สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พิมพ์ครั้งที่ 2

260 ฿340 ฿

รหัสสินค้า: ไม่ระบุ หมวดหมู่: ,

รายละเอียด

อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์
การก่อรูปรัฐไทยสมัยใหม่จากศักดินานิยมสู่ทุนนิยมรอบนอก
ผู้เขียน ไชยันต์ รัชชกูล
ผู้แปล พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์
บรรณาธิการแปล ไอดา อรุณวงศ์
คำนำเสนอ วรเจตน์ ภาคีรัตน์

แปลจาก The Rise and Fall of the Thai Absolute Monarchy
จัดพิมพ์โดย White Lotus, Bangkok 1994
ลิขสิทธิ์ฉบับภาษาอังกฤษ ©1994 Chaiyan Rajchagool
ลิขสิทธิ์บทแปลภาษาไทย © พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ และสำนักพิมพ์อ่าน 2560

พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2560
พิมพ์ครั้งที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564
เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ (ISBN)
ปกอ่อน 978-616-7158-70-9
ปกแข็ง 978-616-7158-69-3
จำนวนหน้า 296 หน้า

สารบัญ
หมายเหตุสำนักพิมพ์
คำนำผู้เขียน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2
คำนำผู้เขียน ฉบับพิมพ์ครั้งแรก
คำนำเสนอ โดย วรเจตน์ ภาคีรัตน์
คำนำเสนอฉบับพิมพ์ภาษาอังกฤษ โดย ฮัมซา อะลาวี
บทที่ 1 ฉากหลัง: สยามกลางศตวรรษที่สิบเก้า
บทที่ 2 การเปลี่ยนรูปทางการเมืองในสยาม
บทที่ 3 การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจและการก่อรูปชนชั้นในต้นศตวรรษที่ยี่สิบ
บทที่ 4 การก่อรูปรัฐในสยาม: การก่อรูปของรัฐในระบบทุนนิยมรอบนอก
บทที่ 5 รัฐในระบบทุนนิยมรอบนอก: ลักษณะเชิงวิเคราะห์และวิถีการทำงานในสยาม
บทที่ 6 กำเนิดชาตินิยมไทย
บทที่ 7 บทสรุป
ภาคผนวก
สยาม: ‘ถก แถ ถาม เถียง’

บางส่วนจากคำนำเสนอโดยวรเจตน์ ภาคีรัตน์

แม้หนังสือเล่มนี้จะได้รับการเผยแพร่มากว่ายี่สิบปีแล้วในภาษาอังกฤษ แต่ข้อมูล การตีความข้อมูล การตั้งคำถาม และความพยายามในการตอบคำถามเกี่ยวกับการก่อรูปของรัฐไทย กำเนิดและการจบสิ้นลงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งศตวรรษ ยังคงเป็นสิ่งที่น่าสนใจยิ่งสำหรับผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์การก่อตัวของรัฐไทย สำหรับผู้เขียนคำนำเสนอ สิ่งที่ชอบและประทับใจในงานเขียนเรื่องนี้คือวิธีอภิปรายให้เหตุผลหักล้างแนวความคิดและความเชื่อที่มีมาแต่เดิม ในขณะที่อ่านหนังสือเล่มนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนที่ท้องถิ่นทางเหนือพยายามต่อสู้กับอำนาจของส่วนกลางที่แผ่ขยายออกไปเพื่อผนวกรวม ผู้เขียนคำนำเสนอยังอดนึกถึงปัญหาทางการเมืองร่วมสมัยไม่ได้ สำหรับ
ประชาชนทั่วไปที่สนใจใฝ่รู้ความเป็นมาของรัฐไทยในช่วงก่อตัวและไม่ต้องการรับรู้แต่เพียงสิ่งที่ทางการโฆษณากล่อมเกลา หนังสือเล่มนี้จะเป็นเครื่องนำทางชั้นดีในการทำความเข้าใจอดีต จะช่วยทำให้ผู้อ่านมีทัศนะที่เที่ยงตรงขึ้น และมองเห็นพัฒนาการของรัฐไทยในแบบที่มันเป็น ไม่ใช่แบบที่ทางการต้องการให้มันเป็น

คำนำผู้เขียน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2

แนวการศึกษาหนึ่งของวิชาประวัติศาสตร์ คือการพยายามอธิบายความเป็นมาและสาเหตุของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อนำมาใช้มองความสนใจของผู้อ่านต่อหนังสือเล่มนี้ ก็ชวนฉงนว่าไฉนหรือหนังสือจึงขายได้จนกระทั่งถึงขายดี มันเนื่องมาจากแบรนด์ของสำนักพิมพ์? หรือของผู้เขียนคำนำเสนอ? หรือเพราะบรรยากาศแวดล้อมทางความคิดตั้งแต่ปี 2560 จนมาถึงกระแสการชุมนุมเรียกร้องที่ถือได้ว่าสะเทือนฐานรากของรัฐและสังคมในปี 2563? เราอาจจะต้องปล่อยให้คำถามนี้เป็นเรื่องของนักการตลาดในธุรกิจการพิมพ์ หรือกระทั่งให้เป็นธุระของนักประวัติศาสตร์ในอนาคตที่จะเสนอคำอธิบายว่าทำไมในช่วงเวลานี้จึงดูเหมือนมีผู้คนสนใจงานประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับพระราชาและสถาบันกษัตริย์กันมากเป็นพิเศษ

เมื่อย้อนมองถนนสายที่หนังสือเล่มนี้เดินทางมา ผู้เขียนขอบันทึกไว้อย่างไม่เขินอายว่า ดีใจจนออกนอกหน้า ด้วยความรู้สึกสองประการ คือ นอกเหนือจากความชื่นชมตนเอง (อะไรจะปานนั้น!!!) ที่งานซึ่งตรากตรำทำไว้ไม่ลอยหายไปในสายลมแล้ว ก็ยังยิ่งชื่นใจที่งานถกเถียงว่าด้วยพลังของเรื่องราวในอดีตที่สามารถเอื้อต่อความเข้าใจสภาพปัจจุบันนั้น ได้กลายมาเป็นข้อคิดที่ฟุ้งกระจายข้ามไปนอกกำแพงวิชาการมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อคิดนี้คงมิใช่เป็นสารหนึ่งเดียวของหนังสือเล่มนี้ แม้แต่ผู้เขียนเองก็ได้มาเห็นบางประเด็นที่ไม่ได้ตั้งใจจะสื่อมาแต่แรก

อนึ่ง นอกจากความฝันเฟื่องถึงการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ในสถาบันการศึกษา รวมถึงความเข้าใจของผู้คนตามถนนรนแคมต่ออดีตของประเทศไทยให้ต่างไปจากฉบับกระแสหลักที่เป็นอยู่ ผู้เขียนก็ยังมีความฝันเงียบๆ ในใจ แต่อยากให้ดังบนหน้ากระดาษนี้ว่า วันหนึ่ง ลูกคนกลางและคนสุดท้องที่อ่านออกเขียนได้ จะมาชำเลืองแลหนังสือที่พ่อมันเขียน อย่างน้อยก็เพื่อย้ำความมั่นใจว่า การไปร่วมชุมนุมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้น เป็นการกระทำที่ชอบแล้ว

ไชยันต์ รัชชกูล
พะเยา, ยามย่างเข้าฤดูหนาวปี 2563

หมายเหตุสำนักพิมพ์

ใต้เบื้องราศีของรัฐสยาม คือความมั่งคั่งที่รีดเร้นไปจากผู้ปกครองในภูมิภาค, เลือดของกบฏชาวนาภาคเหนือ, หยาดเหงื่อของชาวนาที่ราบภาคกลาง, เถ้าฝิ่น, กลิ่นเหล้า และบ่อนการพนัน (น.192)

ข้อความข้างต้นอาจสรุปภาพในทางเร้าอารมณ์จากงานเขียนเล่มนี้ได้ส่วนหนึ่ง แต่แท้แล้วงานประวัติศาสตร์ ‘ฮาร์ดคอร์’ ชิ้นนี้อุดมไปด้วยกรอบมโนทัศน์ทางทฤษฎีมาร์กซิสต์ที่ซับซ้อนนักเมื่อตัวงานเองก็ย้อนสนทนากับทฤษฎีดังว่า และยังย้อนศรงานประวัติศาสตร์ไทยที่มีมาก่อนหน้า โดยเฉพาะว่าวิทยานิพนธ์ซึ่งสำเร็จตั้งแต่ปี 1984 นี้คืองานชิ้นแรกมาหักล้างคาถาหลอกตัวเองเรื่อง ‘รัฐกันชน’ ของสยาม ทั้งบุกเบิกการตั้งข้อสังเกตนิยามมโนทัศน์ชาตินิยมแบบไทยว่าแท้แล้วคือ ‘ชาตินิยม/กษัตริย์นิยม’ ความ ‘ยาก’ ประสางานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของหนังสือเล่มนี้ที่ไว้ลายทางข้อมูลพอๆ กับทางทฤษฎี ทำให้การที่หนังสือขายหมดจนต้องพิมพ์ซ้ำนั้นเป็นเรื่องที่ชวนให้ตื้นตันใจว่าผู้อ่านไทยกำลังจริงจังกับการชำระประวัติศาสตร์ของประเทศเพียงใด และในฐานะงานแปล นี่ยังเป็นอีกเล่มสำคัญที่ผู้เขียนตกลงใจเดินตามนโยบายของสำนักพิมพ์อ่านที่ต้องการคงสายตาเป็นกลางทางวิชาการไว้ด้วยการสลัดมโนทัศน์เชิงคุณค่าสูง-ต่ำที่แทรกซึมอยู่ในขนบราชาศัพท์ไทยออกไป

สำนักพิมพ์อ่านขอแสดงความขอบคุณไว้อีกครั้งต่อ อ.ไชยันต์ รัชชกูล สำหรับการร่วมงานอย่างให้เกียรติยิ่งตั้งแต่ในขั้นการแปลจนถึงการบรรณาธิการ ขอบคุณ อ. ชาตรี ประกิตนนทการ สำหรับแบบปกที่สมและคมแก่เนื้อหา โดยมีคุณมกรา จันหฤทัย ลงมือสร้างอย่างวิจิตรในฉบับพิมพ์ครั้งแรก คุณพัชรพงศ์ กุลกาญจนาชีวิน สำหรับฉบับพิมพ์ครั้งที่สองซึ่งเป็นอีก ‘variation’ ขอบคุณบทแปลร่างแรกที่กระชับแม่นยำโดยคุณพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ ที่ต่อมาผ่านการสอบค้นข้อมูลโดย อ. สมิทธ์ ถนอมศาสนะ, ผ่านการจัดระบบโดยคุณวริศา กิตติคุณเสรี กับคุณเนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์ ก่อนจะมาถึงข้าพเจ้าซึ่งเป็นผู้ตรวจทานปรับแก้ทั้งหมดโดยได้รับคำปรึกษาหลายด้านจาก อ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ซึ่งข้าพเจ้าขอขอบคุณอย่างสูงไว้ ณ ที่นี้ ท้ายที่สุด ขอบคุณน้ำใจจาก อ. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ที่ตอบรับเขียนคำนำเสนอให้แก่หนังสือว่าด้วยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เยี่่ยงอาณานิคมเล่มนี้, ในพุทธศักราชนี้

ไอดา อรุณวงศ์

อื่นๆ

ปก

ปกแข็ง, ปกอ่อน