นิทานการเมือง เรื่องไม้อ่อนกับไม้แก่

รางวัลชนะเลิศ โครงการ “เขียนใหม่นายผี” รายการที่ 1

ประเภทผู้มีอายุถึงเกณฑ์ได้สิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา

โดย ศรุต อินทราหยี๋

 

มีปัญหาเดิมที่เกิดขึ้นอีกครั้งในเวลาใหม่ เสียงอึกทึกครึกโครมดังก้อง มาจากการตะลุมบอนของฝูงชนที่แบ่งได้เป็นพวกเด็กและพวกผู้ใหญ่ กำลังฟาดฟันกันเพื่อพิชิตโลก ราวกับว่าเป็นการปะทะกันระหว่างไม้อ่อนและไม้แก่ เพื่อตัดสินว่า ใครกันที่เป็นไม้ที่ดีที่สุด

ฝ่ายเด็กบอกว่าพวกผู้ใหญ่นั่นมีความคิดความอ่านที่คร่ำครึ ก้าวตามไม่ทันกระแสแห่งความเจริญ และเป็นภาระทำให้โลกไปได้ไม่ไกล เพราะมัวแต่งมงายในความเชื่อที่ตนโตมา พวกเด็กต้องการสร้างโลกใหม่ขึ้นมาด้วยเหตุผล

ฝ่ายผู้ใหญ่ก็ตอกกลับไปทันทีว่า สิ่งที่เด็กกำลังทำต่างหากที่จะทำให้โลกเสื่อมสลาย กำลังทำให้สิ่งดีงามที่มีมาแต่ดั้งแต่เดิมต้องแปดเปื้อน

ต่างฝ่ายต่างมัวแต่ตะลุมบอนกัน จนฝุ่นควันคละคลุ้งเกาะตัวหนาทึบอยู่บนอากาศ จนมองแยกไม่ออกว่าใครเป็นเด็ก ใครเป็นผู้ใหญ่ ไม้ใดเป็นไม้อ่อน ไม้ใดเป็นไม้แก่

ในเรื่องของไม้นั้นก็ยากที่จะหาบทสรุป พวกผู้ใหญ่บอกว่าไม้ที่อยู่ตรงหน้าเป็นไม้อ่อน ต้องจับมาดัดเสียให้ได้รูปอย่างที่ควร จึงจะเป็นสิ่งดี ส่วนพวกเด็กก็บอกว่าไม้ที่อยู่ตรงหน้านั้นเป็นไม้แข็งที่ดื้อรั้น ไม่ยืดหยุ่น

เป็นเรื่องน่าฉงนยิ่งนัก ที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างก็กำลังทำสงครามน้ำลายกันในหัวข้อของการประเมินคุณค่า ที่สังเกตได้ว่ามีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ทั้ง ๆ ที่ไม้ที่อยู่ตรงหน้าของทั้งสองฝ่ายนั้น มันเป็นไม้ท่อนเดียวกันแท้ ๆ

การประชันหน้ากันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ดำเนินไปอย่างเปล่าประโยชน์ ต่างฝ่ายต่างทุ่มเถียงในเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมา และตอบกลับด้วยคำตอบเดิม ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า เหมือนกับว่าคุยกันคนละภาษา

สำหรับผู้ใหญ่นั้น ภาษาของพวกเด็กก็เป็นภาษาที่เลวทราม วิบัติบัดซบ เป็นเสียงที่พ่นออกมารวดเร็วเกินจนฟังไม่ได้ความ ที่ฟังได้ความก็ดูไม่เป็นคำ หนำมีส่วนผสมของความเลือดเย็นอันเป็นส่วนผสมของเหตุผล ส่วนสำหรับเด็กแล้ว ภาษาที่ผู้ใหญ่ใช้นั้น่งบอกถึงความดึกดำบรรพ์ เชื่องช้าเพราะมีพิธีรีตอง มีกฎเกณฑ์ยุ่งยาก และแฝงด้วยความประจบประแจง ไม่จริงใจ

ด้วยความที่มีภาษาที่แตกต่างแต่ยังเป็นภาษาเดียวกันอยู่เช่นนี้ มันสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ทั้งรักทั้งเกลียด พวกเด็กเกลียดพวกผู้ใหญ่เข้าเส้นแต่ก็ยังตัดไม่ขาดอย่างสิ้นเชิงกับพวกผู้ใหญ่ เหมือนที่เกลียดภาษาของผู้ใหญ่ แต่ก็ยังต้องอยู่ในโครงสร้างของภาษานั้น ส่วนพวกผู้ใหญ่เองก็อยากสั่งสอนเด็กจนใจจะขาด แต่ก็ทำได้ไม่สุดทางเพราะปลายทางมีแต่ความดันที่จะสูงขึ้น และถ้าความดันขึ้นแล้วก็คงต้องพึ่งกำลังจากพวกเด็กที่ต่ำช้าพวกนี้ เหมือนกับภาษาที่พวกผู้ใหญ่พยายามอนุรักษ์นั้น กำลังเสื่อมถอยลงเพราะพวกเด็ก แต่หากไม่มีเด็กพวกนี้แล้ว ภาษาของพวกผู้ใหญ่ก็คงต้องตายไปอย่างสิ้นเชิงนั่นเอง

ทั้งสองฝ่ายต่างก็มัวแย่งชิงความถูกต้องของภาษา จนละเลยความเอาใจใส่ที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ไม่มีใครมีความอดกลั้นพอที่จะพยายามเรียนรู้ความคิดความอ่านของอีกฝ่าย

เมื่อไม่อาจทำความเข้าใจกันได้แล้ว สงครามน้ำลายนี้ก็คงจะต้องดำเนินต่อไปจนกว่าความตายจะมาพลัดพราก วิสัยทัศน์เองก็จะยังคงถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นควัน หูก็จะยังคงอื้ออึงเพราะความดังของเสียงโหวกเหวกโวยวาย ฟังไม่ได้ศัพท์ถึงขนาดที่มันผสานกันเป็นจนแทบจะกลายเป็นเสียงเห่าหอน สรุปได้ว่า ดวงตาทุกคู่ก็มืดบอด เสียงที่สอดประสานก็ไร้ความหมาย

เพราะต่างฝ่ายต่างยอมรับเพียงแค่ชุดความคิดของตนเอง จนลืมไปว่ามันล้วนแต่เป็นผลิตผลแห่งยุคสมัย และถึงแม้เหตุผลของเด็กอาจจะขับไล่ความเชื่ออันงมงายออกไปได้ แต่ด้วยเงื่อนไขของพื้นที่ซึ่งเหตุผลช่วงชิงมาได้นี้ เหตุผลจึงเป็นความเชื่อเสียเอง เหตุผลจึงกลายเป็นความเชื่อหรือถึงที่สุดแล้วมันก็เป็นความเชื่อมาแต่แรก ในท้ายที่สุดมันก็ไม่ต่างกัน พวกมันต่างก็ถูกจองจำอยู่ในกรงชุดความคิดของตัวเอง เหมือนกับแมงมุมที่ติดอยู่ในใยที่มันถักทอ และรอวันที่จะถูกขับไล่ออกด้วยชุดความคิดใหม่ในโครงสร้างเดิมที่จะเกิดขึ้นตามมา –ในวันที่ผู้ใหญ่จะกลายเป็นเด็กและเด็กจะกลายเป็นผู้ใหญ่

คำถามที่ว่า แล้วทำไมไม้ถึงต้องถูกดัดหรือถึงที่สุดแล้วใครเป็นคนดัดไม้ จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากปัญหาเดิมก็จะเกิดขึ้นอีกครั้งในเวลาใหม่.

 

ศรุต อินทราหยี๋ ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 หลังจากที่ได้อ่านนิทานการเมืองของนายผี หรือ อัสนี พลจันทรแล้วก็เห็นว่านิทานเรื่องนี้ แม้จะถูกเผยแพร่ในปีพ.ศ. 2490 หรือก็คือ 72 ปีผ่านมาแล้ว แต่ก็ยังคงมีความร่วมสมัย จึงเกิดคำถามว่าอะไรที่ทำให้มันยังคงความร่วมสมัยอยู่ ทำไมปัญหาของผู้ใหญ่และเด็กเมื่อ 72 ปีที่แล้ว ถึงยังคงเกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่พวกเด็ก (รุ่นเก่า) ในตอนนั้นหรือก็คือ ผู้ใหญ่ในปัจจุบัน กำลังถูกเด็ก (รุ่นใหม่) ในวันนี้โจมตีในทำนองเดียวกัน ราวกับปัจจุบันเป็นอดีตและอดีตเป็นปัจจุบัน ผมจึงเลือกใช้การเขียนที่มีความคลุมเครือ เป็นได้ทั้งการกลับหัวกลับหางหรือการกลับหางกลับหัว เป็นทั้งการเขียนใหม่และเขียนทับรอยเดิมในเวลาเดียวกัน โดยสวมวิญญาณนกฮูกที่ร่อนร้องไปเหนือทิวไม้สูง ด้วยความหวังว่าข้อเขียนของนายผีหรือกระทั่งข้อเขียนที่ได้เขียนขึ้นใหม่นี้จะทิ้งความร่วมสมัยและกลายเป็นสิ่งล้าสมัยในสักวัน