อารัมภบท

ภาพข่าวในหนังสือพิมพ์ สยามนิกร  (1 พ.ค. 2493, หน้า 10), ที่มา: หอสมุดแห่งชาติ

บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์อ่านเธอปรารภมาหลายครั้งว่า ดิฉันน่าจะเขียนงานลงใน อ่านออนไลน์ บ้าง ดิฉันรับคำเธอทุกครั้ง แต่ยังโอ้เอ้วิหารรายประสาคนเรื่อยเฉื่อย ทั้งนึกเท่าไรก็นึกไม่ออกว่าจะสรรหาสิ่งใดมาขีดเขียนในบ้านเมืองยามวิกลและวิกาลเช่นนี้

แต่แล้ววันหนึ่ง ดิฉันเกิดสำนึกว่า มัวผัดวันประกันพรุ่งอยู่อย่างนี้คงไม่เข้าที จึงงัดภาษิต “สิบเบี้ยใกล้มือ” มาใช้ แล้วค้นดูในกรุสมบัติที่เป็นจำพวกหนังสือพิมพ์กับนิตยสารเก่าๆ จำนวนหนึ่ง ซึ่งสำนักพิมพ์อ่านค่อยๆ รวบรวมเรื่อยมาในระหว่างการทำงาน และเรียกกันอย่างลำลอง (แต่ออกจะหรูหรา) ว่า “AAN ARCHIVE”

ในที่สุดดิฉันก็ปลงใจ “เอาวะ … เขียนเรื่องหนังสือพิมพ์เก่าๆ นี่แหละ”

…..

Have you seen the old man in the closed down market.
Kicking up the papers with his worn-out shoes?
In his eyes, you see no pride. Hands held loosely at his side.
Yesterday’s paper, telling yesterday’s news.”

ตอนคิดหาชื่อคอลัมน์ ดิฉันแน่ใจว่า ถ้าเสนออะไรทำนอง “วันนี้ในอดีต” ไป ไม่ว่าใครๆ ก็คงส่ายหน้า ครั้นจะเรียกมันว่า “In Search of Lost Time” ก็จะไปเทียบรุ่นกับชื่อหนังสือดังระดับโลกอย่างผิดฝาผิดตัว

โชคดีที่วันหนึ่ง เสียงเพลง “Streets of London” แว่วเข้าหูโดยบังเอิญ ดิฉันจึงถือโอกาสขอยืมคำจากเนื้อเพลงนี้มาใช้งาน ทั้งยังรู้สึกใจชื้นว่าตั้งชื่อได้ “ฝรั่งเข้าท่า”  ทว่าไม่ทันไร เพื่อนต่างวัยคนหนึ่งก็ทำหน้างุนงงกับเพลงประหลาดที่เธอไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน ดิฉันรู้สึกเขินและขำวัยวันของตัวเอง จึงได้แต่ฮัมเพลงต่อผิดๆ ถูกๆ

“Have you seen the old girl who walks the streets of [Siam].
Dirt in her hair and her clothes in rags?
She’s no time for talking. She just keeps right on walking
Carrying her home in two carrier bags.”

…..

เนื้อหาของ ”Yesterday’s Papers” ควรเป็นอย่างไรนั้น ดิฉันคิดไปมาอยู่หลายตลบ หยิบข่าวสารเมื่อปีมะโว้มาเล่าสู่กันฟังเฉยๆ ผู้อ่านคงบ่น ว่าชีวิตแต่ละวันก็ย่ำอยู่อย่างย้อนยุคมายาวนานกว่าห้าปีแล้ว ยังจะมาให้อ่านเรื่องราวถอยหลังไกลออกไปหลายเท่าตัวอีกทำไมกัน

แต่เมื่อลองขุดค้นหนังสือพิมพ์และนิตยสารเก่าๆ มาพลิกอ่านดูว่ามีอะไรที่จะพอเทียบโยงข้ามเวลากลับมาหาเราๆ ท่านๆ ในปัจจุบันได้บ้าง ดิฉันพบว่ามันก็เข้าทีอยู่

หวนหาอดีต?  ดิฉันว่ามันก็ไม่เชิง เพราะข่าวสารที่พลัดหายไปบางเรื่อง ก็ชวนให้เราทบทวนตัวเองเมื่อมาอ่านใหม่ได้ในบางแง่มุมเหมือนกัน ยังไม่นับว่ามันอาจปะเหมาะพอดีกับบ้านเมืองเราที่ถอยหลังไปจากสมัยประชาธิปไตยเสียไกลโขเช่นทุกวันนี้

และที่สำคัญ เรื่องสัพเพเหระที่จะมาชวนกันอ่าน ก็ยังอาจปลอบใจเราให้ได้ผ่านชีวิตในยามยากนี้ไปด้วยกัน ในระหว่างรอเวลาฟ้าพลิก แผ่นดินคว่ำ !!!

หัวข้อที่ดิฉันนึกออกคร่าวๆ ก็มีอาทิ

ภาพยนตร์เรื่อง The Great Dictator เข้าฉายในเมืองไทยตั้งแต่ก่อนปี 2500 และมีคนเขียนถึงไว้ด้วย งานรีวิวรุ่นเก่าเมื่อเรายังไม่เกิดเป็นยังไง มาลองอ่านกันดู

หนังสือหนังหาแบบไหนที่ลงโฆษณาตามหน้าหนังสือพิมพ์สมัยก่อน สำนักพิมพ์มีชื่อเรียงเสียงไรกันบ้าง ทำไม ส.ส.สมัยก่อนขยันเขียน (และแปล) หนังสือกันจัง?

ส.ส. หญิงยุคบุกเบิกมีใครเป็นใคร ทำงานกันแข็งขันขนาดไหน?

การเดินทางไปแสวงบุญที่เมกกะของชนมุสลิมเมื่อ 70 ปีก่อน ลำบากลำบนกันเพียงไร

วันที่สี่รัฐมนตรีอีสานถูกยิงสังหารกลางเมืองทั้งที่ใส่กุญแจมืออยู่นั้น มีรายงานข่าวเกี่ยวกับครอบครัวของพวกเขาอย่างไร และอีกสองปีให้หลัง ใครกันเอาเหล้าไปไหว้กระดูกของพวกเขา

และ/หรือ

หากย้อนกลับไปเมื่อหกเจ็ดสิบปีก่อนได้ เราควรยืมนาฬิกายี่ห้อไหนจากเพื่อนดี? (ฮา)

อย่างนี้เป็นต้น

หรืออาจบางคราว ดิฉันจะหยิบงานที่อยากชวนอ่านมาให้อ่านเฉยๆ โดยไม่พูดพร่ำทำเพลง ก็หวังว่าคุณผู้อ่านคงไม่ว่ากัน

…..

อารัมภบทมาเสียยืดยาว ดิฉันขอประเดิมเริ่มเรื่องดีกว่า ว่าทำไมจึงเลือกเอาหน้าแฟ้มภาพของหนังสือพิมพ์ สยามนิกร ข้างต้นมาเป็นรูปเปิดคอลัมน์นี้

อันที่จริง รูปที่ดิฉันสนใจคือรูปตรงกลางทางฝั่งซ้ายของหน้า เป็นรูปผู้หญิงสองคนยืนอยู่

พวกเธอคือใคร?

คนซ้ายมือคือ อรพิน ไชยกาล ผู้แทนราษฎรหญิงคนแรกของไทย ส่วนขวามือคือ ละเอียด พิบูลสงคราม ในตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ทั้งสองคือ ส.ส. และ ส.ว. หญิงยุคแรกของเรา

ที่น่าสนใจยิ่งกว่าภาพ คือคำบรรยายภาพ:

ดอกไม้ในรัฐสภา โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง นางละเอียด พิบูลสงคราม ภริยานายกรัฐมนตรี ได้ก้าวเข้าสู่วุฒิสภา และโดยประชาชนแต่งตั้ง นางอรพิน ไชยกาล ภริยา รมต. เลียง ไชยกาล ได้มีที่นั่งในสภาผู้แทน นับเปนประวัติการณ์แห่งรัฐสภาไทย”

ดิฉันบังเอิญผ่านตามาเห็นภาพนี้เข้าเมื่อนานมาแล้ว ตอนแรกนึกขัดใจอยู่บ้างกับหัวข้อ “ดอกไม้ในรัฐสภา” (ก็ทำไมผู้หญิงต้องเป็นดอกไม้?) แต่เมื่ออ่านคำบรรยายเรียบง่ายไม่กี่บรรทัด ที่ให้ข้อมูลครบครันชัดเจน ก็ให้รู้สึกชื่นชมนักหนังสือพิมพ์นิรนามที่ผ่านเลยเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมไปจับที่เนื้อหาข่าวอีกด้านหนึ่งอยู่หมัด

และด้วยความเปิ่นของตัวเอง ทีแรกดิฉันไพล่ไปนึกเสียดายที่ในคำบรรยายภาพไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าเป็นภาพถ่ายที่ไหน? จนเมื่อลองคิดทบทวนอีกทีจึงได้มาถึงบางอ้อ

นักการเมืองหญิงทั้งสองต้องยืนอยู่มุมใดมุมหนึ่งของพระที่นั่งอนันตสมาคมแน่นอน เพราะใครๆ ในสมัยนั้นก็รู้กันทั่วว่านั่นคือที่ประชุมรัฐสภา (ไม่มีใครต้องสับสนว่าเป็นสภาทีโอที หรือสัปปายะสภาสถาน ณ เกียกกาย นี่นา)

อย่างนี้แล้ว นักหนังสือพิมพ์นิรนามจะต้องเขียนย้ำให้เยิ่นเย้อทำไมกัน  คำบรรยายภาพนี้จึงครบถ้วนกระบวนความและพอเหมาะพอดีกับความรู้ความเข้าใจของผู้อ่านในเวลานั้นแล้ว

ดิฉันลองค้นหาข้อมูลเพื่อยืนยันเรื่องสถานที่ประชุมรัฐสภาในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ปรากฏว่ามีภาพข่าวการประชุมรัฐสภาเป็นการลับเพื่อพิจารณาเรื่องส่งทหารไปช่วยรบในสงครามเกาหลีตามคำขอของสหประชาชาติ อยู่ในหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ สยามนิกรวันจันทร์ ฉบับวันที่ 24 กรกฎาคม 2493

แม้ว่าในภาพข่าวจะเห็นสภาพภายในพระที่นั่งอนันตสมาคมไม่ชัดเจน แต่จากการสืบค้นภาพเปรียบเทียบภายในพระที่นั่งอนันตสมาคมกับฉากหลังเพียงเลาๆ ในภาพข่าวนี้ พบว่าเหล่าผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่มากนัก นั่งประชุมกันภายในโถงกลางพระที่นั่งอนันตสมาคมอย่างแน่นอน

แต่พอมาถึงตรงนี้ ดิฉันอดไม่ได้ที่จะคิดต่อไปถึงอาณาบริเวณโดยรอบพระที่นั่งอนันตสมาคม พระบรมรูปทรงม้า และเขาดินวนา ซึ่งเป็นละแวกที่เคยมีหมุดคณะราษฎรฝังอยู่บนพื้นธรณี

แน่นอน … แม่พระธรณีย่อมเป็นพยานสำคัญต่อการมีอยู่ รวมทั้งการหายไป ของหมุดหมายแห่งระบอบประชาธิปไตยของบ้านเมืองเรา

แล้วความคิดของดิฉันก็ล่องลอยถอยกลับไปถึงศรีปราชญ์ คิดถึงงานของเขา “ธรณีนี่นี้เป็นพยาน” ดิฉันท่องโคลงต่อไปในใจจนจบ

ประมาณนี้แหละค่ะ เรื่องสัพเพเหระที่จะมาชวนอ่านกัน

Let me take you by the hand and lead you through the streets of [yes … Siam]
I’ll show you something to make you change your mind.”