“มวลชนมุสลิม ซึ่งเปนชนกลุ่มน้อยในประเทศไทยทั้งหลาย จะต้องเห็นอกเห็นใจกับนาดฺราและสามีของเธอ จะต้องคัดค้านจักรวรรดินิยมในการกระทำอันนี้ แน่นอน และประชาชนชาวไทยทั้งหลาย ก็จะต้องเห็นอกเห็นใจและสนับสนุน
—“อัลละหุ อักบฺร! มฺรเดกะห มุสลีมีน! ตันหยงมลายู เฮาะฆ โอรังมลายู!” บันทึกโดย กุลิศ อินทุศักติ ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร การเมือง วันที่ 16 ธ.ค. 2493
งานเขียนชิ้นตั้งต้นของการประกวดเขียนใหม่นายผี รายการที่ 5 นี้ อัศนี พลจันทร ในนามปากกา กุลิศ อินทุศักติ หรือกุลิศ อินทุศักดิ์ ใช้คำว่า “บันทึก” มิใช่ “รายงาน” ในการเขียนบรรยายเหตุการณ์การประท้วงศาลจักรวรรดินิยมอังกฤษของชาวมุสลิมในสิงคโปร์ ที่มีชนวนมาจากเหตุภายในครอบครัวที่พรากสามีภรรยามุสลิมคู่หนึ่ง ซึ่งขยายผลเป็นการประท้วงและจลาจลในสิงคโปร์ อันเป็นที่รู้จักในโลกภาษาอังกฤษว่า Maria Hertogh riots “บันทึก” ที่ว่านี้เน้นกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกผู้อ่านให้เห็นความชั่วร้ายของระบอบจักรวรรดินิยมอังกฤษดังที่ปรากฏในข้อเท็จจริง เป็นงานเขียนในท่วงทำนองของนักหนังสือพิมพ์ในยุคที่ “ความเป็นกลาง” ที่แสดงตนว่าไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดยังไม่ถือเป็นหลักการสำคัญเท่ากับ “ความเป็นธรรม” ในมุมมองของหนังสือพิมพ์ที่แสดงจุดยืนทางการเมืองชัดเจนและต่อสู้เพื่อให้มุมมองนั้นเป็นที่ยอมรับในหมู่ประชาชน
ความนับถือและร่วมมือร่วมใจที่อัศนี พลจันทร มีต่อชนมุสลิมมลายูได้รับการจดจำในตำนานเล่าขานของคนในพื้นที่ และได้ถูกแสดงออกมาอย่างชัดแจ้งในข้อเขียนหลากหลายประเภท ดังเช่นบทความ “บริเวณ ๗ หัวเมือง” นิทานการเมือง “ฟาตีมะห์แห่งเกามอีบู” และรายงานข่าว “อัลละหุ อักบฺร! มฺรเดกะห มุสลีมีน! ตันหยงมลายู เฮาะฆ โอรังมลายู!” ยังแสดงให้เห็นว่าความนับถือและร่วมมือร่วมใจนั้นไม่ได้ถูกขีดเส้นจำกัดด้วยศาสนาหรือชาติพันธุ์หรือพรมแดนรัฐ หากแต่การเข้าถึงและเข้าใจความจำเพาะเจาะจงของความเป็นมาและความเป็นไปของศาสนา ชาติพันธุ์ และพรมแดนรัฐนั้นๆต่างหาก ที่เป็นกุญแจไปสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจและการจับมือกันต่อสู้กับความอยุติธรรมจากอำนาจนานา–และการทำงานข่าวก็เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้นั้น เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความรู้สึกมีชะตาเชื่อมโยงลึกซึ้งถึงกัน
——————
ผลการตัดสินรายงานข่าวประเภทข่าวเกี่ยวกับอินโดนีเซีย ติมอร์เลสเต มาเลเซีย บรูไน หรือสิงคโปร์
ไม่มีผู้ส่งผลงาน จึงไม่มีผู้ได้รับรางวัล
ผลการตัดสินรายงานข่าวประเภทข่าวเกี่ยวกับประเทศไทย
ไม่มีผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ
แต่มีผลงานที่ผ่านการคัดเลือก ได้แก่
“ตันหยงกู โปลีติกกู” โดย ไพศอล บือราเฮง
รายงานข่าวเชิงวิเคราะห์ชิ้นนี้นอกจากจะสอดรับกับวาระรำลึกการเสียชีวิตของฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา ดังที่โครงการฯ ตั้งวันที่เผยแพร่ไว้ล่วงหน้าแล้ว ยังมีประเด็นข่าวที่อิงอยู่กับพลวัตในปัจจุบัน โดยมีจุดเชื่อมคือเส้นทางการเมืองของ เด่น โต๊ะมีนา ผู้เป็นบุตรของฮัจยีสุหลง และเป็นคนสำคัญในกลุ่มวะห์ดะห์ซึ่งคลี่คลายมาเป็นพรรคประชาชาติในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด การค้นคว้าและประมวลข้อเท็จจริงจนเห็นภาพกว้าง ไม่ติดอยู่แต่กับตัววาระการรำลึกดังกล่าว ส่งผลให้เห็นถึงวิวัฒนาการของแนวทางการต่อสู้ทางการเมืองในสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่มีทั้งความต่อเนื่องและความขาดตอนหลังการเสียชีวิตของฮัจยีสุหลงเมื่อ 65 ปีที่แล้วมา การกลับมากวาดคะแนนเสียงเลือกตั้งอีกครั้งของกลุ่มวะห์ดะห์ในนามพรรคประชาชาติดังรายงานข่าวที่ผ่านการพิจารณาชิ้นนี้ จึงให้ทั้งความสงสัยใคร่รู้และให้สัญญาณที่น่าสนใจแม้ในภาวะปัจจุบันที่ยังคงยากจะมีความหวังต่อการเปลี่ยนแปลง
——————
“… เราต่างมีหน้าที่ของเรา เราต่างมีความรับผิดชอบของเรา ขอเราจงไปพบกันใหม่ในโลกหน้าเถิด แลขอโลกหน้าของเรานี้จงปราศจากอุปสรรค แต่โลกหน้าจะปราศจากอุปสรรคได้ก็ด้วยเราช่วยกันสร้างแต่ในโลกนี้ในเวลานี้ ขอให้โลกหน้าจงเปนแผ่นดินอันราบเสมอกัน ขอน้ำจงไหลขึ้นลงแต่ทางเดียว ขอจงมีต้นกัลปพฤกษ์ขึ้นอยู่ ณ สี่มุมเมือง ขอคนจงอิ่มอยู่เสมอแลไร้กิเลศ ขอจงปราศจากชาติแลศาสนาซึ่งต่างกัน ขอชาติทั้งหลายจงเปนชาติเดียว ขอศาสนาทั้งปวงจงเปลี่ยนเปนศาสนาเดียว ขอมนุษย์ชาติจงตั้งขึ้นแลดำเนินไปตามกฎหมายเดียวคือมนุษย์ธรรม ขอสัจจศาสนาจงตั้งขึ้น แลดำเนินไปตามวินัย คือสัจจธรรม.”
—บทสนทนาสุดท้ายระหว่างฟาตีมะห์กับกุลิศ อินทุศักดิ์ ในนิทานการเมืองเรื่อง “ฟาตีมะห์แห่งเกามอีบู” โดย อินทรายุธ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน มหาชนรายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 มิถุนายน 2491
ประกาศ ณ วันที่ 13 สิงหาคม 2562
ในวาระรำลึกการเสียชีวิตของ ฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา เมื่อปี 2497