สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

ความงามของชีวิต และสังเขปประวัติ อัศนี พลจันทร

200 ฿

ราคานี้รวมค่าจัดส่งแบบลงทะเบียนแล้ว

หมวดหมู่:

รายละเอียด

ความงามของชีวิต และสังเขปประวัติ อัศนี พลจันทร

ผู้เขียน ป้าลม (วิมล พลจันทร), เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์, ไอดา อรุณวงศ์

ลำดับที่ 20 ในโครงการ “อ่านนายผี”
พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก กันยายน 2561
312 หน้า ราคา 300 บาท
ISBN 978-616-7158-88-4

บทส่งท้าย

เมื่อครั้งที่คุณจิตรอยากพบคุณอัศนีในครั้งที่คุณจิตรยังไม่ได้รู้จักคุณอัศนี การเขียนและแนวทางของคุณจิตรก็เดินออกมาเป็นตัวอักษร เมื่อนำต้นฉบับไปส่งให้แก่ผู้มีหน้าที่รับต้นฉบับทุกครั้ง คุณจิตรต้องกำชับว่า “ของผมแก้ไม่ได้” ไม่พิมพ์ไม่เป็นไร คือจุดมุ่งหมายของคุณจิตรเพื่อยกระดับมวลชน และทุกครั้งก็ต้องสั่งไว้ว่า “ผมอยากพบ” นายผี

มีอยู่วันหนึ่ง เมื่อคุณจิตรไปส่งต้นฉบับแล้วส่ังว่า ของผมแก้ไม่ได้ คุณมณี นิลช้าง ก็เดินเข้ามาหาคุณจิตร แล้วบอกว่า คนที่คุณอยากพบนั่งอยู่ตรงน้ัน

เมื่อคุณจิตรเดินไปถึงแล้ว ก็ส่งต้นฉบับให้คุณอัศนี และพูดว่า ช่วยตรวจแก้ให้ผมด้วย คุณอัศนีตอบว่า ของคุณเขียนดีแล้ว ไม่ต้องแก้ แต่คุณจิตรตอบว่า ถ้าไม่แก้ผมก็ไม่ให้พิมพ์ เพื่อมิให้โยกโย้ คุณอัศนีจุดหรือขีดเส้นแดง ใต้คำว่า จริง ไว้ใต้ประโยค และถามว่า ตัว ร. ในประโยคนี้ถ้าเอาออกจะดีไหม คุณจิตรเห็นด้วย ก็นับว่าช่วยให้สมที่คุณจิตรอยากให้แก้.

ใน “ความงามของชีวิต” วิมลได้เล่าไว้แล้วถึงความผูกพันทางตัวอักษรระหว่างจิตร ภูมิศักดิ์ กับอัศนี พลจันทร และต่อมาใน “ร่างบันทึก 80 ปี คุณอัศนี” วิมลได้ขยายความถึงการพบกันครั้งหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นการพบกันครั้งเดียวครั้งนั้นในปี 2501 ไว้ ดังท่อนที่ยกมาข้างต้น

ในบั้นปลายที่เขตป่าเขาอันขาดแคลนอุปกรณ์ อัศนีเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดพิมพ์นิตยสาร ดาวเหนือ ที่มีอายุเพียงห้าเดือนครี่ง ฉบับแรกในเดือนสิงหาคม 2522 นั้น เขาอุทิศพื้นที่รำลึกถึงจิตร ภูมิศักดิ์ ผู้เสียสละไปตั้งแต่ปี 2509 ผู้ตัดสินใจละทิ้งทุกอย่างไปทางานปฏิวัติในป่าเขา และผู้ที่กำลังจะได้เข้ามาอยู่ในหน่วยเดียวกันดังที่เขาถามไถ่หา แต่แล้วยังไม่ทันที่จะได้พบสนทนา จิตรก็ “เสียสละ” ไป

การรำลึกถึงจิตรครั้งน้ัน จะมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจสร้างเสริมแรงบันดาลใจแก่คนหนุ่มสาวในขบวนการป่าเขาของ “ลุงไฟ” ก็ย่อมน่าจะใช่ แต่ถ้าจะมองว่าเป็นความรำลึกถึงอย่างส่วนตัวต่อมิตรผู้รู้ใจโดยยังไม่ทันได้รู้จัก ไปด้วยพร้อมกัน ก็ไม่น่าจะผิดนัก

จนทุกวันนี้ อัศนี พลจันทร และ จิตร ภูมิศักดิ์ กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งแรงบันดาลใจอย่างกว้างขวางที่สุดในทุกระดับ (และกระทั่งในแทบทุกสังกัดอุดมการณ์) ส่วนหนึ่งเพราะความเป็น “ตำนาน” ของคนทั้งคู่ ตำนานอันเกิดจาก อัจฉริยภาพ ความกล้าหาญ และการเสียสละ ที่ยิ่งสะท้อนสะเทือนใจ เมื่อคนหนึ่งยืนหยัดจนเสียสละไปก่อนเวลาอันควร และอีกคนสาบสูญไปเพราะการยืนหยัดให้เห็นว่า ไม่มีเวลาอันควรใดที่จะละทิ้งการต่อสู้

ท้ังคู่กลายเป็นตำนานโดยที่ตัวเองไม่ได้เขียนบันทึกชีวประวัติความทรงจำว่าด้วยการต่อสู้ใด กลายเป็นคนที่ผลิตงานเขียนชิ้นเอกมากกว่าใครในขบวนการ แต่เขียนงานที่บอกเล่าเกี่ยวกับตัวเองน้อยที่สุด ไม่มีคำอธิบาย ไม่มีคำแก้ต่าง ไม่มีใครได้ใช้ปากคำของพวกเขามาเป็นจุดอ้างอิงในการอธิบายความสำเร็จหรือล้มเหลวหรือความขัดแย้งใด ในขบวนปฏิวัติที่ชี่อ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ข้อเขียนชีวประวัติเท่าที่เคยมีมา จึงทำได้เพียงการสัมภาษณ์ หรือการปะติดปะต่อปากคำของบุคคลต่างๆ จากบันทึกของบุคคลต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเน้นหนักไปในเรื่องราวเพียงบางช่วงบางด้าน และแน่นอนว่าถ่ายสะท้อนออกมาบนฐานของจุดยืนทั้งในอดีตและปัจจุบันของผู้เล่า

สาหรับเรา ในกรณีของอัศนี พลจันทร ผู้ซึ่งยืนยันซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้ทำความรู้จักกับเขาเพียงผ่านตัวงานเท่านั้น เราจึงให้ความสำคัญกับการสืบค้นรวบรวมผลงานของเขาขึ้นมาอ่านกันอย่างจริงจังเป็นอันดับแรก และเรียกโครงการนี้อย่างตรงไปตรงมาว่า “อ่านนายผี”

แต่โครงการนี้จะไม่มีวันริเริ่มและสำเร็จลงได้ หากปราศจากการทุ่มเทกายใจและสติปัญญาของ “ป้าลม” วิมล พลจันทร ผู้ลงมือ “เขียน” ประวัติของอัศนีมาอย่างต่อเนื่องจริงจังที่สุดกว่าใคร ผ่านการเสาะแสวงรวบรวมและสืบทอดงานของเขาไว้ และยังมีคุณวิมลมาลี พลจันทร ที่ได้รับช่วงภารกิจนั้นอย่าง “ทายาทที่แท้” ในทุกความหมาย

และด้วยเหตุนี้ส่วนหนึ่ง ทำให้เราเลือกความทรงจำของ “ป้าลม” เป็นต้นธารและแกนกลางของการเรียบเรียงชีวประวัติ โดยอาศัยวัตถุดิบคือ ข้อเขียน “ความงามของชีวิต” ที่เคยตีพิมพ์ใน รำลึกถึงนายผีจากป้าลม เป็นตัวตั้ง และเรายังได้รับมอบต้นร่างบันทึกความทรงจำของ “ป้าลม” ที่ยังเขียนไม่เสร็จ จากคุณวิมลมาลี ซึ่งเราเรียกเอกสารนี้ไว้ชั่วคราวว่า “ร่างบันทึก 80 ปี คุณอัศนี” เพื่อให้ขานรับกันกับ “๗๒ ปี คุณอัศนี” ที่ป้าลมเขียนไว้เป็นบทปะหน้าของ “ความงามแห่งชีวิต” และเรานำบางส่วนของเนื้อหาในร่างบันทึกนี้มาประกอบกันเข้ากับการเรียบเรียงชีวประวัติ

ดังน้ันเอง จึงเป็นที่คาดหมายได้ว่า ชีวประวัติฉบับนี้ จะเป็นเพียงด้านที่เราเลือกมา บนฐานของเอกสารที่เราเลือกใช้ และไม่อาจถือได้ว่าเป็นชีวประวัติที่รวบรวมครบทุกด้าน อันเป็นธรรมดาอยู่เองของการที่จะสรุปชีวิตคนหนึ่งคนบนหน้ากระดาษหนังสือ ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่างานเขียน

แต่งานเรียบเรียงนี้ก็น่าจะไม่มากและไม่น้อยเกินไปนัก สำหรับการค้นหาคำตอบว่า “นายผีคือใคร?” ในวาระ 100 ปี ชาตกาลของอัศนี พลจันทร