เมื่อ February อาจไม่ได้แปลว่า กุมภาพันธ์

วันมาฆบูชานี้ ได้ไปเข้าวัดทำบุญที่ไหนกันมาบ้างหรือเปล่าคะท่านผู้อ่าน?

เราไม่ได้ไปไหนเลย ตอนแรกไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นวันหยุด (แฮร่) พอเตรียมตัวจะออกไปติดต่อราชการถึงได้เอ๊ะใจ นี่เจ็ดโมงครึ่งรถควรจะติดนะ แต่ทำไมถนนมันว่างจัง

ความคิดจึงได้ผุดขึ้นมาว่า วันนี้มันวันมาฆบูชานี่หว่า แล้วความรู้สึกก็เอ่อท้นขึ้นตามมาว่า นี่เราห่างเหินจากพระศาสนามาได้ถึงเพียงนี้? ไม่มีอีกแล้วหลักธรรมคำสอนอันน่าเลื่อมใส ไม่มีแล้วมาฆประทีปสว่างไสวในใจสาธุชนเรือนหมื่นที่นัดหมายมาประชุมพร้อมกัน ไม่มีแล้วดวงจันทร์สุกสกาวนุ่งขาวห่มขาวหาวหวอดๆ พนมมือฟังบทสวดที่ท่องตามได้ตลอดตั้งแต่สัพพีติโยไปจนสัพพะสังฆานุภาเวนะสะทาโสตถี…ภะวันตุเต (สา…ธุ)

ความหมายของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 คล้ายเหลือแต่ความทรงจำเก่าก่อน ไม่น่าจะมีวันได้โคจรมาอยู่บนหน้าปฏิทินชีวิตสาธารณ์ที่มีแต่ งาน งาน งาน ของเราอีกต่อไป

แต่ก็มาตระหนักได้ว่าพระศาสนาและความศักดิ์สิทธิ์อาจยังอยู่ล้อมรอบตัวเรา


“ตาลปา” เราแปล (2018)
«Talpa» (1953)
ฆวาน รูลโฟ

เฮาฮ้องเพงสรรเสริญคุณพระเจ้าญามญ่างเข้าตาลปา

เฮาออกเดินทางช่วงกางเดือนกุมภา มาฮอดตาลปาปายเดือนมีนา ญามที่หลายๆ คนออกเดินทางคืนเมือกันแล้ว กะญ้อนตานีโลหั้นละที่ตกลงปงใจทรมานเจ้าของเพื่อไถ่บาป มันจั่งซ้า พอแต่เห็นซุมผู้เอาใบตะบองเพชรค้องคอคือสร้อยพระอยู่อ้อมข้างอ้อมแอว เพิ่นกะเฮ็ดนำเขา

Entramos a Talpa cantando el Alabado.

Habíamos salido a mediados de febrero y llegamos a Talpa en los últimos días de marzo, cuando ya mucha gente venía de regreso. Todo se debió a que Tanilo se puso a hacer penitencia. En cuanto se vio rodeado de hombres que llevaban pencas de nopal colgadas como escapulario, él también pensó en llevar las suyas.


“เดือนสาม” แบ๊งทักตอนเรานั่งขัดเกลาสำนวนแปลเรื่องสั้นรักสามเส้าเคล้าการเดินไปบูชาสักการะพระนางมารีพรหมจารีในชนบทเม็กซิโก

“ห๊ะ?”

“โตสิใซ้ เดือนกุมภา ติ? ภาษาบ้านเฮาแต่ก่อนบ่ได้ว่าจั่งซั้นเด๊ะล่ะ” บรรณาธิการคำลาวอธิบาย

เราบอกกับแบ๊งไว้แต่ต้นว่า เราอยากให้สำนวนแปลมันย้อนยุคหน่อย ประมาณคนรุ่นทวดสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง คำเก่าๆ ที่คนรุ่นเราไม่ค่อยรู้จักแล้วแต่หมอลำอย่างแบ๊งยังรู้จักก็อยากใช้ เพราะว่าตัวภาษาและท้องเรื่องของรูลโฟมันก็ย้อนยุคและก็เป็นกวี

แต่เราไม่ทันได้คิดเลยว่า แค่ใช้ชื่อเดือนมกราถึงธันวา มันก็ไม่ใช่ภาษาแบบคนรุ่นเก่าแล้ว ชาวบ้านรุ่นทวดเราต้องนับเดือนแบบจันทรคติสิ—คิดดู ขนาดคำว่า “เดือน” ยังหมายถึง “ดวงจันทร์” เลย

“แต่มันเป็นศาสนาคริสต์เด คันแปเป็นพุทธมันสิคืออยู่เบาะ?” เราเถียง

เรากวาดสายตาอ่านเรื่อง “ตาลปา” อีกครั้ง ซึ่งรูปเคารพพระนางมารีย์พรหมจารีที่ว่านี้มีอยู่จริง ตั้งอยู่ที่เมือง Talpa de Allende เป็นที่นิยมติดอันดับหนึ่งในสามของมลรัฐฆาลิสโก ประเทศเม็กซิโก

เพิ่นจึงอยากไปหาพระพรหมจารีแห่งตาลปา เพื่อที่ว่าดวงเนตรของพระแม่สิได้ปัวแผเน่าเปื่อยของเพิ่น […] ว่าแต่ไปถึง ส่ำได้อยู่ต่อหน้าพระแม่ โรคภัยเพิ่นกะสิส่วงเซาหายเสี้ยงบ่มีหญังเจ็บอีก ที่เคยเจ็บเคยปวดกะสิบ่คืนมาอีก นั่นละที่เพิ่นคึด

Para eso quería ir a ver a la Virgen de Talpa; para que Ella con su mirada le curara sus llagas. […] Ya allí, frente a Ella, se acabarían sus males; nada le dolería ni le volvería a doler más. Eso pensaba él.

ข้อเสนอของแบ๊งก็ฟังดูสอดรับกับเนื้อหาในตัวบทดี นั่นคือเป็นโลกที่คนยึดถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์หวังจะหลุดพ้นจากความทุกข์ โลกที่คนเดินเท้าจาริกไปไกลแสนไกล เพื่อไปอยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระนางที่ใช่เพียงพระอิฐพระปูน หากมีตาวิเศษรักษาโรคร้ายให้หายเป็นปลิดทิ้งได้

ถ้าแปล “febrero” เป็น “เดือนสาม” อาจช่วยให้ผู้อ่านหลายคนรู้สึก “อิน” กับบรรยากาศ รู้สึกว่ามัน “คือ” มากขึ้น ประหวัดไปได้ถึงบูราณกาลก่อนที่ชาวบ้านผู้มีศรัทธาเดินทางด้วยเท้านานนับสัปดาห์เพื่อไปสักการะกระดูกหน้าอกของสิทธัตถะโคตมะ ณ พระธาตุพนม

…เฮาญ่างนำทางหลวงเส้นตาลปา ท่ามกางขบวนจาริกแสวงบุญ ผู้ใดกะขวนขวายอยากไปฮอดพระพรหมจารีเป็นผู้แฮกหมานก่อนพลังปาฏิหาริย์สิเหมิด

…íbamos por el camino real de Talpa, entre la procesión; queriendo llegar los primeros hasta la Virgen, antes que se le acabaran los milagros.

ดูสิ มีการแข่งกันไปขอพรจากรูปปั้นพระแม่มารีย์ก่อนปาฏิหาริย์จะหมดด้วย อ่านแล้วนึกถึงพญานาคฟีเว่อร์เลย ที่คนพากันดั้นด้นไปขอหวยกับรูปปั้นพญานาคตามแลนมาร์คตั่งต่าง เราพลันเกิดความคิดอีกอย่าง

“เอ้อ แต่มันกะศาสนาผีคือกันเนาะ”

นอกจากจะฟังดูเป็นธรรมชาติมากกว่าแล้ว การใช้เดือนตามดวงจันทร์ยังน่าจะเพิ่มความ “คือ” ให้กับบรรยากาศของความเชื่อในเรื่อง “ตาลปา” ด้วย ดึงศาสนาผี(เคลือบแคทอลิก)ในเม็กซิโกให้เหลื่อมซ้อนกับศาสนาผี(เคลือบเถรวาท)ของชุมชนลุ่มน้ำโขงได้


มายาของความเป็นธรรมชาติในการแปล
Exploring Translation Theories
Anthony Pym

การจะดูว่าคำที่สมมูลเป็นเช่นนั้นโดยธรรมชาติหรือเป็นได้ทิศทางเดียว วิธีที่ง่ายที่สุดคือให้แปลกลับ ซึ่งหมายถึงให้ถ่ายสำนวนที่แปลมากลับไปสู่ภาษาตั้งต้น แล้วนำสำนวนทั้งสองในภาษาตั้งต้นมาเปรียบเทียบกัน เมื่อใดที่สมมูลภาพแบบธรรมชาติเด่นกว่า คุณก็จะสามารถแปล Friday เป็น วันศุกร์ แล้วแปลกลับเป็น Friday ได้ ก็ไม่สำคัญว่าศัพท์คำไหนเป็นคำตั้งต้น คำไหนเป็นคำที่แปลมา นี่เป็นเพราะว่ามีความพ้องต้องกันอยู่แล้วทางใดทางหนึ่งก่อนการลงมือแปล กล่าวให้เข้าประเด็นก็คือ การถ่ายโอนการนับสัปดาห์แบบยูดาย-คริสต์เกิดขึ้นหลายสหัสวรรษก่อนหน้าการลงมือแปลของเรา ทิศทางการถ่ายโอนแต่ดั้งเดิมก็เลยคลี่คลายกลายเป็นเรื่องที่ดูเป็นธรรมชาติไป ความเป็นธรรมชาติอันนั้นเป็นมายาภาพแน่ๆ (มองในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว คำที่สมมูลกันทั้งหลายในโลกก็น่าจะเป็นผลมาจากการใช้กำลังและอำนาจมากพอๆ กับที่คิดกันในบริบทของศัพท์ทางเทคนิคที่มีคู่คำหนึ่งต่อหนึ่ง)

To see whether an equivalent is natural or directional, the simplest test is back-translation. This means taking the translation and rendering it back into the start language, then comparing the two start-language versions. When natural equivalence prevails, you can go from Friday to viernes then back to Friday, and it makes no difference which term is the start and which is the translation. This is because the correspondence existed in some way prior to the act of translation. More to the point, the transfer of the Judeo-Christian seven-day week occurred several millennia before our act of translation, so the original directionality has now come to appear natural. That naturalness is certainly an illusion (in historical terms, all equivalents are probably the result of as much force and authority as is assumed in Kade’s one-to-one technical terms).


ถ้าคิดให้ถึงที่สุด ความเป็นธรรมชาติของปฏิทินแบบจันทรคติก็เป็นมายาภาพ ไม่ใช่ว่าชาวบ้านที่ไหนไม่รู้นั่งคิดค้นงานบุญประจำเดือนจากหนึ่งถึงสิบสองขึ้นมาอย่างเป็นตุเป็นตะ จัดสรรผลประโยชน์กันอย่างลงตัวระหว่างพุทธกับผี–เดือนนี้บุญพระเวส เดือนนั้นบุญข้าวประดับดินบูชาผี เสร็จแล้วส่งต่อปฏิทินไปเป็นทอดๆ จนกลายเป็นประเพณี  “ฮีตสิบสอง” มาตรฐานสากลลาวและอีสานได้หน้าตาเฉย มันเกิดขึ้นมาอย่างนั้นได้ด้วยหรือ?

เราอาจพอเทียบได้ว่า ทั้งพุทธเถรวาทราชสำนักในไทยและในลาวและคริสตจักรแคทอลิกในเม็กซิโก ทั้งปฏิทินแบบจันทรคติและแบบสุริยคติ ต่างก็เป็นผลของการใช้กำลังอำนาจเข้าไปเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมพื้นถิ่น ให้หันมาใช้ระบบสัญลักษณ์ที่ผู้เผยแผ่สามารถเข้าใจและครอบงำได้ง่ายมากขึ้นทั้งสิ้น

ในทางกลับกัน การใช้กำลังอำนาจนี้ก็ใช่ว่าจะได้ผลอย่างเบ็ดเสร็จ ถึงจะรับศาสนาจากส่วนกลาง แต่ทุกๆ ที่ก็เกิดการผสมผสานระหว่างพระศาสนากับการนับถือผี (ที่ถูกเหยียดให้มีสถานะต่ำกว่า “ศาสนา”) จนยากจะแยกจากกันได้ จนไม่รู้ว่าจะแยกไปทำไมว่าอันไหนแท้ อันไหนทรู

สุดท้ายฉันเลือกคงสำนวนแปล “เดือนกุมภา” ไว้ ไม่แปลว่า “เดือนสาม” ตามที่บก.เสนอ (และไม่แปลว่า “เดือนกุมภาพันธ์” เพราะรูลโฟเอาภาษาพูดมาเขียน) ด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาว่าคนอ่านจะยอมรับได้ว่า อาจมีอะไรที่ฟังดูไม่เป็นธรรมชาติ แต่นั่นไม่ได้แปลว่ามันเป็นอื่น

ก็ไม่น่าจะยากเย็นอะไร ในเมื่อมันก็เห็นๆ กันอยู่ว่าทั้งคู่มันคือผี อาจไม่ได้เป็นผีที่สมมูลต่อกัน “พระแม่มารีย์แห่งตาลปา” กับ “เจ้าแม่นาคีแห่งคำชะโนด” อาจไม่สามารถใช้เป็นคำแปลของกันและกันได้ แต่มันก็เข้าใจกันและกันได้ทันทีโดยไม่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาอรรถาธิบาย

Sí se puede | นี่เด้ เฮาเฮ็ดได้ ◼


ป.ล. ไม่ต้องเป็นห่วงเรานะถ้าดูเราจะเอาแต่ทำงานๆๆ ไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน มันก็อย่างที่รอล็อง บาร์ต ว่าไว้ใน มายาคติ นั่นแหละ โดยธรรมชาติแล้ว นักเขียนอย่างเราคือยอดมนุษย์สุดวิเศษ สมองปั่นงานอยู่ทุกที่ทุกเวลา เขียนคือขี้ ไม่มีวันหยุดทำการ ถึงแม้เราจะเป็นปุถุชนขี้เหม็นเหมือนทุกท่าน แต่ยองๆ ย่อๆ อยู่ดีๆ ก็ดันมีอะไรจู๊ดๆ ออกมาอย่างหอม โห๊ มันเป็นไปได้ยังไงนี่! หรือว่าเราคือ “ญาครูขี้หอม” กลับชาติมาเกิดในยุคสาธารณรัฐลาวล้านช้างกันนะ?