร์แล้ว แนวคิดเรื่องกรรมสิทธิ์เป็นอะไรที่ฝ่าฝืนได้พอๆกันกับศีลห้าของพระพุทธศาสนา เห็นได้ไม่ยากว่าไอ้การที่มาร์กซ์ตอกกลับอย่างสาดเสียเทเสียนั้นเข้าทางสเตอร์เนอร์เพียงใด กูอ่านไปกูก็ได้เห็นแง่มุมใหม่ของอุปนิสัยบางอย่างของกูสมัยเป็นคาเด็ท—ที่กูไม่ยอมจำนนแบบไม่ซึ่งหน้า ที่กูเฉยชาต่อลัทธิรักชาติบ้านเมืองไปกราบจ้าวไป ฯลฯ ในสายตาเพื่อนฝูงที่กูถือว่าเป็นพวกชอบจ้องจับผิดกูมาแต่ปางก่อน อุปนิสัยเหล่านี้มันผิดแผกกันชนิดไม่อาจคลี่คลายขยายความเมื่อเทียบกับนิสัยอย่างเด็กหลังห้องทั่วไปที่มักแหกกฎท้าบรรดาผู้บังคับบัญชาแล้วต่อมาก็ตบท้าวก้าวขึ้นสานต่อบทบาทของบรรดาผู้บังคับบัญชาเหล่านั้นโดยอาศัยช่องโหว่ตามจารีตประเพณีวิถีนตท.ที่สืบทอดกันมา

เมื่อตัวกูของกูได้รับการยืนยันอย่างแม่นมั่นถึงปานนั้น ก็ไม่เกินมโนสำนึกที่มนุษย์ผู้หาความชัดเจนไม่ได้เอาเลยอย่างนักอ่านมือสมัครเล่นคนหนึ่งจะรู้สึกว่ามันช่างยั่วยวนให้พรวดออกไป—แบบมีสิทธิ์กู่ไม่กลับ—ตามรอยสเตอร์เนอร์เพื่อค้นหาไม่ก็จัดวางตัวตนทางวรรณกรรมไว้เป็นสารัตถะของการมีชีวิต คุณค่าของผลงานวรรณกรรมจึงมิใช่จะมาตัดสินกันบนฐานของสมรรถนะในอันที่จะพาฝัน—ผู้เข้ารีตกล่าวเสียงแข็ง—หากตัดสินบนฐานของคุณูปการต่อการไล่ผีมารศักดิ์สิทธิ์ถ้วนทั่วทุกตัวตนออกไปทีละเล็กทีละน้อยจากภาวะของความเป็นคน และด้วยเกณฑ์อันนี้ คำถามที่ควรถามมากกว่าจึงเป็นเมื่อไรเล่าที่วรรณกรรมเริ่มปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ของการกบฏไว้ใต้สำนึกจิตและทำเช่นนั้นได้ด้วยกลอุบายใด ถ้าหากเส้นทางพัฒนาการในเรื่องดังว่ามันขุดย้อนดูได้น่ะนะ คำตอบกูคราวนี้ก็คือ คงหลังจากอ่าน สามก๊ก (ฉบับของประชาเรืองวิทย์ พร้อมความเห็นประกอบแบบบูชาจ้าว) จบไปสองไม่ก็สามรอบละมั้ง บวกกับการชักนำโดยสหายเดนนตท.ให้รู้จักกับเจ๊กนักวิจารณ์คนหนึ่งผู้มีนามปากกาว่า “เล่า ชวน หัว”

สามก๊ก ฉบับแรกเขียนขึ้นโดยหลอกว้านจง นักประพันธ์บทละครยุคราชวงศ์หมิง เพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ฮั่นตอนปลายอย่างถึงรสโดยอิงจากที่มีบันทึกไว้โดยเฉินโซ่ว นักประวัติศาสตร์ยุคราชวงศ์จิ้น จวบจนปัจจุบันมหากาพย์จีนชิ้นนี้ยังเป็นขวัญใจผู้อ่านทั่วโลกด้วยชั้นเชิงเหนือกาลเวลาของการอุปโลกน์สุนทรียะขึ้นมาจากความรุนแรงของรัฐและความปราดเปรื่องของเล่ห์เหลี่ยมกลยุทธ์ที่ถือกันว่ายังประยุกต์ใช้ได้อยู่ในการศึกสมัยใหม่ของทหารและนักการเมือง ตัวละครแถวหน้าของนิยายเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจาก จ๊วกฮั่น/จ๊วกก๊ก กากเดนศักดินาฮั่นที่สถาปนาขึ้นโดยเล่าปี่ ช่างสานรองเท้าผู้เป็นญาติห่างๆของพระเจ้าจักรพรรดิเชื้อสายฮั่น ส่วนอีกสองก๊ก โจงุ่ย/งุยก๊ก และซุนโง้ว/โง้วก๊ก ถูกวาดภาพให้เป็นพวกตัวโกงชิงบัลลังก์กับพวกโนบอดี้ไม่มีหัวนอนปลายตีน ตามลำดับ

นิยายเรื่องนี้ผ่านการกลายพันธุ์นับครั้งไม่ถ้วนในสื่อทุกรูปแบบ ทว่าลัทธิเชิดชูบูชาแม่ทัพนายกองของจ๊วกก๊ก ที่ถูกขยายพันธุ์ด้วยความนิยมนิยายอย่างไม่ลืมหูลืมตานั้นมันก็ยังอยู่กันมาได้ถึงทุกวันนี้ทั้งที่จีนและที่ไทย

เพื่อล้มล้างความศักดิ์สิทธิ์ของจ๊วกก๊ก ความศักดิ์สิทธิ์ที่เขามองว่าเป็นพิษภัยที่พวกเจ๊กยึดถือกันเป็นศีลธรรม “เล่า ชวน หัว” ได้เขียน สามก๊ก ฉบับคนเดินดิน ความยาวเก้าเล่มขึ้น อันเป็นฉบับที่ผิดแผกไปจากฉบับภาษาไทยโดยมากตรงที่ว่า แทนที่จะเล่าเรื่องตามลำดับเวลาเริ่มตั้งแต่กบฏโพกผ้าเหลืองไปจนถึงการเถลิงถวัลย์ราชสมบัติของสุมาเอี่ยม ก็กลับตีแผ่แกะแยกชิ้นส่วนพล็อตเรื่องและแรงจูงใจของตัวละครโดยใช้บทบันทึกของเฉินโซ่วเป็นแหล่งอ้างอิงหลัก กล่าวคือ สามก๊ก ฉบับคนเดินดิน เป็นการมุมานะพยายามถีบหัวส่งบรรดาตำนานคืนสู่อดีตไม่ก็กดหัวมันลงเป็นแฟนฟิคชั่นชั้นเลว อันเป็นภารกิจที่สวนทางกับเจตนาบูชาชาติดั้งเดิมของหลอกว้านจงผู้ประพันธ์

เมื่อกะเทาะทิ้งความน้ำเน่าแล้วเอาแก่นเรื่องมาพินิจดู “เล่า ชวน หัว” ก็พบว่ามันมีแต่นิทานหลอกเด็กที่ปราศจากสัจจะแม้เพียงกระผีกริ้น เขาจึงโขกสับตัวละครจ๊วกก๊กอย่างไม่ปรานีผ่านการตีความเหตุกฤดาภินิหารเสียใหม่ให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษความศักดิ์สิทธิ์ที่หนุนส่งจ๊วกก๊กขึ้นแท่นเทวดาจีน ยกตัวอย่างเช่น: วีรกรรมของชาวบ้านนับแสนผู้ไม่ทอดทิ้งเล่าปี่ตอนทิ้งเมืองซิงเอี้ยได้ถูกเปิดโปงว่าจริงๆแล้วถูกใช้เป็นโล่มนุษย์ขัดขวางการไล่ล่าของก๊กโจงุ่ย หรืออย่างวีรกรรมของเจ้าพระยาสงครามขงเบ้งจับอ๋องเบ้งเฮ็กผู้ดื้อดึงเจ็ดครั้งปล่อยตัวเจ็ดครั้งซึ่งประเพณีกล่าวไว้ว่าเป็นอุบายซื้อใจชาวมั่งใต้ อันที่จริงแล้วเป็นการลวงชาวมั่งใต้ให้ออกมาสู้เพื่อสังหารหมู่เจ็ดครั้งเพื่อการกระชับอำนาจเหนือชายแดนใต้ของจ๊วกก๊ก หรืออย่างคำปฏิเสธคืนหัวเมืองเก็งจิวที่โง้วก๊กให้เล่าปี่ยืมปกครองในยามตกยาก กลับกลายเป็นการวางก้ามจนการทูตล้มเหลวซึ่งนำไปสู่การสูญชีวิตนับไม่ถ้วนอันรวมไปถึงชีวิตของกวนกงเองในการปะทะระหว่างสองก๊กที่ถ้าจะเลี่ยงก็เลี่ยงได้ หรืออย่างเรื่องอื่นๆทำนองนี้… ด้วยวิธีการเช่นนี้ ความชอบธรรมของก๊กโจงุ่ยจึงได้รับการกอบกู้กลับคืนมาประมาณหนึ่ง แต่ถึงอย่างไรก๊กนี้ก็ยังถูกสาปประณามอยู่วันยังค่ำ บทสรรเสริญรัฐบุรุษงุ่ยคนสำคัญๆก็ยังถูกตัดออกจากนิยายฉบับที่ตั้งตนเป็นมาตรฐาน การบำเพ็ญกรณียกิจทั้งหลายถูกกลบเกลื่อนไปโดยปมเรื่องยิบย่อยในแนวทางของละคอนงิ้วหรือรายการช่องเอ๊ชบีโอ

กูไม่มีความรู้เกี่ยวกับแนวคิดทางการเมืองของ “เล่า ชวน หัว” นอกจากข้อคิดเห็นในหมายเหตุผู้ประพันธ์ ที่มีใจความว่าเขาเชื่อว่านิยายเรื่องนี้เป็นตัวการของความเสื่อมทรามและล่มสลายของชาวจีนแผ่นดินเก่าด้วยน้ำมือราชวงศ์ชิงชาวแมนจู อันเป็นแนวคิดที่ทำให้นักวิจารณ์บอกว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ “เล่า ชวน หัว” รู้สึกอย่างไรต่อการถูกแปะป้ายเช่นนี้ก็ไม่อาจทราบได้ หากก็พอรู้สึกได้ว่าเขาไม่ได้มีความนับถืออะไรนักดอก กับนักวรรณกรรมสายบริโภคไปศิโรราบไปพันธุ์นั้น

อนิจจา ถึงสมัยที่กูได้อ่าน สามก๊ก ฉบับคนเดินดิน เป็นครั้งแรก กูก็ผ่านวัยที่ถูกเสี้ยมสอนวีรกรรมตำนานของเตี้ยจื้อเล้ง (คนธรรมดาเรียกว่า จูล่ง) เป็นหนังสือที่กระทรวงฯบังคับอ่านในชั้นเรียนภาษาไทยไปเสียแล้ว แหมมันคันปากอยากตอกกลับมี้สอัจฉราให้รู้จักที่ต่ำที่สูงเสียบ้าง

“เล่า ชวน หัว”​ ของมึงเป็นใครกัน? สเตอร์เนอร์ของมึงล่ะ? ด้วยจิตวิญญาณปราศศรัทธานี้กูขอปล่อยให้คำถามกับคำถุยพวกนี้เป็นเรื่องของพวกมึงก็แล้วกัน พวกมึงเหล่าชนหัวรั้นผู้หันมาบั่นคอเทพหรืออย่างน้อยก็ใฝ่ศักดิ์ศรีถึงเพียงนั้น ในระหว่างนี้กูก็รอคอยด้วยใจระทึกพลันถึงคำตอบที่ไม่มีใครตอบ.

ดีโยน ณ มานดารูน