ปลาดคดี เกิดแล้ว ในสมุทร: หลังยุคฟื้นฟูเลิฟคราฟท์อยากให้อ่านฮอดจ์สัน

[For the English-language original “Weirder Things Have Happened at Sea,” click here.]

ได้คราวกล่าวถึงช๊อกกอธ

ปลาดคดี (weird fiction) คืออะไร ตามที่มาร์ค ฟิชเชอร์ (Mark Fisher) (ขอจงสู่สุขคติ) ประเมินไว้อย่างถูกเผงว่า “จะถกกันเรื่องปลาดคดียังไงก็ต้องเริ่มที่เลิฟคราฟท์” นั้น ข้าพเจ้าขอเพิ่มว่า จะถกถึงปลาดวิชชายังไงก็ต้องเริ่มที่เอสที โจฉี (ST Joshi)

โจฉียอมรับไว้ในตำรา เรื่องปลาด (The Weird Tale) ที่ศึกษารูปแบบจำเพาะของบันเทิงคดีชนิดนี้ว่า “การตีกรอบปลาดคดีด้วยความใดๆ อาจเป็นไปไม่ได้” ด้วยว่าเรื่องปลาดในช่วงเตาะแตะเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 ต้น 20 “ไม่ได้ดำรงอัตถิภาวะในตอนนั้น (และตอนนี้ก็อาจจะไม่) อย่างวรรณประเภท (genre) หากคือผลพวงจากโลกทัศน์อย่างหนึ่ง” และต่อมาก็บอกว่า “หากเรื่องปลาดมามีอัตถิภาวะเป็นวรรณประเภทในตอนนี้ นั่นก็อาจเป็นเพราะโองการของนักวิจารณ์และสำนักพิมพ์จำกัดให้มันเป็นเช่นนั้นเท่านั้นเอง”  สมมติฐานข้างต้นของโจฉีดูจะทำนายไว้ถึงการแบ่งแยกหุบเหวเชิงวิชชาระหว่างโลกของนักวิจารณ์วัฒนธรรมอย่างมิสเตอร์ฟิชเชอร์ที่พยายามจะทำความเข้าใจความปลาดผ่านการจำแนกแยกแยะกลยุทธการประพันธ์ต่างๆและผ่านการวิเคราะห์วัฒนธรรมประชานิยม กับโลกของนักปลาดสายแข็งซึ่งเริ่มนับสาแหรกวรรณประเภทนี้กันมาจากสำนักพิมพ์สำนักอาร์คัมห์ (Arkham House) ที่เอากุสต์ เดอร์เล็ทธ์ (August Derleth) ก่อตั้งขึ้นมาให้เป็นแหล่งอนุรักษ์เลิฟคราฟท์หลังมรณาก่อนเวลาอันควร

การยกตัวอย่างเป็นวิธีแน่นอนอย่างหนึ่งในการให้ผู้ด้อยประสบการณ์ทำความรู้จักกับปลาดคดี หนังสือ เรื่องปลาด ของโจฉีศึกษาบรรณานุกรมและโลกทัศน์ของหกต้นตระกูลสายตรงของปลาดคดี – อาร์เธอร์ แม็คเค็น (Arthur Machen), พระยาดันเซนี่ (Lord Dunsany), ไพรดำ แอลเจอร์นอน (Algernon Blackwood), เอ็มอาร์ เจมส์ (M.R. James), แอมโบรส เบียซ (Ambrose Bierce), และเอ็คพิเอลหรือเลิฟคราฟท์ (H.P. Lovecraft)  อิทธิพลของเลิฟคราฟท์ผู้เป็นที่รู้จักที่สุดจากทั้งหกนั้นเห็นอนาจารอยู่ทั่วไปในปริมณฑลต่างๆ ที่อยู่เลยพ้นโลกวรรณคดีออกไปซึ่งก็สืบสานจิตวิญญาณปลาดไม่ค่อยสำเร็จเท่าไหร่ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นซีรี่ส์ทีวี หนังฮอลลีวู้ด เกมอาร์พีจีกระดาษ  วีดีโอเกมส์ เพลง งานทัศนศิลป์ และอื่นๆ ความที่เลิฟคราฟท์ถือเป็นหน้าเป็นตาของปลาดคดีก็เท่ากับว่าเขานี่แหละคือตัวบ่งชี้ถึงจุดเฉื่อยชะงักของมันในกระแสหลัก ข้าพเจ้าจึงอยากแนะนำปลาดคดีผ่าน วิลเลี่ยม โฮป ฮอดจ์สัน (William Hope Hodgson, 1877 – 1918) ปลาดชนชาวบริเตนผู้เปี่ยมวิชาความริเริ่มอันตามความเห็นข้าพเจ้าแล้วถือว่าสูงส่งเหนือมาตรฐานของผู้ร่วมสมัย เหตุผลที่ข้าพเจ้าเลือกตัวเลือกที่ผิดธรรมเนียมเช่นนี้เป็นเหตุส่วนตัว นั่นคือหนึ่งในเรื่องภาษาอังกริดเรื่องแรกที่ข้าพเจ้าได้อ่านคือฉบับอ่านง่ายของเรื่องสั้นฮอดจ์สันชิ้นเอก เสียงเพรียกจากราตรี (The Voice in the Night) ที่อยู่ในรวมเล่มเรื่องผีและสยองขวัญเล่มหนึ่งของอ๊อกซ์เฟิร์ด แม้หลายปีผ่านไปและข้าพเจ้าได้ลืมชื่อเรื่องและชื่อผู้แต่งของ เสียงเพรียก ไปแล้ว เนื้อเรื่องและความรู้สึกโดยรวม – ความระแวงที่ว่าไอ้เรื่องสั้นนิรนามนี้มันมีอะไรบางอย่างผิดแผกผิดธรรมชาติไปมาก ทั้งไอ้ร่างเลือนลางที่ผงก งก งก งก เบื้องหลัง เสียงเพรียก ในรุ่งอรุณฉากสุดท้าย – ตราตรึงอยู่ในจิตใต้สำนึกของข้าพเจ้าจนกระทั่งได้พบกันใหม่อย่างคาดไม่ถึงและเปี่ยมปิติหลังจากข้าพเจ้าได้เข้าถึงปลาดคดีอย่างเต็มตัวแล้ว

วิธีศึกษาความปลาดของโจฉีสามารถใช้ทำความเข้าใจฮอดจ์สันได้ ฮอดจ์สันถือกำเนิดในครอบครัวของซามเวล ฮอดจ์สัน บาทหลวงอารมณ์ร้าย เขาหนีออกจากบ้านตอนอายุสิบสามไปเป็นกะลาสีพาณิชย์นาวี ผลพวงที่ตามมาคือเรื่องสั้นส่วนมากของเขาทั้งเรื่องปลาดและเรื่องผจญภัยเพียวๆล้วนเกิดขึ้นในทะเล โดยความมโหฬารของทะเลอันใกล้ตัวนี้เป็นอุปมาจักรวาลแรกๆของฮอดจ์สัน ยกตัวอย่างเรื่องที่มีพลังสองสามเรื่อง: ลอยทะเล (The Derelict) มีเนื้อเรื่องคือลูกเรือกลางสมุทรไปพบซากลอยทะเลของเรือที่มีรายงานว่าหายไปโดยบังเอิญ โดยมีเสียงตุบตุบแว่วอยู่ไกลๆ เหมือนพายุกำลังมา ตั้งคำถามน่าฉงนถึงโอกาสอันน้อยนิดที่ชีวิตจะสามารถเกิดขึ้นมาจากความไม่ใช่ชีวิตได้; จากมรสุม (Out of the Storm) เล่าถึงสัญญาณวิทยุสุดท้ายที่ได้รับแบบเรียลไทม์จากเรือโดยสารข้ามสมุทรที่กำลังจมกลางพายุลูกหฤโหดซึ่งนักวิทยุประจำเรือผู้กำลังถึงแก่วาระสุดท้ายเจอหลอนเข้าใส่ดั่งอสูรกายที่พ้นวิสัยมนุษย์จะรับรู้; กลับบ้านเถิดชัมราเค็น (The Shamraken Homeward-Bounder) บรรยายเนิบๆถึงเรือขนส่งลูกเรือแก่หง่อมทั้งลำซึ่งล่องผ่านน่านน้ำที่เริ่มชวนฝันขึ้นมาอย่างหาคำอธิบายไม่ได้ นอกจากเรื่องสั้นกลางสมุทรแล้วฮอดจ์สันยังเป็นคนที่เขียนงานแนวนักสืบเหนือธรรมชาติยุคแรกๆ มีตัวละครประจำคือ คาร์แนคกิคนหาผี (Carnacki the Ghost-Finder) (แต่ก็ตลกดีที่ส่วนใหญ่คาร์แนคกิเจอแต่อะไรที่ปลาดกว่าผี) ด้วยความที่ตัวผู้เขียนเองนั้นแข็งขันกับวัฒนธรรมกายภาพ ตัวละครของฮอดจ์สันจึงเข้มแข็งทั้งจิตและกาย มีศีลธรรมและความโรแมนติคนิยมแบบผู้ดีวิกตอเลี่ยน ต่างจากตัวละครผู้เล่าเรื่องตามขนบของเลิฟคราฟต์ที่ดิ้นรนอย่างเปล่าประโยชน์ไปก็เป็นการตอกย้ำความสิ้นหวังไป ตัวเอกของฮอดจ์สันรู้แก่ใจว่าดิ้นรนไปก็สู้ไม่ได้ แต่ก็ยืนกรานปฏิเสธที่จะศิโรราบต่อชะตากรรมเข้าไว้ประสาชาติชายซื้อบื้อ

ในส่วนที่ฟิชเชอร์เรียกว่าเป็นการอุปโลกน์ตำราความรู้เข้ามาใช้ในนิยายซึ่งเป็นวิธีที่เลิฟคราฟท์ชอบใช้จนโด่งดัง – คือ การหลอกคนอ่านว่ามีปูมตำรับตำราความรู้ต้องห้ามทั้งหลาย เช่น สมุดคนตาย (Necronomicon), ปริศนาหนอน (De Vermis Mysteriis), ลัทธิปอบ (Cultes des Ghoules), และอื่นๆ อยู่จริงนั้น – ฮอดจ์สันก็ดูจะเหนือเลิฟคราฟท์อยู่หนึ่งเพลงรบด้วยการนิรมิต คัมภีร์ซิกซานด์ (The Sigsand Manuscript) ขึ้นมา ไม่เชื่อลองดูวรรคนี้จาก ซิกซานด์ ที่กล่าวถึงอสูรข้ามมิติที่ปรากฏอยู่เป็นประจำในงานของฮอดจ์สัน:

. . . for in ye earlier life upon the world did the Hogge have power and shall again in ye end. And in that ye Hogge had once a power upon ye earth, so doth he crave sore to come again.

[. . . ชั่วปางก่อนของสูบนโลกนี้มีท่านฮ้อกเป็นใหญ่แลท่านย่อมจักได้เป็นอีกคำรบใหม่ในบั้นปลายของสู แลในเมื่อท่านฮ้อกของสูเคยได้เป็นใหญ่บนพิภพของสูมาแล้วหนึ่งครา ท่านย่อมกระหายยิ่งนักแล้วที่จักหวนคืนมา]

ใช่หรือไม่ว่าวรรคนี้ทำให้นึกถึงประกาศิตลางร้ายของ อับดุล อัลฮาเซรด ศาสดาวิปริตผู้เขียน สมุดคนตาย ของเลิฟคราฟท์ ที่ว่า

Nor is it to be thought that man is either the oldest or the last of earth’s masters, or that the common bulk of life and substance walks alone. The Old Ones were, the Old Ones are, and the Old Ones shall be.

[และอย่าได้สู่คิดไปว่ามนุษย์เป็นเจ้าโลกยุคดึกดำบรรพ์หรือยุคสุดท้าย อย่าได้สู่คิดไปว่ามวลชีวิตและสสารอันสามัญนั้นดุ่มเดินโดยเดียวดาย – ทวยไท้เก่าแก่เคยดำรงอยู่ ทวยไท้เก่าแก่ยังคงดำรงอยู่ ทวยไท้เก่าแก่จักดำรงอยู่สืบไป]

(และวลีอมตะ “เลนินเคยอยู่, เลนินยังอยู่, เลนินจะคงอยู่ตลอดไป!!!” ของมายาคอฟสกี้ด้วย)

วิสัยทัศน์ระดับคอสมิคของฮอดจ์สันมันกว้างเกินจะจำกัดในขอบเขตของเรื่องสั้น ทั้งนี้ ในขณะที่ปลาดชนมีชื่อส่วนใหญ่น้อยครั้งจะทะเยอทะยานพ้นความยาวของนิยายขนาดสั้นและจะยอมเสี่ยงกับการที่ความปลาดอันแท้จริงนั้นจะถอยร่นไปเป็นเรื่องเหลวไหลดาษดื่นหรือเรื่องดาษดื่นเหลวไหล แก่นแท้อันเป็นหัวใจของฮอดจ์สันกลับพบได้ในนิยายขนาดยาวของเขา ความสำเร็จในข้อนี้มีส่วนสำคัญมาจากการที่ฮอดจ์สันประยุกต์ใช้ความระทึกและการเผชิญหน้าเป็นตายมาจากเรื่องสั้นแนวผจญภัยกลางสมุทรของเขา เขาได้เพิ่ม – อาจเป็นผู้บุกเบิกด้วยซ้ำ – การใช้ฉากโอบล้อมโจมตีที่ต่อมาคนชอบใช้กันเหลือเกินในแนวซอมบี้สยองขวัญ ยกตัวอย่างเรื่อง บ้านชายขอบ (The House on the Borderland) มีสองสามบทที่ผู้เล่าเรื่องต้องเอาตัวรอดจากการจู่โจมกลางดึกของฝูงมนุษย์หมูใบ้ ฮอดจ์สันวางสองสามบทนี้เป็นสัญญาณให้คนอ่านรู้ว่าความเปลี่ยวขนลุกของดงดิบไอร์แลนด์แบบโลกๆ นั้นกำลังจะกลายเป็นประสบการณ์แบบสิ้นอสงไขยระดับจักรวาล เป็นจุดสมดุลในการสะสมโมเมนตัมเพื่อส่งเนื้อเรื่องให้ไปถึงจุดสุดยอด อีกตัวอย่างที่ต่างไปคือเรื่อง โจรสลัดผี (The Ghost Pirate) มีเรื่องย่อๆคือลูกเรือกลางมหาสมุทรโดนอะไรบางอย่างลากลงทะเลทีละคนทีละคน โดยที่เรื่องนี้ใช้ฉากโอบล้อมโจมตีรักษาบรรยากาศระทึกตึงเครียดตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนนิยายขนาดยาวทั้งสองเรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นถึงการใช้สภาวะสะพรึงที่มีลักษณะขัดแย้งในตัวเอง กล่าวคือ ด้วยธรรมชาติของความมีเงื่อนไขจำกัดชัดเจนแน่นอนของมนุษย์เรา  ไม่ว่าจะเป็นร่างสังขารอันมีวันดับสูญของตัวผู้เล่าเรื่องในเรื่อง บ้านชายขอบ และเรืออันเป็นพื้นที่คับแคบตายตัว ใน โจรสลัดผี  จึงกลายเป็นว่าความเวิ้งว้างไร้ขอบเขตของท้องทะเลและจักรวาลกลับทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดหายใจไม่ทั่วท้อง

ไม่แปลกใจที่เมื่อหลายปีก่อนโน้นข้าพเจ้าไม่รู้สึกว่าฮอดจ์สันสมควรถูกจัดอยู่กลุ่มเดียวกับนักเขียนเรื่องผีรุ่นลายครามอย่าง อีเอฟ เบนสัน (E.F. Benson), เอเอ็ม เบอร์ราจ (A.M. Burrage), และแม้แต่เอ็มอาร์ เจมส์ (M.R. James)  การที่เนื้อหาของงานทั้งกลุ่มนี้อยู่ใต้ข้อจำกัดจากค่านิยมอนุรักษ์ในช่วงเปลี่ยนศตวรรษเหมือนๆกันนั้นไม่ใช่ประเด็น ต่อให้เมื่อถูกจัดที่ทางเป็นวรรณประเภทอย่างหนึ่งขึ้นมาได้ ศักยภาพความปลาดในตัวงานก็แทบจะทะลักล้นออกมาจากกรอบนิยมเรื่องเหนือธรรมชาติทั่วไป เพราะปลาดคดีไม่เคยหยุดสวาปามมันจึงปฏิเสธการพยายามจะมาชี้ลักษณ์โดยหมดจด ที่แน่ๆคือมันหลบหลืบอยู่ในแดนสนธยาที่ซายฟาย, แฟนตาซี, และสยองขวัญไม่ขอยุ่งเกี่ยว กระทั่งที่กำลังวาดความสัมพันธ์อันสามานย์อยู่นี้ก็อาจเป็นการลดทอนจนง่ายเกินไปด้วยซ้ำ ผู้ดูผู้อ่านจะมองออกว่าเป็นอะไรที่คลับคล้ายคลับคลาว่าคือใบหน้า, แขนขา และความทรมานสาหัสดิ้นไปดิ้นมาในวุ้นอสัณฐานที่ไม่ควรจะเลื้อยคลานได้ ทว่าก็จะถูกทำให้ตกตะลึงงัน เกร็งกลัว แข็งทื่ออยู่อย่างนั้นด้วยภาพความขยะแขยงอันน่าลุ่มหลงและเป็นไปไม่ได้ที่เห็นอยู่ตรงหน้า ในที่นี้คำพังเพยเก่าแก่แต่โบราณนับว่าใช้ได้ดี

ปลาดคดีคืออะไร สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น – พอเห็นแล้วก็จะอวิชชาไปหมดที่โดนมันแปดเปื้อน.

 

ข้าพเจ้าใช้คำว่าปลาดคดี, ความปลาด, และเรื่องปลาด เปลี่ยนไปมาทดแทนกัน
ในหกคนนั้นแม็คเค็นเป็นคนเดียวที่พยายามพัฒนาทฤษฎีสุนทรีย์เพื่ออธิบายความหลงใหลอันพิลึกกึกกือต่อเรื่องปลาด, อารมณ์เร้าที่เขาเรียกความปีติ (ecstasy), อุบายยั่วเย้าแบบอตรรกะแนวเดการ์ตให้เข้าหาการลบทำลายตน ที่เอ็ดการ์ โพให้ชื่อว่า ภูตวิปลาส (The Imp of the Perverse) อาจต้องอ่านจิตวิเคราะห์ของลาก็องเพิ่มเติมเพื่อมโนให้เป็นรูปร่าง
แปลงเป็นหนังจอเงินญี่ปุ่นแบบขอไปทีเรื่อง มาทางโก้! (MATANGO!, 1963) ช่วงยุคคลั่งหนังสัตว์ประหลาด
เพื่อไม่ให้เป็นการออกนอกอารัมภ์ประสงค์ของบทความนี้ อย่างน้อยขอกล่าวไว้สั้นๆว่าผู้ศึกษาฮอดจ์สันที่อุทิศตนที่สุดโดยไม่ต้องสงสัยคือ แซม แกฟเฟิร์ด (Sam Gafford) ผู้ที่ข้าพเจ้าพบตัวเป็นๆ แผลบหนึ่งที่ชุมนุมปลาดวิชชา NecronomiCon 2013 มิสเตอร์แกฟเฟิร์ดสิ้นลมไปเมื่อ 20 ก.ค.2019 ผลงานของเขาทั้งวรรณกรรมร้อยแก้วและวิชาการสามารถหาซื้อได้จากสำนักพิมพ์ อุลธาร์เพรส (Ulthar Press)
มันคือกระแสการเพาะกายในศตวรรษที่ 19 มีเกร็ดเล็กน้อยปี 1902 เรื่องการปะทะกันระหว่างโฮปซึ่งตอนนั้นเป็นเจ้าของโรงเรียนวัฒนธรรมกายภาพ (School of Physical Culture) ณ แคว้นแบล๊ดเบิร์นประเทศอังกฤษ และนักมายากลจอมสะเดาะกลอนชื่อก้องโลก แฮรี่ ฮุดินี่ (Harry Houdini) (ลองไปอ่านบทความ ฮูดินี่ ฉะ ฮอดจ์สัน: ศึกประลองแบล๊คเบิร์น [Houdini v. Hodgson: The Blackburn Challenge] ของแซม แกฟเฟิร์ด) บังเอิ๊ญบังเอิญฮูดินี่จ้างให้เลิฟคราฟท์เขียนแทนตนในเวลาต่อมา สองนักเขียนจึงนับว่ามีความสัมพันธ์กันมั้งด้วยประการฉะนี้
ในส่วนของเลิฟคราฟท์คงตกผลึกการใช้กลยุทธประพันธ์นี้จากที่เขาอ่านเทพปกรณัมต่างๆมากมาย ชีวประวัติของโฮปไม่ได้มีการบันทึกละเอียดยิบเท่าตอนนี้เลยบอกไม่ได้ว่าเขาไปได้รับอิทธิพลมาจากไหน
ผ่านมานานนมเลิฟคราฟท์ยังนับเป็นผู้สรุปประวัติปลาดคดียุคต้นได้อย่างรวบรัด, เป็นรูปธรรม, และมีวิชา ถ้าต้องการรู้สรุปวิวัฒนาการของปลาดคดีแต่ต้นจนถึงยุคเลิฟคราฟท์ ลองไปอ่าน เรื่องสยองขวัญเหนือธรรมชาติในวรรณคดี (Supernatural Horror in Literature) ตอนนี้มีพิมพ์ใหม่มากมาย