เมื่อนายผีเขียนอีสานผ่านผัสสะ ในบทกวี “โอ้…อีศาน” และ “อีศานล่ม”

ผลงานผ่านการคัดเลือก โครงการ “เขียนใหม่นายผี” รายการที่ 2

ประเภทร้อยแก้ว

โดย อรวรรณ ฤทธิ์ศรีธร

 

บทกวี โอ้…อีศาน และ อีศานล่ม โดย นายผี ได้ถ่ายทอดความเป็นอีสานซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าทั้งสองมีโครงสร้างที่คล้ายคลึงกันคือ เป็นการเสนอความทุรกันดารของแผ่นดินอีสาน ตลอดจนความทุกข์ใจของเจ้าของถิ่น และปิดท้ายด้วยการปลุกใจให้ชาวอีสานลุกขึ้นมาสู้กับความทุกข์ยากที่ประสบนั้นด้วยตนเอง แน่นอนว่าหากเรามองบทกวี 2 ชิ้นนี้ ด้วยวิธีคิดแบบวรรณกรรมเพื่อชีวิต เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือข้อเขียนที่พยายามถ่ายทอดสภาพชีวิตจริงของชาวอีสานที่แร้นแค้น และมีการปลุกระดมให้ชาวอีสานลุกขึ้นสู้

ในเบื้องต้นนั้น ชัดเจนว่าการบรรยายสภาพแวดล้อมของอีสานมุ่งไปที่ความทุรกันดาร เช่น เมื่อเหลียวมองไปรอบ ๆ กาย พื้นดินอีสานก็แห้งแล้งยิ่งนัก ซ้ำร้ายฝนที่ตกลงมากลับไม่ได้ให้ความชุ่มชื้น เพราะ “ฝนตกก็เป็นตม” และทำให้ “หนาวในหัวใจ” เนื่องจากน้ำท่วมที่นา สภาพแวดล้อมดังกล่าวนำมาซึ่งความทุกข์ใจแสนสาหัส ถึงขนาดกับ “บมีสมัยสุขบาน”

ข้อสังเกตหลังจากการอ่านบทกวีทั้งสองนั้น ผู้วิจารณ์พบว่า โอ้…อีศาน และ อีศานล่ม มีความโดดเด่นเรื่องการเน้นย้ำอารมณ์และความรู้สึกของนายผีที่มีต่ออีสานและการพรรณนาความรู้สึกของชาวอีสาน ผ่านการบรรยายการรับรู้ทางผัสสะ (sense) ซึ่งโดยปกติแล้วผัสสะของมนุษย์มี 5 ประเภท คือ การมองเห็น การได้ยิน การดมกลิ่น การรับรส และการสัมผัส แน่นอนว่า ผัสสะในบทกวีไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างธรรมชาติ หากแต่ถูก “เลือก” ให้ปรากฏในตัวบทโดยตัวนายผีเอง บทวิจารณ์ชิ้นนี้ ผู้วิจารณ์มุ่งเสนอว่า ผัสสะเป็นเครื่องมือในการมองบทกวี โอ้…อีศาน และ อีศานล่ม ในอีกมุมหนึ่ง เพื่อให้เห็นวิธีคิดที่นายผีมีต่ออีสานมากขึ้น

จากการสังเกตพบว่า ภาษาที่ใช้บรรยายความทุกข์ยากของชาวอีสาน ตลอดจนนำเสนอความรู้สึกของนายผี มีการเน้นผัสสะจากการ “เห็นด้วยตา” ว่า “แผ่นดินเป็นฝุ่นแดง” หรือ “แผ่นดินแห้งแดงแล้งตา” และ การ “สัมผัสด้วยผิวหนัง” ต่อไอแดดแรงกล้า เช่น “อันร้อนแล้งด้วยไอลม” หรือ “อาบอายร้อนอยู่รอรา” ซึ่งผู้วิจารณ์เห็นว่า นายผีกำลังนำเสนอประสบการณ์ทางผัสสะเสมือนกำลังได้เข้าไปยืนอยู่บนพื้นดินแห้งแล้ง และรับไอร้อนจาก “ทั่วที่ราบสูงล้วนสุม เพลิงลำเค็ญคุม ก็คือนรกฤๅปาน”

ตามแนวคิดผัสสศึกษาที่เห็นว่า ผัสสะมีลำดับชั้นสูง-ต่ำ โดยผัสสะชั้นสูง (higher senses) ได้แก่ การมองเห็น และการฟัง และผัสสะชั้นต่ำ (lower senses) ได้แก่ การสัมผัส การรับรส และการดมกลิ่น เนื่องจากผัสสะชั้นต่ำเป็นผัสสะขั้นพื้นฐานของมนุษย์หรือเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ในขณะที่ผัสสะชั้นสูงเป็นเรื่องของวัฒนธรรมและสติปัญญา จากข้อเสนอนี้ บทกวี โอ้…อีศาน และ อีศานล่ม ทำให้เห็นว่า ผัสสะทางผิวหนัง (การสัมผัสไอร้อนของแดด) ที่เป็นผัสสะดั้งเดิมของมนุษย์ กลับมีพลังเข้มข้นในการบอกเล่าความทุกข์ยากของชาวอีสานมากกว่าผัสสะทางตา สังเกตได้ว่าการบรรยายว่าชาวอีสานร้อนเหมือนถูกไฟเผา ย่อมแสดงให้เห็นภาพความทุกข์และความทรหดของชาวอีสานมากกว่าการบรรยายการมองเห็นแผ่นดินแห้งแล้ง ดังนั้นบทกวีของนายผีจึงแสดงให้เห็นว่า ผัสสะทางผิวหนังมีศักยภาพในการบอกเล่าความรู้สึกได้อย่างเข้มข้นชัดเจน และ “เสียงดัง” กว่าผัสสะทางตา

นอกจากผัสสะทางกายแล้ว นายผียังเสนออารมณ์เมื่อเกิดประสบการณ์ทางผัสสะ โดยผู้วิจารณ์เรียกว่า “ผัสสารมณ์” (affect) ซึ่งหมายถึง ภาวะที่ร่างกายมีประสบการณ์ทางผัสสะบางประการและเกิดความรู้สึกต่อผัสสะนั้น โดยผัสสารมณ์จากการสัมผัสสภาพแวดล้อมของชาวอีสานนั้น ถูก “เลือก” ให้เป็นด้านลบ ผ่านกลุ่มคำเช่น “ทุกข์ท้น” “ทรมาน” หรือ “จนใจ”

นอกจากนั้นนายผียัง “เลือก” ผัสสารมณ์ที่มีต่อสภาพแวดล้อมอีสานให้แก่ตนเอง นั่นคือ เมื่ออ่านบทกวีแล้วสามารถกล่าวได้ว่า นายผีได้สมมติตนเองให้เป็นเสมือนผู้ไปยืนอยู่ ณ ดินแดนที่ราบสูงอันแห้งแล้ง และถ่ายทอดความร้อนจากไอแดด (ภาวะทางกาย) จึงรู้สึกเวทนา (ภาวะทางใจ) ชาวอีสานที่ต้องอยู่ในสภาพเช่นนี้ เห็นได้ว่าประสบการณ์ทางผัสสะของคนนอกดังเช่นนายผี อาจนำไปสู่การตีความอีสานในเชิงลบ ดังเช่นในบทแรกของ โอ้…อีศาน ที่ว่า “โอ้แสนสงสารอีศาน แผ่นดินแดงดาล ประดาษด้วยเพลิงเผารุม” เห็นได้ว่าข้อความดังที่ยกมานี้ ความ “สงสารอีศาน” เป็นผัสสารมณ์ของนายผีที่ได้เห็นความแห้งแล้งและสัมผัสได้ถึงความร้อนของอากาศ ซึ่งนายผีอุปลักษณ์กับไฟ และหากตีความแล้ว อาจเห็นได้ว่า “ความสงสาร” เป็นการทำให้อีสานตกอยู่ในสถานะของความเป็นผู้ด้อยกว่า เป็นผู้ถูกเห็นใจและรอคอยความช่วยเหลือ หรือการเสนอความเห็นของนายผีที่มีต่อสภาพของชาวอีสานว่า “ทุเรศทุรังอีหลี” ก็ล้วนแต่เป็นผัสสารมณ์ด้านลบ ที่ทำให้ผู้วิจารณ์ฉุกคิดว่า นี่คือการปรุงแต่งผัสสะ ที่ถูกทำให้ “ล้นเกิน” ผ่านการเปรียบความร้อนกับ “ไฟ”  หรือการอธิบายความทุกข์ของชาวอีสานว่า “บมีสมัยสุขบาน” จนเกิดเป็นผัสสารมณ์ด้านลบ เพื่อนำเสนอภาพความทุกข์ของอีสานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

หากมองในเชิงลึก เป็นไปได้ว่า ผัสสะและผัสสารมณ์ในบทกวีต่างก็ถูกทำให้เป็นธรรมชาติของการรับรู้และความรู้สึกของมนุษย์ กล่าวคือ นายผีชี้ให้เห็นว่า เมื่อพบเห็นสภาพแผ่นดินแตกระแหง แสดงว่าคนในพื้นที่นั้น “ต้อง” ทุกข์ใจ นำไปสู่ความทรมาน หรือเมื่อผิวหนังเผชิญแดดแรงกล้า คนที่อยู่ ณ ตรงนั้น “ต้อง” ร้อนเหมือนถูกไฟเผา นำไปสู่การสร้างภาพเชิงลบให้กับอีสาน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือผัสสะด้านลบเหล่านี้กลายเป็นมายาคติของความเป็นอีสาน เพราะในที่สุดแล้ว ผัสสะเหล่านี้อาจเป็นผัสสะในเชิงปัจเจกมากกว่าส่วนรวม และนี่จึงเป็นจินตนาการเชิงผัสสะ (sensory imagination) ของนายผีเอง ดังนั้นจึงนำไปสู่คำถามที่ว่า ความร้อนจากไอแดด เป็นความร้อนจากมุมมองของใคร หรือความทุกข์ที่ปรากฏในเรื่องเป็นความรู้สึกจากมุมมองของใคร และหากมองจากบทกวี โอ้…อีศาน ที่ขึ้นต้นว่า “โอ้แสนสงสารอีศาน” จะเห็นได้ว่าทัศนคติทั้งหมดกลายเป็นของนายผีเอง หาใช่ของชาวอีสานไม่ การเลือกใช้ผัสสะทั้งทางกายและทางใจของนายผีจึงเป็นการเมืองของผัสสะลักษณะหนึ่ง

ข้อสำคัญคือ หากบทกวีนี้เป็นวรรณกรรมที่มุ่งให้ชาวอีสานลุกขึ้นมาต่อสู้กับความยากลำบาก สามารถตีความได้ว่า นายผีสถาปนาตนเป็นเสมือนวีรบุรุษทางความคิดของชาวอีสานในการปลุกให้ชาวอีสานตื่นจากการวางเฉยต่อความยากลำบาก อย่างไรก็ตาม ผู้วิจารณ์ได้ตระหนักว่า แม้นายผีจะเน้นภาพด้านลบของสภาพแวดล้อมของแผ่นดินอีสานและชี้ให้เห็นความตรอมตรมของชาวอีสานเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อมองอีกมุมแล้ว ผู้วิจารณ์ได้เห็นแง่มุมที่งดงามของชาวอีสานที่ถูกซ่อนอยู่ในบทกวีอย่างน่าสนใจ

จากที่กล่าวไปว่า บทกวีของนายผีอาจเสนอภาพให้ชาวอีสานดูน่า “สงสาร” จากสภาพแวดล้อมที่ยากลำเค็ญและดูเหมือนเป็นผู้ด้อยกว่าทางความคิด ที่ต้องมีผู้มาชี้ทางสู่ชีวิตที่ดีกว่า ถึงกระนั้นก็ตาม เราสามารถตีความอีกมิติหนึ่งผ่านแง่มุมทางผัสสะได้ว่า แท้จริงแล้วนายผีก็ตระหนักว่าชาวอีสานมีความแข็งแกร่งทั้งทางกายและทางใจ สังเกตได้จากการอดทนต่อสภาพแวดล้อมที่นายผีแสดงทัศนะว่า “ทุเรศทุรังอีหลี”  หรือการอุปลักษณ์ว่า “สองมือเฮาคือหินผา” การเปรียบมือของชาวอีสานกับหิน เป็นการเชื่อมโยงร่างกายกับความแข็งแกร่ง และสภาพทางจิตใจที่พร้อมสู้ ดังที่ว่า “คือว่าลำโขงไหลงแรง ใครขวางทางแทง ทะลุทะลักฤๅทาน” คำว่า “ลำโขง” ในที่นี้ สามารถตีความว่าเป็นพลังของชาวอีสานที่สามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน การเปรียบพลังของชาวอีสานเป็นแม่น้ำโขง จึงแสดงให้เห็นศักยภาพอันยิ่งใหญ่

เมื่อพิจารณาข้อเสนอที่ว่าบทกวีของนายผีปลุกชาวอีสานให้ตื่นจากการหลับใหล การหลับใหลในสภาวะ “ลำบากยากไร้เหลือประมาณ” ได้ จึงนับเป็นการแสดงให้เห็นความแข็งแกร่งของชาวอีสานอีกทางหนึ่ง ดังนั้นการที่นายผีชี้ทางให้ชาวอีสานลุกขึ้นมาต่อสู้จึงเป็นการตระหนักในส่วนลึกว่าชาวอีสานมี “มหานุภาพพึงแสดง” พอที่ “จะปลดจากจำจอง” ผ่านการถ่ายทอดความทุกข์ทรมานทั้งทางกายและใจของชาวอีสาน

หาก โอ้…อีศาน และ อีศานล่ม เป็นบทกวีที่แสดงให้เห็นทัศนคติของนายผีที่มีต่ออีสาน บทวิจารณ์เรื่องนี้ก็ได้ชี้ให้เห็นนาฏกรรมทางผัสสะที่เน้นการเสนอความรู้สึกอย่างแรงกล้าของนายผีเพื่อบอกว่าชาวอีสาน “ทุกข์ทรมาน” เพียงใดและยัง “แข็งแกร่ง” เพียงใดด้วยเช่นเดียวกัน ผัสสะดังกล่าวจึงเป็น “ผลผลิตทางภาษาและวรรณศิลป์” และเปิดพื้นที่ให้กับการอธิบายความเป็นอีสาน

หากผัสสะเป็น “ประสบการณ์ทางกายและเป็นสื่อกลางให้มนุษย์รับรู้ถึงตัวตนและโลก” ตามที่คลาสเซน (Classen) ได้เสนอไว้ ผัสสะที่ถูกเลือกโดยนายผีก็เป็นพื้นฐานของประสบการณ์การเผชิญหน้ากับสภาพแวดล้อมของอีสาน และเป็นสื่อกลางให้ผู้อ่านรับรู้ความรู้สึกที่ปรากฏในเนื้อหา และที่สำคัญคือการทำให้เห็นความทรหดอดทนต่อสภาพแวดล้อมของชาวอีสาน และทำให้นายผีเห็นความเป็นไปได้ที่ชาวอีสานจะ “ต่อสู้” เพื่อชีวิตที่ดีกว่าจากความแข็งแกร่งทางจิตใจดังกล่าว

เฮิร์ซเฟลด์ (Herzfeld) ได้กล่าวไว้ว่า “ผัสสะเป็นเวทีแสดงอำนาจกระทำการ” (arenas of agency) ดังนั้น บทกวี โอ้…อีศาน และ อีศานล่ม จึงไม่ได้เป็นเพียงวรรณกรรมที่ชี้ให้เห็นความทุกข์ทรมานของชาวอีสานเท่านั้น ในทางกลับกันยังเป็นการเขียนอีสานของนายผี ผ่านประสบการณ์ทางผัสสะ ซึ่งเป็น “อำนาจ” ของวรรณกรรมในการ “กระทำการ” ให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางกายและใจของชาวอีสานในเวลาเดียวกัน และนี่ก็คือความงดงามซึ่งผู้วิจารณ์ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้น เป็นความงดงามภายใต้ความโหดร้ายของสภาพทางธรรมชาติที่ได้ซ่อนเร้นพลังใจและพลังกายอันแรงกล้าของชาวอีสาน

 

อรวรรณ ฤทธิ์ศรีธร จบปริญญา ตรี – โท (ภาษาไทย) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปริญญาเอก (ภาษาไทย) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอิสระ ผลิตผลงานวิชาการและงานวิจารณ์ เพื่อนำวรรณกรรมที่น่าสนใจออกสู่เวทีสาธารณะทางวิชาการ