เหนือฟ้ายังมีอาซาท็อท: เลิฟคราฟท์กับสุดปลายทางจินตนาการสลิ่ม

[For the English-language original “Beyond Azathoth: Lovecraft Before the Real”, click here.]

ใครที่ได้อ่านงานของเลิฟคราฟท์ (H.P. Lovecraft) มาสักพักนึงแล้วก็คงพบเจอมาบ้างกับตัวละครเทพเจ้าสุญญปัญญาบอด นาม อาซาท็อท (Azathoth) ที่มักถูกพาดพิงถึงอยู่ในเรื่อง  ถ้าท่านผู้อ่านได้ลองคิดดูแล้วก็จะพบว่า ไอ้เจ้าอาซาท็อทนี่มันคือตัวที่ขมวดรวบความคิดทางปรัชญาและเทคนิคการเขียนของเลิฟคราฟท์มาไว้ จนถ้าจะวิจารณ์อะไรของเลิฟคราฟท์ก็แทบจะเข้าตัวพระเจ้าองค์นี้เกือบหมด มันเป็นตัวแทนของความไม่อาจหยั่งรู้ไม่อาจเอาแน่เอานอนได้อันร้ายกาจของจักรวาล ขณะเดียวกันมันก็ถูกเนื้อเรื่องและตัวละครทั้งป่าวประโคม ทั้งพยากรณ์ ทั้งอัญเชิญเข้ามา จนแทบไม่เหลือความน่าสนเท่ห์ว่ามันเป็นอะไรยังไงกันแน่  ที่แน่ๆคือมันทรงพลังกว่าพวกทวยไท้เก่าแก่ (Great Old Ones) หรือพวกจ้าวปางอื่น (Outer Gods) อย่างคลูลู (Cthulhu) หรือนยาละโทเท็ป (Nyarlathotep) เพราะมันสามารถสะกดจุดจบอันเกินหยั่งถึงของจักรวาลออกมาตามตัวอักษรและออกมาได้ตามนั้นจริงๆ  ด้วยสันดานเลิฟคราฟท์ที่ชอบใช้ร้อยแก้วแบบโจ่งแจ้งแอ๊ดเจคทีฟเยอะมาพรรณนาสิ่งที่เมื่อตอนต้นเรื่องหรือต้นย่อหน้าบอกว่า “เกินจินตนาการจนบรรยายไม่ได้” ซะจนหมดเปลือก แต่กลับยังสามารถตรึงความตึงเครียดลี้ลับในเนื้อเรื่องไว้ได้ชะงัดนัก ก็ทำให้หลักคำสอนที่ได้ยินกันบ่อยๆจนน่ารำคาญเวลาไปเข้าเวิร์คช็อปวิชชาการเขียนเชิงสร้างสรรค์ (creative writing) ที่ว่า Show, don’t tell. แลดูไม่ค่อยจะศักดิ์สิทธิ์เท่าไหร่แล้ว  ยังกับว่าภาษาต่อให้รีดเค้นตัวมันออกมาทุกเม็ดแล้วก็ยังไม่มีปัญญาจะพาเราเข้าถึงสิ่งที่ไม่อาจหยั่งถึงได้ให้สมราคาคุยของมันหรอก  ว่ากันง่ายๆข้าพเจ้าจะบอกว่า หนึ่งในมรดกวรรณคดีอเมริกันของเลิฟคราฟท์ก็คือการที่แกบังเอิญทำให้เราเห็นถึงความเป็นไปได้ในแง่บวกที่อยู่รางๆเลยกำแพงสัญระเบียบ (Symbolic Order) ออกไป

Encounter in Lovecraftian Hyperrealityตัวบทคือสัญระเบียบ

ลองดูบทบรรยายในเรื่องยาว สิ่งกระซิบในความมืด (The Whisperer in Darkness) นี้ก็ได้ ตอนที่เป็นจุดไคลแม็กซ์ของนิยาย เมื่อตัวผู้เล่าเรื่องค้นพบความลับของกาแล็คซี่ขึ้นมาจากการได้รู้ความจริงว่า เฮนรี่ เอคคลี่ จ้าวบ้านของเขาที่นั่งกระซิบอยู่ในห้องมืดตื๋อตามชื่อเรื่องนั้น แท้จริงแล้วเป็นแค่หุ่นขี้ผึ้งใครชักใยอยู่ไม่รู้ของเอคคลี่ตัวจริงที่โดยนัยตามท้องเรื่องนั้นก็คงโดนพวกแมลงต่างดาวชาวยักก็อธ 1 สูบสมองใส่โหลแก้วเอาไปสะสมบนหิ้งที่ขอบระบบสุริยจักรวาลซะแล้ว เนื้อเรื่องตรงนี้มีท่อนหนึ่งบรรยายว่า “ . . .เมื่อแรกเลยนั้นข้าก็แสยงสะดุ้งเมื่อได้ฟังถึงมหันตโกลาหลแก่นกลียุคที่อยู่เลยพ้นไปจากขอบเขตวิสัยของอวกาศจักรวาลอันมีเหลี่ยมมีมุมของเรานี้ กลียุคที่ สมุดคนตาย ได้เมตตาอำพรางไว้ด้วยชื่อเรียกที่ว่า อาซาท็อท” ไอ้ธีมของความรู้ต้องห้ามที่ถ้าคนได้รู้ได้อ่านแล้วต้องเกิดบ้าขึ้นมาแน่นอนนี่เป็นธีมที่เลิฟคราฟท์ชอบใช้ ไม่ต้องไปพูดถึงมันมาก แต่ที่น่าสนใจคือที่เลิฟคราฟท์ใช้วลีว่า “เมตตาอำพรางไว้” (“mercifully cloaked”)

ในโลกนอกบทของเลิฟคราฟท์ ไอ้การอำพรางนี้มีตัวอย่างให้ดูหลายกรณีที่มันโดนเอาไปใช้ในธุรกิจจำพวกหากินกับพวกเรื่องเหนือธรรมชาติหรือชมรมลึกลับหลอกเอาตังค์ เช่น การที่มีคนเขียน สมุดคนตาย (Necronomicon) ขึ้นมาแล้วหลอกว่ามันมีอยู่จริง หรือการที่ชื่อสัตว์ประหลาดเทพทวยไท้ของเลิฟคราฟท์ไปโผล่ในบทสวดของลัทธิซาตาน“เสรีนิยม”ฝ่ายขวาของแอนตั้น ละเว่ย์ (Anton LaVey) เป็นต้น แต่ใครที่ได้อ่านเจาะลึกไปถึงปรัชญาและความเชื่อส่วนตัวของเลิฟคราฟท์ก็จะแย้งได้ทันทีว่า เฮ้ย ไอ้คำว่า เหนือธรรมชาติ ที่เลิฟคราฟท์พูดถึง มันไม่เกี่ยวสถานะเชิงประจักษ์ของสิ่งนี้สิ่งนั้นที่วิทยาศาสตร์ของมนุษย์กำลังถกเถียงกันอยู่ตามสภาพขีดจำกัดการพัฒนาของมัน แต่มันเกี่ยวกับสถานะของขีดจำกัดนี้ที่เป็นจอภาพให้เราจ๊ะเอ๋ค้นพบสิ่งที่ “ไม่อาจรู้ถึงได้” โดยไม่ต้องไปคำนึงถึงสถานะเชิงประจักษ์ เพราะมันไม่ใช่หน้าที่ของวรรณคดีตั้งแต่แรกแล้ว สรุปคือคำว่า “ธรรมชาติ” ในคำว่าเหนือธรรมชาติ มันไม่มีความหมายถ้าเรายึดติดว่ากฎของธรรมชาติ ที่พอเลยขอบเขตของวิทยาศาสตร์ไปแล้วมันโดนแหกเนี่ย เป็นกฎที่เป็นผืนแผ่นเดียวกันครอบคลุมไปตลอดสุดทุกสรรพสิ่งในอวกาศจักรวาล  พออธิบายอย่างงี้แล้วอาจทำให้นึกถึงไอเดียเรื่องอุตรภาพ (Transcendence) ของนักปราชญ์ อิมมานูเอว ค้านท์ (Immanuel Kant) แต่จากหลักฐานทางชีวประวัติก็จะเห็นว่าเลิฟคราฟท์เคยแต่อ่านเกี่ยวกับปรัชญาของค้านท์จากแหล่งข้อมูลชั้นสอง 2 แถมเลิฟคราฟท์ยังไงก็ไม่มีทางเห็นด้วยกับการมีความหมายในตัวของ Thing-in-itself ของค้านท์อย่างแน่นอน  ถ้าอย่างงั้นแล้วอาซาท็อทมันน่ากลัวตรงไหน

ความจริงแท้ (The Real) ในเชิงจิตวิเคราะห์สายละค็อง (Lacan) นั้นสามารถอธิบายได้ในหลายแง่ หนึ่งในนั้นก็คือ ความจริงแท้หมายถึงประสบการณ์ทั้งหมดของอัตตะตนหนึ่งที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการสัญระเบียบ ยังไม่ได้หรือยังไม่สามารถพูดหรือคิดนึกประสบการณ์เหล่านั้นผ่านสัญลักษณ์ตัวอักษรของภาษาได้ ความจริงแท้นี้ไม่มีวันหมดสิ้นเพราะแต่ละคนก็ผ่านประสบการณ์ตามอัตวิสัยเรื่อยๆ และการจะพูดจะคิดนึกประสบการณ์เหล่านี้ให้หมดจนไม่เหลืออะไรที่เราไม่รู้เกี่ยวกับประสบการณ์ของตัวเรานั้นไม่มีทางเป็นไปได้ อาซาท็อทก็เปรียบเป็นชื่อเรียกโดยรวมของสิ่งที่เรายังไม่มีภาษาจะไปใช้เรียกนี้ เป็นตัวเรียกแทนจุดมืดบอดในจิตสำนึกและความมืดบอดอันเป็น “ธรรมชาติ” ของจิตใต้สำนึก ทางเดียวที่จะพูดถึงสิ่งที่ไม่อาจพูดถึงได้คือการให้ชื่อมันไปใช้ก่อน จารึกไว้บนหน้ากระดาษของ สมุดคนตาย  ซึ่งในงานเขียนนิยายของเลิฟคราฟท์โครงสร้างการเล่าเรื่องหลักๆก็อุปมาเป็นการแปลงความจริงแท้สู่สัญระเบียบนี้ กล่าวคือพวกตัวละครหลักต่างๆพอไปเจอประสบการณ์พิสดารเหนือธรรมชาติอะไรมาแล้วก็มารีบๆเขียนเป็นบันทึกให้ท่านผู้อ่านได้เข้าถึงประสบการณ์นั้น ไอ้ตัวบทที่ตัวละครเขียนขึ้นมาตรงนี้คือการสร้างระยะห่างระหว่างอัตตะตนกับความจริงแท้ เพราะในนิยามของละค็องแล้ว ความวิกล (psychosis) คือการที่ระยะห่างเชิงสัญลักษณ์นี้หายไป ไม่สามารถใช้ภาษาสัญลักษณ์มาควบคุมประสบการณ์ในความจริงแท้ที่ไหลทะลักออกมาได้ มีตัวอย่างให้เห็นในเรื่องยาว เงามืดผิดกาลเวลา (The Shadow Out of Time) ที่สัญระเบียบกลายเป็นจอฉายให้เห็นความจริงแท้โดยตรง คือในจุดไคลแม็กซ์ของเรื่องที่ตัวเอกเล่าให้ผู้อ่านและจิตแพทย์คนหนึ่งฟังว่า ตอนหลงไปในทะเลทรายเขาได้ไปพบซากปรักหักพังของห้องสมุดโบราณอายุเกินล้านล้านปี แล้วไปเจอว่าบนหน้าหนังสือเล่มหนึ่งในซากห้องสมุดนั้นมีลายมือของตัวเองเขียนไว้เป็นภาษาอังกฤษ!!! สันดานของตัวเอกของเลิฟคราฟท์ก็เป็นเช่นนี้คือชอบไปหาเรื่องหาความวิกลจริตมาใส่ตัวทั้งๆที่ปากก็บอกว่าปล่าวนะ ซึ่งก็มีทั้งกรณีที่ทำไม่สำเร็จเพราะมีคนช่วยหรือช่วยตัวเองไว้ได้ทัน เช่นในเรื่อง เดก้อน (Dagon), บทเพลงของเอริช ซานน์ (The Music of Erich Zann), นิมิตรมหากาพย์เทพวิหารลี้ลับ (The Dreams Quest of Unknown Kadath) ฯลฯ และกรณีที่ตัวเอกทำสำเร็จ คือสามารถก้าวข้ามธรณีประตูระหว่างความเป็นจริง (Reality) กับความจริงแท้ไป ซึ่งในกรณีหลังนี้ทั้งผู้อ่านและเลิฟคราฟท์ก็จะไม่อาจก้าวผ่านธรณีประตูนี้ตามไปได้หรอก ไม่สามารถโดดน้ำตาม รอเบิร์ต โอล์มสเต๊ด “ . . .ดำดิ่งผ่านแนวปะการังมืดทึบ ทะลวงใจกลางหุบมรณะสู่สมุทรนครใหญ่ยักษ์โอ่โถงยานทเลย์ . . . ”  อารมณ์ก็เหมือนเวลาลองนั่งนอนคิดดูว่าพอเราตายไปแล้วจิตสำนึกมันจะมีสภาพรับรู้เป็นยังไง ยิ่งคิดยิ่งจะบ้า คำตอบที่ได้มีแต่ความมืดมิดอันไร้รูปร่าง ไร้สสารใดใดทั้งสิ้น ก็เลยขอถือโอกาสใช้ละค็องเติมท้ายภาษิตของเลิฟคราฟท์ว่า  ความหวาดกลัวต่อสิ่งลึกลับที่ไม่อาจรู้3 เป็นความกลัวแบบอวัตถุ คือไม่ได้มีวัตถุให้กลัว มีแต่ความกลัวที่ฝังอยู่ภายในสภาพวัตถุสัมพันธ์ (object relations) เท่านั้น

We are what the gods dream of: Humanity as the Lost Object
มนุษย์คือฉากประกอบฝันของเหล่าเทพทวยไท้

ความฝันเป็นกลยุทธ์การประพันธ์ที่เลิฟคราฟท์ชอบใช้อยู่เหมือนกัน ถึงขนาดสามารถแยกงานส่วนหนึ่งมาไว้ภายใต้ป้ายชื่อ Dreamlands Cycle ได้4 ถ้าลองอ่านดูแล้วก็อาจเถียงได้ว่ามันเหมือนความฝันตรงไหนเพราะ Dreamlands แดนเนรมิตของเลิฟคราฟ์มันดูจะเหมือนมิติคู่ขนานแนวแฟนตาซีที่ใครๆก็สามารถเข้าไปอยู่อาศัยเป็นชีวิตที่สองได้ผ่านการนอนหลับแล้วฝัน ถึงกระนั้นก็มีประเด็นสภาพวัตถุสัมพันธ์อยู่ที่ตัวละครหลักสองตัวของเรื่องสั้น เซเลฟเฟส (Celephaïs) กับเรื่องยาวนิมิตรมหากาพย์เทพวิหารลี้ลับ (The Dream-Quest of Unknown Kadath) คือคนจรไร้นามผู้ครองราชย์แดนฝันในนามราชันย์คูเรเนสและนายแรนดอล์ฟ คาเต้อ สองคนนี้มี “วัตถุ” ที่ตั้งมั่นเป็นของวิเศษให้ตามหาดุจจอกศักดิ์สิทธิ์ของอาเธอร์ คือ  สถานะชนชั้นขุนนางนิวอิงแลนด์เงินเก่าของโคตรเหง้าที่ตกต่ำไปตามสภาพทุนนิยมอเมริกา5 กับเมืองวิเศษที่เห็นอยู่เรือนรางในความฝันซึ่งสุดท้ายเฉลยว่าคือบ้านเกิดเมืองนอนตอนเด็กที่บอสตั้นแมสซา  เราสามารถอ่านวัตถุที่สูญหายไปในอดีตของสองคนนี้ให้ตรงตามนิยามวัตถุที่สูญหาย (Lost Object) ของฟรอยด์และละค็องที่ว่า วัตถุที่เรายึดติดตามหาอยู่ในอดีตนั้นจริงๆแล้วมันไม่เคยมีสถานะอื่นนอกจากการที่มัน “หายไป”  เราไม่เคยเจอวัตถุนี้มาก่อนนอกจากในสภาพที่เรามโนไปเองในอดีต6 อัตตะตนหนึ่งจะรับรู้ว่าวัตถุชิ้นหนึ่ง “มันหายไปจากชีวิตของฉัน” ก็ต่อเมื่ออัตตะตนนั้นทึกทักเอามันไปวางไว้ในความเพ้อฝัน (fantasy) เท่านั้น

บทเรียนหนึ่งที่ละค็องสอนโดยอ้อมก็คือการรับผิดชอบความเป็นอัตตะตนหนึ่งของเรา ซึ่งอาจจะขัดกับกระแสจิตวิทยาตะวันตกบางกระแสที่ชอบอ้างเหตุผลปัจจัยระหว่างบุคคลและปัจจัยสภาพสังคมภายนอก มาใช้อธิบาย “สุขภาพจิต” ของผู้รับการวินิจฉัยไม่ว่าจะตามคลินิกหรือแบบสอบถามเองบนอินเตอร์เว็บ (Interwebs) ซึ่งก็แน่ละว่าปัจจัยดังกล่าวมันมีผลต่อ “สุขภาพจิต” ของทุกผู้คนแน่นอน แต่ว่าแล้วไงต่อ? คำถามนี้เราสามารถใช้ย้อนถามคำวิเคราะห์ของนายเอสที โจฉี (ST Joshi) ในตำรา เรื่องปลาด (The Weird Tale) ที่ว่าดรีมแลนด์แดนเนรมิตของเลิฟคราฟท์มันไม่สะท้อนสะเทือนใจผู้อ่านเท่าไหร่นักเพราะว่าเลิฟคราฟท์ “ไม่ได้ตั้งใจให้มันมีความหมายอะไร แล้วมันก็ไม่มีความหมายตามที่ไม่ได้ตั้งใจไว้นั่นแหละ”7 . . . แล้วไง? สักแต่วิเคราะห์มาได้ไง ยังกับว่า “ความไม่ตั้งใจ” ของผู้เขียนมันไม่สำคัญซะงั้น  ลองจับโจฉีมาห้อยหัวแล้วลองอ่านใหม่ว่า “ที่มันไม่สะท้อนสะเทือนใจคนอ่านจริงๆ ก็เพราะว่ามันไม่มีอะไรในเรื่องราวเหล่านี้ที่เราควรจะไปสะท้อนสะเทือนใจด้วยต่างหาก” ยกตัวอย่างจากเรื่อง เซเลฟเฟส  ถ้าลองอ่านแบบไม่เออออตามบทที่เลิฟคราฟท์วางไว้ให้เดินตามรอยความทรงจำฝันหวาน เราก็จะเห็นว่ามหานครเซเลฟเฟสมันเป็นฝันร้ายเหมือนโปรแกรมเดอะเมทริกซ์ไม่ผิด ราชันย์คูเรเนส “สร้างหุบเขาอู๊ดนาไกลขึ้นมาในความฝันเฟื่องของเขา ชาวบ้านชาวพลเมืองในแดนเนรมิตต่างจึงยกเขาขึ้นหิ้ง อัญเชิญเป็นเทพธรรมาภิบาลคุ้มครองบ้านเมืองสืบไปตลอดกาลนานเทอญ”8 ชาวบ้านชาวเมืองที่มายกให้คูเรเนสเป็นเทพนี้ ที่จริงแล้วตามที่ปูเนื้อเรื่องไว้มันควรจะเป็นพวกมนุษย์ที่มาจากมิติโลกความเป็นจริงนั่นแหละที่เข้ามามีส่วนร่วมอาศัยอยู่ในมิติเนรมิตชีวิตที่สองนี้ แต่เลิฟคราฟท์บรรยายเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกเหล่านี้ของทั่นผู้ดีเก่าให้เหมือนเป็นแค่ตัวประกอบฉากเท่านั้น บรรยายมวลมนุษย์ที่ควรจะมีความคิดเป็นของตัวเองให้กลายเป็นมนุษย์ชั้นต่ำผ่านการวางตัวเรียบร้อยระเบียบหมู่ในพิธีบรมราชาภิเษก  นี่แหละคือโฉมหน้าที่แท้จริงของคำว่าแฟนตาซี  ภายในแดนเนรมิตที่เป็นเวทีหนึ่งของจิตใต้สำนึกนี้ แทนที่เราจะค้นพบตัณหาต้องห้ามฝังลึกอยู่ในใจที่อย่างน้อยก็เอาไปอวดจิตแพทย์ได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนเราที่แท้จริงนะ เรากลับพบแต่การทำงานอัตโนมัติของสัญระเบียบอันเป็นอื่น (The Symbolic Other) กล่าวคือ คูเรเนสได้รับสถานะความเป็นกษัตราธิราชจ้าว (คือไรวะ) จากข้าทาสบริวารที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจความเพ้อฝันของคูเรเนสผู้ได้รับสถานะความเป็นกษัตราธิราชจ้าว (คือไรวะ) จากข้าทาสบริวารที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจความเพ้อฝันของคูเรเนสผู้ได้รับ . . .ฯ  เป็นวงเวียนอุบาทว์งูกินหางขี้ออกมาเป็นหางให้ตัวเองกินไปไม่มีที่สิ้นสุดสืบไปตลอดกาลนานอย่างที่ว่า  บทเรียนหนึ่งของละค็องตรงนี้ก็คือ ความเพ้อฝันหรือแฟนตาซีมันมีอำนาจเหนือความรู้สึกนึกคิดจนแทบจะแยกมันจากกันไม่ออก  อีกตัวอย่างตัวละครวิกลจริตที่เข้าใจได้ง่ายกว่าแต่จริงๆมีโครงสร้างความวิกลเหมือนกัน คือตัวละครฉายากษัตริย์คลั่ง (Mad King) ในซีรี่ยส์ดัง มหาศึกชิงบัลลังก์ (Game of Thrones) (ชิงกันทำซาก?) ซึ่งฉายานี้มีคนตั้งให้ก็ตอนที่ตัวกษัตริย์เริ่มใช้ความชอบธรรม(ตามอำนาจรัฐกำหนด)สั่งประหารประชาชน  คูเรเนสกับกษัตริย์คลั่งอาจเป็นผลพวงจากวัตถุสภาพที่แตกต่างกัน แต่ในทางหลักการแล้วความวิกลจริตของทั้งสองมาจากแหล่งเดียวกันคือสถานะความเป็นกษัตริย์อันเป็นเพียงนิยาย อย่างที่ละค็องว่าไว้ “ถ้าคนที่คิดว่าตัวเองเป็นกษัตริย์เป็นคนบ้า กษัตริย์ที่คิดว่าตัวเองเป็นกษัตริย์ก็บ้าพอกัน”9 เพราะฉะนั้นพอรู้อย่างงี้แล้วคราวหน้าสมมุติเวลาเราไปเดินห้างสรรพสินค้า สมมุตินะครับ ในประเทศสมมุติแถบทวีปยุโรปในโลกต่างมิติสมมุติขึ้นมา พลันหันขวับไปเห็นชายแก่แต่งตัวโชว์พุงพลุ้ยครึ่งโป๊เดินดุ่ยๆแบบไม่แคร์ใคร เราไม่ควรไปว่าเขาว่าบ้าเพราะเขาแต่งตัวแบบนั้น มันเป็นแค่ความสุขส่วนตัว อย่างน้อยเราควรจะเอาเขามานั่งจับเข่าคุยกันก่อน อย่างน้อยดูว่าเขาใช้ภาษาพูดเรียกเราในบทสนทนายังไง ถึงจะรู้ว่าจริงๆแล้วบ้าขนาดไหน

จากตัวอย่างราชันย์คูเรเนสที่ดูผิวเผินเหมือนไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเมืองดังที่ได้อธิบายไป ท่านผู้อ่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ก็อาจจับเค้าได้แล้วว่าในประเทศอันเจริญ(ด้วยการปล้นทรัพยากรจากชนชาติอื่น)แล้วอย่างสหรัฐมะกัน มันก็มีสิ่งที่เรียกว่าสลิ่มอยู่  หนึ่งในคราบของมันก็คือพวกคลั่งยึดติดปรัชญาโลกร้ายนิยมอย่างเลิฟคราฟท์ ที่ใส่เสื้อยืดสีเทาดำอึมครึมยังกับชาวอีโมแต่ซ่อนเสื้อรองในสามสีสดใสของความเป็น poser เอาไว้ (หยอกชาวอีโมเล่นนะคร้าบ >.<”)  คือปากชอบอวดถึงศีลธรรม, อารยธรรม และความเชื่อที่ว่ามนุษย์มันเป็นสิ่งเล็กน้อยด้อยค่าภายในอนันตจักรวาล แต่เอาเข้าจริงในงานเขียนของตัวเองพอมีสิ่งที่เรียกว่า อำนาจ ปรากฏอยู่ อำนาจกลับกลายเป็นสิ่งชอบธรรมตามพฤตินัยโดยอัตโนมัติ เช่น อาณาจักรศักดินาตลอดกาลของคูเรเนส, ไม่ก็ตอนที่รัฐบาลกลางมะกันใช้ตอร์ปิโดถล่ม ใช้กำลังทหารเข้าล้างบางเมืองอินสะเม้าในเรื่องยาว กาเหว่าที่อินสะเม้า (The Shadow Over Innsmouth)10, แม้แต่ที่ทั่นจ้าวปางอื่น นยาละโทเท็ป ได้เสด็จมาทรงโปรดสัตว์โลกในเรื่องสั้น นยาละโทเท็ป (Nyarlathotep) ก็แทบจะเหมือนข่าวพระราชกรณียกิจหรือตอนหนึ่งจากพุทธประวัติยังไงยังงั้น11 ว่ากันง่ายๆก็คือ “ปรัชญา”ของเลิฟคราฟท์จริงๆมันคือการคงสภาพอำนาจรัฐภายใต้หน้ากากความคลั่งไคล้ปรวิสัย ความคลั่งไคล้การใช้วิทยาศาสตร์มาเป็นข้ออ้าง  ก็ไม่อยากจะว่าเลิฟคราฟท์ว่าขี้ขลาด แต่ก็อดไม่ได้ที่จะอุปมาระหว่างความพยายามอัน “ล้มเหลว” ของเขาที่จะเกณฑ์ทหาร (คือเออออตามป้าที่ออกมาวิ่งเต้นว่าร่างกายอ่อนแอ) เพื่อร่วมต่อสู้ในสงครามฝรั่งครั้งที่ 1 ([Farang’s] World War I) กับคำอ่านของอะเลง บะดยิว (Alain Badiou) ที่อ่านสิ่งที่เรียกว่า “ทหาร” (ไม่ใช่ “นักรบ”) ในบทกวียุคร่วมสมัยว่าเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนวีรบุรุษแห่งประชาธิปไตย เป็นตัวแทน “พลังของสัตว์มนุษย์ที่สามารถสร้างสรรค์ผลักดันให้เกินขีดความสามารถของตัวเองออกไป”12

Some Traversals Old and Newประยุกต์ใหม่ปลาดคดี

ใน สมมติฐานคอมมูนิสท์ (The Communist Hypothesis) บะดยิวกล่าวไว้ “การเมืองเป็นสิ่งที่แยกตัวออกจากอำนาจปกครองโดยสิ้นเชิง . . . การเมืองแสดงให้เราเห็นว่าความเท่าเทียมกันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อความเท่าเทียมเป็นของมนุษย์ทุกผู้คนอย่างแท้จริง”13  ท่านผู้อ่านเคยได้ยินนิยามของการเมืองแบบนี้ในการสนทนาสาธารณะหรือไม่  ปัจจุบันคำว่าการเมืองถูกทำให้ฟังดูเป็นเรื่องร้าย ถูกผูกขาดโดยกลุ่มอำนาจทำให้เป็นสิ่งจำเพาะ ยกตัวอย่างแบบง่ายๆในประเทศไทย มีมนุษย์เอกชนกลุ่มหนึ่งที่อยู่นอกเหนือรัฐธรรมนูญ  เป็นกลุ่มที่เค้าว่ากันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์อยู่เหนือเวที “การเมือง” ที่เหล่า “นักการเมือง” อันเป็นมนุษย์ชั้นต่ำกว่า แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นชิงเก้าอี้ชิงผลประโยชน์ส่วนตน บุคคลกลุ่มนี้อยู่ในโลกต่างมิติคู่ขนานที่มนุษย์ได้แต่จินตนาการว่ามันเป็นยังไงเช่นเดียวกับอาซาท็อทและจ้าวปางอื่นองค์อื่นๆในนิยายของเลิฟคราฟท์  ผลที่ตามมาก็คือในสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจากภาษาไทยทางการ, ประวัติศาสตร์ไทยทางการ, และศาสนาไทยทางการอันเป็นอื่น  มันทำให้คำว่าการเมืองมีความหมายในแง่ลบว่าเป็น “การอำนาจ”  ดังนั้นตามมารยาทชาวพุทธไทยอันดีงามเราจึงไม่ควรพูดเรื่องการเมืองเวลากินข้าว, ในห้องเรียน, บนรถไฟฟ้า, ในที่ทำงาน, ห้ามถ่ายทอดมาเป็นงานศิลป์, หรือแม้แต่จะเอาไประบายให้จิตแพทย์ฟังก็ยังติดลำคออยู่ และอื่นๆ  สิ่งที่บะดยิวและเหล่ามาร์กซิสท์ทั้งหลายเอากลับมาให้ประชาคมโลกก็คือคำว่าการเมืองที่ใส่เขี้ยวเล็บกลับเข้าไปแล้ว คือการเมืองที่มีความหมายในแง่บวกว่า “กิจการการปลดปล่อย” เป็นกิจการที่เราอาจจะลืมไปแล้วในยุคทุนนิยมนีโอลิเบอรัล

ถ้าเราใช้คำนิยามการเมืองอย่างหลังนี้ ก็จะเห็นได้ว่างานเขียนของเลิฟคราฟท์ไม่มีเนื้อหาทางการเมืองใดๆทั้งสิ้น เป็นเนื้อหาการอำนาจทั้งนั้น ขนาดสัตว์ประหลาดต่างๆ ของเลิฟคราฟท์ยังแยกเป็นชนชั้นไปตามพลัง บนสุดมีอาซาท็อท ล่างสุดมีเมือกผู้ต่ำต้อยช็อกก็อธจากเรื่องยาว ณ เทือกเขาวิกลจริต (At the Mountains of Madness) เป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยต่างดาวชาว Elder Things เพื่อใช้เป็นแรงงานโดยเฉพาะ ก็ตามระเบียบจินตนาการสลิ่มของเลิฟคราฟท์ พอช็อกก็อธก่อ “กบฏ” ผลที่ตามมาก็คืออารยธรรมพังพินาศ เป็นจุดจบเดียวกับที่เลิฟคราฟท์สาปแช่งไว้แก่เหล่าโบลเชวิครัสเซีย, กระแสการเคลื่อนไหวของชนชั้นแรงงานในสหรัฐมะกัน14, และมนุษยชนที่ผิวไม่ใช่สีขาว  ถึงตรงนี้ก็สรุปได้ว่าเลิฟคราฟท์ยอมแพ้ต่อความจริงแท้ถึงสองครั้ง คือ 1) ตัวอาซาท็อทบ่งบอกถึงหลุมดำในความเป็นจริงทางปรัชญา และ 2) ตัวช็อกก็อธบ่งบอกถึงความเสื่อมสมรรถภาพทางการเมืองของเขา  ไม่แปลกที่ ไชน่า มีวิลล์ (China Miéville) เลือกที่จะประยุกต์ปลาดคดีกระแสใหม่โดยเริ่มจากการอ่านช็อกก็อธใหม่ จากที่เป็นสัตว์ประหลาดไร้จิตวิญญาณกลายเป็นสัตว์ประหลาดกรรมาชีพตัวสำคัญในนิยายแนวซายฟาย15 เหตุที่ตอนนี้เลิฟคราฟท์ยังโลดแล่นในกระแสวิจารณ์อยู่ก็เพราะยังมีคนพูดถึงเลิฟคราฟท์ผ่านกระบวนการวิภาษเช่นนี้ นอกกระบวนการนี้แล้วก็จะเจอแต่เลิฟคราฟท์ที่ถูกยกให้เป็นวัตถุตายตัว เช่น เวลามีนักเขียนคนอื่นออกมาวิจารณ์ความสลิ่มของเลิฟคราฟท์ อีตาโจฉีก็จะออกมาด่านักเขียนคนนั้นซะยับ, เวลาที่พวกวิเดโอเกมส์หรือการ์ตูนหยอดชื่อเลิฟคราฟท์ผ่านๆแบบขอไปทีให้ตื่นตาตื่นใจผู้บริโภค, หรือเวลาที่ถูกใช้เป็นวัตถุเอาไปครุ่นคิดมากทางอภิปรัชญาอย่างเช่นหนังสือ ในเถ้าถุลีของโลกใบนี้ (In the Dust of This Planet) ของยูจีน แธ๊กเก้อ (Eugene Thacker), และอื่นๆ

สภาพวัตถุตายตัวที่ถ้าสลิ่มตัวพ่ออย่างเลิฟคราฟท์ยังมีชีวิตอยู่คงคิดว่าน่าอายที่สุด ก็มาจากโจฉีอีกนั่นแหละ ในหนังสือชีวประวัติของเลิฟคราฟท์เล่มที่มีวิชาที่สุดในโลก ข้าคือโพรวิเด๊นซ์ (I Am Providence) โจฉีกล่าวไว้ว่า ที่เลิฟคราฟท์เกลียดชังประชาธิปไตยนั้นเห็นอยู่ชัดๆว่ามาจากฐานปรัชญาของนายนีทชี่16 (Nietzsche) แล้วตัดเอาโคว้ตหนึ่งของนีทชี่มาจากหนังสือ ตะวันลับขอบฟ้า เหล่าเทวรูปบอกลา บ๊ายบาย (Twilight of the Idols) “ ข้าพเจ้า . . . สรุปลักษณะของประชาธิปไตยร่วมสมัยได้ว่า . . . มันคือสภาพรัฐที่กำลังผุพังลงนั่นเอง”  เลิฟคราฟท์ตายมาแปดสิบกว่าปีแล้วก็ยังมีเสียงอันเป็นอื่นคอยพูดแทนอยู่ตลอด แต่กลายเป็นว่าเสียงอันเป็นอื่นของโจฉีที่เสื่อมสมรรถภาพอยู่ต่อหน้ากระแสประวัติศาสตร์นี้ได้หลุดปากออกมาช่วยยืนยันความจริงทางการเมืองอันเป็นความจริงแท้ของคอมมูนิสซึ่ม ที่หาได้อยู่ในคำพูดของใครอื่นนอกจากสหายเลนินที่ว่า “ยิ่งสิ่งที่เรียกว่ารัฐยิ่งเป็นประชาธิปไตยมากเท่าไหร่ . . . รัฐก็จะยิ่งเริ่มเหี่ยวแห้งลงเร็วเท่านั้น”17 ก็จริงอยู่ที่ว่าความกลัวความเสมอภาคของเลิฟคราฟท์มันเป็นสายนีทเชี่ยนอย่างเห็นได้ชัด แต่ที่สำคัญกว่านั้นมันมีนัยความเป็นเลนินนิสท์แฝงอยู่!!!

ด้วยความที่อัตตะตนของพวกหลับหูหลับตาคลั่งเลิฟคราฟท์ดูจะยังทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่รับรู้ถึงความรุนแรงของความเพ้อฝัน ข้าพเจ้าจึงขอหวนกลับไปหาความเป็นไปได้ใหม่ในเรื่องสั้น สบายสบายล่องน้ำจ้าวพระญานน์ (Idle Days on the Yann) ของพระยาดันเซนี่ (Lord Dunsany) ไอด้อลของเลิฟคราฟท์ เป็นการส่งท้ายด้วยปลาดคดีประยุกต์หนึ่งเพลงรบ  ในวันฟ้าใสสบายสบายวันหนึ่งขณะล่องแม่น้ำจ้าวพระญานน์ เรือใบสินค้า Bird of the River มาเทียบท่า ณ เมืองมานดารูน ตัวเอกลงจากเรือไปเดินเล่นจนมาถึงประตูเมือง เมื่อมองเข้าไปก็เห็นภาพพลเมืองมานดารูนหลับปุ๋ยกันหมด ทั้งหลับในบ้านทั้งหลับตามพื้นในตลาดเกลื่อนกลาดกันไปทั่ว ตัวเอกเดินมาที่ป้อมรักษาการณ์จะถามนายทวารว่าเกิดอะไรขึ้น นายทวารแก่หง่อมก็เอานิ้วชู่ปากให้เงียบๆ แล้วกระซิบให้ฟัง “ภายในทวารประตูนี้ห้ามมิให้ผู้ใดส่งเสียงถามคำถาม ด้วยว่ากลัวชาวเมืองจะตื่นเถิดดดดด เพราะถ้าชาวเมืองนี้ตื่นขึ้นมาแล้วเหล่าทวยเทพก็จะถึงคราต้องม้วยมรณา แล้วพอเหล่าทวยเทพม้วยมรณาก็ถึงคราที่มนุษยชนจะไม่มีความฝันอีกต่อไป”18 มาแนวเดียวกับเซเลฟเฟซ ของเลิฟคราฟท์แต่ต่างกันที่จุดหักมุมสำคัญ ที่ในคำพูดของนายทวารยอมรับว่าการกดขี่คือเงื่อนไขข้อกำหนดหนึ่งในการดำรงความเพ้อฝัน ชาวมานดารูนซึ่งเป็นส่วนเกินเหลือของมนุษยชนทั้งหมดถูกบูชายัญให้เหล่าทวยเทพเอาไปสูบกินเลี้ยงชีวิตปรสิต ตรรกะสลิ่มจึงปั่นป่วนไปหมดพอได้เจอชาวเมืองมานดารูนตัวเป็นๆ เดินใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ เพราะแค่ความเป็นตัวเป็นๆเปล่าๆของชาวมานดารูนเท่านั้นแหละมันก็สื่อออกมาแล้วว่ามนุษยชนไม่จำเป็นต้องมีทวยเทพในชีวิตมาตั้งแต่ไหนแต่ไร

  1. เลิฟคราฟท์เป็นพวกชอบดูดาวสมัครเล่น ชอบไปใช้บริการหอดูดาว Ladd Observatory ที่บ้านเกิดเมืองนอนโพรวิเด๊นซ์บ่อยๆ ดาวยักก็อธนี่ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากตอนที่ค้นพบดาวพลูโต
  2. ใน ค.ศ. 1980 สนพ. เนโครโนมิค่อน (Necronomicon Press) ตีพิมพ์แค๊ตตาล็อกรวมรายการหนังสือในห้องสมุดส่วนตัวของเลิฟคราฟท์ ปรากฏว่าที่เลิฟคราฟท์ชอบโม้เกี่ยวกับโชเป็นอาวเอ้อ (Schopenhauer) และนีทชี่ในจดหมายหรือบทความบ่อยๆ ทั้งที่จริงๆไม่เคยมีงานเขียนของทั้งสองคนในความครอบครองเลย มีสองรายการที่จำแนกใต้หัวข้อ ปรัชญา คือหนังสือของนายจอห์น ฟิสคค์ (John Fiske) นักปราชญ์ “สายธรรมชาติ” กับนายเอิร์นส ฮัยค์เค้ล (Ernst Haeckel) นัก “วิทยาศาสตร์” ส่งเสริมความเหนือชั้นของเผ่าพันธุ์อารยันที่พวกนาซีเอาไปศึกษาต่ออย่างแพร่หลาย มีหนังสือเล่มเดียวของเลิฟคราฟท์ที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาโมเดิ้นคือ ประวัติปรัชญา (The Story of Philosophy) ของนายวิล ดูแร้น (Will Durant)
  3. เลิฟคราฟท์เปิดบทความขนาดยาวใน ค.ศ.1927 ที่ชื่อ “เรื่องสยองขวัญเหนือธรรมชาติในวรรณคดี” (“Supernatural Horror in Literature”) ด้วยประโยคว่า “อารมณ์ที่เก่าแก่และแก่กล้าที่สุดของมนุษย์คือความกลัว และความกลัวที่เก่าแก่และแก่กล้าที่สุดคือความกลัวในสิ่งที่ไม่อาจล่วงรู้”
  4. ผู้ศึกษาปลาดคดีมาคงเห็นความคล้ายคลึงสุดๆระหว่างอาซาท็อทและเทพสูงสุดของพระยาดันเซนี่นาม มานะ-ยู้ด-สุชาย (Māna-Yood-Sushāi) จากเรื่อง ทวพเทพแห่งเพกานา (The Gods of Pegāna)  ในอัตชีวประวัติเลิฟคราฟท์ก็ยอมรับว่าชื่อเหล่าทวยเทพไท้, ชื่อดวงดาวและสัตว์ประหลาด ก็ได้รับแรงบันดาลใจการตั้งชื่อมาจากพระยาดันเซนี่นี่แหละ ขอแนะนำให้ไปอ่าน ทวพเทพแห่งเพกานา เพราะนักเขียนแนวแฟนตาซีเมายา (High Fantasy) ยกย่องให้เป็นตัวอย่างการสร้างเทพปกรณัมสมัยใหม่ที่มีวิชาสูงส่งที่สุด
  5. HPL, “Celephaïs”, The Complete Fiction, (Barnes & Noble, 2011), 114.
  6. Bruce Fink, The Lacanian Subject, (Princeton University Press, 1997), 94.
  7. ST Joshi, The Weird Tale, (Wildside Press, 2003), 184. ในย่อหน้านี้โจฉีวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าการที่เลิฟคราฟท์เปลี่ยนวัตถุสูญหายในจินตนาการจากเซเลฟเฟซในเรื่องเซเลฟเฟซ ไปเป็นวัตถุสูญหายในโลกความเป็นจริงคือเมืองบอสตั้นแมสซาในเรื่องนิมิตรมหากาพย์เทพวิหารลี้ลับ ก็ส่อให้เห็นว่าเลิฟคราฟท์กำลังจะเริ่มใช้สัจนิยมมากขึ้นในงานเขียนยุคหลัง
  8. แปลเองขำเอง
  9. Jacques Lacan, Presentation on Psychical Causality”, Écrits: The First Complete Edition in English, (W. W. Norton & Company, 2007), 139.
  10. HPL, “The Shadow over Innsmouth”, The Complete Fiction, 807.
  11. HPL, “Nyarlathotep”, The Complete Fiction, 121. “และตอนนั้นเองนยาละโทเท็บก็เสด็จมาโปรดจากอียิปต์ เขาเป็นใครไม่มีใครรู้แต่เขามีเลือดข้าเก่าไหลทั่วกายและเขามีหน้าตาเหมือนองค์ฟาโรห์ ชาวบ้านเลี้ยงแกะก้มกราบเมื่อเขาเสด็จดำเนินผ่านแต่ก็บอกไม่ได้ว่าก้มกราบไปทำไม”
  12. Alain Badiou, Philosophy for Militants, (Verso, 2015), 43.
  13. Alain Badiou, The Communist Hypothesis, (Verso, 2015), 14.
  14. HPL, “Bolshevism”, Collected Essays: Volume 5:Philosophy;Autobiography and Miscellany, edited by ST Joshi, (Hippocampus Press, 2006), 37-38.
  15. ถ้าสนใจการปฏิวัติปลาดคดี ให้ไปอ่านบทความ Sympathy for the Shoggoth: China Miéville’s Revolution of the Weird Tale (http://79.170.40.240/infiniteearths.co.uk/?p=509) ของ Christina Scholz  ตัว Scholz เองได้สรุปตัวไชน่า มีวิลล์ได้เมาะเหม็ง: ถ้าเราเออออตามที่สตีเฟ่น คิง (Stephen King) ว่าไว้คือเลิฟคราฟท์เป็นจ้าวชายของปลาดคดี ไชน่า มีวิลล์ก็เปรียบได้เป็นนักปฏิวัติของวงการนี้
  16. ST Joshi, I Am Providence: The Life and Times of H.P. Lovecraft, (Hippocampus Press, 2010), 487.
  17. Vladimir Lenin, The State and Revolution, (Aziloth Books, 2017), 86.
  18. Lord Dunsany, “Idle Days on the Yann”, Tales of Three Hemispheres, (John W. Luce, 1919), 76.