รางวัลชนะเลิศ โครงการ “เขียนใหม่นายผี” รายการที่ 3
ประเภทบทความ หัวข้อ “การปฏิวัติที่ห่าม 2019 edition”
โดย สายธาร
“ชิงสุกก่อนห่าม” คำจำกัดความสั้นๆ ที่ขึ้นมาในหัวของคนไทยทันทีที่พูดถึงการปฏิวัติ 24 มิถุนา 2475 เราปฏิเสธไม่ได้ว่าประโยคนี้ทรงพลัง ติดหู และประทับในความทรงจำของสังคม ขนาดที่ต่อให้คุณเป็นคนที่สนับสนุนการปฏิวัติดังกล่าว คุณก็ไม่อาจหนีประโยคนี้ได้พ้น เพราะคนที่ให้ความหมายของความดิบ ความสุก และความห่ามของการปฏิวัตินั้นคือสังคม ฉะนั้นจึงไม่มีใครสามารถหนีมันไปได้
โดยทั่วไป 2475 นั้นเป็นที่ถกเถียงกันทั้งในวงสังคม และวงวิชาการ โดยลึกๆ มันอาจไม่ใช่แม้แต่การปฏิวัติด้วยซ้ำ เพราะมันขาดตัวแสดงที่เรียกว่าประชาชน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญต่อการปฏิวัติในทุกๆ ที่ การปฏิวัติ 2475 จึงมิใช่การปฏิวัติที่แมสที่เป็นไปโดยประชาชน มันเป็นปฏิวัติที่นาโดยกองทัพ ข้าราชการ และนักเรียนนอก จนมันเหมือนการรัฐประหารมากกว่า
กลับกันการปฏิวัติที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้นมีที่ทางให้ตัวแสดงที่เรียกว่าประชาชนอยู่ไม่มากก็น้อย การปฏิวัติอย่างที่อเมริกาก็ถูกสนับสนุนโดยเหล่ามวลชนผู้เสียภาษี แต่ไม่มีผู้แทน ที่ฝรั่งเศสเมื่อปี 1789 ก็มีตัวแสดงเป็นมวลชนชาวปารีสผู้เกรี้ยวกราด ที่รัสเซียก็มีประชาชนชาวเปโตรกราด และหัวเมืองใหญ่ ขณะเดียวกันที่จีนก็มีมวลชนคอมมิวนิสต์ การขาดตัวแสดงภาคประชาชนที่ชัดเจนของการปฏิวัติ 2475 จึงกลายเป็นเป้าโจมตีของวาทกรรม “ชิงสุกก่อนห่าม” ได้ง่าย แม้ต่อมาจะมีนักวิชาการจำนวนมากค้นหาหลักฐานว่าจริงๆ ก่อนการปฏิวัติ 2475 มีความไม่พอใจของมวลชนอยู่ก่อนแล้วก็ตาม
กระนั้นภาพความไม่พอใจเหล่านั้นก็ไม่ชัดเจนพอที่จะแทรกเข้าไปอยู่ในความทรงจำของสังคมได้ เพราะถึงอย่างไรการถูกจดจำนั้นไม่ใช่ถูกจำจากเจตนารมณ์ แต่เป็นเปลือกที่ถูกแสดงออกมา 2475 จึงกลายเป็นการชิงสุกก่อนห่าม และเป็นแค่ทางผ่าน ไม่ใช่การปฏิวัติครั้งสุดท้ายของประชาชนอย่างที่คนเคยเชื่อกันไว้ แต่การปฏิวัติครั้งสุดท้ายนั้นคืออะไรกันล่ะ
สิ่งที่เรียกว่าการปฏิวัติครั้งสุดท้ายนี้ ต่อยอดมาจากทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ์ ซึ่งมาร์กซ์ก็หยิบเอาทฤษฎีนี้มาจากปรัชญาที่แปลเป็นภาษาไทยแล้วอ่านไม่เข้าใจที่เรียกกันว่าวิภาษวิธีของเฮเกล โดยแปลงมิติที่ดูหลุดลอย เพ้อพกเหมือนคนสติไม่สมประกอบให้กลายเป็นมิติที่จับต้องได้ ดูเป็นวิทยาศาสตร์ (ในสมัยนั้น) เราจึงได้ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งขั้นสุดท้ายของมันคือการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ อันเป็นสังคมที่ปลอดจากกรรมสิทธิ์ และความไม่เสมอภาค
ทฤษฎีนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักปฏิวัติทั่วโลก จากการที่ปัญญาชนจำนวนมากรวมถึงมาร์กซ์ พากันทำนายว่าสุดท้ายการกดขี่ของระบอบทุนนิยมจะนำมาสู่การลุกขึ้นต่อต้านโดยกรรมชีพ เกิดเป็นการปฏิวัติแบบพลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน ทว่าในโลกจริงผลกลับไม่เป็นเช่นนั้น จากเหตุว่าประเทศที่เกิดการปฏิวัติโดยชนชั้นกรรมชีพ นั้นไม่เป็นกระทั่งสังคมอุตสาหกรรมเสียด้วยซ้ำ และยังไม่อยู่ในภาวะที่เรียกว่าทุนนิยมสุกงอมอีกต่างหาก แค่นี้ก็เป็นการข้ามหน้าข้ามตาทฤษฎีขนานใหญ่ จนพวกบอลเชวิคต้องพยายามสร้างระบบทุนนิยมเทียมเพื่อให้สามารถเข้าสู่ขั้นต่อไปของการปฏิวัติได้ แล้วพอเข้าไปสู่ขั้นต่อไปก็ยังมีปัญหาตามมาอีกเป็นขบวน ทั้งปัญหาทางวัฒนธรรมที่เกิดกรณีช็อคน้ำเพราะคนไม่ชินวัฒนธรรมใหม่ที่การปฏิวัตินำมาด้วย หรือปัญหาที่มาจากการแปลงทฤษฎีอย่างปัญหาพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งตามทฤษฎีเป็นคนที่คุมระยะเปลี่ยนผ่านสู่สังคมขั้นสุดท้าย นั้นกลับทำตัวไม่ต่างจากนายทุนที่กดขี่กรรมชีพแต่เดิมเลย การปฏิวัติคอมมิวนิสต์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้นจึงอาจไม่ใช่การปฏิวัติครั้งสุดท้าย มันเป็นแค่ทางผ่านเหมือนการปฏิวัติ 2475
แต่ถึงอย่างนั้นแม้การปฏิวัติคอมมิวนิสต์จะมิใช่การปฏิวัติครั้งสุดท้ายที่พาสังคมไปสู่ความเท่าเทียม แต่มันก็ยังเป็นการปฏิวัติแน่ๆ ไม่เหมือนการปฏิวัติ 2475 ซึ่งคลุมเครือไม่ต่างอะไรกับรัฐประหารอีกนับสิบครั้งที่ตามมาตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่ 2475 นั้นเราสามารถพูดได้ว่าต่างจากการรัฐประหารหลังจากนั้น เพราะจิตวิญญาณหรือเจตจำนงที่คนทั่วไปมิอาจจดจำได้นั้นมันคือ การต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ไม่ต่างจากการปฏิวัติรุ่นพี่อย่างการปฏิวัติอเมริกา ฝรั่งเศส จีนในปี 1911 และรัสเซียในปี 1917 รวมไปถึงรุ่นน้องอีกจำนวนมหาศาลซึ่งรวมไปถึงกรณี 14 ตุลา 2516 ด้วย จิตวิญญาณของการปฏิวัติเพื่อความเท่าเทียมของมันยังมีอยู่ และมันประทับตราลงไปในประวัติศาสตร์ถ้าหากเราลองตั้งใจมองดูเสียหน่อย
สิ่งที่สำคัญที่การปฏิวัติ 2475 พยายามทำคือ การปฏิวัติมนุษย์ ปฏิวัติวัฒนธรรมความเคยชินซึ่งการปฏิวัติทุกที่ต้องทำ ร่องรอยของมันปรากฏตามสถาปัตยกรรม ศิลปะ บทเพลงที่เกิดในสมัยนั้น แต่ความล้มเหลวของมันคือการที่มันไม่สามารถเป็นที่จดจำได้ นี้ต่างจากการรัฐประหารในครั้งต่อมาไม่ว่าจะการรัฐประหาร 2490 การรัฐประหาร 2500 การรัฐประหาร 2549 และการรัฐประหาร 2557 การรัฐประหารทั้งหมดไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมในภาพใหญ่ขนาด 2475 แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงกติกาก็จริง แต่การเปลี่ยนกติกานั้นก็ไม่ได้ขยายหรือเปลี่ยนกลุ่มผู้ถือครองอำนาจแบบการปฏิวัติ 2475 อำนาจนั้นก็กระจุกลงที่เดิมอยู่ดี นี้แหละเหตุผลว่าทำไมการปฏิวัติ 2475 จึงกลายเป็นการปฏิวัติ ไม่เหมือนการรัฐประหารหลังจากนั้นทั้งที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวิธีการของมัน หรือการรัฐประหารที่เป็นมรดกจากสิ่งที่มันได้สร้างเอาไว้
ทว่าแม้การปฏิวัติ 2475 จะเป็นการปฏิวัติจริงด้วยเจตจำนงของผู้ก่อการนั้นคงจิตวิญญาณของการปฏิวัติแบบเดียวกับที่การปฏิวัติทั่วโลกกระทำจริง แต่ข้อถกเถียงเรื่องชิงสุกก่อนห่ามนั้นก็ยังไม่จบ ทว่าอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นไม่มีการปฏิวัติครั้งไหนเป็นการปฏิวัติครั้งสุดท้าย และก็ไม่มีการปฏิวัติครั้งไหนเป็นการปฏิวัติที่สุก หรือห่ามทั้งหมด เป็นการให้ความหมายของสังคมเท่านั้น แม้แต่การปฏิวัติ 2475 ในบทความนี้ก็ยังเป็นการให้ความหมาย 2475 ในรูปแบบหนึ่ง
ในเมื่อไม่มีการปฏิวัติไหนเป็นครั้งสุดท้าย และไม่มีการปฏิวัติที่สุกหรือห่าม สิ่งที่เราพอทำได้ก็มีเพียง “การปฏิวัติ” ไปเรื่อยๆ ฟังดูแล้วน่าขบขัน เพราะในเมื่อต้องทำการปฏิวัติไปเรื่อยๆ แบบนั้น การรัฐประหารของไทยที่ลอกวิธีการมาจากการปฏิวัติ 2475 ทั้งยังรักษาโครงสร้างของสิ่งที่การปฏิวัติ 2475 ก็คงเป็นการทำการปฏิวัติไปเรื่อยๆ กระมัง ความคิดเช่นนี้ไม่ผิดเพราะการรัฐประหารนั้นก็เป็นการกระชับโครงสร้างที่ตัวการปฏิวัติ 2475 เคยสร้างไว้ให้กระชั้นขึ้น ทุกครั้งที่เกิดการรัฐประหารโครงสร้างทางสังคมที่ถูกสร้างมาแต่ตอน 2475 ก็เข้มแข็งขึ้น ทว่าในอีกด้านการรัฐประหารแม้จะทำให้โครงสร้างที่หลายครั้งเหมือนจะเป็นปัญหาในสังคมไทยปัจจุบันกระชั้นขึ้นก็จริง แต่มันก็สร้างความหมายใหม่ๆ ให้แก่การปฏิวัติ 2475 โดยหากนับแต่การรัฐประหาร 2534 การปฏิวัติ 2475 ได้ถูกบ่มให้สุกขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มจากปัญญาชน และนักวิชาการก่อนที่จะขยายกลุ่มกลายเป็นมวลชนขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อเกิดการรัฐประหารครั้งต่อมาเมื่อปี 2549 และ 2557 การปฏิวัติ 2475 จึงถูกจับแยกจากการรัฐประหารทั่วๆ ไปแล้วกลายเป็นการปฏิวัติที่สุก เป็นการปฏิวัติของประชาชน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นยังเป็นการปฏิวัติที่แม้แต่ฝ่ายซ้ายก็ยังเรียกมันว่าห่าม
การสุกของการปฏิวัติ 2475 นี้เอง คือสัญญาณว่าการรัฐประหารไม่ได้แค่กระชับอำนาจของกลุ่มชนชั้นปกครอง แต่มันได้ดึงเอาส่วนที่ถูกละเลยมาตลอดของการปฏิวัติ 2475 ออกมา นั้นก็คือ ส่วนที่สำคัญที่สุดที่เรียกว่า ประชาชน การรัฐประหารที่แม้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุจนเป็นสิ่งที่มิควรกระทำ จึงเป็นต้นเหตุให้ประชาชนที่อยู่ในการปฏิวัติ 2475 จำนวนมากได้ปรากฏตัวขึ้นมา ไม่ว่าจะทั้งก่อนและหลังวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยมีทั้งปัญญาชน นักคิด นักเขียนอาทิ ศรีบูรพา มาลัย ชูพินิจ และนายผี หรืออัศนี พลจันทร รวมถึงประชาชนจำนวนมากที่แสดงความไม่พอใจแก่ระบอบเก่า พร้อมปกป้องการปฏิวัติ 2475 ใน ช่วงหนึ่งปีหลังจากนั้น การรัฐประหารเพื่อระบอบเก่าจึงฆ่าตัวเองทางอ้อมด้วยการปลุกหัวใจของการปฏิวัติที่เรียกว่าประชาชนออกมา นั้นแหละคือ การปฏิวัติไปเรื่อยๆ หัวใจของมันคือการปลุกจิตวิญญาณของการปฏิวัติออกมา แม้ว่าหัวใจนั้นจะทำลายสิ่งที่การปฏิวัติได้สร้างไว้ก็ตาม
ณ ปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญกับมรดกของการรัฐประหาร 2557 อยู่นี้ เรามิอาจจะประเมินได้ว่ามันสุกหรือห่าม เพราะแม้แต่การสุกของการปฏิวัติ 2475 ในความรู้สึกของมวลชนนั้นยังกินเวลากว่าครึ่งศตวรรษ เวลาแค่ 5 ปีเราจึงไม่อาจระบุบได้ว่ารัฐประหาร 2557 นั้นเป็นเช่นไร แต่ที่แน่ๆ มันกำลังพาเราไปสู่จุดที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน และพิสูจน์ว่าทฤษฎีที่เหล่าฝ่ายซ้ายอกหักเคยเชื่อนั้นไม่ผิดเสียทีเดียว เพราะการรัฐประหารได้สร้างศัตรูที่เรียกว่าประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ การปรากฏตัวของประชาชนในการปฏิวัติ 2475 นั้นแหละคือหลักฐานของการตื่นขึ้นของประชาชนต่อระบอบที่พวกเขาไม่พึงพอใจ และนี้เองคือหน่ออ่อนของการปฏิวัติครั้งสุดท้ายที่เหล่าฝ่ายซ้ายสมัยก่อนต้องการ
ทว่าในปัจจุบันที่ไม่มีใครอยากจะจับปืนสู้ หรือใช้กำลังเพื่อตัดสินอนาคตของตัวเอง ทั้งยังไม่มีใครอยากเอาชีวิตไปทิ้งให้กับอะไรที่ไม่รู้ว่าผลจะเป็นเช่นไร หน่ออ่อนเหล่านั้นเลยต้องเลือกที่จะไปแฝงตัวในโลกออนไลน์แทน การปฏิวัติครั้งสุดท้ายในโลกจริงจึงช่างอยู่ไกลเสียเหลือเกิน แต่การปฏิวัติบนโลกออนไลน์ดูจะใกล้แค่เอื้อม อย่างไรก็ตามการสุกของการปฏิวัติ 2475 นี้เอง คือสิ่งที่บอกว่าการปฏิวัตินั้นไม่ได้นิ่งอย่างที่เข้าใจ เพราะแม้แต่การปฏิวัติที่เคยห่ามก็เป็นการปฏิวัติที่สุกได้ เช่นกันการปฏิวัติที่สุกก็อาจจะเป็นการปฏิวัติที่ห่ามได้ในอนาคต ไม่แน่สักวันการปฏิวัติ 2475 อาจกลายเป็นการปฏิวัติครั้งสุดท้าย หรืออาจเป็นแรงบันดาลใจสู่การปฏิวัตินั้นก็เป็นได้ กระนั้นการปฏิวัติครั้งสุดท้ายหน้าตาจะเป็นเช่นไร จะเป็นซ้ายหรือเป็นขวา อะไรกันแน่ที่ถูกลิขิตเอาไว้ไม่มีใครรู้ สิ่งที่คนผู้กระหายอยากรู้สิ่งที่ถูกลิขิตไว้ทำได้จึงมีเพียงแต่การปฏิวัติต่อไปเรื่อยๆ เผื่อสักวันการปฏิวัติครั้งสุดท้ายจะปรากฏตัว
“สายธาร” ชอบเหม่อลอย และหวังว่าสักวันจะหาที่